บทวิจารณ์เรื่องสั้น เสน่หาอินทนิล

กวีปกรณ์

"เราไม่เคยมีนวนิยายหรือหนังที่มีตัวละครเกย์แล้วก็มีบทบาทอยู่ในเรื่องโดยไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของเขา ยกเว้นแต่ตัวละครประเภทตลกตามพระตามนางเท่านั้น" 
          จากคำกล่าวของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (๒๕๔๑) เห็นชัดว่า นวนิยายหรือละครที่เกี่ยวกับรักร่วมเพศชายนั้นมีอยู่น้อย หรืออาจกล่าวให้เห็นภาพที่ชัดเจนนั้น คือ นวนิยาย ละคร หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่นำเสนอเกี่ยวรักร่วมเพศชายนั้นมีอยู่ แต่บุคคลทั่วไปไม่อาจเข้าถึง หรือไม่ต้องการเข้าถึง เพราะเรื่องรักร่วมเพศนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่และยากแก่การยอมรับของคนกลุ่มใหญ่  ภาพที่นำเสนอออกมาเพียงน้อยนิดจึงเป็นการสร้างภาพให้สังคมยอมรับและเข้าใจในเชิงสร้างอิทธิพลให้เหนือกว่าโดยจัดให้ตัวละครที่เป็นรักร่วมเพศมีบทบาทที่น่าตลกขบขัน ไม่สามารถเทียบเท่าบทบาทของพระนาง 
	เมื่อนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีรสนิยมรักร่วมเพศชายนั้น ได้ถูกนำเสนอโดยสร้างให้ตัวพระและตัวนางของเรื่องเป็นชายทั้งคู่ จึงเป็นที่สนใจแก่วงการนวนิยายเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาที่นำเสนอนั้นได้ให้ความสำคัญแก่กลุ่มคนรักร่วมเพศชายมากกว่าอดีตที่เป็นเพียงตัวรอง ตัวประกอบ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือตัวตลกที่สร้างสีสันให้แก่นวนิยายปกติ 
	เสน่หาอินทนิล แม้จะเป็นเพียงเรื่องสั้น แต่ก็ถือได้ว่า เรื่องสั้นนี้มีตัวละครเอกของเรื่องเป็น ชายรักร่วมเพศ ที่ผู้แต่งได้นำเสนอนั้นได้สะท้อนความจริงบางประการให้ผู้อ่านเข้าใจว่า "รักร่วมเพศ" ไม่ได้ซุกซ่อน แต่อยู่รอบตัวทุก ๆ อย่างปฎิเสธไม่ได้ไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม มากกว่านั้นยังสะท้อนมุมมองทางสังคมในด้านลบของคนรักร่วมเพศ โดยสะท้อนความคิดด้านมืดของ "คณิต" ชายรักร่วมเพศ ที่มีอารมณ์รุนแรงและซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจดังเช่น ความคับแค้นจนถึงขั้นอยากที่จะฆ่า พิมพร จากความคิดที่จะผลักเธอตกบันไดและการพยายามฆ่า บุตรชายของพีระ แต่ถึงกระนั้นผู้แต่งก็ไม่ได้พยายามสร้างมุมมองอันเป็นด้านลบให้แก่ตัวละครเอกนี้เพียงคนเดียว แต่ได้สร้างให้เห็นภาพของความเป็นคนที่เท่าเทียมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี ดังเช่น การสะท้อนให้เห็นว่าคนเราก็มีทั้งสองด้านทั้งดีและร้าย จากเหตุการณ์อันแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบของพีระต่อบุตรชายที่คนรักเก่าของเขาได้ให้กำเนิด ในท้ายเรื่อง
	แม้ว่าเรื่องเสน่หาอินทนิลจะไม่ได้ดำเนินเรื่องอย่างน่าตื่นเต้นจนน่าติดตามมากนัก แต่การพรรณนาบรรยากาศ และความคิดในจิตใจของ คณิต กลับทำให้ผู้อ่านอยากรู้และชวนอ่านมากขึ้น อีกทั้งการดำเนินเรื่องแบบตัดสลับระหว่างความคิด เหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันสลับกันไปมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงฝีมือและเร้าจินตาการให้แก่ผู้่อ่านได้ดีทีเดียว เพราะการทิ้งประเด็นสำคัญอันก่อให้เกิดคำถามแก่ผู้อ่าน ดังเช่น เสียงของเด็กที่แทรกในห้วงความคิด หรือเหตุการณ์ที่คณิตกำลังลงมือพรากวิญญาณไปจากชีวิตของเด็กน้อยผู้ไร้เดียงสา เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านจินตนาการและตีค่าความเป็นมนุษย์ที่มีต่อ คณิต ตั้งแต่ต้น กลับเป็นสิ่งที่ผิดคาดและกลับเห็นใจในการกระทำของคณิตที่เป็นไปด้วยความรักเสียมากกว่า เนื่องจากการคลี่คลายเรื่องในตอนจบคือ การแสดงให้เห็นความเลวและความเห็นแก่ตัวของพีระ เสียมากกว่า
	การใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับการแสดงความรู้สึกและความเป็นตัวตนของตัวละครเอกอย่าง คณิต โดยใช้ ดอกอินทนิล นั้น ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องไม่แพ้กัน หากคำว่า ชาวดอกไม้ คือคำเรียกเพศที่สามอย่างคณิตแล้ว คณิต คงเป็นดอกไม้หนึ่งเดียวนั่นคือ ดอกอินทนิลที่กำลังคลี่กลีบสีม่วงเศร้าซึ่งจะบานออกในช่วงหนึ่งของปีเท่านั้น ความสัมพันธ์ของเรื่องที่เกี่ยวกับช่วงเวลาที่คณิตมากรุงเทพและระยะที่ดอกอินทนิลบานนั้น คล้ายกับการสอดคล้องกันเพื่อตอบคำถามว่าเสน่หาอินทนิลนั้น คืออะไร เพราะดอกอินทนิลที่คณิตผูกพัน ดังบทบรรยายฉากและความรู้สึกของคณิตที่ว่า
	
           "ภายใต้ความเศร้าเหล่านั้นมีความงดงามซ่อนอยู่ เป็นความสุข เป็นความหวัง บางครั้งคณิตเก็บช่ออินทนิลไปปักไว้ที่ห้อง เขารู้สึกมีความสุขทุกเช้าเมื่อลืมตาขึ้นมาพบว่ามันยังคลี่กลีบสวยงามอยู่บนหัวเตียง"
 นอกจากจะทดแทนความเป็นตัวตนและความคิดของ คณิต ยังอาจแสดงถึงความรักที่ซุกซ่อนอันเป็นความลับแห่งความสัมพันธ์ระหว่าง พีระและคณิต นั่นเอง โดยสีม่วงเศร้าและการคลี่กลีบดอก และการที่เขานำมาปักไว้ที่ห้องคือ การพยายามที่จะเผยความรู้สึกให้พีระได้รู้ และการที่กลีบดอกเฉา เหี่ยวและแห้งไป ก็คือ ความผิดหวังจากความรัก แต่เมื่อเขาได้ฉุกคิดจากคำตักเตือนของพิมพร ก็กลับทำให้เขาได้ยุติเรื่องนี้ลง นอกจากนั้นจากการบรรยายความรู้สึกที่มีต่อดอกอินทนิลก็สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของเขาที่บอกโดยนัยว่า "ปฏิเสธ" ดังที่ว่า "...พีระไม่ชอบดอกอินทนิลนัก เขามักพูกเสมอว่าช่ออินทนิลดูเศร้าเกินไป..." 
	เสน่หาอินทนิล จึงเป็นเรื่องสั้นที่มีความราบเรียบอันซุกซ่อนประเด็นที่ผู้แต่งกำลังสร้างให้สังคมยอมรับและเข้าใจในความรู้สึกของ เพศที่สาม มากขึ้น และกลวิธีที่ผู้แต่งได้สร้างการหักมุม นั่นก็คือความพยายามหักล้างการเข้าใจผิดที่สังคมรักต่างเพศที่เป็นใหญ่ในสังคมเข้าใจผิดมาตลอดว่า กลุ่มคนรักร่วมเพศ มักจะมีอารมณ์รุนแรง ขาดสติยั้งคิด หรือเป็นกลุ่มคนที่มีความประพฤติเลวทราม ไร้คุณค่า ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความราบเรียบของเรื่องเสน่หาอินทนิล เป็นการต่อต้านความเข้าใจผิดบางประการของสังคมอย่างเรียบง่ายและไม่รุนแรง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้แต่งได้ดีอีกด้วย				
comments powered by Disqus
  • กวีปกรณ์

    29 กันยายน 2549 06:41 น. - comment id 92865

    ตามอ่านได้ที่นี่นะคับ สำหรับผู้ที่สนใจ
    http://www.narinsite.com/knowledges/mc_332/story01.pdf
    
    แล้วก็ขอโทษเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ก่อนหน้านี้เอาบทวิจารณ์มาลงแล้วไม่เอาเรื่องสั้นมาลงให้เห็นภาพด้วย ยังไงตามอ่านได้ที่นี่นะคับ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะคับ 
    
    เห็นประเด็นที่ต่างออกไปอย่างไรก็ฝากไว้ได้คับ ขอบคุณครับ
  • ...

    6 มกราคม 2551 20:10 น. - comment id 98846

    ขอบบบคุณณณณมากกกๆๆค่า41.gif
  • น้ำ

    20 มกราคม 2556 19:56 น. - comment id 131470

    http://www.narinsite.com/knowledges/mc_332/story01.pdf
    
    เว็บที่ให้มาเปิดอ่านเรื่องสั้นไม่ได้อะค่ะ มีเว็บอื่นมั้ยค่ะ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน