21 มิถุนายน 2556 03:03 น.

The Partition: เส้นแบ่งเขตแดนที่ขีดแบ่งสองดวงใจ

เชษฐภัทร วิสัยจร

สมัยเด็ก ๆ ตอนอยู่ชั้นอนุบาล หรือแม้กระทั่งเติบโตขึ้นชั้นประถม มัธยม ผมเคยเชื่อเสมอว่า การ "แบ่งเส้นเขตแดน" ของแต่ละประเทศตรงตามแผนที่โลกที่อ่านในหนังสือเรียนวิชาสปช. เป็นอย่างนั้นตรง ๆ เดะ ๆ มีความสัมบูรณ์ เป้นสากลและอกาลิโก

นอกจากผมจะเชื่อว่าการแบ่งเขตแดนจะตรงตามแผนที่ที่เรียนแล้ว ผมยังเคยเชื่อต่อไปอีกว่าการแบ่งขีดแผ่นที่เช่นนี้มันเกิดขึ้นมาของมันอย่างนี้ตามธรรมชาติมาตั้งแตได้มีการบันทึกประวัติศาสตร์ คือตั้งแต่มนุษย์คนแรกจะเริ่มเขียนหนังสือได้ และมีการบันทึก

ยกตัวอย่างเช่น สมัยสุโขทัย ก็มีการ แบ่ง ตามหนังสือวิชาประเทศของเรา คือทิศเหนือจรดล้านนา ทิศตะวันตกจรดพุกาม เด็กอย่างผมก็ได้แต่จินตนาการต่อไปอีกว่าคงจะมีการเขียนแผนที่ที่ขีดแบ่งกันเด็ดขาด ประชาชนจะข้ามพรมแดน ก็ต้องมีการตั้งด่าน ในแบบทุกวันนี้ ฯลฯ

แต่พอได้ศึกษามากขึ้นมากขึ้น สิ่งที่ค้นพบก็คือ ตรรกะ การขีดแบ่งดินแดนในแบบที่ผมเคยเข้าใจสมัยประถม มัธยม ไม่ได้มีมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มประวัติศาสตร์ 

คือสมัยก่อน แต่ละอาณาจักรไม่ได้มีการ "ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง"เพื่อถามหาพาสปอร์ต อีกทั้งคนไม่ได้มีการขอวีซ่า หากจะไปค้าขายต่างแดนน

และการรบพุ่งเพื่อแย่งชิงดินแดน ก็อาจไม่ได้มีความสำคัญ เท่ากับการรบเพื่อแย่งชิงกำลังคน เพื่อเทครัวไปใช้งานโยธา หรือนำไปเป็นกำลังทหาร

ฉะนั้น การเขียนแผนที่ในแบบที่นักเรียนมัธยมแบบผมสมัยก่อนเคยเชื่อมั่น ว่ามีความเป้นสากล และอกาลิโก นั้นอันที่จริงแล้วเพิ่งมามี ในยุโรป หลังปี ค.ศ. 1648 คือหลังสงครามสามสิบปี ซึ่งเป็นสงครามศาสนา

หลังจากการรบพุ่งกันระหว่างโรมันคาธอลิก กับโปรเตสแตนต์อยู่นาน จึงมีสนธิสัญญาสงบศึกที่ชือว่าเวสต์ฟาเลีย ซึ่งได้ระบุถึงเนื้อหาสาระ ในการจัดการดินแดน และชีวิตผู้คนขององค์อธิปัตย์แต่ละองค์ โดยให้ผุ้คนที่ขึ้นตรงต่อแต่ละองค์อธิปัตย์มีสิทธิเลือกนับถือศาสนาตามศรัทธา และก็ห้ามมิให้องค์อธิปัตย์ใด ถือวิสาสะ เข้าไปแทรกแซง ชีวิตผู้คนนอกเหนือดินแดนของตนที่มีอำนาจครอบครองอยู่

จากนั้นชาวตะวันตกก็ได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับดินแดนอาณานิคมเพื่อจัดระเบียบหน่วยการปกครอง โดยมีการอิงตามหลักดินแดน แบบเวสต์ฟาเลีย ทั้งในเอเชียใต้ หรือแม้แต่อุษาคเนย์เองก็ตาม พงศาวดารเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่อังกฤษกำลังจะได้ดินแดนพม่าในปัจจุบัน อังกฤษได้ถามหา "แผนที่" หรือ "เส้นแบ่งเขตแดน" ระหว่างสยาม กับพม่า

คนสยามในขณะนั้น ก็งง ว่าเส้นแบ่งเขตแดนคืออะไร ก็ตอบได้ไม่เต็มปาก หากแต่โบ้ยบ้ายให้ไปตั้งต้นที่ ด่านเจดีย์สามองค์แทนโน่น

เมื่อสยามต้องปรับตัวให้มีความเป็น "สมัยใหม่" มากขึ้น เพื่อรับมือกับการก้าวรุกเข้ามาอย่างรวดเร็วของทั้งอังกฤษในพม่า และฝรั่งเศสในอินโดจีน ตรรกะการเขียนแผนที่และแบ่งดินแดนแบบตะวันตก ก้ได้เริ่มถูกนำมาเผยแพร่ในการปกครองของสยาม 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาการขีดแบ่งพื้นที่ที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาไทย-กัมพุชา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นมรดกตกทอด ที่เจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ทิ้งเอาไว้ให้คนที่ต้องอาศัยอยู่ตรงนี้ต้องแก้ปัญหากันเอาเอง

--------
ในทำนองเดียวกันกับดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ผู้คนในยุคนั้นไม่ได้มีความเข้าใจตรรกะ การจัดการพื้นที่ แบบเวสต์ฟาเลียในแบบที่ยุโรปเข้าใจ 

หลังจากที่ประเทศอังกฤษได้ละทิ้งดินแดนอาณานิคม อินเดียก็ประกาศเอกราช ไม่นาน ปากีสถานก็ขอแยกตัวออกไป เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา

การแยกตัวออกของปากีสถาน หรือที่ในภาพยนตร์เรืยกว่า Partition ตามชื่อเรื่องนำมาซึ่งปัญหามากมาย

ทั้งการฆ่าฟันผุ้คนต่างศาสนา ในอินเดียนับถือฮินดู ส่วนปากีสถานนับถืออิสลาม แต่ในเรื่อง Partition เป็นปัญหาระหว่าง ชาวซิกข์ กับ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ต้องพลัดถิ่น และต้องโยกย้ายจากดินแดนที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน กับ ปากีสถาน

ระหว่างนั้น เกิดการฆ่า ข่มขืน ปล้นชิงวิ่งราวกันมากมาย 

ในท้องเรื่อง ตัวละคร ต่างศาสนา คือชาวซิกข์ และชาวมุสลิมได้มีสัมพันธ์รักลึกซึ้งระหว่างกันในระหว่างที่ เริ่มมีการ "ขีดแบ่ง" ประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากมีการปลดปล่อยอาณานิคม แม้ว่าจะมีความเกลียดชัง ระหว่างศาสนาก็ตามที
ประเด็นที่น่าสะเทือนใจก็คือว่าการขีดแบ่งพื้นที่พรมแดนสองประเทศด้วยตรรกะ แบบตะวันตกที่นำมาใช้กับชาวตะวันออก เช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไร จากการ "ขีดพื้นที่" แบ่งบนร่างกาย และจิตใจ ของคนรักกันสองคน โศกนาฎกรรมที่พบเห็นในเรือง Partition ชวนให้ผมนึกถึงคำพูดของชาวเม็กซิโกที่อยู่ชายแดนสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก ระหว่างที่ข้ามพรมแดนจากเม็กซิโก เข้ามาสหรัฐอเมริกาที่ว่า "We didn't cross the boundary, but the boundary did cross us." พวกเราไม่ได้เดินข้ามเส้นแบ่งเขตแดน แต่เส้นแบ่งเขตแดนขีดข้ามตัวพวกเรา คำพูดเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมความรู้ใหม่ที่ผมเพิ่งจะค้นพบว่า การแบ่งพรมแดนแบบนี้ไมได้มีมาพร้อมกับการถือกำเนิดของมนุษยชาติ หากแต่เพิ่งมามีไม่กี่ร้อยปีมานี้ โดยจุดเริ่มต้นอยู่ทีเวสต์ฟาเลีย และก็แผร่ขยายแนวคิดแบบนี้ไปทั่วโลก การแบ่งพื้นที่เช่นนี้ ก็ได้กลายมาเป็นเหตุอ้างให้ผู้คนมากมาย ต้องสังเวย น้ำตา หยดเลือด และชีวิต แม้กระทั่ง ณ เวลานี้
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเชษฐภัทร วิสัยจร