**ร่าย**

คนกุลา

ร่ายเป็นร้อยกรองแบบหนึ่ง มีสี่ประเภทได้แก่ ร่ายยาว ร่ายสุภาพ ร่ายดั้น และร่ายโบราณ 
ความหมายและลักษณะ
คำร่าย "ร่าย" แปลว่า อ่าน เสก หรือ เดิน 
ร่าย คือ คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่งที่แต่งง่ายที่สุด และมีฉันทลักษณ์น้อยกว่าร้อยกรองประเภทอื่น ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่าร่ายมีลักษณะใกล้เคียงกับคำประพันธ์ประเภทร้อยแก้วมาก เพียงแต่กำหนดคำที่คล้องจองและบังคับวรรณยุกต์ในบางแห่ง  เป็นคำประพันธ์ที่มิได้กำหนดจำนวนบาท หรือจำนวนวรรค ในแต่ละบทจะแต่งให้ยาว เท่าไรก็ได้ เป็นแต่ต้อง เรียงคำ ให้คล้องจองกัน ตามข้อบังคับ เท่านั้น ร่ายบางชนิดกำหนดคำเอกคำโทในตอนจบเหมือนโคลงสอง หรือโคลงสาม  อาจมีร่ายบางชนิดกำหนดจำนวนคำและสัมผัสให้คล้องจองกัน ดังจะได้กล่าวต่อไป 
กำเนิดและวิวิฒนาการ
รูปแแบบของร่ายปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์กาพยสารวิลาสินี ชื่อวชิรปันตี และปรากฏในวรรณคดีไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) สันนิษฐานว่าร่ายเป็นของไทยแท้ มีมาแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ด้วยปรากฏหลักฐานครั้งแรกในวรรณคดีสุโขทัยคือสุภาษิตพระร่วง และต่อมาจึงปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในวรรณคดีอยุธยาเรื่องโองการแช่งน้ำในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) สันนิษฐานว่าร่ายเป็นของไทยแท้ เพราะคนไทยนิยมพูดเป็นสัมผัสคล้องจอง ดังปรากฏประโยคคล้องจองในสำนวนศิลาจารึกพ่อ ขุนรามคำแหง กาพย์พระมุนีเดินดงของภาคเหนือ และคำแอ่วของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่า คำว่า "ร่าย" ตัดมาจาก "ร่ายมนต์" สังเกตจากโองการแช่งน้ำที่มีร่ายดั้นปรากฏเป็นเรื่องแรกและมีเนื้อหาเป็นคำประกาศในการดื่มน้ำสาบาน
วิวัฒนาการของร่ายน่าจะเริ่มจากสำนวนคล้องจองในศิลาจารึกและ ความนิยมพูดคล้องจองของคนไทยแต่โบราณ ในบทที่พระภิกษุใช้เทศนาก็ปรากฏลักษณะการคล้องจองอยู่ เป็นการรับส่งสัมผัสจากวรรคหน้าไปยังวรรคถัดไป โดยไม่ได้กำหนดความสั้นยาวของพยางค์อย่างตายตัว ซึ่งลักษณะนี้ใกล้เคียงกับร่ายประเภท "ร่ายยาว" มากที่สุด จึงมีการสันนิษฐานว่า ร่ายยาวเป็นร่ายที่เกิดขึ้นในอันดับแรกสุด ต่อมาจึงเกิด "ร่ายโบราณ" ซึ่งกำหนดจำนวนพยางค์และจุดสัมผัสคล้องจองตายตัว และตามมาด้วย "ร่ายดั้น" ซึ่งมีการประยุกต์กฎเกณฑ์ของโคลงดั้นเข้ามา สุดท้ายจึงเกิด "ร่ายสุภาพ" ซึ่งมีการประยุกต์กฎเกณฑ์ของโคลงสุภาพเข้ามา
ประเภท
ร่าย แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ  
๑. ร่ายยาว  
๒. ร่ายโบราณ  
๓. ร่ายดั้น  
๔. ร่ายสุภาพ 
ฉันทลักษณ์
1. ร่ายยาว
 
ร่ายยาว คือ ร่ายที่ไม่กำหนดจำนวนคำในวรรคหนึ่ง ๆ แต่ละวรรคจึงอาจมีคำน้อยมากแตกต่างกันไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำหนึ่งคำใดในวรรคถัดไป   การแต่งร่ายยาว ต้องรู้จัก เลือกใช้ ถอยคำ และสัมผัสใน ให้มีจังหวะ รับกันสละสลวย เมื่ออ่านแล้ว ให้เกิด ความรู้สึก มีคลื่นเสียง เป็นจังหวะๆ อย่างที่เรียกว่า "เสียงดิ้น" หรือ "เสียงมีชีวิต" และจำนวนคำ ที่ใช้ ในวรรคหนึ่ง ก็ไม่ควรให้ยาว เกินกว่าช่วง ระยะหายใจ ครั้งหนึ่งๆ คือ ควรให้อ่าน ได้ตลอดวรรค แล้วหยุดหายใจได้ โดยไม่ขาดจังหวะ ดูตัวอย่างได้ ในหนังสือ เวสสันดรชาดก   ร่ายยาวนี้ ใช้แต่งเทศน์ หรือบทสวด ที่ต้องว่า เป็นทำนอง เช่น เทศน์มหาชาติ และเทศน์ธรรมวัตร เป็นต้น เมื่อจบความ ตอนหนึ่งๆ มักลงท้ายด้วย คำว่า นั้นแล นั้นเถิด นี้แล ฉะนี้แล ด้วยประการฉะนี้ คำนั้นแล นิยมใช้เมื่อ สุดกระแสความตอนหนึ่งๆ หรือจบเรื่อง เมื่อลง นั้นแล ครั้งหนึ่ง เรียกว่า "แหล่" หนึ่ง ซึ่งเรียกย่อ มาจากคำ นั้นแล นั่นเอง เพราะเวลาทำนอง จะได้ยินเสียง นั้นแล เป็น นั้นแหล่ 
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายยาว
 
ตัวอย่าง โพธิสตฺโต สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ อันสร้างสมดึงส์ปรมัตถบารมี เมื่อจะรับวโรรัตนเรืองศรีแปดประการ แด่สำนักนิท้าวมัฆวานเทเวศร์ ก็ทูลแก่ท้าวสหัสเนตรฉะนี้ กาพย์มหาชาติ สักรบรรพ
2. ร่ายโบราณ
 
ร่ายโบราณ คือ ร่ายที่กำหนดให้วรรคหนึ่งมีคำห้าคำเป็นหลัก บทหนึ่งต้องแต่งให้มากกว่าห้าวรรคขึ้นไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกัลคำที่หนึ่ง สอง หรือสาม คำใดคำหนึ่งของวรรคถัดไป และยังกำหนดอีกว่า หากส่งด้วยคำเอก ต้องสัมผัสด้วยคำเอก คำโทก็ด้วยคำโท คำตายก็ด้วยคำตาย ในการจบบทนั้น ห้ามไม่ให้ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ประสมอยู่เป็นคำจบบท อาจจบด้วยถ้อยคำ และอาจแต่งให้มีสร้อยสลับวรรคก็ได้
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายโบราณ
 
ตัวอย่าง: 
 
________________________________________
ตัวอย่าง ...พระบาทเสด็จ บ มิช้า พลหัวหน้าพะกัน แกว่งตาวฟันฉฉาด แกว่งดาบฟาดฉฉัด ซ้องหอกซัดยยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยย้าย ข้างซ้ายรบ บ มิคลา ข้างขวารบ บ มิแคล้ว แกล้วแลแกล้วชิงข้า กล้าแลกกล้าชิงขัน รุมกันพุ่งกันแทง เข้าต่อแย้งต่อยุทธ์ โห่อึงอุดเอาชัย เสียงปืนไฟกึกก้อง สะเทือนท้องพสุธา หน้าไม้ดาปืนดาษ ธนูสาดศรแผลง แข็งต่อแข็งง่าง้าง ช้างพะช้างชนกัน ม้าผกผันคลุกเคล้า เข้ารุกรวนทวนแทง รแรงเร่งมาหนา ถึงพิมพิสารครราช พระบาทขาดคอช้าง ขุนพลคว้างขวางรบ กันพระศพกษัตริย์ หนีเมื้อเมืองท่านไท้ ครั้นพระศพเข้าได้ ลั่นเขื่อนให้หับทวาร ท่านนา
ตัวอย่างแบบมีสร้อยสลับวรรค เจ้าเผือเหลือแผ่นดิน นะพี่ หลากระบิลในแหล่งหล้า นะพี่ บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่ ความอายใครช่วยได้ นะพี่ อายแก่คนไสร้ท่านหัว นะพี่ แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่ สองพี่อย่าถามเผือ นะพี่ เจ็บเผื่อเหลือแห่งพร้อง โอเอ็นดูรักน้อง อย่าซ้ำจำตาย หนึ่งรา.
— ลิลิตพระลอ
3. ร่ายดั้น
 
          ร่ายดั้น คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายโบราณ แต่ไม่เคร่งเรื่องการรับสัมผัสระหว่างชนิดคำ คือ คำเอกไม่จำเป็นต้องรับด้วยคำเอก เป็นต้น ส่วนการจบบท ใช้บาทที่สามและสี่ของโคลงดั้นมาปิดท้ายบท และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ร่ายดั้น ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในวรรณคดีเรื่องลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส กำสรวลโคลงดั้น แล้วต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีในนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย และลิลิตนารายณ์สิบปาง 
           ๑. คณะ ร่ายดั้น ๑ บทมี ตั้งแต่ ๕ วรรค ขึ้นไป ( ๔ วรรคสุดท้ายคือสองบาทท้ายของโคลงดั้น) วรรคหนึ่งมีตั้งแต่ ๓ คำ ถึง ๘ คำ ลงท้ายด้วยบาทที่ ๓ และบาทที่ ๔ ของโคลงสี่ดั้น
           ๒. สัมผัส มีสัมผัสส่งและสัมผัสรับเช่นเดียวกับร่ายสุภาพ แต่เนื่องจากจำนวนคำในแต่ละวรรคไม่แน่นอน สัมผัสจึงต้องเลื่อนตามจำนวนคำด้วย กล่าวคือ
                    ถ้ามีวรรคละ ๓-๔ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๒
                    ถ้ามีวรรคละ ๕ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๒  
                    ถ้ามีวรรคละ ๖ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๔
                    ถ้ามีวรรคละ ๗-๘ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๕
          ๓ คำสร้อย เช่นเดียวกับร่ายสุภาพ คือเติมได้ ๒ คำท้ายบท หรือเติมสร้อยระหว่างวรรคก็ได้        
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายดั้น
 
         
ตัวอย่าง: 
 
         ตัวอย่าง
                    ...เปรมใจราษฎร       กำจรยศโยค        ดิลกโลอาศรย
          ชยชยนฤเบนทรา                ทรงเดช                     (บาท ๓ โคลงสี่ดั้น)
          ฦๅส่งดินฟ้าฟุ้ง                     ข่าวขจร                    (บาท๔ โคลงสี่ดั้น)
                                                           (ลิลิตยวนพ่าย)
               ตัวอย่าง 
ศรีสุนทรประฌาม งามด้วยเบญจพิธ องค์ประดิษฐ์อุตดม อัญขยมประจงถวาย พร้อมด้วยกายวาจาจิต...มวลมารพ่ายแพ้สูญ สิ้นเสร็จ ทรงพระคุณล้ำล้น เลิศครู
— ลิลิตดั้นมาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย - พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
 4. ร่ายสุภาพ
 	ร่ายสุภาพ ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ร่ายสุภาพ คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายดั้นทุกประการ คือบทหนึ่งมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ และลงท้ายแต่ละบทด้วยโคลงสองสุภาพและนิยมมีคำสร้อยปิดท้ายด้วย และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ
          ๑. คณะ ร่ายสุภาพ ๑ บท มี ตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ 
แต่เมื่อลงท้ายต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ
          ๒.สัมผัส มีสัมผัสจากวรรคหน้าไปยังสัมผัสรับในคำที่ ๑ ,๒,หรือ ๓ ของวรรคต่อไป วรรคที่อยู่
ข้างหน้าของ ๓ วรรคสุดท้าย จะส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑,๒ หรือ๓ ของบาทต้นในโคลงสองสุภาพ
          ๓. คำสร้อย เติมได้ ๒ คำ ท้ายบท เช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพ 
       รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพ
 
ตัวอย่างร่ายสุภาพ
                    ข้าเก่าร้ายอย่าเอา      อย่ารักเหากว่าผม     อย่ารักลมกว่าน้ำ
          อย่ารักถ้ำกว่าเรือน      อย่ารักเดือนกว่าตะวัน      สบสิ่งสรรพโอวาท     
          ผู้เป็นปราชญ์พึงสดับ     ตรับตริตรองปฏิบัติ      โดยอรรถอันถ่องถ้วน    (โคลงสอง) 
          แถลงเลศเหตุเลือกล้วน     เลิศอ้างทางธรรม     แลนา ฯะ 
                                                            (สุภาษิตพระร่วง)
         ตัวอย่าง 
สรวมสวัสดิวิชัย เกริกกรุงไกรเกรียงยศ เกียรติปรากฏขจรขจาย สบายทั่วแหล่งหล้า ฝนฟ้าฉ่ำชุ่มชล ไพศรพณ์ผลพูนเพิ่ม เหิมใจราษฎร์บำเทิง...ประเทศสยามชื่นช้อย ทุกข์ขุกเข็ญใหญ่น้อย นาศไร้แรงเกษม โสตเทอญ
                      ลิลิตนิทราชาคริต - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
ตัวอย่าง: 
 
ผมเรียบเรียงขึ้นเพราะด้วยความสนใจใคร่รู้  โดยการไปค้นคว้าหาอ่านแล้วนำมาเรียบเรียงไว้ เผื่อใครสนใจจะได้อ่านและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อๆไป นะครับ
คนกุลา
ในวสันต์
http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.st.ac.th/bhatips/rai_poem.html
http://thaiarc.tu.ac.th/poetry/raay/index.html				
comments powered by Disqus
  • คนกุลา

    28 สิงหาคม 2553 22:14 น. - comment id 32084

    แผนผังฉันทลักษณ์ ไม่ปรากฎให้เห็นตอนโพสต์ จะพยายามนำมาลงภายหลังนะครับ
  • กระบี่ใบไม้

    29 สิงหาคม 2553 20:01 น. - comment id 32086

    "ร่าย คือ คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่งที่แต่งง่ายที่สุด"
    
    ร่าย เป็นบทประพันธ์ที่ข้าน้อยไม่เคยแต่งได้เลยขอรับ 10.gif
  • คนกุลา

    30 สิงหาคม 2553 14:31 น. - comment id 32089

    คุณกระบี่ใบไม้ ครับ ผมก็เพิ่งลองแต่ง แล้วก็พบว่าง่ายอย่างท่านกล่าวไว้ จริงๆ ครับ
    
    36.gif1.gif
  • กิ่งโศก

    30 สิงหาคม 2553 15:28 น. - comment id 32091

    ป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยากเรียนรู้อย่างมากครับ คุณลุงคนกุลา..
    ทั้งกาพย์ห่อโคลง  แล้ว ก็ร่าย
    
    ขอบคุณมากครับ
  • คนกุลา

    30 สิงหาคม 2553 16:07 น. - comment id 32092

    ฉันทลักษณ์ ร่ายสุภาพ
    
    ๐๐๐๐(๐)   (๐)(๐)(๐)๐((๐))   ((๐))((๐))((๐))๐(๐)
    (๐)๐๐๐((๐))   ((๐)) ((๐))((๐))((๐))๐่๐้
    ๐๐่๐๐๐้    ๐่๐้๐๐ (๐๐)
    
    โดยเครื่องหมาย(๐) หรือ ((๐)) แทนคำที่
    สัมผัสกัน ในการสัมผัสจากวรรคก่อนหน้า
    ไปรับในวรรคต่อไป อาจเป็นที่หนึ่งที่ใดก็ได้
    ในสามที่ ตามที่เขียนไว้
    
    สามวรรคท้ายคือโคลงสองสุภาพ และสองคำในวงเล็บตอนท้าย คือคำสร้อย นะครับ
    
    ใครสนใจก็เชิญทดลองเขียนดู นะครับ
    
    1.gif1.gif1.gif
  • คนกุลา

    1 กันยายน 2553 19:47 น. - comment id 32107

    ขอบคุณ ครับ หลานกิ่งโศก...
    ก็คิดว่าอยากรู้ เมื่อไปค้นมา ก็เลยเรียบเรียง เผื่อจะมีประโยชน์ กับผู้สนใจ นะครับ 
    
    ยินดี ที่สนใจ ครับ
    
    
    1.gif1.gif1.gif
  • ราชิกา

    3 กันยายน 2553 19:06 น. - comment id 32128

    ....ได้รับประโยชน์มากเลยค่ะ...จริงๆ..พึ่งจะรู้ว่า..เรายังไม่เข้าใจ..และยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า..ร่าย..ขอบคุณที่กรุณานำมาบอกเล่าให้เข้าใจนะคะ...
    
    ว่างๆ..จะลองแต่งบทประพันธ์..ร่ายสุภาพค่ะ..
    
    36.gif16.gif36.gif
  • คนกุลา

    15 กันยายน 2553 19:43 น. - comment id 32200

    ..ได้ รับประโยชน์มากเลยค่ะ...จริงๆ..พึ่งจะรู้ว่า..เรายังไม่เข้าใจ..และยังไม่ รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า..ร่าย..ขอบคุณที่กรุณานำมาบอกเล่าให้เข้าใจ นะคะ...
    
    ว่างๆ..จะลองแต่งบทประพันธ์..ร่ายสุภาพค่ะ..
    
    ราชิกา
    
    ..............................
    
    ผมตอนแรก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะ
    อยากรู้เลยไปค้นคว้า มาแลกเปลี่ยนกัน พอลองแต่งก็ดูน่าสนใจ 
    
    บางครั้งเราคิดว่ากลอนเปล่า แต่ถ้าพูดคล้อง
    จองกันไป ก็อาจจะเข้าลักษณะร่าย บางชนิด นั่นเอง ครับ คุณตุ้ม รักษาสุขภาพนะครับ
    
    แสนคำนึง
    
    36.gif16.gif1.gif36.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน