15 มกราคม 2546 15:45 น.

CU Music Awards ครั้งที่ 6 "ตบหน้า" คน เสีย "เจ็บ" ( รึเปล่า? )

เชษฐภัทร วิสัยจร

ในทำนองเดียวกันกับดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากล ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน พูดภาษาใด ถ้าหากโดนดนตรีที่ดี "ตบหน้า" เข้าซักฉาด คุณต้องรู้สึก "เจ็บ" กับเสียงท่วงทำนองและจังหวะของเพลงแน่ ก็ดูเอาตอนที่ผมอารมณ์ไม่ดีจนไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรได้อย่างตอนนี้ เสียงเพลงจากการประกวดวงดนตรี CU Music Awards ที่สี่เสาเทวาลัย หน้าตึกสี่คณะ ยังช่วยปลอบโยนผม ให้กลับมีอารมณ์ขึ้นมาปั่นต้นฉบับที่ทุกท่านกำลังอ่านกันอยู่นี้ได้ ( ซึ่งกว่าทุกท่านจะได้อ่านงานก็คงจบไปแล้วเกือบสองสัปดาห์ ) เห็นไหมว่านอกจากดนตรีจะ"ตบหน้า" ได้ "เจ็บ" แล้ว ก็ยังเป็นยารักษาสภาพจิตใจของคนได้ดีอีกต่างหาก เมื่อตัวผมเองรู้สึกว่าอยากจะแหกหูตา ของตนให้ใกล้ ๆ กับเสียงดนตรีให้มากขึ้น ผมก็จึงตัดสินใจลงลิฟต์มาที่บริเวณงานคอนเสิร์ต 
	CU Music Awards หรือ ถ้าเราจะเรียกให้เต็มยศก็คือ การประกวดวงดนตรีชิงชนะเลิศแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 6 ในปี้นี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ " CU Diary " เพื่อน ๆ พี่ ๆ ชาวจุฬาจะสามารถนำเสนอความรู้สึกนึก ทัศนคติ มุมมอง และความคิดเห็น เรื่องราวของพวกเรา ผ่านสื่อทางดนตรี ซึ่งได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ จรรโลงใจ และมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า"คน"เป็นอย่างมาก  เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวจุฬาฯ ที่มีความสามารถทางดนตรีจึงมีโอกาสได้แสดง พรที่สวรรค์ได้ประทานมาให้ ใช้เป็นเครื่องมือในการ "ตบหน้า" ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา บางคน บางวง แรงเยอะ ก็อาจจะ"ตบหน้า" คนได้ "เจ็บ" มากหน่อย ซึ่งพลังในการตบของแต่ละคนจะมากจะน้อย ก็ขึ้นอยู่ กับความสามัคคีของคนในวง ตลอดจนความมานะพยายามในการฝึกซ้อม จนสามารถสร้างสรรค์ออกมาเป็นเสียงดนตรีที่ดีได้ เท่าที่ผมนั่งสังเกตการอยู่ที่นี่มาเกือบชั่วโมง หลาย ๆ วงนอกจากจะเที่ยวตบหน้าคนอื่นเขาไปทั่วแล้ว ยังลากคนให้มานั่งดู นั่งฟังได้อีก ไม่รู้ว่าเล่นของอะไรรึเปล่า อยู่ ๆ ก็ดูดคนไม่รู้จักให้เข้ามานั่งฟังเพลงอยู่แถวนี้ ( รึเขารู้จักกันอยู่แล้วหว่า )  ก็คนเรามันชอบฟังเพลงนี่ ถ้างั้นก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอก ถ้าจะมานั่งฟังเพลงที่เราชอบให้สบายอารมณ์ ตากลมเย็น ๆ ก่อนกลับบ้าน
การประกวดวงดนตรีชิงชนะเลิศแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Music Awards ในปีนี้ มีวงดนตรีของนิสิตในระดับปริญญาตรี สมัครเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 30 วง ซึ่งส่วนใหญ่ ก็มาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ สงสัยเพื่อน ๆ นิสิตจากสองคณะนี้ คงจะมีเรื่องอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง ผ่านเสียงดนตรีเคล้าสายลมอยู่หลายเรื่อง ก็คุยกันตามประสาผู้ชาย ซึ่งไม่หยาบคาย ผู้หญิงก็ฟังได้ เด็กก็ฟังดี จริงไหม
วัตถุประสงค์ของการจัดการประกวดเป็นไปเพื่อพัฒนาความสามารถทางดนตรีของเพื่อน ๆ แล้วก็ ใช้ดนตรีเป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิดได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในหมู่นิสิต และการส่งเสริมให้นิสิตใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้แล้ววงดนตรีที่ชนะเลิศก็ยังจะมีโอกาสไปใช้เสียงดนตรีท้า "ตบหน้า" ผู้คนในระดับที่สูงขึ้นในกิจกรรมต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
	การประกวดรอบคัดเลือกจัดขึ้น 2 วัน โดยวันนี้ ( 9 มกราคม ) จัดขึ้นที่ลานสี่เสาเทวาลัย ของคณะอักษรศาสตร์ ส่วนวันพรุ่งนี้ หรือ วันที่ 10 มกราคม จะจัดขึ้นที่ ลาน จามจุรี 5 ต้น ซึ่งท่านผู้อ่าน ก็คงจะไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลาไปชมได้แล้ว ส่วนนัดชิงชนะเลิศ เอ๊ย! ไม่ใช่ สิ วันประกวดรอบชิงชนะเลิศ จะจัดขึ้นวันที่ 21 มกราคม ยังไงซะ ถ้าหนังสือพิมพ์ season ฉบับนี้ อยู่ในมือ ท่านก่อนวันประกวด ก็อย่าลืมหาโอกาส ไปโดนตบหน้าล่ะ ท่านจะได้รู้เสียที ว่าปัญหามันอยู่ที่กำลังส่งของเสียงดนตรีที่ท่านฟังอยู่ หรือความหนา บางของผิวหนังบนใบหน้าของท่านกันแน่  พิจารณากันดูให้ดีละกันนะครับ สวัสดี				
12 มกราคม 2546 08:48 น.

การต่อสู้ของชาติมหาอำนาจเพื่อแย่งชิงลูกฟุตบอลเท่านั้นหรือ???

เชษฐภัทร วิสัยจร

ชาวตะวันตกจะรู้สึกแปลกใจมาก ๆ และจะตั้งคำถาม พร้อมกับรอยยิ้มแกมดูถูก ถ้าได้รู้ว่าคนเอเชียก็บ้าบอลยิ่งกว่าอะไรดี ขนาดไม่มีทีมชาติของตนเองลงแข่ง ก็ยังอุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนอยู่ได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าฝรั่งพวกนั้น ไม่เคยคิดหรอกว่าบ้านเมืองของเราเป็นเช่นไร จะมีโทรทัศน์ใช้บ้างไหม และก็คงไม่เคยคิดว่าผู้คนอีกซีกโลกหนึ่งจะต้องมาสนใจกิจกรรมของพวกตนทำไม  เป็นพวกตนต่างหากที่ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจโลก เข้าไปเสนอตัวแก้ไขปัญหา อยู่ตลอดเวลา หารู้ไม่ว่าก็เป็นเพราะบรรพบุรุษของพวก ยู นั่นแหละที่เข้ามาหาอาหารพร้อม ๆ กับลัทธิจักรวรรดินิยมในทวีปเอเชีย เมื่อราว ๆ สองร้อยปีก่อน  ลัทธิจักรวรรดินิยมดังกล่าวถูกนำเข้ามาพร้อมกับอารยธรรมของชาติ ผู้ล่าหลาย ๆ ชาติ จากทวีปยุโรปในตอนนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมพื้นถิ่น ( indigenous culture ) เป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าหากว่าประเทศที่ ถูกล่าจะสนใจวัฒนธรรมกีฬาการละเล่นของ ผู้ล่า บ้างก็คงไม่แปลก 
		ภาพยนตร์เรื่อง The Cup เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเณรน้อยในธิเบตซึ่งเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง ที่ต้องการจะชมการแข่งขันฟุตบอลโลกจนถึงกับต้องยอมทำผิดกฏของวัด แต่งกายเป็นฆราวาสย่องแอบไปดูบอลในหมู่บ้านยามดึก  อะไรเป็นสาเหตุให้สามเณรอันได้รับการขนานนามว่าเป็นเหล่ากอของสมณะแหกคอกออกไปเช่นนั้น หลาย ๆ คนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนานิกายมหายานในธิเบต ที่ไม่เคร่งเท่ากับ พุทธศาสนานิกายเถรวาทในเมืองไทย น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการแหกคอกของเณรน้อยคนดังกล่าว แต่ว่าก็มีเณรในเมืองไทยหลายคนเหมือนกันที่ไปเที่ยว จีบสาวอยู่ตามอินเทอร์เนตคาเฟ่ แทนที่จะศึกษาเล่าเรียนอยู่แต่ในวัด ดังนั้นเหตุผลสำคัญน่าจะเกิดจากกระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน ประกอบกับจิตใจของตัวผู้ปฏิบัติที่ยังตัดขาดจากกิเลสไม่ได้เนื่องจากยังอยู่ในวัยรุ่น คะนอง และอยากรู้อยากเห็น ลองคิดดูเล่น ๆ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่า ขุนแผน ซึ่งครั้งหนึ่งได้บวชเรียนเป็นสามเณรอยู่ใต้ร่มบวรพระพุทธศาสนา แอบหนีไปดูบอลตอนกลางคืน? แต่โชคยังดีที่เมื่อสี่ร้อยปีที่แล้ว กระแสอารยธรรมของตะวันตกยังไม่เข้ามา และสมัยนั้นก็ยังไม่มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกด้วย ขุนแผนก็เลยยังคงรักษาเนื้อรักษาตัว ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนได้รับราชการในที่สุด
		   จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือเมื่อเทคโนโลยีจะต้องเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมจะเกิดอะไรขึ้น หลายคนคงไม่คาดคิดว่าท่านเจ้าอาวาสจะอนุญาติให้บรรดาเณรน้อยทั้งหลายเช่าจานดาวเทียมและทีวีเพื่อจะดูบอลโลก และถึงขั้นเสียสละเวลาในการบำเพ็ญภาวนามาร่วมชมการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากระแสความนิยมของโลกนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก จนวัฒนธรรมพื้นถิ่นต้องยอมรับและปรับสภาพตามไปด้วย
		ชาติมหาอำนาจต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงลูกฟุตบอลเป็นคำขยายความของคำว่าฟุตบอล ซึ่ง Geko อธิบายให้ท่านเจ้าอาวาสฟัง เหมือนจะเป็นนัยที่ต้องการจะบอกเราถึงสภาพการเมืองของโลกในปัจจุบัน
                              หากจะย้อนไปในการแข่งขันฟุตบอลเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ส่วนใหญ่หลายทีมจะเน้นความสามาถเฉพาะตัวของผู้เล่นและลีลาที่สวยงามเป็นสำคัญ โดยเฉพาะทีมมหาอำนาจลูกหนังโลกอย่าง บราซิล ซึ่งได้นักฟุตบอลได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเฉพาะตัวดีที่สุดในโลก แต่เมื่อสองสามทศวรรษหลังสุด ระบบการเล่นเป็นทีมดูจะมีส่วนสำคัญมากขั้นนับตั้งแต่ที่ทีมชาติฮอลแลนด์ภายใต้การคุมทีม Rinus Michell ในปี 1978 ซึ่งคิดค้นระบบ Total Football ขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากนั้นมาหลาย ๆ ชาติก็ได้มีการคิดค้นและพัฒนาระบบการเล่นขึ้น จนมีคำถามว่าถ้าหาก Pele ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาลูกหนังโลกมาเกิดในสมัยนี้ และต้องเจอกองหลังอย่าง Jurgen Kohler ของ เยอรมัน หรือ Ciro Ferrara และ ระบบ pressing ของทีมชาติ อิตาลี ซึ่งเป็นการเล่นที่ผู้เล่นทุกคนในทีมจะช่วยไล่ช่วยบีบไม่ให้มีเวลาไม่ให้มีพื้นที่ ผู้เล่นที่มีพรสวรรค์อย่าง Pele จะยังคงมี ดี อะไรเหลืออยู่อีกหรือ 
		ปัจจุบัน แผนการเล่นที่ทีมฟุตบอลหลาย ๆ ทีม ที่รู้ตัวว่าเป็นรองทีมคู่แข่ง มักจะใช้ก็คือ การเล่นแบบ counter attack คือตั้งรับให้แน่นเข้าไว้ พอคู่ต่อสู้เผลอก็ ฉวยโอกาสนั้นทำประตู ระบบนี้หลาย ๆ ทีมเคยใช้ได้ผลมาแล้ว เช่น ทีมชาติซาอุดิอารเบีย ก็ใช้แผนนี้ อัดเบลเยี่ยมซะหงายเก๋ง 1-0 ในฟุตบอลโลกปี 1994 และ ดูเหมือนว่าการเล่นแบบตั้งรับและโต้กลับเร็วนี้จะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แต่เฉพาะทีม ที่มีสักยภาพจำกัดเท่านั้น ทั้งอาร์เซน่อล ที่คว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1997/98 และลิเวอร์พูลที่คว้าสามแชมป์เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา  ต่างก็ใช้แผนการดังกล่าวในการเก็บเกี่ยวชัยชนะทั้งสิ้น
		ทางด้านการเมืองและการทหารระหว่างประเทศก็เช่นกัน แต่แรกเริ่มเดิมที ทหารหรือขุนศึก จะเน้นไปที่การฝึกฟันดาบและการต่อสู้ป้องกันตัวเบื้องต้นเป็นสำคัญ จากนั้นมาก็เริ่มมีการคิดค้นปืนไฟที่กระสุนทำด้วยดินแดงขึ้น จนกระทั่งมีปืนใหญ่ มีรถถัง จนกระทั่งมีการคิดค้นอาวุธนิวเคลียร์ขึ้น มาถึงขนาดนี้แล้วต่อให้มีจอมทัพเก่ง ๆ อย่าง บุเรงนอง หรือ กวนอู ถ้าหากว่าเจอระเบิดปรมาณูไปซักลูกสองลูกก็คงจะไปไม่รอดเหมือนกัน
  		ในปัจจุบันการรบแบบกองโจร หรือ แบบสงครามพิเศษดูจะได้รับความนิยมมากขึ้น นับตั้งแต่เวียดนามใช้ยุทธวิธีนี้ ในการต่อกรกับสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจของโลกทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจจนสามารถมีชัยไปได้ในที่สุดในสงครามเวียดนาม
                            ยุทธวิธีการรบแบบนี้เน้นการก่อวินาศกรรมและใช้คนไม่มาก ในการลงมือแต่ละครั้งขอทหารเพียงแค่สองคนกับไม้ขีดไฟ แล้วก็น้ำมันก๊าดก็เพียงพอแล้ว ด้วยต้นทุนที่ประหยัดและไม่เสี่ยงกับการที่ต้องสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก ยุทธวิธีการรบดังกล่าวจึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนา เพราะถ้าขืนรบเต็มรูปแบบกับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ก็มีแต่จะแพ้กับพัง 
		นั้นคือสิ่งที่เราสามารถเปรียบเทียบได้ระหว่างฟุตบอลกับสงคราม แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถจะนำประเด็นทั้งเรื่องฟุตบอลและการเมืองระหว่างประเทศอันเป็นชนวนไปสู่การแย่งชิงของสองอารยธรรมมาเปรียบกันได้เลยก็คือ
                         เจ้าอาวาส : พวกเขาจะรบกันเมื่อไหร่ ( เจ้าอาวาสหมายความว่านัดชิงฟุตบอลโลกจะเริ่มแข่งเมื่อไหร่ )
		Geko : อะไรนะครับ?ใครจะรบกับใคร?
                        เจ้าอาวาส : ก็เจ้าบอกว่าเป็นการรบกันของสองชาติมหาอำนาจเพื่อแย่งลูกฟุตบอลไม่ใช่หรือ ?แล้วถ้าเขาชนะพวกเขาจะได้อะไร ?
		Geko : ถ้วยรางวับครับ
		ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นถ้วยชนะเลิส
		แล้วในการสงครามหละ ประเทศที่ชนะจะได้รับอะไร?
                        บางที่เราอาจจะพบคำตอบของคำถามนี้อยู่ในใต้ซากปรักหักพังของอาคารเวิร์ลด เทรดเซ็นเตอร์ในมหานคร นิวยอร์ค ก็ได้กระมัง				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเชษฐภัทร วิสัยจร