บันได ๗ ขั้นสู่ความสุข

ลุงแทน

กรกฎาคม 12, 2007 
คุณสมบัติที่สำคัญ 4 ประการของคนที่มีความสุข
(Four Important Traits of Happy People)
1. มีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) : คนมีความสุขคือคนที่ชอบหรือพอใจในตัวเอง (แต่ไม่ถึงขั้นหลงตัว) คนที่ชอบตัวเองและยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ รวมทั้งคิดว่าคนอื่นมองเขาในทางที่ดี คือคนที่โดยทั่วไปรู้สึกต่อชีวิตในทางที่ดี คนเหล่านี้อาจจะมีอคติต่อตัวเองในทางบวกในระดับหนึ่ง เช่น ยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อความสำเร็จหรือการกระทำดี ๆ มากกว่าความล้มเหลวหรือการกระทำที่ไม่ดี การมองตัวเองในทางบวกอย่างมีอคตินิดหน่อยเป็นปัจจัยคุ้มครองพวกเขาจากความกังวลใจและซึมเศร้า พวกเขามักจะมองตัวเองว่าอยู่เหนือกว่าคนระดับถัวเฉลี่ย และจะเลือกมองส่วนดี, มองแง่บวกของตัวเอง ไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น ในทางตรงกันข้ามคนที่ชอบรู้สึกเปรียบเทียบว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น มักจะเป็นคนไม่ค่อยมีความสุข
โดยรวมแล้วคนที่พอใจในตัวเองในระดับที่เหมาะสม ไม่ถึงขั้นหลงตัวเอง หรือไม่เคร่งเคียดที่จะมีบีบคั้นตัวเองให้เป็นคนภาคภูมิใจในตัวเองสูง (ซึ่งคนอเมริกันบางกลุ่มในบางยุคถูกกระแสการแข่งขันเพื่อความสำเร็จเรียกร้องให้เป็น) จะมีความสุขมากกว่าคนที่ขาดความรู้สึกแบบนี้โดยเฉพาะในประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบปัจเจกชนนิยมสูง เช่นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมปัจจัยนี้จะมีความสำคัญสูง 
2.มองโลกในแง่ดี : คนมีความสุขคือคนที่มีความหวังเต็มเปี่ยม คนที่มองโลกในแง่ดี คือมีความเชื่อมั่นว่าตัวเอง สามารถทำอะไรได้แทบทุกอย่าง และถ้าทำอะไรใหม่ ๆ ก็คาดว่าจะสำเร็จจะเป็นคนที่มีความสุขมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย คนที่มองโลกในแง่ดี คือ คนที่มองส่วนที่เป็นน้ำในแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่งว่า ดีนะที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว ส่วนคนมองโลกในแง่ร้ายคือ คนทีมองเห็นส่วนที่ว่างเปล่าของแก้วแล้วคิดว่าทำไมมีน้ำแค่ครึ่งแก้ว คนมองโลกในแง่ดี จะเครียดน้อยกว่า เขาจึงมีสุขภาพดีกว่า คนมองโลกในแง่ดี จะมองอุปสรรคเป็นสิ่งท้าทายให้เขาต้องปรับปรุงตัวเอง จะมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทางเป็นไปได้ ดังนั้นเขาจึงพอใจมากกว่า และกล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยง และประสบความสำเร็จมากกว่า แต่การมองโลกในแง่ดี ที่จะนำความสุขมาให้ หมายถึงการมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง (Realism) ไม่ใช่การเพ้อฝัน, คาดหมายสูง, มองโลกในแง่ดีอย่างไม่สมจริง ซึ่งหากชีวิตจริงไม่เป็นไปเช่นนั้น จะทำให้คนแบบนี้ผิดหวังมากและทุกข์ได้มาก
ดังนั้นสูตรของชีวิตที่มีความสุข จึงไม่ใช่อยู่ที่การมองในแง่บวกหรือการมองในแง่ดีเท่านั้น มันคือการผสมผสานของการมองโลกในแง่ดี ซึ่งทำให้เราเกิดความหวัง และมองโลกในแง่ร้ายตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เราอิ่มอกอิ่มใจมากเกินไป รวมทั้งการเป็นคนมองโลกตามความเป็นจริง สามารถแยกแยะได้ว่า มีปัจจัยบางอย่างที่ขึ้นอยู่กับเรา, เราเป็นผู้ควบคุมเปลี่ยนแปลงมันได้ และมีปัจจัยบางอย่าง เช่น สถานะการณ์ภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ 
3. เป็นคนเปิดตัว (Extrovert) : คนมีความสุขคือคนที่ชอบออกไปสังสรรค์กับคนอื่น
การวิจัยพบว่า คนที่มีบุคคลิกเปิดตัว ชอบออกไปสังสรรค์กับคนอื่น มันจะเป็นคนร่าเริง อารมณ์ดี มีเพื่อนดี ได้แต่งงาน ได้งานดี มีความสุข ความพอใจในชีวิตมากกว่า คนที่ชอบเก็บตัวไม่แสดงออก (Introvert) นักจิตวิทยาพบว่าที่คนมีคู่ครองญาติและเพื่อนที่ดีคอยให้ความสนับสนุนช่วยเหลือทางสังคม ทำให้เขา/เธอเกิดความรู้สึกมั่นคงอบอุ่น เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของชีวิตที่มีความสุข
4. เป็นคนที่ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ (Personal Control) : คนมีความสุขคือคนที่เชื่อว่าเขาเป็นคนที่เลือกชะตาชีวิตของตนเองได้ การสำรวจประชากรทั่วประเทศสหรัฐฯ โดยแองกุส แคมป์เบล มหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าคนที่มีความรู้สึกว่าเขาสามารถควบคุมชีวิตของเขาเองได้ จะจัดการกับตัวที่ทำให้เกิดความเครียดได้ดีกว่า และจะมีความรู้สึกในทางบวก หรือความพอใจในชีวิตมากกว่า คนที่สามารถพัฒนาการควบคุมชีวิตตนเองได้ดีขึ้น จะมีสุขภาพและขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น ความจริงข้อนี้ได้มาจากการวิจัยของ จูดิธ โรแดง นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล ผู้ใช้วิธีสนับสนุนให้คนไข้ในสถานพักฟื้นมีอำนาจในการควบคุมตนเองเพิ่มขึ้น เช่น การตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของเขาและการมีส่วนกำหนดนโยบายของสถานพักฟื้น พบว่า 93% ของคนไข้ ตื่นตัว กระฉับกระเฉงและมีความสุขเพิ่มขึ้น การวิจัยในสถานที่ทำงาน รวมทั้งในคุกก็ให้ผลคล้ายคลึงกัน เช่น เมื่อมีการอนุญาตให้ผู้ต้องคุมขังเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการจัดที่นั่ง, การควบคุมไฟและโทรทัศน์ ในห้องนันทนาการ พบว่าผู้ต้องคุมขังเหล่านั้นมีความเครียดลดลง และมีความสุขเพิ่มขึ้น คนที่สามารถควบคุมการใช้เวลา เช่น เวลาว่างนอกเวลาทำงานของตนได้ดี คือมีการวางแผนและใช้เวลาสนองความพอใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุขมากกว่าคนใช้เวลาแบบสะเปะสะปะ เช่น คนที่นอนดึก, เที่ยวดึก หรือจมอยู่กับการนั่งดูทีวีโดยไม่รู้จักคิดทำอย่างอื่น คนมีความสุข มักใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงเวลา รู้สึกว่าได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า คนไม่มีความสุข รู้สึกว่าไม่รู้จะทำอะไรกับเวลาว่าง ไม่สนใจอะไรจริงจัง ชอบผัดวันประกันพรุ่ง และใช้เวลาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
แม้แต่เวลาที่ใช้ในการทำงาน คนที่วางแผนและกำหนดเป้าหมายว่าจะทำงานนี้เสร็จเมื่อไหร่ และทำได้ตรงตามเป้า จะเกิดความมั่นใจพอใจว่าเขาเป็นผู้ควบคุมเวลาของเขาได้ และสิ่งนี้นำไปสู่ความพอใจและความสุข				
comments powered by Disqus
  • ลุงแทน

    19 ธันวาคม 2550 11:53 น. - comment id 98689

    การสำรวจความพอใจในชีวิตของคนในหลายประเทศ พบว่าพวกเขาเห็นคล้าย ๆ กันว่าปัจจัยที่คนคิดว่าสำคัญที่สุดที่จะนำความพอใจหรือความสุขมาให้พวกเขามี 3 อย่างคือ 
    
    1. ความมั่งคั่ง, 
    
    2. การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว (และเพื่อน) และ
    
    3. สุขภาพที่ดี 
    
    
    แต่ความมั่งคั่งนั้นให้ความพอใจคนได้จำกัด กล่าวคือ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับคนที่จนต่ำกว่าระดับพอยังชีพ แต่เป็นปัจจัยที่สำคัญลดลง(เพราะความเครียด, ความคาดหวังสูง, การไปเทียบกับคนที่มั่งคั่งกว่า ฯลฯ) สำหรับคนชั้นกลางและคนรวยที่เมื่อมีรายได้สูงขึ้นจากที่พอมีพอกินอยู่แล้วก็ไม่ค่อยมีความสุขเพิ่มขึ้นกว่าเดิมนัก หรือแม้แต่ลดลง ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ (ที่เห็นได้ชัดคือคนอเมริกัน) เข้าใจผิดว่าความมั่งคั่ง คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนมีความพอใจ และใช้เวลากับการทำงานหาเงินหาทองมากเกินไป ขณะที่ใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว และการดูแลสุขภาพตัวเองน้อยเกินไป โดยรวมแล้วพวกเขาจึงไม่รู้จักใช้เวลาให้เกิดความพอใจอย่างประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นทั้งประชาชนและรัฐบาลน่าจะเปลี่ยนเป้าหมายการพัฒนาชีวิตและพัฒนาประเทศใหม่ จากเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด เป็นการแสวงหาความพอใจ (หรือความสุข) สูงสุด 
    
    บันได 7 ขั้นไปสู่ความสุข (ความสามารถที่จะชื่นชมกับชีวิต)
    
    Diane Swanbrow, The Paradox of Happiness, Psychology Today 7 – 8 / 1989
    
    
    1. ให้ความสำคัญอันดับแรกกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่คุณรัก เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุข
    
    
    2. ทำงานที่คุณรักหรือมีความหมายต่อคุณอย่างเต็มที่ การยุ่งอยู่กับงานที่เราชอบ มักทำให้เรามีความสุขหรือเพลิดเพลินไปโดยคิดเรื่องความทุกข์ สำหรับคนที่ไม่ชอบงานที่เราทำ ลองพยายามมองหาแง่มุมที่ดีของงานของคุณ เพื่อจะได้รู้สึกว่างานมีความหมายและน่าพอใจ นอกเหนือไปจากเพื่อมีรายได้เลี้ยงชีพ ถ้าคุณหาความพอใจจากงานไม่ได้ หรือเกลียดงานจริง ๆ ลองหางานใหม่ที่จะทำให้คุณพอใจมากกว่า แม้ว่าอาจมีรายได้ลดลง เพราะความมั่งคั่งในระดับเกินการยังชีพปรกติ ส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยให้ใครมีความสุขเพิ่มขึ้น
    
    
    3. คิดถึงคนอื่นและช่วยเหลือคนอื่น การช่วยเหลือคนอื่น ทำให้คุณรู้สึกดีเกี่ยวกับตัวคุณเอง ในทางจิตวิทยาหมายถึง การเสริมความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) ในทางการแพทย์ คือการช่วยให้คุณลดระดับความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสุข การช่วยให้คนอื่นมีความสุข ยังสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คนมีความสุข
    
    
    4. ให้ความสำคัญกับความสุขเป็นลำดับแรก ๆ ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้คุณมีความสุข และใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องรอคอยเพื่อให้เกิดความรู้สึกดี ๆ อย่าไปปนเปกันว่าความสำเร็จคือความสุข อย่างที่หลายคนมัวต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ประสบความสำเร็จ จนลืมว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเขาคือความสุข อย่ามัวฝันถึงโดยไม่ลงมือทำ การได้ความสุขมาโดยเราเป็นผู้ลงมือทำเอง ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ควบคุมสถานะการณ์ ซึ่งทำให้เรามีความสุขกว่าการได้โชคลาภอย่างบังเอิญ เช่น การถูกล็อตเตอรี่
    
    
    5. สร้างพลังให้กับชีวิตคุณด้วยการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ทำสวน การออกกำลังกาย ช่วยให้มีการหลั่งสารเอนดอร์ฟินส์ ซึ่งลดความเครียดและสร้างความสุข ทั้งยังเป็นผลดี ต่อสุขภาพคุณซึ่งสัมพันธ์กับความสุข การดูแลสุขภาพดียังรวมทั้งการเลือกกินและดื่มอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และสารเสพติดอื่น ๆ , การพักผ่อนที่เพียงพอ, การดูแลสุขภาพจิต
  • ลุงแทน

    19 ธันวาคม 2550 11:53 น. - comment id 98691

    6. ใช้ชีวิตแบบมีการจัดการ แต่ให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว การรู้ว่าคุณกำลังจะก้าวไปทางไหน และการวางแผนเพื่อให้ชีวิตเกิดความสุข, ความพอใจเป็นสิ่งที่ดี แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตตามแผนอย่างเข้มงวด หรือทำอะไรซ้ำซากแบบเดิมทุกวัน หากมีโอกาสที่ไม่คาดฝัน ที่จะได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเดิม ก็ควรยืดหยุ่นที่จะคว้าโอกาสนั้น เพราะความแปลกใหม่มีส่วนช่วยให้เรามีความสุข คนที่สนใจอยากเรียนรู้, อยากทดลองสิ่งใหม่ ๆ มีความสุขมากกว่าคนหัวเก่าที่ไม่ค่อยกล้าลองอะไรใหม่ ๆ 
    
    
    7. หาความสุขไปอย่างสม่ำเสมอ ชีวิตคนเรามักมีช่วงขาขึ้นและช่วงขาลงเป็นระยะ ๆ แต่เราควรมองสถานะการณ์ทั้งหมดจากมุมมองในระยะยาวมากกว่าที่จะรู้สึกหวือหวาไปตามสถานะการณ์ขึ้นหรือลง เช่น การดีใจมากไป อาจจะนำไปสู่จุดต่ำสุด เช่น ผิดหวังเสียใจมากได้ง่ายเช่นกัน ถ้าเราไม่ดีใจแบบลิงโลดมากไป ค่อย ๆ หาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ (หรือไม่เสียใจอะไรมากเกินไป) เราจะปรับอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ใกล้เคียงระดับปรกติได้ง่ายกว่า และมีความสุขได้ยาวนานกว่า การมีความสุขหวือหวานาน ๆ ครั้ง
    
    
    คนที่มองโลกในแง่ดี มีทัศนะคติในทางบวก (รวมทั้งยิ้มง่าย, หัวเราะง่าย) จะมีความสุขมากกว่า แม้ในยามที่พวกเขาเจอเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต พวกเขาก็จะปรับตัวให้กลับมาสู่ระดับปรกติได้ดีกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย
    
    ความสุขเป็นกระบวนการมากกว่าจุดหมายปลายทางRobert Biswas – Diener The Psychology of Subjective Well – Being Daedalus Spring 2004 
    
    แม้การมีความสุขจะให้ประโยชน์ต่อชีวิตเราในด้านต่าง ๆ มาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เราควรจะถือการแสวงหาความสุขในชีวิตเป็นเป้าหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียว หรือจะต้องหาทางทำให้ตัวเองมีความสุขตลอดเวลา เราควรถือว่าการแสวงหาความสุขเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งในชีวิตร่วมกับเป้าหมายอื่น ๆ บางครั้งเราต้องยอมเสียสละความพอใจในระยะสั้น เมื่อให้บรรลุเป้าหมายอื่น ตัวอย่างเช่น นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มักจะต้องเผชิญกับปัญหาความคับข้องใจและความกังวล กว่าจะเรียนสำเร็จ แต่พวกเขายอมอดทนต่อสิ่งเหล่านี้อย่างมีจิตสำนึก เพราะเขาตระหนักว่า การเรียนสำเร็จเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่า 
    
    
    จริง ๆ แล้ว การที่ใครจะมีความสุขตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ได้น่าพึงปรารถนา หรือแม้แต่เป็นไปไม่ได้ (เพราะเป็นเรื่องปรกติที่ในชีวิตหนึ่ง ๆ ของคนเราต้องเจอเหตุการณ์ทั้งพอใจและไม่พอใจ และความรู้สึกที่รุนแรงในตอนแรกจะค่อยลดลงเมื่อเวลาผ่านไป) การมีอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจในบางครั้ง เช่น ความรู้สึกผิด, ความเศร้า เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเรา ในแง่ที่ว่ามันช่วยควบคุมพฤติกรรมของเรา และให้ข้อมูลในชีวิตที่จำเป็นแก่เรา อารมณ์ในทางลบบางครั้ง ช่วยให้เราปรับตัวและจัดการแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีแนวโน้มมีความสุขมากกว่าคนอื่น คือคนที่รู้จักการกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจได้ดี 
    
    
    ดังนั้น ความสุขจึงเป็นกระบวนการ มากกว่าจุดหมายปลายทาง (Happiness is Much More a Process Than a Destination)

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน