14 มิถุนายน 2551 16:28 น.

อาขยานสร้างสรรค์การเรียนรู้

ธมกร

อาขยานสร้างสรรค์การเรียนรู้ 
ศิวกานท์ ปทุมสูติ


หากคุณคิดว่าการท่องอาขยานเป็นเรื่องล้าสมัย  คุณนั่นแหละล้าสมัย
ถ้าคุณคิดว่าการท่องอาขยานเป็นเรื่องของนกแก้วนกขุนทอง  
คุณนั่นแหละนกแก้วนกขุนทอง
จำคำพูดของใครเขามาตื้นเขินนัก
ถ้าคุณคิดว่าการท่องอาขยานเป็นเรื่องเสียเวลา  
นั่นแสดงว่าคุณไม่เคยได้ให้เวลากับการท่องอาขยานเลย
จึงไม่เคยได้รับรู้รสและอิ่มเอมกับรัก

และถ้าคุณคิดว่าการท่องอาขยานเป็นเรื่องต้องห้าม!
คุณก็ต้องห้ามพระและนักบวชทุกลัทธิศาสนาในบ้านเมืองของเราสวดมนต์!  
อีกทั้งจะต้องห้ามนักร้องหรือผู้คนทั้งหลายในประเทศนี้ร้องเพลง!  
เพราะทั้งนักสวดและนักร้องก็ล้วนเป็นนักท่องจำ
 
อาขยาน [อา-ขะ-หยาน] น.บทท่องจำ; การเล่า, การบอก; การสวด; เรื่อง, นิทาน
ซึ่งในที่นี้จะเน้นเฉพาะความหมายของ บทท่องจำ อันเป็นบทกวีเท่านั้น
แต่ก่อนอื่น, ขอถามคุณว่าชอบฟังเพลงไหม  เคยร้องเพลงไหม
นิทานล่ะ  เรื่องเล่าล่ะ ชอบฟังไหม  เคยฟังไหม
เกิดมาเคยสวดมนต์บ้างหรือเปล่า 
ถ้าไม่ชอบและไม่เคย  คุณน่าจะเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ!  
และขอร้องเถอะ  โปรดหยุดอ่านข้อเขียนนี้
คาลิล ยิบราน กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ คำครู ของเขาว่า
ฉันควรจะเป็นต้นอ้อที่หักเพราะถูกฝ่าเท้าของผู้คนเหยียบย่ำ
เพราะการเป็นเช่นนั้นดีเสียยิ่งกว่าการเป็นพิณในบ้านของบุคคล
ผู้ซึ่งนิ้วมือของเขาพิการ และคนในบ้านของเขาก็หูหนวก เมินต่อเสียงดนตรี
สำหรับผม, อยากจะบอกว่า  ถ้าหากคุณเป็นผู้ซึ่งเปล่าไร้ดวงใจ 
ที่จะแบ่งปันให้กับบทเพลงของชีวิต  
แม้แต่นิทานหรือเรื่องเล่าก็มิสดับรับรส
มิไยดีต่อบทสวดบริกรรมก็ป่วยการที่เราจะเสพเสวนาต่อกัน!
เพราะบทท่องจำหรืออาขยานที่ผมกำลังพูดถึงมันก็คือคนละเรื่องเดียวกันนั่นเอง


แท้จริงแล้วการท่องอาขยาน [บทกวี] มีคุณค่ามากกว่าที่ใครหลายคนคิด
นั่นคือ  ขณะท่องจะก่อให้เกิดกระบวนการจัดระเบียบจิต  
เกิดความมีสมาธิ  
สั่งสมทักษะแห่งท่วงทำนองชีวิต  ซึมซับอรรถรสแห่งเนื้อหา  
โน้มนำสภาวะจิตวิญญาณให้ดื่มด่ำกับสุนทรียภาพ
กระตุ้นความคิดและจินตนาการเชื่อมโยงสู่การเข้าถึงความนัยหลายมิติ  
อันจะผลิดอกออกผลเป็นผลึกและพลังทางปัญญา
ความมีจิตประภัสสรต่อความงาม  ความรัก  และผัสสะทางอารมณ์ต่างๆ
ความลึกซึ้ง  ภาวะการเข้าถึงมโนคติ  ความมีรากเหง้าและตัวตน
 
คุณและผมต่างก็ได้คำตอบตรงกันว่า
บรรดาพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านพื้นเมือง
ล้วนไม่เคยเรียนฉันทลักษณ์คำประพันธ์ใดๆ ในห้องเรียน
แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นต่างท่อง
และร้องเพลงครูกันมาคนละมากมายหลายบทหลายเพลง
ท่องร้องจนได้เนื้อ  ได้ทำนองจังหวะ  ได้คำได้ความคิด  
ได้อารมณ์เพลงและจิตวิญญาณพื้นบ้านพื้นเพลง
วันหนึ่งท่านก็สามารถร้องแยกแตกหน่อ  ด้นได้  
และผูกเพลงใหม่ๆ เป็นของตนเองได้
เพลงที่รัก  คำที่ร้อง  ความคิดความอ่านที่เป็นดั่งดวงดอกไม้แห่งชีวิต
อันประดิดประดอยก็ค่อยๆ จัดจิตจัดใจให้งาม
ให้ประสบพบคุณค่าของชีวิตในรสในรักอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน  
เป็นวิถีที่คุณและครูภาษาไทยทุกคนต้องไม่ละเลย
ลองหันกลับมาสำรวจพิจารณาตนเองดูว่าสอนอะไรผิดไปบ้าง
นักการศึกษาและผู้บริหารก็เช่นกัน  รู้  เข้าใจ  
และทำอะไรผิดพลาดกันไปมากน้อยแค่ไหน
สำนึกบาปและกระทำการไถ่บาป [อย่างถูกต้อง] กันบ้างหรือยัง
สำหรับเด็กๆ ถ้าสามารถท่องอาขยานจนขึ้นใจได้
เหมือนพ่อเพลงแม่เพลงที่ท่องเพลงครูนั้นบ้างล่ะ
พวกเขาก็จะเขียนกาพย์กลอนได้
โดยไม่ต้องเรียนรู้ฉันทลักษณ์คำประพันธ์เช่นเดียวกัน
ลองเดินตามรอยครูเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองกันดูเถิด  
นั่นแหละของแท้ของการเรียนรู้
หรือแม้ว่าไม่ประสงค์จะคิดจะเขียนกาพย์กลอนก็ตาม
การท่องอาขยานก็จะยังส่งผลให้พัฒนาการเรียนรู้
และเติมคุณค่าของชีวิตที่กำลังขาดหาย
ตัวตนและรากเหง้าที่เราต่างถวิลหาก็จะมีและกลับคืนมา
สำคัญอยู่แต่ว่า  ครูจะต้องกระทำตนให้เป็น ตัวอย่างสร้างศรัทธา ด้วย
ยากใช่ไหมเรื่องนี้,  ไม่ยากหรอกครับถ้ารักและมุ่งมั่น

อาขยานที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ ท่อง  อาจเป็นบทสั้นๆ จบเรื่องในตัว  
เช่น  บทสักวา บทดอกสร้อย หรือบทกวีขนาดสั้น [ไม่เกิน ๑๐ บท]  
หรือเลือกคัดตัดตอนจากเรื่องยาวเฉพาะตอนใดตอนหนึ่ง  
ซึ่งมีอะไรที่ลึกซึ้ง  กินใจ  หรือโดนใจ
อะไร ในที่นี้หมายถึงอะไรก็ได้
ที่ก่อให้เกิดพลังกระทบทางปัญญา  สร้างสรรค์คุณค่าต่ออารมณ์รู้สึก  
มีมิติของชีวิต  จิตวิญญาณ  รากเหง้า  ตัวตน  
มีลีลา  ท่วงทำนอง  ความงาม  ความรัก  และสุนทรียรสต่างๆ
เป็นแบบฉบับให้ยึดถือเป็นแนวทางและพัฒนาสร้างสรรค์ต่อไปได้  
หรืออะไรๆ ทำนองนี้

อาขยานที่ดีมิควรเป็นบทสอนตรง หรือเทศนา หรืออรรถาธิบายแต่เนื้อหา
แต่ควรมีชีวิตชีวา มีภาษาของอารมณ์รู้สึก ชวนนึกชวนคิด
มีพื้นที่ทางจินตนาการให้เป็นเกียรติยศแก่ผู้รับสารจะคิดอ่านเอาเองบ้าง 
ซึ่งครูจะต้องค้นหาอ่านให้มาก  และอ่านให้แตกฉาน  
อ่านให้สามารถสัมผัสนัยที่ลึก  และแหลมคม 
เพื่อให้สามารถเลือกสรรอาขยานที่ดีจริง
นำอาขยานชั้นดีหลายๆ บทที่เลือกแล้วนั้นมาให้เด็กๆ เลือกท่อง
หรือจะบังคับเลือกบ้างก็ได้  เพราะเสรีภาพไม่ใช่การตามใจจนสุดโต่ง!
ชีวิตต้องมียืดมีหยุ่นและมียื้อยุดฉุดดึงกันบ้างพอเป็นกลางๆ ของสายพิณ
ตัวอย่าง

       ผลิเอ๋ยผลิใบ
บนกิ่งก้านวันวัยแสวงหวัง
จากต้นพฤกษ์น้อยน้อมหลอมพลัง
ปกบังร่มใบให้แผ่นดิน
รู้จักตอบแทนไม่ทอดทิ้ง
ขวัญมิ่งภูมิลำเนาเหย้าถิ่น
สู้แดดสู้ฝนจนคุ้นชิน
มีชีวินเพื่อชีวาน่ารักเอย
  
อย่ามัวแต่รออาขยานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดอีกต่อไปเลย
บางบทที่กระทรวงกำหนดแล้วครูเห็นว่าดีจึงค่อยเอาด้วย
บางบทที่เห็นว่ายังไม่ดีพอ  หรือไม่โดนใจ  ก็ไม่ต้องเอา
เลือกเอาเองบ้าง  หาเอาเองบ้าง  กำหนดเองบ้างเถิด  
และต้องไม่ลืมที่จะให้โอกาสเด็กๆ ได้เลือกสรรนำเสนอบ้าง
โดยมุ่งที่ความมี อะไร ซึ่ง ควรค่า แก่การท่องเป็นเป้าหมายร่วมกัน
อาจใช้กระบวนการประชาพิจารณ์ย่อมๆ ด้วยก็จะดีไม่น้อย
เมื่อมีพื้นที่ของความมีส่วนร่วมก็จะยิ่งเพิ่มพื้นที่ของความรัก
และความสมัครยินดีด้วยเสมอ

ไม่ว่าคุณจะเป็นครูหรือครูอาจจะเป็นคุณ
ตราบที่คุณและผมยังเกี่ยวข้องกับเด็กๆ และเยาวชนบนเส้นทางภาษา
อาขยานก็คือสวนดอกไม้ระหว่างทางที่จำเป็นต้องมีเพื่อชีวิต
เพื่อลมหายใจของการเดินทาง
และสร้างสรรค์การเรียนรู้
ขอเป็นกำลังใจให้คุณและครูทุกคน

         อาเอ๋ยอาขยาน
กินครูเป็นอาหารจรรโลงจิต
ซึมซับสุนทรีย์แห่งชีวิต
ดื่มด่ำความคิดของวันเวลา
หอมอารมณ์ดอกไม้ในมนุษย์
พิสุทธิ์ล้ำลึกรู้สึกรู้สา
พี่ชวนน้องท่องเล่นเจรจา
ปลูกรักอาขยานสุขสันต์เอย

มาลองท่องอาขยานจากบทกวีต่อไปนี้กันเถิด


๑.บทดอกสร้อย  

(๑)   
     ดอกเอ๋ยดอกสร้อย             
ค่อยร้อยค่อยเรียงสร้อยเดียงสา
ชุบชะลอชีพลำนำคำผกา        
เพื่อเจ้าดวงกมลาที่ข้ารัก
ด้วยรู้สึกนึกคิดสุจริตร่ำ 
ในดื่มด่ำอารมณ์บรรโลมสลัก
หวังสักคนหนึ่งใครจะทายทัก
เก็บไว้ถักไว้ทอต่อสร้อยเอย

(ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ทุ่งสักอาศรม, ๒๕๔๙)

.........................................................        

(๒)
     ดอกเอ๋ยดอกข้าว
หอมจริงนะเมื่อคราวลมหนาวล่อง
ข้าวนาปีพี่ปลูกด้วยปรองดอง               
ข้าวนาปรังของน้องปลูกด้วยรัก
ดอกข้าวเราจึงหอมไม่จางหาย    
เมื่อลมริ้วหนาวร่ายได้ปกปัก
ขวัญแม่ข้าวเนานามีค่านัก   
พี่ตระหนักน้องถนอมหอมใจเอย

(ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ชุด ดอกข้าวถึงคมเคียว  ในหนังสือ  
วรรณกรรมปฏิสัมพันธ์  ช่วงชั้นที่ ๑  ป.๑-๓, กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๘)

.....................................................

(๓)
     เคียวเอ๋ยเคียวคม             
พ่อเคยก้มแม่เคยเกี่ยวมาแต่ก่อน
เหงื่อที่หว่านรักที่หวังกลางนาดอน      
ทั้งนาลุ่มอรชรขึ้นช้อนเคียว
เคียวของใครคมวาวไยเล่าช้า   
มาซิมาเต้นกำรำเพลงเกี่ยว
โลกต้องการกินข้าวอยู่กราวเกรียว   
อย่าโดดเดี่ยวชาวนาอ่อนล้าเอย

(ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ชุด ดอกข้าวถึงคมเคียว  ในหนังสือ  
วรรณกรรมปฏิสัมพันธ์  ช่วงชั้นที่ ๑  ป.๑-๓, กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๘)

.....................................................
  
(๔)
     ตัวเอ๋ยตัวเอง                  
ไยมิเร่งรู้จักมักจี่
มักรู้แต่เขามิเข้าที                            
คนไม่มีตัวเองน่าอายแท้
เสื้อผ้าผมเผ้าเอาอย่างใคร       
สุ้มเสียงผิดไปจากพ่อแม่
กลับมาเถอะตัวเองอย่าอ่อนแอ  
เที่ยววิ่งแร่ตามเขาไม่เอาเอย

(ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ทุ่งสักอาศรม, ๒๕๔๙)

......................................................

(๕)
     ตัวเอ๋ยตัวหนังสือ              
เสียใจอะไรหรือเดินร้องไห้
จะมีกี่คนที่สนใจ                    
จะมีกี่ใครใฝ่ร่วมทาง
สะพายเป้ปัญญามาแบ่งปัน      
ความคิดความฝันมาสรรค์สร้าง
เที่ยวหาเพื่อนหญิงชายทักทายพลาง  
พบบ้างหรือยังหนังสือเอย

(ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ทุ่งสักอาศรม, ๒๕๔๙)

.........................................................
      
(๖)
     ปลาเอ๋ยปลาตะเพียน        
เคยว่ายเวียนเปลสานเจ้าแก้มใส
ว่ายออกไปนอกเปลเหห่างไกล            
วันที่โลกเปลี่ยนไปเปลี่ยนใจปลา
ตะเพียนเงินตะเพียนทองผิดพ้องพักตร์   
ไม่รู้จักรู้จ้องแล้วน้องข้า
แต่แบเบาะจ้องจอรอเวลา       
ปาปริก้าอบกรอบครอบงำเอย

(ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ทุ่งสักอาศรม, ๒๕๔๙)

..........................................................

๒.บทกวีทั่วไป

(๑) ความรัก     
ศิวกานท์  ปทุมสูติ, ๒๕๔๖

ความรักมิใช่เรื่องน่ารังเกียจ     
หากรู้เจียดหัวใจให้เหมาะสม
มิให้รักชักพาเผลออารมณ์               
จนเกินข่มความใคร่ก่อนวัยงาม

ความรักมิใช่เหตุเทวษทุกข์               
ถ้ามิชั่วชิงสุกเสียก่อนห่าม
ถ้ารู้จักพิทักษ์ไฟมิให้ลาม                 
รักจะพาฝ่าข้ามขวากหนามร้าย

ความรักมิใช่จบที่เตียงนอน          
แต่จะเอื้ออาทรซ่อนความหมาย
เพียงบุปผาค่าคุณกรุ่นกำจาย          
ถ้ามิด่วนทำลายก่อนเวลา

ความรักมิใช่ของทดลองเลือก       
เบื่อก็ถอดเช่นเกือกแล้วซอกหา
ความสำส่อนใช่ทักษะเสริมชีวา        
ราคะใช่ราคาของชีวิต

หนุ่มเอย  สาวเอย  เพิ่งเคยรัก          
จงค่อยฟูมค่อยฟักให้ศักดิ์สิทธิ์
อย่าให้สติปัญญาเธอมืดมิด            
เชื่อว่ารักจักวิจิตร  ทุกดวงใจ.

........................................................

(๒) โลกคงจะสดใส
ศิวกานท์  ปทุมสูติ, สร้อยสันติภาพ, ๒๕๓๒

หากคนเรารู้จักรักผู้อื่น              
พร้อมหยิบยื่นไมตรีบริสุทธิ์
โลกคงจะสดใสไม่โทรมทรุด             
เจริญรุดด้วยรักที่ถักทอ

เข้าใจและเห็นใจกันให้มาก            
น้ำใจหลากเลี้ยงใจมิให้ฝ่อ
อย่าเหมือนปากปราศรัยใจเชือดคอ    
จริงใจต่อกันและกันเป็นมั่นคง

ช่วยปลอบปลุกทุกข์ท้อให้ต่อสู้           
ให้รับรู้ภาระอันสูงส่ง
ว่าสูงสุดมนุษยชาติผู้หยัดยง              
จะปักธงมนุษยธรรมเพียงผืนเดียว

หากคนเรารู้จักเสียสละ               
ละความเห็นแก่ได้ไม่แลเหลียว
แม้ต้องฝืนธรรมชาติที่มัดเกลียว         
กิเลสเหนียวกล้าหน่ายภูมิใจนัก

ไม่เอาเปรียบแต่พร้อมยอมเสียเปรียบ   
เป็นเรือเทียบโดยสารรับงานหนัก
เป็นเมตตาอาทรไม่ผ่อนพัก                 
แล้วจะรู้ว่ารักเป็นอย่างไร

รักที่มีแต่ให้โดยไม่ขอ                          
รักจะก่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่
ยิ่งให้เขาเราจะสบายใจ                      
ใครไม่เคยให้ใครลองให้ดู.

(๓) กอดแน่นแน่นนะแขนน้อย
ศิวกานท์  ปทุมสูติ, รักนั้นเป็นฉันนี้, ๒๕๔๖  

กอดฉันไว้แน่นแน่นนะแขนน้อย     
เราจะลงเรือลอยสายน้ำเชี่ยว
เราจะเลาะเราจะลัดตัดคดเคี้ยว   
ประเดี๋ยวก็จะถึงบึงเวิ้งว้าง

ที่นั่นตะวันรุ่งจะเรืองแสง         
รอนักเสาะแสวงหัวใจสว่าง
นกฟ้า กาน้ำ จะนำทาง            
ไปสู่ความลึกกว้างอันพร่างพราย

ระวังนะที่รักเรือเราเล็ก          
กายใจมิใช่เหล็กบอบช้ำง่าย
พบมัจฉาปลาปูอย่าดูดาย        
อาจบางทีคิดร้ายทำลายเรา

กอดฉันไว้แน่นแน่นนะแขนน้อย   
เรือจะคล้อยคลองคดและโขดเขา
ลมจะพัดเมฆจะพาฟ้าทึมเทา      
จะเพียงหยอกเพียงเย้าให้เรายล

ดูโน่นสิที่รักฟ้าถักรุ้ง            
เรือเรากำลังมุ่งไม่สับสน
อยากฝันก็หลับตาเถอะนฤมล    
ฝันถึงเราสองคนนะคนดี

...................................................

(๔) ประจักษ์ประจานใจ
ศิวกานท์ ปทุมสูติ, หนึ่งทรายมณี, ๒๕๓๑

พิศตีนก็ตีนแตก.....บนรอยแยกระแหงย่ำ
หนังตีนถูกทิ่มตำ.....จนหนาเตอะดั่งเนื้อตาย

พิศมือก็มืองาน.....คือมือกร้านใช่กรีดกราย
จอบเสียมสากระคาย.....ลบลายเส้นวาสนา

พิศบ่าก็บ่าลู่.....ให้รู้เห็นความเป็นบ่า
แบกรับตลอดมา.....ในมรรคาที่ขื่นขม

พิศผิวก็ผิวเผือด.....ไร้เลือดฝาดจะพึงชม
ผ่านฝนทนแดดลม.....มาหลายชั่วฤดูชิน

พิศตาก็ตาช้ำ.....น้ำตากล้ำไว้กลืนกิน
ซ่อนหน้าน้ำตาริน.....กี่ร้อนหนาวพราวน้ำตา

พิศปากก็ปากแห้ง.....เพียงแล้งห้อมทุกหย่อมหญ้า
โหยหิวเพรียกโหยหา.....ก็เหว่ว้าก็วังเวง

พิศร่างก็ร่างเรียว.....ทั้งซูบเซียวไม่ปลั่งเปล่ง
ซมแซ่วและแกร่วเกรง.....ความอยู่รอดอันเลือนราง

พิศชีพก็ชีพชั้น.....กรรมาชีพขาดยุ้งฉาง
ด้อยเปลี้ยเสียทุกทาง.....ท้อรันทดไม่สดใส

พิศโครงก็โครงผูก.....กระดูกโครงทุกคราวไป
ประจักษ์ประจานใจ.....คือภาพใดในแผ่นดิน.

.....................................................

(๕) กล่อมตุ๊กตา
ศิวกานท์  ปทุมสูติ, นครคับแคบ, ๒๕๓๗
(เพลงร้องเรือประยุกต์)

       ตุ๊กตาเอย          ตุ๊กตาชาวไร่
ยามยากยามไร้        นั่งรถไฟความฝัน
ทิ้งไร่ดอกไม้แห้ง      ไปเสาะสีแสงเมืองหมอกควัน
โอ้รถไฟสายฝัน       พบแต่ดอกไม้จันทน์ยามจน

       ตุ๊กตาเอย         ตุ๊กตาชาวนา
ยามโลกสนธยา      ลงนาวาลำพยนต์
ทิ้งกระท่อมใบตาล    ไปสู่สายธารใบไม้หม่น
โอ้นาวาลำพยนต์     ไปล่มกลางฝนทะเลไฟ

       ตุ๊กตาเอย         ตุ๊กตาราคาถูก
เป็นของเล่นของลูก   ยักษ์มารตนไหน
จึงเหมือนทาสอนาถา   เหมือนลูกกาลูกไก่
ให้ยักษ์มารพันธุ์ใหม่   มันกำวิญญาณไว้ในมือ

       ตุ๊กตาเอย          ตุ๊กตาราคาต่ำ
ดึกดื่นคืนค่ำ             จองจำในคาขื่อ
หวังชีวิตวันใหม่        จะสดใสสักมื้อ
แต่คาแต่ขื่อ              ก็ขังเจ้าไว้จนตาย

       ตุ๊กตาเอย          ตุ๊กตายาจก
ขับเกวียนวนิพก       มายกศพเจ้าเนื้อทราย
บ้านนี้เมืองนี้            มีแต่คนดูดาย
จะเข็นศพเจ้าเนื้อทราย     ไปปลงที่ไร่ปลายนาเอย.

........................................................
 
(๖) คิดถึงเทพธิดา
ศิวกานท์  ปทุมสูติ, เสียงปลุกยามค่ำคืน, ๒๕๔๑
(กาพย์สาวหาบน้ำ ๑๓)

       สาวน้อย.....กระโจมอก  
อาบน้ำท่านก.....อาบอาทิตย์อุทัย 

นกน้ำ.....ลำประโดง        
เฝ้ายามอยู่โยง.....ให้สาวแก้มใส     

ลอยคอ.....ในลำคู         
มือน้อยค่อยถู.....เนื้อนกอกใจ     

ขยับ.....เขยื้อนปม         
เพียงเทพพนม.....โฉมน้องยองใย   

เนียนผ้า.....เนียนกายสาว    
ยิ่งเนียนใจหนาว.....ทุกคราวฝันใฝ่     

แฝงตัว.....ใต้บัวบอน       
ปทุมทิพย์อรชร.....ช้อนน้ำรำไร      

ปลอดตา.....ลำประโดง     
ทำซิ่นตีโป่ง.....กระทุ่มน้ำใส      

สายน้ำ.....กับสาวน้อย   
ตะวันรุ่งร้อย.....สร้อยอรุณวิไล    

    สนาน.....สราญชื่น   
ระลอกหยอกกลืน.....เกี้ยวโลมโฉมวัย 

กล้องภาพ.....จากสวรรค์   
บันทึกภาพวัน.....ชีวิตสวยใส        

นกกา.....ริมท่าชล          
ร่ายกวีนิพนธ์.....เพราะพริ้งยิ่งใหญ่ 

สายลม.....เล่นดนตรี         
บรรสานดีดสี.....กับซอลำไผ่

กบเขียด.....ขับลำนำ        
สาวน้อยอาบน้ำ.....อาบรักฝากใจ    

       สาวน้อย.....กระโจมอก   
จากนาท่านก.....อาบน้ำท่าไหน

เปลือยอก.....และเปลือยตัว   
อยู่ใต้ฝักบัว.....สิ้นแล้วหรือไร    

ทุ่งนา.....และฟ้าโค้ง        
เทพธิดาลำประโดง.....อยู่ไกลแสนไกล

..............................................................
 
(๗) ทวนกระแส
ศิวกานท์  ปทุมสูติ, หนึ่งทรายมณี, ๒๕๓๑.  
รางวัลบทร้อยกรองสร้างสรรค์  สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย  ปี ๒๕๓๐.

       ทวนน้ำขึ้นเหนือน้ำ.....เพื่อเห็นน้ำที่อยู่เหนือ
ถ่อเรือสวนทางเรือ.....เพื่อเห็นเรือที่สวนทาง

       โต้คลื่นเข้าหาคลื่น.....เพื่อรู้คลื่นที่ครืนคราง
ฝ่าลมพัดโหมพลาง.....เพื่อพลางรู้ลู่ทางลม

       เสียดทานสิ่งต้านทาน.....เพื่อต้านสิ่งที่เสียดสม
จ่อมจ้วงห้วงลึกจม.....เพื่อจะแจ้งแห่งห้วงลึก

       ปะทะแรงกระแทก.....เพื่อแทรกส่ำความรู้สึก
แน่วนำสำนึกนึก.....เพื่อนึกหาหนทางนำ

       กล้าทวนกระแสโลก.....เพื่อโลกสู่กระแสธรรม
ก่นเกลาเกลศกรรม.....เพื่อกรรมเกลาเกลศกล

       หาญบ่าเข้าแบกบุก.....เพื่อบ่าทุกข์ผ่านทุกข์ทน
สลัดอัตตาตน.....เพื่อตัวตนพ้นอัตตา

       ทวนน้ำขึ้นเหนือน้ำ.....เพื่อข้ามน้ำไปเบื้องหน้า
แรมเรือล่วงธารา.....ตราบธาราว่างเปล่าเรือ.				
14 มิถุนายน 2551 07:49 น.

ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้

ธมกร

C:Documents and SettingsAdministratorMy Documents111ปกfor webปกทุ่งสัก for web
ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้
ศิวกานท์ ปทุมสูติ


     ผมขอสารภาพว่า  ผมเป็นครูภาษาไทยที่เคยหลงทางมาแล้ว  โดยเฉพาะในเรื่องของการสอนนักเรียนเขียนกาพย์กลอน   นั่นก็คือผมเคยสอนแบบเริ่มต้นด้วยการเปิดประตูสู่ความรู้จักรูปแบบฉันทลักษณ์  ชักโยงให้เด็กๆ เข้าใจนิยามความหมาย  อธิบายแผนผัง  ยกตัวอย่างบทประพันธ์ชั้นดี  แล้วก็ชี้ให้เห็นข้อกำหนดนิยมต่างๆ ของร้อยกรองแต่ละประเภทที่สำคัญ   จากนั้นให้ผู้เรียนฝึกเขียนตามขั้นตอนและกิจกรรม 

     การสอนในลักษณะดังกล่าว   ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นการสอนที่ดี  และผมก็เชื่อว่าครูภาษาไทยโดยทั่วไปก็คงจะสอนแบบเดียวกันนี้    แต่ผมกลับได้พบความจริงจากประสบการณ์ดังกล่าวว่านั่นเป็นการสอนที่สร้างบาปแก่วิชาการประพันธ์ไทยอย่างใหญ่หลวง   เป็นบาปที่ซุกซ่อนที่ทั้งครูและนักเรียนต่างก็ไม่รู้ตัว   คือไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างคอกขังแก่ถ้อยคำและจินตนาการที่งดงาม   ก่อให้เกิดความยากลำบาก  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียนแก่นักเรียนทีละเล็กทีละน้อย  จนกระทั่งพวกเขาสะสมพฤติกรรมเชิงปฏิปักษ์หรือปฏิเสธวิชานี้ขึ้นภายใน  ทั้งไม่รู้สึกรักที่จะเขียนและอ่านงานร้อยกรอง

    แต่ทางเลือกใหม่ที่ผมพบในวันนี้ ก็คือทางสายเก่าในรากเหง้าวิถีของชาวบ้านนั่นเอง   

    ผมได้คำตอบจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านหลายต่อหลายคนว่า  การหัดเพลง  ไม่ว่าจะหัดร้องหรือหัดด้นเพลงก็ตาม   ต่างก็เริ่มต้นมาจากการหัดร้องเพลงครูหรือเนื้อร้องของเก่ากันมาก่อนทุกคน   หัดร้องตามครู (ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นปู่รุ่นย่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นพี่)  หัดเป็นลูกคู่รับเพลง  เป็นคอสองคอสามตามโอกาส  หัดปรบมือเข้าจังหวะ  หัดเล่นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพลงชนิดต่างๆ  ซึ่งก็จะเป็นเพลง ขึ้นทีละเล็กละน้อย  จนรู้สึกกลมกลืนรื่นไหลอยู่ในชีวิต   เมื่อได้เนื้อร้องต้นแบบสะสมไว้เป็นต้นทุนมากเข้า   ถึงคราวร้องเล่นก็สามารถยักย้ายแยกด้นเป็นตัวเป็นตนของตัวเองได้มากขึ้นตามลำดับ   นานวันเข้าก็แก่กล้า   มีทางเลือกมีทางเดินเป็นของตนเองที่ชัดเจนตามแต่ภูมิปัญญา  ความฝักใฝ่  และความแตกฉานของแต่ละบุคคล   วิถีของนักเพลงชาวบ้านไม่มีใครเลยที่เริ่มหัดเพลงจากการเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์ (จากตำราหรือจากแผนผังใดๆ) แม้บางคนไม่เคยเรียนหนังสือก็ยังสามารถร้องเพลงได้และผูกเพลง (แต่งเพลง) ได้อย่างน่าอัศจรรย์

   ในทำนองเดียวกัน  เด็กๆ หรือผู้ใหญ่คนใดก็ตามที่ร้องเพลงลูกทุ่ง  ลูกกรุง  สตริงส์  หรือเพลงที่เรียกชื่ออย่างอื่นใดก็ดี   ต่างก็ร้องตามเพลงต้นแบบที่มีคนอื่นร้องมาก่อน   ร้องได้โดยไม่ต้องเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์เพลง  หรือโน้ตเพลง  หรือหลักการแต่งเพลงเหล่านั้น   จากการร้องได้   ก็แต่งเพลงล้อหรือเพลงแปลงได้   บางคนที่สนใจมาก  รักมากชอบมาก  ก็อาจถึงขั้นลองแต่งเนื้อใหม่ทำนองใหม่ขึ้นเอง  เรียนรู้ลักษณะการแต่งเพลง (ฉันทลักษณ์เพลง) จากการสังเกตเพลงของครูเพลงต่างๆ ที่สร้างสรรค์ไว้   สังเกตคำสัมผัสคล้องจอง  ท่วงทำนองในแต่ละท่อนแต่ละตอน  สังเกตเสียงสังเกตคำ  โวหาร  และการเดินทางของเนื้อหา   ลองผิดลองถูกด้วยรักด้วยสนุก  มีความสุขในการคิดการแต่ง   จนกระทั่งบางคนอาจไต่บันไดไปถึงขั้นเป็นศิลปินนักร้องหรือนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียง   ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีวิถีที่มาในทำนองเดียวกันนี้  เป็นการฝึกหัดจากของจริงและตัวตนที่แท้จริง  หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ทฤษฎีในจากการปฏิบัติ  มิใช่เรียนปฏิบัติจากทฤษฎี   

    การฝึกหัดแต่งกลอนหรือร้อยกรองประเภทใดก็ตาม   วิธีที่ดีที่สุดที่ผมพบในขณะนี้ก็คือ  การให้นักเรียนหัดอ่านกลอน  ท่องกลอน  หรือจะขับขานสร้างสรรค์ทำนองอย่างไรก็ได้ (ตามที่สนุกจะทำ)  เลือกกลอนดีๆ  กาพย์ดีๆ  โคลงดีๆ  หรือฉันท์ดีๆ  ที่กระทบใจ (โดนใจ) หรือจับใจนักเรียนเป็นต้นแบบ อาจใช้ทั้งการอ่านนำ อ่านตาม อ่านร่วมกัน หรือท่อง หรือขับขาน ฯลฯ ให้เกิดบรรยากาศของความรื่นรมย์และรื่นรสสม่ำเสมอ  ต่อเนื่อง  กลมกลืนในการเรียนการสอนในชีวิตประจำวัน   จากนั้นจึงค่อยลองแต่ง  โดยไม่ต้องให้ความรู้เรื่องรูปแบบ หรือแผนผังฉันทลักษณ์  อาจจะใช้วิธีแต่งแปลงล้อเลียนก็ได้  เช่น

                       ใดใดในโลกล้วน       อนิจจัง
                   คงแต่บาปบุญยัง             เที่ยงแท้
                   เป็นเงาติดตัวตรัง           ตรึงแน่น  อยู่นา
                   ตามแต่บาปบุญแล้          ก่อเกื้อรักษา
                                                   (ลิลิตพระลอ)  

                      ใดใดในโลกล้วน        อนิจจัง
                   คนบ่ดูหนังสือยัง             สอบได้
                   คนดูหัวแทบพัง              สอบตก
                   เพราะเหตุฉะนี้ไซร้        อย่าได้ดูมัน
                          (พบที่ผนังห้องสุขาของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.)


    โคลงแปลงล้อเลียนที่ยกมานี้มีนัยบอกอะไรอยู่หลายอย่าง  แต่ในที่นี้จะเลือกพูดถึงแต่กรณีของการแต่งร้อยกรองที่ผู้แต่งโคลงบทนี้กระทำ   นั่นคือผู้แต่งรายนี้เป็นผู้ที่มีต้นทุนความทรงจำ ทั้งคำและจังหวะโคลงต้นแบบมาก่อน  ครั้นเมื่อมาได้รับความบันดาลใจบางอย่าง (เกี่ยวกับการดูหนังสือและการสอบ) เข้าก็เกิดแรงขับให้เขียนโคลงล้อเลียนเชิงเสียดสีบทนี้ได้  และเป็นการเขียนได้อย่างโดนใจผู้อ่าน (ผู้มีประสบการณ์ร่วม) ได้ไม่น้อยทีเดียว   นี่คือการเขียนตามวิถีธรรมชาติของศิลปะภาษาที่แฝงพลังอยู่ในชีวิต ที่มีต้นทุนแห่งต้นแบบอยู่อย่างเพียงพอ   

    ข้อควรระวังเป็นสำคัญอย่างยิ่งก็คือ  ครูจะต้องไม่มัวไปใส่ใจจับผิดเรื่องรูปแบบฉันทลักษณ์   ปล่อยให้นักเรียนเขาค่อยค้นหา  ค้นพบข้อสังเกต  ทั้งองค์ความรู้และความคิดจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกด้วยตัวของเขาเอง   ถ้านักเรียนสงสัยไต่ถาม  ครูก็อาจจะตอบอธิบายพอให้กระจ่างเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี   ไม่ควรอธิบายความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่ครูรู้   เพราะว่าวิธีสอนแบบบอกความรู้ นั้นได้ผลน้อยนัก

   สิ่งที่ครูควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพิจารณาผลงานของนักเรียนก็คือ  การให้ความสนใจเรื่องราวที่พวกเขาเขียน   ครูควรแสดงความสนใจใคร่รู้ใคร่ติดตาม  โดยอาจจะชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด   ความบันดาลใจ  เป็นต้นว่า  มีอะไรกระตุ้นหรือมีอะไรเป็นทุนความคิดความรู้สึกจึงเขียนเรื่องดังกล่าว   ต้องการจะบอกอะไรมากกว่าเนื้อหาถ้อยคำที่ปรากฏหรือไม่   มีอุปสรรคในการใช้คำหรือการเขียนตรงไหนบ้าง   เมื่อครูใช้วิธีดังที่ว่านี้  จะทำให้นักเรียนมีความตื่นตัวทางความคิด  ได้แง่มุมจากการสังเกตความคิดของคนอื่นซึมซับสู่การพัฒนากระบวนการคิดของตนเองให้งอกงามยิ่งขึ้น   จะทำให้การเขียนครั้งต่อๆ ไปของแต่ละคนมีความรัดกุมและพิถีพิถันต่อการนำเสนอเนื้อหาโดยธรรมชาติของแรงขับภายในที่ได้รับการกระตุ้นและพัฒนาอย่างถูกวิธี

   เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกยาก  ไม่ต้องพะวงกังวลกับรูปแบบฉันทลักษณ์ในการเขียนร้อยกรองเบื้องต้นของเขา   พวกเขาก็จะก้าวเดินไปบนถนนกาพย์กลอนด้วยความมั่นใจ  สบายใจ  มีความสุข  ในขณะเดียวกันครูก็จัดกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดความงอกงามทางความคิดและคุณค่าของงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ   วันหนึ่งก็จะถึงการขัดเกลารูปแบบฉันทลักษณ์ให้ลงตัวถูกต้องและดีงามสมบูรณ์ได้เองในที่สุด

   ผมจึงอยากเชิญชวนให้ครูภาษาไทยทั้งหลายลองหันมาสอนนักเรียนแต่งกาพย์กลอนกันด้วยวิธีนี้ดู   แล้วท่านจะพบว่าความเครียด  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายวิชาการประพันธ์ของนักเรียนจะลดลง   นักเรียนของท่านจะมีความรักภาษาวรรณศิลป์เพิ่มขึ้น   ในที่สุดก็จะนำพาให้พวกเขารักภาษาไทย  และรักครูภาษาไทยมากขึ้น  ซึ่งเราต่างก็ต้องการเช่นนั้นมิใช่หรือ				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธมกร
Lovings  ธมกร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธมกร
Lovings  ธมกร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธมกร
Lovings  ธมกร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงธมกร