14 มิถุนายน 2551 07:49 น.

ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้

ธมกร

C:Documents and SettingsAdministratorMy Documents111ปกfor webปกทุ่งสัก for web
ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้
ศิวกานท์ ปทุมสูติ


     ผมขอสารภาพว่า  ผมเป็นครูภาษาไทยที่เคยหลงทางมาแล้ว  โดยเฉพาะในเรื่องของการสอนนักเรียนเขียนกาพย์กลอน   นั่นก็คือผมเคยสอนแบบเริ่มต้นด้วยการเปิดประตูสู่ความรู้จักรูปแบบฉันทลักษณ์  ชักโยงให้เด็กๆ เข้าใจนิยามความหมาย  อธิบายแผนผัง  ยกตัวอย่างบทประพันธ์ชั้นดี  แล้วก็ชี้ให้เห็นข้อกำหนดนิยมต่างๆ ของร้อยกรองแต่ละประเภทที่สำคัญ   จากนั้นให้ผู้เรียนฝึกเขียนตามขั้นตอนและกิจกรรม 

     การสอนในลักษณะดังกล่าว   ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นการสอนที่ดี  และผมก็เชื่อว่าครูภาษาไทยโดยทั่วไปก็คงจะสอนแบบเดียวกันนี้    แต่ผมกลับได้พบความจริงจากประสบการณ์ดังกล่าวว่านั่นเป็นการสอนที่สร้างบาปแก่วิชาการประพันธ์ไทยอย่างใหญ่หลวง   เป็นบาปที่ซุกซ่อนที่ทั้งครูและนักเรียนต่างก็ไม่รู้ตัว   คือไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างคอกขังแก่ถ้อยคำและจินตนาการที่งดงาม   ก่อให้เกิดความยากลำบาก  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียนแก่นักเรียนทีละเล็กทีละน้อย  จนกระทั่งพวกเขาสะสมพฤติกรรมเชิงปฏิปักษ์หรือปฏิเสธวิชานี้ขึ้นภายใน  ทั้งไม่รู้สึกรักที่จะเขียนและอ่านงานร้อยกรอง

    แต่ทางเลือกใหม่ที่ผมพบในวันนี้ ก็คือทางสายเก่าในรากเหง้าวิถีของชาวบ้านนั่นเอง   

    ผมได้คำตอบจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านหลายต่อหลายคนว่า  การหัดเพลง  ไม่ว่าจะหัดร้องหรือหัดด้นเพลงก็ตาม   ต่างก็เริ่มต้นมาจากการหัดร้องเพลงครูหรือเนื้อร้องของเก่ากันมาก่อนทุกคน   หัดร้องตามครู (ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นปู่รุ่นย่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นพี่)  หัดเป็นลูกคู่รับเพลง  เป็นคอสองคอสามตามโอกาส  หัดปรบมือเข้าจังหวะ  หัดเล่นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพลงชนิดต่างๆ  ซึ่งก็จะเป็นเพลง ขึ้นทีละเล็กละน้อย  จนรู้สึกกลมกลืนรื่นไหลอยู่ในชีวิต   เมื่อได้เนื้อร้องต้นแบบสะสมไว้เป็นต้นทุนมากเข้า   ถึงคราวร้องเล่นก็สามารถยักย้ายแยกด้นเป็นตัวเป็นตนของตัวเองได้มากขึ้นตามลำดับ   นานวันเข้าก็แก่กล้า   มีทางเลือกมีทางเดินเป็นของตนเองที่ชัดเจนตามแต่ภูมิปัญญา  ความฝักใฝ่  และความแตกฉานของแต่ละบุคคล   วิถีของนักเพลงชาวบ้านไม่มีใครเลยที่เริ่มหัดเพลงจากการเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์ (จากตำราหรือจากแผนผังใดๆ) แม้บางคนไม่เคยเรียนหนังสือก็ยังสามารถร้องเพลงได้และผูกเพลง (แต่งเพลง) ได้อย่างน่าอัศจรรย์

   ในทำนองเดียวกัน  เด็กๆ หรือผู้ใหญ่คนใดก็ตามที่ร้องเพลงลูกทุ่ง  ลูกกรุง  สตริงส์  หรือเพลงที่เรียกชื่ออย่างอื่นใดก็ดี   ต่างก็ร้องตามเพลงต้นแบบที่มีคนอื่นร้องมาก่อน   ร้องได้โดยไม่ต้องเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์เพลง  หรือโน้ตเพลง  หรือหลักการแต่งเพลงเหล่านั้น   จากการร้องได้   ก็แต่งเพลงล้อหรือเพลงแปลงได้   บางคนที่สนใจมาก  รักมากชอบมาก  ก็อาจถึงขั้นลองแต่งเนื้อใหม่ทำนองใหม่ขึ้นเอง  เรียนรู้ลักษณะการแต่งเพลง (ฉันทลักษณ์เพลง) จากการสังเกตเพลงของครูเพลงต่างๆ ที่สร้างสรรค์ไว้   สังเกตคำสัมผัสคล้องจอง  ท่วงทำนองในแต่ละท่อนแต่ละตอน  สังเกตเสียงสังเกตคำ  โวหาร  และการเดินทางของเนื้อหา   ลองผิดลองถูกด้วยรักด้วยสนุก  มีความสุขในการคิดการแต่ง   จนกระทั่งบางคนอาจไต่บันไดไปถึงขั้นเป็นศิลปินนักร้องหรือนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียง   ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีวิถีที่มาในทำนองเดียวกันนี้  เป็นการฝึกหัดจากของจริงและตัวตนที่แท้จริง  หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ทฤษฎีในจากการปฏิบัติ  มิใช่เรียนปฏิบัติจากทฤษฎี   

    การฝึกหัดแต่งกลอนหรือร้อยกรองประเภทใดก็ตาม   วิธีที่ดีที่สุดที่ผมพบในขณะนี้ก็คือ  การให้นักเรียนหัดอ่านกลอน  ท่องกลอน  หรือจะขับขานสร้างสรรค์ทำนองอย่างไรก็ได้ (ตามที่สนุกจะทำ)  เลือกกลอนดีๆ  กาพย์ดีๆ  โคลงดีๆ  หรือฉันท์ดีๆ  ที่กระทบใจ (โดนใจ) หรือจับใจนักเรียนเป็นต้นแบบ อาจใช้ทั้งการอ่านนำ อ่านตาม อ่านร่วมกัน หรือท่อง หรือขับขาน ฯลฯ ให้เกิดบรรยากาศของความรื่นรมย์และรื่นรสสม่ำเสมอ  ต่อเนื่อง  กลมกลืนในการเรียนการสอนในชีวิตประจำวัน   จากนั้นจึงค่อยลองแต่ง  โดยไม่ต้องให้ความรู้เรื่องรูปแบบ หรือแผนผังฉันทลักษณ์  อาจจะใช้วิธีแต่งแปลงล้อเลียนก็ได้  เช่น

                       ใดใดในโลกล้วน       อนิจจัง
                   คงแต่บาปบุญยัง             เที่ยงแท้
                   เป็นเงาติดตัวตรัง           ตรึงแน่น  อยู่นา
                   ตามแต่บาปบุญแล้          ก่อเกื้อรักษา
                                                   (ลิลิตพระลอ)  

                      ใดใดในโลกล้วน        อนิจจัง
                   คนบ่ดูหนังสือยัง             สอบได้
                   คนดูหัวแทบพัง              สอบตก
                   เพราะเหตุฉะนี้ไซร้        อย่าได้ดูมัน
                          (พบที่ผนังห้องสุขาของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.)


    โคลงแปลงล้อเลียนที่ยกมานี้มีนัยบอกอะไรอยู่หลายอย่าง  แต่ในที่นี้จะเลือกพูดถึงแต่กรณีของการแต่งร้อยกรองที่ผู้แต่งโคลงบทนี้กระทำ   นั่นคือผู้แต่งรายนี้เป็นผู้ที่มีต้นทุนความทรงจำ ทั้งคำและจังหวะโคลงต้นแบบมาก่อน  ครั้นเมื่อมาได้รับความบันดาลใจบางอย่าง (เกี่ยวกับการดูหนังสือและการสอบ) เข้าก็เกิดแรงขับให้เขียนโคลงล้อเลียนเชิงเสียดสีบทนี้ได้  และเป็นการเขียนได้อย่างโดนใจผู้อ่าน (ผู้มีประสบการณ์ร่วม) ได้ไม่น้อยทีเดียว   นี่คือการเขียนตามวิถีธรรมชาติของศิลปะภาษาที่แฝงพลังอยู่ในชีวิต ที่มีต้นทุนแห่งต้นแบบอยู่อย่างเพียงพอ   

    ข้อควรระวังเป็นสำคัญอย่างยิ่งก็คือ  ครูจะต้องไม่มัวไปใส่ใจจับผิดเรื่องรูปแบบฉันทลักษณ์   ปล่อยให้นักเรียนเขาค่อยค้นหา  ค้นพบข้อสังเกต  ทั้งองค์ความรู้และความคิดจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกด้วยตัวของเขาเอง   ถ้านักเรียนสงสัยไต่ถาม  ครูก็อาจจะตอบอธิบายพอให้กระจ่างเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี   ไม่ควรอธิบายความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่ครูรู้   เพราะว่าวิธีสอนแบบบอกความรู้ นั้นได้ผลน้อยนัก

   สิ่งที่ครูควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพิจารณาผลงานของนักเรียนก็คือ  การให้ความสนใจเรื่องราวที่พวกเขาเขียน   ครูควรแสดงความสนใจใคร่รู้ใคร่ติดตาม  โดยอาจจะชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด   ความบันดาลใจ  เป็นต้นว่า  มีอะไรกระตุ้นหรือมีอะไรเป็นทุนความคิดความรู้สึกจึงเขียนเรื่องดังกล่าว   ต้องการจะบอกอะไรมากกว่าเนื้อหาถ้อยคำที่ปรากฏหรือไม่   มีอุปสรรคในการใช้คำหรือการเขียนตรงไหนบ้าง   เมื่อครูใช้วิธีดังที่ว่านี้  จะทำให้นักเรียนมีความตื่นตัวทางความคิด  ได้แง่มุมจากการสังเกตความคิดของคนอื่นซึมซับสู่การพัฒนากระบวนการคิดของตนเองให้งอกงามยิ่งขึ้น   จะทำให้การเขียนครั้งต่อๆ ไปของแต่ละคนมีความรัดกุมและพิถีพิถันต่อการนำเสนอเนื้อหาโดยธรรมชาติของแรงขับภายในที่ได้รับการกระตุ้นและพัฒนาอย่างถูกวิธี

   เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกยาก  ไม่ต้องพะวงกังวลกับรูปแบบฉันทลักษณ์ในการเขียนร้อยกรองเบื้องต้นของเขา   พวกเขาก็จะก้าวเดินไปบนถนนกาพย์กลอนด้วยความมั่นใจ  สบายใจ  มีความสุข  ในขณะเดียวกันครูก็จัดกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดความงอกงามทางความคิดและคุณค่าของงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ   วันหนึ่งก็จะถึงการขัดเกลารูปแบบฉันทลักษณ์ให้ลงตัวถูกต้องและดีงามสมบูรณ์ได้เองในที่สุด

   ผมจึงอยากเชิญชวนให้ครูภาษาไทยทั้งหลายลองหันมาสอนนักเรียนแต่งกาพย์กลอนกันด้วยวิธีนี้ดู   แล้วท่านจะพบว่าความเครียด  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายวิชาการประพันธ์ของนักเรียนจะลดลง   นักเรียนของท่านจะมีความรักภาษาวรรณศิลป์เพิ่มขึ้น   ในที่สุดก็จะนำพาให้พวกเขารักภาษาไทย  และรักครูภาษาไทยมากขึ้น  ซึ่งเราต่างก็ต้องการเช่นนั้นมิใช่หรือ				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธมกร
Lovings  ธมกร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธมกร
Lovings  ธมกร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟธมกร
Lovings  ธมกร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงธมกร