อัลมิตรา
บทตามสงครามศักดิ์สิทธิ์
โดย เพิ่มบุญ เปลี่ยนภู่
ถ้าถามว่า อะไรทำให้เด็กหนุ่มที่หัดเขียนกลอนใหม่ๆ คนหนึ่งใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปีเปลี่ยนจากคนที่เขียนกลอนไม่ได้ความเอาเลย มาเป็นเจ้าของ 2 ผลงานที่กวาดรางวัลชนะเลิศจากการประกวดของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และและของวรรณศิลป์ จุฬาฯ ที่จัดซ้อนกันในวาระวันไหว้ครู 2546 ได้ ?
บางคนอาจตอบว่าเพราะพรสวรรค์ ที่โหดร้ายหน่อยก็บอกว่ามันฟลุค
สำหรับคำตอบอันหลัง น่าจะถูกหักล้างไปแล้วด้วยการที่เด็กหนุ่มคนเดียวกันนี้นำผลงาน บนหมอนรองรางรถไฟฟ้า เข้าป้ายในรายการ Young Thai Artist Award 2547 ได้สำเร็จ แถมยังตามติดด้วย สงครามศักดิ์สิทธิ์ เล่มนี้ในปีถัดมา
แต่ผมยืนยันว่า เชษฐภัทร วิสัยจร ไม่มีพรสวรรค์ และการเรียนอักษรศาสตร์ก็ไม่ใช่คำตอบด้วย
จะมีเด็กวัยรุ่นสักกี่คนที่เอาจริงเอาจังกับการเขียนร้อยกรองในยุคบริโภคอาหารจานด่วน โดยไม่สะทกสะท้านกับเสียงเย้ยหยันจากเพื่อนร่วมวัย กี่คนที่สามารถอดทนการเคี่ยวกรำของครูใจร้ายที่ดูเหมือนว่าแม้จะเขียนอย่างไรก็ตำหนิได้โดยไม่เคยมีคำชม กำลังใจเท่าที่เคยมีให้คือการบอกว่าพอทนหรือไม่ต้องแก้ไขแล้วเท่านั้น กี่คนที่ไม่เคยเถียงหรือพยายามอธิบายความคิดของตัวเองแต่จะรีบค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อคิดทบทวนใหม่ในเรื่องที่โดนครูแย้งว่าผิด
เชษฐภัทร เป็นคนหนึ่งที่ทำเช่นนั้น เขาคือเหล็กที่ยอมถูกตีเป็นดาบ ไม่ใช่ดินน้ำมันที่รอให้ปั้นอย่างทนุถนอม
หลายปีที่ผ่านมาเขาแค่เรียนการเขียนร้อยกรองในระดับอนุบาล เรียนกับครูที่มีปัญญาสอนแค่ชั้นอนุบาล และเขาก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าเขายังทำได้แค่เลียนครู โดยสัญญาว่าสักวันหนึ่งเขาจะมีสำนวนคมๆ ในแบบฉบับของตัวเองบ้าง
อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ผมเองต้องยอมรับว่าเขาเติบโตเกินไปที่จะเรียนชั้นอนุบาลแล้ว
เขากำลังเริ่มก้าวแรกๆ ของเขาทั้งในโรงเรียนชีวิตและโรงเรียนนักเขียนด้วยความเอาจริงเอาจัง อดทน และเปิดใจกว้างสำหรับการเรียนรู้
ซึ่งผมทำนายไว้ตรงนี้เลยว่า เชษฐภัทร วิสัยจร ไปได้อีกไกล