มาฆบูชา..กถา

tiki

มาฆบูชากถา 
โดย สิริอัญญา 
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
 เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ และเสด็จไปดีแล้ว 
เหลือแต่พระธรรม วินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ของชาวพุทธทั้งหลาย 
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาพระธรรมอันประเสริฐที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์นั้นทรง แสดงและทรงบัญญัติแล้ว เพื่อประโยชน์
ของชนหมู่มากในโลก
 ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์นั้น ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของชาวโลก 
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 จึงเป็น
วันมาฆบูชาซึ่งเป็นหนึ่งในวันสำคัญของชาวพุทธ เป็นวันที่รำลึก
ถึง คำประกาศหลักเกณฑ์ในการเรียนการสอนพระธรรมวินัย
ในพระพุทธศาสนา ที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงในโอวาทปาติโมกข์ 
นับจากวันนี้ไปก็จะเหลือเวลาอีก 2 วัน ก็จะถึงวันมาฆบูชาแล้ว 
ดังนั้นในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงขอทำหน้าที่ของชาวพุทธ
ถวาย เป็นพุทธบูชาเพื่อประโยชน์และความสุขของเพื่อนมนุษย์ทั่วหล้า
 ด้วยการแสดงความสำคัญของวันมาฆบูชา มีเนื้อหารวม 2 ตอน 
ความจริงหากจะถือว่าวันมาฆบูชาเป็นเทศกาลที่มีการปฏิบัติบูชา
เป็นระยะเวลาต่อเนื่องก็คงจะต้องถือว่าเทศกาลมาฆบูชาได้เริ่มต้น 
ขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 
เพื่อให้ชาวพุทธได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อประโยชน์
 เพื่อความ สุขของแต่ละคน 
แต่เนื่องจากห้วงเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นห้วงเวลาที่เนื่องกับการ
เลือกตั้งทั่วไป ผู้คนวงการต่าง ๆ จึงพากันไปสนใจในเรื่อง
ผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้คลายความสนใจ
ในเรื่องเทศกาลมาฆบูชาไป				
มาฆบูช่า..กถา

สลักธรรม 1

แต่ถึงกระนั้นก็มีเหตุการณ์อันน่าสมเพชที่แทรกซ้อนขึ้นมา 
นั่นคือเหตุการณ์ที่รองเจ้าคณะจังหวัดรูปหนึ่งกระทำล่วงเกินทางเพศ
กับ สตรีในกุฏิ ดังที่ไอทีวีได้นำมาเสนอให้ได้รู้ทั่วกันแล้วนั้น 
เรื่องนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนการศึกษาของพระสงฆ์ไทย
ห่างไกลออกไป จากที่พระบรมศาสดาทรงตรัสสอน 
เป็นเหตุให้พระสงฆ์ฝักใฝ่ในลาภยศและมีความประพฤติการปฏิบัติ
แทบจะไม่ต่างอะไรไปจากฆราวาสแล้ว จึงเป็นเหตุแห่งความ
เสื่อมศรัทธาและสมควรที่วงการปกครองคณะสงฆ์แม้กระทั่งรัฐบาล
จะได้ทบทวนการบริหาร การจัดการและ การศึกษาของคณะสงฆ์ไทย
เสียใหม่ 
แทนที่จะเป็นเรื่องชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ จนเกิดความเสียหายขึ้น
อย่างต่อเนื่องดังที่รู้ ๆ กันอยู่ เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่
บรรดาชาวพุทธจะต้องให้ความสำคัญแก่ความสำคัญของวันมาฆบูชา
ยิ่งกว่าปีก่อน ๆ เพราะความ สำคัญของวันมาฆบูชานั้นอยู่ตรงที่
การประกาศหลักเกณฑ์และแนวทางในการอบรมศึกษาพระธรรมวินัย
ในพระพุทธศาสนาโดยตรง 

แต่ที่ผ่านมานั้นกลับไม่เน้นความสำคัญในเรื่องนี้ 
ไปมุ่งเน้นกันแต่ที่เรื่องจาตุรงคสันนิบาตคือเหตุการณ์สำคัญ 4 อย่าง 
ได้แก่ เป็นวัน พระจันทร์เพ็ญอย่างหนึ่ง
 เป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์อย่างหนึ่ง
 เป็นวันที่พระอรหันต์ 1,250 รูปมาประชุมโดยมิได้นัดหมายกันอย่าง หนึ่ง 
และเป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์อย่างหนึ่ง 

ซึ่งทำให้เนื้อหาที่สำคัญของวันมาฆบูชาเจือจางไปอย่างน่าเสียดาย 

ความจริงวันเพ็ญเดือน 3 ก็ดี การที่พระจันทร์โคจรเข้าในกลุ่มดาวมาฆะ
ในขณะเพ็ญเต็มดวงก็ดี ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรแม้แต่ น้อย 
เพราะเป็นเหตุการณ์ธรรมดาธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี เพราะกลุ่มดาวมาฆะ
ก็มีอยู่ พระจันทร์ก็มีอยู่ วันที่พระจันทร์เพ็ญก็มีอยู่ และในวัน เพ็ญเดือน 3 
นั้นก็มีห้วงเวลาที่พระจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวมาฆะ ไม่เห็นเป็นเรื่องลี้ลับพิสดารแปลกประหลาดที่ตรงไหน แต่ใครก็ไม่รู้ริอ่านยก ความสำคัญขึ้น
เป็นองค์แห่งจาตุรงคสันนิบาตไปได้
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:07:05 น.]				
มาฆบูช่า..กถา

 สลักธรรม 2

ส่วนในข้อที่ว่าพระอรหันต์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
 ก็เป็นความเข้าใจผิดและแสดงเหตุผลอย่างผิด ๆ คือไปแสดง เหตุผล
ว่าพระอรหันต์เหล่านั้นเคยเป็นพราหมณ์มาแต่ก่อน
 วันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันศิวาราตรี พวกพราหมณ์มีประเพณีมาชุมนุมกัน
 ดังนั้นแม้ เป็นพระอรหันต์แล้วก็ติดความเคยชินเก่าแล้วมาประชุมกัน 

ความจริงที่ตรวจสอบได้จากพระสูตรและพระวินัยปรากฏชัดว่า
ในห้วงเวลา 9 เดือนแรกนับแต่ตรัสรู้นั้น มีพระอรหันต์บังเกิดขึ้นและ 
ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยพระองค์เองเป็นจำนวน 1,340 รูป 
และหากรวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย จำนวนพระอรหันต์ทั้งหมดก็จะ 
เป็น 1,341 รูป 

ในบรรดาพระอรหันต์ซึ่งได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้ง 1,340 รูปนั้น
 พระบรมศาสดาทรงส่งไปประกาศพระศาสนา 2 ชุด 
ชุดแรก 60 รูป 
และชุดที่สองอีก 30 รูป รวมเป็น 90 รูป 

คงเหลืออยู่ 1,250 รูป โดยในจำนวน 1,250 รูปที่เหลืออยู่นี้มีพระสารีบุตร
เป็นพระ อรหันต์รูปหลังสุด
 และอยู่รวมกันที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ 
โดยพระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ ในขณะที่พระบรมศาสดาได้ 
แสดงพระธรรมเทศนาแก่พระทีฆนขะที่ถ้ำสุกรขตา บริเวณเชิงเขาคิชฌกูฏ 

ครั้นแสดงพระธรรมเทศนาเสร็จ พระบรมศาสดาได้เสด็จกลับวัดเวฬุวัน
พร้อมกับพระสารีบุตร มาถึงวัดเวฬุวันเป็นเวลาค่ำแล้ว พระ อรหันต์ 1,249 รูป รวมตัวกันอยู่ที่วัดเวฬุวันแล้วท่ามกลางพระจันทร์เพ็ญเด่นเวหา 
เมื่อรวมกับพระสารีบุตรซึ่งเป็นพระอรหันต์รูปล่าสุดก็จะ มีจำนวน 1,250 รูป
 การมาชุมนุมกันเช่นนี้เพราะสำนักอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างมา 
หรือมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายดังที่เคยเข้าใจ กันแต่ก่อน 
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:08:06 น.]				
มาฆบูช่า..กถา

 สลักธรรม 3

ก็ขอวิงวอนให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการ
ได้ตรวจสอบค้นคว้าและพิจารณาเรื่องนี้สักครั้งหนึ่ง 
เพราะนี่ก็คือคำแย้งคำติงและมีหลักฐานรับรองอยู่ในพระสูตร 
ไม่ใช่เพ้อไม่ใช่ฝันหรือคิดเอาเอง ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้เรื่องที่เข้าใจผิด
และ สอนกันผิด ๆ ดำรงอยู่ต่อไป 

ทั้งเหตุผลที่อ้างว่าพระอรหันต์เหล่านั้นเคยเป็นพราหมณ์มาแต่ก่อนก็ดี
 วันเพ็ญเดือน 3 นั้นเป็นวันศิวาราตรีก็ดี ก็เป็นเรื่องที่ผิดอีก 

ผิดแรกก็คือพระอรหันต์ 1,250 รูปนั้นไม่ใช่พราหมณ์
 เพราะประกอบด้วยพระอรหันต์ที่เคยเป็นชฎิล 1,000 รูป 
และพระอรหันต์ที่ เป็นพวกปริพาชกซึ่งเป็นนักบวชกลุ่มของพระสารีบุตร
อีก 250 รูป ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่พราหมณ์ 
ไม่มีประเพณีและไม่ได้ถือประเพณีการจัด ชุมนุมในวันศิวาราตรี 

และผิดที่สองคือวันเพ็ญเดือน 3 นั้นก็ไม่ใช่วันศิวาราตรี
 เพราะวันศิวาราตรีตามคตินิยมของฮินดูนั้นคือวันที่พระศิวะ
เสด็จออกตรวจ โลก มีคติถือเป็นสองห้วงเวลา
 คือวันแรม 8 ค่ำ เดือน 3 และแรม 15 ค่ำ เดือน 11 
ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละราวคนละโลกโดยแท้ 

ดังแสดงมาทั้งสามประการนี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า
สิ่งที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาตที่ยกขึ้นเป็นความสำคัญของวันมาฆบูชานั้น
เป็นเรื่อง ปรากฏการณ์ธรรมดาธรรมชาติเสีย 2 เรื่อง 
และเป็นเรื่องสำคัญผิดหรือเข้าใจผิดเสียอีก 1 เรื่อง
 และมีการนำทั้ง 3 เรื่องนี้มาสุมรุมกันเป็นเรื่อง 
สำคัญของวันมาฆบูชา ซึ่งไม่เป็นแก่นสารไม่เป็นสาระทั้งสิ้น 

ควรจะต้องได้รับการตรวจสอบแก้ไขให้เกิดความเข้าใจ 
ให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนและชาวโลก
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:08:59 น.]				
มาฆบูช่า..กถา

 สลักธรรม 4

เนื้อหาจริง ๆ ของวันมาฆบูชาก็คือการแสดงโอวาทปาติโมกข์
 ซึ่งเคยกล่าวกันมาแต่ก่อนว่าเป็นการประกาศหลักสำคัญของพุทธศาสนา 

คือ การละความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม
 และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว แล้วก็ไม่อธิบายเรื่องนี้กันให้ชัดเจน 

ทำให้คนจำนวนมากพากันเข้าใจผิดคิดว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา
มีเท่านี้ดอกหรือ เพราะทุกศาสนาก็ล้วนสอนให้คนละชั่ว 
ล้วน สอนให้คนทำดี จะมีที่ต่างกันก็คือการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว 
ซึ่งไม่มีการอธิบายกันว่าหมายความว่าประการใด 
ทำให้หัวใจของพระพุทธศาสนา หมดความสำคัญลงไป 
กลายเป็นว่าไม่แตกต่างอะไรกับศาสนาอื่น ๆ 

ดังนั้นวันมาฆบูชาเนื้อหาที่สำคัญแท้จริงคือโอวาทปาติโมกข์ 
ไม่ใช่เรื่องพระจันทร์เพ็ญในเดือน 3 
ไม่ใช่เรื่องพระจันทร์เพ็ญโคจร ผ่านกลุ่มดาวมาฆะ 
และไม่ใช่เรื่องที่พระอรหันต์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
 ดังที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน 

การแสดงโอวาทปาติโมกข์เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น
ที่เป็นเนื้อหาและความสำคัญของวันมาฆบูชา มีเนื้อหาสาระที่ยิ่งใหญ่
และพอเพียงที่ จะเป็นหนึ่งในวันสำคัญของพุทธศาสนา 
โดยไม่จำเป็นต้องสรรหาอุปกรณ์อื่นใดมาประกอบให้เกิด
ความสำคัญผิดหรือเข้าใจผิด หรือทำให้เกิด ความโง่ความหลงต่อไป 

ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรทำความเข้าใจกันใหม่ในเรื่อง
โอวาทปาติโมกข์ซึ่งเป็นเนื้อตัวและสิ่งสำคัญสูงสุดของวันมาฆบูชา 

จะขอทำหน้าที่พุทธศาสนิกชนแสดงเรื่องความสำคัญของวันมาฆบูชา
หรือโอวาทปาติโมกข์ตามหลักฐานที่ปรากฏมีมาในพระสูตร และพระวินัย 
เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนชาวพุทธด้วยกันและเพื่อเป็นประกาย
แห่งการค้นคว้าหาข้อยุติในเรื่องนี้ร่วมกัน
 ทั้งขอเชิญผู้เป็นบัณฑิตได้ ช่วยกันค้น ช่วยกันตรวจสอบ
 ช่วยกันพิจารณา ทำเรื่องนี้ให้เป็นที่ยุติต่อไป				
มาฆบูช่า..กถา

สลักธรรม 5

ความสำคัญของโอวาทปาติโมกข์มีประการดังต่อไปนี้ 

ประการแรก การแสดงโอวาทปาติโมกข์เป็นประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่ง
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความในพระสูตรปรากฏคำตรัส ของ
พระบรมศาสดาโดยตรงว่าทรงตรัสรับรองว่าอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ล้วนเคยแสดงโอวาทปาติโมกข์ และเป็นประเพณีของพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย 

ทรงตรัสว่าในสมัยของพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า พระสิขีพระพุทธเจ้า 
พระเวสสภูพุทธเจ้า ในสมัยพระกกุสันธะพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า
 พระกัสสปพุทธเจ้า ล้วนมีการแสดงโอวาทปาติโมกข์มาก่อนทั้งสิ้น 

ประการที่สอง เป็นการชุมนุมพระอรหันต์ครั้งใหญ่ที่สุดในโพธิกาล 
เช่นเดียวกับการชุมนุมพระอรหันต์ครั้งใหญ่ที่สุดในโพธิกาล 
ของอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งบางพระองค์ก็มีการชุมนุมมากกว่า 1 ครั้ง 
          เช่น ในสมัยของพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า พระสิกขีพระพุทธเจ้า 
พระเวสสูภพุทธเจ้า มีการชุมนุมพระอรหันต์ครั้งใหญ่สมัยละ 3 ครั้ง 
         ในสมัยพระกกุสันธะพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า 
พระกัสสปะพุทธเจ้า สมัยละ 1 ครั้ง  โดยที่พระอรหันต์เหล่านั้น
ล้วนได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น 

ประการที่สาม เนื้อความแห่งโอวาทปาติโมกข์ที่ทรงแสดง
เป็นเนื้อความเดียวกันกับที่อดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลายเคยแสดงมาแล้ว
 ดัง คำตรัสในตอนท้ายของโอวาทปาติโมกข์ที่ว่า 
นี่คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 

ความสำคัญที่สุดของโอวาทปาติโมกข์อยู่ที่เนื้อตัวเนื้อหา
ของโอวาทปาติโมกข์นั้น ซึ่งเป็นเนื้อความเหมือนกันกับที่
พระพุทธเจ้าทั้ง หลายได้แสดงมาแต่ก่อน 
และเพราะเรื่องนี้มีความสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่
ละบาปบำเพ็ญบุญ ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว 
ดังที่เคยกล่าวกันอย่างผิวเผินกัน แต่ก่อน
 จึงขอแสดงเป็นตอนหนึ่งต่างหาก 
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:10:41 น.]				
มาฆบูช่า..กถา

สลักธรรม 6

เนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ที่ทรงแสดงมีความดังนี้ 

       ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง 
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่านิพพานเป็นบรมธรรม 
      ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต 
      เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ 

การไม่ทำบาปทั้งปวง 
การทำกุศลให้ถึงพร้อม 
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว 
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 

การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น 
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น 
ความสำรวมในปาติโมกข์ 
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร 
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด 
การประกอบความเพียรในอธิจิต 
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 

ทรงตรัสย้ำว่าโอวาทปาติโมกข์นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ถึงสามครั้งสามครา ซึ่งแสดงให้เห็นชัดอยู่ในตัวว่า
พระธรรมวินัยที่ทรงตรัสรู้และที่ทรงตรัสสอนนั้นก็เป็นอย่างเดียวกัน 
กับพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงตรัสรู้และตรัสสอน
 หรืออาจกล่าวง่ายๆ ได้ว่า พระธรรมที่แท้นั้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด
ต่างก็ตรัสรู้อย่างเดียวกันและตรัสสอนอย่างเดียวกัน 
ไม่มีเป็นอย่างอื่น ไม่มีแตกต่างกัน 
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:11:35 น.]				
มาฆบูช่า..กถา
สลักธรรม 7

ความในโอวาทปาติโมกข์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเป็นสามตอน 

     ตอนแรก คือ ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง 

นิพพานคือบรมธรรมหรือธรรมอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของเวไนยสัตว์ทั้งปวง
ที่พึงศึกษาและปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งพระนิพพาน 

การทำร้ายผู้อื่น การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตหรือสมณ 
ะ นี่ก็คือการประกาศวิธีการและเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
คือนิพพาน 

ตอนที่สอง คือ หลักการศึกษาและปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
 ซึ่งทรงวางหลักเป็นสามขั้น คือ 

การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว 

ตอนที่สาม คือ การครองตน การประพฤติปฏิบัติตน เพื่อมีความพร้อม
ในการศึกษาและปฏิบัติ 
และการบำเพ็ญตนในการศึกษาปฏิบัติ ซึ่งทรงตรัสไว้เป็น 6 ประการ
 คือ 
การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น 
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น 
การสำรวมในปาติโมกข์ หรือการสำรวมในศีล 
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหารการกิน 
การอยู่ในที่อันสงบสงัด เหมาะสมแก่การศึกษาปฏิบัติ 
และการประกอบความเพียรในการอบรมจิตเพื่อถึงซึ่งพระนิพพาน 
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:12:27 น.]				
มาฆบูช่า..กถา
สลักธรรม 8

จากโอวาทปาติโมกข์ทั้งสามตอนนี้กล่าวโดยง่ายก็คือ
เป็นการประกาศเป้าหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา
คือการบรรลุมรรคผลนิพพานตอนหนึ่ง 

หลักการศึกษาปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานตอนหนึ่ง 

และการครองตัว ครองตน เพื่อให้การศึกษาปฏิบัติเป็นไปโดยราบรื่น
และมีชีวิตอย่างผาสุกร่วมกับสังคมอีกตอนหนึ่ง 

ในเนื้อหาทั้งสามตอนดังกล่าวนี้
ตอนกลางคือหัวใจของโอวาทปาติโมกข์ 
เพราะเป็นหลักการศึกษาปฏิบัติ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติ
เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือมรรคผลนิพพาน 
ซึ่งก็คือแนวทางในการเรียนการสอน
พระพุทธศาสนาของชาวพุทธนั่นเอง 

ก็ต้องขอกล่าวว่า ระบบการศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวพุทธ
ไม่ว่าของพระสงฆ์หรือคฤหัสถ์ในปัจจุบันนี้ ห่างไกลออกไปจาก
หลักการศึกษาปฏิบัติที่ทรงแสดงไว้ในโอวาทปาติโมกข์ 
จึงเป็นผลให้การประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธ แม้กระทั่งพระสงฆ์
ในปัจจุบันนี้ห่างไกลออกจากความเป็นชาวพุทธมากขึ้นทุกที 

หลักการศึกษาปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานที่ทรงแสดงไว้
ในโอวาทปาติโมกข์นี้มีสามระดับ 
ศึกษาปฏิบัติขั้นตอนใดก็ได้รับผลหรืออานิสงส์ของขั้นตอนนั้น
 ดังนั้น จึงเป็นประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ทั้งปวงทุกระดับ 
ไปจนถึงการบรรลุธรรมขั้นสูงเป็นพระอรหันต์ 
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:13:21 น.]				
มาฆบูช่า..กถา

สลักธรรม 9

ระดับแรก ทรงวางหลักการศึกษาและปฏิบัติว่า
ต้องไม่ทำบาปทั้งปวง คือตัวเองต้องไม่ทำบาปทั้งปวง 
และต้องสอนให้คนอื่นไม่ทำบาปทั้งปวง
 อีกนัยหนึ่งก็คือการปฏิบัติในเรื่องศีล หรือการสอนในเรื่องศีล 
ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ไปจนถึงศีลสำหรับภิกษุและภิกษุณี 
หรืออาจกล่าวอีกนัยนะหนึ่งได้ว่า 
ตั้งแต่จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล 
ซึ่งเป็นข้อห้ามมิให้ปฏิบัติเพราะหากปฏิบัติแล้วก็จะเป็นโทษ
ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น 

การปฏิบัติศีลระดับใดก็มีผลเป็นการละเว้นบาปในระดับนั้น 
เพราะการละเมิดศีลอย่างใดก็เป็นบาปอย่างนั้น 
เช่น การละเมิดศีลข้อปาณาติบาตหรือการเบียดเบียนชีวิตอื่น
ก็ย่อมเป็นบาปและต้องรับผลที่จะต้องถูกเบียดเบียนตอบแทน เป็นต้น 

บทบัญญัติเรื่องศีลแม้ว่าเป็นข้อห้ามทางกายแต่ผลที่แท้จริง
คือการศึกษาอบรมจิตให้เห็นโทษของการละเมิดศีล 
เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติศีล เมื่อจิตเห็นธรรมเช่นนี้แล้ว
ก็จะส่งผลต่อกายไม่ให้ละเมิดศีล 
เหตุนี้ท่านจึงว่าศีลทั้งหลายเป็นปลายศีล 
การ อบรมจิตไม่ให้คิดละเมิดศีลเป็นต้นศีล 

คำสอนไม่ให้ทำบาปทั้งปวงเป็นคำสอนที่มีมาในทุกศาสนา 
จะต่างกันก็ตรงที่ความครบถ้วนสมบูรณ์ และความประณีตในสิ่งที่เรียกว่า
บาป ที่อาจแตกต่างกัน 
เช่น บางศาสนาสอนว่าการฆ่าชีวิตอื่นไม่ผิด ถ้าหากเป็นไปเพื่อพระเจ้า 
บางศาสนาก็สอนว่าการฆ่าชีวิตอื่นผิด แต่สามารถไถ่บาปให้พ้นจากบาปได้
หากยอมรับนับถือพระเจ้า เป็นต้น 

แต่สำหรับพระพุทธศาสนานั้นคำสอนเรื่องศีลมีความละเอียด 
มีหลายระดับ ตามควรแก่การอัชฌาสัยของเวไนยสัตว์ 
การปฏิบัติศีลและการสอนให้ผู้คนอยู่ในศีลจึงเป็นขั้นต้นของการศึกษา
และการปฏิบัติ ตลอดจนเป็นขั้นต้นของการสั่งสอนเวไนยสัตว์ 
และเป็นบาทฐานของการยกระดับไปสู่การศึกษาปฏิบัติในระดับต่อไป
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:14:14 น.]				
มาฆบูช่า..กถา
สลักธรรม 10

ระดับที่สอง ทรงวางหลักการศึกษาปฏิบัติและการอบรมสั่งสอน
ให้ผู้อื่นปฏิบัติในระดับที่สองว่า ต้องทำกุศลให้ถึงพร้อม 
กุศลนี้ไม่ใช่บุญ แต่การทำบุญก็เป็นกุศลอย่างหนึ่ง 
นั่นคือกุศลมีความหมายกว้างขวางต่อบุญ มีระดับที่สูงกว่าบุญ 
โดยรวมก็คือการศึกษาปฏิบัติเพื่อให้กระทำความดี
คือการปฏิบัติธรรมทั้งปวงเพื่อให้กายทำดี เพื่อให้วาจาดี เพื่อให้จิตใจดี 
นั่นคือต้องถึงพร้อมด้วยกาย วาจา และใจ ในการทำกุศล
หรือในการทำความดี 

การจะทำกุศลให้ถึงพร้อมได้จึงต้องอาศัยบาทฐานจากระดับแรก
คือการไม่ทำบาปทั้งปวง  เพราะถ้าหากยังทำบาปอยู่ตราบใด 
ตราบนั้นก็ไม่มีทางที่จะทำกุศลให้ถึงพร้อมได้ 
เช่น หากยังลักทรัพย์ผู้อื่นอยู่ หรือเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ก็ย่อมมีโทษ
 มีบาป และมีวิบาก กุศลจึงไม่มีทางจะถึงพร้อมขึ้นมาได้ 

ในระดับแรกการศึกษาปฏิบัติหรือการสั่งสอนมุ่งเน้นไปที่
การปฏิบัติทางกายและวาจา แต่ก็ส่งผลต่อจิตในการที่เห็นโทษของบาป 
ไม่คิดทำบาป และเว้นจากบาปสิ้นเชิง 
มาถึงระดับที่สองนี้มุ่งเน้นไปทั้งกาย วาจา และใจ
 ส่งผลต่อจิตใจที่เห็นคุณของกุศล ใฝ่ในกุศล และทำกุศลให้ถึงพร้อม 

ในระดับที่สามซึ่งเป็นขั้นสูงกว่าสองระดับแรก คือมุ่งที่จิต 
นั่นคือการศึกษาอบรมบ่มเพาะจิตใจตน หรือการอบรมสั่งสอนผู้อื่น
ให้อบรมบ่มเพาะจิตใจเพื่อหลุดพ้นจากอิทธิพลการครอบงำจิตทุกชนิด 
ทำจิตให้ถึงซึ่งความอิสรเสรีสูงสุด มีพลานุภาพสูงสุด และมีปัญญาสูงสุด 
ข้ามพ้นแดนแห่งโลกียะมิติ สู่แดนวิมุตตะมิติหรือมรรคผลนิพพาน 

ซึ่งในระดับนี้ในพุทธศาสนามีความเด่น มีความละเอียด 
มีความครบถ้วนสมบูรณ์และมีความเป็นระบบมากที่สุด 

การศึกษาปฏิบัติทางจิตในระดับใดก็ย่อมได้รับผลในระดับนั้น 
เช่นเดียวกับระดับแรกหรือระดับที่สอง 
ละบาปอย่างใดก็ได้ผลอย่างนั้น ละบาปทั้งหมดก็ได้ผลสมบูรณ์ 
ทำกุศลอย่างใดก็ได้อานิสงส์อย่างนั้น 
ทำกุศลให้ถึงพร้อมก็ได้รับอานิสงส์พร้อมบริบูรณ์ 

การฝึกฝนอบรมจิตถึงระดับใดก็ได้รับอานิสงส์ในระดับนั้น 
และถ้าศึกษาอบรมจนถึงขั้นสูงสุดก็บรรลุถึงมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด 
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:15:09 น.]				
มาฆบูช่า..กถา

สลักธรรม 11

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~การฝึกฝนอบรมจิตเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญ 
เป็นเนื้อตัวแห่งพระพุทธศาสนา 
และเป็นเรื่องที่ทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นอย่างสิ้นเชิง
 จึงเป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบ การพระศาสนาและชาวพุทธทั้งปวง
จะได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ 
และศึกษาปฏิบัติในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง 

การฝึกฝนอบรมจิตเพื่อให้จิตมีความผ่องแผ้วก็มีแบบศึกษาปฏิบัติ
ที่ทรงตรัสสอนไว้อย่างชัดเจนเ 
ป็นระบบอย่างยิ่ง จำแนกได้เป็น 4 ขั้น คือ 

ขั้นแรก คือการศึกษาปฏิบัติเพื่อให้กายสงบรำงับ อันได้แก่
 การศึกษาและปฏิบัติเพื่อทำให้กายเนื้อ หรือร่างกายนี้ 
รวมทั้งกายลมคือลมหายใจและนามกายคือจิตมีความสงบรำงับ 

ขั้นที่สอง คือการศึกษาปฏิบัติเพื่อให้เวทนาสงบรำงับคือการศึกษาปฏิบัติ
เพื่อทำให้อารมณ์ ความรู้สึกที่เป็นผลจากการปรุงแต่งต่างๆ สงบรำงับลง 
ไม่ถูกอิทธิพลภายนอกและภายในบังคับหรือส่งผล 
ให้เป็นไปตามอิทธิพลนั้น ๆ 

ขั้นที่สาม คือการศึกษาปฏิบัติเพื่อทำให้จิตมีความตั้งมั่น
 มีความมั่นคงแน่วแน่ มีพลานุภาพ 
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการศึกษาปฏิบัติเพื่อทำให้จิตตั้งมั่น มีความบริสุทธิ์
 และมีขีดความสามารถสูงสุดในการทำหน้าที่ของจิต 

ขั้นที่สี่ คือการอบรมจิตให้มีปัญญารู้แจ้งแทงทะลุถึงความจริงสูงสุด 
หรือการ อบรมจิตให้มีกำลังอานุภาพสูงสุด
 สามารถฝ่าทะลุไปถึงความจริงสูงสุดคือนิพพาน 

เหล่านี้คือหัวใจเนื้อหาและเนื้อตัวของโอวาทปาติโมกข์ 
อันควรที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้น้อมรำลึก จะได้ศึกษาปฏิบัติ
เพื่อรับประโยชน์และความสุขจากการที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
ในเทศกาลมาฆบูชาปีนี้ 

ที่มา หนังสือพิมพ์ 

ก็เป็นบทความที่ดี ที่ช่วยทำให้ข้าพเจ้าหายข้องใจ 
เรื่อง ประเพณีพราหมณ์ อันยกมาอย่างเป็นข้อไร้เหตุและผล อย่างที่สุด 
ขอบคุณ สิริอัญญา  เจ้าของกระทู้
 แต่ยังนึกไม่ออกว่าไป ค้อปี้มาจากเว็บไหน ขอค้นอีกนิด
 เพราะอ่านเรื่อง มาฆะบุชาอยู่หลายเว็บ ขอบคุณท่านผุ้อ่านค่ะ 
 
โดย ทิกิ_tiki [23 ก.พ. 2548 , 19:17:48 น.]				
comments powered by Disqus
  • tiki

    24 กุมภาพันธ์ 2548 10:09 น. - comment id 83054

    ที่มา หนังสือพิมพ์ 
    
    มาฆบูชากถา 
    
    โดย สิริอัญญา 
    เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี แก่ปัญญาชาวพุทธทุกค จึงนำมาที่นี่ค่ะ 
    
    
    
    มาฆบูชากถา 
    
    โดย สิริอัญญา 
    
    
    
    ก็เป็นบทความที่ดี ที่ช่วยทำให้ข้าพเจ้าหายข้องใจ 
    เรื่อง ประเพณีพราหมณ์ อันยกมาอย่างเป็นข้อไร้เหตุและผล อย่างที่สุด 
    ขอบคุณ สิริอัญญา  เจ้าของกระทู้
    แต่ยังนึกไม่ออกว่าไป ค้อปี้มาจากเว็บไหน ขอค้นอีกนิด
    เพราะอ่านเรื่อง มาฆะบุชาอยู่หลายเว็บ ขอบคุณท่านผุ้อ่านค่ะ
  • พุด

    25 กุมภาพันธ์ 2548 07:46 น. - comment id 83083

    ธรรมงามภาพงามจิตงามค่ะ
    พุดอ่านละเอียดเลยค่ะ
  • 4895 - tiki unlogged in

    25 กุมภาพันธ์ 2548 19:47 น. - comment id 83106

    พุด ขอบคุณที่แวะมาอ่านอย่างละเอียดค่ะ
    เป็นบทความที่ดีมากๆเลยค่ะ
  • pass by

    3 ตุลาคม 2549 01:47 น. - comment id 92892

    I first saw this article in manager.co.th.
  • เด็กอยากรู้ อยากเห็น

    28 ตุลาคม 2549 14:46 น. - comment id 93217

    ใครรู้ชื่อของพระอรหันต์ทั้ง 1250 รูป ช่วยบอกทีนะคับ หรือว่า ใครรู้เว็ปหรือ ชื่อ ของทุกองค์ บอกทีนะคับ
  tiki

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน