18 ตุลาคม 2551 23:24 น.

พระนางพิมพา...นางแก้วคู่พระบารมี

นนทสรวง

p08.jpg

              พระนางยโสธรา (พระนางพิมพาหรือพระนางยโสธราพิมพา) 
ประสูติวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า) ซึ่งพระนาง จึงนับเป็น 1 ในสหชาติทั้ง 7 ของพระพุทธเจ้าซึ่งประกอบด้วย พระนางพิมพา พระอานนท์ นายฉันนะ กาฬุทายีอำมาตย์ ม้ากัณฑกะ ต้นมหาโพธิ และขุมทรัพย์ทั้งสี่

              พระนางยโสธราเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ (ทรงเป็นพระเชษฐาแห่งพระนางสิริมหามายา พระมารดาแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ) และพระมารดามีพระนามว่า พระนางอมิตาเทวี เกิดในในตระกูลศากยะแห่งโกลิยวงศ์ เมืองเทวทหะ เมื่อแรกประสูติญาติทั้งหลายได้ทรงถวายนามว่า "ภัททากัจจานา" เพราะพระสรีระของพระนาง มีพระฉวีวรรณสีเหมือนทองคำอันบริสุทธิ์เมื่อเติบใหญ่แล้วพระนางทรงมีความงามอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง พระนางรูปนันทา ซึ่งทรงความงามอย่างยิ่งจนได้สมญาว่า ชนบทกัลยาณี ก็ยังงามไม่เทียบเทียมพอมีพระชนม์ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า) เมื่อมีพระชนม์ 29 พรรษาได้ ประสูติราชโอรส โดยพระเจ้าสุทโธทนะให้พระนามว่า พระราหุล

               ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระนางยโสธราเกิดความเศร้าโศกพระทัยยิ่งนัก ได้ทรงละเว้นการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับนานาประการ ทรงมีจิตผูกพัน และมีความรักอันลึกซึ้งต่อพระองค์ แม้วัฒนธรรมอินเดียในยุคนั้นจะถือว่า หญิงไม่มีสามีจะถือว่าไม่มีเกียรติ และหญิงนั้นสามารถมีสามีใหม่ได้ แต่พระนางพิมพาก็ไม่สนใจชายอื่นเลย พระนางยังคงเฝ้ารอพระสวามีของพระนางเพียงพระองค์เดียว จนกล่าวได้ว่า

            "คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด พระนางก็เปลี่ยนชุดทรงมานุ่งห่มผ้าย้อมฝาดด้วย คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรทมบนพื้นไม้ พระนางก็บรรทมบนพื้นไม้ได้วย คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงอดพระกระยาหาร พระนางก็ทรงอดพระกระยาหารด้วย ไม่ว่าจะได้ข่าวว่าพระสวามีปฏิบัติตนอย่างไร พระนางพิมพาก็ปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น"

                 และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติ ในวันแรกพระนางมิได้ออกไปต้อนรับ แต่ในวันที่สอง ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จออกทรงรับบาตร พระนางยโสธราชี้ให้พระราหุลได้ทอดพระเนตรพระบิดาของพระองค์แต่มิได้ออกไปทรงบาตร ทรงเก็บตัวอยู่ในตำหนัก และในวันที่สอง เมื่อพระพุทธเจ้ารับภัตตาหารในพระราชวังเสร็จ พระองค์จึงเสด็จไปโปรดพระนางพิมพาในตำหนัก เมื่อพระนางได้พบถึงกับเข้ามากอดพระบาทร่ำไห้รำพันอย่างน่าสงสาร แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาให้พระนางดำรงสติไว้ได้ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระประยูรญาติแล้ว พระนางพิมพาก็รับสั่งให้ราหุลราชโอรสตามเสด็จพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอราชสมบัติ พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรพชาราหุลเป็นสามเณรและให้เสด็จติดตามพระองค์ไปด้วย 

KK2.jpg

                    หลังจากที่พระนางอยู่ในตำหนัก 3 ปี พระเจ้าสุทโธทนะก็เสด็จสวรรคต และได้ทำพิธีให้เจ้าชายมหานามะขึ้นครองราชย์สมบัติสืบแทน พระนางยโสธราพิมพาจึงออกบวชกับมาตุคาม 1,100 คน ประมาณพรรษาที่ 5 แห่งพระผู้มีพระภาค ขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา พระนางยโสธราพิมพา ไปยังสำนักของพระเถรี ได้รับคุรุธรรม 8 บวชแล้ว เมื่อมีพระชนมายุ 40 พรรษา มีพระนามว่า "ภัททากัจจานา

pachabadee569.jpg

                   พระภัททากัจจานาเถรี (ยโสธา) บรรลุอรหัต ต่อมา รับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าและเจริญวิปัสสนายังไม่ทันถึง 15 วัน ก็บรรลุพระอรหัต พระนางเป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลายระลึกชาติได้ถึงอสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัปโดยการระลึกถึงเพียงครั้งเดียว 

                   ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระภัททากัจจานาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่ คำว่าได้อภิญญาใหญ่นั้น หมายถึงพระสาวกผู้ที่ได้อภิญญาและสามารถระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป ในขณะที่พระสาวกผู้ที่มิได้อภิญญาใหญ่นั้นสามารถระลึกชาติได้ไม่เกินแสนกัปเท่านั้น ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น จะมีผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่านเท่านั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ ผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ ๔ ท่านนั้นก็คือ คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา) สามารถระลึกชาติได้ประมาณเท่านี้.

attachment.php?attachmentid=310511&stc=1

สมัยหนึ่ง เมื่อพระเถรีบวชแล้วอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี ครั้นวันหนึ่ง ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น เมื่อพระโอรสเสด็จมาเพื่อจะเยี่ยมเยียน พระเถรีนั้นไม่สามารถจะออกมาพบได้ ภิกษุณีอื่นๆ จึงมาบอกว่า พระเถรีไม่สบาย 

ราหุลสามเณรนั้นจึงไปยังสำนักของพระมารดา แล้วทูลถามว่า พระองค์ควรจะได้ยาอะไร ? 

พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ในคราวยังครองเรือน มารดาดื่มรสมะม่วงที่เขาปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวดเป็นต้น โรคลมในท้องก็สงบระงับไป แต่บัดนี้ พวกเราเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพจักได้รสมะม่วงนั้นมาจากไหน 

ราหุลสามเณรทูลว่า เมื่อหม่อมฉันได้จักนำมา แล้วก็ออกไป 

ก็ท่านผู้มีอายุนั้นมีสมบัติมากมาย คือ มีพระธรรมเสนาบดีเป็นอุปัชฌาย์ มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นอาจารย์ มีพระอานันทเถระเป็นอาว์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ไปยังสำนักอื่น ได้ไปยังสำนักของอุปัชฌาย์ไหว้แล้ว ได้ยืนมีอาการหน้าเศร้าอยู่ 

ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะราหุลสามเณรนั้นว่า ดูก่อนราหุล เหตุไรหนอ เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่ ราหุลสามเณรกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โรคลมในท้องแห่งพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผม กำเริบขึ้น พระเถระถามว่า ได้อะไรจึงจะควร ? ราหุลสามเณรเรียนว่า พระมารดาเล่าให้ฟังว่า มีความผาสุกได้ด้วยรสมะม่วงที่ปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด 

พระเถระจึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เราจักได้มา เธออย่าคิดไปเลย 

          ในวันรุ่งขึ้นพระเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถี ให้สามเณรนั่งที่โรงฉันแล้วได้ไปยังประตูพระราชวัง พระเจ้าโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง ในขณะนั้นเอง นายอุยยานบาลนำเอามะม่วงหวานที่สุกทั้งพวงจำนวนห่อหนึ่งมาถวาย พระราชาทรงปอกเปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป ขยำด้วยพระองค์เองแล้วได้ถวายพระเถระจนเต็มบาตร

พระเถระออกจากพระราชนิเวศน์ ไปยังโรงฉัน แล้วได้ให้แก่สามเณรโดยกล่าวว่า เธอจงนำรสมะม่วงนั้นไปให้มารดาของเธอ ราหุลสามเณรนั้นได้นำไปถวายแล้ว พอพระเถรีบริโภคแล้วเท่านั้น โรคลมในท้องก็สงบ 

ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยดำรัสสั่งว่า พระเถระไม่นั่งฉันรสมะม่วงในที่นี้ เธอจงไปดูให้รู้ว่าพระ-เถระให้ใคร ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ 

พระราชาทรงพระดำริว่าถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว ราชสมบัติในสกลจักรวาฬจักเป็นของท่านเหล่านี้ทีเดียว ควรที่เราจะพึงอุปัฏฐากบำรุงท่านเหล่านี้ บัดนี้ เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้ ผู้บวชแล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่ 

จำเดิมแต่นั้น พระเจ้าโกศลรับสั่งให้ถวายรสมะม่วงแก่พระเถรีเป็นประจำ 

ครั้นเมื่อพระเถรีมีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา พระเถรีพร้อมด้วยภิกษุณี ๑,๑๐๐ องค์ เป็นบริวาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบถวายบังคมลา เพื่อเสด็จดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้น 

พระมีผู้พระภาคทรงตรัสให้พระเถรีแสดงฤทธิ์ และตัดความสงสัยของบริษัททั้งปวงในศาสนาเถิด. 

พระยโสธราเถรีจึงได้แสดงฤทธิ์ชนิดต่างๆ มากมาย อาทิเช่น แสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล แสดงศีรษะเท่าอุตรกุรุทวีป แสดงแขนสองข้างเท่าทวีปทั้งสอง แสดงสรีระเป็นต้นหว้าประจำทวีปมีกิ่งด้านใต้มีลูกเป็นพวง กิ่งต่างๆ ก็มีลูกดก แสดงดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เป็นนัยน์ตา แสดงเขาสุเมรุเป็นกระหม่อม แสดงเขาจักรวาลเป็นหน้า เอาต้นหว้าพร้อมทั้งรากทำเป็นพัดเดินเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระศาสดาผู้เป็นนายกของโลก 

แสดงเป็นช้าง เป็นม้า ภูเขา และทะเล ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เขาสุเมรุ และท้าวสักกเทวราช พระเถรีเอาดอกไม้ปิด โลกธาตุทั้งพันเอาไว้ และนิรมิตเป็นเพศพรหมแสดงสุญญตธรรมอยู่ กราบทูลว่า ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันผู้ชื่อว่า ยโสธราขอถวายบังคมพระยุคลบาท หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์มีความชำนาญในทิพโสตธาตุ มีความชำนาญในเจโตปริยญาณ ย่อมรู้ปุพเพนิวาสญาณ และทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก 

หม่อมฉันทั้งหลายเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนา หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำเสร็จแล้ว หม่อมฉันทั้งหลายได้ทุกขวิบัติมากอย่าง และสุขสมบัติก็มากอย่างเช่นนี้ถึงพร้อมแล้ว ซึ่งความเป็นผู้บริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง 

บุคคลผู้ถวายตนของตนแก่พระเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่บุญ ก็ย่อมพรั่งพร้อมไปด้วยสหาย ลุถึงนิพพานบทเป็นอสังขตะกรรมทั้งปวง ส่วนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของหม่อมฉันทั้งหลายหมดสิ้นไปแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาท. 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเธอทั้งหลายบอกลาเพื่อจะนิพพาน เราจะกล่าวอะไรให้ยิ่งกะเธอทั้งหลายเล่า แล้วพระเถรีก็ได้กราบถวายบังคมลากลับไป และได้ทรงดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้นเอง

ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น 

เกิดเป็นมารดาของเนื้อชื่อ ลักขณะ และ กาฬะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบิดา ในลักขณชาดก 

เกิดเป็นสุภัททาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ใน มหาสุทัสสนชาดก 
เกิดเป็นกาชื่อ สุปัสสา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นกาชื่อ สุปัตตะ  ใน สุปัตตชาดก 
เกิดเป็นภรรยาของเศรษฐี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น วิสัยหเศรษฐี ใน วิสัยหชาดก 
เกิดเป็นพระมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดก 
เกิดเป็นพระเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบสผู้อยู่ในพระราชอุทยาน ใน อัพภันตรชาดก 
เกิดเป็นนางสัมมิลลหาสินี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบส ใน อนนุโสจิยชาดก 
เกิดเป็นธิดาของหัวหน้าช่างเหล็ก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นหัวหน้าช่างเหล็ก ใน สูจิชาดก 
เกิดเป็นแม่ของสิงห์โตชื่อ มโนชะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพ่อ ใน มโนชชาดก 
เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสุสีมะ ใน สุสีมชาดก 
เกิดเป็นพระราชเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระราชา ใน กุมมาสปิณฑชาดก 
เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าอุทัยราช ใน คังคมาลชาดก 
เกิดเป็นพระสุททวิชยาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเภรุวราช ใน อาทิตตชาดก 
เกิดเป็นนางนกจักรพราก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นนกจักรพราก ใน จักกวากชาดก 
เกิดเป็นนางปริพพาชิกา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นปริพพาชก  ใน จุลลโพธิชาดก 
เกิดเป็นจันทากินรี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นจันทกินนร.ในจันทกินนรชาดก 
เกิดเป็นนางนาคกัญญาสุมนาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นจัมเปยยนาคราช ในจัมเปยยชาดก 
เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นอลีนสัตตุราชกุมาร ในชัยทิสชาดก 
เกิดเป็นพระนางประภาวดี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุสราช ในกุสชาดก 
เกิดเป็นสีวลีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนกนรินทรราช ใน มหาชนกชาดก 
เกิดเป็นพระนางจันทาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ในจันทกุมารชาดก 
เกิดเป็นภริยาใหญ่ของบัณฑิต พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต ในวิธุรชาดก 
เกิดเป็นพระนางมัทรีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรราช ใน เวสสันดรชาดก 
เกิดเป็นนางอมรา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ใน มโหสถชาดกบัณฑิต

          (ที่มา : จากการรวบรวมข้อมูลหลายแหล่งทางอินเตอร์เนต)

 normal_lotus%2019.jpg				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนนทสรวง
Lovings  นนทสรวง เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนนทสรวง
Lovings  นนทสรวง เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนนทสรวง
Lovings  นนทสรวง เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงนนทสรวง