วิพากษ์ "คนกุลา" ว่าด้วย"สัมผัสเกิน"

คนกุลา

สัมผัสเกิน  เป็นคำสัมผัสที่เกินมาใน วรรค รับ และวรรค ส่ง เป็นคำสัมผัส
ที่อยู่คำที่ สี่ ของวรรค ซึ่งเป็นสัมผัส ในที่ไป สัมผัสกับคำที่สาม ของวรรค
ดังกล่าว ที่ต้องรับกับวรรค สดับ หรือ วรรค รอง อยู่แล้ว ท่านเรียก สัมผัส 
ชนิด นี้ ว่า "สัมผัสเกิน"
     วาสนา ดาวเรือง บอกว่า สัมผัสเกิน หมายถึง คำสัมผัสที่อยู่ติดกัน
    ไม่เคยคิดบิดเบือนว่าเพื่อนเบ่ง         ถึงเพื่อนเบ่งเคร่ง(๑)ครัดไม่ขัดขวาง
      จะคิดแปลกแหกออกไปนอกทาง       ใจก็วางอย่าง (๒)นั้นไม่ผันแปร
คำว่า"เบ่ง"จะสัมผัสกับคำว่า "เก่ง" แต่มีคำว่า"เคร่ง" อยู่ติดกัน ซึ่งเกินเข้า
มา คำ เคร่ง นี้ เป็นสัมผัสเกิน
          ส่วน Anna_Hawkins ที่อ้างถึง งานของ ช่อประยง บอกว่า สัมผัส
เกิน หมายถึงการใช้คำที่มีเสียงสระหรืออักษรอยู่ชิดกันในวรรค มีทั้งสัมผัส
เกินสระ และสัมผัสเกินอักษร แต่เกินอักษรไม่ถือว่าเป็นข้อห้าม และใช้กันทั่ว
ไป สัมผัสเกินสระนั้นก็ไม่ผิดแต่นักกลอนรุ่นหลังไม่ค่อยนิยมกันเพราะไม่
เพราะ 
ไม่เคยคิดบิดเบือนว่าเพื่อนเบ่ง ถึงเพื่อนเก่งเคร่งครัดไม่ขัดขวาง
จะคิดแปลกแหวกออกไปนอกทาง ใจก็วางอย่างนั้นไม่ผันแปร 
           อันนี้ท่านสุนทรภู่ใช้บ่อย ในหนังสือบอกถึงเหตุผลต่างๆนานาที่อ้างว่า
ใช้ได้ และเขาเองนั้นอ่านยังไงก็ไม่เห็นว่าสัมผัสเกินนี้มีปัญหาแต่ประการใด 
ซึ่งความเห็นนี้ ก็ตรง กับ ร้อยคำหอม และร้อยคำหอม ถือว่าสัมผัสชนิดนี้ยัง
พอให้อภัยได้เพราะอาจไม่เจตนาหรืออาจมีเจตนาเพื่อ ย้ำคำหน้าให้เด่น , 
ขยายความให้ชัด , เป็นกลุ่มคำคล้องจอง , เป็นคำสัมผัสที่แยกไม่ออก
 
           เท่าที่ผม ไปศึกษา ดูและ ทบทวนประสบการณ์ของตนเองแล้ว สัมผัส
เกิน นี้ มาจาก หลักการในการเขียนสัมผัสใน มักจะให้ คำที่ สาม สัมผัสกับ
คำที่ สี่    และ คำที่ ห้า สัมผัส กับ คำที่ เจ็ด โดยที่เป็นที่นิยมกัน หาก สัมผัส
ดังกล่าวนี้ อยู่ในวรรค สดับ (วรรค ที่ ๑ )และวรรค รอง (วรรค ที่ ๓ ) ก็จะถือ
ว่า เป็นสัมผัสตามแนวนิยม
            แต่หากไปใช้ หลัก สัมผัสนี้ ใน วรรค รับ (วรรค ที่ ๒ )และวรรค ส่ง 
(วรรค ที่ ๔ ) ก็จะกลายเป็น สัมผัสเกิน ไป ทั้งนี้เพราะ คำที่ สาม ของ วรรค 
รับและ วรรค ส่ง ต้องรับ สัมผัส กับวรรค สดับ และ วรรค รอง อยู่แล้ว 
            โดย ส่วนตัวผมเอง เขียน กลอน ที่ผ่านมาก็มีสัมผัสเกิน ทั้ง 
สัมผัสเกินอักษร และสัมผัสเกินสระ ค่อนข้างมาก จึงขอ ศึกษางานของคน
กุลา ว่าด้วยสัมผัส เกิน เพื่อการเรียนรู้  กันนะครับ หวังว่าคงไม่ว่ากัน ผมยก
กลอนเริงสายธาร ของคนกุลา มาเป็นกรณี ศึกษา เฉพาะสัมผัสสระ ที่เป็น
สัมผัสเกินนะครับ
            
                     เริงสายธาร
๐ แว่วคำวอนอ่อนหวานสายธารรัก
ใครนะถักทอร้อยสร้อยสายขวัญ
ปานรินธารน้ำใจส่งให้กัน
หวังคำมั่นควั่น (๑)เกลียวเกี่ยวเคียงปอง
๐  กล่าวเป็นนัยใบไม้กับสายน้ำ
ที่เน้นย้ำความหมายคลายหมางหมอง
โลมสายธารม่านรักถักไยทอง
หวังเพียงครองคู่ข้างไม่ห่างไกล
  ๐ ใบไม้ปลิวลิ่วคว้างลาร้างต้น
ร่อนล่วงหล่นลงผ่านธารน้ำไหล
สืบเรื่องราวเล่าขานตำนานไพร
สบัดใบลอยลมพรมนที
  ๐ ลำนำใจในธารรินสาส์นรัก
ชั้นเพิงพักผุดพรายร่ายวิถี
สายธารใดใครเอ่ยเผยวจี
ร้อยวลีกวี (๒)จารธารเว้าวอน
  ๐ กรองคำกล่าวเล่าเรื่องเมืองใบไม้
จากแดนไกลใน(๓)เขาเนาว์สิงขร
โรยลาร่างพร่างใบในวันจร
ลงออดอ้อนแอบว่ายสายน้ำวน
  ๐ ระเริงรำฉ่ำใบในสายน้ำ 
ล่องผุดดำร่ำ(๔)ระบายอาบสายฝน
ควะคว้างควงร่วงพริ้วปลิวเพียงยล
เหมือนต้องมนต์ใบไม้ร่ายระบำ
  ๐ ใบไม้เรียมเทียมหมายคล้ายคู่ชื่น
มิเป็นอื่นแอบหวามรักงามขำ
จะถนอมนวลนางอย่างเคยทำ
ด้วยภักดิ์ย้ำเยี่ยงใบไม้เริงสายธาร..ฯ
  ๐ แว่วคำวอนร่อนร่ายสายธารรัก
ใครนะถักทอย้ำคำแสนหวาน
พากษ์ไพเราะเสนาะเสียงสำเนียงกานท์
เห่ขับขานกล่อมหทัยให้อุ่นอิง..ฯ
...... 
คนกุลา
ในวสันต์
            วิพากษ์ คนกุลา ในบท เริงสายธาร  ว่าด้วยสัมผัสเกิน ก็จะพบ สัมผัส
เกินสระถึง ๔ ที่ 
              ส่วนตัวผมมองว่าการเขียน สัมผัสเกิน นั้นทำให้ กลอน พลิ้วไหว 
สวยงามมากขึ้น แต่มีข้อเสีย อยู่ สองสามอย่าง คือ
               ๑.	เกิดอาการ ที่ กวี ต้องเร่ไปหาสัมผัส แทนที่ สัมผัส จะมา
หากวี ซึ่งเป็นข้อแนะนำของครูบาอาจารย์ ท่านว่าไว้ เพราะว่าหลายครั้งสัมผัส
เกินเหล่านี้ มาในตอนเกลากลอน ที่พยายามหาคำสัมผัสสระมาเปลี่ยนจากคำ
ในร่าง ซึ่งคำเดิมในร่างบทกลอนตอนแรก อาจจะตรงใจผู้เขียนมากกว่าคำ
สัมผัสเกิน ที่ปรับตอนหลังเสียอีก คือ คำ ในร่างแรก เป็นการที่ สัมผัส เดินมา
หาผมโดยตรง
                ๒.	 หลายครั้งที่ การคำนึงถึงสัมผัสเกินเหล่านี้มากไป อาจทำให้
กลอนถูกจำกัด พลังแห่งจินตนาการของผู้ประพันธ์มากจนเกินไป เป็นเหตุให้
กลอนขาดพลังในการถ่ายทอดเนื้อหาความคิดที่ต้องการออกไป แต่หากกวี
ท่านใดสามารถทำได้และรักษาพลังจินตนาการไว้ได้ ก็น่าจะใช้สัมผัสเกินได้
                 ๓.	ประเด็นนี้ไม่สำคัญนัก แต่เป็นปัญหาของคนกุลาเอง คือ เสีย
เวลามากขึ้นในการขัดเกลากลอน หากทำไปแล้วเกิดผลดี ก็ควรทำ แต่หาก
ทำแล้วทำให้พลังจินตนาการกลับลดลง ก็เห็นว่าคงต้องกลับไปทบทวนตนเอง
ให้มากขึ้น 
                 ที่วิพากษ์ นี้เป็นประสบการณ์ของคนกุลาเองนะครับ ท่านอื่นอาจ
จะไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวนี้ และหากท่านใด มีความเห็น อย่างไร ผมก็ยินดี 
รับฟัง นะครับ
             ปล. ที่ ท่านพี่ แก้วประเสริฐ ติงผมเรื่อง สัมผัสซ้อน นั้น อันที่จริง
แล้ว น่าจะเป็นสัมผัสเกิน นี้ นะครับ ก็ต้องขอขอบคุณ ท่านพี่แก้วฯไว้อีกครั้งนะครับ           
คนกุลา
ในเหมันต์				
comments powered by Disqus
  • ราชิกา

    25 พฤศจิกายน 2552 18:01 น. - comment id 26215

    แวะมาเยี่ยมค่ะ..ได้ทั้งความรู้..และความชัดเจนมากขึ้น..ซึ่งก็คงจะนำไปปรับปรุงในงานกลอน..ของตัวเอง..ให้ดียิ่งขึ้นค่ะ...
    
    การได้ทบทวน..เช่นนี้บ่อยๆ..จะทำให้เราสร้างผลงานที่ดีต่อไป...ขอบคุณมากค่ะ..ที่กรุณา..ค้นคว้าข้อมูล.เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
    
    อากาศเริ่มหนาวแล้ว...อย่าลืมดูแลสุขภาพนะคะ..
    
    36.gif16.gif36.gif
  • คนกุลา

    25 พฤศจิกายน 2552 18:56 น. - comment id 26221

    ดี ครับ คุณ ตุ้ม ผมเองก็พยายาม ใช้เวลานี้
    หาความรู้เพิ่มเติม ก่อนที่จะเริ่มเขียนงานต่อไป
    
    จะได้ปรับปรุงงาน ให้ดียิ่งขึ้น นะครับ  ค้นคว้าไป ก็ทำให้เรารู้สึกว่า มีอีกหลายสิ่ง หลายอย่าง
    ในเรื่องกลอน ที่เรายังรู้ไม่จริง ครับ
    
    คุณ ตุ้มเองก็รักษาสุขภาพ ให้ดีนะครับ เป็นห่วงครับ
    
    36.gif1.gif16.gif36.gif
    
    แสนคำนึง
  • นายสัมผัส

    2 ธันวาคม 2552 23:23 น. - comment id 26302

    "สัมผัสเกิน" กับ "สัมผัสใน" (สัมผัสสระ) ต่างกันยังไงครับ
  • กวีน้อยเจ้าสำราญครับ

    3 ธันวาคม 2552 11:52 น. - comment id 26307

    คงต้องอ่าน อีกเที่ยวล่ะครับ
    
    งานเหล่านี้ ผมจะเก็บไว้ใน รายการโปรด
    
    เพราะให้ความรู้ในการแต่งเป็นอย่างมาก-ที่สุด
    
    ผมเองก็ชอบใช้คำสัมผัสเกิน เพราะคิดเสมอว่า นี่คือความไพเราะและการใช้คำ หรือลูกเล่นชนิดหนึ่ง  แต่ก็ต้องระมัดระวังต่อไปล่ะครับ เพื่อจะไม่ให้ผิดระเบียบ ในเมื่อระเบียบมี เช่นนั้น
    
    ขอขอบคุณเช่นกันครับ ที่อุส่าห์ เสาะหาแหล่งความรุ้ มาให้อ่าน ไม่ใช่ประโยชน์เพียงแค่ตนเอง แต่นำประโยชน์สู่คนอื่นๆ ด้วย
    
    ด้วยเคาพรัก ท่านอาจารย์ คุณน้าคนกุลา ที่กรุณาต่อผมเรื่อยมา...
    
    29.gif29.gif29.gif
  • คนกุลา

    3 ธันวาคม 2552 21:29 น. - comment id 26312

    ความคิดเห็นที่ 3 : 
    "สัมผัสเกิน" กับ "สัมผัสใน" (สัมผัสสระ) ต่างกันยังไงครับ 
    นายสัมผัส 
    
    """""""""""""""""""""""
    สัมผัสเกิน เป็น สัมผัสในชนิดหนึ่ง ครับ
    
    และโดยปกติ สัมผัสใน ไม่ได้มีการบังคับในเชิง
    ฉันทลักษณ์ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่หากมีก็จะ
    ทำให้กลอนไพเราะขึ้น
    
    โดยความนิยม สัมผัสใน มักจะนิยม กัน สองแนว ครับ 
    
    คือ คำที่  3 สัมผัสกับคำที่ 4 และคำที่ 5 สัมผัสกับ คำที่ 7
    
    1 2 (3) (4) ((5)) 6 ((7)) 8 เช่น
    
    แว่วคำ(วอน)(อ่อน)((หวาน))สาย((ธาร))รัก
    
    กับแนวนิยมแบบที่ 2 คือ
    คำที่ 3  สัมผัส กับ คำที่ 4 ส่วนอีกคู่ เป็นคำที่ 5 สัมผัสกับคำที่ 6 ต่อไปเลย 
    
    1 2 (3) (4) ((5)) ((6)) 7 8 เช่น
    
    ควันไฟ(ลอย)(อ้อย)((อิ่ง))((ทิ้ง))ทิวไม้  เป็นภาพไหวอยู่((หว่าง))((กลาง))ความเหงา
    ฟ้าสี(จืด)(ชืด)((หม่น))((ปน))ทึมเทา ทาบทิวเขาครึ้ม((เขียว))ดู((เดียว))ดาย (สัมผัส แบบแรก)
    
    จากกลอน กลับบ้าน ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
    
    คราวนี้ การสัมผัสใน คู่ระหว่างคำที่ 3 กับคำที่ 4 ในวรรค สดับ (วรรค ที่ 1) กับวรรค รอง (วรรค ที่ 3 ) ถือว่าเป็นสัมผัสในที่เป็นที่นิยม
    
    แต่หากไปวางสัมผัสคู่นี้ (สัมผัสสระ) ในวรรค รับ (วรรค ที่ 2 ) หรือวรรคส่ง (วรรคที่ 4) ถือว่าเป็นสัมผัสเกิน
    
    หลายสำนักท่านว่า เพราะคำที่ 3 ของวรรคดังกล่าว ต้องไปรับกับสัมผัสนอกอยู่แล้ว การมีสัมผัสมาต่อคำอีก ทำให้มีสัมผัสเกินมา อาจจะทำให้ไม่ไพเราะ 
    
    ต้องย้ำว่า สัมผัสเกิน ไม่ผิดฉันทลักษณ์ แต่อย่างใด สำหรับผม บางครั้งเห็นว่า สัมผัสเกินทำให้กลอนไพเราะเสียอีก แต่มีข้อเสีย สำหรับ
    ผม (ขอย้ำว่า สำหรับ ผมเท่านั้น) อยู่สอง สาม ข้อ ดังกล่าวแล้ว ครับ
    
    1.gif
  • คนกุลา

    3 ธันวาคม 2552 21:32 น. - comment id 26313

    ด้วยความยินดี ครับกวีน้อยฯ 
    
    ต้องยก ความดี ให้กวีน้อยฯ เสียละมั๊ง ที่มายกผมเป็นอาจารย์ เลยเพื่อไม่ให้ลูกศิษย์เสียชื่อ เลย
    ต้องไปค้นคว้ามาให้อ่าน ขยายความจากเคยที่
    แนะนำกวีน้อยฯไปบ้างแล้ว นะครับ 
    
    1.gif16.gif
  • สมุทร

    13 มีนาคม 2554 08:52 น. - comment id 33146

    เสิร์ชมาเจอโดยบังเอิญ ขออนุญาต ถือวิสาสะนำไปอ้างอิงที่ http://www.thaiwriter.net/forum01/index.php?topic=6174.msg114324#msg114324 นะครับ
    
    ขอบคุณครับ36.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน