"เราสู้" เพลงพระราชนิพนธ์

ลุงแทน

๑. บทนำ
ปี ๒๕๑๘-๑๙ ฝ่ายขวาที่ได้รับการจัดตั้งสนับสนุนจากกลไกและชนชั้นนำของรัฐได้ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านโจมตีขบวน การนักศึกษาและพันธมิตรฝ่ายซ้ายด้วยรูปแบบต่าง ๆ อย่างหนัก นับแต่การจัดตั้งอบรมมวลชน (ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล), ใช้สื่อ เช่น หนังสือ พิมพ์บางฉบับ (ดาวสยาม, บ้านเมือง) และเครือข่ายสถานีวิทยุของทหาร (ที่เรียกตัวเองว่า "ชมรมวิทยุเสรี" นำโดยสถานีวิทยุยานเกราะ), จัดชุมนุมของตัวเองหรือก่อกวนการชุมนุมของนักศึกษา, ไปจนถึงใช้อาวุธทำร้ายโดยตรง (ฆ่าอินถา ศรีบุญเรืองและผู้ปฏิบัติงานชาวนาอื่น ๆ, ฆ่าอมเรศ ไชยสะอาด ผู้นำนักศึกษามหิดล และบุญสนอง บญโยทยาน อาจารย์ธรรมศาสตร์เลขาธิการพรรคสังคมนิยม, ปาระเบิดใส่การเดิน ขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกัน และการชุมนุมต่อต้านการกลับมาของประภาส จารุเสถียร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก)
อย่างไรก็ตาม เฉพาะในส่วนการโฆษณานั้น อาจกล่าวได้ว่าขบวนการนักศึกษาและพันธมิตรฝ่ายซ้ายเองเป็นฝ่ายริเริ่มและเหนือกว่าในด้าน สิ่งตีพิมพ์ประเภทหนังสือเล่ม (เรียกว่าเป็น "ยุคทองของพ็อกเก็ตบุ๊ค"), งานเขียน (กวีนิพนธ์, เรื่องสั้น), ภาพเขียนและการ์ตูนการเมือง (แนวร่วมศิลปิน, ชัยราชวัตร) และการจัดนิทรรศการและการแสดงต่าง ๆ (บรรดากลุมละครและ "วงดนตรีเพื่อชีวิต") "สงครามวัฒนธรรม" ระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไปอย่างดุเดือด
ในด้านเพลง เราได้เห็นการต่อสู้ระหว่าง "เพลงเพื่อชีวิต" ของฝ่ายซ้าย กับ "เพลงปลุกใจ" ของฝ่ายขวา เป็นที่น่าสังเกตว่าเนื้อหาและท่วงทำนอง ของเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งโดยรวมแล้วมีความหลากหลายกว่าเพลงปลุกใจมาก พัฒนาไปในทาง "สู้รบ" รับใช้การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก ขึ้น ถ้าผมจำไม่ผิดเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในระหว่างการชุมนุมของนักศึกษาในช่วงปี ๒๕๑๙ คือ โคมฉาย, บ้านเกิดเมืองนอน และ วีรชนปฏิวัติ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่ว่านี้ "โคมฉาย" ซึ่งเป็นเพลงเดียวในสามเพลงนี้ที่แต่งโดยนักศึกษา เป็นการสดุดีการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทโดยตรง ("ข้ามเขาลำธารฟันฝ่าศัตรู กระชับปืนชูสู้เพื่อโลกใหม่ กองทัพประชาแกร่งกล้าเกรียงไกร ชู ธงนำชัยมาให้มวลชน...") ส่วนอีกสองเพลงจัดเป็น "เพลงปฏิวัติ" มากกว่า "เพลงเพื่อชีวิต" ในความหมายเดิม เพราะเป็นเพลงที่เอามาจาก "ในป่า" คือจากการออกอากาศของสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุคลื่นสั้นของ พคท. ("บ้านเกิดเมืองนอน" แต่งโดยผู้ปฏิบัติ งานพรรคเขตภูพาน ส่วน "วีรชนปฏิวัติ" แต่งโดยจิตร ภูมิศักดิ์สมัยอยู่ในคุก)
ในหมู่ฝ่ายขวา เพลงปลุกใจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอาจกล่าวได้ว่ามี ๓ เพลงเช่นกัน "ทหารพระนเรศวร" เป็นเพลงที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นหัว หอกของฝ่ายขวาในวงรัฐบาลนำท่อนหนึ่งมาใช้เป็นคำขวัญในการหาเสียง ("เปรี้ยง ๆ ดังเสียงฟ้าฟาด โครม ๆ พินาศพังสลอน เปรี้ยง ๆ ลูกปืน กระเด็นกระดอน โครม ๆ ดัสกรกระเด็นไกล ถ้าสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินสิ้นกษัตริย์ เห็นสุดจะยืนหยัดอยู่ได้...") แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดน่าจะเป็น "หนักแผ่นดิน" ซึ่งสมัยหนึ่งวงดนตรีกรรมาชนของนักศึกษาถึงกับเคยนำมาร้อง เพื่อโจมตีพวกฝ่ายขวาเอง เพราะเนื้อเพลงส่วนใหญ่สามารถ "ไปกันได้" กับการแอนตี้จักรวรรดินิยมต่างชาติของขบวนการนักศึกษา! ("คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน... คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย แต่ยังเฝ้าทำกินกอบโกยสินไทยไปเหยียดคนไทยเช่นทาสของมัน หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน ...")
อีกหนึ่งในสามเพลงปลุกใจยอดนิยมของฝ่ายขวาคือเพลงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" ซึ่งเริ่มถูกนำออกเผยแพร่ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๑๙ ในความ ทรงจำของผม การปรากฎตัวของเพลงนี้ในฐานะหนึ่งในเพลงที่ฝ่ายขวาใช้ต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาเป็นเรื่องที่ชวน
ให้แปลกใจไม่น้อยในสมัยนั้น โดยเฉพาะไม่มีใครทราบหรืออธิบายได้ว่าเหตุใดเพลงพระราชนิพนธ์จึงกลายมามีบทบาทเช่นนั้น ผมเองเก็บเอาความไม่รู้นี้ไว้กับตัวมากว่าสอง ทศวรรษจนเมื่อไม่นานมานี้จึงได้ลงมือค้นคว้าและพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับเพลงนี้ หนึ่งในข้อมูลที่พบก็คือ แม้จนปัจจุบันทางราชการ เองก็ไม่รู้หรือรู้ผิด ๆ เกี่ยวกับความเป็นมาที่แท้จริงของเพลง "เราสู้"
๒. เพลงพระราชนิพนธ์ : ภาพรวม
"เพลงพระราชนิพนธ์" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในระหว่างงานเฉลิมฉลองการครองราช สมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระชนมายุ ๗๒ พรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้นอย่าง แพร่หลายก็คือ การอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ออกแสดงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะตามสถานีโทรทัศน์และวิทยุ, และการแสดงคอนเสิร์ต เพลงส่วนใหญ่ที่นำออกแสดงนั้นอาจกล่าวได้รวม ๆ ว่า เป็นเพลงในแนว "โรแมนติก" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติและความรักที่เรารู้จักกันดี (เช่น แสงเทียน, ยามเย็น, สายฝน, ใกล้รุ่ง, ชะตาชีวิต, แก้วตาขวัญใจ และ ไกลกังวล เป็นต้น)
ที่เรียกว่า "เพลงพระราชนิพนธ์" นั้น ไม่ได้หมายความว่าทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเอง อันที่จริงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดคือเพลงที่ทรง พระราชนิพนธ์ทำนอง มีเพียง ๕ เพลงเท่านั้นที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องด้วย ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั้ง ๕ เพลง ที่เหลือส่วนใหญ่ทรงพระราชนิพนธ์ ทำนองก่อน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อื่นประพันธ์คำร้องใส่ (ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) มีบางเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่ให้ กับคำร้องที่มีผู้อื่นประพันธ์ไว้แล้ว ("เราสู้" เป็นหนึ่งในเพลงประเภทนี้)
การนับจำนวนเพลงพระราชนิพนธ์โดยปกติจึงนับจากจำนวนทำนองเพลง (หลายทำนองเพลงมีมากกว่าหนึ่งคำร้อง) จนถึงปัจจุบัน เพลงพระ ราชนิพนธ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า" ให้นำออกแสดงเผยแพร่แก่สาธารณะมีทั้งสิ้น ๔๗ เพลง ทั้งนี้นับตามหนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ : หนังสือประมวลบทเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งโรงเรียนจิตรลดาจัดพิมพ์ในโอกาสกาญจนาภิเษก โดยมีสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นองค์ประธาน (หนังสือ ดนตรีจากพระราชหฤทัยศูนย์รวมใจแห่งปวงชน ที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีของรัฐบาล จัดพิมพ์ นับเพลง Blues for Uthit ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรีวงดนตรี "อ.ส. วันศุกร์" ที่ ถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๕๒๒ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเพลง) จากพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯ ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ เรายังได้ทราบว่ามีเพลงอีก จำนวนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ "แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยังไม่ออกเผยแพร่" อย่างไรก็ตาม ถ้านับจำนวนคำร้อง เพลงพระราชนิพนธ์ ที่เผยแพร่แล้วก็มีทั้งสิ้น ๗๒ คำร้อง จาก ๔๑ ทำนองเพลง (อีก ๖ ทำนองเพลงไม่มีคำร้อง) การพิจารณาจากคำร้องนี้จะทำให้มองเห็นบางประเด็น ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ในหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับทางการ เช่น สองเล่มที่เพิ่งกล่าวถึงเราจะพบเพลงพระราชนิพนธ์ตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลังของการ พระราชนิพนธ์ทำนอง ถ้าทำนองใดมีมากกว่าหนึ่งคำร้อง ทุกคำร้องก็จะถูกตีพิมพ์ไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เพลง Alexandra ซึ่งคำร้อง ภาษาอังกฤษ (โดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช) แต่งในปี ๒๕๐๒ แต่คำร้องภาษาไทยชื่อ "แผ่นดินของเรา" (โดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค) เพิ่ง แต่งในปี ๒๕๑๖ ก็จะถูกตีพิมพ์ไว้ก่อนเพลงยูงทองซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง (และนายจำนงราชกิจ แต่งคำร้อง) ในปี ๒๕๐๖ เป็นต้น โดย แต่ละเพลงจะมีคำบรรยาย "เกร็ดประวัติ" ของการพระราชนิพนธ์ไว้สั้น ๆ (ควรกล่าวด้วยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาและปีที่แต่ง ทั้งทำนอง และคำร้องของหลายเพลง มีความแตกต่างกันระหว่างหนังสือสองเล่มข้างต้น ทำให้การจัดลำดับก่อนหลังต่างกันด้วย)
บทความที่กล่าวถึงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดเท่าที่ผมเคยอ่านล้วนเป็นการสดุดี
พระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีมากกว่าเป็นการวิเคราะห์วิจารณ์ จะมี "วิเคราะห์" บ้างก็ในประเด็นด้านเทคนิค เช่น การที่ทรง "บุกเบิก" การใช้ "ไมเนอร์ครึ่งเสียง" และ "บันไดเสียงโครมาติค" ในวงการเพลง ไทยสากล ซึ่งก็ยังคงเป็นการวิเคราะห์ที่อยู่ในบริบทของการสดุดี อันที่จริง จากการพิจารณาเพลงพระราชนิพนธ์โดยรวม ผมขอเสนอว่าเราสามารถ จะแบ่งออกได้เป็น ๒ ช่วงใหญ่ ๆ คือ ช่วงแรกที่ทรงรังสรรค์อย่างสม่ำเสมอ (Creative Period) จากปี ๒๔๘๙ ถึงปี ๒๕๐๙ กับช่วงหลังที่ ทรงพระราชนิพนธ์แบบเฉพาะกิจ (Occasional Period) จากปี ๒๕๐๙ ถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรกนั้นทรงพระราชนิพนธ์เพลงออกเผยแพร่แทบทุกปี จากปี ๒๔๘๙ ถึง ๒๕๐๒ ส่วนใหญ่ปีละมากกว่าหนึ่งทำนองเพลง รวมทั้งสิ้น ๓๕ ทำนองเพลง หลังจากนั้นทรงเว้นช่วงออกไป คือ ปี ๒๕๐๖ ทรงพระราชนิพนธ์ ๑ ทำนองเพลง, ปี ๒๕๐๘ ทรงพระราชนิพนธ์ ๔ ทำนอง เพลง และปี ๒๕๐๙ ทรงพระราชนิพนธ์ ๒ ทำนองเพลง รวมทั้งสิ้น ๔๒ ทำนองเพลงในระยะเวลา ๒๐ ปี (หรือ ๖๓ คำร้องจาก ๓๖ ทำนอง อีก ๖ ทำนองไม่มีคำร้อง)
จากปี ๒๕๐๙ ถึงปัจจุบัน คือ ๓๕ ปี มีเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับการเผยแพร่เพียง ๕ เพลง คือ ความฝันอันสูงสุด (๒๕๑๔), เราสู้ (๒๕๑๖), เราเหล่าราบ ๒๑ (๒๕๑๙), รัก (๒๕๓๗) และ เมนูไข่ (๒๕๓๘) ทุกเพลงมีลักษณะต่างกับเพลงในช่วงแรก คือทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่ให้ กับคำร้องที่มีผู้อื่นประพันธ์ไว้แล้ว
ด้วยการแบ่งเช่นนี้ทำให้เราได้ข้อสังเกตอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรก ระยะสิ้นสุดของช่วงที่ทรงรังสรรค์อย่างสม่ำเสมอ คือเมื่อเริ่มเข้า สู่ทศวรรษ ๒๕๑๐ นั้น ตรงกับยุคปลายของรัฐบาลทหารเมื่อการเมืองไทยเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ โดยที่สถาบันกษันริย์จะมี บทบาทสำคัญในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย
ประการที่สอง ถ้าไม่นับ ๒ เพลงหลังสุด คือ "รัก" และ "เมนูไข่" ซึ่งมีความเป็นมาในลักษณะกึ่งส่วนพระองค์ (หรือ "ภายในครอบครัว" ถ้าใช้ ภาษาสามัญ) คือทรงพระราชนิพนธ์จากบทกลอนเมื่อทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเทพฯ (ทั้ง ๒ เพลง) และเพื่อเป็นของขวัญพระราชสมภพ ๗๒ พรรษาสมเด็จพระพี่นางฯ (เมนูไข่) ทั้งยังทิ้งระยะห่างจากเพลงก่อนหน้านั้น (เรา-เหล่าราบ ๒๑) ถึงเกือบ ๒๐ ปีแล้ว เพลงของช่วงหลังที่เหลือ ทั้ง ๓ เพลงล้วนมีลักษณะที่เกี่ยวพันกับการเมืองร่วมสมัยอย่างใกล้ชิด ยิ่งถ้าเราพิจารณารวมไปถึงอีก ๒ คำร้องที่มีการประพันธ์ขึ้นใหม่ในช่วงนี้ จากทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้แล้วในช่วงแรก คือ "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย" (๒๕๑๔ จากทำนองเพลง "ไกลกังวล" ที่ทรงพระราชนิพนธ์ ไว้ในปี ๒๕๐๐) และ "แผ่นดินของเรา" (๒๕๑๖ จากทำนองเพลง Alexandra ที่ทรงพระราชนิพนธ์ในปี ๒๕๐๒) ก็จะเห็นลักษณะเกี่ยวพัน กับการเมืองร่วมสมัยได้ชัดเจนขึ้น
มองในแง่นี้เราอาจจะแบ่งเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดออกตามลักษณะของเพลงเป็น ๓ ช่วงก็ได้คือ คือช่วง ๒๐ ปีแรก จาก ๒๔๘๙ ถึง ๒๕๐๙ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์โรแมนติก, ช่วง ๑๐ ปีหลังจากนั้น จาก ๒๕๐๙ ถึง ๒๕๑๙ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์การเมือง, และช่วง ๒๐ ปีเศษต่อมา จาก ๒๕๑๙ ถึงปัจจุบัน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในลักษณะ "ส่วนพระองค์" คือ "รัก" และ "เมนูไข่" ควรกล่าวด้วยว่าช่วงต้นปี ๒๕๒๙ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรที่เชียงใหม่ หลังจากทรงหายแล้ว ก็ยังมีคณะแพทย์เฝ้าดูพระอาการ พระองค์ได้ทรงรวบรวมคนเหล่านี้ และผู้ตามเสด็จอื่น ๆ ตั้งเป็นวงดนตรีพระราชทานชื่อวงว่า "สหายพัฒนา" โดยทรงฝึกสอนด้วยพระองค์เอง - บางคนในวงไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน - และได้ทรงเขียนโน้ตเพลง "พระราชทานแจกให้เล่น และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยัง ไม่ออกเผยแพร่" ดังที่สมเด็จพระเทพฯ ผู้ทรงเป็น "สมาชิกพระองค์แรก" ของวงทรงเล่าไว้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนข้อสรุปที่ว่าช่วงหลังจากปี ๒๕๑๙ ถึงปัจจุบัน เพลงพระราชนิพนธ์มีลักษณะ "ส่วนพระองค์"
๓. เพลงพระราชนิพนธ์การเมือง
ขอให้เรามาพิจารณาประเด็นเพลงพระราชนิพนธ์กับการเมืองให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงแรกเกืองทั้งหมดมีลักษณะเป็นเพลง ในแนว "โรแมนติก" คือพรรณนาถึงธรรมชาติ ชีวิตและความรัก หรือเป็นเพลงรื่นเริงหยอกล้อในหมู่นักดนตรีที่ทรงดนตรีด้วย (H.M. Blues, Never Mind the H.M. Blues, ศุกร์สัญลักษณ์ / Friday Night Rag) จริงอยู่มีบางเพลงที่ทรงพระราชทานให้กับหน่วยทหาร (มาร์ช ราชวัลลภ, ธงไชยเฉลิมพล, มาร์ชราชนาวิกโยธิน) แต่เพลงเหล่านี้มีลักษณะเป็นเพลงเฉพาะประจำหน่วยงานแบบเดียวกับที่ทรงพระราชทานให้ บางมหาวิทยาลัย (มหาจุฬาลงกรณ์, ยูงทอง, เกษตรศาสตร์)
แต่ทั้งห้าเพลงพระราชนิพนธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ (เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทยม แผ่นดินของเรา, ความฝันอันสูงสุด, เราสู้, เรา-เหล่าราบ ๒๑) มีลักษณะการเมืองในวงกว้างออกไป คือเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ (กับคอมมิวนิสต์) โดยตรง เพลง "เรา-เหล่าราบ ๒๑" นั้นอาจกล่าวได้ ว่ามีลักษณะเป็นเพลงประจำหน่วยงานมากกว่าเพลงต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ นั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินีนาถทรงมีความใกล้ชิดกับทหารหน่วยนี้เป็นการส่วนพระองค์เป็นพิเศษ จนทำให้ "ราบ ๒๑" เป็นที่รู้จักกันดีในนาม "ทหารเสือ ราชินี" (ดังในเนื้อเพลงที่ว่า "เราเชื้อชายชาญทหารกล้า ทหารเสือราชินีศรีสยาม") ในบริบทของความแตกแยกในกองทัพขณะนั้น (ซึ่งเป็นผลต่อ เนื่องมาตั้งแต่ ๑๔ ตุลา) ข้อเท็จจริงนี้มีความสำคัญทางการเมืองอย่างมาก ดังจะเห็นว่าในระหว่างการปราบ "กบฏยังเตอร์ก" (รั,ฐประหาร ๑-๓ เมษายน ๒๕๒๔) ทหารหน่วยนี้ได้เป็นกำลังสำคัญที่เคลื่อนเข้าปลดอาวุธฝ่ายกบฏ
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของ "เพลงพระราชนิพนธ์การเมือง" ทั้งห้าคือ ยกเว้น "เราสู้" แล้ว ที่เหลืออีก ๔ เพลงมีความเป็นมาเหมือนกัน คือ เกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถให้ประพันธ์คำร้องขึ้น และผู้ที่รับหน้าที่นี้ ๓ ใน ๔ เพลงคือท่านผู้หญิงมณี รัตน์ บุนนาค ยกเว้น "เรา-เหล่าราบ ๒๑" ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย ร.ต.ท. วัลลภ จันทร์แสงศรี
เพลง "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย" นั้น หนังสือ ดนตรีจากพระราชหฤทัย กล่าวว่า "ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่า ไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย [จาก ทำนองเพลง ไกลกังวล / When] เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย" ส่วนเพลง "แผ่นดินของเรา" หนังสือ ธ สถิตใน ดวงใจนิรันดร์ กล่าวว่า "เกิดขึ้นในระยะหลังเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดเพลงปลุกใจให้รักชาติบ้านเมือง ทรงมีพระราช ดำริว่าเพลงนี้ [Alexandra] น่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้" และคำร้องไทยของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ก็มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย"
ทั้งสองเพลงนี้ ถ้านับจากจุดเริ่มต้นจริง ๆ อาจจะมีขึ้นหลัง "ความฝันอันสูงสุด" เล็กน้อย ตามการบอกเล่าของท่านผู้หญิงมณีรัตน์เอง เมื่อตามเสด็จฯ ไปที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับพระราชเสาวนีย์ให้เขียนกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่อ อุดมคติและประเทศชาติ "ข้าพเจ้าค่อย ๆ คิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร [สมเด็จ พระนางเจ้าฯ] ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน ๕ บท...ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็น พระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย" หลังจากนั้น สมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงาน เพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี "เพราะบ้านเมืองในขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ" (ดนตรี จากพระราชหฤทัย, หน้า ๑๘๓) ต่อมาในปี ๒๕๑๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงได้กราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่ ทำนองให้กับคำกลอน กลายเป็นเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ที่รู้จักกัน มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงนี้ ๓ ประเด็นคือ
หนึ่ง ผู้ที่รู้จักเพลง The Impossible Dream คงสังเกตว่าเนื้อเพลงภาษาอังกฤษใกล้เคียงอย่างมากกับคำกลอนภาษาไทยของท่านผู้หญิงมณี รัตน์
To dream the impossible dream .....To fight the unbeatable foe
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ............................ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
To bear the unbearable sorrow....To run where the brave dare not go..
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ.........................ขอฝ่าฝันผองภัยด้วยใจทะนง...
And the world will be better for this...That one man scorned and covered with scars
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่...........................เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
Still strove with his last ounce of courage....
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ...
เพลง The Impossible Dream นั้นมาจาก Man of La Mancha ละครเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบรอดเวย์ ซึ่งแสดงระหว่างปี ๒๕๐๘-๒๕๑๔ ต่อมาได้รับการสร้างเป็นหนังในปี ๒๕๑๕ (บทละครเพลงเขียนโดย Dale Wasserman ทำนองเพลง โดย Mitch Leigh และคำร้องโดย Joe Darion) ขอให้สังเกตว่าบทกลอนของท่านผู้หญิงมณีรัตน์นั้นมีส่วนที่ "ไม่ลงตัว" ในแง่เนื้อหาบ้าง เข่น "โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้...ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย" ซึ่งน่าจะเป็นร่องรอยของการพยายามทำคำร้อง ดั้งเดิมให้เป็นแบบไทย ๆ
สอง ในความทรงจำของผม เพลงนี้เมื่อมีการนำออกเผยแพร่ใหม่ ๆ ในช่วงก่อน ๑๔ ตุลาเล็กน้อย ได้ทำในนาม "เพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"
สาม กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมืองก่อน ๑๔ ตุลาบางส่วนได้นำเอาเพลงนี้ไปตีพิมพ์ในหน้าหนังสือของตนในฐานะคำขวัญของการ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อประชาชนในขณะนั้น นี่อาจถือได้ว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่ขบวนการนักศึกษาในระยะนั้นมองว่าสิ่งที่ตัวเองและ สถาบันกษัตริย์กำลังทำเป็นสิ่งเดียวกัน ("เพื่ออุดมคติ", "เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ") ทั้งที่ความจริงสองฝ่ายมีจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน - ระ หว่างการต่อต้านเผด็จการเรียกร้องเสรีภาพของนักศึกษากับการแอนตี้คอมมิวนิสม์พิทักษ์
การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ของราชสำนัก (ดู "ร. ๗ สละราชย์ : ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ ๑๔ ตุลา" และ "พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร. ๗ : ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง" ในหนัง สือเล่มนี้)				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน