17 พฤศจิกายน 2550 20:38 น.

ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๙ วันสุดท้ายการสัมมนา

nidhi

บทที่ ๒๙  สัมมนาวันสุดท้าย
ในที่สุดการสัมมนาสัญจรก็ดำเนินมาถึงวันสุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเดินทางมาปิดการอบรม  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมากล่าวรายงานและสรุปการสัมมนากับผลที่คาดว่าจะได้รับว่าอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและเป็นการขยายแนวร่วมผู้ปฏิบัติงานตามโครงการให้ขยายวงมากยิ่งขึ้น  และหวังว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาจะนำความรู้ความเข้าใจกับประสบการณ์ใหม่ๆที่ได้รับไปใช้ปรับปรุงยกระดับการทำงานในพื้นที่รับผิดชอบของตนได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด  และอวยพรให้ผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนาทุกคนมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและการทำงานสืบไป  โดยขอให้ทุกคนอย่าละเลยนิ่งเฉยและให้หมั่นศึกษาเพิ่มเติมหาความรู้ต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดนิ่งปล่อยเวลาให้ล่วงพ้นไปโดยเปล่าประโยชน์  ให้ทำตัวเสมือนเป็นต้นไม้แข็งแรงที่กำลังเจริญเติบโตงอกงามอยู่  คือถ้ายังงอกงามอยู่เขาก็เรียกว่าต้นไม้  แต่ถ้าหยุดงอกงามเมื่อใดก็จะกลับกลายเป็นเพียงไม้ที่รอวันเวลาผุพัง
ในการอบรมสัมมนาครั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมสัมมนาต่างก็ได้รับวุฒิบัตรและทำเนียบรุ่นเพื่อสะดวกในการติดต่อขยายผลตามโครงการอย่างต่อเนื่องได้ผลดีต่อๆไป  จากนั้นปลัดบัญชาก็ได้ร่วมหารือกับคณะผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อกำหนดการติดต่อพบปะสังสันทน์ครั้งต่อไปทุกๆ ๓ เดือน  ซึ่งครั้งแรกจะนัดพบกันในวันเสาร์ที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๑  สำหรับสถานที่นัดพบจะได้แจ้งเวียนให้ทราบต่อไป
คืนวันสุดท้ายของการสัมมนาหลังจากมีพิธีปิดการอบรมแล้ว  ในค่ำวันนั้นคณะผู้จัดการสัมมนาก็ได้จัดเลี้ยงอำลาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  พาส่องสัตว์(ใช้ไฟฉายส่องดูสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน)  จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาซึ่งก็คือจังหวัดที่ส่งอบรมนั่นเอง  
กลับจากการสัมมนาคราวนี้ปลัดบัญชาต้องเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกำลังจะจัดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐  
นับแต่นี้ต่อไปบทบาทคุณธนบัตรก็มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  คุณธนบัตร ๕๐๐ บาท จึงขอยุติบทบาทเอาไว้ก่อนเพียงเท่านี้  บทต่อไปท่านจะได้พบกับบทบาทของคุณธนบัตรฉบับราคา ๑๐๐ บาท  ซึ่งจะเริ่มบทบาทณ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย เป็นอันดับแรก				
11 พฤศจิกายน 2550 13:46 น.

ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๘

nidhi

บทที่  ๒๘  เยือนแผ่นดินพระนารายณ์และเมืองทหารบกในอดีต
ปลัดบัญชาเคยไปเที่ยวเมืองลพบุรีเมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว  สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นเมืองลพบุรีในสมัยนั้นมีเพียงลิงที่ศาลพระกาฬกับพระปรางค์สามยอดเท่านั้น  เมื่อปลัดบัญชาเดินทางพร้อมคณะสัมมนาสัญจรมาที่เมืองลพบุรีอีกครั้งในวันนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป  จากการที่ลพบุรีเป็นเมืองแห่งความหลากหลายและต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่ยาวนานกว่า ๓,๐๐๐ ปีนี่เอง  ลพบุรีในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐  จึงเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมสมัยเก่าและสมัยใหม่รวมอยู่ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน  เป็นเมืองที่ยังคงอุดมไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  ซึ่งได้แก่
๑.การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะดินเผา อายุระหว่าง ๓,๕๐๐-๔,๕๐๐ ปี ที่แหง่งโบราณคดีบ้านท่าแค
๒.การขุดพบโตรงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ อายุระหว่าง ๒,๗๐๐-๓,๔๐๐ ปี ที่บ้านโคกเจริญ
๓.การขุดพบโตรงกระดูกมนุษย์ยุคสำริดอายุระหว่าง ๒,๓๐๐-๒,๗๐๐ ปีที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่
๔.ชุมชนธบราณสมัยทวารวดีซึ่งเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมในดินแดนแห่งนี้มากว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว  ที่เมืองโบราณซับจำปา อำเภอท่าหลวง  และเมืองโบราณดงมะรุม อำเภอโคกสำโรง
๕.การพบเหรียญเงินลายดุนรูปสัญลักษณ์ต่างๆตามคตินิยมอินเดียที่บ้านหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง
๖.พระปรางค์สามยอด,ศาลพระกาฬและปรางค์แขก  ซึ่งเป็นศิลปกรรมของลพบุรีที่มีรูปร่างคล้ายคลึงศิลปะขอมหรือเขมร ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘
๗.หลักฐานพงศาวดารระบุว่าลพบุรีเป็นศูนย์กลางด้านศิลปวิทยาการในสมัยกรุงสุโขทัย  โดยระบุว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยเสด็จมาศึกษาเล่าเรียนที่เขาสมอคอนในปีพุทธศักราช ๑๗๘๘  และพ่อขุนงำเมืองราชโอรสเมืองพะเยาเคยเสด็จมาศึกษาที่เขาสมอคอนเช่นกันในปีพุทธศักราช ๑๗๙๗
๘.หลักฐานจากพงศาวดารระบุว่าสมเด็จพระราเมศวรได้ทรงครองเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๙๓และเมื่อทรงสละราชสมบัติให้แก่ลูกหลวงพะงั่ว ก็เสด็จกลับมาครองเมืองลพบุรีตามเดิม  รวมเวลาที่ครองเมืองลพบุรีเป็นเวลา ๓๘ ปี
๙.ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับในปีพุทธศักราช ๒๒๐๙  เพราะเกรงภัยที่เกิดจากการล่าอาณานิคมขยายดินแดนของพวกเรือกำปั่นยุโรป  และเสด็จมาประทับที่เมืองลพบุรีนาน ๘-๙ เดือน   ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์  ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น ๓ เขต  คือเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นใน  
เขตพระราชฐานชั้นนอก มี ๕ หลัง  คือ 
๑.อ่างเก็บน้ำหรือถังเก็บน้ำประปา  เป็นที่กักเก็บน้ำใช้ภายในพระราชวัง  ก่อด้วยอิฐฉาบปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ผนังอิฐหนาเป็นพิเศษ เก็บน้ำที่ไหลจากอ่างซับเหล็กตามท่อดินเผามายังพระราชวัง  เป็นฝีมือการก่อสร้างของวิศวกรชาวฝรั่งเศสและบาทหลวงชาวอิตาลี
๒.สิบสองท้องพระคลัง หรือพระคลังศุภรัตน์ สันนิษฐานว่าเป็นพระคลังเก็บสินค้าหรือสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ และที่จะพระราชทานให้แก่ผู้ทำความดีความชอบ เช่นเสื้อผ้า ผ้าแพรพรรณ ดาบ ไม้ฝาง งาช้าง ดีบุก พริกไทยฯลฯ  เป็นตึกแบบยุโรป ประตูหน้าต่างและช่องระบายลมใต้หลังคาเป็นรูปโค้งแหลม
๓.ตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง  เป็นสถานที่เลี้ยงต้อนรับคณะทูตชาวต่างประเทศ  ซึ่งในปี พ.ศ.๒๒๒๘  ได้ทรงพระราชทานเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตเชอร์วาเลีย เดอ โชมองต์ จากประเทศฝรั่งเศส
๔.ตึกพระเจ้าเหา  สันนิษฐานว่าเป็นหอพระ  ชื่อพระเจ้าเหา  น่าจะหมายถึงพระพุทธรูปเก่าแก่ภายในตึกนี้  ซึ่ง ณ ตึกพระเจ้าเหานี่เองเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเพทราชาทรงประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๓๑
๕.โรงช้างหลวง  
เขตพระราชฐานชั้นกลาง  มี ๒ หลัง คือ
พระที่นั่งจันทรพิศาล และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท  ส่วนหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เพิ่งจะสร้างขึ้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับเป็นที่ประทับ  โดยทรงโปร ดเกล้าฯให้บูรณะเมืองลพบุรีในปีพุทธศักราช ๒๔๐๖  และสร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นเป็นที่ประทับภายในพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช   ปัจจุบันจัดแสดงเป็นห้องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและศิลปะโบราณวัตถุสมัยต่างๆ
เขตพระราชฐานชั้นใน มีเพียงหลังเดียวคือพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งพระองค์นี้เมื่อวันที่  ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๒๓๑  
ลพบุรีจึงเป็นเสมือนราชธานีแห่งที่ ๒ รองจากกรุงศรีอยุธยา
ลพบุรีเดิมเรียกว่า “ลวปุระ” หรือ “ละโว้”เป็นดินแดนทางภาคกลางที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยทวารวดี จวบจนสมัยลพบุรี แล้วเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  โดยล่าสุดระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๔)ทรงโปรดเกล้าฯให้บูรณะเมืองลพบุรีและสร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พร้อมกับหมู่ตึกพระประเทียบ  แล้วพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วังนารายณ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี  เมื่อย้ายศาลากลางจังหวัดลพบุรีไปตั้งใหม่ที่อื่นแล้ว  จึงจัดตั้งเป็น ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๗  และประกาศเป็น  “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์” ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔
นี่อาจเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่หน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรีหลังใหม่ในปัจจุบันมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(พระปิยะมหาราช) ประทับยืนเป็นสง่าที่ลานหน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรี  พร้อมกับที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งประดิษฐานอยู่กลางวงเวียนพระนารายณ์ซึ่งถือว่าเป็นเขตเมืองใหม่  ห่างจากเขตเมืองเก่าซึ่งเป็นที่ตั้งศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอด
ในเขตเมืองเก่าจึงเป็นที่ตั้งโบราณสถานและสถานที่ต่างๆซึ่งยังประกอบกิจกรรมต่างๆได้อย่างสะดวกสบายอยู่  อาทิ สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง สถานที่ราชการและสถานประกอบการต่างๆ  รวมถึงที่ตั้งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภาคกลางเขต ๗ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนรอบพระธาตุ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรีด้วย
คำขวัญประจำจังหวัดลพบุรีมีว่า “วังนารายณ์คู่บ้าน  ศาลพระกาฬคู่เมือง  ปรางค์สามยอดลือเลื่อง  เมืองแห่งดินสอพอง  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง  แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์”
จบบทความตอนนี้ ณ ดินแดนพระนารายณ์  เพื่อกลับโรงแรมที่พักที่จังหวัดนครราชสีมา  และเตรียมสรุปการสัมมนากับทำพิธีปิดการอบรมสัมมนาในบทต่อไป				
10 พฤศจิกายน 2550 16:58 น.

ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๗

nidhi

บทที่ ๒๗  ไปเมืองทหารม้า
เสร็จจากการไปเยือนเมืองปราสาทหินถิ่นภูเขาไฟแล้ว  คณะสัมมนาสัญจรก็ได้เวลาเดินทางไปเยือนเมืองทหารม้าที่จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดรองสุดท้ายของโครงการ  
สระบุรีเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๐๙๒ ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แบ่งพื้นที่เขตเมืองลพบุรีกับเมืองนครนายกบางส่วนมารวมกันตั้งเป็นเมืองสระบุรี โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์ระดมพลเมืองในยามที่มีศึกสงคราม  ที่ได้ชื่อว่า สระบุรี  สันนิษฐานว่าทำเลที่ตั้งมีบึงอยู่ใกล้ คือบึงหนองโง้ง  เมื่อตั้งเป็นเมืองจึงเอาคำว่า “สระ”  มารวมกับ “บุรี”  จึงกลายเป็นเมืองสระบุรี
สระบุรีแบ่งการปกครองเป็น ๑๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง,หนองแซง,เสาไห้,บ้านหมอ,พระพุทธบาท,หนองโดน,แก่งคอย,มวกเหล็ก, วังม่วง,วิหารแดง,หนองแค,ดอนพุด และเฉลิมพระเกียรติ  มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ ๓,๕๗๖ ตารางกิโลเมตร  และเนื่องมาจากการเป็นเมืองชุมทางอยู่ใกล้กรุงเทพฯ   และเป็นศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชน กับเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญ  ฉะนั้นคำขวัญประจำจังหวัดจึงค่อนข้างจะยืดยาวเป็นพิเศษว่า 
“พระพุทธบาทสูงค่า  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ฐานผลิตอุตสาหกรรม  เกษตรนำล้ำแหล่งท่องเที่ยว  หนึ่งเดียวกะหรี่ปั๊บนมดี  ประเพณีตักบาตรดอกไม้งาม  เหลืองอร่ามทุ่งทานตะวัน  ลือลั่นเมืองชุมทาง”
ซึ่งในความเห็นของคุณธนบัตร  การบัญญัติคำขวัญยืดยาวมากๆไม่น่าสนใจเท่ากับการเลือกใช้ถ้อยคำกระทัดรัดได้ใจความ  กระนั้นก็ดีคุณธนบัตรไม่บังอาจไปวิจารณ์เพิ่มเติมอีก เพราะนี่อาจเป็นการมองต่างมุม ต่างความคิดเห็น  แต่มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน เพียงแตกต่างวิธีการ แต่ก็ได้รับผลสุดท้ายอย่างเดียวกัน   
สถานที่น่าสนใจ
อำเภอเมืองสระบุรี  ได้แก่อุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย  วัดพระพุทธฉาย  ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์  พระพุทธนิรโรกันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  ได้แก่สวนพฤกษศาสตร์ภาคกลาง(พุแค) และถ้ำศรีวิไล
อำเภอเสาไห้  ได้แก่ เสาร้องไห้ในศาลนางตะเคียนทองที่วัดสูง,  พระพุทธรูปทองคำที่วัดพระเยาว์,  วัดเขาแก้ว
วรวิหาร , วัดพระเยาว์  บ้านเขาแก้ว  เบญจสุทธิคงคา(น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากแม่น้ำ ๕ สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยา(จาก
จังหวัดอ่างทอง)  แม่น้ำเพชรบุรี(จากจังหวัดเพชรบุรี)  แม่น้ำราชบุรี(จากจังหวัดสมุทรสาคร)  แม่น้ำบางปะกง(จากจังหวัดนครนายก)  และแม่น้ำป่าสัก(จากจังหวัดสระบุรี) ที่ไหลผ่านบริเวณอำเภอเสาไห้  ใช้เป็นน้ำในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  โดยผ่านการทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระพุทธบาท  ก่อนจะนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก รวมถึงพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆในพระราชวัง , วัดสมุหประดิษฐาราม, วัดจันทบุรี  และศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าตำบลบ้านต้นตาล 
อำเภอบ้านหมอ  ได้แก่ถนนพระเจ้าทรงธรรม หรือถนนฝรั่งส่องกล้อง  และทะเลบ้านหมอ
อำเภอพระพุทธบาท  ได้แก่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก, วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร, พิพิธภณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท(วิหารหลวง), บ่อพรานล้างเนื้อ,พระตำหนักธารเกษม,ถ้ำเทพนิมิตธารทองแดง, ถ้ำนารายณ์ หรือถ้ำเขาวง,ตำหนักสระยอ  และพระตำหนักท้ายพิกุล พระราชวังโบราณ
อำเภอแก่งคอย  ได้แก่ถ้ำพระธาตุเจริญธรรมหรือถ้ำบ่อปลา, ผาเสด็จ,ถ้ำพระโพธิสัตว์,เขาพระพุทธบาทน้อย,พระบวรราชวังสีทา,ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคด-โป่งก้อนเส้า, องค์การศาสนาเซไคคิวเซเคียวประจำประเทศไทย  และการล่องแม่น้ำป่าสัก
อำเภอมวกเหล็ก  ได้แก่น้ำตกเหวน้อย ,สวนรุกขชาติมวกเหล็ก และน้ำตกมวกเหล็ก, อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย,น้ำตกซับเหว,ถ้ำดาวเขาแก้ว และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
อำเภอวังม่วงได้แก่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์,อุโมงค์ต้นไม้และทุ่งทานตะวัน
อำเภอวิหารแดง  ได้แก่เจดีย์พระคุณแม่
อำเภอหนองแค  ได้แก่สวนนกธรรมชาติตำบลไผ่ต่ำ
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ทหาร  ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ทหารม้า,การขี่ม้าเพื่อการท่องเที่ยว,รถถังโบราณ,สนามยิงปืนค่ายอดิศร,กิจกรรีมทางทหารต่างๆ,สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ,ศูนย์กีฬากอล์ฟ,สระว่ายน้ำและยิมเนเซียม
เทศกาลงานประเพณี
ได้แก่งานโคนมแห่งชาติ,งานนมัสการรอยพระพุทธบาท,ประเพณีกำฟ้า,ประเพณีสงกรานต์สรงน้ำเสานางตะเคียนวัดสูง, ประเพณีตักบาตรดอกไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเข้าพรรษาซึ่งเป็นดอกไม้สีขาวมีเฉพาะทางขึ้นเขาที่จังหวัดสระบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  และการแข่งเรือยาวประเพณีลุ่มน้ำป่าสัก
สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
ได้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารและนม,ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง, องุ่นไร้เมล็ดอำเภอมวกเหล็ก, ผักหวานป่า, กุนเชียงสมุนไพรเสริมไอโอดีน,หมูสวรรค์,หมูทุบ,หมูพะโล้,กระยาสารท,จักสานผักตบชวา,ผลิตภัณฑ์หินอ่อน,แชมพู,ครีมนวดผม,ครีมล้างหน้าสมุนไพร,เห็ดฟาง,น้ำปลาตราปลาสร้อย,มะม่วงหนองแซง,ดอกไม้ประดิษฐ์จากก้านกล้วย, เนื้อตากแห้ง,กะหรี่ปั๊บ,เซรามิกแก้วถักขึ้นรูปอำเภอหนองแค,นม อสค. อำเภอมวกเหล็ก,ข้าวซ้อมมืออำเภอเฉลิมพระเกีบรติ,ส้มเขียวหวานอำเภอวิหารแดง,ข้าวเสาไห้อำเภอเสาไห้,ไวน์ส้ม ตำบลหนองโรง อำเภอหนองแค
ส่วนกิจกรรมน่าสนใจประจำแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ได้แก่ การปีนหน้าผา-โรยตัว ที่วัดพระฉาย, เที่ยวถ้ำลุมพินีสวนหิน  และพายเรือคายัคบริเวณน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
กิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองทหารม้า นอกจากการไหว้พระใกล้กรุงแล้ว  ส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือเชิงนิเวศ ได้แก่การเที่ยวถ้ำ ปีนหน้าผา พายเรือ ชมทุ่งทานตะวัน เที่ยวน้ำตก  แล้วคณะสัมมนาสัญจรก็ต้องรีบกลับที่พักที่จังหวัดนครราชสีมา  ก่อนจะไปเที่ยวชมเมืองทหารบกที่จังหวัดลพบุรีเป็นลำดับสุดท้ายของโครงการ				
10 พฤศจิกายน 2550 05:33 น.

ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๖

nidhi

บทที่ ๒๖ ไปเมืองปราสาทหินถิ่นภูเขาไฟ
กลับจากเขมร คณะสัมมนาสัญจรก็ย้อนดูตัวเอง เพราะไปดูหนังดูละครมาแล้ว  โดยเดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งชื่อบอกว่าเป็นเมืองแห่งความริ่นรมย์    โดยบุรีรัมย์มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า 
“เมืองปราสาทหิน  ถิ่นภูเขาไฟ  ผ้าไหมสวย  รวยวัฒนธรรม”
บุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งปราสาทหิน ดินแดนแห่งอารยธรรมของขอมโบราณ  มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการอยู่อาศัยของมนุษย์ในดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวารวดี  พบปราสาทขอมน้อยใหญ่กว่า ๖๐ แห่งที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในครั้งอดีตกาล และยังพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือ เตาเผาภาชนะดินเผาสมัยขอมซึ่งมีอายุประมาณพุทธษตวรรษที่ ๑๕-๑๘ อีกด้วย
การเดินทางไปจังหวัดบุรีรัมย์นอกจากเส้นทางรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง และรถไฟแล้ว  ยังสามารถเดินทางด้วยเครื่องบิน  ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiairways.com  
สถานที่น่าสนใจ 
อำเภอเมือง  ได้แก่ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี วนอุทยานเขากระโดง อ่างเก็บน้ำกระโดง  อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และสวนนกบุรีรัมย์
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  ได้แก่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และปราสาทหินพนมรุ้ง(พนมรุ้ง หรือ วนฺรุง เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขาใหญ่  เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕  ครั้นปีพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งราชอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน  เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อันโด่งดังซึ่งแอ๊ด คาราบาวนำมาร้องเป็นเพลงว่า “เอาไมเคิล แจ๊กสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา” ก็มีที่มาจากทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์แห่งปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งถูกลักลอบนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา  จนกระทั่งได้กลับคืนถิ่นเดิมในที่สุดจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้  ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร  ยังเป็นที่ตั้งวัดเขาอังคารซึ่งอยู่บนเขาอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว  ภายในวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้น  ปัจจุบันเป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์  มีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลาและอาคารต่างๆเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆหลายรูปแบบ  ภายในโบสถ์ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย
อำเภอนางรอง  ได้แก่อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม
อำเภอประโคนชัย  ได้แก่ปราสาทหินเมืองต่ำ มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวนซึ่งมีอายุราวพุทธศักราช ๑๕๐๘-๑๕๕๕ ปะปนอยู่ด้วย  ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู  จึงสันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู,  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน(แหล่งดูนกน้ำช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน) 
อำเภอบ้านกรวด  ได้แก่แหล่งหินตัดซึ่งเป็นแหล่งหินทรายที่คนสมัยขอมตัดหินเอาไปสร้างปราสาทต่างๆในเขตอีสานใต้(อีสานใต้ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา,สุรินทร์,บุรีรัมย์,ศรีสะเกษและอุบลราชธานี) , แหล่งเตาโบราณ(เตาสวายและเตานายเจียน)  เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบสามารถชมได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ หรือที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
อำเภอปะคำ  ได้แก่ปราสาทวัดโคกงิ้ว  เป็นโบราณสถานสมัยขอม  ด้านหลังเป็นอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
อำเภอโนนดินแดง  ได้แก่อนุสาวรีย์เราสู้, เขื่อนลำนางรอง และปราสาทหนองหงส์
อำเภอสตึก  ได้แก่พระพุทธรูปใหญ่(พระพุทธรูปปฏิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎรนิมิตมนิน) เป็นพระยืนขนาดใหญ่อยู่ริมแม่น้ำมูล  
อำเภอพุทไธสงได้แก่พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์  เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัย  ศิลปะลาว
อำเภอนาโพธิ์  ได้แก่หมู่บ้านทอผ้าไหมอำเภอนาโพธิ์
อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์  ได้แก่กู่สวนแตง (โบราณสถานแบบขอม) ประกอบด้วยปรางค์อิฐ ๓ องค์
เทศกาลงานประเพณี  
ได้แก่งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง, ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่อำเภอสตึก,งานมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ที่สนามกีฬาอำเภอห้วยราช ในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมของทุกปี, งานนมัสการพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์(วัดศีรษะแรต) ที่อำเภอพุทไธสง, งานนมัสการพระพุทธบาทจำลองที่เขากระโดง
สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
ได้แก่ ผ้าไหมผ้าฝ้ายนาโพธิ์, หินทรายแกะสลัก,เครื่องจักสาน,ปลาจ่อมอำเภอประโคนชัย, ขาหมูอำเภอนางรอง, กุนเชียงและไก่ย่างอำเภอลำปลายมาศ, หัวผักกาดหวานอบน้ำผึ้งอำเภอกระสัง, กุ้งอำเภอสตึก และกระยาสารทอำเภอประโคนชัย
จากที่กล่าวแล้ว  บุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งปราสาทหิน เพราะพบปราสาทหินเก่าแก่ยุคขอมเรืองอำนาจจำนวนมากมายหลายแห่ง  เป็นถิ่นภูเขาไฟในอดีตที่เขาอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว  เป็นดินแดนที่ร่ำรวยวัฒนธรรมที่วิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันสมัย  เป็นแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญสืบเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย  เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมผ้าฝ้ายที่งดงามที่อำเภอนาโพธิ์  เป็นแหล่งหินทรายแกะสลักที่มีชื่อเสียง  และเป็นแหล่งกำเนิดตำนานทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ลือเลื่องไปทั่วโลก
คณะสัมมนาสัญจรเดินทางไปถึงจังหวัดบุรีรัมย์ ก็เจาะจงไปขุดคุ้ยหาบรรยากาศมลังเมลืองสมัยโบราณที่เขาพนมรุ้ง  แล้วจบลงที่การเที่ยวชมประเพณีแข่งเรือยาวที่อำเภอสตึก ซึ่งจัดในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปีพอดี  เสร็จการเดินทางก็กลับโรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเตรียมเดินทางไปจังหวัดสระบุรีในวันรุ่งขึ้น				
10 พฤศจิกายน 2550 05:31 น.

ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๕ มุ่งสู่ชายแดนเขมร

nidhi

บทที่ ๒๕  มุ่งสู่ชายแดนเขมร
ชายแดนเมืองบูรพา  ป่างามตาน้ำตกสวย  มากด้วยอารยธรรมโบราณ  ย่านการค้าไทย-เขมร
สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออกติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย  เป็นจังหวัดลำดับที่ ๗๔ ของประเทศไทย โดยแยกออกจากจังหวัดปราจีนบุรีตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖  ซึ่งจะครบกำหนด ๑๔ ปีในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ ที่จะมาถึง  มีหลักฐานแสดงว่าสระแก้วเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละ-ทวารวดี  พบหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าแก่ที่สุดเป็นจารึกอักษรปัลลวะ สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช ๑๑๘๐ 
สุดชายแดนอรัญประเทศจังหวัดสระแก้ว  เป็นประตูเชื่อมต่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและกัมพูฃา  โดยมีตลาดสินค้าราคาถูกและสินค้ามือสองจากนานาประเทศเพื่อนบ้าน ที่รู้จักกันดีในชื่อ ตลาดโรงเกลือ หรือตลาดชายแดนบ้านคลองลึก
สระแก้ว แบ่งการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ  คือ อำเภอเมือง,วัฒนานคร,อรัญประเทศ,ตาพระยา,เขาฉกรรจ์,วังน้ำเย็น และตลองหาด กับกิ่งอำเภอโคกสูงและวังสมบูรณ์
การเดินทางไปจังหวัดสระแก้ว  สามารถเดินทางโดยรถยนต์,รถโดยสารประจำทางและรถไ  ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.transport.co.th  www’tat.or.th www.railway.co.th  
สถานที่น่าสนใจ
อำเภอเมือง  ได้แก่สระแก้ว สระขวัญ,ศาลหลักเมือง,อุทยานแห่งชาติปางสีดา,อ่งเก็บน้ำท่ากระบาก และน้ำตกท่ากระบาก
อำเภอเขาฉกรรจ์   ได้แก่ สวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์,เขาฉกรรจฺ,วัดถ้ำเขาฉกรรจ์ และอ่างเก็บน้ำเขาสามสิบ
อำเภอวังน้ำเย็น  ได้แก่หมู่บ้านหัตถกรรมจักสานล้อมเซรามิก,น้ำตกเขาตะกรุบ,โรงพยาบาลวังน้ำเย็น(โรงพยาบาลต้นแบบทางด้านการบำรุงบำบัดสุขภาพด้วยสมุนไพร)
กิ่งอำเภอวังสมบูรณ์  ได้แก่ สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น และน้ำตกเขาสิบห้าชั้น
อำเภอคลองหาด  ได้แก่ สวนน้ำสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
อำเภอวัฒนานคร  ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน,เขื่อนพระปรง,พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหลวงพ่อทองวัดสระแก้ว(พระนักพัฒนาและแพทย์แผนโบราณ),วัดนครธรรมและปราสาทบ้านน้อย
อำเภออรัญประเทศ ได้แก่ พระสยามเทวาธิราชจำลอง หน้าสภ.อ.อรัญประเทศ,วัดอนุบรรพต(เขาน้อย),โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช,ปราสาทเขาน้อยสีชมพู,ปราสาทเมืองไผ่,ตลาดโรงเกลือหรือตลาดชายแดนบ้านคลองลึก และประตูชัยอรัญประเทศ
กิ่งอำเภอโคกสูง  ได้แก่ปราสาทสด๊กก๊อกธม(โบราณสถานตามลัทธิศาสนาฮินดู)
อำเภอตาพระยา  ได้แก่ ละลุ(แพะเมืองผีแห่งใหม่),ปราสาทเขาโล้น,อุทยานแห่งชาติตาพระยา และอ่างเก็บน้ำห้วยยาง
เทศกาลงานประเพณี  ได้แก่ งานสืบสานวัฒนธรรมเบื้องบูรพาและงานกาชาดจังหวัดสระแก้ว,งานวันสถาปนาจังหวัดสระแก้ว และงานวันก่อแก้วบานเบื้องบูรพา
สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก  ได้แก่ ข้าวหลาม,แคนตาลูป,ผ้าไหมบ้านหันทราย,เครื่องจักสาน,จักสานล้อมเซรามิก,ผลิตภัณฑ์ไม้,ชิงช้าโยก  และที่แปลกคือ ไวน์อีโก่ย ซึ่งเป็นไวน์องุ่นสมุนไพรไทย   (อีโก่ย  คือองุ่นป่าเมืองไทย  ซึ่งจะรับประทานได้ก็ต่อเมื่อผลแก่จัดเป็นสีน้ำตาลเข้ม  รสชาติจะออกเปรี้ยวจัด  มีวิตามินซีสูง)
เนื่องจากคณะสัมมนาสัญจรเป็นคณะข้าราชการระดับผู้บริหารระดับกลาง  ฉะนั้นในการเดินทางไปจังหวัดสระแก้วในครั้งนี้จึงเจาะจงไปที่ตลาดชายแดนบ้านคลองลึก  และเดินทางต่อเนื่องข้ามเขตแดนไปชมเมืองเขมรและชมปราสามนครวัด-นครธม  แล้วไปกระชับสัมพันธ์ไทย-เขมร ตามคำเชิญของผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียนเมียนเจรยและจังหวัดเสียมราฐ  โดยการประสานติดต่อของสถานทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประเทศไทย  ซึ่งได้รับการเลี้ยงต้อนรับในบรรยากาศอบอุ่นมิตรไมตรีเยี่ยงบ้านพี่เมืองน้อง				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
  nidhi
ไม่มีข้อความส่งถึงnidhi