ชีวประวัติท่านเว่ยหล่างปรมาจารย์เซ็น...

คีตากะ

    ครั้งหนึ่งเมื่อพระสังฆปริณายกองค์นี้ได้มาที่วัดเปาลัม ข้าหลวงไว่ แห่งเมืองชิวเจา กับข้าราชการอีกหลายคน ได้พากันไปที่วัดนั้นเพื่อขอให้ท่านกล่าวธรรมกถาแก่ประชาชนทั่วไป ณ ห้องโถง แห่งวิหารไทฟัน ในนครกวางตุ้ง
    ในไม่ช้า มีผู้มาประชุมฟัง ณ โรงธรรมสภานั้น คือข้าหลวงไว่ แห่งชิวเจา, พวกข้าราชการและนักศึกษาฝ่ายขงจื้อ อย่างละประมาณ ๓๐ คน, ภิกษุ ภิกษุณี นักพรตแห่งลิทธิเต๋า และคฤหัสถ์ทั่วไป รวมเบ็ดเสร็จประมาณหนึ่งพันคน
    ครั้นพระสังฆปริณายก ได้ขึ้นนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้ทำความเคารพ และอาราธนาขอให้ท่านแสดงธรรมว่าด้วยหลักสำคัญแห่งพุทธศาสนา ในอันดับนั้น ท่านสาธุคุณองค์นั้น ได้เริ่มแสดงมีข้อความดังต่อไปนี้
    ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จิตเดิมแท้ (Essence of Mind) ของเรา ซึ่งเป็นเมล็ดพืชหรือแก่นของการตรัสรู้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ (Pure by nature), และต้องอาศัย จิตเดิมแท้ นี้เท่านั้นมนุษย์เราจึงจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ อาตมาจะเล่าให้ฟังถึงประวัติของอาตมาเองบางตอน และเล่าถึงข้อที่ว่า อาตมาได้รับคำสอนอันเร้นลับ แห่งนิกายธยานะ (คือนิกายเซ็น) มาด้วยอาการอย่างไร
    บิดาของอาตมาเป็นชาวเมืองฟันยาง ถูกถอดจากตำแหน่งราชการ ถูกเนรเทศไปอยู่อย่างราษฎรสามัญที่ซุนเจาในมณฑลกวางตุ้ง อาตมาโชคร้าย โดยที่บิดาได้ถึงแก่กรรมเสียแต่ในขณะที่อาตมายังเล็กเหลือเกินและละทิ้งมารดาไว้ในสภาพที่ยากจนทนทุกข์ เราสองคนจึงย้ายไปอยู่ทางกวางเจา (แคนตอน) และอยู่ที่นั่นด้วยความทุกข์ยากเรื่อยมา
     วันหนึ่งอาตมากำลังนฟืนไปขายอยู่ที่ตลาดเพราะเจ้าจำนำคนหนึ่งเขาสั่งให้นำไปขายให้เขาถึงร้าน เมื่อส่งของและรับเงินเสร็จแล้ว อาตมาก็ออกจากร้าน ได้พบชายคนหนึ่ง กำลังบริกรรมสูตรๆ หนึ่งอยู่แถวหน้าร้านนั้นเอง พอได้ยินข้อความแห่งสูตรนั้นเท่านั้น ใจของอาตมาก็ลุกโพลงสว่างไสวในพุทธธรรม อาตมาจึงถามชื่อคัมภีร์ที่เขากำลังสวดอยู่ ก็ได้ความจากชายคนนั้นเองว่า สูตรนั้นชื่อ วัชรสูตร (สูตรอันกล่าวด้วยเพชรสำหรับตัดมายา) อาตมาจึงไล่เลียงต่อไปว่า เขามาจากไหน ทำไมเขาจึงจำเพาะมาท่องบ่นแต่สูตรนี้ ชายคนนั้นตอบว่าเขามาจากวัดตุงซั่น ตำบลวองมุย เมืองคีเจา เจ้าอาวาสในขณะนี้มีนามว่าหวางยั่น (ฮ่งยิ้ม) เป็นพระสังฆปริณายก (แห่งนิกายเซ็น) องค์ที่ห้า มีศิษย์รับการสั่งสอนอยู่ประมาณพันคน เมื่อเขาไปไหว้พระสังฆปริณายกที่วัดนั้น เขาได้ฟังเทศน์หลายครั้งเกี่ยวกับสูตรๆ นี้ เขาเล่าต่อไปว่า ท่านสาธุคุณองค์นั้นเคยรบเร้าทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตอยู่เสมอ ให้พากันบริกรรมสูตรๆ นี้ เผื่อว่าเมื่อเขาพากันบริกรรมอยู่เขาจะสามารถเห็น จิตเดิมแท้ ของตนเอง และจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ เพราะเหตุนั้น
     คงเป็นด้วยกุศลที่อาตมาได้ทำไว้แต่ชาติก่อนๆ จึงเป็นเหตุให้อาตมาได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้ และอาตมายังได้รับเงินอีก ๑๐ ตำลึงจากชายอารีคนหนึ่งให้มาเพื่อมอบให้มารดาไว้ใช้สอย ในระหว่างที่อาตมาไม่อยู่, ทั้งเขาเองเป็นผู้แนะนำให้อาตมารีบไปยังตำบลวองมุยเพื่อพบพระสังฆปริณายกองค์นั้น เมื่อได้จัดแจงให้มีคนช่วยดูแลมารดาเสร็จแล้วอาตมาก็ได้ออกเดินทางไปยังวองมุย และถึงที่นั้นได้ในชั่วเวลาไม่ถึงสามสิบวัน
     ครั้นถึงตำบลวองมุยแล้ว อาตมาได้ไปนมัสการพระสังฆปริณายก ท่านถามว่ามาจากไหน และต้องประสงค์อะไร อาตมาได้ตอบว่า “กระผมเป็นคนพื้นเมืองซุนเจา แห่งมณฑลกวางตุ้ง เดินทางมาแสนไกลเพื่อทำสักการะเคารพแด่คุณพ่อ และกระผมไม่ต้องการอะไร นอกจากธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ (Buddha-nature) อย่างเดียวเท่านั้น”
     ท่านถามอาตมาว่า “เป็นชาวกวางตุ้งหรือ? เป็นคนป่าคนเยิงแล้วเธอจะหวังเป็นพุทธะได้อย่างไรกัน?”
     อาตมาเรียนตอบท่านว่า “แม้ว่าจะมีคนชาวเหนือและคนชาวใต้ก็จริง แต่ทิศเหนือหรือทิศใต้นั้น หาได้ทำให้ความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่ในคนนั้นๆ แตกต่างกันได้ไม่ คนป่าคนเยิงจะแตกต่างจากคุณพ่อก็แต่ในทางร่างกายเท่านั้น, แต่ไม่มีความผิดแปลกแตกต่างกัน ในส่วนธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของเราทั้งหลาย” พระสังฆปริณายกทำท่าจะกล่าวกะอาตมาต่อไปอีก แต่เผอิญมีศิษย์ของท่านเข้ามาหลายคน ท่านจึงหยุดชะงัก และเลยสั่งให้อาตมาไปสมทบทำงานกับคนงานหมู่หนึ่ง
    อาตมากล่าวขึ้นว่า “กระผมขอกราบเรียนคุณพ่อว่า วิปัสสนาปัญญา เกิดขึ้นในใจของกระผมเสมอๆ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้มีจิตเลื่อนลอยไปจาก จิตเดิมแท้ (Essence of Mind) ของตนแล้ว ก็ควรจะเรียกเขาผู้นั้นว่า “ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก” เหมือนกัน กระผมจึงไม่ทราบว่างานอะไร ที่คุณพ่อจะให้กระผมทำ?”
     พระสังฆปริณายกได้มีบัญชาว่า “เจ้าคนป่านี้เฉลียวฉลาดเกินตัวไปเสียแล้ว จงไปที่โรงนั่น แล้วอย่าพูดอะไรอีกเลย” อาตมาจึงถอยหลีกไปทางลานข้างหลัง มีคนวัดที่ไม่ใช่บรรพชิตคนหนึ่งมาบอกให้ผ่าฟืน และตำข้าว
     ต่อมาไม่น้อยกว่าแปดเดือน วันหนึ่งพระสังฆปริณายกได้พบอาตมาและท่านได้กล่าวว่า “ ฉันทราบดีว่า ความรู้ในพุทธธรรมของเธอนั้นมั่นคงดีมาก แต่ฉันต้องคอยหลีกไม่พูดกับเธอ มิฉะนั้นจะมีคนทุศีล บางคนทำอันตรายเธอ, เธอเข้าใจไหม?” อาตมาตอบว่า “ขอรับคุณพ่อกระผมเข้าใจ เพื่อไม่ให้ใครสังเกตเห็นกระผมในข้อนี้กระผมก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้ๆ ห้องของคุณพ่อ”
     อยู่มาวันหนึ่ง พระสังฆปริณายกเรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหมดแล้วประกาศว่า “ปัญหาแห่งการเวียนเกิดไม่มีที่สิ้นสุด เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ วันแล้ววันเล่า แทนที่จะพยายามเปลื้องตัวเองออกมาเสียจากทะเลแห่งการเกิดตายอันขื่นขม ดูเหมือนว่าพวกเธอกลับหมกมุ่นอยู่แต่ในบุญกุศลชนิดที่ถูกตัณหาลูบคลำเสียแล้วอย่างเดียวเท่านั้น (กล่าวคือบุญกุศลที่เป็นเหตุให้เกิดใหม่) ถ้าจิตเดิมแท้ ของพวกเธอยังมืดมัวอยู่ บุญกุศลทั้งหลายก็ยังจะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย จงตั้งหน้าค้นหาปรัชญา (ปัญญา) ในใจของเธอเองแล้วเขียนโศลก (คาถา) มาให้เราโศลกหนึ่ง ว่าด้วยเรื่อง จิตเดิมแท้ ผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่า จิตเดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร ผู้นั้นจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ (อันเป็นคำเครื่องหมายตำแหน่งพระสังฆปริณายก) พร้อมทั้งธรรมะ (อันเป็นคำสอนเร้นลับของนิกายธยานะ) และฉันจะสถาปนาผู้นั้นเป็นสังฆปริณายกองค์ที่หก (แห่งนิกายนี้) จงไปโดยเร็วอย่ารีรอในการเขียนโศลก การมัวตรึกตรองไม่จำเป็น, และไม่มีประโยชน์อะไร ผู้ที่รู้แจ้งชัดในจิตเดิมแท้จะพูดได้ทันทีที่มีใครมาชวนพูดด้วยเรื่องนั้น และมันจะไม่ละไปจากคลองแห่งญาณจักษุของเขา แม้ว่าเขาจะกำลังพุ่งชุลมุนอยู่กลางสนามรบก็ตามที”
     เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น ศิษย์อื่นๆ (เว้นแต่ชินเชาหัวหน้าศิษย์) พากันถอยออกไปและกล่าวแก่กันและกันว่า “ไม่มีประโยชน์อะไร สำหรับคนชั้นพวกเราๆ ที่จะไปตั้งสมาธิเพ่งจิตเขียนโศลก ถวายคุณพ่อ เพราะว่าตำแหน่งสังฆปริณายกนั้น ใครๆ ก็เห็นว่าจะไม่พ้นมือท่านชินเชา ผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ไปได้ เมื่อเราเขียนใช้ไม่ได้ มันก็เป็นการลงแรงเสียเปล่าๆ “ เมื่อได้ปรับทุกข์กันดังนี้แล้ว ศิษย์เหล่านั้นทุกคนได้พากันเลิกล้มความตั้งใจในการเขียนและว่าแก่กันว่า “เราจะไปทำให้มันเหนื่อยทำไม? ต่อไปนี้ เราคอยติดตามหัวหน้าของเรา คือชินเชาเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ว่าเขาจะไปข้างไหน เราจะตามเขาในฐานะเป็นผู้นำ”
     ในขณะเดียวกันนั้น ชินเชา ผู้เป็นเชฏฐอันเตวาสิก ก็หยั่งทราบความเรื่องนี้ได้ด้วยตนเอง, รำพึงว่า “เมื่อพิจารณาดูถึงข้อที่ว่าเราเป็นครูสั่งสอนเขาอยู่ คงไม่มีใครเข้ามาเป็นคู่แข่งขัน ในการเขียนโศลกกับเรา แต่เรายังฉงนอยู่ว่า เราจะเขียนโศลกถวายพระสังฆปริณายกดีหรือไม่ ถ้าเราไม่เขียน พระสังฆปริณายกจะทราบได้อย่างไรว่า ความรู้ของเราลึกซึ้งหรือผิวเผินเพียงไหน ถ้าวัตถุประสงค์ในการเขียนของเราในครั้งนี้ ได้แก่ความหวังจะได้รับธรรมะจากพระสังฆปริณายก ก็แปลว่าเจตนาของเราบริสุทธิ์ แต่ถ้าเราเขียนเพราะอยากได้ตำแหน่งสังฆปริณายก นั่นแปลว่ามันเป็นความมีเจตนาชั่วในกรณีดังกล่าว จิตของเราก็เป็นจิตที่ข้องอยู่ในโลก และการกระทำของเราก็คือ การปล้นยื้อแย่งบัลลังก์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระสังฆปริณายก แต่ถ้าเราจะไม่เขียนโศลกยื่นท่าน เราก็ไม่มีโอกาสจะได้รับทราบธรรมะนั้น มันช่างยากที่จะตัดสินใจเสียจริงๆ”
     ที่หน้าหอสำนักของพระสังฆปริณายกนั้น มีช่องทางเดินตลอดสามช่วง, ที่ผนังของช่องเหล่านี้ โลชุน จิตรกรเอกแห่งราชสำนักได้เขียนภาพต่างๆ จาก “ลังกาวตารสูตร” แสดงถึงการกลับกลายร่างของผู้ที่เข้าประชุม และเขียนภาพอันแสดงถึงชาติวงศ์ ของพระสังฆปริณายกทั้งห้าองค์ เพื่อเป็นความรู้ของประชาชน และให้ประชาชนได้ทำสักการบูชา
     เมื่อชินเชาแต่งโศลกเสร็จแล้ว ได้พยายามที่จะส่งต่อพระสังฆปริณายกตั้งหลายหน แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้จะถึงหอสำนักของพระสังฆปริณายกทีไร หัวใจเต้นเหงื่อกาฬแตกท่วมตัวทุกที เขาไม่สามารถที่จะแข็งใจเข้าไปส่งได้สำเร็จ ชั่วเวลาเพียง ๔ วัน เขาพายามถึง ๑๓ ครั้ง ในที่สุดเขาก็ตกลงใตว่า “เราจะเขียนมันไว้ที่ฝาผนังช่องทางเดินให้พระสังฆปริณายกท่านเห็นเองดีกว่า ถ้าถูกใจท่าน เราจึงค่อยออกมานมัสการท่าน และเรียนท่านว่าเราเป็นผู้เขียน, ถ้าท่านเห็นว่ามันผิดใช้ไม่ได้ ก็แปลว่าเราได้เสียเวลาไปหลายปีในการมาอยู่บนภูเขานี้ และทำให้ชาวบ้านหลงเคารพกราบไหว้เสียเป็นนาน โดยไม่คู่ควรกันเลย และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่าเราไม่ได้ก้าวหน้าในการศึกษาพระธรรมเลยแม้แต่น้อย มิใช่หรือ?”
     ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนในวันนั้น ชินเชาถือตะเกียงลอบไปเขียนโศลกที่เขาแต่งขึ้นไว้ ที่ผนังช่องทางเดินทางทิศใต้ โดยหวังอยู่ว่าพระสังฆปริณายกจะได้เห็นและหยั่งทราบถึงวิปัสสนาญาณที่เขาได้บรรลุโศลกนั้นมีว่า :
    “กายของเราคือต้นโพธิ์
ใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ ชั่วโมง
และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ”
     พอเขียนเสร็จ เขาก็รีบกลับไปห้องของเขาทันที โดยไม่มีใครทราบการกระทำของเขา ครั้นไปถึงแล้วเขาวิตกต่อไปว่า “พรุ่งนี้ถ้าพระสังฆปริณายกเห็นโศลกของเรา และพอใจ ก็แปลว่าเราพร้อมที่จะได้รับธรรมะอันลึกซึ้งของท่าน แต่ถ้าท่านติว่าใช้ไม่ได้ มันก็แปลว่าเรายังไม่สมควรที่จะได้รับธรรมะอันนั้น เนื่องจากความชั่วที่เราทำไว้แต่ชาติก่อนๆ มาหุ้มห่อใจเราอย่างหนาแน่น มันเป็นการยากเย็นเหลือเกินในการที่จะทายว่า พระสังฆปริณายกจะมีความรู้สึกอย่างไรในโศลกอันนั้น” เขาได้คิดทบทวนอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งคืนยังรุ่ง นั่งก็ไม่เป็นสุข นอนก็ไม่เป็นสุข
     แต่พระสังฆปริณายกได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ชินเชาผู้นี้ยังไม่ได้ก้าวเข้าไปในประตูแห่งการตรัสรู้และเขายังไม่ซึมทราบในจิตเดิมแท้ (Essence of Mind)
     พระสังฆปริณายก ได้กล่าวแก่โลชุนช่างเขียนว่า “เสียใจที่ได้รบกวนท่านให้มาถึงนี่ บัดนี้เห็นว่า ผนังเหล่านี้ไม่ต้องเขียนภาพเสียแล้ว เพราะสูตรๆ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ‘สรรพสิ่งที่มีรูป หรือมีความปรากฏกิริยาอาการ ย่อมเป็นอนิจจังและเป็นมายา’ ฉะนั้นควรปล่อยโศลกนั้นไว้บนผนังอย่างนั้นเพื่อให้มหาชนได้ศึกษาและท่องบ่น และถ้าเขาปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อความที่สอนไว้นั้น เขาก็จะพ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ อานิสงส์ที่ผู้ปฏิบัติตามจะพึงได้รับนั้นมีมากนัก”
     ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว พระสังฆปริณายกได้สั่งให้นำเอาธูปเทียนมาจุดบูชาที่ตรงหน้าโศลกนั้น และสั่งให้ศิษย์ของท่านทุกคนทำความเคารพ แล้วจำเอาไปท่องบ่น เพื่อให้เขาสามารถพิจารณาเห็นจิตเดิมแท้ เมื่อศิษย์เหล่านั้นท่องได้แล้ว ทุกคนพากันออกอุทานว่า “สาธุ !”
     ครั้นเวลาเที่ยงคืน พระสังฆปริณายกได้ให้คนไปตามตัวชินเชามาที่หอ แล้วถามว่าเขาเป็นผู้เขียนโศลกนั้นใช่หรือไม่ ชินเชาได้ตอบว่า “ใช่ขอรับ กระผมมิได้เห่อเหิมเพื่อตำแหน่งสังฆปริณายก, เพียงแต่หวังว่าคุณพ่อจะกรุณาบอกให้ทราบว่า โศลกนั้นแสดงว่ามีแววแห่งปัญญาอยู่ในนั้นบ้างสักเล็กน้อย หรือหาไม่”
     พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า “โศลกของเจ้าแสดงว่าเจ้ายังไม่ได้รู้แจ้ง จิตเดิมแท้ เจ้ามาถึงประตูแห่งการบรรลุธรรมแล้วเป็นนาน แต่เจ้ายังไม่ได้ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป การแสวงหาความตรัสรู้อันสูงสุดด้วยความเข้าใจอย่างของเจ้าที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ยากที่จะสำเร็จได้”
    “การที่ใครจะบรรลุอนุตตรสัมโพธิได้นั้น ผู้นั้นจะต้องสามารถรู้แจ้งด้วยใจเอง ในธรรมชาติแท้ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ อันเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้หรือทำลายให้สูญหายไปก็ไม่ได้ ชั่วเวลาขณะจิตเดียวเท่านั้น ผู้นั้นสามารถเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง ต่อจากนั้นทุกๆ สิ่งก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขังกล่าวคือจะเป็นวิมุติหลุดพ้นไป ตถตา (คือความเป็นแต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้, ซึ่งเป็นชื่อของจิตเดิมแท้อีกชื่อหนึ่ง) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งเดียวหรือชั่วขณะจิตเดียว ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากความหลงได้ตลอดกาลไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไร ใจของผู้นั้น ก็จะยังคงอยู่ในสภาพแห่ง “ความเป็นเช่นนั้น” สถานะเช่นนี้ ที่จิตได้ลุถึงนั่นแหละคือตัวสัจธรรมแท้ ถ้าเจ้าสามารถเห็นสิ่งทั้งปวง โดยลักษณะการเช่นนี้ เจ้าจะได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้อันสูงสุด”
     “เจ้ากลับไปเสียก่อนดีกว่า ไปคิดมันอีกสักสองวัน แล้วเขียนโศลกอันใหม่มาให้ฉัน ถ้าโศลกของเจ้าแสดงว่า เจ้าข้ามพ้นประตูไปแล้ว ฉันจะมอบผ้ากาสาวพัสตร์ และธรรม(แห่งนิกายธยานะ)ให้แก่เจ้าสืบทอดไป”
     ชินเชา กราบพระสังฆปริณายกแล้วหลีกไป เวลาล่วงเลยมาหลายวัน เขาก็ยังจนปัญญา ในการที่จะเขียนโศลกอันใหม่ มันทำให้ใจของเขาหกหัวกลับ ไม่รู้บนล่างเหมือนคนถูกผีอำ เป็นไข้ทั้งที่ตัวเย็นชืดเหมือนกับคนที่กำลังฝันร้ายจะนั่งหรือเดินอย่างไร ก็ไม่พบอิริยาบถที่ผาสุก
     เวลาล่วงมาอีกสองวัน บังเอิญเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านมาทางห้องที่อาตมาตำข้าวอยู่ เด็กคนนั้น ได้เดินท่องโศลกของชินเชาที่จำมาจากฝาผนัง อย่างดังๆ พอได้ยินโศลกนั้น อาตมาก็ทราบได้ทันทีว่าผู้แต่งโศลกนั้นยังไม่ใช่ผู้เห็นแจ้งในจิตเดิมแท้ แม้ว่าในเวลานั้นอาตมายังมิได้รับคำอธิบายอะไรเกี่ยวกับข้อความในโศลกนั้น อาตมาก็ยังเข้าใจในความหมายทั่วๆ ไปของมันได้เป็นอย่างดีอยู่เองแล้ว
     อาตมาถามเด็กนั้นว่า “โศลกอะไรกันนี่?” เด็กเขาตอบว่า “ท่านคนป่าคนเยิง, ท่านไม่ทราบเรื่องโศลกนี้ดอกหรือ? พระสังฆปริณายกได้ประกาศแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า ปัญหาเรื่องการเกิดใหม่ไม่รู้สิ้นสุดนั้นเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของคนทั้งหลาย, และว่าผู้ใดปรารถนาจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์และธรรมะ (แห่งนิกายเซ็น) จะต้องเขียนโศลกให้ท่านโศลกหนึ่ง, และว่าผู้ที่รู้แจ้งจิตเดิมแท้ จะได้รับมอบของเหล่านั้นและจะถูกแต่งตั้งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ท่านชินเชาศิษย์ผู้อาวุโสได้เขียนโศลกเรื่อง “ไม่มีรูป” โศลกนี้ไว้ที่ผนังทางเดินด้านทิศใต้ และพระสังฆปริณายกสั่งให้พวกเราท่องบ่นโศลกอันนี้ไว้ และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า ผู้ใดเก็บเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์เป็นอันมาก จะพ้นจากทุกข์แห่งการเกิดในอบายภูมิ”
    อาตมาได้บอกแก่เด็กหนุ่มคนนั้นว่าอาตมาก็ปรารถนาที่จะท่องบ่นโศลกนั้นเหมือนกัน เผื่อว่าในภพเบื้องหน้า จะได้พบคำสอนเช่นนั้นอีก อาตมาได้บอกเขาด้วยว่า แม้อาตมาจะได้ตำข้าวอยู่ที่นี่ตั้งแปดเดือนมาแล้ว ก็ไม่เคยเดินผ่านไปแถวช่องทางเดินเหล่านั้นเลย เขาจะต้องนำอาตมาไปถึงที่ที่โศลกนั้นเขียนไว้บนผนัง เพื่อให้อาตมาได้มีโอกาสทำการบูชาโศลกนั้น ด้วยตนเอง
     เด็กหนุ่มนั้นนำอาตมาไปยังที่นั่นอาตมาขอร้องให้เขาช่วยอ่านให้ฟัง เพราะอาตมาไม่รู้หนังสือ เจ้าหน้าที่เสมียนพนักงานแห่งตำบลกองเจาคนหนึ่ง ชื่อ จางตัตยุง เผอิญมาอยู่ที่นั้นด้วย ได้ช่วยอ่านให้ฟัง เมื่อเขาอ่านจบ อาตมาได้บอกแก่เขาว่า อาตมาก็ได้แต่งโศลกไว้โศลกหนึ่งเหมือนกัน และขอให้เขาช่วยเขียนให้อาตมาด้วย เขาออกอุทานว่า “พิลึกกึกกือเหลือเกิน ที่ท่านก็มาแต่งโศลกกับเขาได้ด้วย”
     อาตมาได้ตอบว่า “ถ้าท่านเป็นผู้ที่เสาะแสวงหาการบรรลุธรรมอันสูงสุดคนหนึ่งกะเขาด้วยละก็, ท่านอย่าดูถูกคนเพิ่งเริ่มต้น ท่านควรจะรู้ไว้ว่าคนที่ถูกจัดเป็นคนชั้นต่ำก็อาจมีปฏิภาณสูงได้เหมือนกันและคนชั้นสูง ก็ปรากฏว่ายังขาดสติปัญญาอยู่บ่อยๆ ถ้าท่านดูถูกคนก็ชื่อว่า ท่านทำบาปหนัก”
     เขากล่าวว่า “ไหนเล่า จงบอกโศลกของท่านมาซี ฉันจะช่วยเขียนให้ท่าน แต่อย่าลืมช่วยฉันนะ ขอให้ท่านลุความสำเร็จในธรรมของท่านเถิด” โศลกของอาตมามีว่า :
    “ไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นจะลงจับอะไร?”
     เมื่อเขาเขียนโศลกนี้ลงที่ผนังแล้ว ทั้งพวกศิษย์และคนนอกทุกคน ที่อยู่ที่นั่นต่างพากันประหลาดใจอย่างยิ่ง จิตใจเต็มตื้นไปด้วยความชื่นชม เขาพากันกล่าวแก่กันและกันว่า “น่าประหลาดเหลือเกิน ไม่ต้องสงสัยเลย เราไม่ควรตัดสินใครว่าเป็นอย่างไร ด้วยการเอารูปร่างภายนอกเป็นประมาณ มันเป็นไปได้อย่างไรกันหนอ ที่เราพากันใช้สอยโพธิสัตว์ผู้อวตาร ให้ทำงานหนักให้แก่เรา มานานถึงเพียงนี้?”
     พระสังฆปริณายกเห็นคนเหล่านั้นพากันเต็มตื้นไปด้วยความอัศจรรย์ใจ ท่านจึงเอารองเท้าลบโศลก อันที่เป็นของอาตมาออกเสีย ถ้าไม่ทำดังนั้น พวกคนที่มักริษยาจะพากันทำร้ายอาตมา พระสังฆปริณายก แสดงความรู้สึกบางอย่างออกมา ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นพอใจที่จะคิดว่า แม้ผู้ที่เขียนโศลกอันนี้ ก็ยังไม่ใช่เป็นผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้เหมือนกัน!
     วันรุ่งขึ้น พระสังฆปริณายกได้ลอบมาที่โรงตำข้าวอย่างเงียบๆ ครั้นเห็นอาตมาตำข้าวอยู่ด้วยสากหิน ท่านกล่าวแก่อาตมาว่า “ผู้ค้นหาหนทางต้องยอมเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อธรรมะ เขาควรทำเช่นนั้นมิใช่หรือ?” แล้วท่านถามอาตมาต่อไปว่า “ข้าวได้ที่แล้วหรือ?” อาตมาตอบท่านว่า “ได้ที่นานแล้ว ยังรอคอยอยู่ก็แต่ตะแกรงสำหรับร่อนเท่านั้น” ท่านเคาะครกตำข้าวด้วยไม้เท้า ๓ ครั้ง แล้วก็ออกเดินไป
     อาตมาทราบดีว่า การบอกใบ้เช่นนั้น หมายความว่ากระไร ดังนั้นในเวลาสามยามแห่งคืนนั้น อาตมาจึงไปที่ห้องท่าน ท่านใช้จีวรขึ้นขึงบังมิให้ใครเห็นเราทั้งสอง แล้วท่านก็ได้อธิบายข้อความอันลึกซึ้งในวัชรสูตร (กิมกังเก็ง) ให้แก่อาตมา เมื่อท่านได้อธิบายมาถึงข้อความที่ว่า “คนเราควรจะใช้จิตของตน ในวิถีทางที่มันจะเป็นอิสระได้จากเครื่องข้องทั้งหลาย” ทันใดนั้น อาตมาก็ได้บรรลุการตรัสรู้ธรรมโดยสมบูรณ์และได้เห็นแจ้งชัดว่า “ที่แท้ทุกๆ สิ่งในสากลโลกนี้ก็คือตัว จิตเดิมแท้นั่นเอง มิใช่อื่นไกล”
     อาตมาได้ร้องขึ้นในที่เฉพาะหน้าพระสังฆปริณายก ในที่นั้นว่า “แหม! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้ นั้นเป็นของบริสุทธิ์ อย่างบริสุทธิ์แท้จริง! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจความต้องเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเองอย่างสมบูรณ์แท้จริง! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้ นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความปลี่ยนแปลง อ่างนอกเหนือแท้จริง! ใครจะไปคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ไหลเทออกมาจากตัว จิตเดิมแท้!”
     เมื่อพระสังฆปริณายก สังเกตเห็นว่า อาตมาได้เห็นแจ้งแล้วในจิตเดิมแท้ ท่านได้กล่าวว่า “สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักจิตใจของตัวเองว่าคืออะไร ก็ป่วยการที่ผู้นั้นจะศึกษาพุทธศาสนา ตรงกันข้าม, ถ้าผู้ใดรู้จักจิตใจของตนเองว่าเป็นอะไร และเห็นด้วยปัญญาอย่างซึมซาบว่าธรรมชาติแท้ของตนคืออะไรด้วยแล้ว ผู้นั้นคือวีรมนุษย์ (นายโรงโลก) คือ ครูของเทวดาและมนุษย์ คือพุทธะ”
     ดังนั้น, ในฐานะที่ความรู้ย่อมไม่เป็นของบุคคลใดแต่ผู้เดียว ธรรมะอันนั้นจึงถูกมอบตกทอดมายังอาตมาในเที่ยงคืนวันนั้นเอง, ผลก็คืออาตมาเป็นทายาทผู้ได้รับมอบทอดช่วงคำสั่งสอนแห่งนิกาย “ฉับพลัน” (Sudden School) พร้อมทั้งจีวรและบาตร (อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งสังฆปริณายกแห่งนิกายนี้สืบลงตั้งแต่สังฆปริณายกองค์แรก)
     พระสังฆปริณายกได้กล่าวสืบไปว่า “บัดนี้ ท่านเป็นสังฆปริณายกองค์ที่หก ท่านต้องคุ้มครองตัวของท่านให้ดี จงช่วยมนุษย์ให้มากพอที่จะช่วยได้ จงทำการเผยแพร่คำสอน และสืบอายุคำสอนไว้อย่าให้ขาดตอนลงได้” จงจำโศลกโคลงอันนี้ของเราไว้ :
     “สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเราหว่านเมล็ดพืชพันธุ์แห่งการตรัสรู้
ลงในเนื้อนาแห่งความเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุผลแล้วจะเก็บเกี่ยวผลถึงพุทธภูมิ
     วัตถุมิใช่สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นสิ่งว่างเปล่าจากธรรมชาติแห่งพุทธะ
ย่อมไม่หว่าน และไม่เก็บเกี่ยวเลย”
     แล้วท่านได้กล่าวสืบไปว่า “เมื่อพระสังฆปริณายกนามว่าโพธิธรรมได้มาสู่ประเทศจีนนี้เป็นครั้งแรก ชาวจีนส่วนมากไม่ยอมเชื่อในท่าน, ดังนั้น ผ้ากาสาวพัสตร์นี้ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมอบต่อๆ กันไป จากพระสังฆปริณายกองค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่งในฐานะเป็นเครื่องหมาย สำหรับธรรมะนั้นเล่า ก็มอบทอดช่องกันไปตัวต่อตัวโดยทางใจ (จิตถึงจิต) ไม่เกี่ยวกับคัมภีร์และผู้รับมอบนั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นธรรมะนั้นแล้วอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยความพยายามของตนเองโดยเฉพาะนับตั้งแต่อดีตกาลอันกำหนดนับไม่ได้เป็นต้นมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันสำหรับสำหรับพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ก็จะมอบหัวใจคำสอนของพระองค์ให้แก่ผู้จะสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป, แม้สำหรับพระสังฆปริณายก หัวหน้าแห่งนิกายองค์หนึ่งๆ ก็เหมือนกัน ย่อมจะมอบคำสอนอันเร้นลับแห่งนิกายนั้นโดยตัวต่อตัวให้แก่พระสังฆปริณายกที่รองลำดับลงไปโดยความรู้ทางใจ (ไม่เกี่ยวกับตำรา) แต่สำหรับผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรนี้อาจเป็นต้นเหตุแห่งการยื้อแย่งเถียงสิทธิกันขึ้นก็ได้ ท่านเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับมอบในเวลานี้ ท่านควรมอบมันไปเสียแก่ผู้ที่จะรับสืบต่อจากท่านได้ ชีวิตของท่านกำลังล่อแหลมต่ออันตราย จงเดินทางไปเสียจากที่นี่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ มิฉะนั้นจะมีคนทำอันตรายท่าน”
     อาตมาถามท่านว่า ควรจะไปทางไหน ท่านตอบว่า “จงหยุดที่ตำบลเวย แล้วซ่อนอยู่ผู้เดียวที่ตำบลวุย”
     เมื่อได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรในตอนเที่ยงคืนเสร็จแล้ว อาตมาได้กล่าวกะท่านว่า เนื่องจากตัวเป็นชาวใต้ จะรู้จักเดินทางไปตามภูเขาได้อย่างไร และไม่สามารถเดินไป (เพื่อลงเรือ) ที่ปากแม่น้ำได้ ท่านตอบว่า “อย่าร้อนใจ เราจะไปด้วย”
     ท่านได้มาเป็นเพื่อนอาตมา จนถึงกิวเกียง, ณ ที่นั้นท่านได้บอกให้อาตมาลงเรือลำหนึ่ง ท่านแจวเรือนั้นด้วยตัวเอง อาตมาจึงขอร้องให้ท่านนั่งลงเสีย และอาตมาจะแจวเอง ท่านตอบว่า “มันเป็นสิทธิฝ่ายเราผู้เดียวเท่านั้นในการที่จะพาท่านข้ามไป (ในที่นี้หมายถึงทะเลแห่งการเกิดตาย ซึ่งคนเราจะต้องข้าม ก่อนแต่จะลุถึงฝั่งคือนิพพาน) “ อาตมาจึงตอบท่านว่า “เมื่อกระผมยังอยู่ภายใต้โมหะ ก็เป็นหน้าที่ที่คุณพ่อจะต้องพากระผมข้ามไป แต่เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นการตรัสรู้แล้ว กระผมก็ควรจะข้ามมันด้วยตนเอง (คำว่า ‘ข้าม’ ทั้งสองแห่งนั้น แม้เขียนเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน) โดยที่กระผมเกิดที่บ้านนอกชายแดน แม้การพูดจาของกระผมยังแปร่งไม่ถูกต้องในการออกเสียงก็ตาม แต่กระผมก็ได้รับเกียรติจากคุณพ่อในการที่ได้รับมอบธรรมะอันนั้นจากคุณพ่อ, ฉะนั้นก็แปลว่ากระผมได้บรรลุธรรมแล้ว มันควรจะเป็นสิทธิของกระผม ในการที่จะพาตัวเองข้ามทะเลแห่งความเกิดตายไปได้ด้วยการที่ตนเห็นแจ้ง จิตเดิมแท้ของตนเองแล้ว”
     “ถูกแล้ว ถูกแล้ว,” ท่านรับรอง แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “นับจำเดิมแต่นี้เป็นต้นไป เพราะอาศัยท่านเป็นเหตุ พุทธศาสนา (หมายถึงนิกายธยานะ) จะแผ่กว้างขวางไพศาล, นับตั้งแต่จากกันวันนี้แล้วอีกสามปีเราก็จะลาจากโลกนี้ไป ท่านจงเริ่มต้นการจาริกของท่านตั้งแต่บัดนี้เถิด, จงลงไปทางใต้ให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้ อย่าด่วนทำการเผยแพร่ให้เร็วเกินไป เพราะว่าพุทธธรรมนี้ (หมายถึงนิกายธยานะ) ไม่เป็นของที่เผยแพร่ได้โดยง่ายเลย”
     เมื่อได้กล่าวคำอำลาท่านแล้ว อาตมาก็จากท่านเดินทางลงมาทางทิศใต้ เป็นเวลาประมาณสองเดือน อาตมาก็มาถึงภูเขาไต้ยู ณ ที่นี้ อาตมาได้สังเกตเห็นว่ามีคนหลายร้อยคนติดตามรอยอาตมามาด้วยหวังจะยื้อแย่งผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตร (เป็นปูชนียวัตถุของพระพุทธเจ้า)
     ในจำพวกคนที่ติดตามมานั้นมีภิกษุอยู่ด้วยรูปหนึ่งชื่อไวมิง เมื่อเป็นฆราวาสใช้แซ่สกุลว่า เซ็น และมียศนายทหารเป็นนายพลจัตวา, มีกิริยาหยาบคายโทสะฉุนเฉียว ในบรรดาคนที่ติดตามอาตมามานั้นเขาเป็นคนที่สะกดรอยเก่งที่สุด ครั้นเขามาใกล้จวนจะถึงตัวอาตมา อาตมาก็วางผ้ากาสาวพัสตร์กับบาตรลงบนก้อนหิน ประกาศว่า “ผ้านี้ไม่เป็นอะไรอื่น นอกจากจะเป็นเครื่องหมายเท่านั้น จะมีประโยชน์อะไรในการที่จะยื้อแย่งเอาไปด้วยกำลัง” (แล้วอาตมาก็หลบไปซ่อนเสีย)
      ครั้นภิกษุไวมิงมาถึงก้อนหินนั้นเขาพยายามที่จะหยิบมันขึ้น แต่กลับปรากฏว่าเขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ แล้วเขาได้ตะโกนว่า “พ่อน้องชาย พ่อน้องชาย, ฉันมาเพื่อหาธรรมะ ไม่ใช่มาเพื่อเอาผ้า,” (พึงทราบว่าเวลานี้ พระสังฆปริณายกองค์ที่หกนี้ยังไม่ได้รับการอุปสมบทจึงถูกเรียกว่า พ่อน้องชาย, เหมือนที่ฆราวาสเขาเรียกกัน)
     ต่อจากนั้น อาตมาก็ออกจากที่ซ่อน นั่งลงบนก้อนหินนั้น ภิกษุไวมิงทำความเคารพ แล้วกล่าวว่า “น้องชาย แสดงธรรมแก่ฉันเถิดช่วยที”
     อาตมาได้กล่าวกะภิกษุไวมิงว่า “เมื่อความประสงค์แห่งการมาเป็นความประสงค์เพื่อจะฟังธรรมแล้ว ก็จงระงับใจไม่ให้คิดถึงสิ่งใดๆ แล้วทำใจของท่านให้ว่างเปล่า, เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะสอนท่าน” ครั้นเขาทำดังนั้นชั่วเวลาพอสมควรแล้ว อาตมาได้กล่าวว่า “เมื่อท่านทำในใจไม่คิดทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว (รู้จักสิ่งที่ไม่ดีและไม่ชั่ว) แล้วในเวลานั้นเป็นอะไร ท่านที่นับถือ, นั่นคือธรรมชาติแท้ของท่าน (ตามตัวหนังสือ, เรียก หน้าตาดั้งเดิมของท่าน) มิใช่หรือ?”
     พอภิกษุไวมิงได้ฟังดังนั้น ท่านก็บรรลุธรรมทันที แต่ท่านได้ถามต่อไปว่า “นอกจากคำสอนและข้อคิดอันเร้นลับ ที่พระสังฆปริณายกท่านมอบต่อๆ กันลงไป หลายชั่วพระสังฆปริณายกมากันแล้วนั้น ยังมีคำสอนเร้นลับอะไรอีกบ้างไหม?” อาตมาตอบว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้านำมาสอนให้ท่านได้นั้น ไม่ใช่ข้อเร้นลับอะไร คือถ้าท่านมองย้อนเข้าข้างใน ท่านจะเห็นสิ่งซึ่งเร้นลับมีอยู่ในตัวท่านแล้ว”
     ภิกษุไวมิงได้กล่าวขึ้นว่า “แม้ฉันจะอยู่ที่วองมุยมานมนาน ฉันก็ไม่ได้เห็นแจ้งตัวธรรมชาติแท้ของจิตฉันเลย บัดนี้รู้สึกขอบคุณเหลือเกินในการชี้ทางของท่าน ฉันรู้สิ่งนั้นชัดเจน เหมือนที่คนดื่มน้ำเขารู้แจ้งชัดว่า น้ำที่เขาดื่มนั้นร้อนหรือเย็นอย่างไร พ่อน้องชายเอ๋ย บัดนี้ท่านเป็นครูของฉันแล้ว”
     อาตมาตอบว่า “ถ้าเป็นดังนั้นจริงแล้ว ท่านกับข้าพเจ้า ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า ท่านจงคุ้มครองตัวของท่านให้ดีเถิด” เมื่อเขาถามอาตมาว่าต่อจากนี้ไปเขาควรจะไปทางไหน อาตมาก็ตอบแก่เขาว่า ให้เขาหยุดที่ตำบลย็วนแล้วตั้งพำนักอาศัยที่ตำบลม็อง เขาก็ทำความเคารพแล้วจากกันไป”
     ต่อมาไม่นาน อาตมาก็ไปถึงตำบลโซกาย, ณ ที่นั้น พวกใจบาปได้ตามจองล้างจองผลาญอาตมาอีก ทำให้อาตมาต้องหลบซ่อนอยู่ที่ซีวุยอันเป็นที่ซึ่งอาตมาได้อาศัยอยู่กับพวกพรานป่าตลอดเวลาถึง ๑๕ ปี ในบางโอกาส อาตมาก็หาทางสั่งสอนเขาตามที่เขาพอจะเข้าใจได้บ้าง เขาเคยใช้อาตมาให้นั่งเฝ้าข่ายดักจับสัตว์ของเขา, เมื่ออาตมาเห็นสัตว์มาติดที่ข่ายนั้น ก็ปลดปล่อยให้รอดชีวิตไป ในเวลาหุงต้มอาหาร อาตมานำผักมาใส่ลงไปในหม้อที่เขากำลังต้มหรือแกงเนื้อ บางคนสงสัยก็ถามอาตมา อาตมาตอบให้ฟังว่า แม้เนื้อนั้นแกงรวมกันอยู่กับผัก อาตมาก็จะคัดเลือกรับประทานแต่ผักอย่างเดียวเท่านั้น
     วันหนึ่ง อาตมารำพึงในใจตนเองว่า อาตมาไม่ควรจะเก็บตัวซ่อนอยู่เช่นนี้ตลอดไป มันถึงเวลาแล้ว ที่อาตมาจะทำการประกาศธรรม ดังนั้นอาตมาจึงออกจากที่นั้น และได้ไปสู่อาวาสฟัดฉิ่นในนครกวางตุ้ง
     ในขณะนั้น ภิกษุเยนซุง ผู้เป็นธรรมาจารย์มีชื่อองค์หนึ่งกำลังเทศนาว่าด้วยมหาปรินิรวาณสูตร อยู่ในอาวาสนั้น มันเป็นการบังเอิญในวันนั้น เมื่อธงริ้วกำลังถูกลมพัดสะบัดพริ้วๆ อยู่ในสายลม ภิกษุสองรูปเกิดโต้เถียงกันขึ้นว่าสิ่งที่กำลังไหวสั่นระรัวอยู่นั้นได้แก่ลมหรือได้แก่ธงนั้นเล่า, เมื่อไม่มีทางที่จะตกลงกันได้ อาตมาจึงเสนอข้อตัดสินให้แก่ภิกษุสองรูปนั้นว่า ไม่ใช่ลมหรือธงทั้งสองอย่าง ที่แท้จริงที่หวั่นไหวจริงๆ นั้นได้แก่จิตของภิกษุทั้งสองรูปนั้นเองต่างหาก ที่ประชุมที่กำลังประชุมกันอยู่ในที่นั้น พากันตื่นตะลึงในถ้อยคำที่อาตมาได้กล่าวออกไป และภิกษุเยนชุง ได้อาราธนาอาตมาให้ขึ้นนั่งบนอาสนะอันสูง แล้วได้ซักถามปัญหาที่เป็นปมยุ่งต่างๆ ในพระสูตรที่สำคัญๆ หลายสูตร
     เมื่อได้เห็นว่า คำตอบของอาตมาชัดเจนแจ่มแจ้งและมั่นคงและเห็นว่าเป็นคำตอบที่มีอะไรสูงยิ่งไปกว่าความรู้ที่จะหาได้จากตำราแล้วภิกษุเยนชุงได้กล่าวแก่อาตมาว่า “น้องชาย, ท่านต้องเป็นบุคคลพิเศษเหนือธรรมดาเป็นแน่ เราได้ฟังข่าวมานานแล้วว่าบุคคลผู้ได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ และธรรมะจากพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้านั้น บัดนี้ได้เดินทางลงมาทางทิศใต้แล้ว ท่านต้องเป็นบุคคลผู้นั้น เสียแน่แล้ว”
     อาตมา ได้แสดงกิริยายอมรับโดยอ่อนน้อม ทันใดนั้น ภิกษุเยนชุงได้ทำความเคารพ และขอให้อาตมานำผ้าและบาตร ซึ่งได้รับมอบ ออกมาให้ที่ประชุมดูด้วย แล้วได้ถามอาตมาสืบไปว่า เมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้ามอบธรรมอันเร้นลับสำหรับสังฆปริณายกให้แก่อาตมานั้น อาตมารับคำสั่งสอนอะไรอย่างใดบ้าง
     อาตมาตอบว่า “นอกจากการคุ้ยเขี่ยด้วยเรื่องการเห็นแจ้งชัดในจิตเดิมแท้แล้ว ท่านไม่ได้ให้คำสอนอะไรอีกเลย ท่านไม่ได้เอ่ยถึงแม้เต่เรื่องธยานะ (คือฌาน) และวิมุติ” ภิกษุเยนชุงสงสัย จึงถามอาตมาว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อาตมาตอบว่า เพราะว่ามันจะทำให้เกิดความหมายว่า มีหนทางขึ้นถึงสองทาง ก็ทางในพุทธธรรมนี้จะมีถึงสองทางไม่ได้ มันมีแต่ทางเดียวเท่านั้น
     ภิกษุเยนชุง ถามอาตมาต่อไปว่าที่ว่ามีแต่ทางเดียวนั้นคืออะไร อาตมาตอบว่า “ก็มหาปรินิรวาณสูตรซึ่งท่านนำออกเทศนาอยู่นั่นเองย่อมชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ (ซึ่งมีอยู่ในคนทุกคน) นั่นแหละคือทางทางเดียว ยกตัวอย่างตอนหนึ่งในสูตรนั้นมีว่า พระเจ้าโกไกวตั่ก ซึ่งเป็นโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า บุคคลที่ล่วงปาราชิกสี่อย่างก็ดี หรือทำอนันตริยกรรมห้าอย่างก็ดี และพวกอัจฉันติกะ (คือมิจฉาทิฏฐินอกศาสนา) ก็ดี ฯลฯ คนเหล่านี้ จะได้ชื่อว่าถอนรากเง่าแห่งความมืด และทำลายธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตนเองเสียแล้ว โดยสิ้นเชิงหรือหาไม่? พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า รากเง่าของความดีนั้น มีอยู่สองชนิดคือ ชนิดที่ถาวรตลอดอนันตกาล กับไม่ถาวร (Eternal, and Non-eternal) เพราะเหตุที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้น จะเป็นของถาวรตลอดอนันตการก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ถาวรก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นรากเง่าแห่งความดีของเขา จึงไม่ถูกถอนขึ้นโดยสิ้นเชิง” ในบัดนี้ก็เป็นที่ปรากฏแล้วว่า พุทธธรรมมิได้มีทางสองทาง ที่ว่าทางฝ่ายดีก็มี ทางฝ่ายชั่วก็มี นั้นจริงอยู่ แต่เพราะเหตุที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้น เป็นของไม่ดี ไม่ชั่ว เพราะฉะนั้น พุทธธรรมจึงเป็นที่ปรากฏว่าไม่มีทางถึงสองทาง ตามความคิดของคนธรรมดาทั่วไปนั้นเข้าใจว่า ส่วนย่อยๆ ของขันธ์และธาตุทั้งหลายนั้น เป็นของที่แบ่งแยกออกได้เป็นสองอย่าง แต่ผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านั้นตามธรรมชาติไม่ได้เป็นของคู่เลย พุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้นไม่ใช่เป็นของคู่”
     ภิกษุเยนชุงพอใจในคำตอบของอาตมาเป็นอย่างสูง ได้ประนมมือทั้งสองขึ้นเป็นการแสดงความเคารพแล้วท่านได้กล่าวแก่อาตมาว่า “คำอธิบายความในพระสูตรที่ข้าพเจ้าเองอธิบายไปแล้วนั้น ไร้มูลค่าเช่นเดียวกับกองขยะมูลฝอยอันระเกะระกะไปหมด ส่วนคำอธิบายของท่านนั้น เต็มไปด้วยคุณค่าเปรียบเทียบเหมือนทองคำเนื้อบริสุทธิ์” ครั้นแล้วท่านได้จัดการให้อาตมาได้รับการประกอบพิธีปลงผม และรับการบรรพชาอุปสมบท เป็นภิกษุในพุทธศาสนา และได้ขอร้องให้อาตมารับท่านไว้ในฐานะเป็นศิษย์คนหนึ่งด้วย
     จำเดิมแต่นั้นมา อาตมาก็ได้ทำการเผยแพร่คำสอนแห่งสำนักตุงคือสำนักแห่งพระสังฆปริณายกองค์ที่สี่ และองค์ที่ห้า (ซึ่งอยู่ในวัดตุงซั่น) ตลอดมาภายใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์
     นับตั้งแต่อาตมาได้รับมอบพระธรรมมาจากสำนักตุงซั่นแล้ว อาตมาต้องตกระกำลำบากหลายครั้งหลายหน ชีวิตปิ่มจะออกจากร่างอยู่บ่อยๆ วันนี้อาตมาได้มีเกียรติมาพบกับท่านทั้งหลาย ในที่ประชุมนี้ ทั้งนี้ อาตมาต้องถือว่า เป็นเพราะเราได้เคยติดต่อสัมพันธ์กันมาเป็นอย่างดีแล้วแต่ในกัลป์ก่อนๆ รวมทั้งอานิสงส์แห่งบุญกุศลที่เราได้สะสมกันไว้ ในการถวายไทยธรรมร่วมกันมาแด่พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ในชาติก่อนๆ ของเรานั่นเอง มิฉะนั้นแลวไฉนเราจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำสอนแห่ง “สำนักบรรลุฉับพลัน” (Sudden School) อันเป็นรากฐานที่ทำให้เราเข้าใจพระธรรมได้แจ่มแจ้งในอนาคตนั้นเล่า
     คำสอนอันนี้ เป็นคำสอนที่ “ได้มอบสืบทอดต่อๆ กันลงมาจากพระสังฆปริณายกองค์ก่อนๆ หาใช่เป็นคำสอนที่อาตมาประดิษฐ์คิดขึ้นด้วยตนเองไม่ ผู้ที่ปรารถนาจะสดับพระธรรมนั้น ในขั้นแรกควรจะชำระใจของตนให้บริสุทธิ์เสียก่อน ครั้นได้ฟังแล้ว ก็ควรจะชะล้างความสงสัยของตน ให้เกลี้ยงเกลาไปเฉพาะตนๆ โดยทำนองที่พระมุนีทั้งหลายในกาลก่อนได้เคยกระทำกันมา จงทุกคนเถิด”
     ครั้นจบพระธรรมเทศนา ผู้ฟังพากันปลาบปลื้มด้วยปีติ ทำความเคารพแล้วลาไป

     สิ่งทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือเลว สวยงามหรือน่าเกลียด
            ควรจัดเป็นของว่างอย่างเดียวกัน
         แม้ในขณะที่โต้เถียงและทะเลาะวิวาท
   เราควรประพฤติต่อเพื่อนและต่อศัตรูของเรา อย่างเดียวกัน
   และไม่มีการนึกถึงการแก้เผ็ด ในการฝึกความนึกคิดของตนเอง
      จงปล่อยให้อดีตเป็นอดีต ถ้าเราเผลอให้ความคิดของเรา
   ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาจับติดต่อกัน เป็นห่วงโซ่แล้ว
            ก็หมายว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง
      ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ยอมให้ใจของเรา
       ข้องติดอยู่ในสิ่งใดๆ เราจะลุถึงความหลุดพ้น
      เพื่อผลอันนี้ เราจึงถือเอา “ความไม่ข้องติด”
       ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ อันเป็นประธานสำคัญ

     ผู้ที่ด่วนเดินมุ่งแน่วไปตามทางที่ถูกต้องนั้น
               ย่อมไม่มองเห็นความผิดต่างๆ ในโลกนี้
                  ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่น
            เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกันฯ
              เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำต้องเอาใจใส่
               เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง
                  ในการที่จะไปรื้อหาความผิด ฯ
          โดยการสลัดนิสัยที่ชอบค้นหาความผิดของคนอื่น
                      ออกไปเสียจากสันดาน
           เราย่อมตัดวิถีทางการมาของกิเลส ได้เป็นอย่างดี ฯ

      ผู้มีใจเที่ยงธรรม
                  การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น
                    ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว
         การปฏิบัติในทางณานมันจะมีมาเอง (แม้จะไม่ตั้งใจทำ)

      สิ่งที่มีรสขม ย่อมถูกใช้เป็นยาที่ดี
                         สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหู
               นั้นคือคำตักเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง
       จากการแก้ไขความผิดให้กลับเป็นของถูก เราย่อมได้รับสติปัญญา
               โดยการต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวไว้
              เราแสดงนิมิตแห่งความมีจิตผิดปรกติออกมา

     ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, สมาธิและปรัชญานั้น
                ควรจะเปรียบกับอะไรเล่า? ธรรมะสองชื่อนี้
              ควรจะเปรียบกันกับตะเกียง และแสงของมันเอง
               มีตะเกียง ก็มีแสง, ไม่มีตะเกียง มันก็มืด
               ตะเกียงนั่นแหละคือตัวการแท้ของแสงสว่าง
             และแสงสว่างเป็นแต่สิ่งซึ่งแสดงออกของตะเกียง
              โดยชื่อฟังดูเป็นสองอย่าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว
          มันเป็นของอย่างเดียว และเป็นทั้งของอย่างเดียวกันด้วย
                 กรณีเช่นนี้แหละได้แก่สมาธิและปรัชญา

      การน้อมใจของเรา
             ให้ถือเอา “ความรู้แจ้ง” เป็นที่พึ่งได้
            จนถึงกับความรู้สึกที่ชั่วร้าย และผิดธรรม
                    ไม่อาจเกิดขึ้นได้
          ตัณหาห่างจากไป, ความตึงเครียดไม่ปรากฏ
              ราคะและโลภะไม่รึงรัดอีกต่อไป
           นั่นแหละคือยอดสุดทั้งของบุญและปัญญา

    การน้อมใจของเรา ให้ถือเอา “ความบริสุทธิ์”   เป็นที่พึ่งได้
         จนถึงกับไม่ว่าสถานการณ์อันใดจะเข้ามาแวดล้อมใจ
          ก็ไม่ถูกทำให้เปื้อนด้วยวัตถุกามารมณ์ อันน่าขยะแขยง,
                    ด้วยความทะเยอทะยานและตัณหา
         นั่นแหละ คือคุณชาติอันประเสริฐสุดของการได้เกิดมาเป็นคน

     ความลึกซึ้งแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
             ย่อมไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับภาษาที่เขียนด้วยตัวหนังสือ

      จงทำใจของท่าน
         ให้อยู่ในสภาพเหมือนกับความว่างอันหาขอบเขตไม่ได้
            แต่อย่าให้มันเข้าไปติดในทิฏฐิว่า ‘ดับสูญ’
              จงให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ
              ไม่ว่าท่านจะกำลังทำงานหรือหยุดพัก
           จงอย่าให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวในสิ่งใด
                   จงอย่าไปรู้สึกว่า
     มีความแตกต่างระหว่างอริยบุคคล กับบุคคลธรรมดา
                    อย่าไปคิดว่า
        มีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำ กับสิ่งที่ถูกกระทำ
              จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง
            ไว้ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น
             แล้วท่านก็จะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา

      การทำจิตให้เป็นอิสระจากมลทินทั้งปวง
             คือ ศีลของภาวะที่แท้แห่งจิต
    การทำจิตให้เป็นอิสระจากความกระวนกระวายทั้งหลาย
            คือ สมาธิของภาวะที่แท้แห่งจิต
       สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลง นั้นแหละคือ วัชร
        (วัชร หมายถึง ภาวะที่แท้แห่งจิตหรือปัญญา)
          การมาและการไป เป็นสมาธิในขั้นต่างๆ

     ความเป็นตัวตนนั้นไม่ใช่อะไร
           นอกจากเป็นภาพลวงอันเกิดจากการประชุมกันของขันธ์ห้า
          และภาพลวงนี้ก็ไม่มีอะไรที่นะเกี่ยวข้องกับความจริงแท้
                             การยึดมั่นว่า
              มีตถตาสำหรับเราที่จะยึดหมาย หรือมุ่งไปสู่
                  ย่อมเป็นธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง

     หลักธรรมนั้นได้หมายถึงแสงสว่างหรือความมืด
       แสงสว่างและความมืด หมายถึงความคิดที่อาจสับเปลี่ยนกันได้
                       ฉะนั้นการกล่าวว่า
         แสงสว่างก่อให้เกิดแสงสว่างต่อไปโดยไม่สิ้นสุด จึงผิด
                  เพราะว่ามันมีความจบสิ้น
              เนื่องจากความสว่างและความมืด
                เป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม
              ในวิมลกีรตินิเทศสูตร กล่าวว่า
                หลักธรรมนั้นไม่มีข้ออุปมา
        เพราะว่าไม่ใช่เป็นคำที่อาจเทียบเคียงกันได้

     ในคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ
              คำว่า ‘ไม่มีอยู่’
       หมายถึงการสิ้นสุดของคำว่า ‘มีอยู่’
              ส่วนคำว่า ‘มีอยู่’
 ก็ใช้เปรียบเทียบในทางตรงกันข้ามกับคำว่า ‘ไม่มีอยู่’
            สิ่งที่เขาหมายถึงความไม่มีอยู่
         ไม่ใช่หมายถึงการทำลายล้างโดยแท้จริง
 และสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘มีอยู่’ ก็ไม่ได้หมายถึงความมีอยู่อย่างแท้จริง
        สิ่งที่ฉันหมายถึงเหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่
             ก็คือโดยเนื้อแท้แล้วย่อมไม่มีอยู่
           แต่ในขณะปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกทำลายล้างไป
                 นี่แหละเป็นความต่างกัน
       ระหว่างคำสอนของฉันกับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ

     สัตว์ทั้งหลายย่อมเคลื่อนไหว
             วัตถุทั้งปวงย่อมหยุดนิ่ง
        ใครฝึกตนให้เป็นผู้ไร้ความเคลื่อนไหว
      ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากทำตนให้แน่นิ่งอย่างวัตถุ
           ถ้าท่านจะหาความสงบนิ่งที่ถูกแบบ
        ก็ควรเป็นความสงบนิ่งภายในการเคลื่อนไหว
           ความสงบนิ่ง (เหมือนอย่างวัตถุ)
         ก็เป็นเพียงความสงบนิ่ง (ไม่ใช่ธยานะ)

      ด้วยความเยือกเย็นและไม่กระวนกระวาย
           บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฏิบัติความดี
           ด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นตัวของตัวเอง
                 ท่านไม่ต้องกระทำบาป
                   ด้วยความสงบและสงัด
              ท่านเพิกเฉยการดูและการฟัง
             ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง
            จิตของท่านไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด

สูตรของเว่ยหล่าง
หมวดที่ 1 ว่าด้วยชีวประวัติที่ท่านเล่าเอง
ท่านพุทธทาสภิกขุ แปล
				
comments powered by Disqus
  • labboy

    17 ตุลาคม 2553 00:09 น. - comment id 119440

    ขอบคุณครับ
  • คีตากะ

    17 ตุลาคม 2553 23:47 น. - comment id 119442

    36.gif36.gif36.gif36.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน