22 เมษายน 2548 12:16 น.

สารคดี : ประเพณีแห่เทียนทางน้ำที่บ้านบางคู้

สุชาดา โมรา

เมื่อหล่อเสร็จแล้วก็มีการแห่แหนตามประเพณีรอบพระอุโบสถ เวียน ๓ รอบ แล้วนำไปจุดบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือนของการเข้าพรรษา
เมื่อกล่าวถึงประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา หลายคนคงคิดถึงประเพณีแห่เทียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นประเพณีที่ทั้งคนไทยและคนต่างชาติรู้จักกันดี  แต่ประเพณีแห่เทียนของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นการแห่เทียนทางบกต่างจากประเพณีแห่เทียนของบ้านบางคู้ที่แห่เทียนทางน้ำ โดยใช้เรือเป็นพาหนะ
	ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของบ้านบางคู้ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลพบุรีเป็นสายน้ำหลักไหลผ่านกลางหมู่บ้าน  การเดินทางสัญจรในอดีต เรียกว่า หน้าบ้าน ใช้เรือเป็นหลัก แม้ว่าปัจจุบันทางการจะสร้างถนนหนทางที่สะดวกกว่าการใช้เรือลดความนิยมลง แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ทุกคนยังเห็นความสำคัญของสายน้ำ ทุกคนให้หมู่เห็นพ้องกันว่าควรมีประเพณีที่ทำให้ทุกคนระลึงถึงน้ำอยู่เสมอ จึงจัดประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาทางเรือขึ้น
	ประเพณีแห่เทียนของบ้านบางคู้มีครั้งแรกเมื่อปี  ๒๕๔๕  เมื่อใกล้ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ทางอำเภอท่าวุ้งจะจัดการประกวดเทียนเข้าพรรษาของชาวบ้านทั้งอำเภอ  และจะนำเทียนเหล่านี้มา แจกจ่ายให้กับวัดทั่วอำเภอ  ชาวบ้านบางคู้จะจัดขบวนเรือที่ตกแต่งอย่างสวยงามมารับเทียน โดยตกแต่งเรือโป๊ะเป็นเรือที่รับเทียน  มีเรือพาย เรือแจวของชาวบ้านตามหลังขบวน  แล้วใช้เรือเล็กแห่เทียนเข้าวัดปากคลอง  โดนจะงานขึ้นในวันขึ้น  ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือ วันอาสาฬหบูชา 
	นอกจากการประกวดเทียนแล้ว  ยังมีการประกวดเรือที่มารอรับเทียน และการประกวดแม่ย่านางเรือ ได้รับความสนใจจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก  สองฟากฝั่งน้ำจะมีชาวบ้านตกแต่งท่าน้ำของตนอย่างสวยมากไว้คอยรับเทียน  เมื่อขบวนเรือถึงวัดปากคลองจะมีขบวนกลองยาวประจำหมู่บ้าน  แตรวง บรรเลงเพลงรับเทียนเข้าวัด เป็นที่สนุกสนานอย่างมาก
	ในช่วงสองปีแรกของการจัดงาน จะใช้วิธีการแห่เทียนทางเรือ ตามแม่น้ำลพบุรี โดยทางจังหวัดสิงห์บุรีจะปล่อยน้ำจากเขื่อนส่งมาให้จนเต็ม แต่ปีนี้ ( ๒๕๔๗ ) ทางจังหวัดสิงห์บุรีปล่อยน้ำมาในปริมาณที่น้อย เพราะกลัวว่าชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีจะมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา น้ำที่ไหลมาถึงบ้านบางคู้จึงมีน้อย  ชาวบ้านจึงปรับเปลี่ยนวิธีจากการแห่เทียนทางน้ำมาเป็นทางบกแทน  
แม้วิธีการจะเปลี่ยนไป แต่ด้วยแรงศรัทธา ความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคีของชาวบ้าน ประเพณีแห่เทียน ประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนายังคงอยู่ให้ลูกหลานได้ตระหนักและเห็นคุณค่าและช่วยกันรักษาให้คงอยู่สืบไป				
22 เมษายน 2548 12:14 น.

สารคดี : “น้ำรำ” ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพ

สุชาดา โมรา

หมู่บ้านบางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี  เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ชาวบ้านหันมาใส่ใจกับสุขภาพและนำทรัพยากรที่มีในหมู่บ้านของตน  มาดัดแปลงให้เป็นสินค้าและเพิ่มมูลค่า คือ การทำน้ำรำจากรำข้าว
	รำที่เราเห็นทั่วไปนั้นมีลักษณะเป็นฝุ่น หรือผงละเอียดสีขาว  ซึ่งเป็นส่วนที่ขัดออกจากผิวนอกของเมล็ดข้าว  หลายท่านไม่คาดคิดว่าจะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้  เพราะตั้งแต่อดีตพบว่ามีการนำรำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ เช่น หมูและไก่  คนเช่นเราเราจึงไม่นำมารับประทาน  แต่ใครจะทราบว่านอกจากรำจะให้ประโยชน์แก่สัตว์แล้วยังให้คุณค่าทางโภชนาการแก่มนุษย์เราด้วย
	นางอัจฉรา  โพธิมูล  สมาชิก หมู่บ้านบางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี  เจ้าของสูตรน้ำรำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ  กล่าวว่า  ตนชอบอ่านหนังสือทุกประเภท  และได้อ่านหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง  ซึ่งเป็นตำราอาหารของคนโบราณ  ผู้เขียนเป็นถึงนายแพทย์  ได้เขียนถึงวิธีการทำน้ำรำไว้ว่า  น้ำรำเป็นเครื่องดื่มของคนโบราณ  ใช้ในโอกาสต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน  ตนจึงลองทำดูบ้าง  เพราะในหมู่บ้านนั้นมีโรงสีข้าวซึ่งเป็นรำข้าวที่มีคุณภาพดี  อีกด้วย
	รำข้าวของโรงสีหมู่บ้านบางคู้  มีลักษณะที่แปลกไปจากโรงสีขาวอื่นๆ  เนื่องจากรำละเอียดจะมีความละเอียดมาก  เป็นฝุ่นผงสีขาวนวล  ส่วนรำหยาบที่เรานำมาทำน้ำรำนี้  หยาบกว่ารำละเอียดเพียงนิดหน่อยเท่านั้น  ซึ่งจะมีคุณภาพดีเพราะเป็นการขัดเอาคุณค่าจากเมล็ดข้าวออกมา  ประโยชน์ต่างๆ จึงได้ตกมาอยู่ที่รำข้าว
	ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสวิธีการทำน้ำรำ  ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก  แต่ต้องอาศัยความอดทน  ใจเย็น  เพื่อให้ได้น้ำรำที่มีกลิ่นหอม  รสชาติหวานชุ่มคอ  รำข้าวที่ใช้ต้องเป็นรำที่ใหม่  ถ้าเป็นรำจากข้าวหอมมะลิแล้วยิ่งดี  เพราะจะทำให้กลิ่นของน้ำรำหอมชวนดื่มยิ่งขึ้น  ส่วนรำที่นำมาทำนั้นควรเป็นรำหยาบ ซึ่งตามท้องตลาดที่เราพบเห็นบ่อยๆ นั้น  มีลักษณะที่หยาบมาก  คล้ายๆ ข้าวเปลือก  ถ้าผู้อ่านสนใจที่จะทำน้ำรำ  ผู้เขียนแนะนะว่าควรใช้รำละเอียดมาแทนรำหยาบ  เพราะจะอุดมไปด้วยคุณค่ามากกว่ารำประเภทดังกล่าว
	วิธีการทำนั้น  เริ่มจากการนำรำหยาบมาคั่วบนไฟอ่อนๆ  คั่วไปจนกระทั่งสีเริ่มเหลืองและมีกลิ่นหอม  เมื่อคั่วเรียบร้อยแล้ว  นำมาใส่ถ้วยปิดฝาให้ดีเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองตกลงไป  จากนั้นตั้งน้ำเชื่อมปริมาณเท่าที่ต้องการ  ชิมความหวานให้พอเหมาะกับความชอบ  เมื่อน้ำเชื่อมเดือดจึงนำลงมาตั้งไว้ให้อุ่นพอดี  แล้วนำรำที่คั่วไว้มาคนให้เข้ากัน  ซึ่งเจ้าของสูตรบอกว่า  ถ้านำรำคั่วใส่ตอนที่น้ำเดือดจะทำให้น้ำรำขุ่นไม่น่าดื่ม  แต่ถ้าใส่รำคั่วตอนที่น้ำอุ่นๆ จะทำให้สีของน้ำรำใสน่าดื่มมาก หรือถ้าใส่รำคั่วในน้ำเชื่อมมากเกินไป  จะทำให้รำนั้นดูดน้ำเชื่อมซึ่งจะทำให้ปริมาณที่ตั้งเกณฑ์ไว้ลดลงขึ้น  เมื่อคนน้ำเชื่อมกับรำคั่วเข้ากันแล้ว  ต้องตั้งทิ้งไว้สักพักเพื่อให้รำที่ใส่ลงไปตกตะกอน
ขณะที่รอการตกตะกอน  เราควรเตรียมอุปกรณ์ที่จะกรองไว้ คือ หม้อ, กระชอนและผ้าขาวบาง  การกรองนี้ต้องกรองอย่างดีพับผ้าขาวบางสัก ๔ ชั้น เพื่อให้น้ำรำนั้นใสน่าดื่ม  ไม่เป็นฝุ่นขาว  เมื่อรำตกตะกอนเรียบร้อยแล้ว  เราจึงตักน้ำใสๆข้างบนมากรองที่ละนิด  เป็นอันเสร็จวิธีการทำน้ำรำเพื่อสุขภาพน้ำรำนี้อุดมไปด้วยโปรตีนและวิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามิน บี๑บี ๖, กรดโฟลิก, ไบโอติน, วิตามิน อี และเกลือแร่ต่างๆ ได้แก่ โซเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, เหล็ก, ทองแดง, สังกะสี, กำมะถัน, คลอไรด์  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก  ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมารับประทาน  
 	รำข้าว มีประโยชน์อีกมากมาย  ทั้งต่อการเจริญเติบโต  ให้พลังงานแก่ประสาท  รักษาโรคเหน็บชา  ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น  ระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อสัมพันธ์กัน  กากใยในรำข้าวนั้นมีคุณสมบัติที่ดึงน้ำ  ซึ่งช่วยในการทำงานของระบบขับถ่ายเป็นอย่างดี 
	น้ำรำจะทำในโอกาสพิเศษ เช่น  การต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านและเทศกาลประเพณีของหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นที่ต้องการของบรรดาผู้มาเยี่ยมชมดูงานในหมู่บ้านบางคู้เป็นอย่างมาก  เรียกได้ว่าเป็นดาวเด่นของงานก็ว่าได้  ทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน  ประชาสัมพันธ์โรงสีและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในหมู่บ้านบางคู้  
	ถ้าผู้อ่านสนใจที่จะชิมหรือสั่งทำน้ำรำ  เครื่องดื่มที่หาดื่มได้ยาก  สามารถติดต่อได้ที่ นางอัจฉรา  โพธิมูล  เจ้าของสูตร  บ้านเลขที่ ๔๒ หมู่ ๑๓ ต.บางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี  หรือหมายเลขโทรศัพท์ ๐๓๖๖๒๒๖๘๑  จำหน่ายกันเพียงขวดละ ๕ บาท  เท่านั้น  ซึ่งคุ้มค่ามากเพราะเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกายอย่างดี  อีกทั้งเป็นการสนับสนุนภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย  เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรค์สร้างสิ่งที่ดีออกสู่สังคมต่อไป
	คุณค่ามากเพียงนี้  สนใจที่จะเลือกดื่ม น้ำรำ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพท่านบ้างหรือยัง?				
22 เมษายน 2548 12:13 น.

สารคดี : น้ำพริกรสเด็ดของบ้านบางคู้

สุชาดา โมรา

น้ำพริกแกงเผ็ดรสเด็ดของบ้านบางคู้ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านในหมู่ที่ ๑๓ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิรักษ์ไทย กรุงเทพมหานคร ตามโครงการสร้างอาชีพพัฒนาหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มครั้งนี้และสมาชิกในกลุ่มลงความเห็นว่าควรจะตำน้ำพริกขายเพราะเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบอาหารและแทบทุกครัวเรือนจะต้องมีติดบ้านไว้ใช้ ซึ่งสามารถขายได้ตลอดปี
	ที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า น้ำพริกแกงรสเด็ดและตำด้วยมือทั้งสองข้างเห็นจะมีแต่ที่หมู่ที่ ๑๓ ของบ้านบางคู้เท่านั้น เพราะผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสทุกขั้นตอนการผลิตจนออกมาเป็นน้ำพริกแกงเผ็ดรสเด็ด ทุกขั้นตอนทุกกระบวนการผลิตด้วยมือทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องทุ่นแรงใด ๆ ทั้งเครื่องปั่นหรือมอเตอร์ที่ใช้ในการโม่ส่วนผสม
	วัตถุดิบส่วนใหญ่ได้มาจากท้องถิ่นของบ้านบางคู้เอง เช่น มะกรูด ตะไคร้ ข่า จะมีที่ต้องซื้อก็คือ กระชาย พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ พริกไทยดำ และเกลือ
	ในการผลิตน้ำพริกแกงเผ็ด กลุ่มแม่บ้านจะผลิตครั้งละประมาณ ๘ กิโลกรัม โดยมีวัตถุดิบดังนี้
	๑.  พริกแห้ง	๑	กิโลกรัม
	๒.  ข่า		๐.๘	กิโลกรัม
	๓.  กระชาย	๐.๘	กิโลกรัม
	๔.  ตะไคร้	๐.๖	กิโลกรัม
	๕.  หอมแดง	๑.๒	กิโลกรัม
	๖.  กระเทียม	๑.๘	กิโลกรัม
	๗.  ผิวมะกรูด	๐.๕	กิโลกรัม
	๘.  กะปิ	๐.๓	กิโลกรัม
	๙.  เกลือ	๐.๕	กิโลกรัม
	๑๐.พริกไทยดำ	๐.๒	กิโลกรัม	 
	ขั้นตอนการผลิต
	๑.  นำพริกแห้ง ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาผึ่งแดดให้พอหมาด
	๒.  หั่นข่า ตะไคร้ กระชายเตรียมไว้
	๓.  ปลอกเปลือกหอมแดง, กระเทียมและผิวมะกรูดเตรียมไว้
	๔.  ตำผิวมะกรูดและพริกไทยดำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยเพื่อให้ตำง่ายและไม่กระเด็นเข้าตา
	๕.  คั่วพริกแห้ง 
	๖.  น้ำส่วนผสมทั้งหมดมาโม่ (ด้วยมือ) ให้พอหยาบ
	๗.  ตำส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียดเพื่อเพิ่มความหอมของพริกแกง เทคนิคในการสังเกตว่าพริกแกงนั้นละเอียดพอหรือยัง ให้สังเกตจากเม็ดพริกว่ามีปริมาณน้อยลงในการตำแต่ละครั้ง
	๘.  จะได้น้ำพริกแกงตามต้องการ ส่วนผสมทั้งหมดจะได้พริกแกงน้ำหนักประมาณ ๘ กิโลกรัม
	ทุกขั้นตอนในการผลิตล้วนกลั่นกรองออกมาด้วยหัวใจของคนทำ จึงทำให้น้ำพริกแกงเผ็ดของบ้านบางคู้ มีเอกลักษณ์ความรอยไม่เหมือนที่อื่น ๆ และราคาขายก็ไม่แพง ถ้าเทียบกับกระบวนการผลิต เพราะจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ ๖๐ บาทเท่านั้น
	ถ้าหากจะหาน้ำพริกแกงเผ็ดที่มีรสชาติเด็ด ๆ ก็อย่าลืมแวะเวียนไปหาซื้อกันได้ที่ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลบางคู้ อำเอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี กลุ่มแม่บ้านยินดีต้นรับทุกท่านด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพที่ดี				
22 เมษายน 2548 12:12 น.

สารคดี : เสื่อรำแพนแดนบางคู้

สุชาดา โมรา

ภูมิปัญญาที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งของชาวบ้านในตำบลก็คือ หัตถกรรมเครื่องจักสานเสื่อรำแพน  ที่ช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง
	วันนี้การเดินทางในครั้งนี้ของดิฉันเป็นการเดินทางที่ต่างจากทุกครั้งที่มาเพราะทุกครั้งที่มาจะมาด้วยจุดประสงค์อื่น ๆ เพราะดิฉันมีเพื่อนที่สนิทอยู่ในตำบลบางคู้หนึ่งคน จะแวะมาเยี่ยมเยียนและเที่ยวหากันเป็นประจำ  แต่การมาในครั้งนี้คือการมาหาข้อมูลการสานเสื่อรำแพนของชาวบ้านตำบลบางคู้ จากการสอบถามผู้สานเสื่อรำแพนและเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงไม่มีผู้ใดทราบว่าใครเป็นผู้ที่ริเริ่มสานเสื่อรำแพนขึ้นเป็นคนแรก  ซึ่งในการสานเสื่อรำแพนสมัยก่อนนั้น ทุกบ้านจะสานกันเป็นทุกคน  แต่ในปัจจุบันแล้วผู้ที่สานเสื่อรำแพนเป็นก็ล้มหายตายจากไปบ้าง  เท่าที่ดิฉันได้ทราบผู้ที่สานเป็นและยังมีชีวิตอยู่มีเพียงไม่กี่คน คือ คุณป้าทองสุข  บุญรับ  อายุ  ๖๔ ปี  และคุณยายจ้อย ขำปู่  อายุ ๘๐ปี  ซึ่งก็ป่วยด้วยโรคชรา  ไม่ได้ทำแล้วเพราะร่างกายของท่านไม่เอื้ออำนวย  
 	คุณป้าทองสุขบอกว่า  ที่สานเสื่อรำแพนเป็นเพราะว่าแม่กับยายสอนเป็นผู้สอนให้  หลังจากนั้นก็ฝึกและก็หัดทำมาเรื่อยๆ   พออายุเริ่มมากเข้า  ก็เกิดความคิดที่จะถ่ายทอดให้กับลูกหลานของตน   และผู้ที่สนใจ  แต่ก็ไม่มีใครคิดอยากทำ  เนื่องจากการจักตอกและลอกเนื้อไม้เพื่อนำมาสานนั้นทำได้ยาก  ต้องอาศัยความชำนาญและความอดทนอย่างมาก
	วัตถุดิบที่ใช้สานเสื่อรำแพนและเป็นองค์ประกอบร่วมที่สำคัญคือ  ไม้ไผ่สีสุก เป็นตัวชูโรงอย่างดี  และมีดสำหรับจักตอกซึ่งจะต้องคมอยู่ตลอดเวลา  เพื่อจะได้ไม่กินเนื้อไม้  ส่วนไม้ไผ่ที่ใช้จะต้องเป็นไม้ไผ่สีสุกเท่านั้น  เพราะมีลำต้นตรงเรียวยาว  เนื้อไม้และผิวไม้มีสีเขียวปนเหลืองนวลและเป็นไม้ที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไปเหมาะสำหรับสานเสื่ออย่างดี    ไม้ไผ่สีสุกนั้นคุณยายทองสุกจะซื้อมาจากที่อื่น ซึ่งไม้ไผ่สีสุกขนาดใหญ่ลำละ ๒๐ บาท ทำเสื่อรำแพนได้ประมาณ ๓ ผืน  แต่ถ้าเป็นขนาดเล็กลำละ ๑๕ บาท ทำเสื่อได้ประมาณ ๑ ผืนกว่า ๆ 
	ขั้นตอนในการทำนั้นไม่ได้ยุ่งยาก คือ เราต้องมีวิธีการในการเลือกไม้ไผ่ที่ยังอยู่ในขนาดที่เข้าลำ คือ มีขนาดพอเหมาะมือ  ลำต้นตรงเขียวสดปนเหลืองนวลไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป  ถ้าเราต้องการที่จะทำเสื่อรำแพนผืนใหญ่ ความยาวที่ได้ขนาดคือ ๔ ปล้อง ขนาดสั้นความยาว ๒ ปล้อง หลังจากทอนเป็นท่อนเรียบร้อยแล้ว คือขั้นตอนการผ่าครึ่ง  ลอกและเหลาเนื้อไม้ไผ่ให้ได้บางที่สุด  หลังจากนั้นตากแดดจัด ๆ เพียงแดดเดียวเพื่อให้เกิดความเหนียว  เวลาขัดลายหรือขึ้นลายเนื้อไม้จะได้ไม่หักหรือคดงอง่าย  การขึ้นลายจะเรียกว่าลายสอง คือ ยก ๒ ข่ม ๒   ตั้งแต่ตรงกลางผืนไปจนกระทั่งจบพอถึงตรงมุมของสื่อเขาจะเรียกกันว่า  ดี  จะต้องขึ้นลาย ข้าม ๓ ยก ๒  นั่นคือวิธีการทำหนึ่งผืน 
 	ในหนึ่งวันคุณยายทองสุกสามารถสานเสื่อได้มากที่สุดเพียงแค่ ๑ ผืน เพราะจะใช้ว่างทำเท่านั้นไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลักแต่อย่างใด 
 	การจำหน่ายเสื่อรำแพนจะจำหน่ายในราคาขายส่ง คือ ขนาดใหญ่ ๗๐ บาท  ขนาดเล็ก ๔๐ บาท  หากเป็นคนกันเองราคาเสื่อรำแพนก็จะถึงลง คือ ขนาดใหญ่ราคา ๕๐ บาท และขนาดเล็ก ๓๐ บาท  เท่านั้น 
	เสื่อรำแพน เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าพวกเราคนรุ่นใหม่ควรจะอนุรักษ์และช่วยกันสืบถอดกันไว้ให้อยู่คู่กับพวกเราและลูกหลานของเราตลอดจนไป				
22 เมษายน 2548 12:10 น.

สารคดี : โรงสีชุมชน

สุชาดา โมรา

เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไปทำให้คนต่างจังหวัด  เริ่มอยู่อย่างตัวใครตัวมันมากขึ้น ความมีน้ำใจเริ่มหมดไป  ความเห็นแก่ตัวเข้ามาแทนที่  จากที่เคยอยู่กันอย่างเครือญาติ  อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่  ก็แยกตัวออกมาเป็นอิสระ ความเป็นญาติที่ใกล้ชิดกลับเป็นเพียงญาติห่าง  ๆ  ความรักความสามัคคี  การช่วยเหลือจุนเจือกัน  ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ลดน้อยลงจนเริ่มจางหายไปในที่สุด
	ในปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทกับสังคมของคนชนบททำให้สิ่งทั้งหลายเริ่มหายไป  แต่บางอย่างก็ยังคงอยู่  เช่น การขอแรงกันไปช่วยหุงข้าวทำกับข้าวในงานบุญต่าง  ๆ  ซึ่งยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน  ถือเป็นประเพณีที่ดีที่ควรอนุรักษ์ไว้และในงานบุญต่าง  ๆ  ในสมัยก่อน  ชาวบ้านยังไม่มีโรงสีข้าวเหมือนในปัจจุบัน  ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันตำข้าวเพื่อให้เปลือกข้าวหลุด  เมื่อตำเสร็จแล้วจึงมาใสกระด้งฝัดให้เปลือกออก  และนำข้าวที่ได้มาหุงทำให้เกิดความสามัคคีในการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน  แต่พอมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ทำให้ภาพความสามัคคีที่เกิดขึ้นในอดีตหายไป  จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
	จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในตำบลบางคู้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าๆ  ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต      ทำให้เกิดโรงสีชุมชนขนาดเล็กที่ชาวบ้านหมู่    ๑๓    ตำบลบางคู้      ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อสีข้าวให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงรวมทั้งบุคคลทั่วไปด้วย    ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนสร้างความรักความสามัคคีและความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านให้เกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
โรงสีชุมชนแห่งนี้  จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่  ๑๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๔๔  โดยการระดมหุ้นจากชาวบ้านในหมู่บ้าน  ได้ทุนในการดำเนินกิจการ  ๒๔๕,๐๐๐  บาท  และที่ดินที่ใช้ในการสร้างชาวบ้านต่างยินยอมยกให้ใช้จัดตั้งโรงสีชุมชน  เมื่อโรงสีสามารถดำเนินการได้ก็สามารถแก้ไขปัญหาต่าง  ๆ  ในหมู่บ้านได้ดี  เช่น  ปัญหาการขาดอาชีพ  เมื่อมีโรงสีทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการบริหารจัดการ  ปัญหาข้าวที่สีแล้วมีราคาแพง  ช่วยให้ชาวบ้านซื้อข้าวในราคาที่ถูกลงหรือใครจะนำข้าวของตนมาสีก็ได้แต่ทางโรงสีจะขอแกลบ  ปลายข้าว  รำข้าว  เอาไว้ขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย  เช่น  ค่าน้ำค่าไฟ  และใช้ในการดูแลรักษา  นอกจากนี้โรงสีชุมชนยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของตำบลบางคู้ด้วย 
นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของคนในชุมชนแล้ว  โรงสีชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วยเพราะจะมีผู้ขอมาศึกษาดูจากงานเป็นจำนวนมาก
ต่อมาโรงสีชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนชุมชนเพื่อสังคมเมื่อวันที่  ๑๔  มีนาคม  ๒๕๔๔  ในการปรับปรุงโรงสีชุมชนเป็นเงิน  ๒๕๐,๐๐๐  บาท  เพื่อเพิ่มกำลังผลิตและเพิ่มคุณภาพของการสีข้าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  และเมื่อวันที่  ๕  พฤศจิกายน  ๒๕๔๔  ได้รับงบสนับสนุนจาก  สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท  จัดสรรงบถ่ายโอนผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นทุนดำเนินการโครงการจัดซื้อข้าวเปลือกแก่โรงสีชุมชน เป็นเงิน ๓๔๐,๐๐๐ บาท  จากเงินส่วนนี้ทำให้โรงสีชุมชนมีทุนในการซื้อข้าวเปลือกมาสีขายให้กับชาวบ้าน
ข้าวเปลือกที่หาซื้อได้ก็ได้จากชาวบ้านในหมู่บ้านเพราะคนในตำบลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักทำให้มีข้าวที่ชาวบ้านนำมาสีเพื่อไว้เองหรือที่โรงสีชุมชนซื้อมาจากชาวบ้านเพื่อสีขาย  และซื้อข้าวจากนอกพื้นที่มาขายเช่น  ข้าวหอมมะลิ   ข้าวหอมกุหลาบ  เป็นต้น  มาสีขายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด
อย่างไรก็ตามโรงสีชุมชนก็ถูกสร้างขึ้นมาจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเพื่อประโยชน์ของคนในหมู่บ้าน  เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของชุมชนรวมทั้งสามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชน  ทำให้ความสามัคคี  ความมีน้ำใจ  ของคนต่างจังหวัดกลับมาเยื้อนจนทำให้เราสามารถรำลึกถึงบรรยากาศแห่งน้ำใจไมตรีได้อีกครั้งหนึ่ง				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟสุชาดา โมรา
Lovings  สุชาดา โมรา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟสุชาดา โมรา
Lovings  สุชาดา โมรา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟสุชาดา โมรา
Lovings  สุชาดา โมรา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงสุชาดา โมรา