10 กุมภาพันธ์ 2554 01:56 น.

* * * หนูหี่ง ฯ ตอน ฤดูแห่งความสุข * * *

หิ่งห้อยน้อยใจ



อดีตกาล....  นานมาแล้ว....

ตั้งแต่ก่อนที่หนูหิ่ง ฯ จะลืมตาขึ้นมาดูโลกกลม ๆ ใบนี้

ครอบครัวของหนูหิ่ง ฯ ได้ย้ายมาจาก  บ้านถ้ำ  จ.เชียงราย  มาอยู่ หมู่บ้านแม่โถ  ต.บ่อสลี  อ.ฮอด  จ.เชียงใหม่

สมัยนั้นต้องเดินทางจากถนนหลวงไปอีก 17 กม.  จึงจะถึงหมู่บ้านแม่โถ  ต้องใช้แรงงานคน - ม้าและวัวในการบรรทุกสิ่งของ

แต่ละหมู่บ้านก็จะอยู่ห่างกันมากกว่า 3 กม.ขึ้นไป  บ้านแต่ละหลังก็จะอยู่ห่าง ๆ กัน  แต่มีอะไรก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ครอบครัวของหนูหิ่ง ฯ มาปักหลักอยู่โดยยึดอาชีพทำขนมจีนขาย  เริ่มต้นจากข้าวสาร  นำไปแช่น้ำ  นำไปบด  ทำเป็นเส้นขนมจีนแล้วก็ต้องทำน้ำขนมจีน

เสร็จเรียบร้อยแล้วพ่อ - พี่ชาย - พี่สาว  ก็จะหาบไปขายตามไร่ตามสวนตามหมู่บ้านต่าง ๆ  ขายแลกเงินบ้าง  แลกของบ้าง  ฝิ่นบ้าง ฯลฯ

ขากลับก็ต้องหาของป่าติดไม้ติดมือกลับบ้าน อาทิ  ต้นไผ่,  ดอกไม้กวาด,  หญ้าคา  รวมถึงผักผลไม้ที่หาได้จากป่า

ทุกคนต้องทำงานหนัก  เพื่อจะได้มีข้าวกินอิ่มท้องทุกมื้อ  ถึงกระนั้นบางวันก็ไม่มีข้าวกิน....


ต่อมามีคนมาติดต่อให้แม่ไปขายของให้กับคนงานกรมป่าไม้ที่อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง  ไกลจากบ้านแม่โถประมาณ 20 กม.  อยู่ในเขต จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ก็พาพี่สาวไปด้วย 1 คน  พี่ชาย 1 คน  จากนั้นครอบครัวหนูหิ่ง ฯ ก็ต้องแยกกันอยู่ 2 หมู่บ้าน  ไปมาหาสู่กันก็ลำบากเพราะต้องเดิน

ทางเดินก็ต้องขึ้นเขาลงห้วยผ่านป่า  ในป่าก็มีทาก  (บรือส์.... หยะแหยง)  มีบางช่วงต้องข้ามแม่น้ำ  ในแม่น้ำก็มีปลิง  (บรือส์.... หยองขวัญ)

หลายครั้งก็เผชิญหน้ากับสัตว์ป่านานาชนิด  เราวิ่งหนีเขาบ้าง  เขาวิ่งหนีเราบ้าง  บางทีก็ต่างคนต่างวิ่ง  ^___^


ก่อนที่หนูหิ่ง ฯ จะลืมตาขึ้นมาดูโลกกลม ๆ ใบนี้  มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย....


จนกระทั่งหนูหิ่ง ฯ ได้ลืมตาแล้วก็เติบโตท่ามกลางความรักของพ่อ - แม่ และพี่ ๆ ครอบครัวของเราก็อยู่ดีกินดีกว่าแต่ก่อนมาก ๆ 

แต่กระนั้นก็ยังอยู่บ้านมุงด้วยหญ้าคา  ผนังทำด้วยไผ่ (ไม้ฟาก) เวลาลมพัดมาก็ทะลุเข้าไปในบ้าน  บางทีก็พาลมหนาวเข้าบ้าน

บางทีก็พาฝนเข้าบ้าน  หลายครั้งฝนเข้าทั้งทางหลังคา  และทางผนัง  มีอยู่ครั้งหนึ่งพายุได้พัดหลังคาบ้านปลิวไปตกที่สวนผู้ใหญ่บ้าน

ครอบครัวหนูหิ่ง ฯ ต้องไปอาศัยเพื่อนบ้านอยู่ชั่วคราวหลายวัน  จนกระทั่งเก็บหลังคากลับมาใส่ไว้เหมือนเดิม....

ไม่มีเงินสร้างบ้านใหม่  ก็ต้องทนอยู่ไป  ครอบครัวอื่นก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่เขาก็อยู่กันได้  เราก็อยู่ได้เหมือน ๆ กัน


มีหลายครั้งที่หนูหิ่ง ฯ ไปหาแม่กับพี่ ๆ ที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง  แม่ต้องจ้างคนแบกไป  จำได้ว่าคนแบกเหม็นมาก - มากที่สุด

หนูหิ่ง ฯ ร้องให้  ไม่ยอมให้เขาแบก  แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอม  เพราะเดินไม่ไหว  โดยเฉพาะหนูหิ่ง ฯ กลัวทาก และปลิงเป็นที่สุด *___~

ตอนเดินทางเราก็ต้องห่อข้าวไปกินระหว่างทางด้วย  เพราะออกจากบ้านแต่เช้า  กว่าจะไปถึงก็เย็น  หรือมืดค่ำแล้ว

ก็จะมีข้าวสวยห่อใบสัก  น้ำพริกถั่วเน่า  น้ำพริกข่า  ไข่ต้ม  บางทีก็มีไก่ต้ม  หรือหมูทอดด้วย  หิวตรงไหนก็นั่งกินตรงนั้น  หาผักแถว ๆ นั้นกินกับน้ำพริก

จำได้ว่าอร่อยมาก ๆ กินซะจุกเลย  อาจจะเป็นเพราะหิวแล้วก็เหนื่อยมั้ง  กินอะไรก็อร่อยไปหมด....  ก็เลยทำให้หนูหิ่ง ฯ เป็นเด็กกินง่าย  ^___^


ตอนเด็ก ๆ หนูหิ่ง ฯ จะชอบฤดูฝนมาก ๆ เพราะฤดูฝนเป็นฤดูที่ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์  ไม่เคยต้องอดเลย

ต้นฤดูฝน  ก็จะมีแมงเม่า, แมงมัน, จิ้งหรีด, กบ, เขียด, อึ่งอ่าง, แมงจร, หอย, หน่อไม้, สารพัดเห็ด, ผักกูดและอีกสารพัดผัก   เป็นอาหาร

หนูหิ่ง ฯ กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็จะมีหน้าที่ไปขุดหน่อไม้,  ขุดจิ้งหรีด,  เก็บเห็ด, งมหอย และเก็บผัก   เป็นที่สนุกสนานเบิกบานสำราญใจ

กลับมาก็มีหน้าที่แกะหน่อล้างแล้วสับ  แม่ก็จะทำหน่อไม้ดอง  เห็ดก็ล้างแล้วก็ทำเห็ดส้ม  หรือทอด  เพื่อที่จะเก็บไว้กินได้นาน ๆ 

เพราะฉะนั้นฤดูฝน  จึงเป็นฤดูที่มีความสุขมากที่สุดในขณะนั้น  ได้เล่นน้ำฝน  ได้กินน้ำแข็งที่หล่นมาจากฟ้า  (ลูกเห็บ)  ^___^

ส่วนพวกผู้ชายก็จะไปจับกบ, เขียด, อึ่งอ่างในตอนกลางคืน  ฤดูนี้อาหารเพียบ  ต้องทำตากแห้งเก็บไว้กินนาน ๆ 


ส่วนฤดูหนาวจะหนาวสุด ๆ หนาวเข้าไปที่กระดูก  ต้องออกมาก่อไฟผิงกันนอกบ้าน  แต่ก็ดีนะ  ได้พูดคุยกันกับเพื่อนบ้านที่ช่วยกันหาฟืนมาก่อไฟ

แล้วก็ได้กินข้าวหลามกับเผือกเผามันเผาแล้วก็มีข้าวปุก (ข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วตำให้ละเอียดกินกับงาดำตำละเอียดใส่เกลือนิดหน่อยแล้วก็ใส่น้ำอ้อย)  

บางทีก็นำข้าวปุกไปตากแห้งเก็บไว้กินนาน ๆ วิธีกินก็นำไปปิ้งเพื่อให้ข้าวเหนียวนิ่มแล้วก็ร้อน  บางทีก็นำไปทอด  กินกับงาดำตำ,  น้ำตาลทราย  หรือนมข้นก็อร่อย

เด็ก ๆ ก็จะมีหน้าที่อีกแล้ว  ต้องไปเก็บผักหวาน,  ดอกเสี้ยว,  ดอกแก,  จับจั๊กจั่น,  ขุดจิ้งหรีด  สนุกสนานเหมือนกัน  แต่ฤดูฝนสนุกกว่า  

เด็กผู้ชายก็จะมีของกว่างเป็นของเล่น  ฤดูนี้จะได้กินเกาเลียง (เป็นต้นเล็ก ๆ สีเขียวคล้ายต้นไผ่  มีรสหวานเหมือนอ้อย  กรอบอร่อยมาก)  ได้กินข้าวใหม่หอม ๆ  ^___^


ฤดูร้อน ก็จะเป็นช่วงพักผ่อน  แล้วก็เตรียมไร่เตรียมสวนสำหรับเพาะปลูก  สมัยนั้นจะถางหญ้าแล้วก็เผา  แล้วก็ขุดกลับหน้าดินเพื่อตากแดด

พวกผู้ใหญ่ก็จะไปไล่เหล่า  (ไปยิงสัตว์ป่าเป็นกลุ่ม  ไล่ต้อนแล้วก็ยิงด้วยปืนแก๊บที่ทำเอง)  หลายครั้งก็ดักได้นกสวย ๆ มาฝากเด็ก ๆ 

บางครั้งก็จับกระต่ายกับเต่าเป็น ๆ มาให้เด็ก ๆ เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น  หนูหิ่ง ฯ เปล่ารังแกสัตว์นะคะ  ^___^

เด็ก ๆ ก็มีหน้าที่เหมือนกันค่ะ  ไปหาผลไม้ป่าเช่น ลูกหว้า,  มะม่วงป่า, หมากเม่า (เป็นพวงมีเม็ดเล็ก ๆ รสชาดเปรี้ยว  ตากแดดเก็บไว้กินนาน ๆ ได้)

กระเจี๊ยบ,  มะเดื่อ, มะขามป้อม,  ลูกไข่ปลา - ไข่ปู - ไข่กุ้ง  เสร็จแล้วก็จะเป็นหน้าที่ของแม่และพี่ ๆ ที่จะต้องช่วยกันดอง  หรือตากให้แห้ง  


หนูหิ่ง ฯ จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ทุกฤดูเป็นฤดูที่มีความสุข  ถึงจะได้ทำงานแต่ก็สนุกสนาน  เพราะเห็นเป็นเรื่องเล่น ๆ ไปหมด

เวลาเข้าป่าไปทำงานตามคำสั่งของแม่ก็จะมีวิทยุไปด้วย  พวกเราก็จะร้องรำทำเพลงไปก่อนถึงจุดหมายปลายทาง  จะทำเสียงดังตลอดเส้นทาง

เพื่อที่จะให้สัตว์ได้ยินเสียงแล้วก็หลีกทางไปไกล ๆ จะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน  

บางทีก็ต้องวิ่งกันจ้าละหวั่นเพราะเจอคู่อริตลอดกาลของหนูหิ่ง ฯ * งู * นั่นเองค่ะ


เป็นเพราะหนูหิ่ง ฯ เกลียดและกลัวงูที่สุดในโลกหรือเปล่าน้า....  เลยต้องอยู่บนคานมาจนกระทั่งทุกวันนี้  คิก ๆ ๆ ๆ 


จบแค่นี้ก่อนจ้า  

				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟหิ่งห้อยน้อยใจ
Lovings  หิ่งห้อยน้อยใจ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟหิ่งห้อยน้อยใจ
Lovings  หิ่งห้อยน้อยใจ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟหิ่งห้อยน้อยใจ
Lovings  หิ่งห้อยน้อยใจ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงหิ่งห้อยน้อยใจ