ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้

ธมกร

C:Documents and SettingsAdministratorMy Documents111ปกfor webปกทุ่งสัก for web
ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้
ศิวกานท์ ปทุมสูติ
     ผมขอสารภาพว่า  ผมเป็นครูภาษาไทยที่เคยหลงทางมาแล้ว  โดยเฉพาะในเรื่องของการสอนนักเรียนเขียนกาพย์กลอน   นั่นก็คือผมเคยสอนแบบเริ่มต้นด้วยการเปิดประตูสู่ความรู้จักรูปแบบฉันทลักษณ์  ชักโยงให้เด็กๆ เข้าใจนิยามความหมาย  อธิบายแผนผัง  ยกตัวอย่างบทประพันธ์ชั้นดี  แล้วก็ชี้ให้เห็นข้อกำหนดนิยมต่างๆ ของร้อยกรองแต่ละประเภทที่สำคัญ   จากนั้นให้ผู้เรียนฝึกเขียนตามขั้นตอนและกิจกรรม 
     การสอนในลักษณะดังกล่าว   ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นการสอนที่ดี  และผมก็เชื่อว่าครูภาษาไทยโดยทั่วไปก็คงจะสอนแบบเดียวกันนี้    แต่ผมกลับได้พบความจริงจากประสบการณ์ดังกล่าวว่านั่นเป็นการสอนที่สร้างบาปแก่วิชาการประพันธ์ไทยอย่างใหญ่หลวง   เป็นบาปที่ซุกซ่อนที่ทั้งครูและนักเรียนต่างก็ไม่รู้ตัว   คือไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างคอกขังแก่ถ้อยคำและจินตนาการที่งดงาม   ก่อให้เกิดความยากลำบาก  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียนแก่นักเรียนทีละเล็กทีละน้อย  จนกระทั่งพวกเขาสะสมพฤติกรรมเชิงปฏิปักษ์หรือปฏิเสธวิชานี้ขึ้นภายใน  ทั้งไม่รู้สึกรักที่จะเขียนและอ่านงานร้อยกรอง
    แต่ทางเลือกใหม่ที่ผมพบในวันนี้ ก็คือทางสายเก่าในรากเหง้าวิถีของชาวบ้านนั่นเอง   
    ผมได้คำตอบจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านหลายต่อหลายคนว่า  การหัดเพลง  ไม่ว่าจะหัดร้องหรือหัดด้นเพลงก็ตาม   ต่างก็เริ่มต้นมาจากการหัดร้องเพลงครูหรือเนื้อร้องของเก่ากันมาก่อนทุกคน   หัดร้องตามครู (ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นปู่รุ่นย่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นพี่)  หัดเป็นลูกคู่รับเพลง  เป็นคอสองคอสามตามโอกาส  หัดปรบมือเข้าจังหวะ  หัดเล่นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพลงชนิดต่างๆ  ซึ่งก็จะเป็นเพลง ขึ้นทีละเล็กละน้อย  จนรู้สึกกลมกลืนรื่นไหลอยู่ในชีวิต   เมื่อได้เนื้อร้องต้นแบบสะสมไว้เป็นต้นทุนมากเข้า   ถึงคราวร้องเล่นก็สามารถยักย้ายแยกด้นเป็นตัวเป็นตนของตัวเองได้มากขึ้นตามลำดับ   นานวันเข้าก็แก่กล้า   มีทางเลือกมีทางเดินเป็นของตนเองที่ชัดเจนตามแต่ภูมิปัญญา  ความฝักใฝ่  และความแตกฉานของแต่ละบุคคล   วิถีของนักเพลงชาวบ้านไม่มีใครเลยที่เริ่มหัดเพลงจากการเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์ (จากตำราหรือจากแผนผังใดๆ) แม้บางคนไม่เคยเรียนหนังสือก็ยังสามารถร้องเพลงได้และผูกเพลง (แต่งเพลง) ได้อย่างน่าอัศจรรย์
   ในทำนองเดียวกัน  เด็กๆ หรือผู้ใหญ่คนใดก็ตามที่ร้องเพลงลูกทุ่ง  ลูกกรุง  สตริงส์  หรือเพลงที่เรียกชื่ออย่างอื่นใดก็ดี   ต่างก็ร้องตามเพลงต้นแบบที่มีคนอื่นร้องมาก่อน   ร้องได้โดยไม่ต้องเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์เพลง  หรือโน้ตเพลง  หรือหลักการแต่งเพลงเหล่านั้น   จากการร้องได้   ก็แต่งเพลงล้อหรือเพลงแปลงได้   บางคนที่สนใจมาก  รักมากชอบมาก  ก็อาจถึงขั้นลองแต่งเนื้อใหม่ทำนองใหม่ขึ้นเอง  เรียนรู้ลักษณะการแต่งเพลง (ฉันทลักษณ์เพลง) จากการสังเกตเพลงของครูเพลงต่างๆ ที่สร้างสรรค์ไว้   สังเกตคำสัมผัสคล้องจอง  ท่วงทำนองในแต่ละท่อนแต่ละตอน  สังเกตเสียงสังเกตคำ  โวหาร  และการเดินทางของเนื้อหา   ลองผิดลองถูกด้วยรักด้วยสนุก  มีความสุขในการคิดการแต่ง   จนกระทั่งบางคนอาจไต่บันไดไปถึงขั้นเป็นศิลปินนักร้องหรือนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียง   ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีวิถีที่มาในทำนองเดียวกันนี้  เป็นการฝึกหัดจากของจริงและตัวตนที่แท้จริง  หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ทฤษฎีในจากการปฏิบัติ  มิใช่เรียนปฏิบัติจากทฤษฎี   
    การฝึกหัดแต่งกลอนหรือร้อยกรองประเภทใดก็ตาม   วิธีที่ดีที่สุดที่ผมพบในขณะนี้ก็คือ  การให้นักเรียนหัดอ่านกลอน  ท่องกลอน  หรือจะขับขานสร้างสรรค์ทำนองอย่างไรก็ได้ (ตามที่สนุกจะทำ)  เลือกกลอนดีๆ  กาพย์ดีๆ  โคลงดีๆ  หรือฉันท์ดีๆ  ที่กระทบใจ (โดนใจ) หรือจับใจนักเรียนเป็นต้นแบบ อาจใช้ทั้งการอ่านนำ อ่านตาม อ่านร่วมกัน หรือท่อง หรือขับขาน ฯลฯ ให้เกิดบรรยากาศของความรื่นรมย์และรื่นรสสม่ำเสมอ  ต่อเนื่อง  กลมกลืนในการเรียนการสอนในชีวิตประจำวัน   จากนั้นจึงค่อยลองแต่ง  โดยไม่ต้องให้ความรู้เรื่องรูปแบบ หรือแผนผังฉันทลักษณ์  อาจจะใช้วิธีแต่งแปลงล้อเลียนก็ได้  เช่น
                       ใดใดในโลกล้วน       อนิจจัง
                   คงแต่บาปบุญยัง             เที่ยงแท้
                   เป็นเงาติดตัวตรัง           ตรึงแน่น  อยู่นา
                   ตามแต่บาปบุญแล้          ก่อเกื้อรักษา
                                                   (ลิลิตพระลอ)  
                      ใดใดในโลกล้วน        อนิจจัง
                   คนบ่ดูหนังสือยัง             สอบได้
                   คนดูหัวแทบพัง              สอบตก
                   เพราะเหตุฉะนี้ไซร้        อย่าได้ดูมัน
                          (พบที่ผนังห้องสุขาของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.)
    โคลงแปลงล้อเลียนที่ยกมานี้มีนัยบอกอะไรอยู่หลายอย่าง  แต่ในที่นี้จะเลือกพูดถึงแต่กรณีของการแต่งร้อยกรองที่ผู้แต่งโคลงบทนี้กระทำ   นั่นคือผู้แต่งรายนี้เป็นผู้ที่มีต้นทุนความทรงจำ ทั้งคำและจังหวะโคลงต้นแบบมาก่อน  ครั้นเมื่อมาได้รับความบันดาลใจบางอย่าง (เกี่ยวกับการดูหนังสือและการสอบ) เข้าก็เกิดแรงขับให้เขียนโคลงล้อเลียนเชิงเสียดสีบทนี้ได้  และเป็นการเขียนได้อย่างโดนใจผู้อ่าน (ผู้มีประสบการณ์ร่วม) ได้ไม่น้อยทีเดียว   นี่คือการเขียนตามวิถีธรรมชาติของศิลปะภาษาที่แฝงพลังอยู่ในชีวิต ที่มีต้นทุนแห่งต้นแบบอยู่อย่างเพียงพอ   
    ข้อควรระวังเป็นสำคัญอย่างยิ่งก็คือ  ครูจะต้องไม่มัวไปใส่ใจจับผิดเรื่องรูปแบบฉันทลักษณ์   ปล่อยให้นักเรียนเขาค่อยค้นหา  ค้นพบข้อสังเกต  ทั้งองค์ความรู้และความคิดจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกด้วยตัวของเขาเอง   ถ้านักเรียนสงสัยไต่ถาม  ครูก็อาจจะตอบอธิบายพอให้กระจ่างเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี   ไม่ควรอธิบายความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่ครูรู้   เพราะว่าวิธีสอนแบบบอกความรู้ นั้นได้ผลน้อยนัก
   สิ่งที่ครูควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพิจารณาผลงานของนักเรียนก็คือ  การให้ความสนใจเรื่องราวที่พวกเขาเขียน   ครูควรแสดงความสนใจใคร่รู้ใคร่ติดตาม  โดยอาจจะชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด   ความบันดาลใจ  เป็นต้นว่า  มีอะไรกระตุ้นหรือมีอะไรเป็นทุนความคิดความรู้สึกจึงเขียนเรื่องดังกล่าว   ต้องการจะบอกอะไรมากกว่าเนื้อหาถ้อยคำที่ปรากฏหรือไม่   มีอุปสรรคในการใช้คำหรือการเขียนตรงไหนบ้าง   เมื่อครูใช้วิธีดังที่ว่านี้  จะทำให้นักเรียนมีความตื่นตัวทางความคิด  ได้แง่มุมจากการสังเกตความคิดของคนอื่นซึมซับสู่การพัฒนากระบวนการคิดของตนเองให้งอกงามยิ่งขึ้น   จะทำให้การเขียนครั้งต่อๆ ไปของแต่ละคนมีความรัดกุมและพิถีพิถันต่อการนำเสนอเนื้อหาโดยธรรมชาติของแรงขับภายในที่ได้รับการกระตุ้นและพัฒนาอย่างถูกวิธี
   เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกยาก  ไม่ต้องพะวงกังวลกับรูปแบบฉันทลักษณ์ในการเขียนร้อยกรองเบื้องต้นของเขา   พวกเขาก็จะก้าวเดินไปบนถนนกาพย์กลอนด้วยความมั่นใจ  สบายใจ  มีความสุข  ในขณะเดียวกันครูก็จัดกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดความงอกงามทางความคิดและคุณค่าของงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ   วันหนึ่งก็จะถึงการขัดเกลารูปแบบฉันทลักษณ์ให้ลงตัวถูกต้องและดีงามสมบูรณ์ได้เองในที่สุด
   ผมจึงอยากเชิญชวนให้ครูภาษาไทยทั้งหลายลองหันมาสอนนักเรียนแต่งกาพย์กลอนกันด้วยวิธีนี้ดู   แล้วท่านจะพบว่าความเครียด  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายวิชาการประพันธ์ของนักเรียนจะลดลง   นักเรียนของท่านจะมีความรักภาษาวรรณศิลป์เพิ่มขึ้น   ในที่สุดก็จะนำพาให้พวกเขารักภาษาไทย  และรักครูภาษาไทยมากขึ้น  ซึ่งเราต่างก็ต้องการเช่นนั้นมิใช่หรือ				
comments powered by Disqus
  • -ร้อยแปดพันเก้า-

    14 มิถุนายน 2551 12:13 น. - comment id 20988

    สวัสดีครับ
    หนังสือเล่มแรกที่ซื้อมาในนาม ศิวกานท์ ปทุมสูติคือ "กลวิธีสอนเด็กให้เรียนเขียนกวี"
    ไม่มั่นใจว่าชื่อนี้ถูกต้องหรือเปล่า
    เมื่อเริ่มแรกที่เขียนกลอนไม่เป็น จึงหาฉันทลักษณ์มาดูประกอบ
    จำได้ว่าในหนังสือเล่มนี้แนะนำว่า ให้หัดเขียนกาพย์ยานีก่อน 
    ในเนื้อหายังแนะนำบทกวีดี ๆ ไว้เยอะและงานของอาจารย์ศิวกานท์ที่ชอบ 
    ยกตัวอย่างงานที่ได้รางวัลกับงานที่อาจารย์ศิวกานท์ชอบด้วย
    คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นแบบนั้น
    เนื่องจากเล่มนี้ มอบให้พี่ที่นับถือไปนานแล้วครับ
    จากนั้นก็หาซื้อเล่มนี้ไม่ได้อีกเลย
    หลังจากนั้นก็ไล่อ่านงานร่วมสมัยและมีเล่มล่าสุดด้วย ชอบเนื้อหา โดยเฉพาะเกี่ยวกับธรรมชาติ ครอบครัว เด็ก ๆ บ้าน คำคมเยอะมาก 
    มีกวีนิพนธ์เกี่ยวกับความรักอยู่ด้วยครับ คุ้นใจกับนามปากกาว่า ธมกร
    นิยมในเนื้อหา บางชิ้นงานจับมาต่อยอดอีกครับ ด้วยความชื่นชมอย่างยิ่ง
    
    ด้วยความนับถือ
    
    36.gif
  • ไหมแก้วสีฟ้าคราม

    14 มิถุนายน 2551 12:17 น. - comment id 20989

    แด่  คุณธมกร
           ดิฉันไม่ใช่ครู  ไม่ใช่ผู้สำเร็จมาทางด้าน
           ภาษาไทย
           ค่ะ  ขออนุญาตเรียกท่านว่าอาจารย์
           เห็นด้วยค่ะ
          เพราะมีเพื่อนเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย
          แต่ว่าแต่งกลอนไม่ได้
         เพราะระวังผัง  รูปแบบฉันทลักษณ์
          มากเกินไป
          จนฝืด  แล้วเขายังสงสัยว่าทำไมเรา
          แต่งกลอนได้  อาจเนื่องมาจาก
          เราอยู่ในครอบครัวที่มีคุณพ่อคุณแม่
          ที่ท่านเจ้าบท เจ้ากลอน ก็ได้
          แต่ที่สำคัญคือเป็นคนชอบร้องเพลง
          และทุกคนร้องเพลงเป็น(หมายถึงคุณตา คุณยาย) รวมไปถึงทวด   
          และมักร้องเพลงกล่อมลูกได้เพลิดเพลินมาก
          และกลอนที่ดิฉันเขียนในเว็บ
          ไม่ชอบเลียนแบบใคร
          แต่บางครั้ง บางท่อน อาจไปซ้ำโดยบังเอิญ
           เพราะจำมาจากครูสุนทรภู่สมัยเรียน
           ศัพท์แสง  มักมาจากกลอนของท่าน
           สุนทรภู่   ที่ชอบอ่านเป็นเล่มๆ ค่ะ
           
           29.gif36.gif36.gif36.gif
  • ธมกร

    14 มิถุนายน 2551 13:25 น. - comment id 20990

    ตอบคุณร้อยแปดพันเก้า
    16.gif
    ขอบคุณครับ, หนังสือ "กลวิธีสอนเด็กเรียนเขียนบทกวี" ครั้งที่คุณร้อยแปดพันเก้าอ่านน่าจะเป็นรุ่นที่พิมพ์ครั้งที่ ๑-๓ โดยสำนักพิมพ์ "ต้นอ้อ" 
    ขณะนี้ ทุ่งสักอาศรม ได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔  ผมได้ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับแนวคิดยิ่งขึ้น  ดังบทกวีนำในบทที่ ๑ ที่ปรับปรุงใหม่ ดังนี้
    ...กินครูเป็นอาหารวันละบท
    เล่นล้ออรรถรสวันละหน
    อ่านเขียนวันละครั้งอย่างแยบยล
    ผลิดอกออกผลจากต้นรัก
    16.gif
  • ธมกร

    14 มิถุนายน 2551 13:43 น. - comment id 20991

    ตอบคุณไหมแก้วสีฟ้าคราม
    16.gif
    
    ขอบคุณครับ, รู้สึกดีใจที่คุณไหมแก้วฯมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน  อย่างน้อยๆ เด็กๆ และเยาวชนที่ในละแวกชีวิตของคุณไหมแก้วฯ จะได้พลอยมีความสุข...หากพวกเขารักที่จะเขียนกาพย์กลอน
    
    ครูภาษาไทยวันนี้จำนวนไม่น้อยครับ ที่แต่งกลอนไม่เป็น แต่ยังเคี่ยวเข็ญให้เด็กๆ แต่งกลอน  น่าเศร้านะครับ
    
    ผมอยากเห็นครูทุกคนฝึกปฏิบัติตนเหมือนดั่งพุทธภาษิตที่ว่า สุทนฺโต วต ทเมถ (สอนตนดีแล้วจึงสอนผู้อื่น)
    
    เพื่อยืนยันแนวคิดนี้  โพสต์ "กระทู้" ต่อไปที่ผมเตรียมไว้ก็คือ "อาขยานสร้างสรรค์การเรียนรู้" ครับ
  • ฉางน้อย

    15 มิถุนายน 2551 13:27 น. - comment id 20993

    46.gif  อาจารย์คะ เดี๋ยวฉางน้อยกลับมาอ่านต่อนะคะ อิอิ   46.gif
  • ช่ออักษราลี

    15 มิถุนายน 2551 17:38 น. - comment id 20996

    ขอบคุณที่ให้ความรู้มากมายค่ะ
    เพราะสอนภาษาไทยโดยตรง
    
    36.gif36.gif
  • รัมณีย์

    16 มิถุนายน 2551 00:26 น. - comment id 20998

    ขอบคุณครับ แวะมาอ่านได้ความรู้ครับ
    ผมเห็นด้วยกับความคิดของครูด้วยครับ
    ผมเองกาพย์กลอนในความทรงจำของผม
    คือเสียงที่พี่ ๆ อ่านทำนองเสนาะ สนุกสนาน
  • แมวคราว..

    16 มิถุนายน 2551 12:33 น. - comment id 21004

    หวัดดีครับคุณธมกร...
    
    ผมคนหนึ่งละที่ชอบและรักวิชาภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก..ผมก็เห็นด้วยกับคุณนะครับว่า
    ไม่ควรเข้มงวดกับคำเอกโทหรือข้อกำหนดเกินไปจนเด็กเครียด  เพราะแม้แต่ท่านอังคาร  กัลยาณพงศ์ ท่านยังไม่ยึดติดฉันทลักษณ์  แต่นั่นก็เป็นแคเรคเตอร์เฉพาะของแต่ละคนครับ..เราอาจพลิกแพลงไปได้
    บ้างเมื่อเราเรียนรุ้มากขึ้น  ..แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น
    การมีผังข้อกำหนดที่แน่นอน..การบังคับเอกโทในขั้นพื้นฐานก็ต้องมีนะครับ..อ
    อย่าได้ทิ้งเป้นอันขาด..เพราะมีเด็กอีกมากมายที่มีใจรักภาษาไทยและอยากเขียนอยากหัดให้เก่งตามแบบครูภาษา  หรือโคลงกลอนที่พวกเขาประทับใจ...คนเป็นครูก็ต้องยกตัวอย่างแบบแผนที่ถูกต้องให้เขารุ้ก่อนเป้นอันดับแรก..เพื่อรักษารูปแบบไว้เป้นแนวทางให้เด็กได้พลิกแพลงต่อไปเมือ่เขามีประสบการณืขึ้นแล้ว..ที่เด็กไม่ชอบภาษาไทยหรือเบื่อ..ก้น่าจะเป้นเพราะวิธีการและเทคนิคการถ่ายทอด..
    ผมไม่เคยเบื่อภาษาไทยหรือวิชาภาษาไทยเลย..ฌพราะครูของผมแต่ละท่านมีเทคนิคการจูงใจที่แยบยล...(อันนี้ไม่ได้ตำหนิครูภาษาไทยท่านอื่นๆนะครับ..)  ฉะนั้นแล้ว..มุมมองของผมเองคือ..วิชาภาษาไทยไม่เคยล้าสมัยหรือด้อยความสำคัญกว่าวิชาอื่นๆเลย  
    ควรสนับสนุนให้มากๆด้วยซ้ำ..ด้วยการหาเทคนิค วิธีการถ่ายทอดที่ไม่น่าเบื่อ...
    มากกว่าจะไปมองข้ามกฏเกณฑ์สำคัญ
    อันเป้นหัวใจของการประพันธ์ทุกประเภท...
    อันนี้เป้นมุมมองของผม..ผุ้ไม่เคยเบื่อหน่ายภาษาไทย...และเต้มใจสนัยสนุนอนุรักษ์ภาษาของเราเป้นอย่างยิ่ง....มองต่างมุมครับ...
    
    ขอบคุณที่นำสาระดีๆมาคุยกันครับ..
    36.gif46.gif
  • โคลอน

    17 มิถุนายน 2551 16:56 น. - comment id 21018

    36.gif11.gif36.gif
    
    ภาษาไทยเป็นวิชาที่ชอบที่สุดเหมือนกันค่ะ
    
    โคลอน ก็ไม่ค่อยได้ยึดติดฉันทลักษณ์เท่าไหร่แต่พยายามจะไม่ตกขอบจนเกินไปเท่านั้นเอง
    
    การเรียนรู้จาก กลอน ทำให้เพลินจริงๆค่ะ
    
    เพราะภาษากลอนจะสละสลวย ลื่นไหล สัมผัสน่าอ่าน29.gif
  • ธมกร

    17 มิถุนายน 2551 18:19 น. - comment id 21023

    เรียน มิตรผองน้องพี่ทุกท่านครับ
    
    ผมพบว่า...
    หัวใจสำคัญของการเรียนรู้คือ "ความสุข"
    ใครที่มีโอกาสดี ได้เรียนรู้จากครูที่มีศิลปะการสอนดี...
    อย่าง "แมวคราว" ก็นับว่าโชคดีมากๆ
    เพราะว่าครูที่มีศิลปะการสอนดีย่อมนำพา
    ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุก เพลิดเพลิน ไม่ว่าวิชาใดๆ
    
    แต่ครูโดยทั่วไปหาเป็นเช่นนั้นก็หาไม่
    ดังนั้น การที่จะทำให้เด็กๆ ไม่เบื่อที่จะเรียนรู้
    (ผมหมายถึงเด็กๆ โดยรวมส่วนใหญ่นะครับ)
    ก็ต้องทำให้พวกเขา "รัก" เสียก่อน
    คือ "ให้ความรักก่อนให้ความรู้"
    การที่จะทำให้พวกเขารัก "กาพย์กลอน" 
    ก็ต้องนำพาให้ร้อง ท่อง เล่น...ซึมซับ
    โดยไม่รู้ตัวเสียก่อน
    
    "แม่ทองอยู่" ชวนให้ "แม่บัวผัน" ร้องเล่นอีแซว
    แล้ว "แม่บัวผัน" ก็ชวน "แม่ขวัญจิต" ร้องเล่นต่อมา
    วันนี้ "แม่ขวัญจิต" มีลูกศิษย์ลูกหาร้องอีแซวได้มากมาย
    แม้ไม่เก่งเหมือน  แต่ก็ร้องได้ เล่นได้
    ที่สำคัญก็คือ...พวกเขามี "ความสุข"
    
    ไม่ได้เห็นต่างหรือเห็นแย้งกับมิตรพี่น้องท่านใดครับ
    แต่นี่คือความจริงแห่งทฤษฎีชีวิต
    คือรัก  คือความละเอียดอ่อน...อบอุ่น
    ที่จะอยู่ยืนในกระบวนการเรียนรู้
    
    ผมเองเมื่อก่อนหน้านี้ก็คิดอย่างคุณ "แมวคราว"
    แต่เมื่อพบว่าวิธีนั้น (ไม่ผิด - นะครับ แต่...)
    ไม่ใช่วิธีที่ดีจริงแท้
    ไม่ก่อให้เกิดผลที่ยั่งยืนแท้ในผู้เรียนวิชาภาษาไทย
    ผมก็รู้สึกสำนึกบาป...จึงขอสารภาพอย่างจริงใจ (ตามบทความ)
    จากนั้นผมก็หันมากระทำแบบใหม่
    ซึ่งเป็นวิธีเก่าของรากเหง้ากวีพื้นบ้าน
    ได้ผลดีกว่าจริงๆ ครับ
    
    คำตอบชัดเจนที่สุดของวิธีการสอนที่เริ่มต้นจาก "แบบแผน" 
    ว่าไม่ได้ผลโดยภาพรวมก็คือ
    ภาพรวมของ "ครูภาษาไทย" วันนี้
    แต่งกาพย์กลอนกันไม่เป็น 
    หลายคนแต่งสู้เด็กประถม-มัธยมยังไม่ได้เลย
    มิใช่เพราะครูไม่เก่ง...
    แต่เป็นเพราะวิธีการเรียนรู้ที่ผ่านมา...ไม่ถูกต้องแท้นั่นเองครับ
    
    จึงใคร่ขอเชิญชวนมวลมิตรและคุณครูทุกท่าน
    มาทดลองสอนเด็กๆ
    ให้ "ท่องกลอน(ดีๆ เยอะๆ) ก่อนเขียนกลอน" 
    หรือเขียนไป ท่องไป ให้สนุก
    
    แต่ทั้งนี้ ก็ยังให้ความสำคัญต่อแบบฉบับ
    กฎเกณฑ์ฉันทลักษณ์เช่นที่คุณ "แมวคราว" กล่าว
    ซึ่งผมเองก็ฝึกมาทุกรูปแบบ
    แต่ "เอาไว้ทีหลัง" นะครับ
    ให้เด็กๆ เขารักกาพย์กลอนกันก่อน
    ลองผิดลองถูก สนุกสนานกันก่อน
    เมื่อ "รัก" ลึกซึ้งแล้ว
    อะไรๆ ก็ลงลึกได้แน่นอน
    
    อ๊ะ...มาลองกันเลย
    16.gif8.gif16.gif8.gif29.gif29.gif31.gif31.gif
  • แมวคราว...

    18 มิถุนายน 2551 13:49 น. - comment id 21036

    คุณธมกรครับ..ในฐานะที่คุณเป็นครูภาษา
    ไทยที่มีแนวคิดและมุมมองกว้างขวาง...
    ผมเชื่อมั่นว่าคุณเป้นอีกคนหนึ่งที่จะ
    ถ่ายทอดวิทยายุทธให้ลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดีไม่แพ้ครูภาษาไทยท่านอื่นๆนะครับ....
    ผมจึงขอถือโอกาสนี้ส่งกำลังใจมาให้คุณและคุณครูภาษาไทยท่านอื่นๆด้วย....ช่วยกัน
    ส่งเสริมและถ่ายทอดวิชาภาษาไทยของเราให้สืบทอดไปยังลูกหลานของเราให้เต้มที่และ
    ดีที่สุด...อ้อ..อย่าลืมให้เด็กๆหัดท่องอาขยานก่อนกลับบ้านด้วยนะครับ....วิธีนี้ไม่เคยเชย
    ซ้ำยังส่งเสริมด้านการออกเสียง  จังหวะจะโคนที่ถูกต้องในการอ่านร้อยกรอง   ฝึกความพร้อมเพรียงและให้เด็กๆคุ้นเคยกับสัมผัส
    อันไพเราะหนึ่งไม่มีสองของร้อยกรองไทย..
    (ผมเคยได้ยินได้ฟังนักจัดรายการ  พิธีกร  และดีเจหรือเจดีย์ ตามรายการทีวีและวิทยุ..อ่านบทร้อยกรองผิดจังหวะบ่อยๆครัง...แสดงให้เห้นถึงความอ่อนด้อยและขาดความเอาใจใส่
    หรือได้รับการถ่ายทอดมาแบบผิดๆถูกๆ..
    ร้อยกรองที่พวกเขาอ่าน..จึงขาดความไพเราไปอย่างน่าเสียดาย...ขอฝากคุณครูมกรและครู
    ภาษาไทยท่านอื่นๆด้วยนะครับ....
    
    ด้วยความคารวะครูภาษาไทยทุกท่าน..
    จาก..แมวคราว..เด็กโข่ง....
    
    36.gif29.gif46.gif
  • โคลอน

    18 มิถุนายน 2551 16:14 น. - comment id 21040

    โคลอนไปเจอเว็บที่มีบทอาขยานชวนท่องมาค่ะ
    
    http://olddreamz.com/alldreamz/recitation.html
    
    ยกตัวอย่างบทที่ชอบนะคะ
    
    ๏ ๏ แมวเหมียว แยกเขี้ยวยิงฟัน ๏ ๏ 
    (ร้องลำแขกบรเทศ) 
    -นายทัด เปรียญ - แต่ง 
    
    แมวเอ๋ย แมวเหมียว 
    รูปร่าง ประเปรียว เป็นหนักหนา 
    ร้องเรียก เหมียวเหมียว ประเดี๋ยวก็มา 
    เคล้าแข้ง เคล้าขา น่าเอ็นดู 
    รู้จัก เอารัก เข้าต่อตั้ง 
    ค่ำค่ำ ซ้ำนั่ง ระวังหนู 
    ควรนับว่ามัน กตัญญู 
    พอดู อย่างไว้ ใส่ใจเอย...... 
    
    
    ........................................................
    
    ๏ ๏ นกกิ้งโครงเข้าโพรงนกเอี้ยง ๏ ๏ 
    (ร้องลำนกกระจอกทอง) 
    -พระยาพินิจสารา (ทิม) - แต่ง 
    
    นกเอ๋ย นกกิ้งโครง 
    หลงเข้าโพรง นกเอี้ยง เถียงเจ้าของ 
    อ๋อยอี๋เอียง อ๋อยอี๋เอียง ส่งเสียงร้อง 
    เจ้าของ เขาว่า น่าไม่อาย 
    แต่นก ยังรู้ ว่าผิดรัง 
    นักปราชญ์ รู้พลั้ง ไม่แม่นหมาย 
    แต่ผิด รับผิด พอผ่อนร้าย 
    ภายหลัง จงระวัง อย่าพลั้งเอย......... 
    
    
    .....................................................
    
    
    ๏ ๏ จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ๏ ๏ 
    
    จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าว ขอแกง 
    ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า 
    ขอช้าง ขอม้า ให้น้องข้าขี่ 
    ขอเก้าอี้ ให้น้องข้านั่ง 
    ขอเตียงตั้ง ให้น้องข้านอน 
    ขอละคร ให้น้องข้าดู 
    ขอยายชู เลี้ยงน้องข้าเถิด 
    ขอยายเกิด เลี้ยงตัวข้าเอง 
    
    .......................................................
    
    ๏ ๏ วิชาเหมือนสินค้า ๏ ๏ 
    
    วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล 
    ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา 
    จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา 
    ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ 
    นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหญ่ 
    ปากเป็นนายงานไป อัชฌาศัยเป็นเสบียง 
    สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง 
    ถือไว้อย่าให้เอียง แล่นเลาะเลี่ยงข้ามคงคา 
    ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา 
    เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม 
    ** ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม 
    เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป** 
    จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิศมัย 
    จงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา..... 
    
    .....................................................
    
    อ่านเพลินเลยค่ะ ลืมๆไปบ้างถือว่าได้ฟื้นความจำเนาะ40.gif
  • ธมกร (ครูกานท์)

    18 มิถุนายน 2551 21:15 น. - comment id 21048

    ขอบคุณ แมวคราว และ โคลอน
    รากแก้วกาพย์กลอนสะท้อนวิถี
    โพสต์มาบอกคัดมาแบ่งยุวกวี
    ดีครับดี...สาธุ...อายุบวร
    
    16.gif
  • ขอโทษครับ...ผมเมา

    25 มิถุนายน 2551 13:00 น. - comment id 21080

    อืมมม    .....เป็นแบบนี้นี่เอง  
    
    งั้นที่ผมเขียนกลอนพอได้น่าจะเป็นแบบนี้กระมัง  
    ผมเริ่มเขียนกลอนเมื่อผมอ่านหนังสือกลอนเล่มหนึ่งจบ (มีเล่มเดียวที่อ่านจบ) เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา  แล้วลองเขียนเลียนแบบดู 
    
    จากวันนั้นถึงวันนี้ ไม่เคยอ่านหนังสือกวีเล่มไหนถึง 5 บทเลย   อิอิ
    ก็เลยเขียนได้เท่าที่เห็น    
    
    
    
    7.gif66.gif51.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน