**วรรณกรรม...สนทนา..!!**

คนกุลา

ผมเคยแลกเปลี่ยน กับบรรดาท่านนักกลอนในบ้านกลอนไทย ว่า ผู้ที่
สนใจกลอนในบ้านกลอน และเว็บอื่นๆ จากที่ผมสังเกตุอาจจะจำแนก 
ออกได้เป็น สี่กลุ่มตามบทกลอนที่ผมเขียนไว้ หลายเดือนก่อน ดังนี้
๐ คนรักกลอนตอนนี้มีหลายแบบ
บ้างมาแอบตามอ่านงานสร้างสรรค์
อ่านทุกบทพจนาสารพัน
เพื่อปลอบฝันวันเหงาใต้เงาใจ
  ๐ บ้างก็มีที่เม้นท์เห็นอยู่บ้าง
มิอำพรางตอบถ้อยคอยอาศัย
อ่านจบบทรจน์ชอบก็ตอบไป
ไม่คิดไกลเขียนเฟื่องเป็นเรื่องราว
  ๐ มีบางพวกเฝ้าเขียนวนเวียนหวัง
เพื่อประทังใจตนวันหม่นหนาว
หรืออยากร่ายหมายบ่งบอกเรื่องราว
ระยะยาวมิไช่หวังได้ดี
  ๐ มีเพียงน้อยคอยหวังตั้งใจหมาย
หวังผลร่ายกลอนกลบนวิถ๊
เฝ้าฝึกเพียรเรียนหวังดังกวี
มุ่งชีวีตั้งใจในกาพย์กลอน
  ๐ คนสี่กลุ่มทุ่มใจในโคลงฉันท์
สารพันกวีท่านมีสอน
และน้ำใจใสเรื่อเอื้ออาทร
ใช้บทกลอนกล่อมใจไม่เท่ากัน
ซึ่งพอสรุปเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้
1.ผู้อ่านกลอน อย่างเดียว
2.ผู้อ่านและวิจารณ์กลอนออกมาเป็นบทร้อยกรอง ตามอารมณ์
     ที่ตนสนใจ หลังจากที่อ่านบทกลอนจบลง
3.นักกลอนที่แต่งกลอนเพื่อตอบสนองต่อ อารมณ์และความสนใจของ   
   ตน
4.ผู้ที่สนใจจะเอาดีทางกลอน หมายถึงผู้ที่พยายามพัฒนาตนเองไปสู่     
    การเป็นกวี
ภายหลังผมได้ไปลองค้นคว้า ในเรื่องนี้ว่าผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่าไว้อย่างไรบ้าง
มีบางท่านบอกว่า นักกลอนและกวี นั้นมีอยู่ 3 ระดับ 
1.นักกลอนมือใหม่ คือ ผู้ที่แต่งได้ หมายถึงแต่งได้นะ ไม่ใช่แต่งเป็น    
  เขียนกลอนเพื่อรับใช้ตัวเอง สนองอารมณ์ของตัวเองเท่านั้น 
2.นักกลอน สูงขึ้นมาอีกหน่อย คือพวกที่เขียนกลอนเป็น มองโลก     
    กว้างขึ้นนิดหนึ่ง แต่ก็ยังคงเขียนกลอนรับใช้ตัวเองอยู่ รับใช้มุมมอง     
    ที่ตนเองสนใจ ตนเองคิด 
3.กวี เขียนกลอนเป็น เขียนด้วยความเข้าใจความเป็นไปของโลก         
   รับใช้ความจริง สะท้อนชีวิต กวีนี่คงจะเป็นขั้นสุดยอดของนักกลอน      
    อีกทีหนึ่ง มั๊งครับ
ขณะที่บางท่านบอกว่า  
นักกลอน หมายถึง ผู้ที่อยากเขียน ผู้อยากแต่ง  ผู้อยากบอก เรื่องโน่น
เรื่องนี้ ตามที่ตนเองได้เห็น ได้พบ เกิดความประทับใจและอยากเขียน
บอกผู้อ่าน ดังนั้นในความหมายนี้ นักกลอนคือ คนที่แต่งกลอนออกมา
ให้มันดูเป็นกลอน ได้ถูกฉันทลักษณ์และสละสลวย ลีลาภาษาไพเราะ
เสนาะหู  แต่ไม่เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกเมื่อยามอ่าน  คือยังขาดจิต
วิญญาน ขาดความเข้าใจในเรื่องนั้นโดยถ่องแท้ เมื่อคิดว่าเราแต่งกลอน
ได้ แต่งกลอนเป็น แต่งกลอนได้เพราะ แล้วก็เลยขยันแต่งบทกลอนออก
มาเสียมากมาย คนที่เป็นนักกลอน มักจะไม่ได้คำนึงถึงอารมณ์ ภาพ 
และความรู้สึกที่แท้จริงของบทกลอนนั้นเท่าที่ควร  ทำให้การสื่ออารมณ์
และความรู้สึกถึงผู้รับสารขาดความสมบูรณ์ไปอย่างน่าเสียดาย   
ส่วน นักกวี นั้นท่านนี้ว่า หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และสามารถสื่อ
สารสิ่งเหล่านั้นออกมาให้ผู้อ่าน สัมผัสได้ ดังนั้นคนที่จะเป็นกวีได้  ต้อง
เป็นผู้ที่สามารถสื่ออารมณ์จากบทกลอนให้เร้าความรู้สึกของผู้อ่านจน
คล้อยตาม  และมองเห็นภาพ ได้อารมณ์ความรู้สึก ให้มากที่สุด   จนผู้
อ่านสามารถร้องไห้ เมื่ออ่านกลอนเศร้าๆ  หัวเราะ หรือ ยิ้ม ไปกับบท
กลอนสนุกๆ ตลกขบขัน, เคลิบเคลิ้ม จนกระทั่งแอบ ฝันหวาน เมื่อได้
อ่านกลอนรักและโรแมนติค เป็นต้น
   
ท่านยังยกตัวอย่าง เช่นหากใครเคยอ่านงานกวีจีนที่เป็นงานแปล เช่น
งานกวีจีนของหลี่ไป๋ งานท่านฮั่นซาน งานเหล่านี้พอถูกถ่ายทอดเป็น
ต่างภาษาหรือแม้แต่ในภาษาจีนที่ต่างสำเนียง ก็จะเสียรูปแบบของ
สัมผัสและฉันทลักษณ์บางส่วนหรือทั้งหมด แต่งานเหล่านี้เราก็สัมผัสได้
ถึงภาพ ความรู้สึก และตัวตนของกวีในงานก็ยังชัดมากๆ(ซึ่งอันนี้ก็ขึ้น
กับประสบการณ์ผู้อ่านงานและผู้แปลด้วย)
งานบางอย่างไม่ได้เขียนเป็นกลอนฉันทลักษณ์ หากเขียนเป็นร้อยแก้ว
แต่ก็เรียกว่าบทกวี เช่นงานของ คาริล ยิบราน เป็นงานกวีร้อยแก้วที่
ไพเราะมากๆ 
คาริล ยิบรานเอง ท่านเคยกล่าวว่า กวีคือผู้ย่างก้าวระหว่างโลกแห่งจิต
วิญญาณและโลกความจริง  ซึ่งโลกแห่งจิตวิญญาณของท่านอาจหมายถึง 
นามธรรมความรู้สึกอันละเอียดอ่อน ซึ่งกวีมีความสามารถที่จะถ่ายทอด
ออกมา
ส่วนบางท่านก็ว่า
"นักกลอน" เป็นคำเรียกหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่มี
ใจรักและมีฝีมือในการแต่งบทร้อยกรอง  ถอยหลังกลับไปในอดีต พศ. 
2500 มาจนถึงช่วง พศ.2516 มหาวิทยาลัยที่มีนักกลอนชุมนุม
กันมากที่สุดคือ ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้าเป็นสมัยนี้  "นักกลอน" ก็คือคำที่เราเรียกกันทั่วไปสำหรับคน
เขียนกลอนว่า "กวี" แต่ในสมัยโน้น  กวีหมายถึงสุนทรภู่  ศรีปราชญ์ 
นายนรินทร์ธิเบศร์   หรืออย่างใหม่ที่สุดคือนายชิต บุรทัต
หนุ่มสาวที่เดินถือตำราเข้าประตูมหาวิทยาลัย  ยังไม่อหังการ์ถึงกับเรียก
ตัวเองว่า  "กวี"ทั้งๆฝีมือหลายคนในที่นั้น  ถ้าอยู่ในสมัยนี้  ก็เรียก
อย่างอื่นไม่ได้นอกจาก"กวี"
เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเป็น"นักกลอน"ที่รู้จักเลื่องลือ ใน
นาม "สี่มือทอง"คือ  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ทวีสุข ทองถาวร  นิภา 
บางยี่ขัน และดวงใจ รวิปรีชา 
 ในวันนี้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่มีสมญาว่า "กวีรัตนโกสินทร์" 
เป็นกวีซีไรต์  เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่ย้อนหลังไปสี่สิบกว่าปี   เขาเป็น 
"นักกลอนมือทอง" ของธรรมศาสตร์  ที่ขึ้นชื่อลื่อเลื่องในแวดวงคน
รักวรรณศิลป์ในยุคนั้น  วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังไม่เกิด    กลอนเป็นที่
นิยมกันยิ่งกว่าคำประพันธ์แบบอื่น    หัวข้อที่นิยมที่สุดคือการแสดง
อารมณ์ส่วนตัว เน้นความอ่อนไหว  พริ้งพรายในลีลาภาษา และสะท้อน
อารมณ์รักของวัยหนุ่มสาว
อย่างบทกลอนที่ชื่อ "บนลานอโศก"  ที่มีภาษาสวยงามเหมือนแก้ว
เจียระไน ที่ว่า
หยาดน้ำแก้วเกาะกลิ้งกิ่งอโศก
โลกทั้งโลกลอยระหว่างความว่างเปล่า
มีความรื่นร่มเย็นแผ่เป็นเงา
ลมแผ่วเบาบอกลำนำคำกวี
เราพบกันฝันไกลในความรัก
เริ่มรู้จักซึ้งใจในทุกที่
มีแต่เรามิมีใครในที่นี้
ใบไม้สีสดสวยโบกอวยชัย
อยากให้รู้ว่ารักสักเท่าฟ้า
หมดภาษาจะพิสูจน์พูดรักได้
เต็มอยู่ในความว่างกว้างและไกล
คือหัวใจสองดวงห่วงหากัน
หลับตาเถิดที่รักเพื่อพักผ่อน
ฟังเพลงกลอนพี่กล่อมถนอมขวัญ
ใจระงับรับใจในจำนรรจ์
ต่างแพรพันผูกใจห่มให้นอน
โอ้ดอกเอ๋ยดอกโศกตกจากต้น
เปียกน้ำฝนปนทรายปลายเกษร
โศกสำนึกหนาวกมลคนสัญจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะร่อนลง
เมตตาแล้วแก้วตาอย่าทิ้งทอด
ช่วยให้รอดอย่าปล่อยบินลอยหลง
จะหุบปีกหุบปากฝากใจปลง
จะเกาะกรงแก้วกมลไปจนตาย
งามเอยงามนัก
แฉล้มพักตร์ผ่องเหมือนเมื่อเดือนฉาย
งามตาค้อนคมเยื้องชำเลืองชาย
ลักยิ้มอายแอบยิ้มงามนิ่มนวล
จะห่างไกลไปนิดก็คิดถึง
ครั้นดื้อดึงโดยใจก็ไห้หวน
ถนอมงามห้ามใจควรไม่ควร
ให้ปั่นป่วนไปทุกยามนะความรัก
ผีเสื้อทิพย์พริบพร้อยลอยแตะแต้ม
เผยอแย้มยิ้มละไมใจประจักษ์
ทุกกิ่งก้านมิ่งไม้เหมือนทายทัก
ร้อยสลักใจเราให้เฝ้ารอ
ฝันถึงดอกบัวแดงแฝงผึ้งภู่
คล้ายพี่อยู่เป็นเพื่อนในเรือนหอ
ชื่นเสน่ห์เกษรอ่อนละออ
โอ้ละหนอหนาวนักเอารักอิง
ในห้วงความคิดถึงซึ่งเงียบเหงา
ใจสองเราเลื่อนลอยอย่างอ้อยอิ่ง
คอยคืนวันฝันเห็นจะเป็นจริง
โลกหยุดนิ่งแนบสนิทในนิทรา
ร่มอโศกสดใสในความฝัน
ร่มนิรันดร์ลานสวาทปรารถนา
ร่มลำธารสีเทาเจ้าพระยา
และร่มอาณาจักร.....ความรักเรา
        ส่วนบางท่านก็แสดงทัศนว่า โดยยกเอาคำของ กรมหมื่นนราธิป
พงศ์ประพันธ์ ที่ท่านว่า มีการสำคัญผิดอยู่บ้างว่า กวีนิพนธ์ได้แก่การ
เรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์ แต่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูก
ฉันทลักษณ์เป็นแต่เพียงการร้อยกรอง ยังไม่ใช่กวีนิพนธ์ ถ้าจะให้ถึง
ขีดกวีนิพนธ์ ผู้ประพันธ์ต้องแสดงความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง และยิ่งกว่านั้น
ทำให้ผู้อ่านรู้สึกตามไปด้วย
                คนเขียนกลอนได้ถูกต้องและไพเราะ ถ้าผลงานชิ้นนั้นยัง
ไม่สามารถสื่อความลึกซึ้งให้ผู้อื่นรู้สึกตามได้ ก็เป็นเพียงนักกลอน แม้จะ
เขียนถูกฉันทลักษณ์ ตามรูปแบบและเสียงที่นิยมกันว่าไพเราะสุด ๆ 
แล้วก็ตาม ในทางกลับกันผลงานบางชิ้นอาจจะดูขัด ๆ ตาในทางรูปแบบ
ในบางจุด แต่สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ลึกซึ้งจับใจก็ถือว่าเป็นบทกวี (
กลอนเปล่าหลายชิ้นจึงเป็นบทกวี แม้จะไม่มีรูปแบบฉันทลักษณ์
มาตรฐาน) อย่างที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าสัมผัสใจ
ได้แล้วละก็ สัมผัสคำถือเป็นเรื่องรอง
                อย่างไรก็ตามถ้าเขียนแล้วสัมผัสใจก็ได้ และยังสัมผัสคำได้
ดีอีกด้วยก็น่าจะถือว่าเป็นบทกวีที่สมบูรณ์ยิ่งอีกระดับหนึ่ง เหมือนภา
พขียนอันวิจิตรบรรจงถึงระดับงาน ศิลปะแม้จะอยู่ในกรอบที่แสน
จะธรรมดา แต่ก็ยังเปล่งประกายศิลป์ออกมาจนสัมผัสได้ด้วยใจและจิต
วิญญาณ ยิ่งถ้าได้กรอบทองอย่างดีก็ยิ่งขับเน้นความเด่นของภาพขึ้นไป
อีก ผิดกับภาพเขียนดาด ๆ ในกรอบทองหรูหรา ทำอย่างไรภาพนั้นก็
ไม่สามารถเป็นงาน ศิลปะได้อย่างที่ควรจะเป็น 
	อีกประการหนึ่งน่าจะเป็นนิยามของกวีที่ยังคลุมเคลืออยู่
ผู้ใด คือ ผู้เหมาะสมที่จะให้นิยามของการเป็นกวี นั้นใครจะเป็นผู้เรียก
ขาน  ถ้าให้ผู้อ่านเป็นผู้กำหนด หากผู้อ่านท่านนั้นมีความรู้สึกด้าน
อารมณ์ และ ประสบการณ์ที่ยังด้อยอยู่ เมื่อได้อ่านบทกวีชิ้นหนึ่งแต่ก็มิ
ได้มีความเข้าใจกับมันและไม่สามารถซึมซับคุณค่าของมันได้ ท่านผู้
อ่านท่านนั้นยังจะเรียกงานชิ้นนั้นว่าเป็นบทกวีอยู่อีกหรือ  
  
  	และถ้าหากเป็นผู้อ่านที่ได้ผ่านประสบการณ์ทางด้าน
อารมณ์ และ ความรู้สึกมามากมาย  เมื่อเขาอ่านได้บทกวีชิ้นหนึ่งแล้ว
รู้สึกว่ามันไม่ได้เพิ่มเติมอะไรใหม่ๆให้กับชีวิตของเขาผู้นั้น เขาจะยัง
เรียกงานเขียนชิ้นนั้นว่าเป็นบทกวีอยู่อีกหรือไม่
    	หรือ ถ้าให้ ผู้เขียนเป็นผู้นิยาม เขาผู้นั้นจะทราบได้เมื่อ
ไรว่างานของเขาเข้าขั้นบทกวีแล้ว   วันหนึ่งเมื่อเขาตื่นขึ้นมา เขาพร้อม
จะพูดกับตัวเองเลยไหมว่า  "บัดนี้ เราคือกวีแล้ว"
	หรือจะให้มีสถาบันใด สถาบันหนึ่งที่ประกอบด้วยท่านผู้รู้
ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกวีนิพนธ์ มีอารมณ์ซึมซับ 
บทกวีได้เป็นอย่างดี เป็นผู้ตัดสิน กำหนดให้ว่าใครควรเป็นกวี และใคร
ไม่ใช่ แล้วเราจะหาจุดลงตัวของนักกลอนบางท่านที่เป็นที่นิยมของผู้อ่าน
แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรืองานบางชิ้นที่เป็นที่ยอมรับ
ของผู้ทรงคุวุฒิ แต่ผู้อ่านทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง ไว้ที่จุดตรงไหน
	ผมเองคงไม่มีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้หรอกครับ 
เพียงแต่สนใจใคร่รู้ เลยไปอ่าน ค้นคว้า มาเรียบเรียง ให้อ่านกัน เพลินๆ 
หากใครจะนำไปพิจารณาตนเอง ว่าตน หรือใครเป็นกวี เป็นนักกลอน
หรือไม่ อย่างไร ก็เชิญตามอัธยาศัย ของแต่ละท่าน นะครับ.... ส่วนผมเองนั้น คงเป็นได้แค่ผู้สนใจเขียนกลอน..เท่านั้นเอง มั๊ง ครับ 
 
.............
                    
http://wannasilp.bravehost.com/link1/history.htm
http://www.trytodream.com/topic/2038
 
http://dek-d.com/board/view.php?id=565418
........................
คนกุลา(เรียบเรียง)
ในเหมันต์				
comments powered by Disqus
  • เสมอจุก

    22 มกราคม 2553 07:26 น. - comment id 8966

    ไม่ควรมีการแบ่งคำว่ากวีกับนักกลอน
    ในลักษณะเชิดชูอีกฝ่ายและดูถูกอีกฝ่าย
    กวีคือเซ็ท ส่วนนักกลอนคือสับเซ็ท
    มันก็แค่นั้น
  • โคลอน

    20 มกราคม 2553 08:15 น. - comment id 26949

    ขอจัดตัวเองอยู่ในหมวด คนรักอักษร และมีความสุขที่ได้อยู่ในโลกของบทกลอนที่เต็มไปด้วย กวีที่เก่งกาจ และ นักคิดที่เปรื่องปราชญ์ทั้งหลาย
    
    แต่ที่มีความสุขกว่านั้นคือ ได้รู้จักและได้สัมผัสตัวตนของคนรักอักษรเหมือนกัน
    
    ได้อยู่ในกลุ่มคนที่มีใจรักสิ่งเดียวกันเป็นความสุขที่สุดแล้วค่ะ
    
    และยอมรับว่าแต่งกลอนตามอารมณ์ซะด้วยสิ 65.gif
    
    เสน่ห์ของบ้านกลอนคือตรงนี้แหละค่ะ คนกุลา
    
    ทุกคนสามารถเป็นเพื่อนพูดคุยและสร้างมิตรภาพดีๆขึ้นได้ แม้จะแตกต่างกันทางฝีมือ หรือ เชิงชั้นในทางกลอน
    
    นักกลอนที่เก่งหาตัวจับยาก มองนักกลอนอ่อนหัดอย่างผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก
    
    เด็กคลานเตาะแตะก็พยายามจะยืนให้ได้อย่างผู้ใหญ่
    
    ช่วยประคับประคองกันไป
    
    โดยไม่เร่งรัด คาดหวัง
    
    หากแต่จุดพลังในตัวของแต่ละคนที่มีมาก น้อย ต่างกันขึ้นมา
    
    ไฟฝันที่ก่อได้ด้วยแรงใจ
    
    ทำให้โลกใบใหญ่ดูเล็กลง เพราะมิตรภาพมาเติมเต็ม
    
    
    ฝนแต่งกลอนไม่เก่งค่ะ
    
    แต่ชอบอ่าน
    
    ชอบเข้ามาคุยเล่นสนุกสนาน ในบ้านกลอน
    
    และ เวลาเข้าไปอ่านกลอนที่แต่งโดยคนที่มากฝีมือ ก็จะทึ่งและรู้สึกว่า ดีใจจังได้อยู่ภายใต้หลังคาบ้านเดียวกัน อิอิ
    
    บอกไม่ถูกนะคะ
    
    ความรู้สึกนี้
    
    รู้แต่ว่า ไทยโพเอ็ม คือ บ้าน ที่มีสมาชิกครอบครัวหลากหลายมากๆ
    
    แต่กลับอบอุ่นได้อย่างประหลาด
    
    เลยกลายเป้นเหมือน ลานอักษร
    
    ให้คนที่หลงรักบทกลอนเข้ามารวมตัวโดยมิได้นัดหมาย มากมายเช่นนี้
    
    
    
    แฮ่...ยาวไปแระ
    
    ไม่รู้ตอบตรงประเด็นเปล่านะคะ พิมพ์ตามใจคิด มันก็เลยพรั่งพรูๆ อิอิ21.gif
    
    
    ขอบคุณที่ตั้งกระทู้นะคะ
    
    46.gif
  • ใบคา

    20 มกราคม 2553 08:46 น. - comment id 26951

    ขออยู่ในกลุ่มแรกก่อนละกันครับ ทารกน้อยๆ ก็ต้องแอบอ่านงานของผู้มีฝีมืออื่นๆ ก่อนละ แล้วค่อยเริ่มตั้งไข่
    
    15.gif จนป่านนี้ไข่ยังกลิ้งหลุนๆ อยู่เลย เฮ้อ!
  • เที่ยนหยด

    20 มกราคม 2553 16:45 น. - comment id 26966

    อ้อยคิดเหมือนฝนง่า....46.gif 
     แทงค์กิ้ว..คุณเพิ่ล
    
    ขยายความได้โดนสุดๆแระ  9.gif9.gif9.gif
  • อนงค์นาง

    20 มกราคม 2553 18:53 น. - comment id 26967

    ความคิดคล้ายๆของน้องฝนค่ะ จะนักกลอน หรือกวี ก็ตามแต่ สำหรับอนงค์นางแล้ว มีความสุขที่ได้อ่าน ได้แต่ง ถูกบ้าง ผิดบ้าง ไม่ค่อยสำคัญเท่ากำลังใจ น้ำใจและไมตรีที่ได้รับจากเพื่อนๆในบ้านนี้ ไม่คาดหวังต้องได้รางวัล ต้องเป็นหนึ่งในยุทธจักร หรือมุ่งมั่นเอาเป็นเอาตายเกินไป ขอเพียงแต่งออกมาจากอารมณ์และความรู้สึกในขณะนั้น มีเพื่อนมาคุยกันฉันท์น้องพี่ ก็สุขใจแล้วค่ะ
  • ราชิกา

    20 มกราคม 2553 19:12 น. - comment id 26968

    ...สนใจการแต่งกลอน....เพราะชอบในการเรียงร้อยถ้อยคำ..ของภาษา..และตัวอักษร..ซึ่งมีความงามอยู่ในตัวเอง..เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย...ควรค่าต่อการอนุรักษ์ไว้แก่ลูกหลานสืบไปค่ะ...หากแต่ว่า...ปัจจุบัน...เราไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร...สักวันหนึ่ง..มรดกของชาติอาจจะสูญหายไปกับโลกโลกาภิวัฒน์ก็เป็นได้....
    
    ...ราชิกา..เข้ามาบ้านกลอนไทย..เกือบ 6 ปี..โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ..การเรียนรู้เพิ่มเติมกับเพื่อนนักกลอน...และผู้เชี่ยวชาญ...เพื่อพัฒนาศักยภาพความรู้..ความสามารถของตัวเองเพิ่มขึ้นในฐานะประธานชมรมวรรณศิลป์..และนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจในการฝึกเขียนกลอนในชมรม...ดังนั้น..จึงพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้..ปรับปรุงงาน..ให้ดียิ่งขึ้น....
    
    ...บ้านกลอนไทย..มีนักกลอนฝีมือดีหลายท่าน..ที่มีความเอื้ออาทร...ชี้แนะ...แนะนำ..และให้ข้อคิดเห็นมาโดยตลอด...ก่อให้เกิดความผูกพัน..อบอุ่น...เสมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน....เป็นเวที..แห่งจินตนาการ..ที่ให้อิสระ..แก่ทุกคนได้ถ่ายทอดความฝัน...ออกมาโลดแล่นเป็นตัวอักษร....ร่วมกัน...เป็นบรรยากาศแบบพี่ช่วยน้อง...น้องช่วยพี่...ครูช่วยศิษย์..เพื่อนช่วยเพื่อน...ซึ่งยอมรับว่า..บ้านกลอนไทย...เปิดโอกาสให้นักกลอน....ได้มาสรรสร้างผลงาน...ทางวรรณศิลป์...เราคงจะต้องดูแล..ครอบครัวใหญ่...นี้ร่วมกันต่อไปด้วยมิตรภาพ...ของนักกลอนทุกท่านค่ะ....
    
    ...แวะมาสนทนาด้วยคนนะคะ...ขอบคุณ.คนกุลา....ที่นำข้อมูลที่มีประโยชน์มานำเสนอค่ะ
    
    ....36.gif16.gif36.gif
  • อนงค์นาง

    20 มกราคม 2553 19:29 น. - comment id 26969

    อนงค์นางก็ไม่ได้ต่อต้านใครเลยนะคะ ชื่นชมที่มีความพยายาม เพราะตัวเองเป็นคนไม่ค่อยพยายาม ชอบตามใจตัวเอง ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเลยสักนิด ไม่ขยันเลยในเรื่องนี้ แต่ก็มีกวีในดวงใจคือท่านสุนทรภู่  อนงค์นางเป็นศิษย์ครูแก้วประเสริฐ ซึ่งรู้สึกละอายใจเพราะตัวเองขี้เกียจฝึกฝน ต้องกราบขออภัยครูด้วยนะคะ
  • ไร้อันดับ

    22 มกราคม 2553 10:21 น. - comment id 26995

    ไม่กล้าแกร่งแรงเขียนเซียนกวี
    ชีวิตนี้แค่นักกลอนขอนอนฝัน
    ตามอารมณ์สมอยากก่อนจากกัน
    กวีนั้นห่างไกลเกินใจเรา.......29.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน