12 มกราคม 2558 10:14 น.

จากดอกคูณถึงแดนจำปา : ส่องการพัฒนาแบบก้าวกระโดด

ประภัสสุทธ


            ท่ามแดดร้อนเดือนต้นตุลา ชีวิตสองฝั่งเลื่อนไหลสวนผ่าน ทั้งบนสะพานคอนกรีต บนฟากฟ้า พื้นแผ่นดิน และในห้วงน้ำ เส้นทางเหล่านี้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของผู้คนไทย-ลาว มาอย่างช้านาน ซึ่งแม้ระบบการปกครองทั้งสองประเทศจะแตกต่างกันอย่าสิ้นเชิง แต่เค้ารูปบางอย่างในการพัฒนาบ้านเมือง เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

ลาวกระโจนสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2529 โดยใช้นโยบาย “ จินตนาการใหม่ ” (New Economic Mechanism : NEM) แนวคิดคือเน้นความสำคัญของระบบราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด และการบริหารในเชิงธุรกิจมากขึ้น แน่นอนว่าได้ดึงดูดให้แหล่งทุนภายนอกประเทศเข้ามาทำธุรกิจ และนำเงินรายได้ไปพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากบัญชีกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาภายในปี ค.ศ.2020 ซึ่งจังหวะการเดินเหินเศรษฐกิจในลักษณะนี้ ดูไม่ยากเลยว่าต้นแบบมาจากไหน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจนักหากมีโอกาสไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวในเมืองหลวง ซึ่งแม้ผู้คนยังยึดถือวัฒนธรรมภาษาและการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเหนียวแน่นน่ารัก แต่เมื่อแหงนมองตึกรามบ้านช่อง ร้านรวงต่างๆ ที่ตั้งขนานเส้นทางเข้าสู่ประตูชัย ทำให้แทบดูไม่ออกว่ารูปทรงชนิดเดียวกันนี้ต่างกับที่เคยเห็นในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ อย่างไร ใช่ นี่คือผลงานชิ้นเอกของการพัฒนาประเทศตามรูปแบบตะวันตกโดยมีระบบทุนนิยมเสรีเป็นเครื่องมือ และถูกขับเคลื่อนด้วยขบวนโลกาภิวัตน์อย่างไม่รู้ตัว

การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในลาวกำลังเติบโตอย่างแท้จริงบรรดากิจกรรมก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ และแหล่งธุรกิจหลายแห่ง ดำเนินงานอย่างขะมักเขม้นโดยเจ้าของจากจีน คนงานที่กำลังก่ออิฐบนตึกสูงและเชื่อมโครงหลังคาเหล็ก อาจมาจากที่ไหนสักแห่งในหมู่บ้านห่างไกลของลาว,เวียดนาม หรือจีน ยังไม่นับรวมกิจกรรมการรุกคืบของพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราตามเมืองเอกต่างๆ ในลาวใต้ หรือระบบเกษตรพันธะสัญญาปลูกพืชผักส่งออกในลาวเหนือ กระทั่งการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและส่งออกโดยมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก “เขื่อน” เป็นโครงการหลักไม่ต่ำกว่า 20 เขื่อน ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และต่อผู้คนในประเทศที่กำลังก่อตัวตามหลังมา

ในภาคชนบทแม้ผู้คนยังยึดถือการทำนาและหาอยู่หากินกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างแนบแน่น แต่ด้วยวาทะกรรม “จินตนาการใหม่” ส่งผลให้ชาวนาใช้ทุนและเทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นทุกขั้นตอน แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดหนี้สินในระบบเกษตรเพิ่มขึ้นและเดาไม่ยากว่าเรื่องราวที่จะเกิดตามมาเป็นอย่างไร-ชาวนาละทิ้งที่ดินออกไปทำงานในเมืองหลวง-พ่อแม่คาดหวังให้ลูกเรียนสูงเพื่อไม่ต้องเป็นชาวนา-ชาวนาขายข้าวขาดทุน ฯลฯ  ต่อเรื่องนี้การพัฒนาด้านการเกษตรในลาวเอง มีองค์กรหนึ่งชื่อศูนย์ “ห้วยซอน ห้วยซั้ว” ทำงานกับเกษตรกร โดยสร้างการเรียนรู้, เทคนิค,และเครื่องไม้เครื่องมือในการทำการเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเอง สร้างกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่เคยล้มเหลวจากเศรษฐกิจจนสามารถตั้งตัวได้ยั่งยืน  เช่นเดียวกับพ่อแก้ว เกษตรกรต้นแบบที่ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ฯ หันมาทำเกษตรกรรมอินทรีย์โดยทำนาข้าวและปลูกพืชผักส่งขายตลาด สามารถส่งลูกเรียนได้จนจบ  แต่คล้ายเป็นเพียงติ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถโอบอุ้มวิถีเกษตรกรรมในลาวมิให้ถูกกลืนด้วยเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเต็มตัว

จุดเด่นอย่างหนึ่งของผู้คนในลาวคือความจริงใจ และนอบน้อม คุณสามารถสัมผัสสิ่งนี้ได้หากเอ่ยปากถามไถ่สนทนา และนี่คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งของความเป็น “ประชาชนลาว” ที่กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์มิอาจกลืนกิน.

......

ในขณะอาทิตย์หย่อนตัวลับแนวเขา ความมืดมิดคลี่ห่มโลกแข่งขับสีสันและความคึกคักของดวงไฟจากร้านรวงในเมืองหลวง ผู้คนพลุกพล่าน รถราเต็มถนน วิถีชีวิตยามค่ำคืนมาเยือน ประตูร้านอาหารเปิดต้อนรับผู้มีเงินจากทั่วสารทิศ เสียงดนตรีบรรเลงแข่งเสียงรถราอย่างอื้ออึง ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตซักสี่สิบปี สภาพค่ำคืนในลาวขณะนั้น คงพบเพียงความเงียบงัน ครอบครัวหุงหาอาหารจากแหล่งอาหารท้องถิ่นทำครัวล้อมวงกินข้าวสำรับเดียวกัน แสงไต้ตะเกียงลอดช่องประตูส่องสลัวหน้าบ้าน เพื่อนบ้านตะโกนถามเรื่องอาหารเย็น กลุ่มเด็กกระโดดน้ำของเล่นอย่างสนุกสนาน ฯลฯ ใช่หรือไม่ว่าวิถีชีวิตเหล่านี้แถบหาไม่พบจากเขตเมืองใดในลาว และปฏิเสธได้หรือไม่ว่าการ “พัฒนา” ในปัจจุบัน มิได้สอนให้คนพึ่งตนเอง หรือยึดโยงกับความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ความเจริญด้านวัตถุ และจิตสำนึกแบบปัจเจกถูกยกย่องให้เป็นโมเดลแห่งการพัฒนา กระทั่งยอมรับที่จะสูญเสียตัวตนบางอย่างเพื่อแลกกับกรงขังอันสวยงาม การเดินทางบนถนนสายพัฒนาไปสู่ความด้อยพัฒนาของประเทศลาวแบบ

“ ก้าวกระโดด ” คงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้เป็นแน่ สถานการณ์และปัญหาต่างๆ กำลังจ่อคิวเผยตัว ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้คนในประเทศจะรับมืออย่างไร แต่สิ่งที่พอคาดเดาได้ล่วงหน้าก็คือ การซ้ำรอยบทเรียนของประเทศต่างๆ ที่ดำเนินแนวคิดการพัฒนาแบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งหาชื่นชมผลงานได้ไม่ยากจากตัวอย่างประเทศเกือบทั้งโลก

             ท่ามกลางแดดร้อนเดือนต้นตุลาชีวิตสองฝั่งเลื่อนไหลสวนผ่าน ทั้งบนสะพานคอนกรีตบนฟากฟ้า พื้นแผ่นดิน และในห้วงน้ำ เส้นทางเหล่านี้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของผู้คนไทย-ลาว มาอย่างช้านาน ซึ่งแม้ระบบการปกครองทั้งสองประเทศจะแตกต่างกันอย่าสิ้นเชิง แต่เค้ารูปบางอย่างในการพัฒนาบ้านเมือง เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน...อย่างแน่นอน 

5 ธันวาคม 2557 11:02 น.

เราหลงทึกทักไปว่าจักวาลหมุนรอบตัวเรา

ประภัสสุทธ

ขณะจักรวาลเริงระบำเบื้องหน้า ด้วยท่วงทำนองเนิบช้า งดงาม เกรี้ยวกราดและดุดัน บางขณะนิ่งงันแต่เคลื่อนไหว บางขณะไร้ตัวตนแต่มีอยู่ ทว่าท่วงท่าธรรมชาติเหล่านี้ร่ายรำสู่ความว่างเปล่า และเหมือนรอให้ผู้คนสัมผัสเพื่อตื่นรู้ เรากลับกักขังจักวาลไว้ในตัวตนด้วยแรงอยากอย่างโง่เขลา ตรงกันข้าม เราหลงทึกทักไปอีกว่า “ จักวาลหมุนรอบตัวเรา และเราคือศูนย์กลางของจักวาล ”

ณ ตีนดอยหลวง กลุ่มมะขามป้อม เชียงดาว ฉันได้เรียนรู้จากผู้คนเพิ่มเติมว่า ในท่ามกลางกระแสสังคมนิยมวัตถุและหลงใหลตัวตน ยังมีกลุ่มคนเฝ้าสังเกต “จักรวาล” ในมุมที่ต่างออกไปอย่างตั้งใจ เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักดาราศาสตร์ เป็นเพียงมนุษย์สามัญที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราว เปิดเผยความลับแห่งจักรวาล ความลับแห่งธรรมชาติมนุษย์ผ่านกระบวนการไทเก็ก และละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากฟังเพียงผิวเผินอาจเกิดคำถามขึ้นในความคิดว่า ศิลปะสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของธรรมชาติจักรวาลได้อย่างไร ไทเก็ก คือวิชามวยไทเก็กเป็นวิชาการต่อสู้เชิงรับ โดยถือความว่างเป็นสุดยอดสรรพสิ่ง มีอานุภาพหาประมาณมิได้ ไม่ว่าด้านจิตใจ ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก หรือการงานใดๆ แต่น้อยนักที่มีผู้รู้จักความว่าง และอานุภาพความว่างอย่างถ่องแท้ ความว่างและความนิ่งแท้จริงคือสามัญลักษณะที่พึงเข้าถึง ว่างกับนิ่ง เหมือนไร้พลัง เหมือนไร้การเคลื่อนไหว แท้กลับเปี่ยมด้วยพลัง เปี่ยมด้วยการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง ครูบอกพวกเราว่าเราทุกคนมีพลัง “ชี่” ในตัว “ชี่” หรือ “ลมปราณ” เราสามารถปรับดุลยภาพของหยินหยางในร่างกายโดยใช้ชี่ได้ ทำให้อวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานเป็นธรรมชาติ ซึ่งหากฝึกฝนจนใช้ชี่อย่างชำนาญแล้ว เราสามารถใช้ “เสิ้น” หรือการเชื่อมโยงเจตนาเรากับพลังแห่งจักวาลได้ และจุดสูงสุดคือการเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ว่างเปล่าไร้ตัวตน ซึ่งครูเรียกว่า “คง”  พวกเราได้ฝึกใช้พลังจากจักรวาลอย่างสนุกสนาน เช่น ผลักร่าง ยกตัว เดินสู่จุดหมาย ต่อสู้โดยไม่ต่อสู้ฯลฯ โดยไม่ลืมปล่อยให้ลมปราณจมลงสู่ตันเถียน ครูเรียกอาการเช่นนี้ว่าการ “ตั้งแกน”  ส่วนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงครูสอนให้เราเรียนรู้ธรรมชาติของอารมณ์ และความคิดมนุษย์ รวมทั้งการใช้ร่างกายและจิตวิญญาณเปิดรับสัมผัสธรรมชาติรอบตัว เสมือนว่าเราคือธรรมชาติและธรรมชาติคือเรา พูดให้ถูกต้องก็คือ เสมือนว่าเราคือจักรวาลและจักวาลคือเรา และสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นออกมาอย่างอิสระตามความเป็นไปของมันด้วยท่วงท่าแห่งสุนทรียะ แน่นอนว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือครูสอนให้ฉันและทุกคนลดตัวตนลงมาเป็นสิ่งที่ต้อยต่ำกว่า “มนุษย์” บ้างแสดงเป็นก้อนหิน, บ้างเป็นใบไม้, บ้างเป็นลูกบอล กระทั่งบางคนเป็นรองเท้า ตอกย้ำสำนึกภายในแท้จริงอีกว่า เราเป็นทุกสิ่ง และทุกสิ่งเป็นเรา พลันให้นึกถึงบทกวีที่ฉันคิดคำนึงขึ้น “จักรวาลในหนึ่งอะตอม”  “ มีดาวดวงหนึ่ง ที่ซึ่งทุกอย่าง เกิดจากความว่าง ก่อร่างสร้างไว้ กำเนิดทุกสิ่ง เป็นจริงเคลื่อนไหว ร้อยรัดกวัดไกว น้ำ-ไฟ-ดิน-ลม อะตอมหลอมตัว แผ่ทั่วสะสม บนโลกใบกลม จึงบ่มเรื่องราว ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในดินมีดาว พันธุ์เผ่าเดียวกัน เราเกิดจากดิน หินเกิดจากฉัน สรรพสิ่งสัมพันธ์ ผลักดันผันแปร แล้วจะทำลาย สายรักของแม่ สายรกของแก สายใยของกัน เกิดจากความว่าง ตายต่างวางขันธ์ เนิ่นนานนิรันดร์ พลันสู่ความว่าง ”

ครูทั้งสองคนต่างใช้ศิลปะที่เคี่ยวกรำมา ถ่ายทอด ส่งผ่าน ให้พวกเราได้เรียนรู้ หยุดดูตัวเอง ฝึกสังเกตโลกและจักวาล ไม่ตัดสิน ไม่ให้คุณค่า โดยตั้งแกน และเปิดรับ สะท้อน และสื่อสารออกไปอย่างมีพลัง และใช้พลังนี้เปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ไม่เข้าร่องเข้ารอย ให้คืนสู่วิถีธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็นเพราะเราต่างรู้ดีแก่ใจว่า บัดนี้โลกของเราถูกเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหนักเหลือเกิน เพียงเพื่อนำมาระงับอารมณ์ความอยากอันไม่จบสิ้นของมนุษย์ และไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่ได้รับประโยชน์จากการผลาญทรัพยากรเหล่านั้น มีผู้คนมากมายที่อดยาก และอาศัยอยู่อย่างทุกข์ทรมาน แต่ในแง่ผลกระทบความสั่นคลอนและความมั่นคงด้านธรรมชาติ กลุ่มคนเหล่านี้กลับต้องเผชิญความเสี่ยงได้รับผลนั้น มากกว่ากลุ่มคนที่เผาผลาญโลกใบนี้เสียอีก สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใช่ เป็นเพราะเราลืมหยุดดูตัวเอง เราหลงลืมโลกและจักวาล หลงลืมว่าแท้จริงแล้วเราเกิดจากความว่างเปล่า...

ขณะจักรวาลเริงระบำเบื้องหน้า ด้วยท่วงทำนองเนิบช้า งดงาม เกรี้ยวกราดและดุดัน บางขณะนิ่งงันแต่เคลื่อนไหว บางขณะไร้ตัวตนแต่มีอยู่ ทว่าท่วงท่าธรรมชาติเหล่านี้ร่ายรำสู่ความว่างเปล่า และเหมือนรอให้ผู้คนสัมผัสเพื่อตื่นรู้ เรากลับกักขังจักวาลไว้ในตัวตนด้วยแรงอยากอย่างโง่เขลา ตรงกันข้าม เราหลงทึกทักไปอีกว่า “ จักวาลหมุนรอบตัวเรา และเราคือศูนย์กลางของจักวาล ” ๏

ประภัสสุทธ พงสา 28 / 11 / 57

23 ตุลาคม 2557 19:12 น.

ในฐานะเพื่อนมนุษย์เดียวกัน : ฉันเห็นโศกนาฏกรรมบนลานชีวิต

ประภัสสุทธ

ประภัสสุทธ พงสา

23 / 10 / 57

“ โปรดเถิดเพื่อนมนุษย์ โปรดฟังเสียงแสงแดด โอบกอดความเหน็บหนาว ทุรนร้าวในความสุข ช่วยเก็บแววเศร้าในดวงตา รับรู้หยาดเหงื่ออันแพรวพราว ยินยลหิวโหยที่โบยตี...ฉันร้องขอด้วยน้ำตา ”

กลอนเปล่าโผยแผ่วปรากฏชัดในจิตสำนึก ฉันได้ยิน ฉันเห็น ฉันอยากบอกเล่า....

ในแง่มุมการ “ พัฒนา ” ไปสู่อะไรบางอย่างของประเทศนั้น เรายอมรับได้หรือไม่ว่า มีกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์อย่างจริงจังเพียงน้อยนิด ขณะคนจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลังตามยถากรรม แน่นอนว่าภายใต้แนวคิดการพัฒนาสังคมแบบทุนนิยมเสรี ปฏิเสธได้ยากว่าสถานการณ์อย่างหลังคือความลงตัวของระบบ นี่คือความ ” สวยงาม ” หรือ “ ความเลวร้าย ” ของการพัฒนา เรายังอยู่บนโลกความเป็นจริงใบเดียวกันใช่หรือไม่

ฉันพบคำตอบบางส่วนในโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ภายใต้โครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่น 2 ได้เปิดพื้นที่ให้เรียนรู้งานภาคสนามขององค์กรมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ( Labour Right Promotion Network : LPN ) ซึ่งทำงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร ให้ได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และให้มีโอกาสได้รับสวัสดิการทัดเทียมเพื่อนมนุษย์ในสังคม 

จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจลำดับต้นๆ ของประเทศ มี GDP เป็นอันดับ 6 ของไทย และเป็นจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก มีการประมาณการณ์จำนวนแรงงานข้ามชาติ3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่มีเอกสารทางราชการ จำนวน  120,000  คน  และคาดว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว นั่นหมายถึงอาจมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า  300,000 – 400,000  คน กำลังทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกในหลายๆ ประเภท หนึ่งในกิจการที่แรงงานข้ามชาติเข้าไปทำงานทดแทนแรงงานไทยมากที่สุดคือ  กิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงทะเล การแปรรูปอาหารเบื้องต้น และอาหารแช่แข็งเพื่อส่งออก ซึ่งแต่ละปี ประเทศไทยส่งออกอาหารแช่แข็ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 90,000 – 100,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันพบสถานประกอบการขยายตัวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งสัญญาณว่ากำลังแรงงานคือความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงพบสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ อพยพ เคลื่อนย้าย หลบหนีเข้าเมืองมาทำงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการนายหน้าจากประเทศต้นทาง  ระหว่างทาง และปลายทาง ในฟากรัฐบาลจึงได้ตอบสนองปัญหา และมีนโยบายให้แรงงานหลบหนีเข้าเมืองที่มีนายจ้าง ต้องมาจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงานปีต่อปี โดยมุ่งเน้นสนองตอบปัญหาความขาดแคลนแรงงานอย่างสูงสุดเพื่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากที่สุด แรงงานข้ามชาติจึงถูกมองเป็นปัจจัยต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ทั้งในแง่ราคาถูก และไม่เรื่องมาก แต่บางปีรัฐไทย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานข้ามชาติแก่ผู้ประกอบการได้เพียงพอ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยกวดขันจับกุม และบางครั้งต้องจำยอมเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย บางคนแลกกับการคุ้มครองนอกระบบ

จากข้อมูลเบื้องต้น ประเด็นมิได้อยู่ที่ตัวเลขการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้าน แต่อยู่ที่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนระบบของการพัฒนา และมิถูกกล่าวถึง

ใช่ เรากำลังพูดถึงความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิฯ ที่เกิดกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ

นายอู (นามสมมติ) หนุ่มสมุทรสาครเชื้อสายมอญ อดีตแรงงานประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำไทย ประสบการณ์ทำงานกว่าแปดปี เล่าว่าการทำงานในเรือประมงลำบากและอันตรายมาก เพราะอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน หากเรือออกหาปลานอกน่านน้ำไทยมีโอกาสอยู่กลางทะเลไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงกลับเข้าฝั่ง แม้บนเรือจะมีลูกเรือกว่า 40 คน ประกอบด้วยแรงงานลากอวน 40 คน โดยเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ส่วนคนไทยมีเอ็นจีเนีย  1 คนนายท้าย 1 คน ผู้ช่วยนายท้าย 1 คน และกุ๊กอีก 2 คน แต่งานที่หนักที่สุดคือการลากอวน เพราะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อนแรงงานบางคนเสียชีวิตขณะนอนหลับเพราะทำงานหนัก บางคนเสียชีวิตขณะลากอวนโดยติดอวนปลาลงไปในทะเล บางคนเสียชีวิตเพราะถูกสายสลิงม้วนเข้าไปในลอกขณะคุมม้วนสลิงซึ่งเกิดจากเผลอหลับหรือประมาท ขณะที่เพื่อนแรงงานบางคนถูกงูทะเลที่ติดมากับอวนกัดตาย หากมีเหตุการณ์เสียชีวิต งานลากอวนยังคงดำเนินต่อไป นายท้ายเรือบางคนมีเมตตาจะเก็บรักษาศพไว้ในห้องเย็นรอการส่งขึ้นฝั่ง แต่นายท้ายบางคนทิ้งศพลงทะเลอย่างไม่สนใจใยดี  

นายออง (นามสมมติ) วัย 30 ปี เกิดที่รัฐมอญ เข้ามาทำงานในไทยตั้งแต่ปี 2547 โดยลักลอบเข้ามาเพราะมีเพื่อนนายหน้าชักชวน ร่วมกับเพื่อนในหมู่บ้านประมาณ 10 คน เสียค่านายหน้า 8,000 บาท เขาเล่าว่าต้องเดินทางผ่านป่าชายแดนระหว่างประเทศเพื่อหลบเลี่ยงด่าน ตม.ไทย นานถึง 8 วัน เพื่อนัดพบกับนายหน้าคนไทยที่นำรถมาจอดรอรับยังจุดที่นัดหมายไว้ เพื่อนบางคนจบชีวิตลงระหว่างทางเพราะป่วยไข้และอดอาหาร พอถึงจุดนัดหมายนายหน้าจะทำหน้าที่แยกแรงงานออกเป็นกลุ่มตามด้ายสีที่ผูกข้อมือเพื่อส่งไปตามจังหวัดต่างๆ โดยคนงานไม่มีทางรู้ว่าจะไปจังหวัดใด นายอองโชคดีที่ได้ทำงานในโรงงานซึ่งต่างจากเพื่อนแรงงานบางคนที่ถูกส่งไปเป็นแรงงานประมงในเรือ แต่การทำงานในโรงงานแกะกุ้งนั้น ล้วนมีความยากลำบากเช่นเดียวกัน เพราะโดนเอาเปรียบจากเพื่อนคนไทย และนายจ้างตลอดเวลา โดยเขาไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเงินค่าแรงแต่ละเดือนจะได้เท่าไหร่ และจะโดนใส่ร้ายจากแรงงานไทยอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่เขาท่องจำขึ้นใจอยู่ตลอดเวลาคือ อดทน อดทน และอดทน

นายตวน (นามสมมติ) แรงงานชาวพม่า ทำงานโรงงานและใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ค่ำวันหนึ่งทะเลาะกับแฟนสาวจึงผลุนผลันออกจากบ้าน มานั่งจับเจ่าที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยวริมทาง เพื่อให้อารมณ์สงบและคาดหวังให้แฟนสาวตามง้อ เขาถูกชักชวนจากคนขายก๋วยเตี๋ยวที่เป็นนายหน้าหาแรงงานประมงให้ไปทำงานในที่ซึ่งเล่าถึงรายได้ดี และงานเบา เขาตอบตกลง และเดินทางไปกับคนแปลกหน้าที่มารับถึงที่ มารู้ตัวอีกทีพบตัวเองอยู่บนเรือประมงลำใหญ่กำลังแล่นออกสู่น่านน้ำไทย เมื่อรู้ตัวว่าถูกล่อลวงมานายตวนตัดสินใจโดดลงทะเล ก่อนได้เรือประมงเขมรสัญชาติไทยช่วยเหลือไว้ และส่งขึ้นฝั่งที่จังหวัดระยอง หลังทำงานกับนายจ้างไทยใจดีแปดเดือนที่ท่าเรือระยอง จนเก็บกำเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงออกเดินทางกลับมาหาแฟนสาวที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งสองโอบกอดกันด้วยน้ำตา

ฯลฯ....

ฉันไม่อยากคิดต่อว่า กรณีความรุนแรงเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มใดบ้าง ในสถานที่แบบใดบ้าง และถูกกระทำอย่างไรบ้าง มันคงดำเนินไปในลักษณะนี้อย่างแน่นอน หากเรารับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพียงด้านเดียว โดยไม่ใส่ใจผลกระทบของความมั่งคั่งที่กระทำกับผู้คนอีกฟากหนึ่ง เกือบทั้งชีวิตฉันเห็นพัฒนาการของบ้านเมือง เติบโตมาอย่างตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา เห็นผู้คนอาศัยอยู่ในบ้านหลังโตอย่างอบอุ่น ดูรายการบันเทิงทางทีวี และเชยชมความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ในวันนี้ฉันเห็นภาพเดิมต่างออกไป ฉันเห็นผู้คนถูกกระทำบนความเจริญทางวัตถุและชื่อเสียงเหล่านั้น ฉันคิดว่าเราทุกคนมีส่วนให้มันเกิดขึ้น และแน่นอนว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้นได้ 

“ โปรดเถิดเพื่อนมนุษย์ โปรดฟังเสียงแสงแดด โอบกอดความเหน็บหนาว ทุรนร้าวในความสุข ช่วยเก็บแววเศร้าในดวงตา รับรู้หยาดเหงื่ออันแพรวพราว ยินยลหิวโหยที่โบยตี...ฉันร้องขอด้วยน้ำตา ”

กลอนเปล่าโผยแผ่วปรากฏชัดในจิตสำนึก ฉันได้ยิน ฉันเห็น ฉันอยากบอกเล่า....และในฐานะเพื่อนมนุษย์เดียวกัน ฉันเห็นโศกนาฏกรรมบนลานชีวิต ๏

11 กรกฎาคม 2548 03:03 น.

ยามหลับฝัน..

ประภัสสุทธ

วันหนึ่งยามอาทิตย์สาดแดดอ่อน..ฟ้าโปร่ง ฉันงัวเงี่ยขึ้นมาพลางควานหานาฬิกาเพื่อกดปิดเสียง  เช้าแล้วอากาศวันนี้แจ่มใสนัก แต่ฉันไม่ค่อยรื่นเริงกับมันเท่าไหร่กับการทรมานท้องที่ว่างเปล่า...ฉันกะว่าวันนี้จะตื่นสักเที่ยงเพื่อประหยัดค่ากับข้าวได้สักมื้อ..ทำยังไงได้ล่ะก็เมื่อกลางเดือนต้องเสียรายจ่ายมากมายเพื่อสิ่งของอันไร้ประโยชน์..อันที่จริงมันก็เป็นสภาพนี้อยู่แทบทุกเดือนจนรู้สึกคุ้นชินแล้วกับการใช้จ่ายอย่างไร้คิด..พอตกปลายเดือนก็ต้องมาคร่ำครวญกับการประหยัดที่ยิ่งยวด...เฮ้อ. นี้ขนาดยังไม่มีอะไรที่ต้องทำให้คิดมากมายก็ยังเป็นแบบนี้..ถ้าสักวันคงแย่แน่เมื่อมีผู้หญิงให้จีบกับเขาสักคน..ฉันล้มตัวลงนอนต่ออย่างเหนื่อยหน่ายพลางคิดว่าจะกินอะไรต่อจากนี้ดี..ซุบหูฉลาม  ก็ไม่เลว หรือว่าจะเป็นผัดล็อบเตอร์ยักษ์ดี..ไม่ดีกว่า อาหารอเมริกันก็น่าลอง..อืมม
ใช่..เรามีโอกาศแบบนี้อีกเยอะที่จะได้กินอะไรดีๆ ค่อยๆคิดและกินไปทีละอย่างให้พุงเอียงไปเลย..น่าจะดี....  ........ ..... ....... ........ ......				
25 มิถุนายน 2548 13:07 น.

ในความคิด...

ประภัสสุทธ

บางทีเราอาจไม่รู้ตัวเราเองว่าคิดอะไรอยู่ทั้งที่เรี่องนั้นมันอาจไม่ดี แต่ก็ยังคิดต่อเพื่อค้นหาบางสิ่งที่เรียกว่าคำตอบ....ฉันนั่งอยู่เนินหญ้าในรุ่งเช้าวันหนึ่ง น้ำค้างที่โรยตัวแลบเลียใบหญ้าตลอดคืนพลันต้องแสงอาทิตย์ยามเช้ามองดูระยิบยับ ราวใบหญ้าเหล่านั้นประดับไว้ด้วยกากเพชร
.........คิดต่อสิ นายยังไม่ได้คำตอบไม่ใช่เหรอ ห้วงลึกในใจ ตัดพ้อกับตัวเอง จริงๆแล้ว เรื่องมันจบไปนานแล้วตั้งแต่เธอ..กล่าวขอโทษ
เช้านี้ท้องฟ้าเปิดโล่งแผดสีครามคลุมทั่วเวิ้งฟ้า....เราไม่ได้ผิด แต่ทำไมน้ำใสถึงเออคลอลูกตาได้...ไม่ใช่  นี้ไม่ใช่น้ำตาเรา เราหรือจะมีใจรู้สึกผิดกับเรื่องที่เราไม่ได้ทำให้ผิด คงเป็นน้ำค้างกระมังที่ลอยอาบค่ำคืนจนเช้า      มิเลยใบหญ้ายังชุ่มไปด้วยเม็ดน้ำตามกิ่งใบ ใยเลยมันจะไม่ทำให้เกิดน้ำบนใบหน้า....รุ่งนี้และตลอดวันคงมีแรงให้ทำอะไรได้มากมาย...ลืมมันซะ
และจับทิ้งมันไปกับเรี่ยวแรงที่ทุ่มให้....				
ไม่มีข้อความส่งถึงประภัสสุทธ