9 กุมภาพันธ์ 2546 14:54 น.

หนังสือมือทำ

นิติ

ถ้ามีใครว่า ทำไม...ต้องทำมือ? เออ! อย่าเผลอตอบแบบกำปั้นเชียว  เดี๋ยวโดนกำปั้นจริงๆ แล้วจะหนีไม่ทันเพราะเหมือนเสียดสี นักเขียนและนักอยากเขียนเลยว่างั้นเถอะ ก่อนจะรู้ว่าต้นสายปลายเหตุของหนังสือทำมือ ลองมาตีความคำว่า หนังสือ กับ ตำรา ให้กระจายอีกนิดจะได้คิดไปในทางเดียวกัน 
         คำว่า หนังสือ ตามที่ ราชบัณฑิตช่วยกันคิดแล้วลงความเห็นเป็นพจนานุกรม ฉบับล่าสุด ให้นิยามว่า เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียงหรือคำพูด, ลายลักษณ์อักษร, จดหมายที่มีไปมา, เอกสาร, บทประพันธ์, ข้อความที่พิมพ์หรือเขียนเป็นต้น แล้วรวมเป็นเล่ม  อีกนัยหนึ่งที่สั้นกระชับกว่า คือ เอกสารที่เขียนหรือพิมพ์ขึ้น
       ส่วนคำว่า ตำรา ความหมายแคบลงหน่อย เพราะ ราชบัณฑิตตีความสั้นๆว่าเป็น แบบแผนที่ว่าด้วยหลักวิชาต่างๆ
       ด้วยความแตกต่างๆกันนี้เอง งานเขียนของนักเขียนอย่าง เรื่องสั้น,บทกวีและอื่นๆ เสมือนเป็นการกลั่นกรอง ความรู้สึก ประสบการณ์ แง่มุมงามๆยามเหงาๆ เกิดอารมณ์และสร้างจินตนาการ  กลายเป็นหนังสือสื่อความรู้สึกนึกคิดผู้เขียนโดยตรง  ผิดแผกไป จาก ตำรา ดู เหว่ว้า อ่านแล้วเหมือนโดนตีตรา อยู่ในซอกเหลือบความคิดของใครก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องจำ ทุกถ้อยทุกคำ เพื่อไปพูดย้ำหน้าชั้นเรียน ตอนครูเขียนให้ท่องอย่างจำใจ
       ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง หนังสือ กับ ตำรา และบางทีเราคิดว่าเป็นคำ ที่มีความหมายกันเดียวกัน แท้จริงแล้วมันใกล้เคียงกันมากกว่า
      หนังสือทำมือ เป็นทางเลือกหนึ่ง ช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงผู้เขียนมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์พิจารณาผลงาน 3-4 เดือน ด้วยเหตุผลทางการค้า ที่ทำให้วรรณกรรมดีๆไม่มีเป็นรูปเล่ม ให้นักอ่านได้อ่านกันและอีกอย่างหนึ่ง ทำเองกับมือดูมีค่าทางจิตใจกว่า
       หลังจากทานมื้อเที่ยงของวันที่ 30 มกราคม วันสุดท้ายของงานนี้ ดูคึกคัก มีหนังสือทำมือวางขายเต็มไปหมด เดินสำรวจไปเรื่อยๆตามประสาคนชอบอ่านและนักอยากเขียน  ได้เห็นมุมมองแปลกของผู้เขียนหนังสือทำมือหลายท่าน บางทีก็หัวเราะเพราะคิดได้ไง กับคำบางคำ ประโยคบางประโยค มันแฝงแง่คิด ที่คิดได้เอง โดยไม่ได้อ้างตำราเล่มใด เป็นผู้ตั้ง กฎ และทฤษฎี ชี้นำแนวทางความคิด
         อาจารย์สวัสดีครับ ผมเห็นอ.ธีรพล อันมัย ภาควิชาการสื่อสารมวลชน กำลังเดินเข้าไปคุยกับกลุ่มคนขายหนังสือทำมือ อาจารย์หันมาพร้อมรอยยิ้มประจำตัว ประมาณว่า ยักษ์ซดน้ำร้อนก็ไม่ปานแต่รู้สึกถึงความจริงใจได้เลย ฟันขาวสวยทุกที ที่เห็นรอยยิ้มของอาจารย์ที่ผมเคารพรักคนนี้ ผมเลยยิ้มตามแบบอาจารย์กลับไป งานนี้อาจารย์ช่วยทุกอย่างเท่าที่ช่วยได้ทีเดียว
        เออ ! มานี้ครูจะแนะนำแก่ให้พี่เขารู้จัก อาจารย์มองนำสายตาผมไปยัง ชายร่างทะมัดมะแมง นั่งอยู่มุมโต๊ะ วาดสีน้ำเป็นการ์ดสวยๆบรรจงตวักเส้นลายสุดฝีมือ
        นี่ พี่มาโนช  พรหมสิงห์ นักเขียนใหญ่ เจ้าของรางวัลชนะเลิศ หนังสือทำมือฯ ครั้งที่ 1 พี่มาโนชเงยหน้ามามองอาจารย์และผมและอาจารย์ก็คุยต่อว่า
          ลูกศิษย์ คนนี้ชอบเขียนกลอน วันหนึ่งๆ เขียนวันละ4-5 บทเลย ผมยิ้มเขินคำอาจารย์พูดเล็กหน่อย แต่กลับหัวเราะเสียงดังแทนเมื่อ พี่มาโนชพูดขึ้น ดูหน้าดูตานึกว่าช่างทำกลอน รับเหมาทำประตู มุขเรียบๆของนักเขียนทำให้คนรอบหัวเราะไปกันใหญ่ ผู้ที่หลายคนอาจจะได้ยินมาบ้างแล้ว  แหละก็มีนักเขียนหลายคนด้วยสิที่มากัน อาทิ เช่น                         
        ไพฑูรย์  ธัญญา  มากล่าว ปาฐกถาพิเศษ คลื่นความคิดมีมุมให้คิดเสมอ  พอหันขวาไปนิดเห็น พรชัย แสนยะมูล นักเขียนที่วัยรุ่นนักอ่านรู้จักดี  ชัชวาลย์  โคตรสงคราม ก็มาช่วยงานนี้ด้วย มีหลายท่านที่พบปะกันในงานวันนั้น
        อย่างที่ทราบกันดีงานครั้งนี้ มีกลุ่มที่ทำหนังสือทำมือหลายกลุ่ม เท่าที่เดินรอบงานก็พอจำได้บ้าง ดังนี้
กลุ่มหิ่งห้อย ,กลุ่มคมดาว และกลุ่มลำนำอีเกิ้ง มาไกลจาก อุบลฯ มีหนังสือหลายเล่มที่อ่านแล้ว โลกเศร้าหรือสวยขึ้น ทันทีที่อ่านเลยหล่ะ
แหม กลุ่มเจ้าของพื้นที่ก็มากันเยอะไม่ให้น้อยหน้าหรอก สโมสรนักเขียนอีสาน , ชุมนุมหนังสือทำมือ ร.ร. สาธิต มมส , กลุ่มสารคามเสวนา และกลุ่มใต้ฟ้าเดียวกัน  งานเขียนหลายคนที่ผมรู้จัก ได้ร่วมเป็นรูปเล่มช่างน่าภูมิใจแทนความตั้งใจของทุกคนจริงๆ  แถมมากับ กลุ่มคืนดิน ขอนแก่นนี้เอง
         ถ้าลงมาเลียบเลาะ อีสานใต้บ้าง มี สโมสรวรรณศิลป์สุรินทร์ มีนักเขียนคุ้นชื่ออย่าง ไชยา  วรรณศรี นำขบวนหนังสือมาแสดง พร้อมกับ กลุ่มตะวันแดง จากเมืองยโสธร 
       งานนี้คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ นิสิตและบุคลากร มหาวิทยาลัยแห่งนี้  สังเกตเห็นหลายคนชวนกันมาดูเยอะพอสมควร แต่ไม่เห็นซื้อให้เป็นกำลังใจเลย  แต่สิ่งที่น่าภูมิใจมากกว่าของผู้มาเยือนหลายกลุ่ม คือการได้สร้างมันขึ้นมา
       เสียงหัวเราะ กับเสียงพูดคุยกันยังดังอยู่ในความคะนึงความคิดเสมอว่า อีสานเรายังมีกลุ่มคนที่ศรัทธาในการ สร้างวรรณกรรมอยู่ไม่คลาย ไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆในประเทศนี้  เสียงเพลงจาก วงฮักแพง  แว่วแผ่วผ่านโสตประสาทในครั้งนั้น คิดถึงความฝันของตัวเอง ว่าเมื่อไหร่จะมีหนังสือเป็นของตัวเองซักเล่มเสียที.				
5 กุมภาพันธ์ 2546 16:09 น.

“ศรีจนาศะ” อาณาจักรโบราณลุ่มแม่น้ำมูล

นิติ

แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีจนาศะ อยู่ที่เมืองโบราณชื่อ เมืองเสมา ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา หรือ เมืองศรีเทพ โบราณสถานในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสักในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ก็เชื่อว่าเคยมีอาณาจักรนี้อยู่ในบริเวณประเทศไทย ไม่ใช่ ลาว หรือพม่าแน่นอน
      นักวิชาการหลายท่านต่างอ้างหลักฐานที่ตนหาได้ มาหักล้างกันให้ความจริงปรากฏ บอกความเป็นมาของอาณาจักรศรีจนาศะในช่วงสมัยรุ่งเรือง       ลองมาฟังนานาทรรศนะนักวิชาการผู้ที่สังคมนี้ให้การเชื่อถือว่าเป็นเช่นไร
       รองศาสตราจารย์  ดร. ธิดา  สาระยา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า ศรีเทพคือศรีจนาศะ  เพราะเมืองโบราณศรีเทพคือดินแดนที่ปรากฏอยู่ในชื่อศรีจนาศะมาแต่โบราณ  เมืองนี้รุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางสำคัญช่วงพุทธศตวรรษที่ 12- 15 ขอบเขตแห่งอำนาจของเมืองนี้มิใช่อยู่ที่ราบสูงโคราชหรือลุ่มน้ำมูลอย่างเดียว หากควรครอบคลุมอาณาจักรบริเวณลุ่มน้ำป่าสักซึ่งมีเครือข่ายการติดต่อถึงกัน  ได้ปรากฏทั้งจากสภาพภูมิศาสตร์หลักฐานทางโบราณสถาน หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยนัยเชื่อว่าความหมายของคำว่า นอกกัมพุเทศ อันเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึงบริเวณลุ่มน้ำมูลเท่านั้น  จึงน่าจะไม่ใช่การขยายตัวทางการตั้งหลักแหล่งของขอม เข้าสู่ภาคอีสานสมัยพุทธวรรษที่ 15 ชัดเจนพอ  เพราะอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากลุ่มน้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อมประสมประสานที่ศรีเทพในลุ่มน้ำป่าสักด้วย    ทั้งก่อนและหลังพุทธวรราที่ 15 ดินแดนที่เรียกว่า นอกกัมพุเทศ ควรครอบบริเวณสองลุ่มน้ำอันอ้างชื่อมาแล้ว         
   แต่นักวิชาการท้องถิ่นภาคอีสานอย่าง ผู้ช่วยศาตราจารย์ชลิต  ชัยครรชิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงความเห็นว่า เมืองเสมาคือศูนย์กลางศรีจนาศะ ด้วยเหตุผลที่ว่า     หลักฐานทางโบราณคดีอันประกอบไปด้วย จารึก และโบราณวัตถุที่พบอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตอนบนสัมพันธ์โดยตรงกับอาณาจักรศรีจนาศะหรือจนาศปุรนะ จารึกบ่ออีกา จารึกเมืองเสมา จารึกหินขอน มีความสัมพันธ์กับศรีจานาศะ อันแสดงให้เห็นว่าศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล โดยมีความสัมพันธ์กับสองเขตวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมทราวดีจากลุ่มแม่น้ำลพบุรี เข้าสู่แม่น้ำป่าสักและผ่านตรงมายัง เมืองเสมาหรือศรีจนาศะ  โดยวัฒนธรรมทราวดีได้แพร่ขึ้นไปยังเมืองศรีเทพ  อันเป็นเมืองร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีจนาศะ เมีองศรีเทพเพชรบูรณ์จึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นอาณาจักรศรีจนาศะ  ยิ่งเมื่อพิจารณาชื่อเมืองศรีเทพยิ่งพบว่า เมืองศรีเทพ ถูกเรียกชื่อใหม่ ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์จากเดิมที่ชาวบ้านเรียกเมืองท่าโรงและวิเชียรบุรี  อันไม่สอดคล้องกับศรีจนาศะหรือจานาศะปุระแต่ประการใด หลักฐานจารึกและโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่น้ำมูล สัมพันธ์กันโดยตรงกับความเป็นอาณาจักรศรีจนาศะ
    ดังนั้น  ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีจนาศะจึงเป็นบริเวณลุ่มแม่มูล  อันได้แก่เมืองเสมา มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น
      หลักฐานที่พบเห็น สามารถให้ความกระจ่างในความสงสัยได้  รองรับสมมติฐานที่ตนคิดและคนอื่นคิดได้เช่นกัน  ความเชื่อแต่ละบุคคลในศาสตร์การค้นหาความจริงในอดีต เชิงวิชาการ ทำให้นักวิชาการมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทั้งฝ่ายนักวิชาการในเมืองหลวง ซึ่งเชื่อหลักฐานลายอักษรและหลักศิลาจารึก ส่วนฝ่ายนักวิชาการท้องถิ่น มุ่งเน้น โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถานที่จริงและความเป็นไปได้
     นักวิชาการอีกท่านที่สังคมเชื่อถือ  อาจารย์สุจิตต์   วงษ์เทศ  แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือ ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง ตอนหนึ่งในบทนำว่า บริเวณต้นแม่น้ำมูล ที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดนครราชศรีมากับดินแดนต่อเนื่อง  มีหลักฐานชัดเจนว่ามีอิสระ ชื่อศรีจนาศะ ตั้งอยู่เมื่อปี พ. ศ. 1300 แต่สังคมไทยไม่รู้จัก
               ความชัดเจนยังไม่ปรากฏ แต่ถ้าความจริงปรากฏมาจากเหตุผลกลใดก็ตาม หากช่วยหนุนให้เชื่อว่าแถวลุ่มแม่น้ำมูลมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  มีคุณค่าทางวัฒนธรรม บางทีรัฐบาลคงต้องทบทวนบริบทที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลใหม่ว่า การยัดเยียดสิ่งต่างๆที่คนบริเวณนั้นไม่ต้องการ เป็นการทำลายประวัติศาสตร์ชนชาติและความรู้สึกประชาชนอย่างที่สุด.				
19 ธันวาคม 2545 09:38 น.

ฉายเดี่ยวไปด้วยแรงเหนี่ยวความคิดถึง

นิติ

        หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ จัดสิ่งของที่จะนำกลับบ้านเสร็จสรรพก็ปาเข้าไป ตีสองเกือบครึ่งแล้ว ผมรีบออกห้องตรงไปยังประตูด้านหลังของหอพักอยากจะออกประตูหน้าเหมือนกัน แต่กฎของหอพักหอนี้ จะปิดประตูไม่ให้เข้าหอพักตอนเที่ยงคืนแต่ปิดแต่ประตูหน้าเท่านั้นประตูด้านหลังไม่ได้ปิด เปิดเข้าปิดออกได้ตลอดเหมือนประตูของร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีฟเลเวน อย่างไงอย่างงั้ยเลยครับ นี้เป็นเฉพาะหอพักพยัคฆภูมิพิสัยนะครับ หออื่นไม่อาจทราบข้อมูลได้แน่ชัด ผมรีบรุดเร่งฝีเท้าไปยัง ไอ้แดงทองแท้ พร้อมกับยิ้มทักทายสองสาวที่ยืนรออยู่กับไอ้แดงทองแท้ หลายคนเหมือนเริ่มสงสัยว่าทำไมตั้งชื่อมอเตอร์ไซค์คันนี้ว่า แดงทองแท้ เอาหล่ะผมจะชี้แจงให้เข้าใจ ประการแรกเลย มอเตอร์ไซค์ของผมคันนี้มีสีแดง-ขาว แรกๆเลยเรียกไอ้แดงเฉยๆ พอคิดไปคิดมา เห็นคุณพานทองแท้ก็ดังเป็นลูกนายกรัฐมนตรีของเรา คุณทองแดงก็ดังเป็นสุนัขของในหลวง ก็เลยเพิ่มชื่อให้ทันยุคทันสมัยเป็น แดงทองแท้ ตามนิสัยคนไทยทั่วไปที่เห็นใครดังๆก็เอาชื่อเขามาตั้งชื่อ สัตว์,สิ่งของที่ตนรักอย่างบ้านน้าผมเอาหมามาเลี้ยงตัวหนึ่งช่วงละครช่อง 3 เรื่องบ้านทรายทองกำลังดังมีพระเอกคือ คุณศรราม เทพพิทักษ์ คุณน้าผมคลั่งไคลปลื้มคุณศรรามมากในช่วงนั้น สุนัขที่บ้านเลยได้ชื่อศรรามมาตั้งแต่นั้น นี้ถ้าคุณศรรามตัวจริงมาได้ยินเข้าผมยังนึกภาพไม่ออกเลยว่า เขาจะเสียใจหรือดีใจกับแฟนละครผู้คลั่งไคลอย่างคุณน้าของผม ฮึ ฮึ
                ผมสตาร์มอเตอร์ไซค์และปล่อยให้มันอุ่นเครื่องซัก 2-3 นาที จึงเรียกสองสาวซ้อนท้ายแล้วขับไอ้แดงทองแท้ไปส่งที่รอรถที่ สามแยกทางไปกาฬสินธุ์ จากระยะทาง มหาวิทยาลัยที่ขามเรียงไปในเมืองราว 13 กิโลเมตรได้ พอถึงที่รอรถประจำทาง โดยรถประจำทางมุ่งไปปลายทางคือสกลนคร เพราะสองสาวเป็นคนจังหวัดนี้นั้นเอง เพื่อนผมบอกว่าถ้ากลับบ้านในช่วงเวลานี้จะไปถึงบ้านที่สกลนครตอนเช้าพอดี ผมดูนาฬิกาเป็นเวลา สองนาฬิกาสี่สิบนาทีได้ รถประจำทางปรับอากาศชั้นสองแล่นผ่านมาจอดให้เพื่อนที่ขอติดรถมาด้วยขึ้น ทราบภายหลังว่าเธอเรียนเอกพยาบาลเพราะยังไม่ได้คุยกันเลย พอจอดรถมอเตอร์ไซค์ รถประจำทางก็วิ่งมาจอดพอดี เธอรีบเร่งขึ้นรถได้ยินเสียงขอบคุณเบาๆหลังจากเธอเข้าผ่านประตูรถไป หลงเหลือผมและเพื่อนรอรถสายที่กลับบ้านอย่างใจจดใจจอต่อไป แท้ที่เพื่อนผมจะกลับเพื่อนคนเมื่อกี้ก็ได้แต่ผมขอร้องให้อยู่รอรถคันต่อไปเพราะจะได้เป็นเพื่อนผมด้วย เวลาล่วงมาถึงสามนาฬิกายี่สิบกว่านาที ผมจึงให้เพื่อนขึ้นรถประจำทางไป ทั้งที่ได้แล่นผ่านไปหลายคัน เพราะสงสารเพื่อนจะกลับถึงบ้านเวลาเช้าแต่ต้องอยู่เป็นเพื่อนผมให้ถึงเวลาสี่นาฬิกา ผมได้ว่างแผนการเดินทางครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น เริ่มจากขอให้ไปส่งเพื่อนขึ้นรถในเวลาสองนาฬิกาและผมก็กะเวลาไปผ่านไปถึงสี่นาฬิกา ผมจึงจะเริ่มเดินทางกลับบ้านซึ่งทางกลับบ้านเพื่อนกับผมมันคนละทางกันเลยเพราะจุดหมายปลายทางของผมคืออิสานตอนใต้จังหวัดศรีสะเกษส่วนเพื่อนผมคืออิสานตอนบนจังหวัดสกลนคร
                หลังจากเพื่อนขึ้นรถมุ่งกลับบ้านโดยมีเพื่อนร่วมทางเต็มคันรถพร้อมที่จะทำให้เธออุ่นใจ จนหลับไปด้วยความอ่อนเพลียจากรอคอยที่จะกลับสู่ภูมิลำเนาที่เฝ้าเรียกร้องให้กลับมาเยี่ยมเยียนอยู่เนื่องๆ  ผมนั่งลงข้างๆไอ้แดงทองแท้เพื่อนคู่ทางกลับบ้าน นั่งพินิจพิจารณาว่าจะลองกลับบ้านด้วยมอเตอร์ไซค์เวลาสี่นาฬิกาดีหรือเปล่า? ยังอยู่ในภวังค์ของการกรุ่นคิด นึกถึงความอหังกาของตัวเองตอนเดินทางมาคนเดียวด้วยไอ้แดงทองแท้จากศรีสะเกษ-มหาสาคาม ด้วยความอยากลองรถว่าแรงแค่ไหนกัน ผมบิดคันเร่งจนมิด เข็มวัดรอบความไวของลูกสูบขึ้นถึงเลข 8 จะเฉียดเลข 10แต่คงไม่ข้ามขั้นไปถึงเลขสุดท้ายคือ 12 ความเร็วเริ่มเพิ่มขึ้นตามละดับจาก 100 กม/ชม. 120..140..160และ180 กม/ชม.ด้วยจังหวะและลีลาเอื้อต่อการเพิ่มความเร็วจะสามารถเพิ่มเร็วได้ถึง 200 ..220 กม/ชม.กับขนาดของเครื่อง 150 ซี ซี ได้อย่างไม่ยากเย็น ผมเคยยืนดูความเร็วระดับนี้มาแล้วจากการแข่งขันโดยเพื่อนแถวบ้าน การที่จังหวัดศรีสะเกษเองเป็นจังหวัดที่เร่งพัฒนาเพราะด้อยพัฒนาประเมินได้จากรายได้ต่อหัวต่อพื้นที่ที่อยู่ท้ายจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ รัฐพัฒนาถนนหนทางก่อนโดยเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้ามาในจังหวัดมากขึ้นถนนต้องดีก่อน ไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือ อบต. ในจังหวัดนี้มีเงินงบประมาณสร้างถนนมากกว่าเงินงบประมาณสร้างฝายกันน้ำหรือส่งเสริมอาชีพเสียอีก ถนนคอนกรีตจึงว่างๆให้ควายเดินและให้วัยรุ่นปัดขี้ดินนอนดูดาวเวลาค่ำคืนฉ่ำอุราเลยทีเดียว เริ่มไปไกลแล้ว ขอวกมาประเด่นความเร็วของรถต่อดีกว่าครับ  การแข่งรถที่นั้นแข่งขันกันวัดทางตรงประมาณ 2-3 กิโลเมตร เพื่อพิสูจน์เครื่องรถและลีลาของคนโดยมีรถสองคันวิ่งบนถนนนี้เท่านั้น ผมคิดอยู่เสมอว่าความเร็วระดับ 200 กม/ชม.ขึ้นไป ถ้าเครื่องเกิดขัดข้อง โซ่ตก เครื่องน็อคแล้วรถเสียหลัก ความตายเอาไปแล้ว 50% พิการอีก 40% ปลอดภัยเหลือเพียง 10%เท่านั้น คิดแล้วด่าตัวเองเสมอว่าอย่า โชว์ระบบเกินความจำเป็น แหม่!ไม่ทราบว่าคุ้นกับศัพท์วัยรุ่นนี้หรือเปล่า ขอให้นิยามหน่อยว่า การทำอะไรที่อวดอ้างตนว่าเก่งกล้า ไม่มีใครกล้าทำมีมากในสังคมคนเรียนมหาวิทยาลัยที่มีแต่ระบบ ที่ไม่รู้ว่าระบบเป็นสิ่งใดแน่
              ผมสตาร์รถอีกครั้งแล้วมุ่งกลับบ้านคนเดียวในเวลาสี่นาฬิกากับความรู้สึกเหงาๆและหนาวด้วยอากาศเย็นของค่ำคืนนี้ มีเพียงดวงดาวที่ประดับประดาเต็มท้องฟ้าคอยเป็นเพื่อนกับการเดินทางครั้งนี้กับระยะทางประมาณ 270 กิโลเมตรจะถึงบ้านที่ไม่ได้กลับหลายเดือน ผมขี่รถด้วยความเร็ว 80 กม/ชม.และสม่ำเสมอความเร็วนี้ไปตลอด จะได้ประหยัดน้ำมัน เครื่องยนต์ทำงานไม่หนักเกินไป เรื่องความปลอดภัยผมใส่หมวกกันน็อคตลอดที่ขับรถอยู่บนท้องถนน ใส่เสื้อกันหนาวกางเกงขายาวให้ทะมัดทะแมง เหมาะกับการเดินทาง เดินทางผ่านร้อยเอ็ดและเวลาอีกชั่วโมงครึ่งก็จะเป็นวันใหม่ของวันที่ 6 ธันวาคม ผมขับรถไปเรื่อยไปพักแวะเดินเที่ยวตลาดเช้าที่ อ.เสลถูมิ ตลาดอยู่ติดทางลาดยาง จึงแวะลงมาหาของกินก่อนเดินทาง พึ่งทราบเดี่ยวนี้เองว่า การตื่นมาดูคนทำงานตั้งแต่เช้ามืด สามารถบีบความรู้สึกของคนที่นอนดึกตื่นเอาเที่ยงใช้ชีวิตแบบวิถีนิยมแบบนิสิตนักศึกษาสมัยนี้ ที่คิดว่าการเรียนมีแค่ในตำราและห้องเรียนเท่านั้น
               หลังจากรองท้องด้วยข้าวเหนียวกับหมูปิ้งมื้อเช้าเบาๆไปแล้ว การเดินทางยังดำเดินต่อไปกับเส้นทางไป จ.ยโสธร เมืองบั้งไฟ ขับผ่านเส้นทางสายที่มีทางไปพระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่พอดีว่าจะแวะกราบนมัสการแต่ป้ายบอกทางไปกระชันชิดเหลือเกินขับรถผ่านรวบ 100 เมตร จึงขอโอกาสหน้าจะแวะกราบนมัสการ เวลาเจ็ดโมงเช้า ถึง อ. คำเขื่อนแก้ว พร้อมป้ายบอกทางไป ศรีสะเกษอีกประมาณ 60 กิโลเมตร 
        ทางสายนี้ผมเดินทางกลับบ้านเป็นประจำโดยสารรถบัสสายันต์ทัวร์ อุดรฯ-อุบลฯไปลงที่ บขส.อุบลฯแล้วต่อรถไปสถานีรถไฟ ผมจะกลับถึงศรีสะเกษโดยรถไฟจึงสังเกตและจำไว้กลับตลอดทาง มีทางลัดย่นระยะทางได้มากกว่านี้ แต่ด้วยออกมาดึกและคนเดียวไม่ชินเส้นทาง จึงไปทางที่คุ้นเคยดีกว่าเพราะจะได้อุ่นใจ จากคำเขื่อนแก้วผ่านมหาชนะชัย 2 อำเภอจ.ยโสธรจนมาถึงราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เช้าออกสายๆวันนี้แดดจ้าร้อนแรงเหมือนมาต้อนรับผมกลับบ้านเสียจริง ถนนหนทางสายนี้ช่างคดเคี้ยวมีโค้งหลายโค้งถนน ให้เวียนหัวเวลาขับขี่รถเสียจริง แถมยังมีทางขึ้นเนินเขาเล็กๆพอให้วาดเสี้ยวเล่น 2-3 เนินเขาเล็กๆเลยหล่ะครับ  เผลอแป๊บเดี่ยวถึง อ.อุทุมพรพิสัยและ
อ.ห้วยทับทัน ที่ตั้งของบ้านผมเหลืออีก 2 กิโลเมตร จะถึงบ้านความรู้สึกตอนนั้นบวกคิดถึงบ้าน ผมแอบยิ้มออกมาเฉยๆโดยไม่มีสาเหตุ มันคงเป็นความอัดอันตันใจ เมื่อกร่ำกรายถนนสายที่นำสู่หมู่บ้านสังคมชุมชนเอื้อเฝื้อเกี้อกูลกัน  
     เสียงไอ้แดงทองแท้ดับลง ผมถึงบ้านแล้ว ผมกวาดสายตามองดูรอบๆบ้าน ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม ยังรกตรงมุมที่เคยรก มองไปเหมือนมันชกใจผมด้วยภาพความหลัง ที่สะเทือนความรู้สึกไปทุกอณูห้องหัวใจ เสียงแว่วมาแต่ข้างหลัง          ไม่ได้หาสาวทางโน่นมาช่วยเกี่ยวข้าวบ่  ผมหัวเราะกับวลีสั้นๆหวนๆของยายแต่แฝงด้วยความนัยหลากหลายไปกับวลีนั้นอย่างจงใจ.
				
12 ธันวาคม 2545 18:27 น.

ค่าหอขึ้นแล้ว เทวดาจะอยู่ดีมีสุขไหม ?

นิติ

      บทสนทนาจากหน้าเว็บเพจ จดหมายถึงอธิการบดีในเว็บไซด์ประจำสถาบัน WWW.MSU.AC.TH เป็นคำพูดตัดพ้อจากศิษย์ถึงอาจารย์,คำพูดที่ออกจากใจของคนในองค์กรถึงผู้บริหารระดับสูง,คำพูดระหว่างคนอายุรุ่นราวคราวลูกมีต่อคนรุ่นราวคราวพ่อ,คำพูดจากคนประสบปัญหาถึงคนที่สามารถแก้ไขปัญหาได้และคำเรียกร้องจากคนที่อยากให้มีคนชี้แจ้ง ซึ่งเป็นปัญหาค้างคาใจนิสิตตาดำๆที่ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
                   สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ กำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2511 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะขยายชั้นสูงไปสู่ภูมิภาคต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม เมื่อปี พุทธศักราช 2517 และได้แยกตัวเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2537 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย
ซึ่งได้มีการประกาศ เล่มที่ 111 ตอนที่ 54 ก นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แห่งที่ 22 ของประเทศไทย ในภาคอิสานมีมหาวิทยาลัยของรัฐประจำภูมิภาค 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่และขนาดประชากรดูจะไม่สมดุลกันเท่าไรนัก มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่ง ที่พึ่งได้แยกตัวเป็นเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมาในไม่นานนี้เอง ความที่เป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่หลายสิ่งหลายอย่างดูจะไม่พร้อมสรรพอย่างมหาวิทยาลัยใกล้เคียงกัน ทั้งในด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์เทคโนโลยีทางการศึกษาหรือแม้กระทั่งสิ่งอำนวยความสะดวกของครูอาจารย์และนิสิต หอพัก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างนิสิตกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย หอพักที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้อ้างว่าเป็นของมหาวิทยาลัยโดยเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้คือ หอกันทรวิชัย(ชาย)และหอวาปี(หญิง) ส่วนหอพักพยัคฆภูมิพิสัย โกสุมพิสัย นาดูน ชื่นชม ยางสีสุราช บรบือและกุดรัง จัดสร้างด้วยเงินที่มหาวิทยาลัยทำสัญญากับเอกชนให้สร้างหอพัก โดยทางมหาวิทยาลัยชำระผ่อนส่งในระยะเวลา 20 ปี  ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้บอกกับนิสิตว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องเก็บค่าหอแพงด้วยเหตุผลที่งบประมาณสร้างหอพักไม่ใช่เงินของรัฐแต่เป็นเงินของเอกชน จึงต้องเก็บในจำนวนที่ใกล้เคียงกับหอนอก รอบมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่แพงเทียบเท่า เช่น หอพักหอนอกมหาวิทยาลัย(ที่ไม่ใช่คำว่า หอเอกชน เพราะหอในมหาวิทยาลัยก็เป็นเงินของเอกชน) เก็บค่าเช่ารายเดือน 1500 บาท หอพักในมหาวิทยาลัยจะเก็บในอัตรา 1000-1200 บาท เป็นราคาห้องธรรมดาไม่นับร่วมหอที่ติดเครื่องปรับอากาศที่ค่าเช่ารายเดือนจะสูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัว ในช่วงปลายปีการศึกษา 2544มีการติดประกาศในหอพักต่างๆ เรื่องข้อเปรียบเทียบระหว่างหอในมหาวิทยาลัยกับหอนอกมหาวิทยาลัย และชี้จุดดีจุดด้อยเชิงความคุ้มค่ากับการอยู่อาศัย เพราะตั้งแต่ต้นปีการศึกษา2544มีนิสิตประสงค์จะย้ายออกไปอยู่หอนอกเป็นจำนวนมาก เพราะความหมายคำ หอใน กับ หอนอก เริ่มไม่แตกต่างกัน!
   เหตุการณ์ตามมา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตในตอนนั้น คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธัญญา  สังขพันธานนท์ ออกมาประกาศว่า นิสิตคนใดต้องการจะออกไปอยู่หอนอกในปีการศึกษา2544 ต้องนำผู้ปกครองมารับทราบด้วย ถึงแม้จะทราบดีว่าการให้ผู้ปกครองของนิสิตรอนแรมเดินทางมาจากต่างจังหวัด เสียเวลาหาเงินทองเพื่อส่งลูกเรียน มาเพียงเพื่อบอกให้ทราบว่า ลูกของคุณอยากออกจากหอในไปออกหอนอก จากสอบถามผู้ปกครองหลายท่าน บางท่านต้องการให้ลูกของตนไปอยู่หอนอกมากกว่าเพราะสวัสดิการบริการในมหาวิทยาลัยยังไม่ดีพอ  บางคนขอให้ลูกเอนทรานซ์ใหม่เพื่อเลือกมหาวิทยาลัยที่ดีและพร้อมกว่านี้ เพื่อโอกาสที่ดีกว่าในการเลือกสิ่งดีๆให้กับลูกของตน  หอพักพยัคฆภูมิพิสัย โกสุมพิสัย นาดูน ชื่นชม ยางสีสุราช บรบือและกุดรัง สร้างเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน  แต่น้ำท่าไม่ค่อยสะดวกนัก จึงเกิดปัญหาตาม  เดี๋ยวน้ำไม่ไหลบ้าง น้ำไหลน้อยและเบาๆจนหายไปในที่สุดหรือแม้จะไหลแรงแต่น้ำก็ดำ มีแต่ขี้ดินเศษหินอยู่เป็น เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งบันทอนสุขภาพจิตใจการอาศัยของนิสิตเสมอมา แต่ก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ต้องทนรับสภาพแบบนี้ไปเรื่อย แค่ได้หวังว่าสักวันทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น เหมือนคำพูดของท่านอธิการบดี รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ กล่าวรับขวัญนิสิตใหม่ปีการศึกษา2544ไว้ตอนหนึ่งว่า ผมจะพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ดีขึ้นและดียิ่ง ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ  แต่จะขึ้นค่าหอพักตามที่คุณ กา เรียนถามอธิการบดีหรือเปล่าไม่รู้  ถ้าถามนิสิตที่อยู่หอพักในขณะว่า ทำไมไม่ไปอยู่หอนอกหล่ะ ถ้าลำบากนัก  เสียงตอบคงเป็นเสียงเดียวกัน คือ  เรายังไม่รู้จักที่นี้ดีพอ ปีแรกก็ควรจะอยู่หอในเพื่อเรียนรู้ระบบการเรียนของมหาวิทยาลัย เรียนรู้สังคมรอบๆมหาวิทยาลัยว่าเป็นเช่นไร เพื่อจะอยู่รอดในระยะเวลา 4 ปี การพักอาศัยหอพักเริ่มมีปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆเมื่อปลายปีการศึกษา2544 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยประกาศให้หอหอกันทรวิชัย(ชาย)และหอวาปี(หญิง)จากค่าเช่าต่อ2400 บาท เปลี่ยนมาเป็น 4000 บาท เทียบเท่า หอพักอื่น โดยทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้ลำบากในการจัดเก็บการบำรุงรักษาหอพัก และให้เป็นอันหนึ่งเดียวตามแนวทางเดียวกันทั้งหมด ความรู้สึกเหมือนคนโดนไล่ให้จนตรอก แกนนำกลุ่มนิสิตปี 3 ที่อาศัยอยู่ ร่วมกลุ่มกัน ประท้วงเรียกร้องสิทธิของตน เพราะทางผู้บริหารเคยบอกแล้วว่าหอพักทั้งสองหลังนี้เป็นของรัฐไม่ใช่เอกชน เกิดข้อถกเถียงโต้แย้งกัน แต่ถึงที่สุดนิสิตเหล่านี้ต้องยอมรับชะตากรรม โดยผู้บริหารยืนยันหนักแน่นว่าถ้าใครไม่อยู่ให้ย้ายออกไป หากใครจะอยู่ต้องยอมรับกติกานี้ นิสิตที่ร่วมประท้วงส่วนใหญ่ย้ายตัวเองออกไปอยู่หอนอกเพราะรับสภาพแบบนี้ไม่ไหว ได้แต่สงสารรุ่นที่ต้องแบกรับภาระที่ไม่เป็นธรรมโดยเจตนา เพราะไม่มีทางเลือกให้เลือกเดินมากนัก
        การที่มหาวิทยาลัยมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารตนเองถือเป็นอิสระที่สามารถพัฒนาวิชาการ เพื่อสนองพัฒนาผู้เรียนและพัฒนาประเทศชาติด้วยเป็นสิ่งดี แต่การมีอำนาจอิสระเต็มที่กลับแสวงหาผลประโยชน์ให้เพื่อนพ้องของตน  เหยียบย้ำตำราที่เคยเขียนสอนนิสิตให้พัฒนาชาติ ช่วยเหลือประชาชน ก็ผิดกับปรัชญาที่ท่องกันทั้งสถาบัน "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" 				
4 ธันวาคม 2545 13:00 น.

รอยดินกับกลิ่นปลา

นิติ

        เสียงรถไถเริ่มจางหายจากตัวหมู่บ้านไป แต่กลับดังสนั่นหวั่นไหวในท้องทุ่ง  ทำเอานกน้อยใหญ่ตกใจหนีกันกระเจิดกระเจิง ควันโขมงตามเสียงไอ้ความเหล็ก ถือเป็นสัญญาณ เหมือนการยิงปืนพิธีเปิดการแข่งขันอะไรสักอย่าง โดยผลรางวัล ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปดั่งหวังตั้งใจหรือไม่ ได้แต่เงยหน้ารอฟ้ารอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ทุกคนในครอบครัวต่างรีบเร่งดำนาให้สำเร็จเร็วไว ตามกำลังแรงของสิงห์คะนองนา ที่ซดน้ำมันเป็นว่า เหมือนเห็นหยาดเหยื่อคนที่ขับมันไหลเปียกปอนเสื้อผ้ามากเท่าใด เป็นยาชูกำลังเจ้าควายเหล็ก มันเป็นสิงห์แห่งทุ่งนาไปเสียแล้ว ชาวบ้านเมืองหลวงบางครอบครัว เห็นบ้านใกล้กันดำนาเสร็จ จึงรีบจ้างหว่านรีบจ้างดำให้เสร็จตามกัน เผื่อว่าจะได้รับจ้างดำนาครอบครัวอื่นๆที่ยังไม่เสร็จนาและถ้าไม่อย่างนั่น จะไปทำงานที่อื่นเอาเงินมาซื้อปุ๋ยรอ กล้าข้าวจะตั้งท้อง  
     
           มีหลายครอบครัวเช่นกันที่ เรียกลูกหลานขึ้นมาจากกรุงเทพฯ เพื่อช่วยช่วงนี้  ลุงกูล บ้านอยู่หลังถัดไปของบ้านผมเล่าให้ฟังว่า ลูกของลุงไปทำงานที่กรุงเทพฯ คนโตทำงานก่อสร้าง คนเล็กทำงานโรงงานเกี่ยวกับผลิตเหล็กนี่แหละ พอช่วงทำนาลุงก็เรียกสองคนมาช่วย ลำพังลุงกับป้าเรี่ยวแรงไม่ค่อยมีแล้ว และแถมสองคนนี้กลับมามีเงินจากการทำงานเป็นค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันรถไถด้วย ช่วยกันทำอยู่หลายวันก็เสร็จ  พอเสร็จจากการดำนาก็ต้องเรียกลงไปกรุงเทพฯ เพราะลาเถ้าแก่เกือบเดือนถ้าไม่รีบไปเดี๋ยวเขาหาคนอื่นมาทำแทน ต้องหางานใหม่จะลำบาก ก่อนลงไปกรุงเทพฯ ป้าเขาเตรียมพวกข้าวสารซักครึ่งกระสอบ ถ้าเอาไปเยอะกว่านี้กลัวแบกไปไม่ไหว มีพวกพริกกระเทียมสารพัด ปลาร้าปลาตากแห้ง เตรียมให้เขาเสร็จสรรพอยู่ได้เดือนสองเดือนเลยนะ กับข้าวของที่เตรียมให้ กลับมาอีกที ก็จะเข้าฤดูหนาวเกี่ยวข้าวแล้ว เหมือนกลับมาช่วยอีกครั้ง วนเวียนอย่างนี้มาหลายปีแล้ว
ลุงยังเคยคิดอยู่ว่าถ้าลูกลุงออกไปมาครอบครัวแล้วลุงจะยืมเรี่ยวยืมแรงใครมาช่วย เดี๋ยวนี่บ้านเราเปลี่ยนไปเยอะ
           ได้ฟังลุงกูล เล่าจบ เหมือนว่าหมู่บ้านนี่เปลี่ยนรับกับความเจริญก้าวหน้า แต่หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย จากประเพณีเก่า อย่าง ลงแขก เริ่มหายไปจากชุมชน ผมยังจำได้วิถีชีวิตตัวเองและคนแถบนี้ได้ดี ช่วงวัยเรียนประถมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในฤดูการทำนา หน้าฝนและพายุมรสุมกำลังเข้าฝนตกหนักมาก น้ำไหลบากตัดคันแถนาแตก  ถนนควายเดินท่วมจนมองไม่เห็นทาง ชาวบ้านต่างร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันขุดดิน ขนดินถมที่สายน้ำที่ไหลอยู่จนสำเร็จ รอยยิ้มกับความภาคถูมิใจของทุกคนเป็นกำลังใจกันและกันในยามนั่น  ปู ปลา ไม่อดไม่อยาก ช่วยกันจับมาปิ้งไฟ ตรงศาลาพักทางอย่างอบอุ่น ด้วยกลิ่นไอของการเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน 
                      เวลาถึงช่วงดำนา ก็มีการบอกกล่าว ญาติสนิทมิตรสหายที่สนิทชิดเชื้อกัน หรือเรียกว่า ลงแขก ดำนาโดยไปบอกกับเขาตกลงกันว่าจะไปช่วยจนเสร็จ หรือเปลี่ยนกันมาไปมาระหว่างครอบครัวนั่นครอบครัวนี่ก่อนที่จะลงมือช่วยกัน  คนที่ครอบครัวผมบอกมา ล้วนเป็นเครือญาติกัน ทั่งที่บ้านใกล้กันและบ้านไกลกัน ประมาณ 10-15 คน
          เรื่องอาหารการกินทางครอบครัวที่ลงแขกก็เตรียมมาและแขกก็เตรียมมา เริ่มดำนาตั่งแต่เช้าไม่ค่อยถือเท่าไรหรอกว่าใครมาช้ามาเร็ว เพราะเป็นสิทธิ์ในการที่ช่วยเหลือกัน ลงมือทำงานด้วยสนุกสนานมีเรื่องคุยตั้งแต่นายกฯลงมาจนถึงคนในครอบครัวตัวเอง เสียงหัวเราะดังอยู่ไม่ขาดสาย  ตะวันบายคล้อยใกล้จะเที่ยงแล้ว  ต้องมีคนหาอาหารเมนูเด็ด มาเสริฟ์ ในมื้อกลางวันนี้  แน่นอนอาหารที่ขาดไม่ได้คือ ส้มตำเป็นอาหารหลักในมื้อเที่ยงนี้ขาดส้มตำไปเหมือนไม่ได้มาทำนาแล้วไม่ได้ทานข้าวกลางท้องทุ่งต้นข้าวเขียวขจี  อาหารเสริมมื้อเที่ยงอีกอย่างคือต้มเปรตหรือต้มปลาทุกอย่างที่หามาได้ มาดูวิธีหาปลากัน!!!
   การใส่เบ็ด  เป็นเบ็ดยาวประมาณ 70 ซม. ส่วนมากทำขึ้นเองโดยไม้ไผ่มาเหลาให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลาง0.5 ซม. แล้วผูกกับใช้เฉพาะกับเบ็ด สีขาวๆ ยาวประมาณ 45 ซม. ทำประมาณ 100 ชุด 
ช่วงเวลาที่ว่างเบ็ด เริ่มตั้งแต่เช้าและพอสายๆหน่อย ขึ้นมาจากดำนาเพื่อเดินดูเบ็ดว่าปลาติดเบ็ดหรือยัง เป็นเคล็ดลับแก้เมื่อยจากการที่ก้มๆเงยๆ ในแปลงนาเป็นชั่วโมง  ผมเลยลุกไปดูเบ็ดบ่อยๆไป  เพื่อมาดูแล้วเมื่อเหยื่อปลาหมดเราใส่ไปใหม่ ตัวล่อคือไส้เดือดดินดีๆนี่เอง กว่าจะถึงเพลเวลาพระฉันเช้า ทราบได้จากกลองเพลที่พระตีให้สัญญาณ บอกเวลา ห้าโมงเช้า ด้วยความคุ้นเคยดี เวลาตั้งแต่เช้าจนถึงเพล จะได้ปลาที่กะเกณฑ์ดังนี้
 ปลาเข่ง ประมาณ 10 ตัวขึ้นไป ปลาช่อน 3 ตัวเป็นอย่างต่ำ  งู มายุ่งหยาบติดมาตัว ปลาดุกเผลอมาติดสักตัวเป็นที่น่ายินดี
   การหว่านแห่  พอใกล้เลาเพล ลุงกับน่าจะเปลี่ยนเวรพาผมไปหว่านแห่ในทุกเสาร์-อาทิตย์วันหยุด สถานที่ก็แปลงนาที่ยังไม่ดำนา โดยปล่อยน้ำจากแปลงอื่นเข้าไปสมทบ ซึ่งทำเลเหมาะที่จะหว่าน โนนแหน่ะ!! ใต้ร่มไม้เป็นมุมเหมาะ เพราะปลาที่รู้สึกร้อนกับน้ำในแปลงนาที่ไม่ลึกนักจะมาหลบอยู่มุมนี้ และเป็นที่เหมาะเจาะของนักล่าปลาลุ่มน้ำโคกเช่นกัน  ลุงเริ่มหว่านแห่ตามทำเลที่พอเหมาะ บางทีต้องช่วยกันไปไล่ปลาตามมุมต่างๆของแปลงนาให้มาอยู่มุมที่เราต้องการ  พอหว่านปุ๋ม เริ่มเหยียบตีนแห่ให้จมกับดินให้แน่น แล้วค่อยๆ คล่ำไปตามแห่ในน้ำจนไปถึงตรงกลาง  กว่าจะไปถึงตรงกลางเราจับปลากันสนุกสนาน ประมาณว่าโชว์ฝีมือกันสุดฤทธิ์ เสียงหัวเราะก็เกิดขึ้นกับการพลาดพลั่งของแต่ละคน คล้ายเป็นกีฬาครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่โลกไม่ได้บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิกให้ชาวโลกได้ชมและฝึกเล่นกัน เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ที่ตื่นตาตื่นใจ กับการผจญภัยในท้องทุ่ง
          ยิ่งมาลองดำนาแล้ว ผมเองตอนนั่นตัวยังเล็กๆเท่าลูกหมา ตัวน้อยๆไร้เดียงสา อุ้มกล้าข้าวแต่ละมัดไม่ไหวหรอก ต้องให้แม่แบ่งให้ที่ละกำมือเล็กๆของแม่ พอดำไปที่ไรต้นกล้าข้าวดูสะเปสะปะไปหมด แม่บอกฝึกไว้จะได้เป็นแล้วจะเก่งเอง แต่ทำอย่างไรก็ไม่ดูเป็นแถวเป็นระเบียบ ผมเริ่มหงุดหงิด ล้มตัวนอนเกลือกกลิ้งในแปลงนาพร้อมสีหน้าบูดบึง
      หวิวววว!!!!!!ปะ      ก้อนดินโคลนลอยมาจากทางพ่อ ลงกลางหลังผม และเสียงหัวเราะดังขึ้น ดังกว่าการไปนั่งดูตลกตามคาเฟ่เสียอีก   ผมยิ้มแกมหงุดหงิด สุขๆดิบๆ กับอารมณ์ กับชีวิตที่ได้เรียนรู้ไม่รู้จบในทุ่งนา เป็นความทรงจำที่มีความสุขยามระลึกถึง วัยเด็กและคิดถึงบ้านเสียจริง				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนิติ
Lovings  นิติ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนิติ
Lovings  นิติ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนิติ
Lovings  นิติ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงนิติ