ประวัตินายนรินทรธิเบศร์ (อิน หรือ ทองอินทร์)

คนกุลา

ประวัติของนายนรินทร์ธิเบศร์นั้น เท่าที่ค้นได้ ทราบว่า แต่เดิมทีนายนรินทร์มีชื่อว่า "นายทองอินทร์" หรือ อิน
 เป็นโอรสใน กรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี) กับ หม่อมเจ้าหญิงโสภา (ธิดากรมหมื่นสุนทรเทพ) เมื่อหม่อมเจ้าหญิงโสภาทรงครรภ์นั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกทัพ
ไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกริ้ว จึงให้หม่อมเจ้าหญิงโสภาไปเป็นภรรยาเจ้าพระยาสวรรคโลก ผู้ซึ่งตีเมืองเชียงใหม่ ได้สำเร็จ  เมื่อทารกเกิดได้ชื่อทองอินทร์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเมตตาทองอินทร์เสมอ เมื่อทองอินทร์โตขึ้น ทรงให้ไปอยู่ด้วยเจ้าพระยาสุรสิห์  ในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) 
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร และมีบรรดาศักดิ์ที่ นายนรินทรธิเบศร์ จึงมักเรียกกันว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) คือใส่ชื่อเดิมเข้าไปด้วย
นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ไม่ใคร่จะได้แต่งหนังสือไว้มากนัก และแต่งไว้บ้างก็ล้วน    แต่เป็นโคลง ที่ปรากฏว่าเป็นกลอนนั้นมีน้อยเต็มที เช่น  โคลงยอพระเกียรติตอนท้ายหนังสือปฐมมาลา ก็เป็นฝีปากของนายนรินทร์ (อิน) จึงสันนิษฐานได้ว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ชอบโคลงมากกว่าคำประพันธ์อื่นๆ
ผลงานการประพันธ์ของนายนรินทรธิเบศร์ อื่นๆนอกจากนิราศนรินทร์ นั้นไม่ปรากฏแพร่หลาย และที่มีอยู่บ้าง ก็ ไม่มีที่ใดจะเปรียบกับโคลงนิราศนรินทร์ นี้ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีเพลงยาวอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวว่าเป็นของนายนรินทรธิเบศร์ นั่นคือ เพลงยาวของนายนรินทร์ ซึ่งมีเนื้อความดังนี้
    โฉมสุคนธารทิพย์ประทิ่นหอม
    หรือสาวสุรางค์นางฟ้ามาแปลงปลอม
    หรือนางจอมไกรลาศจำแลงลง
        มาโลมโลกให้พี่หลงลานสวาสดิ์
        ประหลาดบาดตาแลตะลึงหลง
        ควรแผ่แผ่นสุวรรณวาดให้สมทรง
        เกลือกจะคงจรจากพิมานจันทร์
    พี่หมายน้องดุจปองปาริกชาติ
    มณโฑไทเทวราชบนสวรรค์
    หากนิเวศน์นี้ศิวิไลสิไกลกัน
    จะใฝ่ฝันดอกฟ้าสุมามาลย์ฯ
นิราศนรินทร์
นิราศนรินทร์ เป็นวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่งในสมัยรัชกาล ที่ ๒ ประเภทนิราศ ที่จัดว่าแต่งได้ดี ถึงขนาดที่กระทรวงศึกษาธิการคัดมาให้นักเรียนได้ศึกษากันในชั้นเรียน และมีบทโคลงที่ใช้เป็นแบบแผนของโคลงสี่สุภาพด้วย
นิราศนรินทร์ เป็นบทประพันธ์ประเภทนิราศคำโคลงที่โด่งดังที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ ทัดเทียมได้กับ”กำสรวญศรีปราชญ์”และ”ทวาทศมาศ”ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้แต่งคือ นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) แต่งขึ้นเมื่อคราวตามเสด็จ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปทัพพม่า ซึ่งยกลงมาตีเมืองถลางและชุมพร  ในสมัยรัชกาลที่ ๒  เมื่อปีมะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๕๒) นิราศเรื่องผู้แต่งไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ แต่เรียกกันโดยทั่วไปตามชื่อผู้แต่ง ว่า “นิราศนรินทร์”
เนื้อหาของนิราศนรินทร์ก็ดำเนินตามแบบฉบับนิราศทั่วไป คือ การคร่ำครวญและพรรณนาความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อหญิงคนรัก และเล่าถึงการเดินทาง เมื่อผ่านภูมิประเทศต่างๆ เริ่มจากคลองขุด ถึงวัดแจ้ง (วัดอรุณ) เข้าคลองบางกอกน้อย และล่องเรือไปจนถึงอ่าวไทย แล้วขึ้นบกที่เพชรบุรี
โดยการแต่งนิราศเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจาก โคลงกำสรวล  ซึ่งมีมาแต่โบราณ จนกระทั่งมีผู้สันนิษฐานว่านายนรินทรธิเบศร์ (อิน) แต่งเอาอย่าง หรือเลียนแบบโคลงนิราศกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว พบว่านิราศนรินทร์มีจุดเด่นที่การใช้คำที่ไพเราะ รื่นหู ข้อความกระชับ ลึกซึ้งและกินใจ จนบางท่านมีความเห็นว่าแต่งได้ดีกว่าเรื่องกำสรวลศรีปราชญ์ จนสามารถถือว่าเป็นนิราศคำโคลงที่ไพเราะที่สุดก็ย่อมได้
นิราศนรินทร์แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑๔๓ บท โดยมีร่ายสุภาพขึ้น ต้น ๑ บท ผู้แต่งประณีตในการคัดสรรคำและความหมาย ร้อยกรองเป็นบทโคลงที่ไพเราะ ทั้งยังมีสัมผัสอักษรแพรวพราวตามขนบของคำโคลง อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีโคลงบทไหนเลย ที่อ่านแล้วไม่รู้สึกถึงความไพเราะงดงาม อย่างไรก็ตาม ด้วยสำนวนภาษาที่เก่าถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงมีคำศัพท์จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจยาก หรือเป็นที่ถกเถียงกันโดยยังไม่มีข้อยุติ
ร่ายสุภาพ :
ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง
แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์
เพียงรพิพรรณผ่องด้าว ขุนหาญห้าวแหนบาท สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน
ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า ราญราบหน้าเภริน เข็ญข่าวยินยอบตัว
ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว ทุกไทน้าวมาลย์น้อม ขอออกอ้อมมาอ่อน
ผ่อนแผ่นดินให้ผาย ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
พระยศไท้เทิดฟ้า เฟื่องฟุ้งทศธรรม ท่านแฮ
โคลงสี่ สุภาพ
อยุธยายศล่มแล้ว............ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร......... เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์............ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า...................... ฝึกฟื้นใจเมือง
เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น................ พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง................. ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง......................... เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า..................... แก่นหล้าหลากสวรรค์
โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น................ ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน..................... พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน.......................... ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว......................... ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์
เสร็จสารพระยศซ้อง................... สรรเสริญ
ไป่แจ่มใจจำเริญ........................ ร่ำอ้าง
ตราตรอมตระโมจเหิน................ หวนสวาท
อกวะหวิวหวั่นร้าง..................... รีบร้อนการณรงค์
แถลงปางบำราศห้อง.................. โหยครวญ
เสนาะเสน่ห์กำสรวล..................... สั่งแก้ว
โอบองค์ผอูนอวล.......................... ออกโอษฐ์ อรเอย
ยามหนึ่งฤาแคล้วแคล้ว................. คลาดคล้ายขวบปี
รอยบุญเราร่วมพ้อง...................... พบกัน
บาปแบ่งสองทำทัน........................ เท่าสร้าง
เพรงพรากสัตว์จำผัน...................... พลัดคู่ เขาฤา
บุญร่วมบาปจำร้าง........................ นุชร้างเรียมไกล
จำใจจากแม่เปลื้อง........................ ปลิดอก อรเอย
เยียวว่าแดเดียวยก......................... แยกได้
สองซีกแล่งทรวงตก........................ แตกภาค ออกแม่
ภาคพี่ไปหนึ่งไว้.............................. แนบเนื้อนวลถนอม
โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ........................ แลโลม โลกเอย
แม้ว่ามีกิ่งโพยม............................ ยื่นหล้า
แขวนขวัญนุชชูโฉม....................... แมกเมฆ ไว้แม่
กีดบ่มีกิ่งฟ้า................................ ฝากน้องนางเดียว
โฉมควรจักฝากฟ้า....................... ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์.................... ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน...................... บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ............................. ชอกเนื้อเรียมสงวน
ฝากอุมาสมรแม่แล้........................ ลักษมี เล่านา
ทราบสวยมภูวจักรี ........................เกลือกใกล้
เรียมคิดจบจนตรี.......................... โลกล่วง แล้วแม่
โฉมฝากใจแม่ได้............................ ยิ่งด้วยใครครอง
บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง.................... เตียงสมร
เตียงช่วยเตือนนุชนอน....................... แท่นน้อง
ฉุกโฉมแม่จักจร................................ จากม่าน มาแฮ
ม่านอย่าเบิกบังห้อง........................... หับให้คอยหน
สงสารเป็นห่วงให้................................ แหนขวัญ แม่ฮา
ขวัญแม่สมบูรณ์จันทร์......................... แจ่มหน้า
เกศีนี่นิลพรร....................................... โณภาส
งามเงื่อนหางยูงฟ้า............................. ฝากเจ้าจงดี
เรียมจากจักเนิ่นน้อง........................... จงเนา นะแม่
ศรีสวัสดิ์เทอญเยาว์............................ อย่าอ้อน
อำนาจสัตย์สองเรา............................. คืนร่วม กันแม่
การณรงค์ราชการร้อน......................... เร่งแล้วเรียมลา
ลงเรือเรือเคลื่อนคว้าง.......................... ขวัญลิ่ว แลแม่
ทรุดนั่งถอนใจปลิว................................อกว้า
เหลียวหลังพี่หวาดหวิว.........................ใจวาก
แลสั่งสบหน้าหน้า.................................แม่หน้าเอ็นดู
ออกจากคลองขุดข้าม.......................... ครรไล
เรือวิ่งอกว้าใจ.................................... หวาดขว้ำ
เด็ดแดดั่งเด็ดใย................................ บัวแบ่ง มาแม่
จากแต่อกใจปล้ำ.............................. เปลี่ยนไว้ในนาง
บรรลุอาวาสแจ้ง.............................. เจ็บกาม
แจ้งจากจงอาราม............................. พระรู้
เวรานุเวรตาม................................... ตัดสวาท แลฤา
วานวัดแจ้งใจชู้.................................. จากช้าสงวนโฉม
มาคลองบางกอกกลุ้ม........................ กลางใจ
ฤาบ่กอกหนองใน............................... อกช้ำ
แสนโรคเท่าไรไร................................. กอกรั่ว ราแม่
เจ็บรักแรมรสกล้ำ.............................. กอกร้อยฤาคลาย
ชาวแพแผ่แง่ค้า................................. ขายของ
แพรพัสตราตาดทอง........................... เทศย้อม
ระลึกสีสไบกรอง................................. เครือมาศ แม่เฮย
ซัดสอดสองสีห้อม.............................. ห่อหุ้มบัวบัง
วัดหงส์เหมราชร้าง..............................รังถวาย นามแฮ
เรียมนิราเรือนสาย.............................. สวาทสร้อย
หงส์ทรงสี่พักตร์ผาย............................ พรหมโลก แลฤา
จะสั่งสารนุชคล้อย.............................. คลาดท้าวไป่ทัน
สังข์กระจายพี่จากเจ้า.......................... จอมอนงค์
สังข์พระสี่กรทรง................................. จักรแก้ว
สรวมทิพย์สุธาสรง...............................สายสวาท พี่เอย
สังข์สระสมรจงแผ้ว.............................. ผ่อนถ้าเรียมถึง
จากมามาลิ่วล้ำ................................. ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง...............................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง............................ เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง............................. คล่าวน้ำตาคลอ
มาด่านด่านบ่ร้อง............................. เรียกพัก พลเลย
ตาหลิ่งตาเหลวปัก........................... ปิดไว้
ตาเรียมหลั่งชลตัก.......................... ตวงย่าน
ไฟด่านดับแดไหม้............................มอดม้วยฤามี
นางนองชลน่านไล้.......................... ลบบาง
ไหลเล่ห์ชลลบปราง.........................แม่คล้ำ
แสนโศกสั่งสารปาง......................... จากพี่ ปลอบแม่
นาสิกเรียมซับน้ำ............................. เนตรหน้านางนอง
บางขุนเทียนถิ่นบ้าน........................ นามมี
เทียนว่าเทียนแสงสี.......................... สว่างเหย้า
เย็นยามพระสุริยลี........................... ลาโลก ลงแม่
เทียนแม่จุดจักเข้า............................สู่ห้องหาใคร
ปานนี้มาโนชญ์น้อย............................. นงพาล พี่เอย
เก็บเกศฤากรองมาลย์........................... มาศห้อย
ปรุงจันทน์จอกทองธาร.......................... ประทิน ทาฤา
นอนนั่งถามแถลงถ้อย.......................... ทุกข์พร้องความใคร
คุณค่าของโคลงนิราศนรินทร์ 
นักวรรณคดีมักเปรียบเทียบโคลงบทนี้ กับโคลงดั้นจากโคลงกำสรวล ซึ่งขึ้นบาทแรกด้วยสำนวนคล้ายกัน ดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นบทชมพระนครเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ผู้แต่งอาจชื่นชมโคลงจากโคลงกำสรวล ซึ่งชื่นชมพระนครเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง ดังบท
อยุธยายศล่มแล้ว..................ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร-.......เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์..........ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า...................	ฝึกฟื้นใจเมือง
(กรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้ว แต่กลับลอยลงมาจากสวรรค์อีกหรืออย่างไร มีปราสาทพระราชวังอันงดงามตระการตา
ด้วยบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ช่วยทนุบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรือง ปัดเป่าทุกข์ให้แก่ไพร่ฟ้าชาวประชา)
กับบทที่ว่า 
๑.อยุธยายศยิ่งฟ้า.....................ลงดิน แลฤๅ
อำนาจบุญเพรงพระ..................ก่อเกื้อ
เจดียลอออินทร........................ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ...................นอกโสรมฯ
และ
๗.อยุธยายศโยกฟ้า...................ฟากดิน
ผาดดินพิภพดยว.......................ดอกฟ้า
แสนโกฏบยลยิน.......................หยากเยื่อ
ไตรรัตนเรืองรุ่งหล้า..................หลากสรรคฯ
(โคลงกำสรวล)
 
นอกจากนี้ในโคลงหมายเลข ๒๒. ยังถือเป็นแม่แบบของโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งด้วย
๒๒. จากมามาลิ่วล้ำ.................ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง.....................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง..................เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง...................คล่าวน้ำตาคลอฯ
 
ด้วยโคลงบทนี้ใช้คำเอก ๗ โท ๔ และที่เหลือเป็นคำสุภาพทั้งหมด จึงใช้เป็นแม่แบบสำหรับการแต่งโคลงสี่สุภาพ
ได้เป็นอย่างดี (โคลงแม่แบบนอกจากนี้ได้แก่ “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” จากลิลิตพระลอ),
ในตอนท้ายๆ ผู้แต่งยังได้เอ่ยถึงวรรณคดีรุ่นเก่าอีกสองเรื่องในลักษณะยกย่อง คือ กำสรวลศรีปราชญ์ 
และทวาทศมาส คงด้วยว่าเป็นนิราศคำโคลงเช่นที่ผู้แต่งยึดเป็นแนวการแต่งโคลงของตน คือ
๑๒๔.กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง.................เพรงกาล
จากจุฬาลักษณ์ลาญ..............................สวาทแล้ว
ทวาทศมาสสาร.....................................สามเทวษ ถวิลแฮ
ยกทัดกลางเกศแก้ว...............................กึ่งร้อนทรวงเรียมฯ
 
ส่วนในโคลงบทสุดท้าย (๑๔๔) ผู้แต่งได้ระบุชื่อตนเอาไว้ด้วย ดังนี้
๑๔๔.โคลงเรื่องนิราศนี้......................	นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล............................	ว่าไว้
บทใดปราชญ์ปวงฉิน.........................	เชิญเปลี่ยน แปลงพ่อ
ปรุงเปรียบเสาวคนธ์ไล้........................เลือกลิ้มดมดูฯ
ผมเรียบเรียงประวัติ ของนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) นอกจากเป็นความสนใจใคร่รู้ของตนเองแล้ว อาจจะมีประโยชน์
สำหรับ ท่านอื่นที่สนใจ ด้วยครับ  สำหรับผมเองแล้วการได้เรียบเรียงเรื่องนี้ ทำให้ผมเห็นถึงคุณลักษณะของท่านนรินทร์ 
อันพร้อมไปด้วยฝีมือในทางโคลง  และความอ่อนน้อมถ่อม ตน ยกย่องเชิดชู บทกวีโบราณ ก่อนท่านคือ โคลงกำสรวล
รวมทั้งอ่อนน้อมต่อผู้อ่าน ที่เป็นผู้รู้  ซึ่งนักโคลงกลอนรุ่นหลัง ควรเอาเยี่ยงอย่างที่ดี เหล่านี้อย่างยิ่ง
ด้วยจิตแห่งกตเวทิตาคุณ
คน  กุลา
เรียบเรียง
แหล่งอ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.kaweeclub.com/b28/
http://nirard-narind.exteen.com/20071218/entry-1
http://khunnokyoong.blog.com/2009/04/11				
comments powered by Disqus
  • กลั่นแก้ว

    16 กรกฎาคม 2554 15:16 น. - comment id 34144

    1.gif1.gif
  • สุญญะกาศ

    16 กรกฎาคม 2554 15:54 น. - comment id 34145

    นับเป็นวิทยาทานแก่รุ่นหลัง ผู้ซึ่งยังห่างไกลกับข้อมูลและความรู้สารพัน  โดยนำเอาข้อมูลนั้นนำมาอ้างอิงอย่างน่าติดตาม
       กราบขอบพระคุณอีกครั้งจากใจจริงครับ
    
    
    29.gif29.gif29.gif36.gif36.gif
  • แจ้นเอง

    18 กรกฎาคม 2554 17:47 น. - comment id 34177

    36.gif
    
    คิดถึงตอนเด็กๆนะคะ ท่องทุกวันเลย  ชอบมากค่ะ
    
    ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ
    
    คุณคนกุลาสบายดีนะคะ
    
    31.gif
  • แอมแปร์

    5 พฤศจิกายน 2554 11:57 น. - comment id 35870

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลน่ะค่ะ41.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน