บ้านฟองใต้

ประภัสสุทธ

บ้านหนองผักบุ้งคือชื่อแรกเริ่มบ้านฟองใต้ เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้ปกคลุมด้วยป่าหนาและภูเขา มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย มีลำน้ำใหญ่ไหลเย็นผ่าธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงรู้ดีว่าแถวนี้เป็นป่าพรั่งพร้อมด้วยอาหารจากขุนเขา พวกเขายกย้ายครัวเรือนมาตั้งรกรากที่นี่ต่อมา ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๕
	จากนั้นจึงเริ่มสร้างบ้านด้วยมือใช้ไม้จากป่าทั้งหมดมีการถากถางพงรกด้วยจอบเสียมเพื่อใช้เป็นที่ปลูกพืชเอาไว้กิน เวลานั้นมีเรือนอยู่ ๔ หลังที่บุกเบิกบ้านป่าแห่งนี้ พวกเขาทำไร่ข้าวตามเชิงเขาที่รกด้วยต้นไม้ ต้องตัดไม้ลงด้วยมีดตีเอง บ้างก็เอาไม้นั้นไปต่อเติมบ้าน บ้างก็เอามากองรวมเอาหญ้าสดทับเอาดินกลบเผาเป็นถ่านใช้ หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้ให้เหี่ยวแห้งแล้งไปเฉยๆ
	ได้พื้นที่โล่งจนพอใจ ก็เอาเสียมเซาะ ๆ เป็นหลุมเป็นบ่อพอหยอดเมล็ดข้าว ทยอยทำอย่างเดียวกันนี้ไปจนสุดที่ไร่ซึ่งถากไว้  แล้วก็ปล่อยไว้ให้ฝนหยดเลี้ยงเมล็ดใต้ดิน ชาวบ้านไม่ได้ขุดสระเพราะมีสายน้ำพองเอ่อล้นไหลเต็มธาร อีกทั้งพื้นที่ไม่อำนวยให้ขุดได้ บางแห่งมีหินภูเขาทั้งเล็กใหญ่ขึ้นระเกะระกะและหน้าดินก็เอนขึ้นชันลงไม่ได้เลียบเหมือนพื้นทุ่งแถวทุ่งกุลาร้องไห้ พวกเขาอยู่ดีกินดีตามอัตภาพ ตามความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ห้าปีให้หลังมีเรือนเพิ่มขึ้นกว่าสิบเรือน ที่มาอยู่ใหม่นั้นก็มาตามญาติพี่น้องของตน บางเรือนก็ยากแค้นจากถิ่นฐานบ้านเดิม เทียวมาพึ่งพาป่าไม้และภูเขา เวลานั้นการเมืองการปกครองยังไม่มี ผู้ใหญ่บ้านจึงไม่มี โดยอยู่ใต้ปกครองจากผู้ใหญ่บ้านวังกวาง ( ปัจจุบันบ้านวังกวาง เป็นตำบลแล้ว )
	 หมู่บ้านเริ่มอุ่นหน้าฝาคั่งเรื่อยมา จนเกิดเป็นหมู่บ้านฟองใต้ ที่เรียกฟองใต้นั้น เห็นว่ามีสายน้ำพองไหลหลั่งอยู่ใต้หมู่บ้าน ส่วนฟองเป็นภาษาถิ่นใช้เรียกแม่น้ำพอง
	ปี ๒๕๒๔  จึงมีการเมืองการปกครองขึ้น พ่อผู้ใหญ่หอม ขวัญแจ่มถูกเลือกเป็นนายบ้านคนแรกของบ้านแห่งนี้ เมื่อคราวนั้น ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ) ยังเดินขวักกันอยู่เต็มป่า บางทีมาขอพักอาศัยกับชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ได้เกรงกลัวแม้พวกนั้นจะถือปืนกระบอกกันอยู่ทุกคน เพราะพวกเขามาอย่างมิตรทางการคงคิดว่าความเจริญจะนำไปจับพวก ผกค. ได้ไวขึ้นด้วยเหตุนี้กระมังบ้านฟองใต้จึงได้ใช้ไฟฟ้าเป็นบ้านแรกท่ามกลางหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงผู้ใหญ่บ้านพาลูกบ้านแบกจอบถือเสียมเตรียมกระบุงไปขุดป่าเพื่อปรับถนนให้รถขนเสาไฟฟ้าจากทางการเข้ามาได้ ที่เป็นป่าก็ปล้ำล้มลงจนเป็นทาง ตรงดินที่หล่มเลวก็นำหินลูกรังมาถมอย่างดี ทำอยู่กึ่งเดือนได้ถนนดินกว้างพอที่รถยนต์เข้าถึงยาวเก้ากิโล
	เมื่อไฟฟ้าไสวสว่างวอมแวมขึ้นทุกหลังทุกเรือน ไม่นานหมู่บ้านก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านยังปลูกข้าวไร่แซมด้วยข้าวโพดและเริ่มเลี้ยงวัวควาย ลูกเล็กเด็กแดงไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนต่อเมื่อปี ๒๗ มาจึงเกิดโรงเรียนขึ้นมีนักเรียนจาก ๒ หมู่บ้านเดินทางมาเรียนที่นี่ คือบ้านฟองใต้กับบ้านไร่ใต้ โรงเรียนนั้นตั้งอยู่ดินบ้านฟองใต้มีครูสอนประจำอยู่คนเดียวคุมนักเรียนทั้งโรงเรียนกว่า ๒๐ คน คนรุ่นหลังต่อ ๆ มาจึงได้รู้หนังสือบ้าง
	เวลานั้นน้ำที่ใช้สอยยังกินอาบกับสายน้ำพองอยู่เสมอเหมือน ใช้น้ำฝนบ้างหากบ้านใดมีโอ่งรองเก็บไว้ อีกหกปีผ่านมาชาวบ้านจึงได้งบจาก อบต.ซื้อท่อพีวีซีต่อจากน้ำผุดภูเขาลงมาเรียกว่าประปาภูเขา
	หมู่บ้านฟองใต้เริ่มเป็นที่รู้จักกับคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง เหตุเพราะในปี ๔๕ นี่เองที่ผู้นำหมู่บ้านประสานกับทางการขอเปิดเส้นทางขึ้นภูกะดึงสายใหม่ จึงเกิดแหล่งท่องเที่ยวนำพาเศรษฐกิจต่าง ๆ มาสู่ชาวบ้านฟองใต้ ด้วยรู้จักมักคุ้นกับเจ้านายใหญ่ข้างใน สื่อมวลชนทั้งหลายจึงโคมข่าวกันทั่วประเทศต่อการเปิดหนทางสายใหม่ขึ้นสู่ภูกระดึงอย่างเป็นทางการในวันแรก ระยะทางจากตีนภูกระดึงสายใหม่ขึ้นสู่ทางเดินเท้าสู่หลังแปหลังซำถึงผาล่มสักดูอาทิตย์ลับตาไกลเพียงสี่กิโลครึ่ง ใช้เวลาเดินก็สักสามชั่วโมงใกล้กว่าเส้นทางสายเก่าถึง ๑๓ กิโล
	ผู้ใหญ่มีการจัดการที่ดีด้วยเข้าหาเจ้าใหญ่นายโต เพียงแค่   ๓ ปีจึงมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลขึ้นภูปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าสองพันคน ชาวบ้านหัวไร่ปลายนาพลอยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวนี้ด้วย ทั้งลูกหาบเอย ร้านรวงเอย อีกบางกลุ่มทำของที่ระลึกขายด้วยก็ดี ไม่เฉพาะหนทางขึ้นภูกระดึงเท่านั้นละแวกหมู่บ้านฟองใต้ยังมีที่น่าชมอีกหลายแห่ง อย่างน้ำตกตาดร้องหรือแห่งห้วยสาขาต่าง ๆ ที่ไหลรัดล้อมเทือกผาเหล่ากอก่อเป็นวนนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย
	ปัจจุบันบ้านฟองใต้ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ขึ้นตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เรือนอยู่อาศัยมีทั้งหมดประมาณ ๖๓ หลัง ส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวเหนียว ไร่ข้าวโพด ไร่ผลไม้ตามเนินเขาเตี้ย ๆ และเลี้ยงวัวควายตามตีนเขาไปจนถึงเชิงเขาในเขตป่าชุมชนของหมู่บ้าน โรงเรียนมีหนึ่งแห่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน มีครูประจำชั้นทั้งหมด ๔ คน ผู้อำนวยการโรงเรียนอีกคน มีนักเรียนจากบ้านฟองใต้และบ้านไร่ใต้มาเรียนทั้งหมด ๔๔ คน
	มีวัดอยู่ ๒ แห่ง ทั้งสองแห่งเป็นวัดป่าวัดหนึ่งตั้งอยู่ห่างจากกลางบ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร มีพระจำพรรษาอยู่ประจำ ๑ รูปนอกนั้นเป็นพระธุดงค์แวะเวียนมาไม่ถาวร วัดแห่งนี้ก่อตั้งด้วยภิกษุธุดงค์รูปหนึ่ง เล็งเห็นว่าชาวบ้านไม่มีการบริจาคทานสะสมบุญบารมี ท่านจึงปักกลดลงที่นั่นและอาศัยแรงศรัทธาจากชาวบ้านร่วมสร้างกุฏิวิหารจนสำเร็จ เวลานี้พระรูปนั้นท่านได้มรณภาพไปแล้ว ส่วนอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนบ้านฟองใต้ห่างจากหมู่บ้านผ่านเรือกสวนไร่นาชาวบ้านไป ๔ กิโลเมตร ไม่มีพระอยู่อย่างถาวรนาน ๆ จึงผ่านมาพักทีหนึ่ง
	บุญประเพณีประจำปีที่ชาวบ้านร่วมกันทำคือ บุญออกพรรษา เข้าพรรษา บุญกรานกฐิน และบุญสวดมงคลประจำหมู่บ้าน บุญสวดมงคลหมู่บ้านนี้ทำกันช่วงเดือนพฤษภาคม ทุกหลังทุกเรือนจะมารวมกันอยู่เรือนเดียวโดยมากเป็นบ้านผู้ใหญ่ นิมนต์พระมาสวดทั้งเช้าเย็น ปะพรมน้ำมนต์กันถ้วนหน้าเพื่อสิริมงคลแก่คน แก่บ้าน แล้วก็กินข้าวร่วมกัน..
	ผมนั่งเขียนไปคิดไป คิดถึงคำบอกเล่าที่พ่อหอมได้ให้ไว้ นั่งก็แล้ว นอนก็แล้ว ฝนตกก็หยุดแล้วสามชั่วโมงจึงเขียนเสร็จ ๏
							                                           ๒๕ เมษายน ๒๕๕๐				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน