****** สถานที่ปลงพระศพพระนเรศวร *********

ลุงแทน

******  สถานที่ปลงพระศพพระนเรศวร  *********
************ สภาพการจราจรในเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังดินแดนกรุงเก่าอย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันธรรมดาช่วงกลางวันนั้นไม่สู้จะติดขัดมากนัก ทำให้ใช้ระยะเวลาเดินทางเพียงชั่วโมงเศษ ถนนจากตัวจังหวัดที่ทอดสู่อำเภอเสนาปรากฏแก่สายตา และเมื่อผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปเพียงประมาณไม่กี่ร้อยเมตร ก็ได้เห็นหมู่เจดีย์ที่เก่าแก่ทรุดโทรมตามกาลเวลา ทว่าแฝงความขลังด้วยประวัติศาสตร์ที่เหล่าเจดีย์ทั้งหลายดังกล่าวนั้นได้ผ่านผันมาหลายยุคหลายสมัย...จนนำพามาให้ยืนยงอยู่ ณ วันนี้
ป้ายเล็กๆ กลางเก่ากลางใหม่บอกนามวัดไว้อย่างเลือนรางจนแทบมองไม่เห็นว่า “วัดวรเชษฐ์” (วัดวรเชต) ซึ่งป้ายดังกล่าวไม่สะดุดตาและไม่เป็นที่น่าสังเกต ง่ายต่อการเลยผ่านไปอย่างไม่สนใจยิ่งนัก แต่หากได้แวะชมที่วัดนี้แล้ว นอกจากที่จะพบกับความร่มรื่นด้วยสถานแห่งธรรมะภายในขอบสีมาธรรมจักรแห่งบวรพุทธศาสนาแล้ว ยังได้แวะหาข้อมูลความรู้เชิงประวัติศาสตร์อันน่าตกตะลึงอีกด้วยในประเด็นที่ว่า วัดแห่งนี้อาจจะเป็นที่ปลงพระบรมศพ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” รวมไปถึงเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระผู้เป็นมหาวีรกษัตริย์ผู้กอบกู้สยามประเทศพระองค์นี้ด้วย!!!
“น. ณ ปากน้ำ” ฟันธง ใช่แน่นอน
พระอาจารย์ ดร.สิงห์ทน นราสโภ พระภิกษุอดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผู้สนใจด้านปรัชญาจนศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขา Philosophy จาก ม.นาลันทา ประเทศอินเดีย และเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้รับการนิมนต์จากศิษยานุศิษย์ให้มาจำวัดที่วัดวรเชษฐ์แห่งนี้เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว เปิดเผยว่า แต่เดิมนั้นวัดดังกล่าวมีสภาพทรุดโทรมมาก พื้นที่ของบริเวณวัดก็ถูกออกโฉนดซื้อขายจนกระทั่งมีแม่ชีไปซื้อมาได้และสร้างที่พักแบบพออย
ู่เพื่ออาศัยสวดมนต์ภาวนาปฏิบัติตนภายใต้ร่มพระศาสนา หญ้าและวัชพืชขึ้นรกรุงรังจนชาวมุสลิมที่เลี้ยงวัวนำวัวมากินหญ้าแถวนี้อยู่เป็นประจำ
         เมื่อพระอาจารย์เดินทางมาถึงจึงได้จ้างชาวบ้านมาหักร้างถางพงและทำความสะอาดห้องน้ำที่มีอยู่เพียงห้องเดียวที่แสนจะสกปรกนั้น โดยหลวงพ่อได้อาศัยจำวัดอยู่ภายในห้องสวดมนต์ มีกลดแขวนอยู่เพียงอันเดียว ท่ามกลางพระพุทธรูปจำนวนมาก โดยหลวงพ่อเปิดเผยว่าการนิมนต์มาที่วัดนี้นั้นเป็นการเชิญนิมนต์ให้มาสวดมนต์ภาวนาให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และประเทศไทยที่อยู่ในภาวะสับสนและถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งด้านการเมือง และศีลธรรมให้ดีขึ้น
และเมื่อมาถึงหลวงพ่อก็พบว่าวัดแห่งนี้มีความเกี่ยวโยงกับ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” โดยเฉพาะบทความของ น. ณ ปากน้ำ เรื่อง “ศิลปสมัยพระเจ้าปราสาททอง” ที่ระบุแบบ “ฟันธง” เอาไว้ว่า “วัดวรเชษฐ์” แห่งนี้ เป็นที่ปลงพระบรมศพและเก็บพระบรมอัฐิของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”   วัดวรเชษฐ์ที่คนอยุธยามักเรียกสร้อยต่อท้ายชื่อว่าวัดวรเชษฐ์นอกเกาะตามที่ตั้งของวัดที่อยู่ในเขตอรัญญวาสีนอกเขตเกาะเมืองอยุธยา เมื่อย้อนไปในสมัยอยุธยา สมัยแผ่นดินอันรุ่งเรืองของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น วัดแห่งนี้ก็คือวัดป่าแก้ว วัดสำคัญของเมืองที่มีสมเด็จพระพันรัตน์เป็นเจ้าอาวาส และเป็นสมเด็จพระสังฆราชจำพรรษาอยู่นั่นเอง” หลวงพ่อ ดร.สิงห์ทนขยายความ
ระบุเป็น 3 วัดที่มีสายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง
ต่อมาหลวงพ่อ ดร.สิงห์ทน ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยสัมผัสที่หกจากนักจิตวิญญาณทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ทำให้ตัวหลวงพ่อเองมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ วัดสำคัญย่านนี้ในสมัยอยุธยานมี 3 วัดด้วยกัน และถ้าดูที่ตั้งของแต่ละวัดแล้วจะพบว่า เป็นการตั้งวัดเป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิด อันเป็นรูปร่างของการประจุพลังงาน เพื่อที่วัดทั้งสามเมื่อสวดมนต์พร้อมกัน ก็จะเป็นคลื่นพลังงานแห่งพระพุทธคุณแผ่ปกคลุมและหนุนนำอยุธยา
กล่าวคือก่อนหน้านี้ในสมัยโบราณ วัดวรเชษฐ์ถูกเรียกว่า “วัดเจ้าเชษฐ์” ถือเป็นวัดประจำพระองค์พระนเรศวร แต่ที่มาเพี้ยนเป็น “วัดวรเชษฐ์” นั้นอนุมานได้ว่าเป็นเพราะภายหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถได้พระราชทานชื่อใหม่เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระบรมเชษฐาธิราช จึงให้เรียกขานวัดนี้ว่า “วัดวรเชษฐ์” อันแปลว่า “วัดพี่ชายผู้ประเสริฐ” และวัดกระชายในปัจจุบันนี้ก็คือ “วัดเจ้าชาย” ในสมัยอยุธยา เป็นวัดประจำพระองค์ของสมเด็จพระเอกาทศรถ
ส่วนอีกวัดหนึ่งที่ทุกวันนี้เรียกขานกันว่า “วัดลอดช่อง” นั้น จริงๆ แล้วในสมัยอยุธยาก็คือ “วัดพระมหาเถรคันฉ่อง” พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรที่ทรงไปนิมนต์กลับมาสยามครั้งทรงขึ้นเป็นกษัตริย์นั่นเอง
“ตามปกติแล้วความดีงามและตบะบารมีที่คนเราได้กระทำเอาไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น จะถูกเก็บสะสมและฝังเอาไว้ในมวลกระดูก และเมื่อเสียชีวิตลงแล้วเมื่อนำร่างไปบำเพ็ญกุศลตามความเชื่อเป็นที่เรียบร้อย สุดท้ายที่จะเหลือก็คือกระดูก ซึ่งพลังงานตบะบารมีที่สั่งสมนั้นก็ยังอยู่ครบถ้วนในกระดูกเมื่อยามเสียชีวิต และนี่ก็เป็นเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ที่นักจิตวิญญาณทั้งหลายทั้งไทยและเทศ สามารถรับคลื่นพลังงานจากเจดีย์ในวัดแห่งนี้ได้”
และสำหรับวัดวรเชษฐ์นี้ หลวงพ่อ ดร.สิงห์ทนยังได้เล่าให้ฟังเรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์แปลกๆ อันเกี่ยวเนื่องกับเจดีย์ที่วัดแห่งนี้อีกว่า สำหรับผู้ที่เคยลงไปในเจดีย์ทรงปรางค์องค์ใหญ่ เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็พบโกศขนาดใหญ่และมีงูเห่าเผือกนอนขดอยู่ใกล้ๆ จากนั้นให้หลังประมาณ 30 ปีก็มีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรลงไปเก็บสมบัติและของมีค่าเพื่อนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก็พบงูเห่าเผือกที่อยู่เฝ้าโกศขนาดใหญ่นี้ และเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผ่านมาที่ได้มีการบวงสรวงเจดีย์เหล่านี้ ก็มีผู้พบงูเห่าเผือกเลื้อยออกมาจากช่องเจดีย์เช่นกัน
      “หลวงปู่โง่น” ก็เอาพระอัฐิพระสุพรรณกัลยามาเก็บไว้
หลวงพ่อ ดร.สิงห์ทน เล่าด้วยว่า มีผู้เชี่ยวชาญด้านสัมผัสที่หกจำนวนไม่น้อยที่ระบุตรงกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ปลงพระบรมศพ และเป็นที่เก็บพระโกศที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยชี้สถานที่เก็บพระบรมโกศเหมือนกันทุกรายว่าอยู่ในเจดีย์ใหญ่ทรงพระปรางค์ที่เด่นตระหง่านเหนือหมู่เจดีย์อื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีการระบุด้วยว่า ที่ในเจดีย์องค์อื่นๆ มีการเก็บพระอัฐิและอัฐิสำคัญอีกมากมาย คือในเจดีย์เล็กด้านข้างนั้น เป็นเจดีย์เก็บพระอัฐิพระชายาในสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระราชอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, ในเจดีย์ทรงย่อมุมไม้สิบสองที่เดิมสมเด็จพระเอกาทศรถทรงโปรดให้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของสมเด็จพระพี่นางผู้เสียสละ คือ “พระสุพรรณกัลยา” นั้น ภายหลังหลวงปู่โง่น โสรโย เกจิอาจารย์ชื่อดังผู้ที่เชื่อว่าได้นิมิตจากการติดต่อจากดวงพระวิญญาณของพระสุพรรณกัลยา ที่เดินทางไปอัญเชิญพระอัฐิของพระองค์จากแดนพม่ากลับมาเมืองไทยก็ได้แบ่งพระอัฐิของพระนางส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ใน
เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่วัดนี้ด้วย
“อันนี้เป็นเพราะหลวงปู่โง่นทราบดีว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่จริง ท่านเป็นพระที่มีอภิญญา สามารถเล็งเห็นว่าควรเก็บพระอัฐิของพระสุพรรณกัลยาไว้ที่ใด ท่านจึงเดินทางมาที่วัดนี้ และบรรจุส่วนหนึ่งเอาไว้ในเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ท่านก็บอกอาตมาเหมือนกัน แล้วท่านก็เล่าว่านำมาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนตัวอาตมาและหลวงปู่โง่นแล้วสนิทมักคุ้นกันดี”
นอกจากนี้ ที่เจดีย์ทรงระฆังคว่ำในหมู่เจดีย์ภายในวัดนี้ยังเป็นที่เก็บอัฐิของสมเด็จพระพันรัตด้วย
หลวงพ่อ ดร.สิงห์ทน สรุปว่า โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่าที่วัดแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญดังกล่าวอย่างแน่นอน แต่ที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าสถานที่ปลงพระบรมศพพระนเรศวร คือ วัด “เชษฐาราม” ที่อยู่ในเขตตัวเมือง ที่กรมศิลปากรนำงบไปบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ตอนแรกจะเป็นงบที่ตกลงมาให้วัดวรเชษฐ์ แต่เพราะเหตุใดไม่ทราบได้  งบดังกล่าวกลับถูกโยกไปบูรณะวัดเชษฐารามแทน โดยระบุว่าวัดเชษฐารามคือวัดที่ปลงพระบรมศพและที่เก็บพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวร และมีการอุปโลกน์ชื่อเรียกขานกันให้ชินปากในหมู่ชาวบ้านโดยเรียกชื่อ “วัดเชษฐาราม” ว่าเป็น “วัดวรเชษฐาราม” หรือ “วัดวรเชษฐ์ในเกาะ” เพื่อความคุ้นชินของชาวบ้านและให้สอดคล้องกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้วัดวรเชษฐ์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีเพียงวัดเดียวคือวัดนี้เท่านั้น และที่สำคัญคือมีหลักฐานบางส่วนกล่าวว่า ที่จริงแล้ววัดเชษฐาธิราชนั้นเป็นที่เก็บพระอัฐิของพระเชษฐาธิราช กษัตริย์ในแผ่นดินหลังจากสมเด็จพระนเรศวร ที่สวรรคตตอนพระชนมายุ 15 พรรษา
“คนไทยไหว้ผิดวัดมาตลอด อาตมาจะอาศัยอยู่จำวัดที่นี่จนกว่าจะทำให้คนไทยรู้ว่าวัดที่เก็บพระบรมอัฐิของพระองค์จริงๆ คือที่นี่ แล้วอาตมาก็จะไป” หลวงพ่อ ดร.สิงห์ทน กล่าวทิ้งท้าย
...อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า “วัดวรเชษฐ์นอกเกาะ” จะเป็นวัดป่าแก้วในสมัยอยุธยาจริงหรือไม่ หรือจะเป็นสถานที่อันสูงค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ในการปลงพระบรมศพและเก็บพระบรมอัฐิ
ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือเปล่า แต่เรื่องเศร้าที่เกิดขึ้น คือ วัดแห่งนี้ถูกทอดทิ้งโดยมิได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจเหลียวแล ปล่อยให้วัดโบราณที่มีหมู่เจดีย์และเต็มไปด้วยซากปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ วิหารที่มีเสมาโบราณที่ควรได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ยืนร้างเหงาเปล่าดาย และจะค่อยๆ ตายไปจากความทรงจำและความสนใจของคนไทย ทั้งที่ประกาศของกรมศิลปากรที่จารึกไว้ในป้ายเหล็กหน้าหมู่เจดีย์ภายในวัดวรเชษฐ์ ก็เขียนเองเป็นนัยว่า “ประวัติศาสตร์และการบันทึกสถานที่ที่แน่นอนที่เป็นที่ปลงพระบรมศพและเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิยังคงคลุมเครือ และไม่สามารถระบุชัดได้ว่าเป็นที่ใดกันแน่”
  ซ้ำร้ายเมื่อ หลวงพ่อ ดร.สิงห์ทนเข้ามาปรับปรุงด้วยการนำหลอดไฟนีออนมาติดเพื่อให้แสงสว่างเพื่อความปลอดภัย ก็ยังมีการสั่งรื้อของทางกรมศิลป์ อ้างว่าเป็นการบดบังสายตา
******** มีข้อผิดพลาดอย่างไร  ลุงแทนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย   ขอบคุณ*******				
comments powered by Disqus
  • อรุณสุข

    3 มกราคม 2551 19:08 น. - comment id 98800

    มีเค้าเงื่อนที่น่าเชื่อถือได้หากเราดูจากสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่ของวัดแล้วจะพบว่าคงมิใช่วัดธรรมดาที่สามัญชนเป็นผู้สร้างแน่นอนแต่ก็ยังคงต้องรอการพิสูจน์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จาดนักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดีให้แน่ชัด..ซึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่ควรนิ่งนอนใจงควรที่จะพิสูจน์ออกมาให้แน่ชัดเพื่อเราจะได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์  อันเป็นการเทิดพระเกียรติให้สมพระบารมีมหากษัตราธิราชของเราสืบไป.
  • โอ้ละหนอ

    3 มกราคม 2551 22:34 น. - comment id 98804

    หนับหนุนนะว่า      ประวัติศาสตร์มักจะเป็นเรื่องราวของ "ความเชื่อ" ของผู้เขียนเอง   บางทีประวัติศาสตร์ที่เราอ่านอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงก็ได้เน๊าะ
    มันน่า.......นัก  แฮ่ม

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน