“ฝายมือ” หน่วยวัดสมัยโบราณกาล

pebble

อาทิตย์ก่อนหมูน้อยไปเดินตลาดนัดมาค่ะ ไปเจอหนังสือเก่าซึ่งเป็นสูตรอาหารมา ชื่อหนังสือว่า ตำรากับข้าวคาวหวานประจำวัน เขียนโดย “ หม่อมเจ้าหญิง จันทร์เจริญรัชนี ” ตีพิมพ์ในพ.ศ. 2509 (สมัยนั้นคุณพ่อของหมูน้อยเพิ่ง 10 ขวบเองค่ะ) แถมมีลายเซ็นของคุณ ประดิศสม วัชโรทัย อยู่ที่ปกด้านใน เลยรีบเข้าไปอ้อนคุณป๋าขอสปอนเซอร์ด่วน งานนี้ไม่ซื้อลูกสาวมีเคือง

หลังจากได้หนังสือมาแล้ว (และคุณป๋าปาดน้ำตาเสร็จ) ก็เอามานั่งอ่านอย่างสบายใจ พอไปเจอสูตรแกงตะพาบน้ำ (ตะพาบจริงๆ ค่ะ มีวิธีฆ่าตะพาบให้ด้วยอีกต่างหาก  ) ก็เห็นตรงส่วนของเครื่องปรุงเขียนว่า “ กะปิ..... 1 ฝายมือ ทำเอาหมูน้อยงงไปพักใหญ่ ว่าถ้านึกครึ้มอยากทำแกงตะพาบน้ำขึ้นมาจริงๆ แล้วจะตวงกะปิอย่างไรดีล่ะ

หาคำตอบก็ไม่พ้นเจ้าเดิมค่ะ วิ่งไปหาคุณป๋า (ที่พอเห็นหน้าลูกสาวแล้วเริ่มผวา) ถามทันที ว่าฝายมือคืออะไร คุณพ่อที่น่ารักก็ตอบมาให้ค่ะ

ฝายมือ เป็นหน่วยวัดของคนสมัยก่อนค่ะ เมื่อยังไม่มีช้อนตวง หรือถ้วยตวงเหมือนในปัจจุบัน ก็ใช้มือของเราๆ นี่แหละค่ะในการวัด (ซึ่งก็เป็นที่มาของคำว่า “ หยิบมือ ” เหมือนกัน) วิธีก็คือ แบมือออกมา ปลายนิ้วทั้งห้าชิดกัน แล้วจะเห็นว่าตรงกลางฝ่ามือของเรา จะมีแอ่งตื้นๆ อยู่ นั่นแหละค่ะ คือ ฝายมือ

การตวงแบบนี้คงจะให้มาตราที่แน่นอนไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมือของแต่ละท่านก็คงจะมีขนาดไม่เท่ากัน แต่การบอกส่วนผสมแบบนี้ก็เหมือนกับการบอกเป็นนัยว่า ใครอยากจะเติม หรือจะลดรสชาติไหนก็ให้ชิมรสกันตามชอบ เหมือนกับสูตรอาหารในปัจจุบันที่จะมีการเขียนไว้ว่า ใส่เกลือเท่าหยิบมือ หรือปรุงรสตามชอบ (ซึ่งในปัจจุบันนี้หยิบมือจะมีค่าเท่ากับประมาณ 1/ 8 ช้อนชาค่ะ)

เพราะฉะนั้น หากท่านไหนที่ไปเจอกับสูตรอาหารสมัยเก่าแล้วเห็นคำนี้ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะมันก็คือการปรุงรสตามชอบนั่นเองค่ะ

 

 

comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน