โพธิธรรมคำสอน

คีตากะ

zen25.jpg?w=240
โพธิธรรมคำสอน
(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)
เรียบเรียงโดย พุทธยานันทภิกขุ
หลักการปฏิบัติธรรม
OUTLINE OF PRACTICE
        ถนนหลายสายย่อมนำไปสู่มรรค แต่โดยพื้นฐานแล้ว ย่อมมีเพียง 2 ทางเท่านั้น คือภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเข้าถึงทฤษฎี หมายถึงการเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเนื้อหาสาระในการสอน และความเชื่อที่ว่าสรรพชีวิตย่อมรวมอยู่ในธรรมชาติเดียวกัน แต่ความเข้าใจตามหลักทฤษฎีนี้ ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจน เพราะเราถูกห่อหุ้มด้วยอำนาจแห่งเวทนาและความหลง
       สำหรับบุคคลที่ขจัดความหลงออกได้ ย่อมพบความจริง คือบุคคลที่เพ่งพินิจต่อกำแพงธรรม (สุญญตาธรรม) อยู่เสมอ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตนเองและผู้อื่น ย่อมรวมความเป็นปุถุชนและพุทธะเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับอำนาจคัมภีร์ตำรา
       บุคคลเช่นนั้น ย่อมประสบกับความสำเร็จ และไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีด้วย การไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับหลักทฤษฎี เรากล่าวว่าบุคคลนั้นเข้าสู่กระแสธรรม
      การเข้าสู่กระแสธรรมโดยการปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติที่ประกอบไปด้วยหลัก 4 ประการ (อริยสัจแบบมหายาน) เหล่านี้คือ
1. การกำหนดรู้ทุกข์
2. การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ
3. การไม่มีความทะเยอทะยาน
4. การเจริญภาวนาธรรม (อริยมรรค)
ประการที่ 1 การกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อแสวงหาอริยมรรค ย่อมเผชิญกับความยากลำบาก ผู้แสวงหาย่อมคิดถึงตัวเอง (ด้วยความท้อถอยว่า) "ในกัปกัลป์ที่ผ่านไปอันกำหนดนับไม่ได้นี้ ฉันได้ใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไปกับสิ่งไร้สาระ และเวียนว่ายไปในภพภูมิต่างๆ มากมาย บ่อยครั้งที่เราโกรธอย่างไร้เหตุผล และระเมิดฝ่าฝืนทำสิ่งผิดนับครั้งไม่ถ้วน มาบัดนี้ แม้จะไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เราก็ต้องถูกลงโทษด้วยอดีตกรรม เมื่อกรรมชั่วให้ผลตอบสนอง ทั้งเทวดาและมนุษย์ก็ไม่อาจมองเห็น ฉันจะก้มหน้ารับผลกรรมอันนี้ด้วยจิตใจที่เปิดเผย และจะไม่คร่ำครวญพร่ำบ่นถึงความไม่เป็นธรรม"
      พระสูตรกล่าวว่า "เมื่อท่านพบกับความทุกข์ยากลำบาก อย่าเสียใจ เพราะมันจะทำให้เกิดอุปทาน" เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ชื่อว่าท่านทำถูกต้องกับทฤษฎี และการกำหนดรู้ทุกข์ย่อมทำให้ท่านเข้าสู่กระแสแห่งอริยมรรค
ประการที่ 2 การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ ในฐานะเราเป็นสัตว์ที่ต้องตาย เราถูกสังขารธรรมทั้งหลายครอบงำ ไม่ใช่ตัวเราเอง ความทุกข์ความสุขที่เราได้รับล้วนเกิดจากสังขาร (การปรุงแต่งกาย-ใจ) เราจะไม่มีความรู้สึกเป็นสุข
      ถ้าเราประสบโชคอันยิ่งใหญ่ เช่น ชื่อเสียง โภคทรัพย์ เป็นต้น อันเป็นผลของบุญกุศลอันเราได้บำเพ็ญไว้ในอดีตกาล เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงโชคลาภก็หมดไป
     ทำไมเราต้องยินดีพอใจในชีวิตเช่นนั้นด้วยเล่า? เมื่อความสำเร็จและความล้มเหลวต่างก็เป็นสังขารธรรมทั้งนั้น จึงไม่ควรปล่อยจิตใจให้ฟู-แฟบไปกับสังขารเหล่านั้น ผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสแห่งความสุข , ความทุกข์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคอย่างเงียบๆ
ประการที่ 3   การไม่มีความทะเยอทะยาน คนในโลกนี้ถูกความหลงครอบงำ พวกเขาจึงมักหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับโลกธรรม ด้วยความหลงละเมอทะเยอทะยาน แต่ผู้รู้ (วิญญูชน) ย่อมตื่นตัว ท่านเหล่านั้นย่อมเลือกทำตามเหตุผลมากกว่าความเคยชิน และมีโยนิโสมนสิการ คือทำทุกสิ่งไว้ด้วยใจอันแยบคาย และปล่อยร่างกายให้เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
      ปรากฏการณ์ (รูป-นาม) ทุกอย่างเป็นของว่างเปล่า ไม่มีคุณค่าควรแก่การทะยานอยาก ความเสื่อมกับความเจริญ เกิดขึ้นและดับไปสลับกันอยู่ตลอดเวลา ความยินดีพอใจอยู่ในภพทั้งสาม เป็นเสมือนการอาศัยอยู่ในเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ การมีกายนี้จึงเป็นทุกข์
      มีใครบ้างที่อาศัยกายนี้แล้ว พบกับความสงบสุข บรรดาผู้ที่เข้าใจสัจธรรมข้อนี้ ย่อมถ่ายถอนตนเองออกจากภพทั้งปวง และหยุดการปรุงแต่ง หรือทะยานอยากในสิ่งใดๆ 
      พระสูตรกล่าวว่า "การแสวงหาด้วยความทะยานอยากย่อมเป็นทุกข์ , การไม่แสวงหาด้วยความอยากย่อมเป็นสุข" เมื่อไม่ทะยานอยาก ท่านดำรงอยู่ในกระแสแห่งอริยมรรค
ประการที่ 4 การเจริญภาวนาธรรม คำว่า ธรรม หมายถึงปรมัตถสัจจะซึ่งถือว่าธรรมชาติทั้งปวงเป็นสิ่งบริสุทธิ์ด้วยธรรมสัจจะนี้ ปรากฏการณ์ทั้งปวงจึงเป็นความว่าง กิเลส , ตัณหาและอุปาทาน ทั้งที่เป็นอัตตวิสัยและภาวะวิสัยเป็นภาวะที่ไม่มีอยู่จริง
     พระสูตรกล่าวว่า "ธรรม" เป็นนิชชีวะ คือมิใช่สัตว์บุคคลเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายจากสัตว์บุคคล และธรรมะเป็นอนัตตาเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายแห่งความเป็นตัวตน (ที่จะปฏิบัติตาม)
      บุคคลผู้นั้นย่อมอุทิศทั้งกายชีวิต ตลอดถึงทรัพย์สมบัติให้เป็นทานโดยไม่เสียดายและไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากการให้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของเงินทองและไม่มีความลำเอียงยึดติดในการให้ทาน และช่วยสั่งสอนให้ผู้อื่นได้ขัดเกลากิเลส โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ
      ดังนั้น เมื่อตนเองปฏิบัติได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่น และทำให้เขาได้เข้าถึงธรรมได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน เพราะการเอื้ออาทรต่อผู้อื่นก็เป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมไปด้วย และเมื่อบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง 6 ประการ นั้นก็ช่วยกำจัดความหลงของตนเองไปด้วย ซึ่งไม่ต้องไปบำเพ็ญคุณธรรมอย่างอื่นๆ อีก (นอกจากบารมีธรรม 6 ประการ)
     เมื่อตั้งอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ต้องปฏิบัติธรรมอันอื่นอีกก็ได้ นี้คือความหมายของคำว่า
"การปฏิบัติธรรม"
.........................................................................................................
1234544_687819334580252_666954702_n.jpg
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน