30 เมษายน 2546 15:57 น.

@..อภิวาทมุนี..

อัลมิตรา


..๏ ขอนอบน้อมอภิวาทพระรัตน์คุณะประเสริฐ     
องค์ชินวรพระคุณเลิศ...................พิไล
ใจมั่นหมายอนุศาสนีสิริประไพ
ธรรมแห่งพระพุทธองค์ใด.............อดุลย์

..๏ ก้มกราบมวลอรหันต์และสงฆ์มุนิวิทุร
คงกัลยาณศิลคุณ...........................และเกียรติ์
น้อมจิตตรง ณ กตัญญุตาคุรุเสถียร
มารดาบิดาพระคุณเจียร................จรูญ

..๏ อีกปวงปราชญ์วิทวัสประสิทธิ์คติพิทูร
อาจารย์และครูวิทูบูรพ..................ปณาม
ทั้งทวยเทพอกนิษฐ์พิสิฐ ธ อภิราม
องค์พิฆเนศพิเศษภาม..................วิชา

..๏ ข้า ฯ ขอร่ายกวิวรรณกรรม สินกถา
คงแบบบุราณผิว่าพา.....................สราญ 
หากผิดแผกพิธิฉันทลักษณ์ขณะพิจารณ์
วอนมวลมุนีวิชาชาญ....................ประดน ๚ะ๛


				
29 เมษายน 2546 23:06 น.

@..พราก

อัลมิตรา


เพลินลมแผ่วเพรียกผ่านเพี้ยงกานท์กล่อม
ถ้อยถนอมแนบน้องปองขับขาน
อุ่นไอแอบอิงใจตราบวายปราณ 
เคียงนงคราญครั้นคลาดมิอาจเชย

ผันคืนเพียงวันแผกมิแปลกเปลี่ยน 
แจ้วจำเนียรจิตคนึงจึงเอื้อนเอ่ย
ลมระรวยช่วยปลอบพินอบเคย 
จอมขวัญเอ๋ยเพียงพร่ำหมายย้ำความ

สิ้นแสงสูรย์เสื่อมศรีรัศมีฉาย 
ทิวากรายราตรีเยือนเตือนใจหวาม 
ดาวกระพริบระยิบระยับวับแวววาม 
ล่วงฤกษ์ยามยากร้างจากอางค์อร

แขนขอโอบเอนกายหมายเคียงข้าง 
เชยชมพลางกอดกายแม่สายสมร
ฤๅพรุ่งพราวคราวพรากยากจากจร
ตะวันรอนใจร่ำจำห่างนวล 

				
29 เมษายน 2546 10:33 น.

เสียงกลอน (โดยสังเขป)

อัลมิตรา

เสียงกลอน (โดยสังเขป)  
กลอน   เป็นชนิดคำประพันธ์ร้อยกรองซึ่งไม่มีบังคับ ครุ-ลหุ หรือ เอก-โท แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับ เสียง ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความไพเราะ  ซึ่งโดยทั่วไปก็จะกำหนดไว้แต่เพียงเสียงของคำท้ายวรรค  โดยท่าน(ใครก็ไม่รู้)กำหนดไว้ดังนี้

๑. กลอนสลับ ได้แก่ กลอนวรรคต้น คำสุดท้าย นิยมใช้คำเต้น คือนอกจากเสียงสามัญ แต่ถ้าจะใช้ ก็ไม่ห้าม 
๒. กลอนรับ ได้แก่ กลอนวรรคที่สอง คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงจัตวา ห้ามใช้เสียงโท, สามัญ, ตรี, และวรรณยุกต์เอกมีรูป วรรณยุกต์เอกไม่มีรูป ไม่ห้าม แต่ต้องให้คำสุดท้าย ของกลอนรอง เป็นเสียงตรี 
๓. กลอนรอง ได้แก่ กลอนวรรคที่สาม คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงสามัญ ห้ามใช้เสียงจัตวา หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์ จะใช้คำตายเสียงตรี ก็ได้ ถ้าวรรครับใช้คำตายเสียงเอกส่งมา 
๔. กลอนส่ง ได้แก่ กลอนวรรคที่สี่ คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงสามัญ ห้ามใช้คำตาย และคำที่มีรูปวรรณยุกต์ จะใช้คำตายเสียงตรี บ้างก็ได้ 
ที่ว่ามานี้ลอกมาจากตำรา แต่ขอบอกว่าข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้เคร่งครัดนักในบางจุด 

เห็นข้าพเจ้าโหมโรงด้วยเสียงคำท้ายวรรค อย่าเพิ่งด่วนเข้าใจว่าเสียงกลอนมีเฉพาะเสียงคำท้ายวรรคเชียวนา
แต่ต้องเริ่มตรงนี้ก่อนเพราะเห็นว่าถ้าเสียงคำท้ายวรรคไม่เสียก็ถือว่าพอกล้อมแกล้มไปได้น่ะ

การที่ท้ายวรรคแรก นิยมใช้คำเต้น ก็เพราะถ้าใช้เสียงสามัญแล้ว ดูจะจืดชืดไปหน่อย  แต่จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาดอะไร  อย่างเรื่องอิเหนา ก็มี
เช่น  แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชยอย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า
สำหรับเสียงของคำท้ายวรรคสอง
ในความคิดของข้าพเจ้า วรรคสองเป็นวรรคที่สำคัญที่สุด และที่มีชื่อเรียกว่า วรรครับ ก็สมชื่อ เพราะรับสัมผัสมาจากบทก่อนหน้า
บางตำราท่านว่าเสียงท้ายวรรครับนี้ให้ใช้แต่เสียงจัตวา กับคำตายเสียงเอก
ซึ่งกรณีหลังนี้โดยปริยายคือรับกับคำตายเสียงตรีที่ส่งมาจากบทก่อน ดังนั้นถ้าเป็นบทแรกจึงไม่น่าใช้เสียงเอกตรงนี้ 
บางตำราไม่เคร่งขนาดนั้น คือยอมให้ใช้ทั้งเสียง เอก โท และจัตวา (จัตวาน่ะแหงอยู่แล้ว)
ในส่วนของเสียงโท ข้าพเจ้าว่าน่าจะไม่มีปัญหา เพราะอ่านดูก็ไม่เห็นสะดุดตรงไหน
แต่เสียงเอกถ้าเป็นกรณีมีรูปวรรณยุกต์ก็น่าจะใช้เพื่อรับกับเสียงตรีที่ส่งมา 

ทีนี้ก็มาถึงวรรคที่สาม หรือวรรครอง
ท้ายวรรคนี้เสียงต้องลดลงมาจากวรรครับละ  ถ้าให้ดีก็เสียงสามัญไปเลย 
แต่ถ้าท้ายวรรครับเล่นคำตายเสียงเอกไว้ 
ท้ายวรรคนี้ก็ต้องคำตายเสียงตรีโดยธรรมชาติ
ความจริงวรรคนี้ทั้งวรรคควรให้เสียงต่ำกว่าวรรครับด้วย
มิฉะนั้นตอนลงในวรรคสุดท้ายจะลงแรงเกินไป

สำหรับวรรคสุดท้าย หรือวรรคส่ง
ก็ทำนองเดียวกับวรรคที่สามนั่นแล

ขอบอกไว้นิดว่า ที่จริงแล้วฉันทลักษณ์นั้นเริ่มจากการไม่มีกฎอะไรหรอก
ก่อนจะมีคนมาบอกว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็เชื่อตามๆกันมา
ซึ่งทางที่ดีก็ฟังเอาไว้ อย่าไปวิวาท เพราะลางเนื้อชอบลางยา

ยังนะ  เรื่องยังไม่จบ เพราะที่พูดมานี่เน้นที่เสียงท้ายวรรค
แต่กลอนไม่ได้มีแต่ท้ายวรรคนี่นา...... 

ความจริงกลอนก็เหมือนโคลง หรือร้อยกรองไทยอื่นๆ ตรงที่แต่เดิมใช้ขับ หรืออ่านทำนองเสนาะ 
เสียงจึงต้องเหมาะกับท่วงทำนองในการขับ พูดง่ายๆคือกลอนก็เหมือนเนื้อเพลง
จึงมีการไล่ระดับเสียงสูงต่ำตามธรรมชาติของคำไทยที่มีเสียงวรรณยุกต์ 
เปลี่ยนเสียงก็กลายเป็นคนละคำ คนละความหมายไป
และการไล่ระดับเสียงก็ไม่ใช่กระชากโหนสูง หรือดิ่งต่ำแบบหัวทิ่มดิน ไม่ผิดหรอกแต่ไม่ไพเราะน่ะ

เกริ่นไว้แล้วว่า เสียงกลอน ไม่ได้มีแค่เสียงคำท้ายวรรค ตานี้ก็ขอขยายความหน่อย
ว่ากลอนนั้นแบ่งเป็น ๒ บาท (รวม ๔ วรรค)
ปกติแล้วบาทแรกนิยมให้ไต่ขึ้นสูง เพราะท้ายวรรค ๒ ซึ่งเป็นท้ายบาทแรกลงด้วยเสียงสูง
เช่นจัตวา หรือ โท หรือ เอก (รายละเอียดขยายความไว้แล้ว)
ทั้งท้ายวรรคแรกก็ยังไม่นิยมให้ใช้เสียงสามัญ (จะใช้ก็ได้ แต่จืด)
ขณะที่บาทหลังเป็นการ landing หรืออย่างน้อยก็ลดระดับลงจากบาทแรก
เพราะท้ายวรรคสาม ควรเป็นสามัญ หรือ ตรี เท่านั้น เช่นเดียวกับ ท้ายวรรคสุดท้าย
โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายของบทสุดท้ายใช้แต่เสียงสามัญเถอะอย่าใช้เสียงอื่นเลยดีกว่า

คีตกวีประพันธ์เพลงโดยใช้ระดับเสียงและจังหวะที่แตกต่างกัน
ก็สามารถสะกดคนฟังให้มีอารมณ์กลมกลืนไปกับทำนองเพลงได้
ถ้าเราเข้าใจตรงจุดนี้ และนำหลักการเดียวกันมาใช้ในกลอน
ก็ย่อมจะให้ผลในทำนองเดียวกัน
แบบนี้เขาเรียกว่าเอามุมมองของสหวิทยาการมาใช้

หากสามารถทำให้กลอนมีสำเนียงที่แตกต่างกันตามอารมณ์ในเนื้อความได้ เช่น เนื้อความที่ดุดัน ก็ออกเสียงดุ เนื้อความที่หวาน ก็ออกเสียงหวาน  ก็จะช่วยให้คนอ่านได้รสชาติของกลอนยิ่งขึ้น

ขอขยายไว้หน่อยว่า เสียง ตรี และ จัตวา ให้สำเนียงหวาน
ขณะที่ เสียง เอก และ โท จะดุ
โดยที่เสียงดุหรือเสียงหวานที่ว่านี้แฝงอยู่ในเสียงของคำไทยแล้ว  ซึ่งเป็น
คุณสมบัติพิเศษของภาษาไทย

เอาอย่างนี้ดีกว่า ช่วยอ่านกลอนต่อไปนี้หน่อย

เธอโกรธเกลียดเคียดขึ้งพึงเข่นฆ่าพี่โหยหานุชน้องปองถนอม
จะเยาะเหยียดเหยียบย่ำก็จำยอมรักแล้วพร้อมยอมพลีแม้ชีวา

แล้วนึกเปรียบเทียบกันดูเองว่าเป็นอย่างไร  

ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรีที่คำแต่ละคำมีระดับเสียงสูง-ต่ำ สั้น-ยาว และหนัก-เบา แตกต่างกัน
ที่น่าทึ่งก็คือ ระดับเสียงกับความหมายจะสอดคล้องกันด้วย
คำว่า สูง ก็เสียงสูง คำว่าต่ำ ก็เสียงต่ำ
คำว่า รัก เสียงหวาน ส่วนคำว่า เกลียด เสียงดุ
สั้น-ยาว หนัก-เบา ก็เหมือนกัน ฯลฯ
ตรงนี้เป็นธรรมชาติของคำในภาษาไทยเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำไทยแท้ๆ
ว่างๆก็ลองสังเกตกันเองก็แล้วกัน

แม้ลำพังเสียงและจังหวะจะโน้มน้าวให้เกิดความสะเทือนอารมณ์อารมณ์ได้
แต่ความซาบซึ้งในเสียงจะสมบูรณ์ก็ด้วยเนื้อความที่สอดรับกัน 
ถ้ามีแต่เสียง ก็เหมือนฟังเพลงบรรเลง ก็คงไม่ง่ายที่จะเข้าถึงความรู้สึกของเพลง
เสียงจึงมิใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวสำหรับความไพเราะของกลอน
ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเนื้อความต้องสอดรับกับเสียงและจังหวะของกลอน
จะอ้อยอิ่ง หวานหวาม โหยหวน หรือกระชากกระชั้น เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับเนื้อความ
อย่าง.เดินทอดน่องวูบหนึ่งถึงจุดหมาย.อย่างนี้ก็ไม่ไหว
ต้อง.ค่อยค่อยเดินเพลินชมธรรมชาติ..ดารดาษมาลีหลากสีสัน
เพื่อประคองอารมณ์คนอ่าน  โดยเอาความเป็นธรรมชาติเป็นเกณฑ์
ถ้าจะบรรยายถึงสายน้ำที่เรื่อยไหล ก็ควรใช้เสียงและจังหวะที่ราบเรียบรื่นหู
แต่พอบรรยายถึงคลื่นที่ถั่งโถมเข้าฟาดฝั่ง ก็ต้องใช้จังหวะและเสียงกระชากกระชั้น

มีข้อสังเกตด้วยว่าการใช้คำที่ไม่ใช่คำไทยแท้ๆ ต้องระวังมากขึ้นในเรื่องเสียง
ที่อาจไปคนละอารมณ์กับเนื้อความ เช่น
ประหวัดจิตพิสวาทนาฏแน่นหนัก 
คงคนละอารมณ์กับ
หลงรักน้องปองถนอมในอ้อมแขน
ข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยชอบใช้คำที่ยืมมาจากภาษาอื่นเท่าใดนักเพราะไม่ค่อยมีคุณสมบัติที่ว่านี้
คำไทยแท้ๆก็เถอะ ถ้าไม่จัดเนื้อความให้ดี ก็พาสะดุดหูได้เหมือนกัน

สรุปก็คือ เสียงของกลอนไม่ได้มีแค่ระดับสูงต่ำ
แต่การเล่นระดับเสียง หรือจังหวะ ก็สร้างหรือทำลายอารมณ์ร่วมได้ด้วย
    ข้อสำคัญคือ ต้องให้สอดคล้องกับเนื้อความ ตรงนี้ห้ามลืมเด็ดขาด

แปลว่า ยังไงๆก็อย่าทิ้งรสความที่ต้องการจะสื่อก็แล้วกัน				
27 เมษายน 2546 12:26 น.

@..ไฟราคะ

อัลมิตรา


แรงไฟโหมโลมเล้าเคล้าราคะ
จารผัสสะเริงลิ่วราวหิวโหย
ครวญละล่ำพร่ำเพรียกสำเหนียกโอย
กลิ่นกามโชยข้ามรุ่งพรุ่งจากจร

เหลือเพียงรอยราคีก่อนตีจาก
หลงลมปากคำหวานพร่ำแท้คำหลอน
หากเห็นค่าพรหมจรรย์มั่นสังวรณ์
ยั้งคิดก่อนไฟจะผลาญรานตัวเอง				
23 เมษายน 2546 23:44 น.

รำลึกซัยยิดินาหุซัยน์

อัลมิตรา


.....ทรายงามยามล่องพริ้ว...............พราวประกาย 
ผุดผ่องมองความหมาย..................ซ่อนเร้น 
ชีวิตจิตโยงสาย-............................เสมือนหนึ่ง เดียวเฮย 
มากเผ่าเราต่างเว้น........................จากมล้างพงษ์เดียว ฯ 

.....หลอมรวมร่วมจิตคล้าย..............ทรายงาม 
จิตมั่นศาสดายาม...........................ทุกข์ร้อน 
คลายหมองหม่นตรมลาม-...............รุกจิต 
จักชื่นสุขสันต์ย้อน..........................ส่งให้ใจสราญ ฯ

.....ยามสุขดั่งท่านเอื้อ.....................อวยพร 
เย็นฉ่ำดุจคำสอน............................เสกให้ 
ปราศทุกข์เปี่ยมสุขตอน...................คงชีพ 
อิหม่ามฮูเซนไซร้.............................เปรียบผู้บันดาล ฯ 

.....ผืนภพหลากเลื่อมริ้ว..................ทรายสวย 
คงศรัทธาอำนวย............................เนื่องไซร้ ฯ 
มั่นคงบ่งคำสวย..............................เฉกโศลก 
เพียงสื่อเคารพไท้...........................แห่งผู้ศรัทธา ฯ 

.....หากย้อนกาลผ่านพ้อง...............เพียงเฉลย 
เดือนมุฮัรฺร็อมเปรย........................หม่นเศร้า 
เหตุโศกนาฏกรรมเผย....................ภาพสลด ใจนา 
ดินเดือดเลือดหลั่งเคล้า..................ท่วมฟ้าแดงฉาน ฯ 

.....เมฆหมอกดำมืดครึ้ม.................ปฐพี 
ดั่งม่านมฤตยูสี.............................ฉาบไว้ 
ด้วยอิหม่ามยอมพลี........................ทูนเกียรติ- ยศนอ 
ชะฮีดเพื่อจักได้.............................ชีพแท้นิรันดร์ ฯ 

.....ชีพหนึ่งถูกปลิดด้วย.................ดาษชน 
ฟันฟาดร่างยับจน..........................ขาดคล้าย 
แผลสามสิบสามยล........................ย้อนภาพ 
สามสิบสี่แห่งร้าย...........................อื่นทั้งศาสตรา ฯ 

.....มูญาฮีดแบบต้น........................ประชาชาติ 
ศรัทธาพิทักษ์มาตร.........................กอบกู้ 
เฉกมนุษย์เปรื่องปราด....................ยืนหยัด เจตนา 
ตั้งมั่นชะฮีดสู้.................................หลักไว้อิสลาม ฯ 

.....วันคืนเวียนผ่านพ้น....................เลยลับ 
ธารมิไหลย้อนกลับ..........................ฝั่งต้น 
เพียงความหนึ่งพึงสดับ...................ประวัติศาสตร์ 
ยังถิ่นกัรบะลาค้น...........................สืบได้ดั่งแถลง ฯ 

				
Calendar
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟอัลมิตรา
Lovings  อัลมิตรา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงอัลมิตรา