20 มกราคม 2550 00:59 น.

อายุรเวท วีถีเพื่อชีวิตที่สมดุล

เปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย

 อายุรเวทเป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมที่มีอายุนับพันปีของชาวอินเดีย มีรากศัพท์มาจากคำว่า " อายุส" (Ayus)ที่แปลว่า ชีวิต และคำว่า "เวท" (Veda) แปลว่า ความรู้ที่ลึกซึ้ง ดังนั้น อายุรเวทจึงหมายถึงความรู้ที่ลึกซึ้งว่าด้วยเรื่องของชีวิต  
     อาจารย์ทางด้านอายุรเวทท่านหนึ่งสรุปใจความสำคัญของศาสตร์นี้ไว้ว่า "หัวใจของอายุรเวทอยู่ที่แนวคิดที่ว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์จะมีชีวิตที่เป็นสุขได้ก็โดยการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ทำให้เกิดหลักการดำเนินชีวิตต่างๆ เช่น การปฏิบัติตัวประจำวัน เป็นต้น" 
    
ธาตุทั้งห้าคือที่มาของสรรพสิ่ง
     ทั้งตัวเราและธรรมชาติประกอบด้วยพื้นฐานเหมือนกันคือธาตุทั้งห้า ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ ซึ่งรวมเรียกว่า "ปัญจมหาภูตะ"  

     ธาตุดิน หมายถึง สิ่งที่คงรูปร่างได้ในอุณหภูมิปกติ หรือของแข็ง ส่วนในร่างกายก็คือโครงสร้าง เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น ผิวหนัง ผม ขน เล็บ เป็นต้น

      ธาตุน้ำ หมายถึง สิ่งที่เป็นของเหลว หรือไหลไปมา ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีมากที่สุด เพราะในโลกนี้พื้นที่ส่วนใหญ่คือทะเล  เช่นเดียวกับที่น้ำมีมากที่สุดในร่างกาย ทั้งน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำเมือก น้ำลาย ทั้งในเซลล์และนอกเซลล์ น้ำมีทำหน้าที่ทำให้ระบบต่างๆทำงานได้เป็นปกติ 

     ธาตุลม หมายถึง มวลสารที่ไม่มีรูปร่างแต่สัมผัสได้ ในร่างกายหมายถึงลมหายใจ การยืดหดกล้ามเนื้อ การบีบตัวสูบฉีดเลือดของหัวใจ หรือการสื่อสารของระบบประสาท

     ธาตุไฟ หมายถึงสภาวะที่มีแสงสว่าง มีพลังงานและความร้อน สามารถเปลี่ยนสภาพของสิ่งต่างๆได้ ในร่างกายหมายถึง ความอุ่นในร่างกาย การเผาผลาญอาหาร การกระตุ้นให้ดวงตามองเห็น เป็นต้น

     อากาศธาตุ หมายถึง ที่ว่างที่ทำให้ธาตุอื่นๆดำรงอยู่ได้ ในร่างกายหมายถึงอวัยวะที่เป็นท่อ มีความกลวงทุกชนิด เช่น ช่องในจมูก ปาก คอ ลำไส้ ทรวงอก หลอดเลือด เป็นต้น

      แม้ว่าพื้นฐานของสรรพสิ่งจะประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 ชนิด แต่ตามหลักของอายุรเวทแล้วสามารถจัดกลุ่มได้เป็น 3 กลุ่ม เรียกว่า ตรีโทษะ อันได้แก่ 

     วาตะ คือธาตุลมและอากาศธาตุ มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวในร่างกาย เช่น การหายใจ การพูด การเคี้ยวอาหาร การขับถ่าย

     ปิตตะ คือธาตุไฟ มีหน้าที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญอาหารและพลังงานในร่างกาย และแปรสภาพเป็นกล้ามเนื้อ เลือด ไขมัน ฯลฯ ทั้งยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น และให้ความอบอุ่นกับร่างกายด้วย 

     กผะ คือธาตุดินและธาตุน้ำ มีหน้าที่ประกอบกันเป็นโครงสร้าง ให้ความชุ่มชื้นและหล่อลื่นส่วนต่างๆของร่างกาย

     ตรีโทษะนี้จะทำงานประสานกันในทุกส่วน ทุกระบบของร่างกาย เพื่อให้คนเราดำรงชีวิตและทำกิจกรรมต่างได้ ถ้าหากส่วนใดบกพร่อง ร่างกายอาจเสียสมดุลหรือไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ 

ลักษณะของคนสามธาตุ
     วาตะ : ธาตุลมผู้ไม่อยู่นิ่ง ธรรมชาติของคนกลุ่มนี้มักจะบอบบาง เจ็บป่วยง่าย แต่ก็ร่าเริง ปรับตัวง่าย และกระตือรือร้น ซึ่งถ้าหากยังคงลักษณะที่ดีเอาไว้ได้ก็แสดงว่าร่างกายยังคงสมดุลดีอยู่ ลักษณะประจำของคนธาตุนี้คือมือเท้าเย็นและไม่ชอบอากาศเย็น การไหลเวียนเลือดไม่ดี หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ กล้ามเนื้อเกร็ง ปวดหลัง จำข้อมูลใหม่ได้เร็วแต่ก็ลืมเร็วด้วย ชอบทำตามใจ อารมณ์แปรปรวน พูดเร็ว อยู่ไม่สุข ช่างคิดช่างจินตนาการ ติดจะเพ้อฝันนิดหน่อย เข้ากับคนง่ายแต่ความสัมพันธ์ไม่ยืดยาว ผิวแห้ง ผมแห้ง ตาไม่สดใส ผิวหยาบและผมหยาบ 
     แนวโน้มการเจ็บป่วยของคนธาตุลม มักเกิดจากความเครียด อดนอน การเปลี่ยนฤดู อากาศหนาว รับประทานของเย็น ดิบ อาหารรสขม ฝาด มัน หรือเผ็ดมากเกินไป ซึ่งอาจแสดงออกมาเป็นความเจ็บป่วย เช่น ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย หนาวสั่น หอบหืด ปวดข้อ ปวดกระดูก อ่อนล้า นอนไม่หลับ เป็นต้น 
     วิถีปฏิบัติที่เหมาะสมคือ
     1.ทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตร ตรงเวลา และสม่ำเสมอ เนื่องจากธรรมชาติของคนธาตุนี้คือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา การทำอะไรเป็นกิจวัตรจะช่วยให้ชีวิตมีความแน่นอนมากขึ้น 
     2.เคลื่อนไหวให้ช้าลง ทำหรือคิดให้เสร็จเป็นอย่างๆ และกำหนดจุดมุ่งหมายทุกครั้งก่อนจะลงมือทำอะไร เพราะคุณเป็นคนช่างคิด อยากทำโน่นทำนี่ แต่ไม่ลงมือ การทำอะไรช้า ทีละอย่าง จะช่วยให้คุณนิ่งมากขึ้น
     3.ออกกำลังกายให้เหมาะกับร่างกายและจิตใจ คนธาตุนี้บอบบาง แรงอึดน้อย ไม่เหมาะกับกีฬาที่ใช้แรงมาก แต่ควรเลือกกีฬาประเภทที่เนิบช้า ประกับสมาธิเช่น โยคะ ไทเก๊ก เดินเร็ว หรือสงบจิตใจด้วยการนั่งสมาธิ 
     4.คนธาตุลมเป็นคนมีพลังงานน้อย การนอนพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจฟื้นพลังได้เอง
     5.คุณมักมีผิวแห้ง การนวดด้วยน้ำมันงาทุกเช้าจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันวาตะกำเริบในหน้าหนาวได้
     6.รักษาร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอุ่นให้มาก หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เย็นเพราะจะทำให้วาตะกำเริบ
      ส่วนอาหารควรรับประทานอาหารรสหวาน เปรี้ยว และเค็ม รวมทั้งอาหารประเภทเนยและเครื่องเทศ อาหารร้อนๆ และงดอาหารแห้ง นม เนื้อวัว ถั่ว(ยกเว้นถั่วเขียว) และอาหารหรือเครื่องดื่มเย็นๆ ผักลวกหรือผัดน้ำมัน ผลไม้สุกหรือผลไม้แห้ง (หลีกเลี่ยงผักผลไม้สด)  
      
     ปิตตะ : ธาตุไฟผู้เด็ดขาด คนกลุ่มนี้โดยมากมักมีสุขภาพดี หากไม่ทะเยอทะยานหรือหวังสัมฤทธิ์กับชีวิตจนเกินไป  ลักษณะประจำธาตุคือตัวร้อน เลือดขึ้นหน้า ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย ผิวหนังอักเสบ รู้สึกร้อนในกระเพาะ ทำให้เกิดภาวะกรดมากในร่างกายและกระเพาะ มีเหงื่อออกมาก ขี้ร้อน ไม่สบายเมื่ออากาศร้อนชื้น มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว ปัสสาวะ อุจจาระค่อนข้างมีกลิ่นมาก 
     แนวโน้มเกี่ยวกับการเจ็บป่วย มักเกิดจากความเครียด เก็บกด คาดหวังมากไป มุงานมากไป รับประทานอาหารเผ็ด รสจัด หมักดอง อากาศร้อน และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ซึ่งการเจ็บป่วยจะแสดงออกมาในรูปของธาตุไฟกำเริบคืออาการอักเสบ เช่น แผลร้อนใน ไมเกรน โรคกระเพาะ ท้องเสียง่าย ผิวหนังอักเสบ เลือดออกง่าย ประจำเดือนมามาก เป็นต้น 
     ถ้าคุณเป็นชาวปิตตะ 
     1.หลีกเลี่ยงสิ่งที่ร้อน เช่น อาหาร อากาศ รวมทั้งอารมณ์ อาจหาเวลาไปพักผ่อนในที่เย็นสบาย เช่น น้ำตก หรือชมแสงจันทร์ ตัวแทนแห่งความเยือกเย็นเพื่อลดความร้อนรุ่มในตัว เหมาะที่จะดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ 
     2.เรียนรู้ที่จะปล่อยวางบ้าง เพราะคุณเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบเกินไป และมีแนวโน้มจะจับผิดจนอะไรๆก็ไม่ถูกใจ ดังนั้นการปล่อยวางทำให้คุณอยู่กับร่องกับรอยได้มากขึ้น
     3.ควบคุมอารมณ์ อย่าให้โมโหหรือฉุนเฉียวบ่อยนัก เพราะเมื่อไฟธาตุกำเริบ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา เช่น ไมเกรน โรคกระเพาะ พยายามสงบจิตใจ แผ่เมตตา และเจริญภาวนาให้บ่อยๆ 
     4.ฝึกลมหายใจ เน้นการหายใจเข้าออกให้ยาวขึ้น หรือหายใจทีละข้างคือกดรูจมูกด้านซ้าย หายใจด้วยรูจมูกข้างขวาแล้วทำสลับกัน เพื่อช่วยลดความร้อนรุ่มภายใน
      ส่วนอาหารควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเย็นๆ มีรสหวาน ฝาด มัน เช่น ผลไม้รสหวาน ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วเหลือง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ไข่แดง น้ำผึ้ง เครื่องดื่มร้อน อาหารหมักดอง อาหารทะเล  

 
      กผะ : คนธาตุดินผู้เชื่องช้าและอดทน เป็นธาตุที่หนักแน่น เชื่องช้า สม่ำเสมอ จึงเสียสมดุลยาก คนธาตุนี้เป็นคนรักสงบ ช่างเห็นอกเห็นใจ ให้อภัยผู้อื่น ลักษณะประจำธาตุคือ อ้วน ซึมเศร้า น้ำหนักเพิ่มง่าย หรือเป็นเบาหวานถ้าได้ความหวานเพิ่มมากเกินไป เป็นคนมั่นคงเยือกเย็น ไม่สุดโต่ง  ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ ผิวนุ่ม กิริยานุ่มนวล แววตาอ่อนโยน ไม่เรียกร้อง พูดช้าแต่ก็นุ่มนวลชวนฟัง เคลื่อนไหวช้า คิดช้า เรียนรู้ช้า  สุขุม 
     แนวโน้มด้านการเจ็บป่วยมักจะเกิดจากธาตุดินและน้ำกำเริบ เพราะรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันมากเกินไป  ทำให้มีปัญหาส่วนเกินที่เกิดจากการสะสม เช่น อ้วน น้ำหนักตัวมาก บวมตามตัว ไอมีเสมหะ เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด หรือเกิดจากการนอนดึกติดต่อกันหลายวัน มีอากาศหนาวชื้นแฉะ จนทำให้เกิดอาการเฉื่อย สมองทึบ ขี้เกียจ และสะลึมสะลือ เป็นต้น 
     ถ้าคุณเป็นชาวกผะ
     1.ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้พลังงานสะสมภายในที่มากกว่าคนธาตุอื่นได้ถูกเผาผลาญออกไป และควรเลือกกีฬาที่ใช้พลังมากๆเช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เพื่อลดความเฉื่อยในตัว 
     2.หลีกเลี่ยงการอยู่กับที่นานๆ อาจเดินยืดเส้นยืดสายบ่อยๆ หรือเคลื่อนไหวไปมาบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความนิ่งเกินไป
     3.การอยู่นิ่งเกินไป จะทำให้กผะกำเริบกลายเป็นความเกียจคร้าน ดังนั้นคุณควรหาสิ่งท้าทายใหม่ๆ เช่น ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆบ้าง 
     4.ควบคุมน้ำหนักตัว คนธาตุนี้มีแนวโน้มที่จะอ้วนง่ายกว่าคนธาตุอื่น ดังนั้น คุณต้องคอยควบคุมน้ำหนักให้คงที่ เพราะเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นแล้วมักจะลดยาก และต้องหลีกเลี่ยงอาหารหวาน ไขมัน ดื่มเครื่องดื่มอุ่นให้มากๆ
      คนกลุ่มนี้ไม่ควรรับประทานอาหารก่อน 10.00 น.และหลักพระอาทิตย์ตก แต่ควรรับประทานอาหารกลางวันให้มากกว่าทุกมื้อ การงดอาหารอาทิตย์ละครั้งจะช่วยให้ควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี และในฤดูฝนให้รับประทานอาหารให้น้อยลง ควรรับประทานผักใบเขียวและพืชชนิดหัว(งดผักชนิดอื่น) ผลไม้แห้ง(งดผลไม้สด) 
 				
Calendar
Lovers  3 คน เลิฟเปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย
Lovings  เปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย เลิฟ 6 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย
Lovings  เปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย
Lovings  เปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย