10 มีนาคม 2551 08:59 น.

ชนกชาดก

ยิ้มๆ

ณ เมืองมิถิลาแห่งรัฐวิเทหะ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาชนก ทรงมีพระโอรสสององค์ คือ เจ้าอริฏฐชนก และ เจ้าโปลชนก เจ้าอริฏฐชนกทรงเป็นอุปราช ส่วนเจ้าโปลชนกทรง เป็นเสนาบดี เมื่อพระราชบิดาสวรรคต เจ้าอริฏฐชนกผู้เป็นอุปราช ก็ได้ครองบ้านเมืองต่อมา เจ้าโปลชนกทรงเป็นอุปราช ทรงเอาใจใส่ดูแลบ้านเมืองช่วยเหลือพระเชษฐาอย่างดียิ่ง มีอำมาตย์คนหนึ่งไม่พอใจพระเจ้าโปลชนก จึงหาอุบายให้ พระราชาอริฏฐชนกระแวงพระอนุชา โดยทูลพระราชาว่า เจ้าโปลชนกคิดขบถ จะปลงพระชนม์พระราชา พระราชาทรงเชื่อคำ อำมาตย์ จึงให้จับเจ้าโปลชนกไปขังไว้ เจ้าโปลชนกเสด็จหนี ไปจากที่คุมขังได้หลบไปอยู่ที่ชายแดนเมืองมิถิลา เจ้าโปลชนก ทรงคิดว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นอุปราชนั้น มิได้เคยคิดร้ายต่อพระราชา ผู้เป็นพี่เลย แต่ก็ยังถูกระแวงจนต้องหนีมา ถ้าพระราชาทรงรู้ว่า อยู่ที่ไหนก็คงให้ทหารมาจับไปอีกจนได้ บัดนี้ผู้คนมากมาย ที่ชายแดนที่เห็นใจ และพร้อมที่จะเข้าเป็นพวกด้วย ควรที่จะรวบรวมผู้คนไปโจมตีเมืองมิถิลาเสียก่อนจึงจะดีกว่า 
เมื่อคิดดังนั้นแล้ว เจ้าโปลชนกก็พาสมัครพรรคพวกยกเป็น กองทัพไปล้อมเมืองมิถิลา บรรดาทหารแห่งเมืองมิถิลาพากัน เข้ากับเจ้าโปลชนกอีกเป็นจำนวนมาก เพราะเห็นว่าเจ้าโปลชนก เป็นผู้ซื่อสัตย ์และมีความสามารถ แต่กลับถูกพระราชาระแวง และจับไปขังไว้โดยไม่ยุติธรรม ครั้นเมื่อเจ้าโปลชนกมีผู้คนไพร่พลเข้าสมทบด้วยเป็นจำนวน มากมายเช่นนี้ พระเจ้าอริฏฐชนกทรงเห็นว่า ไม่มีทางจะเอาชนะ ได้ จึงตรัสสั่งพระมเหสีซึ่งกำลังทรงครรภ์แก่ ให้ทรงหลบหนี เอาตัวรอด ส่วนพระองค์เองทรงออกทำสงคราม และสิ้นพระชนม์ ในสนามรบ เจ้าโปลชนกจึงทรงได้เป็นกษัตริย์ ครองเมืองมิถิลาสืบต่อมา ฝ่ายพระมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนก เสด็จหนีออกจาก เมืองมา ตั้งพระทัยจะเสด็จไปอยู่เมือง กาลจัมปากะ แต่กำลังทรงครรภ์แก่ เดินทางไม่ไหว ด้วยเดชานุภาพ แห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์ พระอินทร์จึงเสด็จมาช่วย ทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนมาที่ศาลาที่ พระนางพักอยู่ และถามขึ้นว่า 
"มีใครจะไปเมืองกาลจัมปากะบ้าง" พระนางดีพระทัยรีบตอบว่า "ลุงจ๋า ฉันจะไปจ๊ะ" พระอินทร์แปลงจึงรับพระนางขึ้นเกวียน พาเดินทางไป เมืองกาลจัมปากะ ด้วยอานุภาพเทวดา แม้ระยะทาง ไกลถึง 60 โยชน์ เกวียนนั้นก็เดินทางไปถึงเมืองในชั่ววันเดียว พระมเหสีเสด็จไปนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนั้น 

บังเอิญมีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่งเดินผ่าน มาเห็น พระนางเข้า ก็เกิดความเอ็นดูสงสาร จึงเข้าไปไต่ถาม พระนางก็ตอบว่าหนีมาจากเมืองมิถิลา และไม่มีญาติพี่น้องอยู่ ที่เมืองนี้เลย พราหมาณ์ทิศาปาโมกข์จึงรับพระนางไปอยู่ด้วย ที่บ้านของตน อุปการะเลี้ยงดูพระนางเหมือนเป็นน้องสาว ไม่นานนัก พระนางก็ประสูติพระโอรส ทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ซึ่งเป็นพระนามของพระอัยกา ของพระกุมาร มหาชนกกุมารทรงเติบโตขึ้นในเมืองกาลจัมปากะ มีเพื่อนเล่นเด็กๆ วัยเดียวกันเป็นจำนวนมาก วันหนึ่ง มหาชนกกุมารโกรธกับเพื่อนเล่น จึงลากเด็กคนนั้นไปด้วย กำลังมหาศาล เด็กก็ร้องไห้บอกกับคนอื่นๆ ว่า ลูกหญิงม่าย รังแกเอา มหาชนกกุมารได้ยินก็แปลกพระทัยจึงไปถาม พระมารดาว่า "ทำไมเพื่อนๆ พูด ว่า ลูกเป็นลูกแม่ม่าย พ่อของลูกไปไหน" พระมารดาตอบว่า "ก็ท่านพราหมณ์ทิศา ปาโมกข์นั่นแหล่ะเป็น พ่อของลูก" เมื่อมหาชนกกุมารไป บอกเพื่อนเล่นทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะ บอกว่า "ไม่จริง ท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ใช่พ่อของเจ้า" มหาชนกก็กลับมาทูลพระมารดา อ้อนวอนให้บอกความจริง พระมารดาขัดไม่ได้ จึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระโอรสทรงทราบ 

เมื่อพระกุมารทราบว่าพระองค์ทรงมี ความเป็นมาอย่างไร ก็ทรงตั้งพระทัยว่าจะร่ำเรียนวิชาการเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ จะได้เสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลาคืนมา ครั้นมหาชนกกุมารร่ำเรียนวิชาในสำนักพราหมณ์จนเติบใหญ่ พระชนม์ได้ 16 พรรษาจึงทูลพระมารดาว่า "หม่อมฉันจะเดินทาง ไปค้าขาย เมื่อมีทรัพย์สินมากพอแล้ว จะได้คิดอ่าน เอาบ้านเมืองคืนมา" พระมารดาทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา 3 สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร อันมี ราคามหาศาล จึงประทานแก้วนั้นให้พระมหาชนกเพื่อนำไปซื้อสินค้า พระมหาชนกทรงจัดซื้อสินค้าบรรทุกลงเรือร่วมไปกับ พ่อค้าชาวสุวรรณภูมิ ในระหว่างทาง เกิดพายุใหญ่ โหมกระหน่ำ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก บรรดาพ่อค้าและลูกเรือพากัน ตระหนกตกใจ บวงสรวง อ้อน วอนเทพยดาขอให้รอดชีวิต ฝ่ายมหาชนกกุมาร เมื่อทรงทราบว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็เสวยอาหารจน อิ่มหนำ ทรงนำผ้ามาชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลง เหล่าพ่อค้ากลาสี เรือทั้งปวงก็จมน้ำ กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำไปหมด แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวย มีผ้าชุบน้ำมัน ช่วยไล่สัตว์น้ำ และช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี จึงทรงแหวกว่าย อยู่ในทะเลได้นานถึง 7 วัน ฝ่ายนางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เห็นพระมหาชนก ว่ายน้ำอยู่เช่นนั้น จึงลองพระทัย พระมหาชนก "ใครหนอ ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไมกัน" พระมหาชนกทรงตอบว่า "ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึง ฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง" นางมณีเมขลากล่าวว่า "มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไรก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะ ตายเสียก่อนเป็นแน่" พระมหาชนกตรัสตอบว่า "คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะกำลังทำ ความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว " นางมณีเมขลาถามต่อว่า "การทำความพยายามโดยมองไม่เห็น ทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน" พระมหาชนกตรัสตอบว่า "แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เรา กำลังกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายามแต่กลับหมดมานะเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับ ผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวัน บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ บุคคลควรตั้งความเพียรพยายาม แม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ ในทะเลนี้ เมื่อคนอื่นได้ตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามสุดกำลัง เ พื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้" นางมณีเมขลาได้ยินดังนั้น ก็เอ่ยสรรเสริญความเพียร ของมหาชนกกุมาร และช่วยอุ้มพามหาชนกกุมาร ไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา วางพระองค์ไว้ที่ศาลาในสวนแห่งหนึ่ง 

ในเมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกไม่มีพระโอรส ทรงมีแต่ พระธิดาผู้ฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง พระนามว่า เจ้าหญิงสิวลี ครั้นเมื่อพระองค์ประชวรหนักใกล้จะสวรรคต บรรดาเสนา ทั้งปวงจึงทูลถามขึ้นว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วราชสมบัติ ควรจะตกเป็นของผู้ใด ในเมื่อไม่ทรงมีพระโอรส พระเจ้าโปลชนก ตรัสสั่งเสนาว่า "ท่านทั้งหลายจงมอบ ราชสมบัติให้แก่ผู้มีความสามารถดังต่อไปนี้ ประการแรก เป็นผู้ที่ทำให้พระราชธิดาของเราพอพระทัยได้ ประการที่สอง สามารถรู้ว่าด้านไหนเป็นด้านหัวนอนของ บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ประการที่สาม สามารถยกธนูใหญ่ ซึ่งต้องใช้แรงคนธรรมดา ถึงพันคนจึงจะยกขึ้นได้ ประการที่สี่ สามารถชี้บอกขุมทรัพย์มหาศาลทั้ง 13 แห่งได้" แล้วจึงตรัสบอกปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง แก่เหล่าอำมาตย์ เช่น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่ภายในและภายนอก ขุมทรัพย์ที่ปลายไม้ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง เป็นต้น เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ บรรดาเสนาบดี ทหาร พลเรือน และประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างพยายามที่จะ เป็นผู้สืบราชสมบัติ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอพระทัยได้ เพราะล้วนแต่พยายามเอาพระทัยเจ้าหญิงมากเกินไป จนเสียลักษณะของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ไม่มีผู้ใดสามารถยก มหาธนูใหญ่ได้ ไม่มีผู้ใดรู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม และไม่มีผู้ใดไขปริศนาขุมทรัพย์ได้ 

ในที่สุดบรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงควรตั้งพิธีเสี่ยงราชรถ เพื่อหาตัวบุคคลผู้มีบุญญาธิการสมควรครองเมือง บุษยราชรถเสี่ยงทายนั้นก็แล่นออกจากพระราชวัง ตรงไปที่สวน แล้วหยุดอยู่หน้าศาลาที่ พระมหาชนกทรงนอนอยู่ ปุโรหิตที่ตามราชรถจึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระมหาชนกได้ยินเสียงประโคม จึงลืมพระเนตรขึ้น เห็นราชรถ ก็ทรงดำริว่า คงเป็นราชรถเสี่ยงทาย พระราชาผู้มีบุญเป็นแน่ แต่ก็มิได้แสดงอาการอย่างใดกลับบรรทมต่อไป ปุโรหิตเห็นดังนั้น ก็คิดว่า บุรุษผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ตื่นเต้นตกใจกับสิ่งใดโดยง่าย จึงเข้าไปตรวจดูพระบาทพระมหาชนก เห็นลักษณะต้องตาม คำโบราณว่าเป็นผู้มีบุญ จึงให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้ง แล้วเข้าไปทูลอัญเชิญ พระมหาชนกให้ทรงเป็นพระราชาเมืองมิถิลา พระมหาชนกตรัสถามว่า พระราชาไปไหนเสีย ปุโรหิตก็กราบทูลว่า พระราชาสวรรคต ไม่มีพระโอรสมี แต่พระธิดาคือเจ้าหญิงสิวลี แต่องค์เดียว พระมหาชนกจึงทรงรับเป็นกษัตริย์ครองมิถิลา ฝ่ายเจ้าหญิงสิวลีได้ทรงทราบว่า พระมหาชนกได้ราชสมบัติ ก็ประสงค์จะทดลองว่า พระมหาชนก สมควรเป็นกษัตริย์หรือไม่ จึงให้ราชบุรุษไปทูลเชิญเสด็จมาที่ปราสาทของพระองค์ พระมหาชนกก็เฉยเสีย มิได้ไปตามคำทูล เจ้าหญิงให้คนไปทูล ถึง 3 ครั้ง พระมหาชนกก็ไม่สนพระทัย จนถึงเวลาหนึ่งก็ เสด็จไปที่ปราสาทของเจ้าหญิงเอง โดยไม่ทรงบอกล่วงหน้า เจ้าหญิงตกพระทัยรีบเสด็จมาต้อนรับเชิญ ไปประทับบนบัลลังก์ 

พระมหาชนกจึงตรัสถามอำมาตย์ว่าพระราชาที่สิ้นพระชนม์ ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์ก็ทูลตอบ พระมหาชนกจึงตรัสสั่งว่า ข้อที่ 1 "ที่ว่าทำให้เจ้าหญิงพอพระทัย เจ้าหญิงได้ แสดงแล้วว่าพอพระทัยเราจึงได้เสด็จมาต้อนรับเรา" ข้อที่ 2 เรื่องปริศนาทิศหัวนอนบัลลังก์นั้น พระมหาชนกทรง คิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอดเข็มทองคำที่กลัดผ้าโพกพระเศียรออก ส่งให้เจ้าหญิงให้วางเข็มทองคำไว้ เจ้าหญิงทรงรับเข็มไปวางไว้ บนบัลลังก์สี่เหลี่ยม พระมหาชนกจึงทรงชี้บอกว่าตรงที่เข็มวาง อยู่นั้นแหละคือทิศหัวนอนของบัลลังก์ โดยสังเกต จากการที่ เจ้าหญิงทรงวางเข็มทองคำ จากพระเศียรไว้ ข้อที่ 3 นั้นก็ตรัสสั่งให้นำมหาธนูมา ทรงยกขึ้นและน้าวอย่าง ง่ายดาย ข้อที่ 4 เมื่ออำมาตย์กราบทูลถึงปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่ง พระมหาชนกทรงคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ ตรัสบอกคำแก้ปริศนา ขุมทรัพย์ทั้ง 13 แห่งได้หมด เมื่อสั่งให้คนไปขุดดู ก็พบขุมทรัพย์ ตามที่ตรัสบอกไว้ทุกแห่ง ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของ พระมหาชนกกันทั่วทุกแห่งหน พระมหาชนกโปรดให้เชิญพระมารดาและพราหมณ์ ทิศาปาโมกข์จากเมืองกาลจัมปากะ ทรงอุปถัมภ์ บำรุงให้สุขสบาย ตลอดมา จากนั้นทรงสร้างโรงทานใหญ่ 6 ทิศในเมืองมิถิลา ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ เมืองมิถิลาจึงมีแต่ความผาสุก สมบูรณ์ เพราะพระราชาทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาโปรดให้ดำรง ตำแหน่งอุปราช อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตร เห็นมะม่วงต้นหนึ่งกิ่งหัก ใบไม้ร่วง อีกต้นมีใบแน่นหนา ร่มเย็นเขียวชอุ่ม จึงตรัสถาม อำมาตย์กราบทูลว่าต้นมะม่วง ที่มีกิ่งหักนั้น เป็นเพราะรสมีผลอร่อย ผู้คนจึงพากันสอยบ้าง เด็ดกิ่งและขว้างปาเพื่อเอาบ้าง จนมีสภาพเช่นนั้น ส่วนอีกต้น ไม่มีผล จึงไม่มีคนสนใจ ใบและกิ่งจึงสมบูรณ์เรียบร้อยดี พระราชาได้ฟังก็ทรงคิดว่า ราชสมบัติ เปรียบเหมือน ต้นไม้มีผลอาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอย ระแวดระวังรักษา เกิดความกังวล เราจะทำตนเป็นผู้ ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล เราจะออกบรรพชา สละราชสมบัติเสีย มิให้เกิดกังวล 

พระราชาเสด็จกลับมาปราสาท ปลงพระเกศาพระมัสสุ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ครองอัฏฐบริขารครบถ้วน แล้วเสด็จออกจากมหาปราสาทไป ครั้นพระนางสิวลีทรงทราบ ก็รีบติดตามมา ทรงอ้อนวอนให้ พระราชาเสด็จกลับ พระองค์ก็ไม่ยินยอม พระนางสิวลีจึงทำอุบายให้อำมาตย์ เผาโรงเรือนเก่าๆ และ กองหญ้า กองใบไม้ เพื่อให้พระราชา เข้าพระทัยว่าไฟไหม้พระคลังจะได้เสด็จกลับ พระราชาตรัสว่า พระองค์เป็นผู้ไม่มีสมบัติแล้ว สมบัติที่แม้จริงของพระองค์ คือความสุขสงบจากการบรรพชานั้นยังคงอยู่กับพระองค์ ไม่มีผู้ใดทำลายได้ พระนางสิวลีทรงทำอุบายสักเท่าไร พระราชาก็มิได้สนพระทัย และตรัสให้ประชาชนอภิเษก พระทีฆาวุราชกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ เพื่อปกครองมิถิลาต่อไป พระนางสิวลีไม่ทรงละความเพียร พยายามติดตาม พระมหาชนกต่อไปอีก วันรุ่งขึ้นมีสุนัขคาบเนื้อที่เจ้าของเผลอ วิ่งหนีมาพบผู้คนเข้าก็ตกใจทิ้งชิ้นเนื้อไว้ พระมหาชนกคิดว่า ก้อนเนื้อนี้เป็นของไม่มีเจ้าของ สมควรที่จะเป็นอาหารของเราได้ จึงเสวยก้อนเนื้อนั้น พระนางสิวลีทรงเห็นดังนั้น ก็เสียพระทัย อย่างยิ่ง ที่พระสวามีเสวยเนื้อที่สุนัขทิ้งแล้ว แต่พระมหาชนกว่า นี่แหล่ะเป็นอาหารพิเศษ ต่อมาทั้งสองพระองค์ทรงพบเด็กหญิงสวมกำไลข้อมือ ข้างหนึ่งมีกำไลสองอัน อีกข้างมีอันเดียว พระราชาตรัสถามว่า "ทำไมกำไลข้างที่มีสองอันจึงมีเสียงดัง" เด็กหญิงตอบว่า "เพราะกำไลสองอันนั้น กระทบกันจึงเกิดเสียงดัง ส่วนที่มี ข้างเดียวนั้นไม่ได้กระทบกับอะไรจึงไม่มีเสียง" พระราชาจึง ตรัสแนะให้ พระนางคิดพิจารณาถ้อยคำของเด็กหญิง กำไลนั้นเปรียบเหมือนคนที่อยู่สองคน ย่อมกระทบกระทั่งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็จะสงบสุข แต่พระนางสิวลียังคงติดตาม พระราชาไปอีก จนมาพบนายช่างทำลูกศร นายช่างทูลตอบ คำถามพระราชาว่า "การที่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเวลาดัด ลูกศรนั้น ก็เพราะถ้าลืมตาสอง ข้างจะไม่เห็นว่าข้างไหนคด ข้างไหนตรง เหมือนคนอยู่สองคนก็จะขัดแย้งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่ขัดแย้ง กับใคร" พระราชาตรัสเตือนพระนางสิวลีอีกครั้งหนึ่งว่า พระองค์ประสงค์จะเดินทางไปตามลำพัง เพื่อแสวงหา ความสงบไม่ประสงค์จะมีเรื่องขัดแย้งกระทบกระทั่ง หรือความไม่สงบอันเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อีกต่อไป 

พระนางสิวลีได้ฟังพระวาจาดังนั้นก็น้อยพระทัยจึงตรัสว่า "ต่อไปนี้หม่อมฉันหมดวาสนาจะได้อยู่ร่วมกับ พระองค์อีกแล้ว" พระราชาจึงเสด็จไปสู่ป่าใหญ่แต่ลำพังเพื่อบำเพ็ญสมาบัติ มิได้กลับมาสู่พระนครอีก ส่วนพระนางสิวลี เสด็จกลับเข้าสู่ พระราชวัง อภิเษกพระทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นพระราชา แล้วพระนางโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อรำลึกถึง พระราชามหาชนก ผู้ทรงมีพระสติปัญญา และที่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด คือ ทรงมีความ เพียรพยายามเป็นเลิศ มิได้เคยเสื่อมถอย จากความเพียร ทรงตั้งพระทัยที่จะกระทำการโดยเต็มกำลัง ความสามารถ เพราะทรงยึดมั่นว่า บุคคลควรตั้งความเพียรพยายามไม่ว่ากิจการนั้น จะยากสักเพียงใด ก็ตาม คนมีปัญญาแม้ได้รับทุกข์ ก็จะไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นความเพียรที่จะพาตนให้พ้นจากความทุกข์นั้นให้ ได้ในที่สุด				
10 มีนาคม 2551 08:26 น.

วันจันทร์

ยิ้มๆ

ลักษณะพระพุทธรูป 

พระพุทธรูปปางนี้นอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงห้าม เป็นแบบทรงเครื่องก็มี

 

ประวัติและความสำคัญ 

ณ พระนครกบิลพัสดุ์ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับของเจ้าศากยะ ซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธบิดา กับพระนครเทวทหะอันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าโกลิยะ ซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ทั้งสองพระนครนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโรหิณี ชาวนาของ ๒ พระนครนี้ อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีนี้ ทำนาร่วมกันมาโดยปกติสุข ต่อมาสมัยหนึ่งฝนแล้ง น้ำน้อย น้ำในแม่น้ำโรหิณีเหลือน้อย ชาวนาทั้งหมดต้องกั้น ทำนบทดน้ำในแม่น้ำโรหิณีขึ้นมาทำนา แม้ดังนั้นแล้ว น้ำก็ยังไม่พอ เป็นเหตุให้มีการแย่งน้ำกันทำนาขึ้น ขั้นแรกก็เป็นการวิวาทกันเฉพาะเพียงบุคคลต่อบุคคล แต่เมื่อไม่มีการระงับด้วยสันติวิธี การวิวาทนั้นก็ลุกลามมากขึ้นจนถึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าไปประหารกัน และด่าว่ากระทบถึงชาติ โคตร และลามปามไปถึงราชวงศ์ ในที่สุดกษัตริย์ผู้เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าทั้งสองเมือง ก็ยกกำลังพลเข้าประชิดกัน เพื่อแย่งน้ำ โดยหลงเชื่อคำยุยุงพูดเท็จของอำมาตย์ที่กำลังเคียดแค้น มิทันได้ทรงวินิจฉัยให้ถ่องแท้แน่นอนว่า เมื่อเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเกิดขึ้น ควรจะระงับด้วยสันติวิธี พระพุทธเจ้าทรงทราบก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จมาห้าม สงครามการแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสองฝ่าย โดยทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์โดยเหตุอันไม่สมควร ที่พระราชาจะต้องมาล้มตายทำลายเกียรติของตน เพียงเพราะแย่งน้ำกันทำนาเพียงเล็กน้อย ครั้นแล้วพระญาติทั้งสองฝ่ายก็ทำความเข้าใจกันได้และหันมาสามัคคีกัน พระพุทธจริยาที่ทรงโปรดพระญาติ เพื่อห้ามมิให้ทะเลาะวิวาท สู้รบกันเพราะเหตุแห่งการแย่งน้ำนี้ เป็นมงคลแสดงอนุภาพแห่งธรรมที่พระองค์ทรงแสดง พุทธศาสนิกชนผู้หนักในธรรมคำสอน เล็งเห็นคุณอัศจรรย์แห่งอนุสาสนีปาฎิหาริย์ จึงถือเป็นเหตุในการสร้าง พระพุทธรูปขึ้น เรียกว่า ปางห้ามญาติบ้าง ปางห้ามสมุทรบ้าง				
10 มีนาคม 2551 08:18 น.

วิทูรชาดก

ยิ้มๆ

ในเมืองอินทปัตต์ แคว้นกุรุ พระราชาทรง พระนามว่า ธนัญชัย ทรงมีนักปราชญ์ประจำ ราชสำนักชื่อว่า วิธุร วิธุรเป็นผู้มีวาจาฉลาด หลักแหลม เมื่อจะกล่าวถ้อยคำสิ่งใด ก็สามารถ ทำให้ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใสครัทธราและ ชื่นชมยินดีในถ้อยคำนั้น ในครั้งนั้น มีพราหมณ์อยู่ 4 คน เคยเป็นเพื่อน สนิทกันมาแต่เก่าก่อน ต่อมาพราหมณ์ทั้งสี่ ได้ออกบวช เป็นฤษีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า หิมพานต์ และบางครั้งก็เข้ามาสั่งสอนธรรม แก่ผู้คนในเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งมี เศรษฐี 4 คน ได้อัญเชิญฤาษีทั้งสี่ ไปที่บ้านของตน เมื่อ ฤาษีบริโภคอาหารแล้ว ได้เล่าให้เศรษฐีฟังถึง สมบัติในเมืองต่างๆทีตนได้เคยไปเยือนมา ฤาษีองค์หนึ่งเล่าถึงสมบัติของพระอินทร์ องค์ที่สองเล่าถึง สมบัติของพญานาค องค์ที่สาม เล่าถึงสมบัติพญาครุฑ และองค์สุดท้ายเล่าถึง สมบัติของพระราชาธนัญชัย แห่งเมืองอินทปัตต์ เศรษฐีทั้งสี่ได้ฟังคำพรรณนา ก็เกิดความ เลื่อมใสอยากจะได้สมบัติเช่นนั้นบ้าง ต่างก็ พยายามบำเพ็ญบุญ ให้ทาน รักษาศีลและอธิษฐาน ขอให้ได้ไปเกิดเป็นเจ้าขอสมบัติดังที่ต้องการ ด้วยอำนาจแห่งบุญ ทาน และศีล เมื่อสิ้น อายุแล้ว เศรษฐีทั้งสี่ก็ได้ไปเกิดในที่ที่ตั้ง ความปรารถนาไว้ คือ คนหนึ่งไปเกิดเป็น ท้าวสักกะเทวราช คนที่สองไปเกิดเป็น พญานาคชื่อว่า ท้าววรุณ คนที่สามไปเกิดเป็น พญาครุฑ และคนที่สี่ไปเกิดเป็นโอรสพระเจ้าธนัญชัย ครั้นเมื่อพระราชาธนัญชัยสวรรคตแล้ว ก็ได้ครอง ราชสมบัติในเมืองอินทปัตต์ต่อมา ทั้งท้าวสักกะ พญานาควรุณ พญาครุฑ และ พระราชา ล้วนมีจิตใจ ปรารถนาจะรักษาศีล บำเพ็ญธรรม ต่างก็ได้แสวงหาโอกาสที่จะรักษา ศีลอุโบสถและบำเพ็ญบุญ ให้ทาน อยู่เป็นนิตย์ วันหนึ่งบุคคลทั้งสี่เผอิญได้มาพบกันที่สระ โบกขรณี ด้วยอำนาจแห่งความผูกพันที่มี มาตั้งแต่ครั้งยังเกิด เป็นเศรษฐีสี่สหาย ทั้งสี่ คนจึงได้ทักทายปราศรัยกันด้วยไมตรี ขณะกำลังสนทนาก็ได้เกิดถกเถียงกันขึ้นว่า ศีลของใครประเสริฐที่สุด ท้าวสักกะกล่าวว่า พระองค์ทรงละทิ้งสมบัติทิพย์ในดาวดึงส์ มา บำเพ็ญ พรตอยู่ในมนุษย์โลก ศีลของพระองค์ จึงบริสุทธิกว่าผู้อื่น ฝ่ายพญานาควรุณกล่าวว่า ธรรมดาครุฑนั้น เป็นศัตรูตัวร้ายของนาค เมื่อตนได้พบกับพญาครุฑ กลับสามารถ อดกลั้นความโกรธเคืองได้ จึงนับว่า ศีลของ ตนบริสุทธิ์กว่าผู้อื่น พญาครุฑกล่าวแย้งว่า ธรรมดานาคเป็นอาหารของครุฑ ตนได้พบ นาคแต่ สามารถอดกลั้นความอยากใน อาหารได้ นับว่าศีลของตนประเสริฐที่สุด ส่วนพระราชาทรงกล่าวว่า พระองค์ได้ทรงละ พระราชวังอันเป็นสถานที่สำราญ พรั่งพร้อม ด้วยเหล่านารีที่เฝ้าปรนนิบัติ มาบำเพ็ญธรรม แต่ลำพังเพื่อประสงค์ความสงบ ดังนั้นจึงควร นับว่า ศีลของพระองค์ บริสุทธิ์ที่สุด ทั้งสี่ถกเถียงกันเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่สามารถ ตกลงกันได้ จึงชวนกันไปหาวิธุรบัณฑิต เพื่อให้ ช่วยตัดสิน วิธุรบัณฑิตจึงถามว่า
"เรื่องราวเป็น มาอย่างไรกัน ข้าพเจ้าไม่อาจตัดสินได้หากไม่ ทราบเหตุอันเป็นต้น เรื่องของปัญหาอย่างละเอียด ชัดเจนเสียก่อน" แล้วทั้งสี่ก็เล่าถึงเรื่องราวทั้งหมด วิธุรบัณฑิตฟังแล้วก็ตัดสินว่า
"คุณธรรมทั้งสี่ ประการนั้น ล้วนเป็นคุณธรรมอันเลิศทั้งสิ้น ต่างอุดหนุน เชิดชูซึ่งกันและกัน ไม่มีธรรมข้อไหน ต่ำต้อยกว่ากันหรือเลิศกว่ากัน บุคคลใดตั้งมั่น อยู่ในคุณธรรมทั้งสี่นี้ ถือได้ว่าเป็นสันติชนในโลก" 
ทั้งสี่เมื่อได้สดับคำตัดสินนั้น ก็มีความชื่นชม ยินดีในปัญญาของวิธุรบัณฑิต ที่สามารถแก้ ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีเหตุมีผล ต่างคน ต่างก็ได้บูชาความสามารถของวิธุรบัณฑิต ด้วยของมีค่าที่เป็นสมบัติของตน เมื่อพญานาควรุณกลับมาถึงเมืองนาคพิภพ พระนางวิมลา มเหสีได้ทูลถามขึ้นว่า "แก้ว มณีที่พระศอของ พระองค์หายไปไหนเพคะ" 
พญานาควรุณตอบว่า "เราได้ถอดแก้วมณี ออกให้กับวิธุรบัณฑิต ผู้มีสติ ปัญญาเฉียบ แหลมมีวาจาอันประกอบด้วยธรรมไพเราะ จับใจเราเป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่แต่เราเท่านั้น ที่ได้ให้ของอันมีค่ายิ่งแก่วิธุรบัณฑิต ทั้งท้าว สักกะเทวราช พญาครุฑ และพระราชา ต่างก็ ได้มอบของมีค่าสูง เพื่อบูชาธรรมที่วิธุรบัณฑิต แสดงแก่เราทั้งหลาย" 
พระนางวิมลาทูลถามว่า "ธรรมของวิธุร บัณฑิตนั้นไพเราะจับใจอย่างไร" 
พญานาค ทรงตอบว่า "วิธุรบัณฑิตเป็นผู้มีปัญญา เฉียบแหลม รู้หลักคุณธรรมอันลึกซึ้ง และสามารถแสดงธรรมเหล่านั้น ได้อย่าง ไพเราะจับใจ ทำให้ผู้ฟังเกิดความชื่นชม ยินดีในสัจจะแห่งธรรมนั้น" 
พระนางวิมลาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความปราถนา จะได้ฟังวิธุรบัณฑิตแสดงธรรมบ้าง จึงทรงทำ อุบายว่าเป็นไข้ เมื่อพญานาควรุณทรงทราบก็ เสด็จไปเยี่ยมตรัสถามว่า พระนางป่วยเป็นโรค ใดทำอย่างไรจึงจะหาย จากโรคได้ 
พระนางวิมลา ทูลตอบว่า "หม่อมฉันไม่สบายอย่างยิ่ง ถ้าจะให้ หายจากอาการ ก็ขอได้โปรดประทานหัวใจ วิธุรบัณฑิตให้หม่อมฉันด้วยเถิด" พญานาคได้ฟังก็ตกพระทัย ตรัสว่า วิธุรบัณฑิต เป็นที่รักใคร่ของผู้คนทั้งหลายยิ่งนัก คงจะไม่มี ผู้ใด สามารถล่วงล้ำเข้าไปเอาหัวใจวิธุรบัณฑิต มาได้ พระนางวิมลาก็แสร้งทำเป็นอาการป่วย กำเริบหนักขึ้นอีก พญานาควรุณก็ทรง กลัดกลุ้มพระทัยอย่างยิ่ง ฝ่ายนางอริทันตี ธิดาพญานาคเห็นพระบิดา วิตกกังวลจึงถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น พญานาควรุณ ก็เล่าให้นาง ฟัง นางอริทันตีจึงทูลว่า นางประสงค์ จะช่วยให้พระมารดาได้สิ่งที่ต้องการให้จงได้ นางอริทันตีจึงป่าวประกาศให้บรรดาคนธรรพ์ นาค ครุฑ มนุษย์ กินนร ทั้งปวงได้ทราบว่า หากผู้ใด สามารถนำหัวใจวิธุรบัณฑิตมาให้ นางได้ นางจะยอมแต่งงานด้วย ขณะนั้น ปุณณกยักษ์ผู้เป็นหลานของ ท้าวเวสุวัณมหาราชผ่านมา ได้เห็นนางก็นึก รักอยากจะได้นางเป็น ชายา จึงเข้าไปหา นางและบอกกับนางว่า "เราชื่อปุณณกยักษ์ ประสงค์จะได้นางมาเป็นชายา จงบอกแก่ เราเถิดว่าวิธุรบัณฑิตเป็นใคร อยู่ที่ไหน เราจะ นำหัวใจของเขามาให้นาง"
เมื่อปุณณกยักษ์ ได้ทราบว่าวิธุรบัณฑิตเป็น มหาราชครูในราชสำนักพระเจ้าธนัญชัย 
จึงดำริว่า "หากเรา ต้องการตัววิธุรบัณฑิต จะไปพามาง่ายๆ นั้น คงไม่ได้ ทางที่ดีเราจะ ต้องท้าพนันสกากับพระเจ้าธนัญชัย โดย เอาวิธุรบัณฑิตเป็นสิ่งเดิมพัน ด้วยวิธีนี้เราคง จะเอาตัววิธุรบัณฑิตมาได้" 
คิดดังนั้นแล้ว ปุณณกยักษ์ก็ไปสู่ราชสำนัก ของพระราชาธนัญชัย และทูลพระราชาว่า "ข้าพระองค์มาท้า พนันสกา หากพระองค์ชนะ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะถวายแก้วมณีวิเศษอันเป็น สมบัติสำหรับพระจักรพรรดิ กับจะถวายม้าวิเศษ คู่บุญจักรพรรดิ" 
พระราชาธนัญชัยทรงปรารถนาจะได้แก้วมณี และม้าแก้วอันเป็นของคู่บุญจักรพรรดิ จึงตอบ ปุณณกยักษ์ ว่าพระองค์ยินดีจะเล่นพนันสกา ด้วยปุณณกยักษ์ก็ทูลถามว่า หากพระราชาแพ้พนัน จะให้อะไร เป็น เดิมพัน 
พระราชาก็ทรงตอบว่า "ยกเว้นตัวเรา เศวตฉัตร และมเหสีแล้ว เจ้าจะเอา อะไรเป็นเดิมพันเราก็ ยินยอมทั้งสิ้น" ปุณณกยักษ์ พอใจคำตอบ จึงตกลงเริ่มทอดสกาพนัน ปรากฏว่าพระราชาทรงทอดสกาแพ้ ปุณณก ยักษ์จึงทวงทรัพย์เดิมพัน โดยทูลพระราชาว่า "ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาทรัพย์สมบัติใดๆ ทั้งสิ้น ขอแต่วิธุรบัณฑิตแต่ผู้เดียวเป็นรางวัลเดิมพันสกา" 
พระราชาตกพระทัย ตรัสกับปุณณกยักษ์ว่า "อันวิธุรบัณฑิตนั้นก็เปรียบได้กับตัวเราเอง เราบอกแล้วว่า ยกเว้นตัวเรา เศวตฉัตร และ มเหสีแล้ว เจ้าจะขออะไรก็จะให้ทั้งนั้น" 
ปุณณกยักษ์ทูลว่า "เราอย่ามาโต้เถียงกันเลย ขอให้วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ตัดสินดีกว่า"
เมื่อ พระราชาให้ไปตามวิธุรบัณฑิตมา ปุณณก ยักษ์ก็ถามว่า "ท่านเป็นทาสของพระราชา หรือว่าท่านเสมอกับพระราชา หรือสูงกว่า พระราชา"
วิธุรบัณฑิตตอบว่า "ข้าพเจ้า เป็นทาสของพระราชา พระราชาตรัสสิ่งใด ข้าพเจ้าก็ จะทำตาม ถึงแม้ว่าพระองค์จะ พระราชทานข้าพเจ้าเป็นค่าพนัน ข้าพเจ้า ก็จะยินยอมโดยดี" 
พระราชาได้ทรงฟังวิธุรบัณฑิตตอบดังนั้น ก็เสียพระทัยว่า วิธุรบัณฑิตไม่เห็นแก่ พระองค์กลับไปเห็นแก่ ปุณณกยักษ์ ซึ่ง ไม่เคยได้พบกันมาก่อนเลย 
วิธุรบัณฑิต จึงทูลว่า "ข้าพระองค์จักพูดในสิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่ เป็นธรรมเสมอ ข้าพระองค์ จักไม่ หลีกเลี่ยงความเป็นจริงเป็นอันขาด วาจา อันไพเราะนั้นจะมีค่าก็ต่อ เมื่อประกอบ ด้วยหลักธรรม" 

พระราชาได้ฟังก็ทรงเข้าพระทัย แต่ก็มี ความโทมนัสที่จะสูญเสียวิธุรบัณฑิตไป จึงขออนุญาตปุณณกยักษ์ ให้วิธุรบัณฑิต ได้แสดงธรรมแก่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ปุณณกยักษ์ก็ยินยอม วิธุรบัณฑิตจึงได้แสดง ธรรมของผู้ครองเรือนถวายแด่พระราชา ครั้นเมื่องแสดงธรรมเสร็จแล้ว ปุณณกยักษ์ก็ สั่งให้วิธุรบัณฑิตไปกับตน เพราะพระราชา ได้ยกให้เป็นสิน พนันแก่ตนแล้ว 

วิธุรบัณฑิต จึงกล่าวแก่ปุณณกยักษ์ว่า "ขอให้ข้าพเจ้า มีเวลาสั่งสอนบุตรและภรรยาสักสามวันก่อน ท่านก็ได้เห็นแล้วว่าข้าพเจ้าพูดแต่ความเป็นจริง พูดโดยธรรม มิได้เห็นแก่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ยิ่งไปกว่าธรรม ท่านได้เห็นแล้วว่าข้าพเจ้า มีคุณ แก่ท่าน ในการที่ทูลความเป็นจริงแก่พระราชา ฉะนั้นขอให้ท่านยินยอมตามความประสงค์ ของข้าพเจ้าเถิด"

ปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้น ก็เห็นจริงในถ้อยคำ ที่วิธุรบัณฑิตกล่าว จึงยินยอมที่จะพักอยู่เป็น เวลาสามวัน เพื่อให้วิธุรบัณฑิตมีเวลาสั่งสอน บุตรภรรยา วิธุรบัณฑิตจึงเรียกบุตรภรรยา มาเล่าให้ทราบความที่เกิดขึ้น แล้วจึงสอนบุตร ธิดาว่า "เมื่อพ่อไปจากราชสำนักพระราชา ธนัญชัยแล้ว พระองค์อาจจะทรงไต่ถามเจ้า ทั้งหลายว่า พ่อได้เคยสั่งสอนธรรมอันใดไว้บ้าง เมื่อพวกเจ้ากราบทูลพระองค์ไป หากเป็นที่พอ พระทัยก็ อาจจะตรัสอนุญาตให้เจ้า นั่งเสมอ พระราชอาสน์ เจ้าจงจดจำไว้ว่า ราชสกุลนั้น จะมีผู้ใดเสมอมิได้เป็นอันขาด จงทูลปฏิเสธ พระองค์ และนั่งอยู่ในที่อันควรแก่ฐานะของตน"
จากนั้น วิธุรบัณฑิตก็แสดงธรรมชื่อว่า ราชวสดีธรรมอันเป็นธรรมสำหรับข้าราชการ จะพึงปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานและเพื่อเป็นหลักสำหรับ ยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่และการแก้ไข ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น 
วิธุรบัณฑิตกล่าวในที่สุด ว่า"เป็นข้าราชการต้องเป็นผู้สุขุมรอบคอบ ฉลาดในราชกิจ สามารถจัดการต่างๆ ให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย รู้จักกาล รู้จักสมัย ว่าควรปฏิบัติอย่างไร"
เมื่อได้แสดงราชวสดีธรรมแล้ว วิธุรบัณฑิต จึงได้ออกเดินทางไปกับปุณณกยักษ์ ในระหว่าง ทางปุณณยักษ์คิดว่า เราเอาแต่หัวใจของวิธุร บัณฑิตไปคงจะสะดวกกว่าพาไปทั้งตัว คิดแล้ว ก็พยายามจะ ฆ่าวิธุรบัณฑิตด้วยวิธีต่างๆ แต่ ก็ไม่เป็นผล ในที่สุด 
วิธุรบัณฑิตจึงถามว่า "ความจริงท่านเป็นใคร ท่านต้องการจะฆ่าข้าพเจ้าทำไม" 
ปุณณกยักษ์จึงเล่าความเป็นมาทั้งหมด วิธุรบัณฑิตหยั่งรู้ได้ด้วยปัญญาว่า ที่แท้นั้นพระ นางวิมลา ปราถนาจะได้ฟังธรรมอันเป็นที่ เลื่องลือของตนเท่านั้น จึงคิดว่าควรจะแสดง ธรรมแก่ปุณณกยักษ์ เพื่อมิให้หลงผิด กระทำ การอันมิควรกระทำ ครั้นแล้ววิธุรบัณฑิต จึงได้แสดงธรรมชื่อว่า สาธุนรธรรม ธรรม ของคนดี แก่ปุณณกยักษ์ มีใจความว่า บุคคลที่มีอุปการคุณ ชื่อว่าเป็นเผาฝ่ามือ อันชุ่มเสีย แลัวยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้าย ต่อมิตรด้วย อนึ่ง ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของ สตรีที่ประพฤติการอันไม่สมควร ปุณณกยักษ์ได้ฟังธรรม ก็รู้สึกในความผิดว่า วิธุรบัณฑิตมีอุปการคุณแก่ตน ไม่ควรจะกระทำร้ายหรือแม้ แต่คิดร้ายต่อวิธุรบัณฑิต ปุณณก ยักษ์จึงตัดสินใจว่าจะพาวิธุรบัณฑิตกลับ ไปยังอินทปัตต์ ตนเองจะไม่ตั้ง ความปรารถนา ในนางอริทันตีอีกต่อไปแล้ว เมื่อวิธุรบัณฑิต ทราบถึงการตัดสินใจของปุณณกยักษ์จึง กล่าวว่า "นำข้าพเจ้าไปนาคพิภพเถิด ข้าพเจ้า ไม่เกรงกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้น ข้าพเจ้าไม่เคย ทำความชั่ว ไว้ในที่ใด จึงไม่เคยรู้สึกกลัวว่า ความตายจะมาถึงเมื่อไร" 
ปุณณกยักษ์จึงนำวิธุรบัณฑิตไปเฝ้า พญานาควรุณในนาคพิภพ เมื่ออยู่ต่อหน้า พญานาควรุณ วิธุรบัณฑิต ทูลถามว่า สมบัติในนาคพิภพนี้ พญานาควรุณได้มา อย่างไร พญานาควรุณตรัสตอบว่า ได้มา ด้วยผลบุญ เมื่อครั้งที่ได้บำเพ็ญธรรม รักษาศีลและให้ทานในชาติก่อนที่เกิด เป็นเศรษฐี วิธุรบัณฑิตจึงทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ก็แสดงว่าพญานาควรุณทรงตระหนักถึง กรรม และผลแห่งกรรมดี ขอให้ทรงประกอบ กรรมดีต่อไป แม้ว่าในเมืองนาคนี้จะไม่มีสมณ ชีพราหมณ์ที่พญานาคจะบำเพ็ญทานได้ ก็ขอให้ทรงมีเมตตาแก่บุคคล ทั้งหลายใน เมืองนาคนี้ อย่าได้ประทุษร้ายแก่ผู้ใดเลย หากกระทำได้ดังนั้นก็จะได้เสด็จไปสู่เทวโลก ที่ดียิ่งกว่านาคพิภพนี้ พญานาควรุณได้ฟังธรรมอันประกอบด้วย วาจาไพเราะของวิธุรบัณฑิตก็มีความพอ พระทัยเป็นอันมาก และตรัสให้พาพระนางวิมลา มาพบวิธุรบัณฑิต เมื่อพระนางทอดพระเนตร เห็นวิธุรบัณฑิตก็ได้ถามว่า "ท่านตกอยู่ใน อันตรายถึงเพียงนี้ เหตุใดจึงไม่มีอาการ เศร้าโศกหรือหวาดกลัวแต่อย่างใด" 
วิธุรบัณฑิตทูลตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่เคยทำความ ชั่วจึงไม่กลัวความตาย ข้าพเจ้ามีหลักธรรม และมีปัญญา เป็นเครื่องประกอบตัว จึงไม่หวั่น เกรงภัยใดๆ ทั้งสิ้น" 
พญานาควรุณและพระนางวิมลาพอพระทัย ในปัญญาและความมั่นคงในธรรมของวิธุรบัณฑิต 
พญานาควรุณจึงตรัสว่า "ปัญญานั้นแหละคือหัวใจ ของบัณฑิต หาใช่หัวใจที่เป็นเลือดเนื้อไม่" 
จากนั้นพญานาควรุณก็ได้ยกนางอริทันตี ให้แก่ปุณณกยักษ์ ผู้ซึ่งมีดวงตาสว่างไสว ขึ้นด้วยธรรมของวิธุร บัณฑิต พ้นจากความหลง ในสตรีคือนางอริทันตี แล้วสั่งให้ปุณณกยักษ์พา วิธุรบัณฑิตไปส่งยังสำนักของ พระราชาธนัญชัย พระราชาทรงโสมนัสยินดีอย่างยิ่ง ตรัสถาม วิธุรบัณฑิตถึงความเป็นไปทั้งหลาย วิธุรบัณฑิต จึงทูลเล่า เรื่องราวทั้งสิ้น และกราบทูลในที่ สุดท้ายว่า
" ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด บุคคลผู้มี ธรรมและปัญญาย่อมไม่หวั่นเกรงภยันตราย ย่อมสามารถเอาชนะภยันตรายทั้งปวงด้วย คุณธรรมและด้วยปัญญาของตน การแสดงธรรม แก่บุคคล ทั้งหลายนั้นคือการแสดงความจริง ให้ประจักษ์ด้วยปัญญา "				
10 มีนาคม 2551 08:12 น.

เวสสันดรชาดก

ยิ้มๆ

พระเจ้าสญชัย ทรงครองราชสมบัติเมืองสีพี มีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางผุสดี ธิดาพระเจ้ากรุงมัททราช พระนางผุสดีนี้ในชาติก่อนๆ ได้เคยถวายแก่นจันทน์หอม เป็นพุทธบูชาและอธิษฐานขอให้ได้เป็นพุทธมารดาพระพุทธเจ้าในกาลอนาคต ครั้นเมื่อนางสิ้นชีวิตก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เมื่อถึงวาระที่จะต้องจุติมาเกิดในโลกมนุษย์ พระอินทร์ได้ประทานพรสิบประการแก่นาง ครั้นเมื่อพระนางผุสดีทรงครรภ์ใกล้กำหนดประสูติ พระนางปรารถนาไปเที่ยวชมตลาด ร้านค้า บังเอิญในขณะเสด็จประพาสนั้น พระนางทรงเจ็บครรภ์และประสูติพระโอรสในบริเวณย่านนั้น พระโอรสจึงทรงพระนามว่า เวสสันดร หมายถึง ในท่ามกลางระหว่างย่านค้าขาย พร้อมกับที่พระโอรสประสูติ ช้างต้นของพระเจ้าสญชัยก็ตกลูกเป็นช้างเผือกเพศผู้ได้รับชื่อว่า ปัจจัยนาค เป็นช้างต้นคู่บุญพระเวสสันดร 
เมื่อพระกุมารเวสสันดรทรงเจริญวัยขึ้น ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบริจาคทาน มักขอพระราชทานทรัพย์จากพระบิดามารดา เพื่อบริจาคแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงขอให้พระบิดาตั้งโรงทานสี่มุมเมือง เพื่อบริจาคข้าวปลาอาหารและสิ่งของจำเป็น แก่ประชาชน และหากมีผู้มาทูลขอสิ่งหนึ่ง สิ่งใด พระองค์ก็จะทรงบริจาคให้โดยมิได้เสียดาย ด้วยทรงเห็นว่า การบริจาคนั้นเป็นกุศลเป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ผู้รับก็จะพ้นความเดือดร้อน ผู้ให้ก็จะอิ่มเอิบเป็นสุขใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และยังทำให้พ้นจากความโลภความตระหนี่ถี่เหนียวในทรัพย์สมบัติของตนอีกด้วย พระเกียรติคุณของพระเวสสันดรเลื่องลือไปทั่วทุกทิศว่าทรงมีจิตเมตตาแก่ผู้อื่นมิได้ ทรงเห็นแก่ความสุขสบายหรือเห็นแก่ทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ มิได้ทรงหวงแหนสิ่งใด ไว้สำหรับพระองค์ 

อยู่มาครั้งหนึ่งในเมืองกลิงคราษฏร์เกิดข้าวยากหมายแพงเพราะฝนแล้ง ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ ราษฎร์อดอยากได้รับความเดือนร้อนสาหัส ประชาชน ชาวกลิงคราษฏร์พากันไปเฝ้าพระราชา ทูลว่าในเมืองสีพีนั้นมีช้างเผือกคู่บุญพระเวสสันดร ชื่อว่า ช้างปัจจัยนาค เป็นช้างมีอำนาจพิเศษ ถ้าอยู่เมืองใด จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์จะบริบูรณ์ ขอให้พระเจ้ากลิงคราษฏร์ ส่งทูตเพื่อไปทูลขอช้างจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็จะทรงบริจาคให้เพราะพระองค์ไม่เคยขัดเมื่อมีผู้ทูลขอสิ่งใด 

พระเจ้ากลิงคราษฏร์จึงส่งพราหมณ์แปดคนไปเมืองสีพี ครั้นเมื่อพราหมณ์ได้พบ พระเวสสันดรขณะเสด็จประพาสพระนคร ประทับบนหลังช้างปัจจัยนาค พราหมณ์จึง ทูลขอช้างคู่บุญเพื่อดับทุกข์ชาวกลิงคราษฏร์ พระเวสสันดรก็โปรดประทานให้ตามที่ขอ ชาวสีพีเห็นพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาคคู่บ้านคู่เมืองไป ดังนั้น ก็ไม่พอใจ พากันโกรธเคืองว่าต่อไปบ้านเมืองจะลำบาก เมื่อไม่มีช้างปัจจัยนาคเสียแล้ว 

จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าสญชัย ทูลกล่าวโทษพระเวสสันดรว่าบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมือง แก่ชาวเมืองอื่นไป ขอให้ขับพระเวสสันดรไปเสียจากเมืองสีพี พระเจ้าสญชัยไม่อาจขัดราษฏรได้ จึงจำพระทัยมีพระราชโองการให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมืองไป พระเวสสันดรไม่ทรงขัดข้อง แต่ทูลขอพระราชทานโอกาสบริจาคทาน ครั้งใหญ่ก่อนเสด็จออกจากพระนคร พระบิดาก็ทรงอนุญาตให้พระเวสสันดรทรงบริจาค สัตสดกมหาทาน คือบริจาค ทานเจ็ดสิ่ง สิ่งละเจ็ดร้อย แก่ประชาชนชาวสีวี 

เมื่อพระนางมัทรี พระมเหสีของพระเวสสันดรทรงทราบว่า ประชาชนขอให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมือง ก็กราบทูลพระเวสสันดรว่า
"พระองค์เป็นพระราชสวามีของหม่อมฉัน พระองค์เสด็จไปที่ใด หม่อมฉันจะขอติดตาม ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง มิได้ย่อท้อต่อความ ลำบาก ขึ้นชื่อว่าเป็นสามีภรรยาแล้ว ย่อมต้องอยู่เคียงข้างกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่ายามสุข หรือทุกข์ โปรดประทานอนุญาติให้หม่อมฉันติดตามไปด้วยเถิด" 
พระเวสสันดรไม่ทรงประสงค์ให้พระนางมัทรี ติดตามพระองค์ไป เพราะการเดินทางไปจากพระนครย่อมมีแต่ความยากลำบาก ทั้งพระองค์ เองก็ทรงปรารถนาจะเสด็จไปประทับบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ในป่า พระนางมัทรีไม่คุ้นเคยต่อสภาพเช่นนั้น ย่อมจะต้องลำบากยากเข็ญทั้ง อาหารการกินและความเป็นอยู่ แต่ไม่ว่าพระเวสสันดรจะตรัสห้ามปรามอย่างไร นาง ก็มิยอมฟัง บรรดาพระประยูรญาติ ก็พากันอ้อนวอนขอร้อง พระนางก็ทรงยืนกรานว่า จะติดตามพระราชสวามีไปด้วย 

พระนางผุสดีจึงทรงไปทูลขอพระเจ้าสญชัย มิให้ขับพระเวสสันดรออกจากเมืองพระเจ้าสญชัยตรัสว่า 
"บ้านเมืองจะเป็นสุขได้ก็ต่อ เมื่อราษฏรเป็นสุข พระราชาจะเป็นสุขได้ก็ เมื่อราษฏรเป็นสุข ถ้าราษฏรมีความทุกข์ พระราชาจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ราษฏรพากัน กล่าวโทษพระเวสสันดรว่าจะทำให้บ้านเมืองยากเข็ญ เราจึงจำเป็นต้องลงโทษ แม้ว่าพระเวสสันดรจะเป็นลูกของเราก็ตาม" 

ไม่ว่าผู้ใดจะห้ามปรามอย่างไร พระนางมัทรีก็จะตามเสด็จพระเวสสันดรไปให้จงได้ พระเจ้าสญชัยและพระนางผุสดีจึงขอเอา พระชาลี พระกัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรไว้ แต่พระนางมัทรีก็ไม่ยินยอม ทรงกล่าวว่า 
"เมื่อชาวเมืองสีพีรังเกียจพระเวสสันดร ให้ขับไล่ไปเสียดังนี้ พระโอรสธิดาจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ชาวเมืองโกรธแค้นขึ้นมา พระชาลีกัณหาก็จะทรงได้รับความลำบาก จึงควรที่จะออกจากเมืองไปเสียพร้อม พระบิดาพระมารดา" 

ในที่สุดพระเวสสันดร พร้อมด้วยพระมเหสี และโอรสธิดาก็ออกจากเมืองสีพีไป แม้ใน ขณะนั้นชาวเมืองยังตามมาทูลขอรถพระที่นั่ง ทั้งสี่พระองค์จึงต้องทรงดำเนินด้วยพระบาทออกจากเมืองสีพีมุ่งไปสู่ป่า เพื่อบำเพ็ญพรตภาวนา 

ครั้นเสด็จมาถึงเมืองมาตุลนคร บรรดากษัตริย์เจตราชทรงทราบข่าว จึงพากันมาต้อนรับ พระเวสสันดร ทรงถามถึงทางไปสู่เขาวงกต กษัตริย์เจตราชก็ทรงบอกทางให้และเล่าว่า เขาวงกตนั้นต้องเดินทางผ่านป่าใหญ่ที่เต็ม ไปด้วยอันตรายแต่เมื่อไปถึงสระโบกขรณีแล้ว ก็จะเป็นบริเวณร่มรื่นสะดวกสบาย มีต้นไม้ผล ที่จะใช้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้กษัตริย์เจตราช ยังได้สั่งให้ พรานป่าเจตบุตร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญ ป่าแถบนั้น ให้คอยเฝ้าระแวดระวังรักษาต้นทาง ที่จะไปสู่เขาวงกต เพื่อมิให้ผู้ใดไปรบกวนพระเวสสันตรในการบำเพ็ญพรต เว้นแต่ทูต จากเมืองสีพีีที่จะมาทูลเชิญเสด็จกลับนครเท่านั้น ที่จะยอมให้ผ่านเข้าไปได้ 

เมื่อเสด็จไปถึงบริเวณสระโบกขรณีอันเป็นที่ร่มรื่นสบาย พระเวสสันดร พระนางมัทรี ตลอดจนพระโอรสธิดา ก็ผนวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีพรานป่าเจตบุตรคอยรักษาต้นทาง ณ ตำบลบ้านทุนนวิฐ เขตเมืองกลิงคราษฏร์

มีพราหมณ์เฒ่าชื่อ ชูชก หาเลี้ยงชีพด้วยการ ขอทาน ชูชก ขอทานจนได้เงินมามาก จะเก็บไว้ เองก็กลัวสูญหาย จึงเอาไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้ อยู่มาวันหนึ่ง ชูชกไปหาพราหมณ์ที่ตนฝากเงินได้ จะขอเงินกลับไป ปรากฎว่า พราหมณ์นั้นนำเงินไปใช้หมดแล้ว จะหามาใช้ให้ชูชกก็หาไม่ทัน จึงจูงเอาลูกสาวชื่อ อมิตตดา มายกให้แก่ชูชก พราหมณ์กล่าวแก่ชูชกว่า 
"ท่านจงรับเอาอมิตตดาลูกสาวเราไปเถิด จะเอาไปเลี้ยงเป็นลูกหรือภรรยา หรือจะเอาไปเป็นทาสรับใช้ปรนนิบัติก็สุด แล้วแต่ท่านจะเมตตา" 

ชูชกเห็นนางอมิตตดาหน้าตาสะสวย งดงามก็หลงรัก จึงพานางไปบ้าน เลี้ยงดู นางในฐานะภรรยา นางอมิตตดาอายุยังน้อย หน้าตางดงาม และมีความกตัญญู ต่อพ่อแม่ นางจึงยอมเป็นภรรยาชูชกผู้แก่เฒ่า รูปร่างหน้าตาน่ารังเกียจ อมิตตดา ปรนนิบัติชูชกอย่างภรรยาที่ดีจะพึงกระทำทุกประการ นางตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร ดูแลบ้านเรือนไม่มีขาดตกบกพร่อง ชูชกไม่เคยต้องบ่นว่าหรือตักเตือนสั่งสอนแต่ อย่างใดทั้งสิ้น ความประพฤติที่ดีเพียบพร้อมของนาง อมิตตดาทำให้เป็นที่สรรเสริญของบรรดา พราหมณ์ทั้งหลายในหมู่บ้านนั้น ในไม่ช้า บรรดาพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันตำหนิติเตียนภรรยาของตนที่มิได้ประพฤติตนเป็น แม่บ้านแม่เรือนอย่างอมิตตดา บางบ้านก็ถึงกับทุบตีภรรยาเพื่อให้รู้จักเอาอย่างนาง เหล่านางพราหมณีทั้งหลายได้รับความเดือดร้อน ก็พากันโกรธแค้นนางอมิตตดา ว่าเป็นต้นเหตุ 

วันหนึ่งขณะที่นางไปตักน้ำในหมู่บ้าน บรรดานางพราหมณีก็รุมกันเย้ยหยันที่นางมีสามีแก่ หน้าตาน่าเกลียดอย่างชูชก นางพราหมณีพากันกล่าวว่า 
"นางก็อายุน้อย หน้าตางดงาม ทำไมมายอมอยู่กับเฒ่าชรา น่ารังเกียจอย่างชูชก หรือว่ากลังจะหาสามีไม่ได้ มิหนำซ้ำยังทำ ตนเป็นกาลกิณี พอเข้ามาในหมู่บ้านก็ทำให้ ชาวบ้านสิ้นความสงบสุข เขาเคยอยู่กันมาดีๆ พอนางเข้ามาก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า หาความสงบ ไม่ได้ นางอย่าอยู่ในหมู่บ้านนี้เลย จะไปไหนก็ไปเสียเถิด" 
ไม่เพียงกล่าววาจาด่าทอ ยังพากันหยิกทึ้ึ้ง ทำร้ายนางอมิตตดา จนนางทนไม่ได้ ต้องหนีกลับบ้านร้องไห้ มาเล่าให้ชูชกฟัง ชูชกจึงบอกว่าต่อไปนี้นางไม่ต้องทำการ งานสิ่งใด ชูชกจะเป็นฝ่ายทำให้ทุกอย่าง นางอมิตตดาจึงว่า 
"ภรรยาที่ดีจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร จะปล่อยให้สามีมาปรนนิบัติรับใช้ เราทำไม่ได้หรอก ลูกหญิงที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนมาดี ย่อมจะไม่นั่งนอนอยู่เฉยๆ ดีแต่ชี้นิ้วให้ผู้อื่นปรนนิบัติตน นี่แน่ะ ชูชก ถ้าท่านรักเราจริง ท่านจงไปหาบริวารมาปรนนิบัติรับใช้เราดีกว่า" 
ชูชกได้ฟังดังนั้นก็อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะไปหาข้าทาสหญิงชายมาจากไหน นางอมิตตดา จึงแนะว่า 
"ขณะนี้ พระเวสสันดรเสด็จออกมาจากเมืองสีพี มาทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า เขาวงกต พระองค์เป็นผู้ใฝ่ในการบริจาคทาน ท่านจงเดินทางไปขอบริจาคพระชาลีกัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรมาเป็นข้าทาสของเราเถิด" 
ชูชกไม่อยากเดินทางไปเลยเพราะกลัวอันตรายในป่า แต่ครั้นจะไม่ไปก็กลัวนางอมิตตดาจะทอดทิ้งไม่ยอมอยู่กับตน 

ในที่สุดชูชกจึงตัดสินใจเดินทางไปเขาวงกตเพื่อทูลขอพระชาลีกัณหา เมื่อไปถึงบริเวณปากทางเข้าสู่เขาวงกต ชูชกก็ได้พบพรานเจตบุตรผู้รักษาปากทาง หมาไล่เนื้อที่พรานเลี้ยงไว้พากันรุมไล่ต้อนชูชกขึ้นไปจนมุมอยู่บนต้นไม้ เจตบุตรก็เข้า ไปตะคอกขู่ 
ชูชกนั้นเป็นคนมีไหวพริบ สังเกตดูเจตบุตรก็รู้ว่าเป็นคนซื่อสัตย์ มีฝีมือเข้มแข็ง แต่ขาดไหวพริบ จึงคิดจะใช้วาาจาลวง เจตบุตรให้หลงเชื่อ พาตนเข้าไปพบพระเวสสันดรให้ได้ ชูชกจึงกล่าวแก่เจตบุตรว่า 
"นี่แนะ เจ้าพรานป่าหน้าโง่ เจ้าหารู้ไม่ว่าเราเป็นใคร ผู้อื่นเขา จะเดินทางมาให้ยากลำบากทำไมจนถึงนี่ เรามาในฐานะทูต ของพระเจ้าสัญชัย เจ้าเมืองสีวีพ จะมาทูลพระเวสสันดรว่า บัดนี้ชาวเมืองสีพีได้คิดแล้ว จะมาทูล เชิญเสด็จกลับพระนคร เราเป็นผู้มาทูลพระองค์ไว้ก่อน เจ้ามัวมาขัดขวางเราอยู่อย่างนี้ เมื่อไรพระเวสสันดรจะได้ เสด็จคืนเมือง" 
เจตบุตรได้ยินก็หลงเชื่อ เพราะมีความจงรักภักดี อยากให้พระเวสสันดรเสด็จกลับ เมืองอยู่แล้ว จึงขอโทษชูชก จัดการหาอาหารมาเลี้ยงดู แล้วชี้ทางให้เข้าไปสู่อาศรม ที่พระเวสสันดรบำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ 
เมื่อชูชกมาถึงอาศรมก็คิดได้ว่า หากเข้าไปทูลขอ พระโอรสธิดาในขณะพระนางมัทรีอยู่ด้วย พระนางคงจะไม่ยินยอมยกให้เพราะความรัก อาลัยพระโอรสธิดา จึงควรจะรอจนพระนางเสด็จไปหาผลไม้ในป่าเสียก่อน จึงค่อยเข้า ไปทูลขอต่อพระเวสสันดรเพียงลำพัง 
ในวันนั้น พระนางมัทรีทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตอนกลางคืน พระนางทรงฝันร้ายว่า มีบุรุษร่างกายกำยำ ถือดาบ มาตัดแขนซ้ายขวาของพระนางขาด ออกจากกาย บุรุษนั้นควักดวงเนตร ซ้ายขวา แล้วยังผ่าเอาดวงพระทัยพระนางไปด้วย พระนางมัทรีทรงสังหรณ์ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น จึงทรงละล้าละลังไม่อยากไปไกลจาก อาศรม แต่ครั้นจะไม่เสด็จไปก็จะไม่มีผลไม้มาให้พระเวสสันดรและโอรสธิดาเสวย พระนางจึงจูงโอรสธิดาไปทรงฝากฝังกับ พระเวสสันดรขอให้ทรงดูแล ตรัสเรียกหา ให้เล่นอยู่ใกล้ๆ บรรณศาลา พร้อมกับเล่าความฝันให้พระเวสสันดรทรงทราบ 
พระเวสสันดรทรงหยั่งรู้ว่าจะมีผู้มาทูลขอพระโอรสธิดา แต่ครั้นจะบอกความตามตรง พระนางมัทรีก็คงจะทนไม่ได้ พระองค์เองนั้น ตั้งพระทัยมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกประการในกายนอกกาย แม้แต่ชีวิตและ เลือดเนื้อของพระองค์ หากมีผู้มาทูลขอก็จะ ทรงบริจาคให้โดยมิได้ทรงเสียดายหรือหวาดหวั่น 
พระเวสสันดรจึงตรัสกับพระนางมัทรีว่าจะดูแลพระโอรสธิดาให้ พระนางมัทรีจึงเสด็จไปหาผลไม้ในป่าแต่ลำพัง 


ครั้นชูชกเห็นได้เวลาแล้ว จึงมุ่งมาที่อาศรม ได้พบพระชาลีพระกัณหาทรงเล่นอยู่หน้าอาศรม ก็แกล้งขู่ ให้สองพระองค์ตกพระทัยเพื่อข่มขวัญไว้ก่อน แล้วชูชกพราหมณ์เฒ่าก็เข้าไปเฝ้า พระเวสสันดรกล่าววาจากราบทูลด้วยโวหาร อ้อมค้อมลดเลี้ยว ชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อทูลขอ พระโอรสธิดาไปเป็นข้าช่วงใช้ของตน 
พระเวสสันดรทรงมีพระทัยยินดีที่จะทรงกระทำบุตรทาน คือ การบริจาคบุตรเป็นทาน อันหมายถึงว่า พระองค์เป็นผู้สละกิเลส ความหวงแหนในทรัพย์สมบัติทั้งปวง แม้กระทั่งบุคคลอันเป็นที่รัก ก็สามารถสละ เป็นทานเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่พระองค์ทรงผัดผ่อนต่อชูชกว่า ขอให้ พระนางมัทรีกลับมาจากป่าได้ร่ำลาโอรสธิดา เสียก่อนชูชกก็ไม่ยินยอม กลับทูลว่า
"หากพระนางกลับมา สัญชาตญาณแห่งมารดา ย่อมจะทำให้พระนางหวงแหนห่วงใย พระโอรสธิดา ย่อมจะไม่ทรงให้พระโอรส ธิดาพรากจากไปได้ หากพระองค์ทรง ปรารถนาจะบำเพ็ญทานจริง ก็โปรดยกให้หม่อมฉันเสียแต่บัดนี้เถิด" 
พระเวสสันดรจนพระทัยจึงตรัสเรียกหาพระโอรสธิดา แต่พระชาลีกัณหาซึ่งแอบฟัง ความอยู่ใกล้ๆ ได้ ทราบว่า พระบิดาจะยกตน ให้แก่ชูชก ก็ทรงหวาดกลัว จึงพากันไปหลบซ่อน โดยเดินถอยหลังลงสู่สระบัว เอาใบบัว บังเศียรไว้ ชูชกเห็นสองกุมารหายไป จึงทูลประชดประชันพระเวสสันดรว่าไม่เต็มพระทัย บริจาคจริง ทรงให้สัญญาณสองกุมารหนีไปซ่อนตัวเสียที่อื่น พระเวสสันดร จึงทรงต้องออกมาตามหาพระชาลีกัณหา 

ครั้นทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าเดินขึ้นมาจากสระ จึงตรัสเรียกพระโอรสธิดาว่า 
"ชาลีกัณหา เจ้าจงขึ้นมาหาพ่อเถิด หากเจ้านิ่งเฉยอยู่ พราหมณ์เฒ่าก็จะเยาะเย้ยว่าพ่อนี้ ไร้วาจาสัตย์ พ่อตั้งใจจะบำเพ็ญทานบารมี เพื่อสละละกิเลสให้บรรลุพระโพธิญาณ จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ในภายภาคหน้า ให้พ้นจากทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด เจ้าจงมาช่วยพ่อประกอบการบุญเพื่อบรรลุผล คือ พระโพธิญาณนั้นเถิด" 
ทั้งสองกุมารทรงได้ยินพระบิดาตรัสเรียก ก็ทรงรำลึกได้ถึงหน้าที่ของบุตรที่ดี ที่ต้องเชื่อฟังบิดามารดา รำลึกได้ถึงความพากเพียรของพระบิดาที่จะประกอบ บารมีเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ทั้งยังรำลึกถึงขัตติยมานะว่าทรงเป็น โอรสธิดากษัตริย์ไม่สมควรจะหวาดกลัวต่อสิ่งใด จึงเสด็จขึ้นมาจากสระบัว พระบิดาก็จูงทั้งสองพระองค์มาทรงบริจาคเป็นทานแก่ชูชก 
ชูชกครั้นได้ตัวพระชาลีกัณหาเป็นสิทธิขาดแล้ว ก็แสดงอำนาจฉุดลากเอาสอง กุมารเข้าป่าไป เพื่อจะให้เกิดความยำเกรงตน พระเวสสันดรทรงสงสารพระโอรสธิดา แต่ก็ไม่อาจทำประการใดได้เพราะทรงถือว่า ได้บริจาคเป็นสิทธิแก่ชูชกไปแล้ว 

ครั้นพระนางมัทรีทรงกลับมาจากป่าในเวลาพลบค่ำ เที่ยวตามหาโอรสธิดาไม่พบ ก็มาเฝ้าทูลถามจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรจะทรงตอบความจริงก็เกรงว่า นางจะทนความเศร้าโศกมิได้ จึงทรงแกล้งตำหนิว่านางไปป่าหาผลไม้กลับมาจนเย็นค่ำ คงจะรื่นรมย์มากจนลืมนึกถึงโอรสธิดาและสวามีที่คอยอยู่ 
พระนางมัทรี ได้ทรงฟัง ก็เสียพระทัย ทูลตอบว่า 
"เมื่อหม่อมฉันจะกลับอาศรม มีสัตว์ร้ายวนเวียนดักทางอยู่ หม่อมฉันจะมา ก็มามิได้จนเย็นค่ำ สัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงจากไป หม่อมฉันมีแต่ความสัตย์ซื่อ มิได้เคยนึกถึงความสุขสบายส่วนตัวเลยแม้แต่น้อยนิด บัดนี้ลูกของหม่อมฉันหายไป จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็มิทราบ หม่อมฉันจะเที่ยวติดตามหาจนกว่าจะพบลูก" 

พระนางมัทรีทรงออกเที่ยวตามหาพระชาลีกัณหาตามรอบบริเวณศาลา เท่าไรๆ ก็มิได้ พบจนในที่สุด พระนางก็สิ้นแรงถึงกับสลบไป พระเวสสันดรทรงเวทนา จึงทรงนำน้ำเย็นมาประพรมจนนางฟื้นขึ้น ก็ตรัสเล่าว่าได้บริจาค โอรสธิดาแก่พราหมณ์เฒ่าไปแล้ว ขอให้พระนางอนุโมทนาในทานบารมีที่ทรงกระทำ ไปนั้นด้วยบุตรทานที่พระราชสวามีทรงบำเพ็ญ และมีพระทัยค่อยบรรเทาจากความโศกเศร้า 

ฝ่ายท้าวสักกะเทวราชทรงเล็งเห็นว่า หากมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรีไป พระเวสสันดร ก็จะทรงลำบาก ไม่อาจบำเพ็ญเพียรได้เต็มความปรารถนา เพราะต้องทรงแสวงหาอาหารประทังชีวิต ท้าวสักกะจึงแปลงองค์เป็นพราหมณ์ มาขอรับบริจาคพระนางมัทรี 
พระเวสสันดร ก็ทรงปิติยินดีที่จะได้ประกอบทารทาน คือ การบริจาคภรรยาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น พระนางมัทรีก็ทรงเต็มพระทัยที่จะได้ทรงมีส่วนในการ บำเพ็ญทานบารมีตามที่พระเวสสันดรทรงตั้งพระทัยไว้ 

เมื่อได้รับบริจาคแล้ว ท้าวสักกะก็ทรงกลับคืนร่างดังเดิม และตรัสสรรเสริญอนุโมทนาในกุศลแห่งทานบารมีของพระเวสสันดร แล้วถวายพระนางมัทรีกลับคืนแด่พระเวสสันดร พระเวสสันดรจึงได้ทรงประกอบบุตรทารทาน อันยากที่ผู้ใดจะกระทำได้ สมดังที่ได้ตั้งพระทัย ว่าจะบริจาคทรัพย์ของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยปราศจากความหวงแหนเสียดาย 

ฝ่ายชูชกพาสองกุมารเดินทางมาในป่า ระหกระเหินได้รับความลำบากเป็นอันมาก และหลงทางไปจนถึงเมืองสีพี บังเอิญผ่านไปหน้าที่ประทับพระเจ้าสญชัยทรงทอด พระเนตรเห็นพระนัดดาทั้งสองก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า ชูชกทูลว่า พระเวสสันดรทรงบริจาคพระชาลีกัณหาให้เป็นข้าทาสของตนแล้ว บรรดาเสนาอำมาตย์และประชาชนทั้งหลาย ต่างก็พากันสงสารพระกุมารทั้งสอง และ ตำหนิพระเวสสันดรที่มิได้ทรงห่วงใยพระโอรสธิดา 

พระชาลีเห็นผู้อื่นพากันตำหนิติเตียนพระบิดาจึงทรงกล่าวว่า 
"เมื่อพระบิดาเสด็จไปผนวชอยู่ในป่า มิได้ทรงมีสมบัติใดติดพระองค์ไป แต่ทรงมีพระทัยแน่วแน่ที่จะสละกิเลส ไม่หลงใหลหวงแหนในสมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้บุคคลอันเป็นที่รักก็ย่อมสละได้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะทรงมีพระทัยมั่นในพระโพธิญาณในภายหน้า ความรัก ความหลง ความโลภ ความโกรธ เป็นกิเลสที่ขวางกั้นหนทางไปสู่พระโพธิญาณ พระบิดาของหม่อมฉันสละกิเลสได้ดังนี้ จะมาตำหนิติเตียนพระองค์หาควรไม่" 

พระเจ้าสญชัยได้ทรงฟังดังนั้นก็ยินดี จึงตรัสเรียกพระชาลีให้เข้าไปหา แต่พระชาลี ยังคงประทับอยู่กับชูชก และทูลว่า พระองค์ยังเป็นทาสของชูชกอยู่ พระเจ้าสญชัยจึงขอไถ่สองกุมารจากชูชก 
พระชาลีตรัสว่า พระบิดาตีค่าพระองค์ไว้พันตำลึงทอง แต่พระกัณหานั้นเป็นหญิง พระบิดาจึงตีค่าตัวไว้สูง เพื่อมิให้ผู้ใดมาไถ่ตัวหรือซื้อขายไปได้ง่ายๆ พระกัณหา นั้นมีค่าตัวเท่ากับทรัพย์เจ็ดชีวิต เจ็ดสิ่ง เช่น ข้าทาส หญิงชาย เป็นต้น สิ่งละเจ็ดร้อย กับทองคำอีกร้อยตำลึง 
พระเจ้าสญชัยก็โปรดให้เบิกสมบัติท้องพระคลังมาไถ่ตัวพระนัดดาจากชูชก และโปรดให้จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูชูชก เพื่อตอบแทนที่พาพระนัดดากลับมาถึงเมือง 

ชูชกพราหมณ์เฒ่าขอทาน ไม่เคยได้บริโภคอาหารดีๆ ก็ไม่รู้จักยับยั้ง บริโภคมาจนทนไม่ไหว ถึงแก่ความตายในที่สุด พระเจ้าสญชัยโปรด ให้จัดการศพแล้วประกาศหาผู้รับมรดก ก็หามีผู้ใดมาขอรับไม่ หลังจากนั้นพระเจ้าสญชัย จึงตรัสสั่งให้จัดกระบวนเสด็จเพื่อไปรับ พระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนสู่เมืองสีพี เพราะบรรดาประชาชนก็พากันได้คิดว่า พระเวสสันดรได้ทรงประกอบทานบารมี อันยิ่งใหญ่กว่าทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อประโยชน์แห่งผู้คนทั้งหลาย หาใช่เพื่อพระองค์เองไม่ เมื่อกระบวนไปถึงอาศรมริมสระโบกขรณี กษัตริย์ทั้งหกก็ทรงได้พบกันด้วยความโสมนัสยินดี 

พระเจ้าสญชัยจึงตรัสบอกพระเวสสันดรว่า ประชาชนชาวสีพีีได้เห็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว และพากันร่ำร้อง ได้ทูลเชิญเสด็จกลับเมืองสีพี พระเวสสันดร พระนางมัทรี และพระชาลีกัณหา จึงได้เสด็จกลับเมือง พระเจ้าสญชัยทรงอภิเษกพระเวสสันดรขึ้นครองเมืองสืบต่อไป 

ครั้นได้เป็นพระราชาแห่งสีพี พระเวสสันดรก็ทรงยึดมั่นในการประกอบทานบารมี ทรงตั้งโรงทานบริจาคเป็นประจำทุกวัน ชาวเมืองสีพีตลอดจนบ้านเมืองใกล้เคียง ก็ได้รับพระเมตตากรุณา มีความร่มเย็นเป็นสุข ชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน มิได้โลภ กระหายในทรัพย์สมบัติ ต่างก็มีจิตใจผ่องใสเป็นสุข เหมือนดังที่พระเวสสันดรทรงตั้งพระปณิธานว่า พระองค์จะทรงบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ด้วยทรัพย์ทั้งหลาย ทำให้เกิดกิเลส คือ ความโลภ ความหลงหวงแหน เมื่อบริจาคทรัพย์แล้ว ผู้รับก็จะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น และมีความชื่นชม ยินดี ผู้ให้ก็จะ อิ่มเอมใจว่าได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดความปิติยินดีเช่นกัน ทั้งผู้ให้และผู้รับย่อมได้รับ ความสุขความพึงพอใจดังนี้ 


คติธรรม : บำเพ็ญทานบารมี

"สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณความดีโดยมิท้อถอย หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนื่องนิจก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป คนโลภคนจิต"				
10 มีนาคม 2551 08:04 น.

ไม่ขายม้าพยศ

ยิ้มๆ

นกยูง มีม้าที่พยศและดุร้ายตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำอันตรายแก่คนขี่ได้ทุกเวลา   มีเพื่อนคนหนึ่งห่วงใยในความปลอดภัยจึงเตือนนกยูงว่า ม้าพยศและดุร้ายตัวนี้เป็นอันตรายกับคนขี่   ควรจะรีบขายไปดีกว่า ไม่ควรขาย ทำไมจึงไม่ควรขาย แกนี่โง่จริงๆ หยูกงกล่าวว่า ถ้าผมจะขายก็ย่อมจะมีคนซื้อ แต่ถ้าทำเช่นนี้จะไม่เป็นการให้ร้ายแก่คนซื้อหรอกหรือ ผมจะเอาสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเอง ถ่ายโอนไปให้แก่คนอื่นได้อย่างไร				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟยิ้มๆ
Lovings  ยิ้มๆ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟยิ้มๆ
Lovings  ยิ้มๆ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟยิ้มๆ
Lovings  ยิ้มๆ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงยิ้มๆ