กษัตริย์นักประดิษฐ์ ทรงพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงประชา

ลุงแทน

*****กษัตริย์นักประดิษฐ์ ทรงพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงประชา*****
      พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชดำริโครงการต่างๆ มากมายโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่เพียงแต่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยเท่านั้น ผลงานในโครงการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านยังเป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ และใช้แก้ปัญหาของประชาชนทั่วโลกได้
       
       เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.50 ทีมงานผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอร่วมเทอดพระเกียรติพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ที่ทรงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกร ก่อเกิดเป็นผลงานนวัตกรรมใหม่มากมาย
       
       ปัญหาน้ำแล้งที่คุกคามประชาชนทุกหย่อมหญ้า ด้วยพระเมตตาและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงให้กำเนิด "ฝนหลวง" หรือ "ฝนเทียม" จากสารเคมีที่หาได้ไม่ยาก ผสมกันด้วยสูตรเฉพาะ โดยใช้เทคนิค "ก่อกวน" กระตุ้นให้เมฆฝนรวมตัวกันและ “เลี้ยงให้อ้วน” ก่อนที่จะ “โจมตี” ให้เกิดเป็นเม็ดฝนโปรยลงมายังความชุ่มฉ่ำให้พสกนิกรดุจน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกร
       
       กระทั่งในเดือน มิ.ย. 49 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "ฝนหลวง" ที่ยื่นจดในประเทศโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.46 และในต่างประเทศโดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 48
       
       ขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการหาแหล่งพลังงานทดแทน ทว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในหลวงของเราทรงพระปรีชายิ่งที่พระองค์ท่านได้ตระหนักถึงปัญหานี้ก่อนใครๆ และทรงค้นคว้าการผลิตไบโอดีเซลจากพืช เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาน้ำมันขาดแคลนและผลผลิตด้านการเกษตรราคาตกต่ำในอนาคต
       
       ในปี 2544 วช. ได้นำผลงาน “น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ไปจัดแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001” ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ณ กรุงบรัสเซลส์ พร้อมกับผลงาน “ฝนหลวง” และ “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งทั้ง 3 ผลงานนี้ได้รับรางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailand พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน และถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร และยังมีรางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพที่มอบแด่ผลงานทั้ง 3 อย่างละรางวัลด้วย
       
       เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา 2 องค์กรด้านการประดิษฐ์ระดับโลกก็พร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักประดิษฐ์ที่พระองค์ท่านทรงคิดค้นและพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนผลงานเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (IFIA) กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการี ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเอฟไอเอคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize) ส่วนสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (KIPA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสเปเชียลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร
       
       ก่อนหน้านี้จากกังหันน้ำชัยพัฒนาเคยได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นจากงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” มาแล้ว 5 รางวัล ในปี 43 ได้แก่ เหรียญรางวัล Prix OMPI โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO), เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention และประกาศนียบัตร, ถ้วยรางวัล Grand Prix International ซึ่งเป็นรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด, ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น และถ้วยรางวัล Yugoslavia หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์
       
       ทั้งนี้ กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.36 และนับแต่นั้นมาวันที่ 2 ก.พ. ของทุกปี จึงเป็นวันนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย โดยในวันที่ 21 พ.ย.49 คณะรัฐมนตรีมีมติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้มีแต่เพียงเท่านี้ พระองค์ยังทรงประดิษฐ์ "เรือใบตระกูลมด" ประกอบด้วย เรือใบมด, เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด ซึ่งแสดงถึงความวิริยอุตสาหะของพระองค์ท่านที่ทรงเพียรพยายามเพื่อให้เสร็จสมดังพระราชหฤทัย พระองค์ท่านทรงออกแบบเรือใบเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสรีระของคนไทย ได้มาตรฐาน น้ำหนักเบา แล่นเร็ว และง่ายต่อการใช้งาน และทรงจดลิขสิทธิ์เรือใบมดเป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนเรือใบซูเปอร์มดยังเป็นพาหนะที่พระองค์ท่านทรงใช้ในการแข่งขันเรือใบในการแข่งขันระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง ต่อมาพระองค์ท่านทรงปรับปรุงแก้ไขเรือใบตระกูลมดเหล่านี้จนกลายเป็นเรือยนต์รักษาฝั่งชื่อว่า "ต. 91" ปัจจุบันเรียกว่า "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง"
       
       ในหลวงยังทรงมีพระปรีชาสามารถในการอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝก ที่มีระบบรากช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลาย ขณะเดียวกันก็ช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นของดินไว้ ทำให้ดินที่เสื่อมโทรมกลับฟื้นคืนชีวิตชีวาได้อีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาหน้าดินพังทลาย ทางสมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระองค์ท่านที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.36
       
       โครงการแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการขุดคลองเก็บกักน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก และค่อยๆ ระบายออกเมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลง โครงการแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โดยการแกล้งให้ดินเปรี้ยวจัดเสียก่อน แล้วค่อยใส่สารที่มีฤทธิ์เป็นเบสลงไปในดิน ทำให้ดิน "ช็อก" และกลับสู่สภาวะปกติ เพาะปลูกได้ดีดังเดิม
       
       โครงการแหลมผักเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ที่แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ แล้วนำไปหมักในบ่อคอนกรีตด้วยกระบวนการที่กระตุ้นให้เกิดการย่อยสลายเศษอาหารเป็นสารอนินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้พืชต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการบำบัดน้ำเน่าเสียจะใช้สาหร่ายหรือพืชเป็นตัวเพิ่มออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ในน้ำให้ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งปฏิกูลได้ดียิ่งขึ้น
       
       นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชดำริขึ้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาทุกหมู่เหล่า เพื่อให้ราษฎรทุคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์
ประมวลรางวัลและสิทธิบัตรผลงานเด่น ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       พ.ย. 2550
       สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ หรือ ไอเอฟไอเอ (IFIA) สาธารณรัฐฮังการี ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเอฟไอเอคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ (IFIA Cup) และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize), สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ หรือคิปา (KIPA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสเปเชีลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร (Special Prize) แด่ผลงานกังหันน้ำชัยพัฒนา, ทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง
       
       ก.พ. 2550
       องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “โกลบอล ลีดเดอร์ส อะวอร์ด” (Global Leaders Award) แด่ผลงาน กังหันน้ำชัยพัฒนา, ฝนหลวง, ไบโอดีเซล และทฤษฎีใหม่
       
       21 พ.ย. 2549
       คณะรัฐมนตรีมีมติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       20 มิ.ย. 2549
       คณะรัฐมนตรีมีมติเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" และกำหนดให้วันที่ 5 ต.ค. ของทุกปี เป็น "วันนวัตกรรมแห่งชาติ"
       
       มิ.ย. 2549
       สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "ฝนหลวง" ที่ยื่นจดในประเทศโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2546 และในต่างประเทศโดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ภายใต้ชื่อ “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2548
       
       พ.ค. 2549
       นายโคฟี อนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในขณะนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ
       
       2544
       ผลงาน “น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม", "ฝนหลวง” และ “ทฤษฎีใหม่” ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน และถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร
       ผลงาน “น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม" ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       ผลงาน “ฝนหลวง” ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       ผลงาน “ทฤษฎีใหม่” ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       
       2543
       ผลงานประดิษฐ์ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลทั้งสิ้นรวม 5 รางวัล ได้แก่ เหรียญรางวัล Prix OMPI โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO), เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention และประกาศนียบัตร, ถ้วยรางวัล Grand Prix International, ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) และถ้วยรางวัล Yugoslavia
       
       ต.ค. 2536
       สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ
       
       2 ก.พ. 2536
       กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
       
       นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงนำเรือใบมดไปจดสิทธิบัตรเป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะออกแบบและต่อเรือด้วยพระองค์เองในช่วงระหว่างปี 2509 - 251				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน