1 มกราคม 2553 16:09 น.

ฉันเสียใจ

อรรธนิศา

ฉันเคยภูมิใจเธอเสมอมั่น
ไม่เคยหวั่นพะวงหรือสงสัย
มีแต่ความคิดถึง...ซึ้ง..อาลัย
เชื่อหทัยในเธอเสมอมา

ถึงเดี๋ยวนี้และต่อไปเชื่อใจเถิด
มิเคยเทิดทูนใครอย่างใดหนา
ถึงจะต้องเหินห่างในบางครา
ทุกเวลาคำนึงถึงแต่เธอ

แต่เธอซิ....กลับไม่เชื่อใจฉัน
คอยแต่หวั่นระแวงแคลงเสมอ
เพียงที่ต้องห่างไปมิได้เจอ
ใจของเธอคนเดิม..เริ่มเปลี่ยนแปลง

ฉันเสียใจเอามากไม่อยากเอ่ย
ฉันไม่เคยคิดคลายหรือหน่ายแหนง
แต่เธอซิใยขลาดหวาดระแวง
ถึงจะแสร้างเงียบงัน.....ฉันก็รู้				
1 มกราคม 2553 16:01 น.

จากยูงทองถึงจามจุรี (5)

อรรธนิศา

พระเกี้ยวน้องร้อยคำหนำใจเหลือ
อ่านไม่เบื่อทุกตอนอ้อนเปิดเผย
ช่างสรรหาคำเทียบออกเปรียบเปรย
เหมือนน้องเคยน้อยใจอะไรมา

เรื่องการงานตอนนี้มีรับน้อย
พี่ต้องคอยฟังความคอยถามหา
ตอนนี้พี่สมัครแล้วหนึ่งอัตรา
ไม่รู้ว่าจะได้ข่าวคราวเช่นไร

ที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว
เพียงแห่งเดียวที่สอบตอบคำไข
หากว่าบุญวาสนาชะตาไกล
ก็คงได้งานดีมีเงินตรา

พี่ขอบใจน้ำจิตมิตรไมตรี
ความหวังดีต่อพี่เป็นนักหนา
ขอให้สมดังคำภาวนา
พี่จะพาไปฉลองตามต้องการ

และดีใจกับน้องด้วยในวันนั้น
ใครก็ฝันวันชื่นระรื่นหวาน
วันปิติ สมหวังดังดวงมาน
จงเบิกบานซ่านสุขทุกเวลา

พี่มีแต่เพลงกลอนอวยพรให้
แทนน้ำใจจากพี่ที่สรรหา
เป็นของขวัญวันรับปริญญา
แม้ได้มาอันดับสองก็ต้องใจ

อีกเมื่อไหร่ได้ฉลองน้องบัณฑิต
พี่ขอคิดเป็นเจ้ามือจะได้ไหม
เลี้ยงฉลองน้องนี้พี่ภูมิใจ
บัณฑิตใหม่เกียรตินิยมสมอุรา

เรื่องหนังสือรวมกลอนสุนทรถ้อย
ระหว่าง ต้อย กับ พี่ ดีนักหนา
ไว้รอให้ได้พจน์หลายบทมา
จะรวมหน้าให้เต็มเป็นเล่มโต

ต้อยกับพี่ช่วยกันบรรจงเขียน
ร่วมกันเพียรก็จักได้อักโข
เพื่อไว้อ่านแก้เหงา เอาไว้โชว์
ใช่จะโอ้อวดดอก บอกตรงตรง

พี่ฝ่ายศิลป์ฝ่ายสร้างวางรูปเล่ม
น้องคงเต็มใจช่วยมิให้หลง
จัดลำดับก่อนหลังอย่างบรรจง
มันก็คงสำเร็จได้ดังใจปอง

ถึงไม่เคยเรียนวิชาวารสาร
ได้นงคราญเกียรตินิยมอันดับสอง
มาร่วมคิดร่วมทำตามทำนอง
คิดว่าต้องสำเร็จงามตามพรรณนา

บทกลอนพี่ที่ให้แม้ไม่เพราะ
และไม่เหมาะจะนำไปใช้ศึกษา
แต่ถ้าหากน้องเหงาเศร้าอุรา
ช่วยแก้วตาหายโศกก็โชคดี

แม้กระต๊อบน้อยน้อยกระจ้อยจิ๊ด
พี่ก็คิดพอใจไม่หน่ายหนี
หากที่นั้นเต็มใจมิตรไมตรี
พี่ยินดีค้อมกายเข้าใจเรือน

ถึงคับที่ก็ใช่ใจจะคับ
น้องก็นับถือพี่นี้เสมือน
ใบต้องกริ่งเกรงว่าผู้มาเยือน
จะต้องเบือนหน้ากลับลาลับไป

พี่ต้องไปเยี่ยมเยือนไม่เชือนแช
ขอเพียงแต่วันน้องว่างอย่างขานไข
พี่จะไปเคาะเรียกหัวกระได
ก็คงไม่นานนักจักพบกัน

สดับในคำตอบชื่นชอบแล้ว
โอ้น้องแก้วช่างแกล้งแต่งคำสรร
ช่างออดอ้อนวอนวากย์ฝากสัมพันธ์
แล้วพี่นั้นจะไม่ชอบตอบอย่างไร

เพื่อนแก้เหงายามนี้ก็มีนุช
เธอผู้จุดแสงทองส่องไสว
ให้ ยูงทอง ที่เหี่ยวเฉาเจ้าผลิตใบ
กลับสดใสงามงอกดอกเช่นเคย

เจ้าพระยาสดใสในยามค่ำ
ร่ายลำนำคำกลอนวอนเฉลย
ยามเมื่อ อรรธนิศา เคลื่อนคล้อยเลย
คนที่เคยเงียบเหงาคงเข้าใจ

พี่ชอบเขียนลำนำในยามนี้
ยามราตรีเงียบเสียงสำเนียงไหน
จะมีบ้างก็หรีดหริ่งและเรไร
ทั้งลองไนขับกล่อมย้อมอุรา

ที่เล่ามาเป็นตำนานการตั้งชื่อ
และนั่นคือประวัติ อรรธนิศา 
เพื่อให้น้องได้รู้จักนามปากกา
ของพี่ยานามนี้มิเหมือนใคร

กลอนบทแรกที่เขียนเริ่มเรียนรัก
ใจคึกคักเขียนกานท์หวานสดใส
ทุกทุกถ้อยร้อยเรียงตามเสียงใจ
จึงหลั่งไหลมากมายให้ชื่นชม

เมื่อรู้จักรักแรกแทรกรสหวาน
ไม่เนิ่นนานหวานชื่นเป็นขื่นขม
ทำให้เกิดกลอนได้ หลายอารมณ์
พี่สร้างสมเขียนไว้เตือนใจตน

เขียนเพ้อเจ้อมากมายตั้งหลายบท
น้องคงอดคิดไม่ได้ให้ฉงน
ใยจึงเขียนเรื่องราวกล่าววกวน
ให้สับสนเบื่อหน่ายหรือไรนี่

พี่ดีใจที่คลายเหงา-เศร้าจากน้อง
ยามที่ต้องร้างเลือนเพื่อนหลีกหนี
พี่จะอยู่เป็นเพื่อน จามจุรี
ปลอบชีวีให้สดใสใหม่เหมือนเดิม

ฝากเพลงโดม-เจ้าพระยามาขับกล่อม
รักจะน้อมนำจิตคิดสร้างเสริม
จามจุรี สีสันนั้นเหมือนเดิม
และคงเริ่มผลิดอกออกช่องาม

ส่วน ยูงทอง นั้นเล่าเริ่มเฉาเหี่ยว	
โดนเขาเหนี่ยวกิ่งรั้งทั้งเหยียดหยาม
โดม แทบฟังเพราะพ่ายภัยสงคราม
เป็นสนามรบย่อยบ่อยเหลือเกิน

อีกนานช้ากว่าจะฟื้นกลับคืนแน่
มีก็แต่คนเขาเฝ้าห่างเหิน
ใครที่ผ่านมาเห็นทำเป็นเมิน
ที่เคยเดินเมินหมางถากถางกัน

เจ้าพระยา จึงเหงาเศร้าเหลือเอ่ย
โดม ที่เคยกล้าแกร่งไม่แข็งขัน
ขาดสำเนียงเสียงกล้าท้าประชัน
ท่าพระจันทร์ จึงเงียบดูเยียบเย็น

ถึงอย่างไร ลูกโดม ไม่โทรมทรุด
รีบเร่งรุดฟื้นฟูชูให้เห็น
ให้ปรากฏลือนามความเคยเป็น
โดม ยังเด่นเป็นสง่าทั่วราตรี

ขอขอบใจ จามจุรี ที่มีจิต
ไม่เคยคิดห่างเหินเมินศักดิ์ศรี
โดม ดำรงคงอยู่คู่ธาตรี
จามจุรี เช่นกันเป็น ขวัญโดม				
Calendar
Lovers  1 คน เลิฟอรรธนิศา
Lovings  อรรธนิศา เลิฟ 1 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟอรรธนิศา
Lovings  อรรธนิศา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟอรรธนิศา
Lovings  อรรธนิศา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงอรรธนิศา