ผ้าไทไหมทอง..!

พุด


http://www.thaipoem.com/forever/ipage/song4682.html
(เทพธิดาผ้าซิ่น)
http://www.thaipoem.com/forever/ipage/song314.html
(บ้านเรา)


วันนี้...
ทิพย์ทอง..นุ่งผ้ายกทอง
ลายดอกพิกุล ที่งามมากไปวัด
แล้ว
ทัดดอกพุดซ้อนแซมผมพันทบที่ตลบเกล้าขึ้นไป


ใครบางคน...
ที่รู้จักทิพย์ทองในลานแอโรบิค
บอกว่าแสนประหลาดใจ 
ยามที่..
ได้พบทิพย์ทองในวัดวันนี้
ที่เห็นทิพย์ทองคนแสนเปรี้ยวในชุดออกกำลังกาย
จะกลายกลับมา
เป็นสาวในร่างโบราณหวานแแฉล้มแช่มช้อยไปได้


จะประหลาดใจไปไยเล่า 
เพราะ
สำหรับทิพย์ทองแล้วไซร้
ย่อมเลือกกาละเทศะในการสวมใส่เสมอ
สำหรับวันนี้
ทิพย์ทองมาวัดนี่นา
ที่ที่เราควรบูชาเคารพสถานที่


และ
ดวงชีวีของทิพย์ทอง
ก็รักแสนรักผ้าไท
เพราะ
ในชีวิตทิพย์ทองนั้น
เกิดมากับผ้าถุง  ผ้าไท
ผ้าที่ดูงามละไมในเรือนร่างของสาวไทยทุกคน
คนใจดวงโบราณทุกร่าง
ที่ยังคงมีความหวานอรชร
ซ่อนความละมุนไว้ให้ได้ค้นหา..แสนน่าติดตาม
แสนตราตรึง..จนอยากฝากซึ้งใจ..


และ
ผ้าทอผ้าไท
ที่ยังฝากค่า
วัฒนธรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน
ให้สืบสานไปนานเนาตราบไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
ทิพย์ทอง...
จึงต้องค้นคว้าหาข้อมูล
และ...
ฝากให้สำหรับทุกดวงใจสาวไทยคนรุ่นใหม่
ได้ซึมซับ รักในความงามละมุน
ฝืมือของบรรพบุรุษคนไทยโบราณ
ที่
สืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคนจนถึงสมัยนี้


หาก
อยากทราบรายละเอียดแสนดี
ที่ล้ำเลอค่าทางจิตวิญญาณ
ให้ตระการหวานหอม
ก็จงลองค้นคว้าหาอ่านดูได้
จากเวบไซท์
ที่ทิพย์ทองค้นหามาฝากให้
แค่ใช้ปลายนิ้วคลิ๊ก
ให้หัวใจไหวหวามได้ไปสัมผัสงานงาม
ที่จะทำให้เรา
ได้เข้าใจวิวัฒนาการแห่งผ้าไทมากขึ้น..


ที่
สำหรับทิพย์ทองแล้วคิดว่า
ผ้าไท ไหมทอง ผ้าทอ 
ล้วนแล้วก่อเกิดมาจากความรัก
จากวัฒนธรรมพื้นถิ่น
 จากแผ่นดินที่แสนเงียบงามสงบสุข
ด้วยทุกชีวิตได้ชิดใกล้
กับสายน้ำ
และ
ท้องทุ่งนาข้าวกล้าเขียวใส
เรียวรวงระบัดไหวสีทอง
วิถีที่เกษตรกรรมไทย
ที่พาให้ใจเราทุกดวงแสนรักสงบและพบแต่ความ
ละเมียดละมุนกรุ่นวิจิตร
ได้ชิดใกล้ธรรมชาติ 
ได้สืบสานความเป็นไทย
ที่มีใจดวงรักอิสราเสรี
ได้พลีฝันได้รังสรรค์ผลงานงาม
จากพลังสมองและสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก 
ที่หมุนโลก ลบโศกราน มาอย่างนานเนิ่น เนิ่นนาน..


ทิพย์ทอง...
เห็นว่าการทอผ้านั้น
มาจากมือธรรมใจทอง
เพราะเป็นงานต้องอาศัยความประณีตละเอียดอ่อน
รักความอ่อนช้อยสวยงาม 
มีความคิดสร้างสรร
ที่จะรู้จักนำสมุนไพรพื้นบ้าน
มาทดลองทำการย้อมลองผิดลองถูกจนกว่าจะพอใจ
และต้องผ่านขั้นตอนมากมาย
กว่าจะเป็นผ้าไหม ไทยทอสักผืนสวย


เป็นหัตถกรรม 
ที่แสนงามฝากนามเอกลักษณ์ไทย
ที่ยากที่ผู้ใดจะเลียนแบบได้
เป็นดั่งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำเลอค่า
ฝากมาถึงโลกปัจจุบัน 
ที่แม้จะมีเครื่องจักรมาแทนที่
ผลิตของออกมามากมายมากมีราวพิมพ์เดียวกัน
หากทว่า
คุณค่าของผ้าไทอันเอนกอนันต์
หาได้มีวันด้อยค่าลงก็หาไม่
กลับเพิ่มพูนทวีค่า 
เนื่องจากว่าคืองานงามมือที่มีหนึ่งเดียวในโลก..!


และ...
สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 
ทรงมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล 
ได้ทรงเป็นผู้สืบทอดและทรงนำ
มาแต่งกายในชุดไทยพระราชนิยม
ได้ทรงนำ ผ้าไหมไทยออกสู่สายตาชาวโลก 
จนกระทั่งทุกวันนี้ 
ใครใครก็รู้จักผ้าไหมไทย 
พระองค์ทรงเป็นผู้นำ
ในการแต่งกายชุดไหมไทยพระราชนิยม 
เริ่มตั้งแต่ในคราวตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป 
ทำให้ผ้าไหมเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วโลก 


ทิพย์ทอง...น้ำตาซึมในราตรี
ที่ผ่านมาและทุกคราคราว
ยามเมื่อเห็นภาพย้อนหลัง
*พระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์..*
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า
ที่ทรงพระราชดำเนินเคียงพระบาทกัน 
ออกไปทำสงครามกับความลำบากยากไร้ในแผ่นดิน
ด้วยหยาดพระเสโท มิรู้สิ้น 
ด้วยหยาดน้ำพระหฤทัยมิท้อแท้
ภาพที่
สมเด็จพระนางเจ้าทรงพระสิริโฉม บอบบางอ้อนแอ้น
ในเครื่องแต่งกายแบบไทยไทยเรียบง่าย
ที่ไม่ว่าจะย่างเยือนไปที่ไหน ทุกไทยทั่วหล้า
พระแม่ฟ้าก็จะฝากงามประทับใจ 
จนราษฎรได้เห็นจนชินตางามใจมาหลายทศวรรษแล้ว


ความงามล้ำเลอค่ากว่างาม ใดในปฐพี
เพราะ...
ทรงงามจิตงามชีวี
ที่ทรงรักความเป็นไทย
รักความปราณีต อันแสนละไมละเมียด 
ที่คนไทยผู้มีใจดวงอ่อนโยน
และ
มีศิลปะเท่านั้นจึงผลิตและฝากผลงาน
มากมีอมตะประณีตเอาไว้ให้โลกได้ประจักษ์


มิใช่จำเพาะเพียงงานผ้า
หากทว่า
ไปถึงงานจักถักทอสาน...
งานเครื่องถมเครื่องทอง
งานประดิษฐ์ร้อยมาลัยดอกไม้..ใบตอง
งานที่ต้องใช้ใจดวงพากเพียร
ใช้เวลาบ่มเพาะเรียน
และมาจากเนียนเนื้อนวลใจ
ที่ยังรักความละไมละเมียดวิจิตรบรรจง


*และที่
*สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ *
โปรด ฯให้ก่อตั้ง..*วิทยาลัยในวัง*
ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ 
ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นตามพระประสงค์ในปี พ.ศ.2529 
ที่ทรงเล็งเห็นว่า
งานฝีมืออันเป็นประณีตศิลป์
ของคนไทยส่วนใหญ่จะมีอยู่ในพระบรมมหาราชวังแทบทั้งสิ้น 
และ
นับวันมีแต่จะสูญสิ้นไปตามอายุขัยของผู้มีความรู้ความสามารถ 
หากไม่มีการสืบทอดอย่างถูกต้องต่อคนรุ่นหลัง 
ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป
ส่งให้การสืบทอดแบบเก่านั้นไม่สามารถกระทำได้ *


จึงโปรดให้ใช้บริเวณอาคารเรือนห้องเครื่อง 
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี 
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสถานที่เรียน 
ต่อมาจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทำให้สถานที่คับแคบ 
จึงโปรดฯ 
ให้ย้ายมาสู่สถานที่ใหม่ในปี พ.ศ.2532 
ยังอาคารพระตำหนักพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาฯ 
พระตำหนักแห่งนี้
จึงมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง และทรงความสำคัญยิ่ง 
ด้วยเป็นเสมือนหนึ่งสะพานเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน 
มิให้ขาดจากกันไปโดยสิ้นเชิง*
จากที่มา...
(http://www.homedd.com/HomeddWeb/homedd/home_magazine/frontweb/know_past_20.jsp)


เพราะ...
มาตรแม้นทุกวันนี้
จะมีเครื่องจักรมากมายมาผลิต
สนองความต้องการของการดำรงชีวิตของพลเมืองโลก
 
แต่เครื่องจักรก็คือเครื่องจักร
ที่มิได้ใช้ใจรักละมุนผลิต
ไม่ได้มีชีวิตที่จะผสานสอดใส่ ความวิจิตรอลังการ
ความงามมลังเมลืองแบบมีชีวิตชีวาได้
ต่อให้งามกว่างาม
ก็งามได้แค่เครื่องจักรทำ 
อันคือความด้านไร้สีสันแห่งชีวาชีวิต


ทิพย์ทอง...จึงฝังฝากดวงชีวาชีวี
รักงานงามศิลปอันเลอค่าในทางจิตวิญญาณ
ผ่านงานงามอันประณีตทุกสิ่งอัน
ไม่ว่างานประณีตศิลป์ใด...
ที่ใช้มือไทยทำ 
มือที่หมุนโลกอันแสนเร่าร้อนให้เย็นฉ่ำลง
ทิพย์ทอง
ได้แต่หวังธำรงรักษ์ 
และให้สาวไทยกุลสตรีไทยหันมารัก
เชิดชูรู้ค่าในงานอันละเมียดละมุนนี้


ทุกผ้าไทที่ทอสวย
ด้วยใจดวงงามดวงทองดวงผ่องผุด
ดวงที่ได้อาศัยอยู่ในในโลกบริสุทธิ์ใส
วิถีนาวิถีป่าไพรวิถี....
ที่ไม่ศิวิไลซ์
หากคือ..
วิถีแห่งธรรม วิถีที่ทำให้ใจแสนสงบสุข
หยุดทะยานอยาก
ฝากเพียงใจสวยใสฉ่ำเย็น
ยามเว้นงานนา 
ชีวีที่ได้อยู่เคียงกับข้าวกล้านาหอมข้าวใหม่


วิถีที่
ยังได้ยินบทเพลงลูกทุ่งสะท้อนสะท้านสะเทือนทุ่ง
ยาม
พร้อมใจกันหมายมุ่งร่วมลงแรงทั้งหว่านเกี่ยว
ให้ฝากใจดวงดายเดียวที่แสนจริงใจ
ให้
หวานแว่วแผ่วมากับฟ้ากว้างและลำประโดง
ที่ยังมีปลาชุกชุม โดดโผงรอกินเหยื่อ 
หรือให้สาวแก้มเรื่อนั่งเคียงตกปลา


มีตาลเดี่ยวเหว่ว้ายืนต้นรอปลอบประโลม
มีโสนเอนโอนเหลืองพราวริมบึงบัว
มีตะแบกนา
บานระรัวระริกพลิกม่วงพราวราวรออ้ายคืนกลับ
มีความรักแบบใสซื่อ ถือมั่นค่อยเป็นค่อยไป
มีความวาบหวามใจ
แบบรู้รักในขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งกุลสตรีไทย
ที่จักแหนหวงร่างใจไว้พลีมอบให้เพียงชายเดียว
อย่างรักเดียวใจเดียว..


ทิพย์ทอง...
จึงได้แต่หวังใจ
และ
ได้แต่ฝันไปในอากาศ
ที่จะวาดเวิ้งฝันปันพลี
ด้วยภาษารจนานี้
ให้..
ทุกคนดี ได้หันกลับมารักวิถีไทย
ประเพณีไทย การแต่งกายงามละไมละมุนแบบไทย


มีใจดวงนวลใส
รู้รักความประณีต
จากงานอันมาจากใจหอมกรุ่นพิสุทธิ์
ให้ไทยยังคงมิหยุดความเป็นไทย
ที่ไม่เหมือนใครในความมีเอกลักษณ์
อันคือ
งามยามแย้มยิ้มพริ้มพักตร์ด้วยรอยยิ้มไมตรีจิต
วัฒนธรรมและวิถีชีวิต
ที่จักไม่มีวันสูญสิ้นไปกับกระแสโลกย์ที่แสนวิโยคร้อน


ให้
ทุกดวงใจอรชร...เพียรรู้ค่า
และ
ช่วยกันอุดหนุนสินค้าไทย
ใช้ของไทย ไม่นิยมของนอก
และ..
หัดเป็นตัวของตัวเอง
ใช้ผ้าไทยบ้าง 
เพราะเดี่ยวนี้ทุกอย่างได้ดัดแปลงดีไซน์ให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว


และ
กลับเป็นสิ่งแสนแปลกเก๋เท่ห์ไม่หยอกหากเรา
ทำสิ่งแสนดีนี้
ที่มิใช่งามเพียงภายนอก หากยังงามแผก
และแปลกกว่าใคร น่าพิศมัยอย่างที่สุด
และ
ที่แสนพิเศษพิสุทธิ์
คือการได้อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
อันแสนล้ำค่าดั่งอัญมณี 
ฝากประดับหล้าประดับไทยไปตราบชั่ว..กัลปาวสานต์...!!!!!!!!
..................


http://www.thaipoem.com/forever/ipage/song4682.html
เทพธิดาผ้าซิ่น
ว่างจากงาน หว่านไถ
จะร้อยมาลัย ใบข้าว
ห้อยคอสาว จำ ปา
เจ้าเป็นเทพ-ธิดา ของบ้านนา บ้านทุ่ง
นุ่งผ้าถุง ไทย เดิม
หน้า สวย ด้วยแดด แรง
แก้ม แดง ไม่แต่งเติม
เจ้าไม่เคย เห่อเหิม เติมต่อ ดินสอพอง
ช่างขยันการเรือน มิแชเชือนหน้าที่
สิ่งที่ดี ที่ควร
เฝ้าถนอมออมอวล หอมหวลอวลลมทุ่ง
หนุ่มก็มุ่ง หมาย ปอง
ค่ำ ลง ก็เข้าเรือน
ฟังแม่เตือน ให้ไตร่ตรอง
หากมีชายหมายปอง ระวังเจอของ เหลือเดน
แม่ดอกบัวที่อยู่ในสระ
จะบานคอยพระ หรือบานคอยเณร
ถ้าบาน คอยพี่ ไว้พรุ่งนี้ ตอน เพล
คอยได้ไหมคนดี
พ่อเคยพูดหลายที คิดจะมีแม่บ้าน
เชื่อโบราณ ดี แล
หากเลือกวัว ดูหาง แม้นเลือกนางดูแม่
นั่นแหละแน่ เข้า ที
บ้าน เรือน สะอาดตา
พูด จา เสนาะดี
ตำน้ำพริกทุกที เสียงตำถี่ จนทุ่งสะเทือน
แม่ดอกบัวที่อยู่ในสระ
จะบานคอยพระ หรือบานคอยเณร
ถ้าบาน คอยพี่ ไว้พรุ่งนี้ ตอน เพล
คอยได้ไหมคนดี
พ่อเคยพูดหลายที คิดจะมีแม่บ้าน
เชื่อโบราณ ดี แล
หากเลือกวัว ดูหาง แม้นเลือกนางดูแม่
นั่นแหละแน่ เข้า ที
บ้าน เรือน สะอาดตา
พูด จา เสนาะดี
ตำน้ำพริกทุกที เสียงตำถี่ จนทุ่งสะเทือน.


http://www.thaipoem.com/forever/ipage/song314.html
บ้านเรา
บ้าน เรา แสน สุขใจ
แม้จะอยู่ ที่ไหน
ไม่สุขใจ เหมือนบ้านเรา
คำ ว่าไท ซึ้งใจ เพราะใช่ ทาสเขา
ด้วยพระบารมีล้นเกล้า
คุ้มเรา ร่มเย็น สุขสันต์
รุ่ง ทิพย์ ฟ้า ขลิบทอง
พริ้วแดดส่อง สดใส
งามจับใจ มิใช่ฝัน
ปวง สตรี สมเป็นศรีชาติ เฉิดฉัน
ดอก ไม้ชาติไทยยึดมั่น
หอมทุกวัน ระบือ ไกล
บุญ นำพา กลับมาถึงถิ่น
ทรุดกายลงจูบดิน ไม่ถวิลอายใคร
หัว ใจฉัน ใครรับฝาก เอาไว้
จาก กัน แสน ไกล ยังเก็บไว้ หรือเปล่า
เมฆ จ๋า ฉัน ว้า เหว่ ใจ
ขอวานหน่อยได้ไหม
ลอยล่องไป ยังบ้านเขา
จง หยุดพัก แล้วครวญรับฝาก กับสาว
ว่าฉันคืนมาบ้านเก่า
ขอยึดเอา ไว้เป็น เรือน ตาย...
				
comments powered by Disqus
  • พุด

    13 สิงหาคม 2548 14:44 น. - comment id 503363

    16.gif
    
    http://pr.ku.ac.th/pr_pic/html/06%20june%2047/pathai.htm
    http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_1/B_1/b_1.html
    
    เวบผ้าไทยค่ะ
    
    และ
    เวบ
    วิทยาลัยในวังค่ะ
    
    http://www.homedd.com/HomeddWeb/homedd/home_magazine/frontweb/know_past_20.jsp36.gif36.gifมีหลักฐานทางโบราณคดีเชื่อกันว่า 
    ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคโลหะเป็นต้นมา 
    มนุษย์รู้จักการทอผ้าใช้เอง 
    ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่ค้นพบตามแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ 
    เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง 
    อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 
    พบเศษผ้าจากป่านใบกัญชา ติดอยู่กับกำไลสำริด 
    โดยมีสนิมของทองแดงเป็นตัวยึด
    และป้องกันการเน่าเปื่อย 
    พบเครื่องมือในการทอผ้าหลายชนิด ได้แก่
    
    แวดินเผา ซึ่งเป็นดินเผารูปกรวยขนาดเล็กประมาณเท่าหัวแม่มือ
     มีรูสำหรับสอดแกนไม้เล็ก ๆ ตอนปลาย
    จะทำเป็นเงี่ยงหรือขอสำหรับสะกิดหรือ เกี่ยวปุยฝ้าย เพื่อสางลงมายังแวขณะที่หมุน 
    แรงถ่ายของแวจะปั่นปุยฝ้าย เป็นเส้นด้ายพั นอยู่โดยรอบ 
    แวจึงเป็นเครื่องปั่นด้ายยุคแรกของมนุษย์
    
    
    หินทุบเปลือกไม้ เป็นเครื่องมือสำหรับทำเส้นใย
    เพื่อใช้ทอผ้าหรือ ทำเส้น เ ชือก เส้นด้าย 
    มีลักษณะเป็นหินเนื้อละเอียดด้านหน้าตัดของหินคือ 
    ส่วนที่ใช้ทุบ มักบากเป็นร่องตาราง 
    ใช้สำหรับทุบเปลือกไม้ประเภทปอหรือป่าน
    เพื่อ ให้ได้เส้นใยขึ้นมาใช้ทอผ้า
    
    ลูกกลิ้งดินเผา 
    เป็นลูกกลิ้งเล็กขนาดเท่าหัวแม่มือ ยาวประมาณ 2 นิ้ว 
    ตัว ลูกกลิ้งมักขุดเป็นร่องเพื่อให้เกิดลวดลายขณะกลิ้ง 
    พิมพ์ลวดลายบนผืนผ้า 
    เพ ราะเชื่อว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ 
    รู้จักย้อมสีธรรมชาติใช้แล้ว 
    โดยใช้น้ำสีที่คั้นได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ดอก ผล ราก ใบ ฯลฯ
    การทอผ้าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
     มิได้มีเฉพาะการใช้เส้นใยจากพืชเท่า นั้น 
    หากแต่พบว่ามีการใช้ขนสัตว์ใ นเมโสโปเตเมีย
     และกลุ่มประเทศเมืองหนาว 
    ที่เก่าแก่ที่สุด พบในสแกนดิเนเวีย มีอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว
    
    สำหรับ ไหม (Silk) นั้น
    พบว่ามีการนำมาใช้ทอผ้ากันในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
    เฉพาะในบริเวณทวีปเอเซีย
    และในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในประเทศ ไทย
    ก่อนที่จีนจะนำมาทอเป็นผ้าไหมจนแพร่หลายไปทั่วโลก
    ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าคือ 
    หูก หรือกี่ทอผ้านั้น คงมีมาหลายพันปีแล้ว 
    เช่นเดียวกับเครื่องปั่นด้าย 
    หูกอาจมีหลายรูปแบบหลายชนิด
    ทั่งขนาดเล็กๆ ทอด้วยมือและขนาดใหญ่ 
    ที่ต้องตอกตรึงไว้กับพื้นมีโครงไม้ดอกติดไว้กับเสาเรือน
    แต่ไม่ปรากฏร่องรอยของหูกให้เห็น 
    เพราะหูกจะทำด้วยไม้ซึ่งเป็นอินทรีย์วัตถุจึงผุพังไปตามกาลเวลาเพียงชั่วเวลาไม่กี่ปี
    
    จากหลักฐานที่พบเศษผ้าที่เส้นใยของฝ้ายและไหม
    ตามกำไลสำริดสร้อยและเศษโลหะ
    ในแหล่งโบราณคดีก่อนประ วัติศาสตร์ในประเทศไทย 
    แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในไทยมีการทอผ้า 
    ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมขึ้นใช้แล้ว 
    และกระบวนการทอผ้านี้ได้พัฒนาสืบต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์
    
    สำหรับในภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดแพร่และน่าน
     ได้พบหลักฐานสำคัญที่แสดงถึง วิวัฒนาการทอผ้าหลายแห่ง ได้แก่
    1. ภาพเขียนแสดงลักษณะการแต่งกายของคนในยุคต่างๆ 
    ที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี 
    ในยุคต่อ ๆ มามี ภาพเขียนที่ ฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน 
    วัดเวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ วัดกลางธรรมสาคร จ.อุตรดิตถ์ 
    วัดราษฎร์บูรณะ จ.พิษณุโลก วัดอุโบสัตตราราม จ.อุทัยธานี เป็นต้น
    
    2. เศษผ้าและเครื่องมือในการทอผ้าโบราณ 
    พบเศษผ้าติดกับขันสำริด แวดินเผา และสำริด 
    ที่บริเวณชุมชนจันเสน 
    หลักฐานดังกล่าวเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑ์วัดจันเสน จังหวัดนครสวรรค์
    
    3. จากการขุดค้นป้อมประตูเมืองด้านทิศตะวันตกของเมืองเก่าสุโขทัย 
    พบเศษผ้า ติดอยู่ที่ขันสำริดขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 ซม. สูง 3 ซม.
    
    4. แหล่งโบราณคดีจังหวัดตากในแถบเทือกเขาถนนธงชัย-ตะนาวศรี 
    ระหว่าง ชายแดนไทยพม่า เขตติดต่อระหว่าง จังหวัดตาก - เชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน 
    พบเครื่อง ถ้วยชาม เศษผ้า และเชือกร้อยลูกปัด นอกจากนี้ยังพบผ้า 
    และเชือกติดอยู่กับเต้าปูนสำริด ผ้าและเชือกบางส่วนมีร่องรอยสีย้อม
    http://www.thaitextilemuseum.com/Thai/A_1/B_2/b_2.html
     
    ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 
    กลุ่มชนชาติไทยได้รวมตัวกันเป็นราชอาณาจักร
    ในอาณาบริเวณต่าง ๆ ของประเทศ ไทยปัจจุบัน อาณาจักรล้านนา อยู่ในบริเวณ
    ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน 
    มีการขาย ผ้าอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ทอใช้เอง
    และส่งเป็นสินค้าไปขายยังราชอาณาจักรใกล้เคียงเช่น 
    ผ้าสีจันทร์ขาว ผ้าสีจันทร์แดง ผ้าสีดอกจำปา ผ้ากัมพล 
    ผ้าสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เช่น จีวร ผ้าปูอาด ผ้ารัดปะคด 
    อาณาจักรสุโขทัย 
    ตั้งอยู่บริเวณตอนบนของภาคกลาง 
    มีการทอผ้าหลายชนิด เช่น ผ้าเบญจรงค์ ผ้าสกุลพัสตร์ ผ้าเล็กหลบ ผ้าหนง ผ้ากรอบ 
    เชื่อกันว่าผ้าที่ประชาชนทั่ว ไปใช้สอยนั้น
    ทอกันนอกเมืองสุโขทัย 
    ส่วนผ้าชิ้นในราชสำนัก 
    มีช่างหลวงเป็นผู้ทอและสั่งซื้อจากต่างประเทศอื่น เช่น ประเทศจีน
    อินเดีย และเปอร์เซีย
    สมัยกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง 
    มีการสั่งผ้าจากต่างประเทศเข้ามา ใช้ในราชสำนัก 
    และสั่งเข้ามาขายให้กับประชาชนมากกว่าสมัยสุโขทัย 
    เช่น ผ้าไหม ผ้าแพรจากจีน ผ้าพิมพ์จากอินเดีย 
    ผ้าปูมจากเขมร ผ้าคานินิส ผ้าลาตินสี ผ้าบิราเบล 
    ผ้า ทันตา ผ้าชูเคโตส จากยุโรป 
    
    นอกจากนี้ยังมีผ้าพิมพ์ลาย ผ้าปักไหม และปักดิ้น และพรหมจาก เปอร์เซีย 
    ผ้าเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของกษัตริย์และเจ้านายในราชสำนัก
    และใช้เป็นเครื่อง ตกแต่งราชสำนัก และอาคารบ้านเรือน
     ในสมัยอยุธยา เกิดแหล่งค้าผ้าและตลาดจำหน่ายวัสดุ อุปกรณ์
    ในการทอผ้าตามย่านต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยา
    เป็นศูนย์กลางการค้าผ้า เรียกได้ว่าเป็น ยุคทองของการค้าผ้า ทีเดียว
    
    นอกจากนี้ ผ้ายังมีบทบาทสำคัญหลายประการ 
    เช่น เสื้อผ้าที่ประชาชนสวมใส่
    จะบ่งบอกฐานะทางสังคมเป็นบรรณาการ ระหว่างประเทศ 
    เป็นเครื่องกำหนดตำแหน่งของผู้สวมใส่ 
    ผ้าบางชนิดใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง 
    บางชนิดใช้ เฉพาะขุนนาง เช่น ผ้าสมปักปูม สมปักล่อง จวน สมปักลาย สมปักริ้ว เป็นต้น 
    นอกจากนี้ผ้ายังใช้เป็นบำเหน็จรางวัลแก่ข้าราช บริพาร
     เป็นเครื่องปูนบำเหน็จต่างเงินเดือน เรียกว่า ผ้าหวัดรายปี 
    และผ้าในราชสำนักในลักษณะต่าง ๆ ได้รับทอดถึงกรุง
    รัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย
    สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
    การทอผ้าและซื้อขายผ้า เนื่องจากยุคนั้นยังมีศึกสงคราม 
    และอยู่ในช่วงการฟื้นฟูประเทศ 
    แต่มีหลักฐานปรากฏว่า ทางหัวเมืองทางใต้ 
    มีการ เกณฑ์ช่างทอผ้าจากไทรบุรี เข้ามาสอนคน
    พื้นเมืองที่สงขลา และนครศรีธรรมราช ทอผ้ายก จนมีชื่อ เสียงจนถึงปัจจุบัน
    
    ในสมัยราชกาลที่ 3 
    ปรากฏผ้าใช้ในราชการหลายชนิด
     เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าเตล็ด ผ้าเยียรบับ ผ้าสมนัก (ผ้าสองนักหรือถมปัก) 
    ใน ช่วง กรุงรัตนโกสินทร์นั้นปรากฏชื่อผ้าชนิดต่างๆ 
    ที่ประชาชนใช้ทั่วไป หลายชนิด 
    เชื่อว่ามีคุณภาพ สีสันลวดลาย อยู่ในเกณฑ์ด้อยกว่าตาม
    ฐานะ เช่น ผ้าตาบัวปอก ผ้าดอกสน ดอกเทียน ผ้าตาเล็ดงา ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาสมุก 
    สมัยรัชการที่ 4 ขุนนาง และข้าราชการสำนักสงฆ์ 
    เสื้อแพร และเสื้อกระบอกผ้าขาว แต่ธรรมเนียมการใช้ผ้าก็ยังมิได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
    สมัยรัชการที่ 5 
    มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ผ้า และธรรมเนียมการแต่งกายของ
    ชนบางราชการ ให้เลิกนุ่งผ้าปูม
     แต่ให้ใช้ผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่แทน 
    มีการพระราชทานเสื้อ ให้ตามยศ ตำแหน่ง 
    ซึ่งมักเป็นผ้าแพรสีต่าง ๆ 
    แบ่งตามกระทรวงกรมที่สังกัด 
    การแต่ง กายพัฒนาไปตามแบบยุโรปมากขึ้น 
    สำหรับสตรีนิยมแต่งกายแบบฝรั่ง
    เสื้อขาวแขนยาวชายเสื้อแค่เอว ห่มแพร สไบเฉียงผ่านอกเสื้อ 
    หรือบางทีห่มตาด สวมถุงน่อง รองเท้าบูต เป็นต้น 
    ในช่วงรัชการที่ 4-5 นี้ ผ้าพิมพ์ลายจากอินเดีย
    กลับมานิยมอีกครั้ง มีการส่งผ้าที่ ออกแบบลวดลาย
    แล้วไปให้อินเดียพิมพ์ลายเรียกว่าผ้าลายอย่าง 
    ต่อมาอินเดียพิมพ์ลาย ไม่เหมือนแบบที่ส่ง
    ไปเรียกว่า ผ้าลายนอกอย่าง 
    จากความนิยมนี้จึงมีการผลิตผ้าพิมพ์
    ลายขึ้นมาใช้เองในปี 2475 
    และเป็นต้นแบบการพิมพ์แบบสกรีน (Screen Printing) 
    มีการเปิดโรงงานผลิตผ้าพิมพ์ 
    ประชาชนจึงพัฒนาการนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบโบราณ
    มาเป็นโจงกระเบนผ้าลาย และนุ่งซิ่นหรือนุ่งผ้าลายไทย
     ในสมัยรัชกาลที่ 6
    การแต่งกายในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
    หรือยุควัตถุนิยม มีการแต่งกายโดย ใช้ผ้าจากต่างประเทศมากขึ้น 
    แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น
    
    รัชการที่ 8 การแต่งกายในราชสำนัก 
    เปลี่ยนแปลงจากการใช้ผ้าราคาสูง 
    ที่ต้องใส่ด้าย เส้นเงินทอง มาใช้ผ้าที่มีลักษณะเรียบง่าย และยังนิยมใช้ผ้าไหม
    รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี 
    ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 
    ทรงให้ความสนพระทัย ในกิจการทอผ้าพื้นเมือง 
    และทรง ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้มีการทอผ้าพื้นเมืองเป็นที่สวยงาม โ
    ดยทรงเป็นผู้นำในการใช้ผ้าพื้นเมืองฉลองพระองค์
    ทั้งในขณะที่ประทับ ในประเทศ และในวโรกาส 
    เสด็จเยือนต่างประเทศทำให้ผ้าพื้นเมืองของไทย
    ได้มี โอกาสอวดโฉมต่อสายตาของชาวโลก
    และสำหรับในประเทศก็ทำให้ความนิยมในผ้าไทย ทั้งไหมและฝ้าย
     กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก และกำลังเจริญเติบโตอย่างงดงาม 
     
    
    จากเหตุผลที่ว่า 
    ผ้ามิได้มีความหมายเฉพาะเป็นเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น 
    หากความสำคัญของผ้ายังบ่งบอกฐานะสังคม ยศ ตำแหน่ง ชาติพันธุ์ 
    วัฒนธรรมประเพณี ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย 
    ผ้าจึงสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทดังต่อไปนี้ 
    1. ผ้าที่ชาวบ้านทอขึ้นใช้เอง 
    2. ผ้าที่ใช้ในราชสำนัก
    3. ผ้าที่ใช้ในศาสนา
    
    ผ้าที่ชาวบ้านทอใช้เอง 
    โดยทั่วไปอาศัยความจำเป็นและความชำนาญเป็นหลักแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 2 ประเภท 
    1. ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรียกกันว่า
    ผ้าพื้นนั้นไม่มีความประณีตและสวยงามเท่าใดนัก
     แต่มีความทนทาน ทอขึ้นอย่างง่าย ๆ มีสีและลวดลายบ้าง เช่น 
    ผ้าพื้น ผ้าตาโถง ผ้าโสร่ง ผ้าแถบ ผ้าซิ่น และผ้าขาวม้า 
    ซึ่งชาวบ้านนิยมใช้ติดตัวมาตั้งแต่สมัยโบราณ 
    ปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ 44 แห่งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ.ศ. 1916) 
    2. ผ้าที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น ทำบุญ ฟ้อนรำ แต่ง งาน
    หรือเทศกาลต่าง ๆ ในสังคมไทย
     สมัยก่อนถือว่าการทอ ผ้า
    เป็นงานของผู้หญิง เพราะต้องใช้ความประณีต 
    และความ ละเอียดอ่อน 
    ใช้เวลานานกว่าจะทอผ้าชนิดนี้เสร็จแต่ละผืน 
    ผู้หญิงซึ่งในสมัยนั้นต้อง อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนอยู่แล้ว 
    จึงมีโอกาสทอผ้ามากกว่าผู้ชาย
     อีกประการหนึ่ง ค่า นิยมของสมัยนั้น
    ยกย่องผู้หญิงที่ทอผ้าเก่ง 
    เพราะเมื่อโต ผู้หญิงคนใดทอผ้าไม่เป็น หรือไม่เก่ง
    ก็จะถูกตำหนิ ชายหนุ่มไม่สนใจ
    เพราะถือว่าไม่มีคุณสมบัติที่ไปอวดประ ชันกันผ้าชนิดนี้
    จะทอขึ้นด้วยฝีมือประณีตเช่นเดียวกัน มีสีสัน 
    และลวดลายดอกดวง งดงามเป็นพิเศษผ้าบางผืน
    จะทอกันเป็นเวลาแรม ปี
    ด้วยใจรักและศรัทธา เช่น ผ้าลายจาก ผ้าตีนจก ผ้าตาด ผ้ายก และผ้าปูม เป็นต้น 
    
    ผ้าที่ใช้ในราชสำนัก สำหรับพระมหากษัตริย์ ชนชั้นสูง และขุนนาง
     เป็นผ้าที่มีความ ประณีต สวยงาม 
    ทอด้วยฝีมือช่างหลวง 
    หรือสั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น จีน, อินเดีย, เขมร, เปอร์เซีย ฯลฯ 
    ผ้าทอเหล่านี้เป็นเครื่องกำหนดยศ 
    กำหนดตำแหน่งของผู้สวมใส่ 
    ผ้าบางชนิด ใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง 
    ผ้าในราชสำนักบางส่วน มีการเปลี่ยนแปลง 
    ตามความนิยมและยุคสมัย 
    บางส่วนยังคงยึดถือแบบแผนดั้งเดิมตามโบราณราชประเพณีจน ถึงปัจจุบัน
    
    ผ้าที่ใช้ในศาสนา 
    
    ชนชาวไทยมีความ ศรัทธาในพุทธศาสนา 
    ตั้งแต่โบราณกาล ผ้า ที่ใช้ในศาสนาจึงมีมากมายหลายชนิด ดังนี้ 
    1. ผ้าที่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ เช่น สบง, จีวร, อังสะ, รัดปะคต
    2. ผ้าที่ใช้ในพิธีต่าง ๆ เช่น ผ้าในพิธีบวชให้นาคสวมใส่ ต้องเป็น 
    ผ้าใหม่สีขาว, หากเป็นทางภาคอีสาน
    อาจใช้เป็นผ้านุ่งหรือผ้าโสร่งก็ได้, ผ้า ปกหัวนาค, ผ้าอาสนะสงฆ์
    3. ผ้าอื่น ๆ เช่น ตุงหรือธง, ผ้าห่อคัมภีร์, ผ้าพระบฏ, ผ้าพระเวสส์ 	 
    
    36.gif36.gif
  • ไรไก่

    13 สิงหาคม 2548 15:10 น. - comment id 503371

    แวะมาอ่านได้สาระดีๆที่คุณพุดนำมาบอกเล่า
    ขอบคุณมากๆคะ
  • ๏ เม็ดทราย ๏

    13 สิงหาคม 2548 15:45 น. - comment id 503390

    
         นู๋เมย์แวะมาชมผ้าไหม..
             ..งามมากนะคะ ได้ความรู้ด้วยสิ
    
    11.gif11.gif
  • ท่องเมฆา

    13 สิงหาคม 2548 18:20 น. - comment id 503432

    36.gif
    ผ้าทอ ผ้าไท ไหมทอง
    งามผ่อง งามรับ กับผิว
    ทัดดอก พุดซ้อน สไบปลิว
    เอวกิ่ว สมงาม ตามนวล
    
    ผ้าสวย ตามแบบ พื้นบ้าน
    หญิงสวย งามแย้ม ยิ้มสรวล
    สืบสาน นานเนาว์ เราควร
    เย้ายวน เสน่ห์หา ผ้าไทย
    
    รังสรรค์ ผลงาน งามงด
    รินรด ด้วยใจ ผ่องใส
    งามยิ่ง จริงแท้ แพ้ใจ
    งามใด เท่างาม ความเป็นไทย
    
  • ลำน้ำน่าน

    13 สิงหาคม 2548 19:18 น. - comment id 503448

    ต้องยอมรับว่าเวลาอ่านงามงามของพุดพัดชาแล้วอยากจะจับปากการรจนางานในลักษณะเดียวกันนี้อย่างเต็มแก่
    
    หากแต่ว่า มิอาจเขียนร้อยแก้วได้งามเท่า จึงเพียรเก็บอารมณ์ความสุนทรีย์ไว้บ่มไว้ภายใน รอเวลาเหมาะสมแล้วกลั่นออกมาเป็นบทกวีในแบบที่ตนถนัด
    
    เพราะแรงบรรดาลใจอย่างยิ่งยวดในหลายๆ งานจึงได้เขียนบทกลอนมาแล้วนับไม่ถ้วน
  • สุญญะกาศ

    14 สิงหาคม 2548 01:06 น. - comment id 503514

    16.gif16.gif16.gif
    
        บางทีให้นึกถึงวิถีชีวิตของคนไทย ที่ต่างกับชาติอื่นตรงที่ \"มีศิลปะและความละเมียดละไมในตนเอง\" โดยไม่รู้ตัว
    
         หลายครั้งที่คนไทยชนะการประกวดเกี่ยวกับเรื่องศิลปะทั้งหลายเมื่อเทียบกับชาติอื่นนั้น เหมือนกับว่าถูกปลูกฝังมาแต่บรรพชน เหมือนซึมเข้าสายเลือดหรือยีน เลยทีเดียว
    
          โชคดีเหลือเกินที่มีผู้นำ ทำให้คนไทยเราได้สำนึกในจุดเด่นของตัวตนที่เหนือชาติอื่น
    
          คุณดอกพุดผู้ร้อยเรียงร้อยถ้อยความอันอ่อนหวานสวยงามพร้อมกับแทรกเนื้อหาสาระนี้ด้วย เป็นบุญนักขอรับ ^_^
    
    
           36.gif36.gif36.gif36.gif
  • rain..

    14 สิงหาคม 2548 07:49 น. - comment id 503534

    ..เรน..อรุณสวัสดิ์พี่พุดพัดชา.. นะคะ ..36.gif..
    
             เรนใส่ผ้าไหม..ที่มี้ตัดให้ ตอนถือป้ายโรงเรียน ..ใครๆก็ชมเรน ..  62.gif..
    
          กางเกงผ้าไหมสวย ..กับเสื้อแบบคอกลมสีชมพู .. เป็นชุดโปรด ..ที่เรนออกแบบเอง..
    
          กระโปรงสวย ..ของเรน..สีฟ้าก็เป็นผ้าไหม.. 
                 เพื่อนๆ ..  เก๊าะชอบ..
     แอบตัดเลียนแบบเรน.. ด้วยดิคะ ..  1.gif..
    
        เรนแค่..  อยากเล่า .. 62.gif
     เด็กวัยรุ่น .. เก๊าะใส่ผ้าไหมได้..
          เพียงแบบที่ตัด ..  อาจไม่คล้าย..  36.gif
    
       แต่..เก๊าะน่ารัก ..  อิอิอิ 69.gif..
    
       แว้ปป..
  • ราชิกา

    14 สิงหาคม 2548 14:57 น. - comment id 503651

    ได้ทั้งความรู้..และเนื้อหา..ที่เต็มเปี่ยม...ชื่นชมด้วยใจจริงค่ะ..41.gif41.gif41.gif
  • Completely ไม่ได้ล็อกอิน

    14 สิงหาคม 2548 17:32 น. - comment id 503688

    โอ้โห พี่พุด ได้ความรู้ดีเลยค่ะวันนี้ 
    
    เมื่อถึงวันสงกรานต์ โอเล่จะกลับบ้านที่เชียงใหม่ทุกๆปี 
    
    จะเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มๆสาวๆชาวเมืองแต่งชุดพื้นเมืองไปวัดในหมู่บ้านกัน
    
    ไม่รู้ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆต้องเป็นผ้าไทยแน่ๆค่ะ
    
    ลายวิจิตรแบบล้านนา ... และเสื้อม่อฮ่อมสีคราม เห็นทีไร รู้สึกอิ่มเอิบใจ และภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยเชื้อสายชาวล้านนาทุกที
    
    คิดถึงพี่พุดนะคะ
  • plaing_piu

    14 สิงหาคม 2548 21:05 น. - comment id 503740

    ชีวิตของผู้คนหลากหลายในปัจจุบันมีต้นธารวัฒนธรรมที่พึงย้อนไปค้นหา  ดัดแปลงตน จะถูกต้องและได้ความจริงมากกว่าตามแบบอย่างจากคนไม่รู้  สิ่งที่ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่จากต้นธารชีวิตที่แท้.....
    เพียงจากสิ่งที่เรียกว่าพาณิชย์ และการฉวยโอกาสของคนบางกลุ่มเท่านั้นเองซึ่งไม่มีปัญญารู้และเข้าถึงต้นธารที่ว่า แต่อาศัยความอ่อนแอของคน  ของระบบการเรียนรู้และการศึกษาที่ล้าหลังมาสร้างสิ่งที่เรียกว่าปัญญาไทย
    แท้จริงมีสิ่งซ่อนเร้น.........
    ชอบสิ่งที่คุณพุดเขียน  ค้นมาให้อ่านกัน บางเรื่องบอกถึงต้นธารเลย....
    
    คิดว่าคงมีคนร่วมสมัยสนใจและชอบสิ่งที่เขียนด้วย  มันคือภูมิปัญญาไทยที่วิจิตรตระการ  และสื่อศิลปะแห่งชีวิตถิ่น..น่าสนใจนะครับ29.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน