1 สิงหาคม 2545 04:08 น.

เตือนภัย ระวังเสียค่าโง่! 10 กลโกงบนเน็ต

ธนรัฐ สวัสดิชัย

มีข้อมูลเกี่ยวกับการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต ว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมด ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีจำนวนกว่า 144 ล้านคน ในประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2544 สำรวจโดย เนคเทค ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวน 3.5 ล้านคน (http://ntl.nectec.or.th/internet) นอกจากนี้ รายงานสำรวจเรื่อง การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต เมื่อปี พ.ศ.2543 ของหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า National Fraud Information Center ซึ่งมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าและบริการทางอินเตอร์เน็ต พบว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกัน มีการร้องเรียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,014 เรื่อง และเมื่อรวมมูลค่าความเสียหายตลอดทั้งปีคิดเป็นเงิน 3,387,530 ดอลลาร์สหรัฐ หรือความเสียหายเฉลี่ยต่อบุคคลคิดเป็นจำนวนเงิน 427 ดอลลาร์สหรัฐ 

เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ การประมูลสินค้าทางอินเตอร์เน็ต(78%) การซื้อสินค้าทั่วไป(10%) การให้บริการอินเตอร์เน็ต(3%) การประกอบธุรกิจที่บ้าน(3%) และการให้สินเชื่อล่วงหน้า(2%) ตามลำดับ และจากการสำรวจในปี 2544 ที่ผ่านมา พบว่าผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 4,371,724 ดอลลาร์สหรัฐ 

การใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงมีหลายวิธีการ ตั้งแต่วิธีการดั้งเดิมที่อาจพบโดยทั่วไปไปจนถึงวิธีการที่สลับซับซ้อน ผู้หลอกลวงใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณชน 



เตือนภัย ระวังเสียค่าโง่! 

10 กลโกงบนเน็ต 

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้จัดพิมพ์คู่มือสำหรับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ฉบับเผยโฉม 10 กลโกงทางอินเตอร์เน็ตจากการศึกษาข้อมูล สถิติเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตสำหรับแจกจ่ายแก่ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป พบว่ารูปแบบของการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตซึ่งกำลังเป็นที่ฮือฮามีหลากหลายรูปแบบ 

1.โฆษณาขายสินค้าด้วยวิธีการประมูล ผู้ซื้อที่สนใจจะเข้าร่วมการประมูลมักต้องลงทะเบียนเป็น สมาชิกของเว็บไซต์นั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หลังจากนั้นจะได้รับหมายเลขสมาชิกและรหัสผ่าน ผู้ซื้อจะต้องเสนอราคาซื้อแข่งขันกับผู้ซื้อรายอื่น เมื่อเสร็จสิ้นการประมูลถือว่ามีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประมูลและผู้เสนอขาย ในรายงานสำรวจที่กล่าวมาแล้วของบางประเทศ พบว่าเป็นวิธีการหลอกลวงที่พบมากที่สุดเช่นกัน การหลอกลวงมีหลายรูปแบบ เช่น ผู้ขายไม่ส่งมอบสินค้าเพราะไม่มีสินค้าอยู่จริง ปั่นราคา 

2.การหลอกลวงโดยจะส่งเช็คจำนวนหนึ่ง (เช่น ราว 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่ผู้ใช้บริการ เมื่อมีการเบิกเงินตามเช็คแล้ว ก็ถือว่าผู้บริโภคตกลงที่จะใช้บริการของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต มักเป็นการทำสัญญาให้บริการอินเตอร์เน็ตที่มีระยะเวลานาน ผู้หลอกลวงจงใจให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการบริการนั้น 

กล่าวคือเมื่อผู้บริโภคเข้าทำสัญญาดังกล่าวแล้วจะถือว่ายินยอมตามเงื่อนไขทุกประการที่ระบุไว้ และยังอาจจะมีคำขู่ที่กล่าวว่าถ้าหากผู้ใช้บริการ ต้องการเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญา จะถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่สูง 

3.การชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต เนื่องจากมีความสะดวก ผู้ซื้อสามารถให้ข้อมูลบัตรเครดิตคือ หมายเลขบัตรเครดิต ชื่อ-สกุลของผู้ถือบัตร และวันหมดอายุแก่ร้านค้า ร้านค้าสามารถตรวจสอบได้เพียงว่า บัตรดังกล่าวเป็นบัตรที่ออกโดยผู้ออกบัตรจริง แต่ไม่สามารถตรวจสอบตัวบุคคลผู้ใช้บัตรได้ว่าเป็นบุคคลใด 

ลักษณะการหลอกลวง เช่น การให้บริการดูภาพลามก อนาจารฟรี สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป(ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา) แต่ผู้บริโภคต้องแจ้งข้อมูลบัตรเครดิตให้ผู้ให้บริการทราบ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วผู้หลอกลวงจะใช้ข้อมูลนี้ไปกระทำผิดในที่อื่น 

4.ใช้วิธีการเข้าควบคุมโมเด็มของบุคคลอื่น ลักษณะการหลอกลวง การโฆษณาการให้บริการสื่อลามกอนาจารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้ใช้บริการจะต้องติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อดูภาพดังกล่าวหรือเรียกว่า viewer หรือ dialer ของผู้ให้บริการ เมื่อผู้ใช้บริการเปิดดูภาพด้วยโปรแกรมข้างต้นแล้วโปรแกรมฯ จะควบคุมการทำงานของโมเด็ม และสั่งให้หยุดการทำงานโดยที่ผู้ใช้บริการไม่รู้ตัว แล้วจะสั่งให้มีการต่อเชื่อมผ่านโมเด็มอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นการใช้โทรศัพท์ ทางไกลจากที่ใดที่หนึ่ง 

5.การหลอกลวงว่ามีการให้บริการเปิดเว็บเพจ (web page) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เช่น การเปิดเว็บเพจเป็นเวลา 30 วัน และไม่มีข้อผูกพันใดๆ ถ้าไม่ใช้บริการต่อไป 

ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อมีการตกลงใช้บริการดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้บริการจะถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ หรือค่าใช้บริการในการมีเว็บเพจ(ค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่) เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตนไม่เคยใช้บริการหรือไม่ได้สมัครแต่อย่างใด 

6.โดยใช้การตลาด หรือการขายแบบตรง โดยมีการชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่ายธุรกิจ โดยการกล่าวอ้างว่าผู้ขายจะได้รับสิทธิในการจำหน่ายสินค้าหลายชนิด และได้รับผลประโยชน์จากการขายสินค้าหรือชักชวนบุคคลอื่นเข้ามาเป็นตัวแทนขายตรงเป็นทอดๆ ทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงมีจำนวนน้อยราย 

ผู้บริโภคที่เข้าร่วมเครือข่ายจะต้องชำระค่าสมาชิกจำนวนหนึ่ง แต่จะไม่มีรายได้ประจำแต่อย่างใด รายได้ของผู้บริโภคจึงไม่แน่นอนและมักจะไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่ผู้หลอกลวงกล่าวอ้าง 

7.การหลอกลวงโดยเสนอให้เงินจากประเทศไนจีเรีย ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะได้รับข้อความจากจดหมายหรืออีเมล์(e-mail) จากบุคคลที่กล่าวอ้างว่ามีความสำคัญในประเทศไนจีเรีย เพื่อขอช่วยเหลือในการโอนเงินจำนวนมากไปยังต่างประเทศ โดยผู้บริโภคจะได้รับเงินส่วนแบ่งจำนวนนับล้านเหรียญ 

เมื่อมีการแจ้งข้อมูลบัญชีเงินฝากแล้ว ผู้บริโภคจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตลอดเวลา โดยให้ผู้บริโภคโอนเงินเข้าบัญชีที่แจ้งไว้ ผู้ที่หลอกลวงจึงสามารถเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ 

8.การหลอกลวงให้ประกอบธุรกิจที่บ้าน ลักษณะการหลอกลวง บริษัทที่หลอกลวงจะเชิญชวนให้ผู้ต้องการประกอบธุรกิจทางอินเตอร์เน็ตหรือธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สมัครเป็นสมาชิกเพื่อทำธุรกิจ โดยผู้บริโภคมีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์และสามารถใช้อินเตอร์เน็ตจากที่บ้านได้แต่ในการทำธุรกิจ ไม่มีข้อมูลธุรกิจที่ชัดเจนหรือไม่ทราบว่าตนอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย ผู้ถูกหลอกลวงจะถูกเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกหรือซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อเริ่มทำธุรกิจ 

9.การหลอกลวงให้จดทะเบียนโดเมนเนม ลักษณะการหลอกลวง ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจทางอินเตอร์เน็ตที่ต้องการมีเว็บไซต์และโดเมนเนมของตนเอง จะได้รับการเสนอแนะว่าสามารถได้รับสิทธิในการจดทะเบียนโดเมนเนมในระดับบน ก่อนบุคคลอื่น และถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจองโดเมนเนมที่ต้องการ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีการให้บริการในลักษณะดังกล่าว 

ควรใช้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้บริการของ ศูนย์สารสนเทศเครือข่ายแห่งประเทศไทย(www.thnic.net) 

10.การหลอกลวงโฆษณา หรือขายยามหัศจรรย์ ลักษณะการหลอกลวง การโฆษณาหรือขายยาทางอินเตอร์เน็ตที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือสามารถบรรเทาความเจ็บป่วยได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และมักอ้างว่ายาเหล่านี้ได้รับการรับรองหรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว 

ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยที่ซื้อยาดังกล่าวโดยเชื่อว่าสามารถรักษาความเจ็บป่วยได้ อาจต้องสูญเสียเงินหรือโอกาสในการได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธนรัฐ สวัสดิชัย
Lovings  ธนรัฐ สวัสดิชัย เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธนรัฐ สวัสดิชัย
Lovings  ธนรัฐ สวัสดิชัย เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธนรัฐ สวัสดิชัย
Lovings  ธนรัฐ สวัสดิชัย เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงธนรัฐ สวัสดิชัย