"เมื่อผมอยากเรียนแต่งโคลง....ครับ"

คนกุลา

การประพันธ์โคลงสี่สุภาพ
	การประพันธ์โคลงสี่สุภาพเป็นประณีตศิลป์ 
ที่ใช้ถ้อยคำตัวอักษรเป็นสื่อแสดงความคิดของผู้สรรค์สร้าง 
ซึ่งต้องการสะท้อนอารมณ์สะเทือนใจและก่อให้ผู้อ่านคล้อย
ตามไปด้วย ผู้อ่านต้องรับรู้ความงามด้วยใจโดยตรง ดังนั้น
ผู้สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์จึงต้องช่างสังเกต รู้จักพินิจพิจารณา
มองเห็นจุดที่คนอื่นมองข้ามหรือคาดไม่ถึง และใช้ถ้อยคำที่
ละเมียดละไม ผลงานนั้นจึงจะทรงคุณค่า
	โคลงสี่สุภาพเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง
ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปรากฏในวรรณคดีไทยมานานแล้ว วรรณคดีไทย
ฉบับที่เก่าและมีชื่อเสียงมากฉบับหนึ่งคือ "ลิลิตพระลอ" มีโคลง
สี่สุภาพบทหนึ่งถูกยกมาเป็นบทต้นแบบที่แต่งได้ถูกต้องตามลักษณะ
บังคับของโคลงสี่สุภาพ คือนอกจากจะมีบังคับสัมผัสตามที่ต่าง ๆ
แล้ว ยังบังคับให้มีวรรณยุกต์เอกโทในบางตำแหน่งด้วย กล่าวคือ 
มีเอก 7 แห่ง และโท 4 แห่ง เรียกว่า เอกเจ็ดโทสี่
     ตัวอย่างคำประพันธ์ที่นิยมท่องเป็นต้นแบบเพื่อง่ายต่อการจดจำแผนผัง
    ๐ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง        อันใด พี่เอย  
เสียงย่อมยอยศใคร                ทั่วหล้า 
สองเขือพี่หลับใหล                 ลืมตื่น ฤๅพี่  
สองพี่คิดเองอ้า                      อย่าได้ถามเผือ 
                          
                             จาก ลิลิตพระลอ 
ฉันทลักษณ์ 
             ซึ่งเป็นลักษณะบังคับสำหรับการแต่งโคลงสี่สุภาพมี ดังนี้    
        
             ๑. คณะ    
        
               คือข้อบังคับเกี่ยวกับจำนวนบท จำนวนบาทจำนวนวรรค 
และ จำนวนคำ ของ โคลงสี่สุภาพ คณะของโคลงสี่สุภาพ คือ บทหนึ่ง 
มี 4 บาท (เขียนเป็น 4 บรรทัด) 1 บาทแบ่งออกเป็น  2 วรรค 
โดยวรรคแรกกำหนดจำนวนคำไว้ 5 คำ ส่วนวรรคหลัง ในบาทที่ 1,2
และ 3 จะมี 2 คำ (ในบาทที่ 1 และ 3 อาจเพิ่มสร้อยได้อีกแห่งละ
2 คำ) ส่วนบาทที่ 4 วรรคที่ 2 จะมี 4 คำ รวมทั้งบท มี 30 คำ 
และเมื่อรวมสร้อยทั้งหมดอาจเพิ่มเป็น 34 คำ 
               ส่วนที่บังคับ เอก โท (เอก 7 โท 4) ดังนี้
บาทที่ 1 (บาทเอก) วรรคแรก คำที่ 4 เอก และคำที่ 5 โท
บาทที่ 2 (บาทโท) วรรคแรก คำที่ 2 เอก วรรคหลัง 
              คำแรก เอก คำที่ 2 โท
บาทที่ 3 (บาทตรี) วรรคแรก คำที่ 3 เอก วรรคหลัง 
               คำที่ 2 เอก
บาทที่ 4 (บาทจัตวา) วรรคแรก คำที่ 2 เอก คำที่ 5 โท วรรคหลัง 
               คำแรก เอก คำที่ 2 โท
  
            ๒.คำ หรือ พยางค์    
       
                หมายถึงพยางค์คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งคือจำนวนคำของ
โคลงในแต่ละวรรค ที่มีข้อกำหนดไว้แล้วว่า ในแต่ละวรรคนั้นนั้น กำหนด
ให้แต่ละวรรคมีกี่คำ  ในด้านฉันทลักษณ์แท้จริงแล้วหมายถึงคำหรือพยางค์  
แต่ในบางกรณีอาจเป็นเพียงเสียงของคำ  เพียงหนึ่งเสียงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
การออกเสียงและจังหวะของเสียงในคำประพันธ์นั้น ๆ 
    เช่น 
	วัดหงส์เหมราชร้าง......รังถวาย    
        
                  คำว่า "เหมราช" ในโคลงจากข้อความข้างต้น ให้นับว่าเป็น
"สองพยางค์" แทนที่จะเป็น "สามพยางค์"ก็จะทำให้วรรคหน้าใน
โคลงสี่สุภาพ มีจำนวน พยางค์เป็น ๕ เท่ากับข้อบังคับ การนับพยางค์ในการ
แต่งโคงจึงต้องดู คณะ และเสียงจังหวะของคำว่าควรจะลงตัวอย่างไรจึงจะได้ความไพเราะ   ซึ่ง
ต่างกับการแต่ง "ฉันท์" ที่พยางค์ในฉันท์จะหมายถึงหนึ่งเสียงที่
เปล่งออกมาเนื่องจาก  "ฉันท์" มีข้อกำหนดที่เคร่งครัดในเรื่อง ครุ-ลหุ 
ของเสียงแต่ละเสียง   
      
หนังสือจินดามณี ของ พระโหราธิบดี อธิบายการประพันธ์โคลงสี่สุภาพไว้ว่า
     ๐ สิบเก้าเสาวภาพแก้ว      กรองสนธิ์ 
จันทรมณฑล                        สี่ถ้วน 
พระสุริยะเสด็จดล                  เจ็ดแห่ง 
แสดงว่าพระโคลงล้วน            เศษสร้อยมีสอง 
เสาวภาพ หรือ สุภาพ หมายถึงคำที่มิได้กำหนดรูปวรรณยุกต์ ทั้ง เอก โท ตรี 
และจัตวา (ส่วนคำที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับเรียกว่า พิภาษ)
จันทรมณฑล หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท 4 แห่ง
พระสุริยะ หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก 7 แห่ง
รวมคำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอกและโท 11 คำ หรือ อักษร
โคลงสุภาพบทหนึ่งมี 30 คำ (ไม่รวมสร้อย)
คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก อาจใช้คำตายแทนได้
คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท แทนด้วยคำอื่นไม่ได้ ต้องใช้รูปโทเท่านั้น
คำที่ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ หรือคำสุภาพมี 19 คำ มีหรือไม่มี
รูปวรรณยุกต์ก็ไม่ถือว่าผิดในชุด 19 คำแม้ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ 
ในท้ายวรรคทุกวรรคต้องไม่มีรูปวรรณยุกต์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้
น้ำหนักของโคลงเสียไป ได้แก่คำที่กากบาทในแผนผังข้างล่าง
           ๓. แผนผังของโคลง สามารถเขียนได้หลายรูปแบบ ซึ่งผมขอนำมา
เขียนไว้สองแบบ ดังนี้
แบบที่  ๑ ซึ่งอาจเขียนออกมาได้ดังนี้
๐ ๐ ๐ เอก โท  ๐ X (๐ ๐) 
๐ เอก ๐ ๐ X  เอก โท 
๐ ๐ เอก ๐ X  ๐ เอก (๐ ๐) 
๐ เอก ๐ ๐ โท  เอก โท ๐ X
หรืออาจเขียนได้อีกแบบผังนี้ ครับ
๏ กากากาก่าก้า         กากา(ส) กากา 
กาก่ากากากา(ส)  ก่าก้า(ท)
กากาก่ากากา(ส)  กาก่า กากา
กาก่ากากาก้า(ท)  ก่าก้ากากาฯ
๏ กากากาก่าก้า          กากา(ส) กากา 
กาก่ากากากา(ส)  ก่าก้า(ท)
กากาก่ากากา(ส)  กาก่า กากา
กาก่ากากาก้า(ท)  ก่าก้ากากาฯ
 
( ส) คือ  คำสัมผัส ซึ่งเป็นเสียงสามัญ
ส่วน (ท) คือ คำสัมผัส คู่โท
ซึ่งทั้งสองแผนผัง นี้ก็คือ อย่างเดียว กัน แล้วแต่ใครจะดูแบบไหนถนัด 
และเข้าใจได้ง่ายกว่า ก็เชิญ นะครับ 
โคลงสี่สุภาพที่มีรูปวรรณยุกต์ตรงตามบังคับนั้นมีตัวอย่างอยู่หลายเรื่อง 
เช่น ลิลิตพระลอ โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศพระประธม เป็นต้น 
ตัวอย่างจากหนังสือจินดามณี พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ว่าดังนี้
  ๐ นิพนธ์กลกล่าวไว้      เป็นฉบับ 
พึงเพ่งตามบังคับ            ถี่ถ้วน 
เอกโทท่านลำดับ             โดยที่ สถิตนา 
ทุกทั่วลักษณะล้วน           เล่ห์นี้คือโคลง
คราวนี้ขอแค่นี้ ก่อน นะครับ คราวต่อไป จะมาต่อเรื่องการสัมผัส และสร้อย โคลงต่อไป 
คนกุลา  (เรียบเรียง)
ในเหมันต์ 
ขอบคุณที่มา : 
http://www.st.ac.th/thaidepart/poemt2.php#chan6 
http://www.st.ac.th/bhatips/klong.htm
http://th.wikipedia.org/wiki				
comments powered by Disqus
  • สุรศรี

    11 ธันวาคม 2552 11:12 น. - comment id 26396

    คุณคนกุลา
    ผมชื่นชมในตัวคุณนะ
    ในการที่จะนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์
    ต่อเพื่อน ๆ เรา ใครไม่รู้จะได้รู้
    ใครรู้แล้วจะได้รู้เพิ่มอีกจะได้ไม่ลืม
    จงทำต่อไปครับ
  • ราชิกา

    11 ธันวาคม 2552 18:52 น. - comment id 26398

    ..เป็นการทบทวนการเขียนโคลงสี่สุภาพค่ะ...ราชิกา..เคยเรียนมานานแล้ว..วันนี้มีโอกาสได้กลับมาทบทวนอีกครั้ง...ขอบคุณมากค่ะ..ที่นำสิ่งที่มีประโยชน์มาให้...41.gif
    
    อย่าลืมดูแลสุขภาพนะคะ..
    36.gif16.gif36.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน