15 ธันวาคม 2550 20:35 น.

๘ ถ้า

ลุงแทน

........ถ้าท่านทำตัวแข่งกับสังคม
ทางแห่งความล่มจมคงถามหา
ถ้าท่านทำงานเห็นแก่หน้า
ท่านจะพบปัญหาเรื่อยไป
ถ้าท่านทำตัวเห็นแก่ได้
ท่านอย่าหวังน้ำใจจากเพื่อนฝูง
ถ้ากลัวยุ่งจนเกินไป
ท่านจะทำอะไรไม่ได้ความ
ถ้าท่านขาดความพอดี
ท่าจะเป็นหนี้เขาตลอดกาล
ถ้าท่านหวังแต่ความสนุก
ท่านจะทุกข์มหาศาล
ถ้าท่านขาดความยั้งคิด
ชีวิตทั้งชีวิตหมดความหมาย
ถ้าท่านทำใจให้สงบสบาย
ท่านจะสมหมายความสุขที่เยือกเย็น				
15 ธันวาคม 2550 02:59 น.

สภาวะการศึกษาของประเทศไทย

ลุงแทน

.......ขออนุญาติและขออภัยที่ไม่ได้เขียนบทกลอร  เหตุเพราะสืบเนื่องจากบทกลอนของ
***ครู..ผู้ร้าย..ของการศึกษา..? ฝากฝัน****  ลุงแทนเองก็เศร้าใจ
.....การศึกษาไทยต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา  จึงจะปฏิรูปได้

วิทยากร เชียงกูล

คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  มหาวิทยาลัยรังสิต

      การจัดการศึกษาระบบแพ้คัดออก ทำให้คนจนมีโอกาสได้เรียนน้อยกว่า/คุณภาพต่ำกว่า

      ในรอบ  6  ปี หลังจากการประกาศใช้ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ประชากรในวัยเรียน (รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ)  มีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12   ปี ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นสัดส่วนสูงขึ้น  แต่สัดส่วนผู้ได้เข้าเรียนระดับปฐมวัยลดลงจากร้อยละ 96.8  ในปี พ.ศ.  2542  เหลือร้อยละ 87.7  ในปี พ.ศ. 2546 และสัดส่วนผู้เลือกเรียนอาชีวศึกษาก็ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับมัธยมศึกษาสายสามัญศึกษา

      สำหรับเด็กระดับปฐมวัยที่มีโอกาสได้รับการศึกษาลดลง  เพราะทางรัฐและประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนเห็นความสำคัญการศึกษาระดับนี้น้อย และฐานะเศรษฐกิจของประชาชนยังไม่กระเตื้องขึ้นมากพอที่จะส่งลูกเข้าเรียนในระดับปฐมวัยซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้ถือว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ที่รัฐมีหน้าที่จะต้องให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (ถึงรัฐบาลบอกว่า จะจ่ายเพิ่มให้อนุบาล 2 ปี ด้วย  แต่ก็จ่ายน้อยและไม่ทั่วถึง)

      ระดับอาชีวศึกษาที่มีสัดส่วนผู้เรียนต่อประชากรวัยเดียวกันลดลง เพราะค่านิยมของประชาชนที่เห็นว่า การเข้าเรียนสายสามัญศึกษา เพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยให้ได้ปริญญานั้นมีโอกาสได้งานดีกว่า และเพราะการจัดการการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเองยังไม่มีคุณภาพสูง และไม่มีแรงจูงใจที่จะดึงดูดให้คนนิยมมาเรียนได้มากพอ แม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะมีความต้องการแรงงานมีฝีมือขั้นกลางเพิ่มขึ้น  แต่การจ่ายค่าตอบแทนและโอกาสความก้าวหน้าอาจจะไม่จูงใจพอ หรือประชาชนอาจยังไม่รู้ข้อมูลข่าวสารด้านนี้พอ

      ในปีการศึกษา พ.ศ. 2546  ยังมีประชากรวัย 12 – 17 ปี ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ถึง 1,620,969  คน หรือร้อยละ  28.25  ของประชากรวัยเดียวกัน  โดยที่ยังไม่ได้นับรวมผู้ออกกลางคันเรียนไม่สำเร็จอีกจำนวนหนึ่ง

      จำนวนผู้มีโอกาสได้เรียนสูงกว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้น เพราะยังมีปัญหาการออกกลางคัน หรือเรียนไม่สำเร็จในทุกระดับ โดยเฉพาะมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาซึ่งผู้เรียนกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องมาจากปัญหาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม และการที่การจัดการศึกษาเป็นสูตรตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ไม่ช่วยให้ผู้เรียนบางส่วนปรับตัวเรียนได้ตลอดลอดฝั่ง

      ระดับอุดมศึกษา ขยายตัวเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ  และขยายตัวในสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ มากกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยปีละราว  2 แสนคนและมีสัดส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานประกอบการก็บ่นว่าหาคนที่มีความรู้ความสามารถได้ยากขึ้น

      ผลสัมฤทธิ์การศึกษา ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา วัดจากคะแนนเฉลี่ยผลการสอบของนักเรียนทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การปฏิรูปการศึกษาช่วยให้นักเรียนมีความสุข และได้ทำกิจกรรมภาคปฏิบัติเพิ่มขึ้นบ้าง  แต่นักเรียนส่วนใหญ่ยังคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้น้อย ความรู้ด้านวิชาการก็ไม่สูงขึ้น การปฏิรูปการศึกษายังเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ เป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศความแตกต่างระหว่างผู้เรียนที่เรียนได้เก่งกับผู้เรียนที่ไม่เก่งเพิ่มขึ้น

      การศึกษานอกระบบโรงเรียนและตามอัธยาศัย ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่ำกว่าร้อยละ 2 ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปไปจากเดิมมากนัก แม้ว่า พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542  จะให้ความสำคัญเท่ากับการศึกษาในระบบ แต่ทัศนคติของทั้งชนชั้นนำและประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมแต่การศึกษาในระบบมากกว่า ผู้บริหารและครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาในระบบเองก็ไม่สนใจที่จะให้บริการการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย  ขณะที่การศึกษานอกระบบเองก็ยังทำงานภายใต้ระบบราชการที่เลียนแบบการศึกษาในระบบคือ ช่วยให้ผู้ใหญ่มีโอกาสได้เรียนเพื่อสอบเทียบความรู้กับการศึกษาในระบบเป็นสำคัญ ยังไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนรักการอ่าน ใฝ่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และยังไม่สามารถทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมากนัก

      การจัดสรรงบประมาณการศึกษา  เพิ่มขึ้นในแง่ตัวเงิน แต่สัดส่วนต่องบประมาณประจำปี  และต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศกลับมีแนวโน้มลดลง (จาก 4.52% ของ GDP ปี  พ.ศ. 2540  เหลือ 3.7% ของ GDP ปี พ.ศ.  2548)  ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจทุ่มเทเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลสนใจโครงการประเภทกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต มากกว่าเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษาและด้านสังคมอื่น ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีขีดความสามารถในการปฏิรูปหรือพัฒนาโครงการได้จำกัด

      ด้านการจัดสรรและการใช้งบประมาณ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสลักสำคัญ  สถาบันอุดมศึกษา และโรงเรียนใหญ่ ๆ ในเมืองยังได้รับงบประมาณเป็นสัดส่วนสูงกว่าโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กในชนบท  และชุมชนแออัด การใช้งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ยังใช้แบบตามคำของบประมาณประจำปีแบบเก่า  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับส่วนกลางมากกว่าที่สถาบันการศึกษาจะสามารถบริหารได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความต้องการที่แท้จริง เช่น ถึงงบการศึกษาจะใช้ไปกับเงินเดือนครู อาจารย์เป็นสัดส่วนสูง (โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา)  แต่ก็ยังมีปัญหาครูขาดแคลน คนไม่อยากเป็นครูเพราะเงินเดือนต่ำ มีงบเพื่อฝึกอบรมและพัฒนาครูน้อย งบบางส่วนก็ใช้ไปเพื่อก่อสร้างอาคาร สถานที่ และซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่สูงสุด

      การจัดสรรงบประมาณให้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ค่อนข้างจำกัด และไม่ถึงมือผู้ยากจนที่ต้องการกู้มากที่สุดเสมอไป  ที่ผ่านมาให้กู้ได้ราวร้อยละ 30  ของผู้ยื่นขอกู้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จะเปลี่ยนนโยบายเป็นให้กู้ได้เฉพาะนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะกระทบต่อผู้เรียนมัธยมปลายและอาชีวศึกษาที่ยากจน โครงการให้นักศึกษาอุดมศึกษากู้ในปี พ.ศ. 2549  ก็มีงบให้นักศึกษากู้ได้ไม่เกินร้อยละ 10  ของนักศึกษาอุดมศึกษาทั้งหมดซึ่งปัจจุบันมีถึงราว 1.9  ล้านคน

      ปัญหาการขาดครู มีมากในระดับโรงเรียนขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะบางสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษเป็นปัญหาเรื้อรังและ  เป็นปัญหามากขึ้น เมื่อรัฐบาลตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำปี พ.ศ. 2540  มีนโยบายลดจำนวนข้าราชการโดยเสนอให้เงินพิเศษแก่ข้าราชการที่ลาออกก่อนเกษียณอายุ ทำให้ครูอาจารย์ลาออกไปหลายหมื่นคน และมี อัตราทดแทนผู้เกษียณเพียงร้อยละ 10  ปัญหาขาดแคลนครูในบางโรงเรียน  แต่มีครูเกินในบางโรงเรียน มีครูไปช่วยราชการอื่นนับหมื่นคน ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการวิเคราะห์วิจัยเรื่องนี้อย่างละเอียด และไม่มีการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างเป็นระบบองค์รวม มีแต่การร้องเรียนต่อรัฐบาลว่า ขาดครูกี่หมื่นคนและรัฐบาลก็ค่อย ๆ ทยอยเพิ่มอัตราให้ มีโครงการแก้ปัญหาโครงการย่อย ๆ ที่ขาดการประสานงาน ขาดความต่อเนื่อง ทำให้แก้ได้เป็นจุด ๆ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ยังดำรงอยู่ และเป็นผลเสียหายต่อคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

      การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศแถบเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนผู้เรียนมหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วนของนักวิจัย งบประมาณวิจัย จำนวนสิทธิบัตร จำนวนการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ โครงสร้างระดับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความตื่นตัวที่จะเพิ่มการพัฒนาด้านนี้อยู่  แต่มักเป็นโครงการย่อย ๆ ที่ยังไม่ได้พยายามแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม

      คุณภาพและผลิตภาพของแรงงาน  กระเตื้องขึ้นจากเดิมเล็กน้อย เช่น มีสัดส่วนแรงงานได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสูงขึ้นจากเดิม  แต่เปรียบเทียบแล้วสัดส่วนแรงงานที่จบชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษายังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ผลิตภาพของแรงงานไทยก็ต่ำกว่าหลายประเทศ เนื่องจากการจัดการศึกษาของไทยเป็นแบบบรรยายและวัดผลจากการท่องจำทางทฤษฎีตำรามากกว่าการฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ปฏิบัติ

      การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งควรถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก มีแต่การประชุม  การฝึกอบรม การสั่งการจากส่วนกลาง แต่ไม่ได้มีการพัฒนาครูให้รักการอ่าน คิดและสอนแบบใหม่เป็นอย่างจริงจัง  แนวคิดของการปฏิรูปการศึกษาตอนแรก ๆ มองว่าควรจะมีการประเมินครูใหม่ว่า ใครเหมาะสมที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพครูหรือไม่ แต่ต่อมาก็ถูกแรงผลักดันทางการเมืองพลิกผันไปเป็นว่า คนที่เป็นครูอยู่แล้วมีสิทธิได้ใบประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติ ซึ่งเท่ากับว่า ครูไม่ต้องพัฒนา ไม่ต้องปฏิรูปตัวเอง  ก็ยังเป็นครูสอนแบบเดิมต่อไปได้  การเปลี่ยนแปลงแบบถอยหลังเข้าคลองเช่นนี้ ทำให้ครูที่เคยตื่นตัวกระตือรือร้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในตอนแรก ๆ ลดการตื่นตัวลง

      การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการศึกษา เพียงแต่เปลี่ยนจาก 1 กระทรวง (14 กรม) 1 ทบวงมหาวิทยาลัย 1 สำนักงาน (สกศ.) มาเป็น 1 กระทรวง 5 สำนักงาน และเปลี่ยนจากสำนักงานจังหวัดและอำเภอ มาเป็นเขตการศึกษา 175  เขต แต่คนทำงานคือ คนกลุ่มเดิม ๆ ที่มีทัศนคติและท่วงทำนองการทำงานไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก  แถมการโยกคนจากต่างกรมมารวมกัน และการมีตำแหน่งผู้บริหารลดลง การที่นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงเรื่องการแต่งตั้งผู้บริหาร ยิ่งสร้างความขัดแย้ง ความสับสนยุ่งยากในการประสานงานเพิ่มขึ้น

      การกระจายอำนาจการบริหารไปให้เขตการศึกษาและโรงเรียนก็ยังมีความล่าช้าและความยุ่งยาก  เนื่องจากคนเคยชินกับการบริหารแบบสั่งงานตามสายงานและตามตัวอักษรมากกว่า มุ่งคำนึงถึงผลของงาน  ส่วนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาในแง่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมและคุณภาพการบริหารแตกต่างกันมาก ฝ่ายครูก็กังวลไม่อย่ากโอนย้าย เพราะเกรงว่าต้องไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้มีระดับการศึกษาต่ำกว่า ที่อาจจะมีปัญหามากกว่าการอยู่ที่เดิม

      การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลกระทบต่อการศึกษาอย่างสำคัญ ในด้านเศรษฐกิจ  รัฐบาลใช้นโยบายการคลังและการเงินแบบขยายตัวกระตุ้นการผลิตและการบริโภค ทำให้คนทั้งประเทศรวมทั้งนักเรียนนักศึกษากู้หนี้ยืมสิน และจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นสูง  ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตขึ้น จากร้อยละ 2.1  ในปี พ.ศ. 2544  เป็นร้อยละ 6.1  ในปี พ.ศ. 2547  แต่การกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ ยังคงไม่เป็นธรรมสูง (แม้จะดีขึ้นนิดหน่อยเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2539) กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 20% แรก มีสัดส่วนในรายได้ถึง 55.7% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด 20% สุดท้ายมีสัดส่วนในรายได้เพียง 4.3% ของรายได้รวมทั้งของคนทั้งประเทศ

      การกระจายรายได้ประเภทที่คนส่วนน้อยรวยมาก คนส่วนใหญ่จนถึงจนมาก  มีผลกระทบทำให้การกระจายโอกาสทางการศึกษาไม่เป็นธรรมด้วย  เพราะการศึกษามีค่าใช้จ่ายสูง  แม้รัฐธรรมนูญและ พรบ.การศึกษาแห่งชาติจะกำหนดให้รัฐให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่คิดค่าเล่าเรียน  แต่ผู้เรียนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านค่าแต่งตัว อุปกรณ์การเรียน การเดินทาง  อาหารกลางวัน โรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมืองส่วนใหญ่ก็คงเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ  เนื่องจากได้งบจากรัฐบาลต่ำจนเกินกว่าที่จะจัดการศึกษาแบบมีคุณภาพได้  เศรษฐกิจปี พ.ศ. 2548  ที่เริ่มชะลอตัวจะมีผลให้ประชาชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพลดลง

      นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการสร้างค่านิยมที่เน้นการแข่งขันหาเงิน และการบริโภคแบบตัวใครตัวมันมาก ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมามากมาย เด็กยากจนยังมีปัญหาทุพโภชนาการ  การมีไอคิวโดยเฉลี่ยต่ำ  ปัญหาลัทธิบริโภคนิยม การเสพติดบุหรี่ เหล้า สารเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง  การหมกหมุ่นเรื่องเพศ  และการอยู่ในสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพและสังคมวัฒนธรรมเป็นพิษมากขึ้น   ปัญหาด้านสุขภาพ สภาพแวดล้อม สังคมวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้นล้วนเป็นผลกระทบในทางลบต่อเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่  รวมทั้งลูกหลานคนรวย คนชั้นกลางก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน

      การประเมินผล 6 ปี ของการปฏิรูปการศึกษา นักวิชาการและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินเห็นคล้าย ๆ กันว่า มีความก้าวหน้าเฉพาะการออกกฎหมาย การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร  แต่มีความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เน้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ รักการอ่าน  คิดวิเคราะห์  สังเคราะห์เป็น  เก่ง ดี มีความสุข ค่อนข้างน้อย  เนื่องจากครูอาจารย์ส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการสอนแบบบรรยายจากตำรา และสอบวัดผลแบบท่องจำ และไม่ได้เรียนรู้ใหม่มากพอที่จะปฏิรูปการสอนแบบใหม่ได้

      ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปแบบว่า จะใช้คะแนนคัดเลือกแบบไหนเท่าไหร่  แต่ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหาสาระสำคัญ คือ มหาวิทยาลัยปิด ยังรับคนได้น้อยกว่าจำนวนคนที่ต้องการเข้าไปเรียนมาก  และการคัดเลือกส่วนใหญ่ยังคงใช้ข้อสอบปรนัยที่วัดความจำ  ดังนั้นทั้งครู  ผู้ปกครอง นักเรียนจึงยังคงกังวลเรื่องการเรียนแบบมุ่งสอบให้ได้คะแนนดี  และมุ่งสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย (แบบแพ้คัดออก) ให้ได้  มากกว่าที่จะสนใจการเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ และความฉลาดในทุกด้าน ตามที่ปรัชญาการปฏิรูปการศึกษาเสนอไว้

      สรุปภาพรวมก็คือ การปฏิรูปการศึกษาก้าวหน้าไปค่อนข้างช้า หรือมีความก้าวหน้าเฉพาะบางสถาบัน บางคณะ บางแผนกวิชา ชั้นเรียน หรือบางชุมชน เฉพาะที่ผู้บริหารครู อาจารย์ ผู้ปกครองและชุมชนเข้าใจและสนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ขณะที่สถาบันการศึกษาและครูอาจารย์ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองน้อย บางระดับ เช่น สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นมาก ทั้ง ๆ ที่มีอาจารย์เพิ่มน้อย อาจารย์ทำงานด้านวิจัยและเขียนบทความวิชาการน้อยทำให้คุณภาพลดลง ภาคเอกชน  ชุมชนและประชาชนยังมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาน้อย ยกเว้นกลุ่มผู้มีการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง หรือกลุ่มประชาชน ชุมชนบางแห่งที่ตื่นตัว การปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพขึ้นยังทำได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ

      แนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคระดับรากเหง้า การปฏิรูปการศึกษาเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังคงมุ่งแก้ไขสาเหตุระดับเบื้องต้นที่เป็นปัญหาทางเทคนิค  เช่น การเพิ่มงบประมาณสร้างซ่อมอาคาร ซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ การปรับหลักสูตร การผลิตและจ้างครูเพิ่ม การให้ทุนและเงินกู้ต่าง ๆ    แต่ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ เนื้อหา แนวทางแก้ไขสาเหตุในระดับรากเหง้าของปัญหาที่ลึกไปกว่านั้น  ทำให้การปฏิรูปการศึกษายังล่าช้า การจะปฏิรูปการศึกษาต้องการการผ่าตัดเพื่อแก้ไขสาเหตุระดับรากเหง้าอย่างน้อย 6 ข้อ คือ

1.    กรอบคิดและแรงจูงใจที่ล้าสมัยของคนส่วนใหญ่ว่าการศึกษาคือ การฟังคำบรรยายและอ่านตำราเพื่อท่องจำไปสอบได้วุฒิไปหางานทำ แทนที่จะสร้างแรงจูงใจภายในผู้เรียนแต่ละคนให้ใฝ่การเรียนรู้ รักการอ่าน รู้วิธีเรียนรู้ต่อด้วยตนเอง คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์  ประยุกต์ใช้เป็น  ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ถูกทางและมีพลังมากกว่าเรียนเพื่อแรงจูงใจให้ได้วุฒิบัตร ซึ่งเป็นแรงจูงใจภายนอก

2.    การเน้นเรื่องการแก้ไขกฎหมายและปรับโครงสร้างองค์กรบริหาร ที่กลายเป็นเรื่องการประนีประนอมรักษาสถานะภาพเดิมของผู้บริหารและครู อาจารย์มากกว่า  การมุ่งปฏิรูปครูอาจารย์และกระบวนการสอนการเรียนรู้แบบใหม่

3.    การที่ประชาชนปล่อยให้การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยไม่เข้าใจความสำคัญและไม่ได้มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา

4.    การขาดผู้นำ ผู้มีวิสัยทัศน์ความสามารถและคุณธรรมมากพอที่จะนำ ในการปฏิรูปการศึกษา

5.    กรอบคิดของชนชั้นนำและประชาชนทั่วไปที่มองการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือผลิตทรัพยากรคนให้มีทักษะสูงขึ้น เพื่อไปทำงานสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มองว่าคือการพัฒนาคุณภาพคน ในด้านรู้ทักษะทางสังคมและทางอารมณ์ ความคิด จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมด้วย

6.    โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และนโยบายการบริหารที่เป็นแบบอำนาจนิยม อภิสิทธิ์นิยม ทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร   ที่ทำให้การจัดการศึกษาไม่ได้มุ่งสร้างประชาชนให้เป็นผู้นำสังคม แต่เป็นผู้ตามสังคม และเป็นเครื่องมือคัดคนในระบบการแบบแพ้คัดออก ให้ไปทำงานระดับต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ระยะสั้นให้กับกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางผู้มีอำนาจ  มากกว่าเพื่อพัฒนาคนและทุกคนในทุกด้าน

ปฏิรูปอะไร อย่างไร เพื่อใคร

       “การปฏิรูปการศึกษา” จะทำได้สำเร็จ ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ว่า จะปฏิรูปอะไร อย่างไร เพื่อใคร

      ปฏิรูปอะไร  คือการปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนฉลาด รอบด้านเพิ่มขึ้น ไปแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมได้มากขึ้น  ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การปรับแต่งรูปโฉมภายนอกของการบริหารจัดการ ให้ดูทันสมัยหรือดูคล้ายกับของต่างประเทศ หรือมุ่งเพียงแค่พัฒนาคนไปรับใช้ระบบเศรษฐกิจ/ธุรกิจ แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหาสาระ 

      ปฏิรูปอย่างไร คือ ต้องปฏิรูปครูอาจารย์ให้เปลี่ยนกรอบคิด ทัศนคติ พฤติกรรมใหม่  สามารถที่จะจัดการกระบวนการเรียนรู้ให้ ผู้เรียนมีความสุข รักการอ่านรู้วิธีการเรียนรู้ต่อ คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น และมั่นใจในตัวเอง ฉลาดทั้งด้านปัญหา อารมณ์ และจิตสำนึก

      ปฏิรูปเพื่อใครคือ เพื่อผู้เรียนและประชาชนทั้งประเทศ มากกว่าเพื่อประโยชน์ระยะสั้นของนักการเมือง, ผู้บริหารและครูอาจารย์ 

อนาคตที่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้

      แนวโน้มทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกที่ประเทศต่าง ๆ จะแข่งขันกันอย่างซับซ้อนมากขึ้น  เราต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงสาเหตุระดับรากเหง้าของปัญหาความด้อยพัฒนาของการศึกษาในประเทศไทย และรณรงค์เผยแพร่ให้นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของประเทศเท่านั้น ประชาชนจึงจะพัฒนาขึ้นมาเป็นแรงผลักดันที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ชนชั้นนำของไทยต้องปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปการเรียนรู้ของคนไทยทั้งสังคม เพื่อผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพในทุกด้านมากพอ ที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศเพื่อความสุข  เป็นธรรม  และยั่งยืน  ของประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง. 

Entry Filed under: บทความ, วิทยากร เชียงกูล. .				
14 ธันวาคม 2550 09:11 น.

จริงใหม?

ลุงแทน

.......ในโลกนี้ ไม่มี ที่เที่ยงแท้
มีผันแปร เปลี่ยนไป ในทุกสิ่ง
ตั้งแต่เริ่ม เกิดมา สรรพสิ่ง
ไม่อยู่นิ่ง เสื่อมลง ให้ปลงตาม

.......เมื่อยังเด็ก "เตาะแตะ" แนะหัดรู้
ไม่อดสู "เต็งตึง" ถึงหนุ่มสาว
ต่อนานไป "โตงเตง" เมื่อถึงกาล
อวสาน "ต้องตาย" ไม่ทานทน

.......เมื่อยังอยู่ รู้สร้าง จิตสำนึก
ด้วยการฝึก มโนธรรม นำสร้างสรรค
มีหิริ โอตตัปปะ "นะ"ป้องกัน
รับผิดชอบ สังคม คือคนดี

.......การทำดี เพื่อตน แค่ลมสิ้น
ไป่ถวิล คนสรรเสริญ เจริญต่อ
แต่ทำดี เพื่อสังคม คนเยิ่นยอ
ชั่วฟ้าดิน บ่หมด คนจดจำ				
11 ธันวาคม 2550 14:34 น.

คิดถึงแม่

ลุงแทน

.......จากวันนั้น ผ่านมา สิบหกปี
เป็นวันที่ ดวงใจ ให้สลาย
๒๒ ธันวา  มารดาตาย
ดุจสายใจ ให้สบั่น ชั่งวังเวง
........ทุกวันกลับ จากงาน มาถึงบ้าน
เสียงเรียกขาน จากแม่ ดังก้องหู
เหนื่อยใหมลูก วันนี้ หน้าที่ครู
กราบเท้าผู้ มารดา ท่านปลอบใจ
........มืออ่อนโยน ลูบหัว ทั่วลูบหลัง
เป็นพลัง ยิ่งใหญ่ ให้ใจสู้
บอกกับท่าน แม้เหนื่อย เพราะเป็นครู
ขอให้ผู้ เป็นศิษย์  ไม่ผิดแน่ว
........อาบน้ำก่อน แม่บอก ก่อนทานข้าว
พร้อมสำรับ จัดวาง ทานพร้อมแม่
ความการุณ สุดประมาณ ท่านเผื่อแผ่
นี่แหละแม่ ที่ไม่อาจ หาใครเทียม
........มาวันนี้ ถึงบ้าน กราบรูปท่าน
ไร้เสียงขาน แว่วดัง เช่นเก่าก่อน
ก่อนจะหลับ กราบอัฐิ จิตวิงวอน
ด้วยขอพร ให้ท่าน สู่วิมาน.............ฯ				
5 ธันวาคม 2550 19:44 น.

เสียงเตือนจากพ่อ

ลุงแทน

......พ่อบอกว่า ชาติมีภัย...................ต้องพร้อมใจ ร่วมป้องกัน
พ่อบอกว่า สมานฉันท์......................ที่พูดนั้น กลั่นจากใจ
พ่อบอกว่า ใครเป็นใคร...................ที่มีใจ ให้รู้ตัว
พ่อบอกว่า หากพ้นภัย......................ต้องให้ไทย สามัคคี

......พ่อบอกว่า เวลานี้......................ดุจอัคคี  ที่ไหม้บ้าน
พ่อบอกว่า  มีภัยพาล........................ค้อยรุกลาม ผลาญเชื้อไทย
พ่อบอกว่า อย่าไว้ใจ........................ให้คนไทย ได้ติดตาม
พ่อบอกว่า ผู้หยาบหยาม...................หวังล้างผลาญ เราชาติไทย

......พ่อบอกมา หมารู้คุณ...................ที่เจือจุน ขุนข้าวเลี้ยง
พ่อบอกว่า พวกยากเปลี่ยน...............ไม่อาจเทียบ เทียมสุนัข
พ่อบอกว่า หมาไม่กัด........................คนฟูมฟัก ให้พักพิง
พ่อบอกว่า แม้ฝูงลิง                           ยังไม่ทิ้ง ถิ่นป่าดอน

......พ่อบอกว่า  ชาติ ศาสน์กษัตริย์.....ไทยเรารัก  ภักดิ์แค่บรรพ
พ่อบอกว่า  เป็นไทยนั้น....................ใจอย่าคิด ผิดแผ่นดิน
พ่อบอกว่า เขาจักสิ้น..........................แม้แผ่นดิน ถิ่นเคยนอน
พ่อบอกว่า  ต้องสังวรณ์.......................รู้คำสอน  "กตัญญู"				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงลุงแทน