นิทานธรรมบท

กระต่ายใต้เงาจันทร์

เรื่องที่    ๒๓๖  ช้างชื่อปาเวรกะ
	ช้างนั้น   ในเวลาเป็นหนุ่มมีกำลังมาก   ต่อมาอ่อนกำลังลงเพราะชราตัดทอน   ลงไปสู่สระใหญ่แห่งหนึ่งแล้วก็ติดอยู่ในหล่มไม่สามารถจะขึ้นได้  มหาชนเห็นช้างนั้นแล้วจึงสนทนากันขึ้นว่า  ช้างขนาดนี้ยังทุพพลภาพได้  พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว  ทรงบังคับนายหัตถาจารย์ให้ไปยกช้างนั้นขึ้นจากหล่ม  เขาไปถึงที่นั่นแล้วก็แสดงการรบขึ้นให้ตีกลองรบขึ้น   ช้างซึ่งเป็นเชื้อชาติสัตว์มีมานะก็ลุกขึ้นโดยเร็วและยืนอยู่บนบกได้   ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุนั้นแล้วจึงกราบทูลแด่พระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลายช้างตัวนั้นถอนตนขึ้นจากหล่มคือเปือกตมตามปกติก่อน  ส่วนเธอทั้งหลายแล่นลงแล้วในหล่มคือกิเลส   เพราะฉะนั้น  แม้เธอทั้งหลายจงเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายแล้ว   ถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสนั้นเถิด
คติจากเรื่องนี้
ท่านทั้งหลาย   จงยินดีในความไม่ประมาท  จงตามรักษาจิตของตน  จงถอนตนขึ้นจากหล่ม  ประหนึ่งช้างที่จมลงในเปือกตม  ถอนตนขึ้นได้ฉะนั้น  ฯ
เรื่องที่  ๑๗๗  ปัญหาที่ภิกษุทูลถาม
	เล่ากันว่า  สมัยหนึ่งพระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาต  ในเมืองสาเกต  พราหมณ์เฒ่าชาวเมืองสาเกตคนหนึ่ง  กำลังเดินออกไปจากพระนคร  พบพระทศพลในระหว่างประตูหมอบลงแทบเท้าพระองค์จับข้อพระบาทไว้มั่น   พลางกล่าวว่า  พ่อธรรมดาบิดามารดา  ลูกชายพึงประคบประหงมในเวลาที่ท่านชราแล้วมิใช่หรือ   แต่ทำไม่   พ่อจึงไม่แสดงตนให้ปรากฏแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลประมาณเท่านี้  แล้วได้พาพระศาสดาไปสู่เรือน
	ฝ่ายนางพราหมณีเห็นเช่นนั้น  ก็มาหมอบแทบพระบาททั้ง  ๒  ของพระองค์  ทูลว่า  พ่อ  พ่อไปไหนเสียนานถึงป่านนี้   แล้วสั่งให้บุตรธิดาถวายบังคมพระองค์  ด้วยบอกว่าพวกเจ้าจงมา   จงถวายบังคมพี่ชาย
	สามีภรรยาทั้งสองนั้น  มีใจยินดีเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์   แล้วทูลนิมนต์ให้พระองค์มารับบาตรที่บ้านของตนเนืองนิตย์  แต่ว่า   พระศาสดาเสด็จมาไม่ได้  จึงส่งภิกษุรูปหนึ่งมา
	สองสามีภรรยาได้ถวายทานแก่พระพุทธเจ้าสิ้นกาลนานได้บรรลุอนาคามิผลแล้วภิกษุทั้งหลาย  สนทนากันในโรงธรรมว่า   ผู้มีอายุ  พราหมณ์ชื่อโน้น  รู้ว่าพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดาของพระตถาคต  พระนางมหามายาเป็นพระมารดาทั้งรู้อยู่อย่างนั้น   พร้อมกับนางพราหมณีก็บอกว่าบุตรของเราฝ่ายพระศาสดาก็ทรงรับรองอย่างนั้นเหมือนกัน   จักมีเหตุอะไรหนอ
	พระศาสดาทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้น   ได้ตรัสว่าสองสามีภรรยานั้น  เมื่อก่อนนี้ได้เป็นบิดามารดาถึง  ๕๐๐  ชาติติด  ๆ  กัน  พวกภิกษุทั้งหลายจึงเชื่อ
	ต่อมา  พราหมณ์และนางพราหมณีทั้งสอง    ได้บรรลุพระอรหันต์ผลแล้ว   ปรินิพพานคราวนั้น   ชนทั้งหลายได้ทำการสักการะอย่างมากมายแก่พราหมณ์  และนางพราหมณี  พระศาสดาก็ได้เสด็จไป  ณ ที่นั้น   พอเสร็จจากการเผาศพของสองสามีภรรยาแล้ว   ภิกษุทั้งหลายก็ทูลถามพระองค์ว่า   ภพของพราหมณ์และนางพราหมณีนั้น   เป็นอย่างไร  พระเจ้าข้า
	ภิกษุทั้งหลาย  ชื่อว่าอภิสัมปรายภพของพระอเสขมุนีผู้เห็นปานนั้น   ย่อมไม่มี  เพราะว่าพระอเสขมุนีเห็นปานนั้นย่อมบรรลุมหานิพพานอันไม่จุติ   อันไม่ตาย  แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
	มุนีเหล่าใด  เป็นผู้ไม่เบียดเบียน  สำรวมด้วยกายเป็นนิตย์  มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่ฐานะอันไม่จุติซึ่งเป็นที่คนทั้งหลายไปแล้ว   ไม่เศร้าโศก
คติจากเรื่องนี้
ชาติก่อนกับชาตินี้  ไม่เหมือนกันเสมอไป    ชาติก่อนเราอาจจะได้เป็นได้   
แต่ชาตินี้ความหมุนเวียนแห่งสังขารเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องของมัน
เรื่องที่  ๑๒๓  พระนางมัลลิกาเทวี
	เรื่องมีอยู่ว่า   วันหนึ่ง   พระนางมัลลิกาเทวี   เสด็จเข้าไปยั้งซุ้มสำหรับสรงสนาน   ทรงชำระพระโอษฐ์แล้ว   ทรงน้อมสรีระเริ่มจะชำระพระสงฆ์   มีสุนัขตัวโปรดตัวหนึ่ง   เข้าไปพร้อมกับพระนาง   มันเห็นพระนางน้อมลงเช่นนั้น  จึงเริ่มจะทำอสัทธรรมสันถวะ   พระนางทรงยินดีสัมผัสของมัน   จึงได้ประทับยืนอยู่  พระราชาทรงทอดพระเนตรทางสีหบัญชรในปราสาทชั้นบน   ทรงกิริยานั้น   ในเวลาพระนางเสด็จมาจากซุ้มน้ำนั้น   จึงตรัสว่า  หญิงถ่อย  จงฉิบหาย  เพราะเหตุไรเจ้าจึงได้ทำกรรมเห็นปานนี้
	หม่อมฉันทำอะไรพระเจ้าข้า   พระนางทูลถาม    ทำสันถวะกับสุนัข
	นางปฏิเสธทันทีว่า   นางมิได้ทำ   เมื่อพระราชาไม่ทรงเชื่อ  ก็กราบทูลว่า
	ขอเดชะ   ผู้ใดผู้หนึ่งเข้าไปซุ้มน้ำนี้   ผู้เดียวเท่านั้นก็ปรากฏเป็น  ๒  คนแก่ผู้ที่แลดูทางสีหบัญชรนี้
	พระราชาทรงทดลองดู  พอพระองค์เข้าไปในซุ้ม  และออกมา  นางก็ตู่ว่าพระองค์ทำสันถวะกับนางแพะ  พระราชาทรงเชื่อว่า  ผู้เข้าไปซุ้มน้ำนี้ผู้เดียวย่อมปรากฏเป็น  ๒  คนแน่
	ฝ่ายพระนางมัลลิกา  นับแต่วันนั้นมามีจิตหม่นหมองรำลึกถึงแต่กรรมที่ตนทำไว้   พอสิ้นพระชนม์ก็บังเกิดในอเวจีมหานรกถึง  ๗  วัน  การสิ้นพระชนม์ของพระนางยังความทุกข์โศกให้แก่พระราชาอย่างใหญ่หลวง   เพราะพระนางเป็นที่โปรดปรานของพระราชามาก  พอพระองค์จัดการพระศพของพระนางเสร็จไปแล้วก็เสด็จไปวิหาร   เพื่อจะทูลถามที่เกิดของนาง   แต่ว่า   พระศาสดากลัวว่าท้าวเธอจะทราบว่านางเกิดอเวจี   จึงทรงทำให้พระองค์ลืมเสียถึง  ๗  วัน  พอวันที่แปด  นางมัลลิกาได้พ้นจากนรกไปบังดุสิตบุรี   จึงบอกแก่พระราชา  ผู้ทรงเสด็จมาทูลถาม  พระราชาดีพระทัยเป็นอันมาก  ตรัสว่า
	พระเจ้าข้า   เมื่อพระนางไม่เกิดในดุสิตภพ  คนอื่นใครเล่าจะบังเกิด  หญิงเช่นกับพระนางมัลลิกานั้นไม่มี  เพราะในที่ที่พระนางนั่งเป็นต้น   กิจอื่นเว้นการจัดแจงทานย่อมไม่มีเลย  พระเจ้าข้า  ตั้งแต่พระนางไปสู่ปรโลกแล้ว   สรีระของหม่อมฉันไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า
	อย่าคิดเลย  มหาบพิตร   พระศาสดาตรัส   ความตายย่อมแน่นอนสำหรับสัตว์ทุกจำพวก   แล้วตรัสถามถึงราชรถ   เมื่อพระราชาทูลตอบ  และทรงชี้ให้พระองค์ทราบว่า  รถคันนั้นเป็นของพระเจ้าปู่พระชนกแล้ว  พระองค์ก็ตรัสว่า
	มหาบพิตร  รถของพระเจ้าปู่ของมหาบพิตร  เพราะเหตุไร   จึงไม่ถึงรถของพระชนก   รถของพระชนก  ไม่ถึงรถของมหาบพิตร  ความคร่ำย่อมมาถึง   แม้แก่ท่อนไม้เห็นปานนี้  ก็จะกล่าวไปไยความคร่ำจักไม่มาถึงอัตตภาพนี้เล่า  มหาบพิตร  ความจริง  ธรรมสัตบุรุษเท่านั้น  ไม่มีความชรา  ส่วนสัตว์ทั้งหลายชื่อว่าไม่ชรา   ย่อมไม่มี  แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
	ราชรถ  ที่วิจิตรดี   ยังคร่ำคร่าได้   อนึ่ง  ถึงสรีระก็ย่อมถึงความคร่ำคร่าไม่   สัตบุรุษทั้งหลาย  ย่อมปราศรัยกับด้วยสัตบุรุษ
คติจากเรื่องนี้
ในโลกนี้   มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ตาย   ไม่แก่ชรา  นั่นก็คือ  ธรรมของสัตบุรุษ
	เรื่องที่  ๑๓๘  พระเจ้าสุทโธทนะ
	เรื่องมีอยู่ว่า   สมัยหนึ่ง   พระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์   เป็นครั้งแรก   พระองค์ได้รับการต้อนรับจากพระญาติเป็นอันมาก   เมื่อทรงแสดงธรรมทำลายมานะของเจ้าศากยะเหล่านั้นแล้ว  ตรัสเวสสันดรชาดก   จบลง  พวกพระญาติทั้งหลายก็ถวายบังคมลากลับ   โดยไม่มีสักพระองค์หนึ่ง   แม้พระเจ้าสุทโธทนะเอง   จะทรงนิมนต์รับภิกษาของตนในวันรุ่งขึ้น
	ฝ่ายพระศาสดา   พอรุ่งเช้าพระองค์ก็ทรงอุ้มบาตรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  เสด็จออกบิณฑบาตไปตามตรอกน้อยใหญ่ในนครกบิลพัสดุ์   พระนางยโสธราประทับอยู่บนปราสาททอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็รีบไปทูลพระเจ้าสุทโธทนะ   พระองค์ตกพระทัย  รีบเสด็จออกไปถวายบังคมพระองค์โดยเร็วตรัสว่า
	ลูก   ทำไมท่านจึงทำให้ข้าพเจ้าฉิบหายอย่างนี้เล่าท่านเที่ยวบิณฑบาตให้เราละอายเหลือเกิน
	มหาบพิตร   พระศาสดาตรัส   อาตมภาพให้พระองค์ละอายหามิได้  แต่อาตมภาพประพฤติตามวงศ์สกุลของตน
	พ่อ  วงศ์ตระกูลของเรา   เคยเที่ยวบิณฑบาตหรือ   พระเจ้าสุทโธทนะทูลถาม
	มหาบพิตร  นั่นมิใช่วงศ์ของพระองค์   พระศาสดาตรัสตอบ   แต่นักเป็นวงศ์ของอาตมภาพพระพุทธเจ้าทุก  ๆ  พระองค์   เสด็จเที่ยวบิณฑบาตเป็นอยู่เหมือนกันทุกพระองค์   แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
	บรรพชิตไม่พึงประมาทในก้อนข้าว  อันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ   บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริตผู้ประพฤติธรรม   ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า   บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต   ไม่พึงประพฤติธรรมให้ทุจริต   ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
	ในเวลาจบเทศนา   พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
คติจากเรื่องนี้
การบำเพ็ญชีวิตโดยลำบาก  เศร้าหมอง  แต่สุจริต   ย่อมดีกว่าการเป็นอยู่
อย่างฟุ่มเฟือยแต่ทุจริต  เป็นไหน ๆ				
comments powered by Disqus
  • ฤกษ์(ไม่ได้ล๊อกอิน)

    15 ตุลาคม 2554 12:07 น. - comment id 126930

    ฟังนิทานอีกกี่เรื่องก็ทำใจไม่ไหว ในเมื่อ
    
    จนป่านนี้ที่น้องไม่รู้สึก
    เพราะในใจไม่เคยนึกระลึกถึง
    แม้เหลือพี่คนเดียวน้องคงหาที่พึ่ง
    ยอมอยู่ซึ้งในรสแห่งเสียงธรรม
    ถ้าเหลือพี่คนเดียวที่ต้องให้เลือกนู๊กาต่ายหนีบวชชีดีก่า...อิๆๆ 
    กระต่ายใต้เงาจันทร์ 05 ต.ค. 54 - 23:18 IP 1.47.49.196  
     
    อิอิ สิ้นหวังจริง ๆ ในโลกนี้มีเราเหลือคนเดียวยังไม่เลือก อย่างนี้ต้องดำเนินการแบบโบราณ ฉุดมาก่อนสมาทีหลัง  แต่ก็คงไม่ได้อีกน่ะแหละ ใครจะไปกล้าฉุดกำนัน อิอิ
  • กระต่ายใต้เงาจันทร์

    23 ตุลาคม 2554 12:51 น. - comment id 127100

    ไม่ต้องฉุดคะ
    
    แค่นัดหมายวันเวลา  เด๊ยวเก็บเสื้อผ้าหนีตามไปเองคะ
    
    หนูล้อเล่นนนนนนนนนนนนนนนนน,,ขำๆๆ11.gif36.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน