30 มกราคม 2546 09:00 น.

ติดสุข จมปลัก

ม้าก้านกล้วย

นาน้ำเคยขังเป็นวังเวิ้ง
น้ำเจิ่งจากเหนือเมื่อฝนส่ง
แสงแดดแผดแผลงจนแห้งลง
นาคงเหลือเป็นเช่นผงดิน
ลูกครอกจากไข่ในน้ำหลาก
มวลมากผุดแผ่กระแสสินธุ์
ลิ่วล่องเข้านามาหากิน
ด้วยสินในนามหาศาล
ทั้งมวนม้วนใบทั้งไข่แมง
แหนแดงจอกชุกทุกสถาน
อิ่มอ้วนชวนโต้มาโผต้าน
สายธารอาบอุ่นรุ่นกระทง
ลมหนาวกระทบระลอกคลื่น
ดาวรื่นเดือนจ้ามาบอกบ่ง
กาลผันวันผลัดอัสดง
ฝนคงจางหายกลายเป็นแล้ง
มวลมากจากนาไปหาห้วย
เพราะด้วยสำนึกรู้สึกแห้ง
รีบผละจากไปในน้ำแรง
ก่อนแล้งน้ำลดหมดหนทาง
สงสารก็แต่แค่มวลหนึ่ง
มวลซึ่งหลงไหลในนากว้าง
อิ่มสนุกยึดสนิทติดตะราง
จนวังเวิ้งว่างจางหายไป
เหลือเทือกตมถมจมในปลัก
ขุ่นคลั่กวุ่นวายจะว่ายไหว
นอนรอแดดเผาดั่งเตาไฟ
หรือไม่ก็ให้นกกากิน
แก่งแย่งเกยก่ายกระหายโหย
โอดโอยรอท่าชะตาสิ้น
ดำมุดผุดโผนในโคลนดิน
เพราะห่วงหากินไม่ดิ้นรน

(ม้าก้านกล้วย)				
21 มกราคม 2546 08:50 น.

รักหรือไร (กลอนกล ปฏิบท)

ม้าก้านกล้วย

รักนั้นจริงจะแจ้ง หรือแกล้งหลอก
รักที่บอกเอาไว้ หรือไม่หนอ
รักที่หวังเชยชม หรือลมล้อ
รักที่ขอใกล้ชิด หรือคิดโลม
เชื่อใจได้เพียงใด หรือไรกัน
จะผูกพันแน่นหนัก หรือหักโหม
มาปะเหลาะรอดู หรือจู่โจม
เพราะหลงโฉมสวยงาม หรือความดี
จะครองรักซึมซาบ หรือฉาบฉวย
จะรักด้วยหัวใจ หรือไรนี่
รักเพราะหึงหวงไว้ หรือไมตรี
รักที่มีแต่อบอุ่น หรือครุ่นแค้น
นี่ฉันยังกังวล หรือหม่นหมอง
นี่ฉันต้องทนทุกข์ หรือสุขแสน
รักราวโคถึกโฉด  หรือโลดแล่น
จะหวงแหนไว้ค่อยค่อย หรือปล่อยวาง
ควรอยู่เฉยเย็นชา หรือ ท้าทาย
เพื่อให้หายโศกศัลย์ หรือฝันค้าง
ปรุงรสรักโอชา หรือปร่าจาง
รักในร่างเทวทูต หรือภูตพราย
ช่างสับสนปนหวั่น หรือฉันเพ้อ
รักจะเก้อเผลอไผล หรือ ใจหาย
จะมอบให้ใจปัน หรืออันตราย
เป็นคำตอบสุดท้าย หรือไม่นั้น
อยู่ที่ใจของฉันไหม หรือใจเธอ
โปรดเสนอสนองจิต หรือปิดกั้น
จะให้มอบทั้งชีวี   หรือชีวัน
ต้องรักฉันมากกว่าใคร หรือไม่จริง

(ม้าก้านกล้วย)
อันกลอนกลนี้ รู้จักกันมาก ในบทกวีเรื่อง ระเด่นลันได หรือ พระมเหลเถไถ(สะกดยังไงเนี่ย) คือ ในแต่ละบท จะมีบทขัดแย้งกันเอง อาจจะมีสันธาน ว่า แต่ หรือ ทว่า หาก อะไนทำนองนี้แหละ หรือ อาจไม่มีเลยก็ได้กลอนนี้ ใช้ หรือ ซึ่งก็ดูแปลก ๆ ดี				
13 มกราคม 2546 09:13 น.

กาฝาก (กลอนผิดพลาด ที่อยากให้ทุกคนอ่าน)

ม้าก้านกล้วย

เจ้ากาฝากหยั่งรากบนต้นโศก(1)
เจ้าลวงโลกลวงว่าผกาสวย
มีลูกรสหวานหอมยอมอำนวย
ให้กาช่วยกินลูกกล้ามาปลูกฝัง(2)
มาแพร่พันธุ์ชันช่อบนกอก้าน
หาอาหารจากน้ำเลี้ยงลำเลียงหลั่ง(3)
แซกไซร้ซอนชอนไชในต้นดั่ง(3)
แฝงฝากฝังเร้นเช่นเป็นพุ่มพวย(4)
ต้นตั้งตาแสวงหาเผื่ออาหาร
เพราะต้องการอยู่รอดไว้ใร้ใดช่วย(5)
เพิ่มภาระให้แล้วยังใร้ไม่อำนวย(6)
อ่อนระทวยทอดร่างลงกลางดิน
จนไม้โศกสิ้นร่างลงกลางป่า(7)
ด้วยหนักเหลือภาระจึงสูญสิ้น(8)
ไม่อาจหาอาหารพอต่อชีวิน(9)
เพราะกาฝากฝากกากินจนสิ้นใจ
กาฝากยังชูช่อต่อสายพันธุ์
ให้กานั้นกินลูกไปปลูกใหม่(10)
ไม่มีแม้คำอำลาคำอาลัย(11)
ต้นไม้ใหญ่ที่ตายไป เพราะใครเอย(12)
ถือเป็นวัฏจักรของพงพะ- (13)
นาที่จะสรรหามาเฉลย  (14)
เอาเปรียบกันเกินกว่าช่างละเลย(15)
เมื่อเกินเลยเกินไปนักไม่รักดี(16)

(ม้าก้านกล้วย)
กลอนนี้อาจอ่านแล้วขัด อรรถรส
เพราะลงบทบังคับจับให้คิด
สิบหกแห่งสิบหกห้ามตามแต่ผิด
จึงลิขิตบอกไว้ใช้ย้ำเตือน
ใช่จะอวดสู่รู้เป็นครูบา
แต่ตั้งตาจารึกนึกถึงเพื่อน
ไว้อิงอ้างระหว่างเขียนเพียรไว้เตือน
ดังเสมือนแทนไมตรีมีต่อกัน
(ม้าก้านกล้วย)



กลอนที่เขียนไว้นี้ พยายามทำให้ผิด สิบหกจุด ซึ่งต้องตรงตามกติกาต่าง ๆ จากหลากครู หลายอาจารย์ ทั้งนี้ เพื่อตราไว้ให้เป็นหลักฐานในการค้นคว้า สืบหา ดังนี้ 

1.กฎ ติดขัด คือ ในกลอน บังคับไม่ให้ ใช้คำตาย ส่งสัมผัสใน  (คำว่าฝาก และ ราก) ก่อนจะใช้คำตาย ในคำที่ แปด (คำว่า โศก) เพราะเวลาขับเอื้อน จะสะดุดเป็นสองขยักในท่อนเดียว ฟังดูไม่ไพเราะ
2. กฎ สะอึก คือ ในคำกลางท่อนที่สอง(คำว่า ลูก) มาสัมผัสกับ คำกลางท่อนที่สาม(คำว่าปลูก) ทั้งทั้งที่ มีสัมผัสในอยู่แล้ว (คำว่า กล้า และ มา) 
3. กฏ สัมผัสเทียม ในการส่งสัมผัสมารับ และ รอง จะห้ามให้เสียงเดียวกัน (หลั่ง และ ดั่ง) เพราะจะทำให้เสียงสองเสียง เท่าเทียมกัน ไม่ไพเราะด้วยประการทั้งปวง อีกทั้ง ในสัมผัสรอง (คำว่า ดั่ง) ห้ามใช้เสียงเอก เวลาขับ จะ ต่อเสียงไม่ได้
4. กฎ สัมผัสยอกย้อน ในการส่งสัมผัสคำท้ายของวรรคส่ง  (คำว่า พวย) ห้ามซ้ำสัมผัสกับบทก่อนหน้า(คำว่า สวย และ อำนวย) ถึงแม้ว่า บทก่อนหน้า จะเป็นบทแรก ที่ไม่ได้รับและรองจากบทใดมาก่อน ก็ตาม 
5. กฎ สัมผัสซ้ำ คำว่า ไว้ และ ไร้ ใด ไม่สามารถส่งสัมผัสใน ทั้งหลัก ทั้งรอง พร้อมกันได้ (หากท่อนส่งมีสองคำ แล้วส่งมาโดยมีคำรับ 1 คำ ใช้ได้ เช่น คำว่า เร้นเช่น มาสัมผัสกับคำว่า เป็น พุ่มพวย)
6. คำเกิน กลอนท่อนนี้ มีสิบคำ ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น แล้วก็ จับคู่ทบ หรือ คู่เทียบ มาจัดกลุ่มให้ คำว่า ให้ ไม่ได้เลย ตามจริง กลอนแปด สามารถมีคำได้ถึง สิบเสียง แต่ เสียงที่เพิ่มมักจะเป็นแค่พยางค์ในคำ (คำเดียวมีสองเสียง) ไม่ใช่คำโดด 
7. กฎ สัมผัสดัก ท่อนสดับ ห้ามเอาคำที่เป็นสัมผัสส่ง ที่ส่งข้ามวรรค (คำว่า ดิน) มาใช้โดยเด็ดขาด (คำว่าสิ้น เป็นสัมผัสดัก)
8. ไร้สัมผัส แม้คำว่า ภา แม้จะเสียงคล้ายกัน(กับคำว่า ป่า) แต่ไม่ใช่ตำแหน่งสัมผัสนอก และไม่ส่งสัมผัสในให้ ระ ฉะนั้น วรรคนี้ ไม่มีสัมผัสเลย
9. กฎ สัมผัสซ้อน ในวรรครอง จะไม่ให้ใช้สัมผัสนอกวรรค เหมือนวรรครับ ( คำว่าป่า ที่จะมาสัมผัสกับคำว่า ภา แต่ไม่สัมผัส กลับลงมาสัมผัสกับคำว่า หา)
10. กฎ สัมผัสสะท้อน คำว่า ใจ ของวรรคส่ง ในท่อนที่แล้ว จะต้องส่งมาสัมผัสกับ ตำแหน่งท้าย ของวรรครับ (คำว่า ใหม่) แต่ วรรคนี้ มีคำว่า ให้ มาสะท้อนสัมผัสเสียก่อน
11. สัมผัสเลือน คำว่าใจ เป็นสระไอ (ไม้มาลัย) ที่ส่งมาสัมผัสกับ ใหม่ เป็นสระเปิด ไม่สามารถเอาสระ อะ (ไม้หันอากาศ) ที่มีตัวสะกด (คำว่า ลัย) ไปเป็นสัมผัสได้ (และ วรรคนี้ ก็ มี คำว่า ไม่ มาสะท้อนซ้ำหนักเข้าไปอีก )
 12. เอย ในท่อนไม่จบ เรื่องนี้ สำคัญมาก เพราะคำว่า เอย แปลว่า จบแล้ว ไม่สามารถ แต่งต่อโดยใช้สำผัสส่งได้อีก ถ้าจะแต่ง ต้องแต่งบทใหม่ ไม่ใช่แต่งต่อแล้วหาคำมาสัมผัสกับคำว่า เอย (เรื่องนี้ นักกลอน ถือที่สุด ใครแต่งแบบนี้ เขาว่า กลอนนอกครู)
13. กฎ ยัติภังค์ การส่งคำแต่ละวรรค จะไม่ให้ คำ ที่มีหลายพยางค์ ขาดจากกัน เช่นนี้ (คำว่า พนา เป็นคำสองพยางค์ ซึ่ง พะ และ นา ไม่มีความหมายไปในทางเดียวกับคำเดิม เพราะฉะนั้น แยกกันมิได้แต่ถ้าแยกคำแล้ว ยังพอจะได้ความหมายเดิม ถือว่า อนุโลม เช่น โดดเดี่ยว เดียวดาย เช่นนี้ แยกได้ )
14. กฎ ละล่ำละลัก ในการรับสัมผัส รับและรอง จะไม่ใช้ คำเดียวกันหรือคล้ายกันมาเปลี่ยนเสียง (เฉลย และ เลย ถือเป็นคำเขียนคล้ายคลึงกัน) 
15. กฎ สัมผัสหลอน เสียงยาว (คำว่า กว่า เป็นสระ อา ) ไม่สามารถเอามาสัมผัสกับเสียงสั้นได้ (คำว่า ละ เป็นสระ อะ ) 
16. กฎ จนแต้ม เอาคำ คำเดียวกัน มาใช้สัมผัส ต่อวรรคเลย ไม่ได้โดยเด็ดขาด คำว่า ละเลย กับคำว่า เกินเลย ล้วนแต่มีคำว่า เลย ซึ่งเป็นคำเดียวกัน ถ้า ข้ามสักวรรค ยังพออนุโลม				
13 มกราคม 2546 09:06 น.

สาว เมืองกาญจน์

ม้าก้านกล้วย

โอ้สาวเมืองต้นแควแห่งแม่กลอง
ได้พบน้องเมื่อล่องแพแม่ช่างสวย
คอระหงทรงผมยาวเกล้าผมมวย
จ้องมองด้วยใจตะลึงจึงตาลอย
เขาว่าสาวเมืองกาญจน์นั้นแสนงาม
ก็เห็นตามกล่าวอ้างเช่นอย่างถ้อย
เพราะหลากหลายละลานใจมิใช่น้อย
ทั้งสาวน้อยสาวใหญ่วิไลนัก
แต่น้องนางกลับเด่นเป็นที่หนึ่ง
ติดตราตรึงพึงใจใช่หาญหัก
แก้มก็นวลปากก็อิ่มประพิมพักตร์
ช่างน่ารักราวอินทร์ปั้นเสกสรรค์ทรง
เจ้าลงเล่นไทรโยคโศลกไศล
นึกว่าใช่มโนราห์นึกว่าหงษ์
เป็นแม่เงือกผมงามตามแดนดง
ใจพี่หลงเจ้าแล้ว แก้วกลางไพร
อยากลงเล่นธาราลอยคอยหยอกเอิน
อยากจะเดินเคียงข้างอย่างชิดใกล้
อยากปรนนิบัติเจ้าเฝ้าเอาใจ
อยากอยู่ในเมืองกาญจน์สถานเดียว
หวังแต่ใจนางนั้นอย่าปันไป
เผื่อให้ใครที่ไหนไม่แลเหลียว
คนบ้านไกลคงระกำช้ำแน่เทียว
คงใจเหี่ยว ล่มจมใจ ในแม่กลอง

(ม้าก้านกล้วย)				
7 มกราคม 2546 08:24 น.

เพราะรัก . . . จะเป็นกวี

ม้าก้านกล้วย

เพราะรักจะจรรโลงคำโคลงกลอน
จึงลิขิตคิดค่อนคำอ่อนหวาน
จึงจารึกลำนำเป็นตำนาน
สืบสานบรรณวิถีนี้สืบไป
ราวลูกปัดเลื่อมลายหลายหลายสี
ดุจมณีพลอยสวรรค์อันไสว
มาเรียงร้อยเหลือบรุ้งจรุงใจ
ถักด้วยไหมสานเอาไว้เป็นสายงาม
มีจังหวะจะโคนอ่อนโยนซึ้ง
หรือเร้นคมคำนึงซึ่งเหยียดหยาม
ก็สร้างถ้อยร้อยเรียงเพียงข้อความ
เป็นไปตามใจคิดประดิษฐ์คำ
เรานั้นเป็นเช่นผู้แต้มแต่งกวี
เพราะหลงไหลในวจีที่เลิศล้ำ
เอาวลีมาต่อเชื่อมเหลื่อมลำนำ
ให้คมขำข้อคิดสะกิดเตือน
ราวช่างผู้อุตส่าห์หาลูกปัด
มาผูกมัดโยงระยางอย่างเสมือน
เป็นเทวาร้อยราวด้วยดาวเดือน
ที่กลาดเกลื่อนกลางฟ้ามาเรียบเรียง
ถ้อยความหลามหลากจากชีวิต
แม้นไม่คิดคำคล้องมาพ้องเสียง
คงแค่ลมปากเป่าเกลาสำเนียง
คงแค่เพียงเจรจาหาใช่กลอน
แต่หากหาช่องทางวางสัมผัส
ตามบัญญัติเล่าขานอาจารย์สอน
ให้ยุ่งยากยิบย่อยค่อยยอกย้อน
ก็กลายกลอนเป็นกวีที่คู่ควร

(ม้าก้านกล้วย)				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟม้าก้านกล้วย
Lovings  ม้าก้านกล้วย เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟม้าก้านกล้วย
Lovings  ม้าก้านกล้วย เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟม้าก้านกล้วย
Lovings  ม้าก้านกล้วย เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงม้าก้านกล้วย