14 มกราคม 2551 20:02 น.

************ อาหารของหัวใจ************

ลุงแทน

อาหารของดวงใจ

ความอิ่มเอิบ ด้วยอารมณ์ ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น เป็นอาหารของฝ่ายโลก
ความอิ่มเอิบด้วยปีติและปราโมชอันเกิดจากความที่ใจสงบจากอารมณ์เป็นอาหารของฝ่ายธรรม.
อุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุด แห่งอารยธรรมทั้งฝ่ายโลก และฝ่ายธรรม
เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมต้องการอาหารทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม
ถ้ามีเพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์ เพียงครึ่งเดียว หรือ ซีกเดียว.

    เราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก แต่การหาความสำราญ
    ให้แก่ใจนั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกายเห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับ
    ความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้ กี่คนนัก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีความ
    สำราญอย่างอื่นที่ไหนอีก นอกจากความสำราญทางกายและเมื่อกายสำราญแล้ว
    ใจก็สำราญเอง คนพวกนี้ ไม่ฟังธรรม หรือ ศึกษาธรรม และ ไม่ไหว้พระสงฆ์
    ซึ่งเป็น นิมิต อันหนึ่งของธรรม.

    ความสำราญทางกาย หรือฝ่ายโลกนั้น ต้อง"ดื่ม" หรือ ต้อง"กิน" อยู่เสมอ
    จึงจะสำราญ แต่ที่แท้ มันเป็นเพียง การระงับ หรือ กลบเกลื่อนความหิวไว้
    ทุกชั่วคราวที่หิวเท่านั้น ส่วนความสำราญฝ่ายใจหรือฝ่ายธรรมนั้น ไม่ต้องดื่ม
    ไม่ต้องกิน ก็สำราญอยู่เอง เพราะมันไม่มีความหิว ไม่ต้องดื่มกิน เพื่อแก้หิว
    ที่กล่าวนี้ ผู้ที่นิยม ความสำราญทางกาย อย่างเดียว อาจฟังไม่เข้าใจก็ได้
    แต่อย่าเพ่อ เบื่อหน่าย ขอให้ทนอ่าน สืบไปอีกหน่อย

    พวกที่นิยม ความสำราญกาย ในทางโลก กล่าวว่า "ใจอยู่ในกาย"
    แต่พวกนิยม ความสำราญใจ ในทางธรรม กล่าวว่า "กายอยู่ในใจ"

    พวกแรก รู้จักโลกเพียงซีกเดียว พวกหลัง อยู่ในโลกนานพอจนรู้จักโลกดี
    ทั้งสองซีกแล้ว ขณะเมื่อ พวกที่ชอบสำราญกาย กำลังปรนเปรอให้เหยื่อ
    แก่ความหิวของเขาอย่างเต็มที่นั้น พวกที่ชอบสำราญใจ กำลังเอาชนะ
    ความหิวของเขาได้ ด้วยการบังคับอินทรีย์จนมันดับสนิท สงบอยู่ภายใต้
    อำนาจของเขาเอง

    พวกแรก เข้าใจเอาคุณภาพของการให้ "สิ่งสนองความอยาก"
    แก่ความหิวของเขาว่า เป็นความสำราญ

    พวกหลัง เอาคุณภาพของการที่ยิ่งไม่ต้องให้สิ่งสนองความอยาก
    เท่าใดยิ่งดี ว่าเป็นความสำราญ

    พวกหนึ่ง ยิ่งแพ้ตัณหา มากเท่าใดยิ่งดี อีกพวกหนึ่ง ยิ่งชนะมาก เท่าใด ยิ่งดี !

    พวกที่ชอบสำราญกาย ย่อมจะแพ้ตัณหาอยู่เองแล้ว โดยไม่รู้สึกตัว ทำเอง และ
    ชักชวนลูกหลาน ให้หาความสำราญกายอย่างเดียว เพราะไม่รู้จักสิ่งอื่น
    นอกจากนั้น ครั้นได้ เครื่องสำราญกายมา ใจก็ไม่สงบสุข เพราะ มันยังอยาก
    ของแปลก ของใหม่ อยู่เสมอไป (ได้เพียงความสำราญ ชั่วแล่น เหมือนกินข้าว
    มื้อหนึ่ง ก็สงบหิว ไปได้ชั่วมื้อหนึ่ง) เมื่อความหม่นหมองใจ เกิดขึ้น ก็คิดเอาว่า
    ตนเป็นคนมีกรรมหรือโชคร้ายไม่เหมือนคนอื่นเขา เมื่อต้องเจ็บป่วยตามธรรมดา
    ของสังขาร ก็น้อยใจโชคของตัว อย่างหาที่เปรียบมิได้ ยิ่งเมื่อแสวงหาโชค โดย
    ทางใด ก็ไม่ได้เสียเลยแล้ว ก็เลยเห็นไปว่า ในโลกนี้ ไม่มีความยุติธรรม มีแต่ความ
    ดุร้าย คนชนิดนี้ ในที่สุด ก็มอบตัวให้แก่ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ประกอบกรรมชนิดที่
    โลกไม่พึงปรารถนา ต่อสู้สิ่งที่เรียกว่า โชคชะตาไป แม้อย่างดีที่สุด คนพวกนี้ จะ
    ทำได้ ก็เพียง แต่ เป็นผู้ทน ระทมทุกข์ อยู่ด้วย การแช่งด่า โชคชะตาของตัวเอง
    เท่านั้น ในสโมสร หรือสมาคม ของพวกที่แสวง ความสำราญทางกาย ซึ่งกำลัง
    ร่าเริงกันอยู่นั้น พวกเทพยดา ย่อมรู้ดีว่า เป็นการเล่นละครย้อมสีหน้าก็มี หลงทำไป
    ทั้งที่ตัวเองหลอกตัวเอง ให้เห็นว่า เก๋ ว่าสุข ก็มาก บางคนต้องร้องไห้ และหัวเราะ
    สลับกันทุกๆ วัน วันละ หลายครั้ง จิตใจฟูขึ้น แล้วเหี่ยวห่อลง, ขึ้นๆ ลงๆ ตามที่
    กระเป๋าพองขึ้นหรือยุบลง หรือตามแต่จะได้เหยื่อที่ถูกปากและไม่ถูกปาก ใจของ
    พวกนี้ยังเหลืออยู่นิดเดียวเสมอเท่าที่เขารู้สึก จึงทำให้เขาเข้าใจว่า ใจอยู่ในกาย
    คือแล้วแต่กาย หรือสำคัญอยู่ที่กาย เพราะต้องต่อเมื่อ เขาได้รับความสำราญกาย
    เต็มที่แล้ว ต่างหาก ใจของพวกเขา จึงเป็น อย่างที่เขา เรียกว่า "สุข" แม้คนพวกนี้
    จะพูดว่า ความสำราญใจ ! ความสำราญใจ !!" อยู่บ้าง ก็เป็นเพียง การหลงเอา
    ความสำราญฝ่ายกาย ขึ้นมาแทน เท่านั้น จะสำราญใจ ได้อย่างไร ในเมื่อใจ ถูกทำ
    ให้พองขึ้น ยุบลง เสมอ ความพองขึ้น หรือยุบลง ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งทรมานใจ ให้
    เหน็ดเหนื่อย เท่ากัน เพียงแต่เป็น รุปร่างที่ต่างกัน เท่านั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ และ
    ความเพลิดเพลิน ทำให้พองเบ่ง เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกสบประมาท และหาความ
    เพลิดเพลิน มิได้ ทำให้ยุบเหี่ยว แต่ทั้งสองอย่าง ทำความหวั่นไหว โยกโคลง ให้
    เท่ากัน อย่างเด็ดขาด เมื่อเขาได้ สมใจอยาก เขาก็ได้ ความหวั่นไหว เมื่อไม่ได้ ก็
    ได้ความหวั่นไหว เมื่อมืดมน หนักเข้า ก็แน่ใจลงเสียว่า ความอร่อย หรือ ขณะที่
    อร่อย นั่นแหละเป็น "พระนิพพาน" ของชีวิต แต่เมื่อคิดดู เราพอจะเห็นได้ว่า นั่น
    ยังไม่ได้ ถอยห่าง ออกมาจาก กองทุกข์ แม้แต่นิดเดียว, มันเป็นเพียง ความสำคัญ
    ผิด เท่านั้น และ เป็นความสำคัญผิด ที่จะมัดตรึง ตัวเอง ให้ติดจม อยู่กับบ่อโคลน
    นั่นตลอดเวลา

    เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเห็นได้สืบไปว่า การสำราญทางฝ่ายโลก หรือจะเรียก อีกอย่าง
    หนึ่งว่า ฝ่ายกาย หรือวัตถุ นั้น คืออะไร และเมื่อได้ หมกมุ่นมัว แต่แสวงอาหาร
    ให้กาย ท่าเดียว แล้วจะเป็นอย่างไร หรือ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ารู้จักความสุข เฉพาะ
    ในด้านนี้ ด้านเดียว แล้ว ก็จะรู้จักโลกเพียงซีกเดียว อย่างไร และยิ่งกว่านั้น คนที่
    รู้จักโลก เพียงซีกหนึ่งเช่นนี้ หาอาจทำ อารมณ์เหล่านี้ ให้เป็น เครื่องอำนวยความ
    สะดวก หรือ ความเพลิน แก่เขาได้ เช่นเดียวกับ ผู้ที่เข้าใจโลกดี ทั้งสองซีกไม่;
    เพราะ ต้องตกเป็นทาส ของความมัวเมา รื้อไม่สร่าง บูชามันให้เป็น สิ่งสูงสุด
    กว่าสิ่งใดอยู่เสมอ

    ส่วนผู้ที่รู้จักโลก ดีแล้วนั้น ย่อมบูชา ความสำราญทางธรรม หรือ ฝ่ายใจอันแท้จริง
    เป็นส่วนสำคัญ และถือเอาส่วนกาย หรือวัตถุ เป็นเพียง เครื่องอำนวยความสะดวก
    ในฐานเป็นคนใช้ สำหรับรับใช้ ในการแสวงหา ความสำราญ ทางฝ่ายจิต เท่านั้น
    พวกนี้จึงมีอุดมคติว่า"กายอยู่ในใจ" คือแล้วแต่ใจ กายเป็นของนิดเดียว, และอาศัย
    ใจ ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาด และคุณภาพสูงสุด อยู่ทุกๆประการ และทุกๆเวลา "แสวง
    หาอาหาร ให้ดวงใจดีกว่า ! "

    ความเจริญงอกงามของดวงใจ นั้น ยังไปได้ไกลอีกมากมายนัก คือกว่าจะถึง
    พระนิพพาน เมื่อไร นั่นแหละ จึงจะหมด ขีดของทางไป แล้วมีอุดมสันติสุข
    อยู่ตลอด อนันตกาล ส่วนความเจริญทางกายนั้น ไม่มีทางไปอีกต่อไป สูงสุด
    อยู่ได้เพียงแค่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อารมณ์ทางใจ บางอย่าง เช่น
    ยศศักดิ์ เท่านั้น แต่ไม่มีใคร เคยทำให้เกิด ความอิ่ม ความพอใจ ในเรื่องนี้เลย
    แม้ในอดีต, ในปัจจุบัน และ อนาคต. เพราะว่า การแสวงหาทางฝ่ายนี้ ต้องการ
    "ความไม่รู้จักพอ" นั่นเอง เป็นเชื้อเพลิงอันสำคัญแห่งความสำราญ ถ้าพอเสีย
    เมื่อใด ก็หมดสนุก ! ใครจะขวนขวายอย่างไร ก็ไม่อาจได้ผลสูงไปกว่า "การ
    สยบซบซึมอยู่ ท่ามกลางกองเพลิง แห่งความถูกปลุกเร้าของตัณหา" ซึ่งเมื่อใด
    ม่อยหรี่ลง ก็จะต้องหาเชื้อเพลิงเพิ่มให้ใหม่อีก และไม่มีเวลาพอ เช่นเดียวกับ
    ไฟธรรมดา กับ เชื้อเพลิงธรรมดา เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การแสวงหาอาหาร
    ทางฝ่ายใจ เพื่อดวงใจ จึงเป็นสิ่งที่มีค่า น่าทำกว่า, เป็นศิลปะกว่า เป็นอุดมคติ
    ที่สูงกว่า, ทำยาก หรือ น่าสรรเสริญกว่า, หอมหวนกว่า เยือกเย็นกว่า ฯลฯ กว่า
    โดยทุกๆ ปริยาย.

    การแสวงความสำราญทางฝ่ายกาย เป็นต้นเหตุแห่งสงคราม,
    การแสดงความสำราญฝ่ายจิต เป็นต้นเหตุแห่งสันติภาพ.

    ถ้าชาวโลก ยังบูชาลัทธิวัตถุนิยม มัวแสวงแต่ ความสำราญทางกาย อย่างเดียว
    อยู่เพียงใด ก็ไม่มีหวังในสันติภาพ แม้จะเปิด สภาสันนิบาตชาติ ขึ้นอีกสัก ๑๐
    สันนิบาต ก็ตาม นักวัตถุนิยม เห็นกายเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละ ได้ทุกอย่าง เพื่อ
    ให้กาย หรือโลกของตน อิ่มหมีพีมัน ส่วนนักจิตนิยม เห็นแก่จิตเป็นใหญ่ ย่อม
    เสียสละได้ ทุกอย่างเหมือนกัน เพื่อแลกเอา ความสงบ เยือกเย็น ของจิต. ผู้แสวง
    ความสำราญ ทางกาย นั้น การแสวง ของเขา จำเป็นอยู่เอง ที่จะต้องกระทบ กับ
    ผู้อื่น เพราะความสำราญกาย นี้ เป็นของเนื่องด้วยผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ที่แวดล้อมอยู่
    โดยรอบ เมื่อความเห็นแก่ตัวมีอยู่ ก็ต้องมีการกระทบกันเป็นธรรมดา การสงคราม
    ก็คือ การปะทะของคนหลายคน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแก่ตัวเพื่อความสำราญ
    ทางกายนั่นเอง สงครามโลกซึ่งเป็นเพียงความเห็นแก่ตัวของคนหลายชาติรวมกัน
    ก็ไม่ต่างอะไรกันอีก ส่วนการแสวงหาความสุขทางฝ่ายจิตนั้น จะไม่กระทบกระทั่ง
    ใครเลย แม้แต่น้อย, เพราะเหตุว่า มีอะไรๆ ให้แสวง อยู่ในตน ผู้เดียวเสร็จ ไม่ต้อง
    เนื่องด้วยผู้อื่น การสงคราม ไม่สามารถ เกิดจาก ผู้แสวงสุขทางจิต! เช่นเดียวกับที่
    ไฟไม่สามารถ เกิดจากความเย็น.

    การแสวงหาอาหาร ทางฝ่ายกาย ง่ายหรือตื้น และ เป็น ต้นเหตุ แห่งสงคราม
    การแสวงหาอาหารของดวงใจ ยากและลึก และเป็นต้นเหตุของสันติภาพ ดัง
    กล่าวมาแล้ว. แต่มนุษย์ในโลกนี้ ส่วนมาก ปล่อยตนไปตามสัญชาตญาณ หรือ
    ธรรมดาฝ่ายต่ำมากเกินไป จึงเท่าที่เราเห็นกัน จึงมีแต่ ผู้ถือลัทธิวัตถุนิยม ยิ่ง
    นานเข้าเท่าใด วิธีการแสวงหา อาหารของดวงใจ ก็ยิ่งลบเลือน หายไปจาก
    ความทรงจำ และ ความเอาใจใส่ ของมนุษย์ มากขึ้น เพียงนั้น ในที่สุด ก็ไม่มี
    อะไรเหลือ อยู่ในมันสมองของมนุษย์ นอกจากความเห็นแก่ตัว และนั่นคือ
    สมัยที่ไฟประลัยกัลป์จะล้างโลก

    ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ผู้แสวงหาสุขทางใจ มีอยู่เพียงกี่คน ก็ตาม ก็เป็นเหมือน
    ลูกตุ้ม ที่ถ่วงโลกไว้ มิให้หมุนไป ถึงยุคไฟประลัยกัลป์ เร็วเกินไปเพียงนั้น

    "เรายอมรับว่า เป็นลูกตุ้มจริง แต่ว่า เป็นลูกตุ้ม ที่ถ่วง ไม่ให้ พวกท่านวิ่งเข้าไป
    สู่กองไฟ เร็วเกินไป ถ้าพวกข้าพเจ้า จะพลอยเป็น อย่างท่าน ไปด้วย เชื่อแน่ว่า
    โลกคงจะแตกดับ เร็วกว่า ที่พวกข้าพเจ้า จะแยกเป็นอยู่ เช่นนี้" นี่เป็นคำ ซึ่ง
    พวกแสวงสุขทางฝ่ายจิต ควรจะพูดได้โดยชอบธรรม !

    พระพุทธองค์ ทรงเป็นนายกแห่งสมาคมผู้แสวงสุขทางใจ เพียงพระองค์เดียว
    และสมัยเดียว ก็ชื่อว่าเป็น โลกนาถ ที่พึ่งของโลก หลายสมัย เพราะว่า อิทธพล
    แห่งธรรม ที่พระองค์ ทรงเปิดเผยขึ้นนั้น ได้ถ่วงให้โลก ที่กำลังหมุนไปหา
    ความแตกดับ หมุนไปช้าเข้า มากกว่ามากนัก เมื่อหมุนไปช้า เช่นนี้ คนทั้งโลก
    แม้ที่สุด แต่ คนที่ไม่เคย ได้ยินชื่อ ของพระองค์ ก็พลอยมีส่วน ได้รับความสุข
    ด้วย แต่เมื่อโลก ละทิ้ง การแสวงหา อาหารทางใจ มารับเอา อาหารทางกาย
    มากขึ้นเช่นนี้ พระพุทธองค์ก็ช่วยไม่ได้ เพราะโลกเป็นฝ่ายที่ทิ้งพระพุทธองค์

    พุทธบริษัททุกคน ยังภักดีต่อ การแสวงหาความสุขทางใจ กันอยู่ นับว่า ตระกูล
    ของพระองค์ ยังไม่ขาดทายาท เสียทีเดียว และจะยังเป็น เหมือน ลูกตุ้มน้อยๆ
    ที่เหลืออยู่เพื่อตัวเองและโลกด้วย, ทั้งขณะที่พวกอื่นเขาอาจกำลังเกลียดพวกนี้อยู่.

    พุทธบริษัท คงต้องถือว่า กายอยู่ในใจ, อาหารทางใจ สำคัญกว่า อาหารทางกาย
    และยังคงต้องภักดี ต่อลัทธิ แสวงสุขทางใจ อยู่เสมอ. การเป็นพุทธบริษัทแต่ปาก
    นั้น ไม่ทำให้เป็น พุทธบริษัท ได้เลย พุทธบริษัทที่แท้ เป็นนักนิยมวัตถุ หรือ ถือ
    ลัทธิหลงชาติ ไปไม่ได้ พุทธบริษัทที่ขวางๆ รีๆ นั่นยิ่งจะร้ายไปกว่า ผู้ที่มิได้เป็น
    พุทธบริษัท เมื่อเกิด "มิคสัญญี" พุทธบริษัท ที่แท้จริง เท่านั้น ที่จะเป็นผู้เหลืออยู่
    แม้นี้ก็เป็น อานิสงฆ์ แห่งการนิยม อาหารของดวงใจ

    เมื่อได้พร่ำ กล่าวถึงความดีของอาหารทางดวงใจมามากแล้ว
    กระทั่งในแง่การเมืองเป็นที่สุด จึงต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง
    ลักษณะของอาหารทางใจโดยตรงบ้าง,ให้ควรกัน.

    คำสองคำซึ่งใครๆ ก็เคยได้ยินมีอยู่ว่า โลก กะ ธรรม
    โลก กับธรรม จะเป็น อันเดียวกัน ไม่ได้.
    โดยที่โลกเป็นฝ่ายนิยมวัตถุ,
    ธรรมเป็นฝ่ายนิยม "ความเป็นอิสระ เหนือวัตถุ" และ
    "ความเป็นอิสระเหนือวัตถุ นี่เอง คือ อาหารของดวงใจ"

    กายต้องการอาหารทางฝ่ายโลก, ใจต้องการอาหารฝ่ายธรรม,
    ผู้ที่เห็นว่า ใจเป็นใหญ่ จนถึงกับเป็นที่อิงอาศัยของกาย ย่อมแสวงหาอาหารให้กาย
    เพียงเพื่อสักว่าให้มันเป็นอยู่ได้ (ยาปนมัตต์) เท่านั้น
    นอกนั้นใช้แสวงเพื่อใจอย่างเดียว

    อันความเป็นอิสระเหนือวัตถุนั้นเห็นได้ยาก ตรงที่ตามธรรมดาก็ไม่มีใครนึกว่า
    ตนได้ตกเป็นทาสของวัตถุ แต่อย่างใด ใครๆ ก็กำลังหาวัตถุมากินมาใช้มาประดับ
    เกียรติยศของตน และบำเรอคนที่ตนรัก ทำให้เห็นไปว่า นั่นเป็นนาย มีอิสระเหนือ
    วัตถุพอแล้ว เช่น มีเงินจะใช้มัน เมื่อไรก็ได้ ส่วน ความหม่นหมองใจ ที่เกิดขึ้นมาก
    มายหลายประการ หามีใครคิดไม่ว่า นั่นเป็นอิทธพลของวัตถุที่มันครอบงำย่ำยีเล่น
    ตามพอใจของมัน ดวงใจได้เสียความสงบเย็น ที่ควรจะได้ไปจนหมด ก็เพราะ
    ความโง่เง่าของตัวเอง, ที่ไปหลงบูชาวัตถุ จนกลายเป็นของมีพิษสงขึ้นมา ดวงใจ
    ที่แท้จริง ก็ไม่อาจฟักตัว เจริญงอกงาม ขึ้นมา เพราะ ขาดการบำรุง ด้วยอาหาร
    โดยที่เจ้าของไม่เคยคิดว่ามันต้องการอาหารเป็นพิเศษยิ่งกว่ากาย สัญชาตญาณ
    ทั้งหลาย ชวนกันขึ้นนั่งบัลลังก์บัญชาการเต็มที่ ออกคำสั่งทับถมดวงใจที่แท้จริง
    หรือธรรมชาติฝ่ายสูง ที่เป็นชั้นปรมัตถธรรม จนไม่ปรากฏ สาละวนแต่ แสวงหา
    อาหาร ตามอำนาจฝ่ายต่ำ หรือที่เรียก ในที่นี้ว่า กาย (โวหารธรรม) เมื่อใจขาด
    อาหาร แม้แต่ที่เป็นเบื้องต้น เช่นนี้แล้ว ก็ไม่งอกงาม พอที่จะแจ่มใส ส่องแสง ให้
    ผู้นั้นมองเห็น และถืออุดมคติ แห่งความสุขทางใจได้ ชีวิตก็เป็นของมืดมน ต้อง
    ร้องไห้ ทั้งที่ ไม่รู้เห็นว่า มีอะไรมาทำเอา

    เมื่อเด็กๆ ที่เกิดมาในโลก ไม่อาจสำนึก ในปริยายนี้ ได้ด้วยตนเอง เช่นนี้แล้ว
    การศึกษาธรรมเท่านั้น ที่จะช่วยได้ในเบื้องต้น การศึกษาธรรม ทางฝ่ายหลักวิชา
    จึงเป็น อาหารของดวงใจ ในขั้นแรก และขั้นกลาง ก็คือ การย่อยหลักวิชาๆ นั้น
    ออกด้วย มันสมอง ของตนเอง ได้ความรู้ ความแจ่มแจ้ง ความโปร่งใส เยือกเย็น
    อะไรมา นั่นเป็น อาหารชั้นปลาย ส่งเสริมกัน สืบไปให้เจริญ จนสามารถ ทำพระ
    นิพพาน ให้ปรากฏ จึงจะนับว่าถึงที่สุด

    ปริยัติธรรม หรือ ธรรมในส่วนหลักวิชานั้น ช่วยได้โดยเป็น เครื่องสะกิดใจ
    ให้รู้สึก ในเบื้องต้นว่า เรามีกายสองซีก คือ ซีกรูปกาย และธรรมกาย รูปกาย
    เจริญได้เองด้วยการมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นด้วยข้าวปลาอาหาร
    ส่วนธรรมกายนั้น มี กาย วาจา ใจ ที่สุจริตผ่องใส เป็นที่ตั้งที่ปรากฏ, มีผลของ
    ความสุจริต เป็นอาหาร ที่จะบำรุง ให้เติบโต สืบไป และทำให้เรา รู้สึกสืบไป
    เป็นลำดับว่า ถ้าบำรุงแต่รูปกาย อย่างเดียว มันก็จะอ้วนดี แต่ซีกเดียว อีกซีกหนึ่ง
    ซึ่งเป็นซีกใน จะเหี่ยวแห้งอยู่ ผลที่ได้ ก็คือ ร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ใจเต็มไปด้วย
    ความหม่นหมอง เมื่อยังเด็ก ความหม่นหมอง มิปรากฏนัก ก็เพราะยังเป็น ผู้ที่
    ผู้อื่นเลี้ยงดูให้ และ กายก็ยัง มิได้ขยายตัวเต็มที่ จนสามารถ ทำความรู้สึกได้
    สุดขีด ทุกๆ อินทรีย์ (คือเต็มที่ ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ครั้นเมื่อ กาย
    เจริญเต็มที่เข้า ความหม่นหมอง ก็เกิดมากขึ้น เพราะยิ่งขาดดุลยภาพ (ของ
    ความที่ รูปกาย และ ธรรมกาย จะต้องมี ความเจริญคู่เคียง สม่ำเสมอกันไป
    จึงความหม่นหมอง จะไม่อาจเกิด) นั่นเอง สรุปความว่า ปริยัติธรรม ช่วยให้
    เราทราบว่า เราจะต้องประพฤติธรรม เช่นนั้นเช่นนี้ เพื่อธรรมกายของเรา
    มิฉะนั้น เราตายด้านไปซีกหนึ่ง, เมื่อเรารู้ ปริยัติธรรม พอสมควรแล้ว เราก็ได้
    อาหารของดวงใจ ในส่วนหลักวิชา และ ภาคพื้น ของการปฏิบัติ สัมมาทิฎฐิ
    หรือ รุ่งอรุณ ได้ปรากฏแก่เราแล้ว เป็นแรกเริ่ม

    ปฏิบัติธรรม หรือ ธรรมคือตัวการปฏิบัตินั้น เป็นการทรมานอินทรีย์ (sense)
    เพื่อเอาชนะอินทรีย์, ชนะได้เท่าใด ความเยือกเย็น พร้อมทั้ง ความรู้แจ้ง ก็เกิดขึ้น
    เท่านั้น ความเยือกเย็น เกิดจาก ความที่ อินทรีย์ สงบรำงับลง ความเห็นแจ้ง
    ความจริงในตัวเอง ปรากฏเพราะ ไม่ถูกม่าน แห่งความ กลัดกลุ้ม ของอินทรีย์
    ปิดบังไว้ เช่นแต่ก่อน วิธีเอาชนะ อินทรีย์ ตามหลัก แห่งพุทธศาสนา ได้แก่
    การบังคับตัวเอง ให้งดเว้นจากสิ่งชั่ว, บังคับตัวเอง ให้ทำ แต่สิ่งที่ดี เข้าแทน
     และต่อจากนั้น พยายามหาวิธี ชำระจิต ให้เป็นอิสระ จากความหม่นหมอง
    ทั้งที่เปิดเผย เห็นได้ง่ายๆ และที่นอนนิ่ง เงียบๆ อยู่ในสันดาน อันเป็นเหมือน
    เชื้อ ที่ก่อเกิด ของอย่างแรก หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การบังคับกาย และ
    วาจา ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า ศีล, บังคับจิต ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า สมาธิ, และ
    ใช้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้ว คือ ค้นหาความจริง ที่ยาก ที่ลึก จนปรากฏ แจ่มแจ้ง
    เรียกว่า ปัญญา, การบังคับหรือ ควบคุมอินทรีย์ เช่นนี้ ทำให้ดวงใจ ได้รับ
    ความสะบักสะบอม น้อยลง วัตถุ หรือ อารมณ์ ทั้งหลาย มีพิษสง น้อยเข้า หรือ
    หมดไป เพราะ ค่าที่เรา สามารถบังคับ ตัวเอง ไว้ในภาวะ ที่จะ ไม่หลงใหลไป
    ตามทั้งใน ทางชอบ และ ทางชัง เมื่อใจเรา ได้รับความ พักผ่อน อย่างผาสุก
    เนื่องจาก การบังคับอินทรีย์ ของเรา เช่นนี้แล้ว เราก็ได้ อาหารของดวงใจ
    ในส่วนของการปฏิบัติ, อันจะเป็น อุปกรณ์ ให้ได้รับ อาหารชั้นสูงสุด สืบไป

    ปฏิเวธธรรม หรือ ธรรมในส่วน การรู้แจ้ง แทงตลอดในสิ่งที่เคยหลงใหล
    ไม่รู้เท่าทันมาก่อน เป็นความรู้ชนิดที่จะตัดรากความหม่นหมองของดวงใจเสีย
    โดยประการทั้งปวง, เช่น ความสงสัย ความเข้าใจผิด หลงรัก หลงชัง ฟุ้งซ่าน
    ฯลฯ เสียแล้ว ทำความแจ่มแจ้งใจ โปร่งใจ เยือกเย็นใจ ให้เกิดขึ้นแทน นี้เป็นผล
    ที่ปรากฏแก่ใจ สมจริง ตามที่เรียนรู้ ทางหลักวิชา โดยปริยัติ ซึ่งเป็นเพียง "การ
    รู้อย่างคาดคะเน ด้วยเหตุผล ล่วงหน้าไปก่อน" การแทงตลอดนี้ หมายถึง การ
    แทงตลอด ม่านอวิชชา คือ ความโง่หลง ซึ่งเป็นของเฉพาะตัว อย่างยิ่ง. น่า
    อัศจรรย์มาก ที่คนบ้าคลั่ง อาจรักษาโรค ของตนเอง ด้วยการฟัง วิธีรักษา มา
    จากผู้อื่น แล้วรักษาตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไปเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็น ค่อยไป จน
    หายได้ ในที่สุด! ช่างไม้หรือนักยันตรกรรม ที่ติดขัดในปัญหาขัดข้องบางอย่าง
    ในหน้าที่การงานของตน อาจผ่านปัญหานั้นๆ ไปได้ โดยการ พยายาม คิดค้น
    หาเอาเอง หรือ ถามท่านผู้รู้ แล้วมา แก้ไขไปเอง เมื่อพบเงื่อนถูก ผ่านไปได้ ก็ได้
    รับความสุขใจ ผู้ที่รู้ว่า ตนกำลังติดขัด ในปัญหาชีวิต (คือ ความที่ชีวิต ถูกกดถ่วง
    ด้วยความ หม่นหมอง อยู่เสมอ ตั้งแต่ ชนิดที่ หยาบที่สุด จนถึง ที่ละเอียดที่สุด)
    ก็ฉันนั้น, คือเมื่อได้คิดค้น ไปเองบ้าง ไต่ถามท่าน ผู้รู้ มาคิดค้น ไปบ้าง จนได้รับ
    ความแจ่มแจ้ง เบาโปร่ง ปรากฏกับใจเอง ก็เป็นสุข นักศิลปินที่แท้จริง เขาหา
    ความสุข จากความพอใจ ตัวเอง ในการที่ ทำสิ่งที่ยากๆ ได้สำเร็จ มิใช่เพราะ
    พอใจในเงิน หรือ รางวัลที่จะได้รับ ซึ่งเป็นวิสัย ของ นักการค้า ในที่นี้จะ เห็น
    ได้ว่า ความสุขที่เกิดจากความพอใจ หรือ ความรู้แจ้งนั้น เป็นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่ง
    นักการค้า หรือ ผู้นิยมวัตถุ จะเห็นเป็นความสุข ไปไม่ได้เลย ผลอันนี้คือ
    อาหารของดวงใจ ในส่วนปฏิเวธ, ซึ่งเมื่อ แทงตลอด ถึงที่สุด ไม่มีอะไรเหลือ
    จริงๆ ก็คือ การพบกันเข้ากับ พระนิพพาน และ การแทงตลอด ที่ถึงขีด ระยะ
    หนึ่งๆ ข้างต้นๆ นั้น คือ มรรคผล ขั้นหนึ่งๆ ตามหลัก ที่ท่านกำหนดไว้

    เมื่อได้ อาหารทางใจ เป็นลำดับมา จนลุถึง พระนิพพาน เช่นนี้แล้ว ต่อจากนั้น
    ก็เป็น ใจที่มีรสของ พระนิพพาน เป็นอาหาร ศานติเป็น รสของพระนิพพาน !
    และ ใจมีศานตินั้น เป็นอาหาร !! ศานติ ในที่นี้ หมายถึง ความเยือกเย็น ของ
    พระนิพพาน หรือ สภาพอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพแห่ง ความว่างโปร่ง เป็นอิสระ
    เหนือสิ่งทั้งหลาย เหนือรูปธรรม นามธรรม เหนือกฏแห่งรูปธรรม และ
    นามธรรม ทั้งหมด และเป็นสิ่งที่ ใครจะกฏเกณฑ์อะไร ให้ไม่ได้เลย

    เมื่อเราอาบน้ำ เราได้รับความเย็นของน้ำ หรือ เพราะน้ำ, เมื่อใจลุถึง
    พระนิพพาน มันย่อมเยือกเย็น เพราะ ความเย็นของ พระนิพพานนั่นเอง
    ความเยือกเย็นอันนี้ เป็น ยอดอาหาร ชั้นพิเศษ ของดวงใจ ก็ความหม่นหมอง
    ต่างๆ ของดวงใจนั้น ถูกสลัดทิ้งเสียหมดแล้ว ตั้งแต่ได้รับอาหารขั้นปฏิเวธขั้นสูง
    มาบัดนี้ ได้รับความเยือกเย็น ของพระนิพพาน เข้าอีก จึงเป็นการยาก ที่จะกล่าว
    ให้เป็นที่เข้าใจ กันอย่างทั่วไปว่า รสชาติอันนี้ ในขณะนี้ จะเป็นอย่างไร ท่านจึง
    กล่าวว่า เป็นสิ่งที่แม้แต่อยากพูดให้ฟัง ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร (Subjective)
    อย่าว่าแต่ รสชาติ ของพระนิพพานเลย แม้เพียงแต่ รสของวิเวก หรือ สมาธิ
    ขั้นต้นๆ ก็เป็นของยากที่จะอธิบายว่า มีรสชาติเป็นอย่างไรเสียแล้ว เพราะเป็น
    รสที่ต้องจัดเป็นรสแปลกใหม่อีกรสหนึ่ง จากบรรดารส ที่คนธรรมดา เราเคย
    รู้รสกันมาในวงแห่ง โลกิยารมณ์ ความจริง ตามธรรมดา สิ่งที่เรียกกันว่า รส
    นั้น เป็นของอธิบายยากมาก บางอย่าง ไม่มีทาง จะเทียบเคียง เสียเลย เช่น
    นาย ก. ไม่เคยกิน ของหวาน เลย นาย ข. ก็ไม่อาจที่จะ อธิบายให้ นาย ก.
    ทราบได้ว่า รสหวานนั้น เป็นอย่างไร จะว่า ตรงกันข้ามกับ ขม กับ เค็ม กับ
    เปรี้ยว หรือ อะไรทุกอย่าง นาย ก. ก็ไม่อาจทายได้ว่า รสหวาน นั้นเป็นอย่างไร
    แม้ นาย ข. จะคิดค้นหา คำใดมาพูด ก็ไม่ได้  คงได้แต่ว่า หวานๆ อยู่อย่างเดิม
    นั่นเอง นี่คือ ความเป็น ปัจจัตตัง และ ความเป็น ของอธิบายให้ชัด ไม่ได้ ของรส
    ส่วนรสของ พระนิพพาน ก็ทำนองเดียวกัน เป็นแต่ ยิ่งยากขึ้นไป กว่านั้น อีก
    หลายเท่านัก แม้ในทาง ที่จะให้เปรียบเทียบ หรือ คาดคะเน ก็เมื่อ นาย ก.
    ไม่ควรจะดื้อเถียง นาย ข. ว่า รสหวานไม่มีในโลก, และ ทางที่ดีที่สุด นาย ก.
    ควรใช้ความพยายาม จนหาน้ำตาล มาชิมดูได้ ด้วยตน ก็จะรู้ว่า หวานเป็น
    อย่างไร ฉันใด ผู้ที่ยังไม่ถึงนิพพาน ก็ไม่ควรปฏิเสธ รสของนิพพาน. แต่
    ควร ตะเกียกตะกาย จนได้ชิมรสของพระนิพพาน ด้วยตนเองฉันนั้น

    ก่อนแต่จะจบเรื่องนี้ อยากจะเล่านิทาน ฟังกันเล่น สักหน่อยหนึ่ง เต่าตัวหนึ่ง
    เป็นสหาย กับ ปลาตัวหนึ่ง วันหนึ่งได้พบกัน ปลาถามว่า 

    "สหายเอ๋ย, ท่านไปที่ไหนเสียเป็นนาน?"
    "ไปเที่ยวบนบกมา" เต่าตอบ
    "บกเป็นอย่างไร?" ปลาถาม
    "อ๋อ บกงดงามมาก มีอะไรสวยๆ แปลกๆ ลมพัดเย็นสบาย มีอาหารดีเยอะ
    มีเสียงแปลกๆ ซึ่งเราไม่เคยได้ยิน ในที่นี้เลย"
    "ฉันไม่เข้าใจเลย สหายเอ๋ย บกนั้น อ่อนละมุน ให้ศรีษะของเราแหวกว่าย
    ไปได้สะดวกเช่นนี้หรือ?"
    "ไม่ใช่"
    "บกไหลเอ่อไปได้ตามร่อง เช่นนี้หรือ?"
    "ไม่ใช่"
    "บกเย็นชุ่ม ซึมซาบ เอิบอาบ เช่นนี้หรือ ?"
    "ไม่ใช่"
    "บกเป็นละลอก ริ้วๆ เมื่อถูกลมพัดหรือ ?"
    "ไม่ใช่"

    แม้ปลาจะตั้งคำถามมาอย่างไร คำตอบก็มีแต่ "ไม่ใช่" ทั้งนั้น ในที่สุด
    ปลาก็หมดศรัทธา ประณามเต่าว่า "สหายเอ๋ย ท่านโกหกเสียแล้ว เอาสิ่งที่
    ไม่มีจริง เป็นจริง มากล่าว" แต่เต่าก็ ไม่รู้ที่จะตอบ สหายของตน อย่างไรดี
    ในที่สุด ก็ได้แต่ ค่อยคลาน กลับขึ้นบกอีก เต่าได้เที่ยว ไปบนบก อีกใหม่, บนบก
    ซึ่งสหายของเขา ไม่เคยนึก และ ไม่ยอมเชื่อว่ามี ! เต่าได้เที่ยวไปวันแล้ววันเล่าๆ
    บนบก ซึ่ง สหายของเขา หาว่า เขาโกหก !!

    นิทานเรื่องนี้ จะอาจเป็น เครื่องรองรับ ความเป็นปัจจัตตัง และ การพูดบรรยาย
    ไม่ได้ ของศานติ- อาหารของดวงใจ ชั้นพิเศษ ชั้นยอดสุด, ได้บ้างกระมัง, น้ำกับ
     บก ต่อติดกันอยู่ ห่างกัน เพียงชั่วเส้นริมน้ำ เส้นเล็กๆ ที่ริมสระเท่านั้น แต่ปลาก็
    ไม่อาจรู้ หรือแม้แต่คาดคะเนว่า บกเป็นอย่างไรได้เลย พระพุทธองค์ตรัสว่า โลก
    คือโอกะ หรือโอฆะ (แปลว่า น้ำ ทั้งสองศัพท์) สัตว์โลก ก็คือผู้ที่จมอยู่ในโลก
    หรือน้ำ นั่นเอง พระนิพพาน เป็นฝั่งเกาะที่รอดพ้น แต่น้อยคนนักที่จะว่ายออกไป
    ถึงเกาะ ดุจพวกนกที่ติดบ่วงแล้ว น้อยตัวนักที่จะหลุดไปได้ ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ
    ของนายพราน ฉันใด ก็ฉันนั้น

    ผู้ที่ตกโลก หรือ จมโลก ก็คือ ผู้ที่รู้จักแต่โลก หรือ กามคุณ ซึ่งเรียก ในที่นี้ว่า
    อาหารของฝ่ายกาย หรือ โลกิยะนั่นเอง
    เมื่อรู้จัก แต่อย่างเดียว ก็ไม่ (หรือ มักจะไม่) เชื่อว่า บก หรือ โลกุตตระ มีอยู่
    ณ ที่ใดอีก เช่นเดียวกับปลา ก็บัดนี้ การที่จะเดินทางไปสู่บกนั้น ผู้เดินต้องกิน
    "อาหารของดวงใจ" ดังที่กล่าวมาแล้ว การที่ ไม่ค่อยมีใครสนใจ
    ในเรื่องอาหารของดวงใจ ก็เพราะไม่เคยคิดที่จะเดินทางไปสู่ "บก"นั่นเอง !

    อาหารของดวงใจ มีหลายชั้นนัก เพราะฉะนั้น ย่อมจะมีผู้แสวง และ
    เสพได้ในชั้นต่างๆ บางชั้น เป็นธรรมดา เรารู้ในข้อนี้ได้ ก็โดยที่จะ
    เห็นได้ว่า คนบางคน หาได้ตกโลก เต็มที่ เหมือนกับ บางคนไม่
    เช่นเดียวกับ ถ้าเราจะมองดู ภาพสมมติ สักภาพหนึ่ง เป็น ภาพ
    แห่ง ริมฝั่งทะเล เราเห็นคนบางพวก ตกน้ำ จมมิดอยู่ บางพวก
    ชูศรีษะ ร่อนขึ้นเหนือน้ำ ได้มองดูรอบๆ สังเกตหา ฝั่งบกอยู่
    บางพวก มองเห็นฝั่งแล้ว บางพวก กำลังว่ายมุ่งเข้าฝั่ง บางพวก
    ใกล้ฝั่ง เข้ามามากแล้ว บางพวก ถึงที่ตื้น ยืนถึง เดินตะคุ่มๆ เข้า
    มาแล้ว บางพวก เดินท่อง เพียงแค่เข่า เข้ามาแล้ว บางพวก นั่งพัก
    อย่างสบาย หรือ เที่ยวไป อย่างอิสระบนบก ! เราจะเป็นพวกไหน
    ย่อมไม่มีใครรู้ได้ เท่าตัวเราเอง !! เป็นของน่าคิด

    ที่สุดนี้ หวังว่า ตลอดเวลา ที่มนุษย์ยังคงได้รับรส ของพระพุทธวจนะ
    อยู่เพียงใด คงจะมีสักพวกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พวกบริโภค
    อาหารของฝ่ายกาย อย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว ซึ่งจะเกิดความรู้สึกอึดอัด
    ในความซ้ำซาก และหมด "ทางไปในฝ่ายสูง" ของโลกิยาหาร หรือ
    ลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) แล้วเกิดความสนใจ ในคุณภาพอัน
    สูงสุด ของ โลกุตตราหาร หยิบเอา ลัทธิมโนนิยม (Spiritualism)
    ขึ้นมาพิจารณาดูบ้าง ด้วยกิริยา อันเคารพ และแยบคาย เพราะ
    ยังมีทางไปอีกสูงมาก

    ในนามแห่งพุทธทาส ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดี ที่จะรู้จักท่าน และ
    ขอแสดงความนับถืออย่างสูง ต่อท่านล่วงหน้า

     

    พุทธทาสภิกข				
14 มกราคม 2551 19:56 น.

********จุดแท้จริงของความเป็นคน**********

ลุงแทน

จุดแท้จริงของความเป็นคน !

ข้าพเจ้าเคยพบคนหลายคนที่มีความรู้สึกภายในใจรุนแรง จนแสดงออกมาทาง
กายวาจาว่า ท่านแน่ใจเป็นที่สุดแล้วว่า ท่านเป็นคนเต็มเปี่ยมตามคำแปล หรือ
ความหมายของคำว่า คน. ท่านหยิ่งตัวเอง เพราะเหตุนี้ และเห็นว่า เรื่องที่พวก
เพื่อนๆ นำมาคุยมาเล่า ให้ฟังนั้นยังต่ำเกินไป ไม่ถึงขีดของความเป็นคน หรือ
เป็นเรื่องลัทธิครึ เก่าเกินสมัยเรื่องใด เรื่องหนึ่งเท่านั้น

ทีนี้ ข้าพเจ้า ตั้งอกตั้งใจ พิจารณาดู จุดแท้แห่งความเป็นคน ของท่าน เหล่านั้น
ว่า คืออะไรกันแน่ ในที่สุด พบว่า จุดแห่งความเป็นคน ของท่านเหล่านี้ ตามที่
ท่านเข้าใจ ก็คือ การที่ ท่านสามารถหารายได้มากๆ ทำงานเบา มียศศักดิ์สูงๆ
และสามารถหาความเพลิดเพลินทุกประการ มาให้แก่ตนได้ ตามวิธีหรือลักษณะ
ที่นิยมกันว่า เป็นการกระทำของคนชั้นสูง หรือ จะสรุปให้สั้นที่สุด ความเป็นคน
ของท่าน ก็คือ ความมีเกียรติอันสูงสุด นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เข็มอันชี้จุดแห่ง
ความเป็นคนของท่าน ก็ได้ชี้บ่งไปยัง การได้ทำงานชนิดมีเกียรติมาก มีผลมาก
นั่นเอง และทำด้วยตัณหา คือ ความอยาก เป็นนั่น เป็นนี่.

ความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ได้ขยายตัว ออกไป ตามแนวนั้น อีกว่า คน คือ
สัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเห็นแก่ตัวจัด เป็นทาสแห่งความทะเยอทะยานของตัวยิ่งกว่า
สัตว์อื่นๆ ทุกชนิด และ คน คงมิใช่ สัตว์ที่เกิดมาเพื่ออิสรภาพ และความสุขอัน
สงบ เพราะถ้าเกิดมาเพื่อความสุขสงบ ก็คงไม่ยอมตน เป็นทาสของความ
เห็นแก่ตัว ที่บังคับให้ทำให้คิดเพื่อตัวทุกๆ ชั่วโมง แม้เวลาหลับก็ยังฝัน แม้บน
เตียง ที่นอนเจ็บ ก็ยังครุ่นคิด เพื่อการหาสิ่งบำเรอตัว สัตว์ที่ไม่ใช่คน ย่อมได้รับ
การพักผ่อน หรือ ความสงบ ยิ่งกว่า สัตว์ที่เรียกว่า คน ประเภทนี้ มากนัก

อีกอย่างหนึ่ง คนคือสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่ง ขยาย "พวงอัตตา" หรือ "พวงตัว"
ออกเรื่อยๆ โดยไม่มีเวลาสิ้นสุด และการขยายนั้น ก็เพื่อตนจะได้แบกไว้เอง
เท่านั้น ครั้งแรก มีอัตตาหรือ ตัวเพียงตัวเดียว พอ "ความเป็นคน" มากขึ้น
ก็มี ภรรยา สามี ลูกหลาน ข้าทาสบริวาร หรือ อันเตวาสิก สัทธิวิหาริก
พอกขึ้นเป็นพวง เมื่อสิ่งที่เรียกว่า "บุญบารมี" มากขึ้น บริวารเหล่านั้น
ต่างก็มี การขยายพวงของตัว ออกไปๆ และพวงน้อยๆ เหล่านั้น รวมกันเป็น
พวงใหญ่ พวงเดียว อีกต่อหนึ่ง โดยมี อัตตา ตัวแรกนั่นเอง อ้าออกรับ เป็น
เจ้าของพวง ผู้มีเกียรติ หยิ่งตัวเอง เสมอว่า การที่สามารถ หิ้วพวงใหญ่ๆ
เช่นนั้น ไว้ได้นั้น เป็น "เกียรติอันสูงสุด" นี่เป็น จุดหมายของความเป็นคน
ปริยายหนึ่ง ซึ่งน่าจะสรุปได้สั้นๆ ว่า เกียรติของความเป็นคนก็คือ การเกิดมา
เพื่อแบกพวงอัตตา พวงใหญ่ๆ นั่นเอง กระมัง

อีกปริยายหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะเด่นอยู่มาก ก็คือว่า คนได้แก่สัตว์ชนิดหนึ่ง
ซึ่งเอาเปรียบผู้อื่นเป็น และรู้สึกว่า ผู้อื่นเอาเปรียบตนก็เป็น. ความรู้สึกเช่นนี้
เป็นความรู้สึกที่หาได้ยากในสัตว์ จำพวกนกหนู เมื่อ "ความเป็นคน"
ยังน้อยอยู่ ก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าใครเอาเปรียบตน หรือ ลูบคมตน เมื่อความเป็นคน
ชนิดที่กล่าวนั้น มีมากขึ้น เรื่องนิดเดียว และ ชนิดเดียวกันนั่นเอง กลับเห็น
เป็นเรื่องที่ ผู้อื่นลูบคมตน เอาเปรียบตน ไม่เคารพตน ผู้เป็นหัวหน้าหมู่
อย่างใหญ่หลวง และมักหาเรื่อง ลงโทษ ลูกหมู่ หรือ ลูกพวง เป็นการ
ประดับเกียรติของตน ถ้าจะกล่าว อีกอย่างหนึ่ง ก็ได้ว่า คน คือ สัตว์ที่รู้จัก
ผูกโกรธ หรือแก้แค้นเพื่อนฝูงด้วยกัน ในกรณีที่สัตว์ซึ่งต่ำกว่าคนทำเช่นนั้น
ไม่เป็น จุดหมายของความเป็นคนตามนัยนี้ น่าจะได้แก่ การไม่ยอมให้ใคร
มาลูบคม เล่นได้นั่นเอง

เมื่อข้าพเจ้า ได้สังเกต ลักษณะแห่งความเป็นคนของบรรดาท่าน ซึ่งท่าน
แน่ใจตัวเองว่า ถึงขีดสุด ของความเป็นคน จนพบว่า ท่านหมายถึงอะไร
โดยนัย ที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่า ข้าพเจ้าเข้าใจ ท่านเหล่านั้น ได้ถูกต้อง
ทำให้ต้องซักซ้อมดูอีกเป็นหลายครั้ง แต่ในที่สุด ก็ไม่พบอะไร มากไปกว่านั้น
จึงยุติว่า ความเป็นคน ตามความหมายธรรมดา เท่าที่มีที่เป็นกันอยู่ในจิตใจ
มนุษย์เรานั้น ไปได้ไกล เพียงแค่นั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังไม่พอใจ
ว่า ความเป็นคน มีเพียงเท่านั้นเอง น่าจะมี เป็นอย่างอื่น.

ทีนี้ เราจงชวนกัน มามองไปยัง บุคคลประเภท ที่ไม่มีอัตตา เห็นตนเอง และ
ผู้อื่น เป็นเช่นกับ พืชพรรณ ธัญญชาติ ซึ่งต่างก็เกิดขึ้นแล้ว เจริญงอกงาม และ
ดับไปในที่สุด ตามเรื่องของตนๆ พวงอัตตา ของคนประเภทนี้ ก่อขึ้นไม่ติด
ครั้นหนักเข้า ตัวเองก็ไม่มี คน หรือ สัตว์ก็ไม่มี ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ถือพวกถือพวง
ไม่รู้สึกว่า ได้เกียรติหรือเสียเกียรติ ทำงานเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้ของร่างกาย
นี้ เพียงเพื่อต้านทาน ธรรมชาติ ใช้หนี้ธรรมชาติ ตามที่ปัญญา บ่งให้ทำเฉพาะ
ในด้านกาย เช่น พ่อแม่เลี้ยงตนมา ก็เลี้ยงตอบแทน เมื่อยังไม่หลุด ก็ต้องเลี้ยง
ลูกหลานของตนเอง ใช้หนี้ธรรมชาติอันนี้ ไม่รู้สึกว่ามีใคร เสียเปรียบได้เปรียบ
ในโลกนี้ มีแต่สิ่งทั้งหลายที่หมุนไป ตามเหตุตามปัจจัย ยินดีที่จะให้อภัยกัน
เสมอ ถือหลักความจริง เป็นแนวแห่งการครองชีพ ไม่แสวง"บุญบารมี" มา
เพื่อใช้ อำนวยการ สำเร็จความใคร่ ให้แก่ ความทะเยอทะยานอยากของตน
ไม่อ้าออกรับ สิ่งทั้งหลาย มาเป็นของตน เหล่านี้ เมื่อเรามอง ซึ้งลงไปถึงหัวใจ
ของเขา เรากลับพบว่า จุดแห่งความเป็นคนของเขานั้น ตรงกันข้าม จากของ
คนจำพวก ที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้น ในที่สุด ข้าพเจ้า ก็กระทบกันกับ ปัญหาว่า
ถ้าเช่นนั้น พวกไหนเล่า เป็นคนที่แท้จริง ตามความหมาย ซึ่งอาจเป็นที่พอใจ
ได้ด้วยกันทุกฝ่าย.				
14 มกราคม 2551 08:56 น.

*** ช่างเปรียบเทียบ ***

ลุงแทน

ภูมิศาสตร์กับผู้หญิง
1. ผู้หญิงอายุ 15-20 ปี เหมือนแอฟริกา
ดินแดนที่ยังเป็นธรรมชาติ สดบริสุทธิ์
น่าตื่นตาตื่นใจ ท้าทายให้นักเดินทางท่องสำรวจไปไม่สิ้นสุด

1. ผู้หญิงอายุ 20-30 ปี เหมือนอเมริกา
ถู กสำรวจปรุโปร่งแล้ว สะดวก รู้งาน
คล่องตัว สมบูรณ์แบบที่สุด

1. ผู้หญิงอายุ 30-35 ปี เหมือนอินเดียกับญี่ปุ่น
ร้อน ลุ่มลึก และงดงาม

1. ผู้หญิงอายุ 35-40 ปี เหมือนฝรั่งเศส
ถูกสงครามทำลายย่อยยับไปแล้วครึ่งหนึ่ง
แต่ส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็ยังพอเป็นที่ปรารถนา

1. ผู้หญิงอายุ 40-45 ปี เหมือนเยอรมัน
ไร้สงคราม แต่ก็ยังคงซึ่งความหวังอยู่ดี !

1. ผู้หญิงอายุ 50-60 ปี เหมือนรัสเซีย
กว้างใหญ่ สงบแล้ว
แต่ยังเป็นดินแดน ที่ไม่มีใครอยากไปเที่ยว

1. ผู้หญิงอายุ 60-70 ปี เหมือนอังกฤษ
มีอดีตที่รุ่งเรือง รุ่งโรจน์มากก็จริง
แต่ไร้ซึ่งอนาคต

1. ผู้หญิงอายุ 70 เหมือนไซบีเรีย
ทุกคนรู้ว่ามันอยู่ส่วนไหนของโลก
แต่ไม่ค่อยมีใคร อยากไปเหยียบ
_____
1. ผู้ชายกับผลไม้

2. ชายอายุ 20 เหมือนมะพร้าว
เปลือกเยอะ เนื้อน้อย เรียกร้องมากมาย
แต่ไม่ค่อยให้อะไรตอบแทน

1. ชายอายุ 30 เหมือนทุเรียน
หนามแหลมคม ดูอันตราย แต่อร่อยที่สุด

1. ชายอายุ 40 เหมือนแตงโม
ลูกโต กลมกลิ้ง รอบจัด จับไม่ค่อยได้
ไ ล่ไม่ค่อยทัน แต่ให้น้ำแตงโมฉ่ำหวานชื่นใจ

1. ชายอายุ 50 เหมือนส้มแ มนดาริน
ปีหนึ่งจะมีมาให้ลิ้มรสเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น

1. ชายอายุ 60 เหมือนลูกเกด
อดีตผลองุ่นที่ไม่มีน้ำองุ่นอีกแล้วตลอดอายุขัย
หมดน้ำยา ยู่ยี่และเหี่ยวแห้งลงไปทุกวัน
_____
ผู้หญิงกับกีฬา
2. หญิง อายุ 18 เหมือนลูกฟุตบอล
ที่มีผู้ชาย 20 คน คอยวิ่งไว่ล่าเธออยู่ตลอดเวลา

1. หญิง อายุ 28 เหมือนลูกฮอกกี้
ที่มีผู้ชาย ! 8 คน คอยวิ่งไล่ล่าเธออยู่ตลอดเวลา

1. หญิง อ ายุ 38 เหมือนลูกกอล์ฟ
ที่มีผู้ชาย 1 คน พยายามตีเธอ ให้ออกไปจากเขา อยู่ตลอดเวลา

1. หญิงอายุ 48 เปรียบเสมือนลูกปิงปอง
ที่ผู้ชาย 2 คน ไม่ต้องการเธออีกต่อไป
พวกเขาจึงต้องคอยตบผลักเธอให้ไปอีกฝ่ายตลอดเวลา				
13 มกราคม 2551 21:48 น.

จิตที่อิสระดีที่สุด

ลุงแทน

จิตอิสระที่สุด

1) ในการดำรงชีวิตประจำวัน สติและสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพราะสองสิ่งนี้จะเป็นตัวคอยกระตุ้นความนึกคิดของเราให้ฉับไวรอบคอบแจ่มใส
พร้อมเสมอที่จะรับสถานการณ์ทุกอย่างมันอุบัติขึ้นในแต่ละวินาที ทำให้เกิดปัญญาตื่นตัวทั่วพร้อมที่จะรู้เท่าทันอารมณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที เป็นการเปิดใจพร้อมยอมรับสิ่งต่าง ๆ ด้วยดวงใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหว สติปัญญาไม่ใช่การเพ่งพินิจความคิดนึกอันเฉื่อยชา หรือครุ่นคำนึงอย่างหงอยเหงา แต่เป็นการเบิกบานแจ่มใสมองโลกและผู้คนด้วยสายตาอันเปี่ยมด้วยมิตรไมตรีเอื้อเฟื้อเป็นสันติสุข การฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลย เป็นการกำหนดสติอยู่ที่ความคิดให้สดใสอยู่เสมอในอิริยาบถต่าง ๆ การทำงานด้วยจิตใจร่าเริงเบิกบาน คือ การฝึกสมาธิ

2) ในการประจัญหน้ากับอุปสรรคแห่งชีวิต เราต้องตรงเข้าใจยังต้นตอของปัญหานั้นอย่างอาจหาญ การหลบหลีกไม่ใช่ที่สิ้นสุดของอุปสรรคแต่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนั้นให้ย่อยยับลงไปจึงเป็นการแก้ปัญหา เราต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดแห่งปัญญาและความรอบคอบ การฝึกฝนจิตให้แน่วแน่มั่นคงจึงเป็นประโยชน์แก่เรามากในการตัดสินใจเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตจึงกล่าวได้ว่า“ อยู่ในโลกอันรุ่มร้อน โดยเราไม่ไปเป็นทุกข์กับความรุ่มร้อนนั้น” ซึ่งในการดำเนินชีวิตของสังคมอันยุ่งเหยิงบุคคลผู้มีใจไม่ยึดติดในมายาลวงของโลก ยอมมีความมั่นคงเข้มแข็งอดทนในแนวทางที่ถูกต้อง มีใจเบิกบานยอมรับความเป็นไปในทุกสถานการณ์พร้อมจะเผชิญชีวิตด้วยความนึกคิดอันไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ความเย็นฉ่ำของชีวิตย่อมเป็นผลมาจากการปลดปล่อยตนเองออกจากการฉกฉวยกุมมายาเอาไว้ ความสมถะสันโดษ รู้จักปล่อยวางสิ่งอันจะพาให้ชีวิตหนักเหนื่อยโดยเปล่าประโยชน์เป็นเคล็ดลับสู่อิสระท่ามกลางพันธนาการอันหนักหน่วง
ของสังคมที่สับสนอลหม่าน เมื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระแล้วเราจะรู้สึกได้ทันทีว่า การใช้ชีวิตนั้นช่างเบาสบายปลอดโปร่งเสียเหลือเกิน เหมือนนกที่โผบินออกสู่ท้องฟ้ากว้างไกลไร้ขอบเขต จิตเราย่อมได้รับอิสรภาพไม่ถูกผูกมัดด้วยโซ่ตรวนของโลกและปัญหา

 3) เราสามารถเรียนรู้ธรรมะได้จากทุกสิ่งที่อยู่รายล้อมและภายในตัวเรา แม้ว่าเรามิได้อยู่ที่วัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมเราก็ยังสามารถปฏิบัติที่บ้าน ที่ทำงาน ทุกเวลานาทีที่เรากำลังหายใจอยู่ เพราะว่าธรรมะย่อมปรากฏอยู่รายล้อมรอบตัวเราสรรพสิ่งกำลังแสดงธรรมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่า บุคคล สัตว์ ต้นไม้ภูเขา ล้วนกำลังสั่งสอนบอกให้เรารับทราบธรรมอยู่เสมอ ซึ่งการปฏิบัติธรรมตามพุทธศาสนา คือ การมีชีวิตอยู่ในแต่ละขณะปัจจุบันที่จิตเป็นอิสระมีเสรีภาพและสันติสุขอยู่ทุกวินาที เมื่อเราฝึกนั่งภาวนา เดินจงกรม เราต้องตั้งใจปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ แม้นอกเวลานั้นเราก็ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกันโดยการมีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ไม่เผลอ ไม่ยุ่งเหยิงรู้ถึงสิ่งที่กำลังเป็นไป

4) พระพุทธเจ้าที่แท้จริงไม้ใช่ร่างกายตัวตนของพระองค์แต่เป็นคำสอนที่เป็นความจริงอันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ว่าพระพุทธองค์จะเกิดมาในโลกนี้หรือไม่ก็ตาม ธรรมะหรือความจริงมันก็มีอยู่แล้วเป็นธรรมดา คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง(อนิจจัง) ย่อมนำความทุกข์กายทุกข์ใจมาให้ (ทุกขัง) และทุกสิ่งล้วนไม่ใช่ตัวตนอันพึงยึดมั่นสำคัญหมาย (อนัตตา) พระองค์เพียงมาพบ มาบัญญัติ มาแสดงแนะนำสั่งสอน และกระทำให้แจ้งเท่านั้นเอง การบูชานับถือพระพุทธเจ้าต้องปฏิบัติตามคำสอนที่ถูกต้องตามกฎไตรลักษณ์ โดยฝึกจิตตามแนว ศีล สมาธิ ปัญญา

 

 5) ในชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่เราต้องเฝ้าคอยด้วยอาการอันสงบ ฤดูกาลหมุนเวียนแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์และความสุขที่ผ่านเข้ามามันก็ไม่มีอะไรใหม่เป็นแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆชีวิตคนเราก็แปรเปลี่ยนในทุกขณะ สุขทุกข์ก็คือการหมุนเวียนเอาสิ่งเก่า ๆ เดิม ๆ กลับมาอีกเท่านั้นเอง เมื่อเราได้ตระหนักซึ้งถึงการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ความอึดอัดกลัดกลุ้มย่อมบรรเทาลงจะทำให้จิตใจสงบเย็น เพราะได้มองเห็นธรรมชาติของชีวิตว่ามันเหมือนฤดูกาลไม่ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลง มีร้อน-เย็น-หนาวฝนตก ไม่คงที่

 6) เมื่อมีเรื่องผิดพลาดเลวร้ายผิดหวังพลัดพรากสูญเสียเราจะต้องปลงให้ตก คือมันอยู่ที่ความคิดของเราว่า เราจะคิดถูกหรือผิดเราจะคิดให้ปลงก็ได้ หรือจะคิดให้ตัวเองเป็นทุกข์ก็ได้ ถ้าเราคิดเป็นก็จะไม่ทุกข์ เช่น คิดว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”“มันเป็นของพรรค์นั้นแหละ” “ปล่อยวางเสียบ้างซิ” “จะไปยึดมั่นอะไรกันมากมาย” ที่สุดแต่บุญแต่กรรมเถอะ” “ ปลงเสียเถอะแม่จำเนียร” “รู้จักหยุด ยอม เย็น เสียบ้างซี” เพราะการปลงเป็นการยุติเรื่องนั้นให้หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ให้ลุกลามเผารนจิตใจเราอีกต่อไป เมื่อทำใจได้ว่าทุกเรื่องมันเป็นธรรมดาของมันจะต้องเกิด-ดับ อยู่อย่างนั้น ปัญหาความทุกข์ก็จบที่จิต (ปัญญา)

 7) โลกนี้มันย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่มีอะไรได้ดังใจเรา มันมีเหตุปัจจัย เหตุผลเกิดขึ้นมา เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น กรณีนั้นก็ต้องเกิดขึ้น เราจึงต้องปลง ส่วนจะจัดการแก้ไขต่อไปอย่างไร ก็ต้องดูว่ามีเหตุปัจจัยให้แก้ไขได้หรือไม่

 8) ความเงียบสงบคือสายธารอันชุ่มเย็น ซึ่งไหลเลี้ยงจิตวิญญาณของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ความเงียบแห่งดวงจิตทำให้เกิดการผ่อนคลายเมื่อเรารู้สึกตัวว่าเหน็ดเหนื่อยกับงานธุรกิจปัญหาชีวิต ให้ลองสำรวมใจอยู่กับตัวเอง ณ มุมสงบ ที่บ้าน ใต้ต้นไม้ริมน้ำ หรือตามธรรมชาติที่ใดก็ได้ จะทำให้ความอ่อนล้าเหน็ดเหนื่อยจะผ่อนคลายเบาลง พร้อมกับความรู้สึกแบบใหม่ที่เป็นดุจกระแสธารเย็นเยือกที่ค่อย ๆ เลื่อนไหลเข้าไปในกายและจิตของเราเอง เราต้องหมั่นพักจิตใจอยู่บ่อย ๆ เพื่อสะสมพลังอำนาจจิตให้เข้มแข็งแกร่ง และผ่อนคลายเบาสบายไปด้วยกัน

9) คนดิบที่ไร้เหตุผล ต้องพัฒนาให้มีเหตุผลเสียก่อนแต่ยังไม่พอ จะต้องพัฒนาให้สูงเหนือขึ้นไปกว่านี้คือ ต้องให้พ้นจากเหตุผล คือ ให้พ้นจากกรงขังของเหตุผลอีกขั้นหนึ่งด้วยจึงจะถึงที่สุด การพูดคิด ทำอย่างมีเหตุผล เท่ากับยังเล่นยึดติดกับเหตุผลอยู่ ความทุกข์วุ่นวายก็ยังไม่หมดไป มีแต่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เพราะต่างคนต่างก็มีเหตุผลจึงไม่ยอมกัน ท่านต้องอยู่นอกเหตุ เหนือผล ให้ได้

 10) การที่จะ ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นไม่จำเป็นต้องรอในชาติหน้าหรือชาติไหน เพราะปัจจุบันชาติปัจจุบันขณะเวลานี้เดี๋ยวนี้ เป็นโอกาสเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะนำความหลุดพ้นให้แก่ตัวเอง

 1 1) เมื่อใดที่ท่านมองเห็นสังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ไม่หลงในความสุขของโลกอันนี้จึงเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด

12) การเผชิญหน้ากับปัญหาชีวิตอย่างตรง ๆ ไม่ใช่เรื่องการดันทุรังหรือบ้าระห่ำ แต่เป็นการเผชิญหน้าต่อความเป็นจริงของชีวิต โดยไม่หลอกลวงตนเอง และ ผู้อื่น ทำให้มองเห็นอย่างตรงไปตรงมาจนยอมรับทุกสภาพทุกสภาวะที่เกิดขึ้นได้ จิตจึงเป็น อิสระ

 13) ปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น เราสามารถหาคำตอบได้จากปัญญานั้นไม่ต้องไปแสวงหาคำตอบที่ไหนให้เหนื่อยยาก และใครที่ไปแสวงหาคำตอบจากที่อื่น ไม่แสวงหาเอาจากปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เท่ากับกำลังค้นหาผิดทาง

 14) วิธีการอยู่เหนือความทุกข์ใจ เราต้องมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยตัวเองให้หลงเพลิดเพลินไปกับความคิดฝันจมอยู่กับโลกแห่งจินตนาการแต่ต้องกล้าเผชิญหน้ากับโลกที่แท้จริง ซึ่งเป็นโลกที่ลึกลงไปยิ่งกว่าโลกที่ตาเห็น หรือโลกแห่งประสาทสัมผัส นั่นคือโลกภายในจิตใจตัวเอง

 15) ท่านที่ต้องการความรู้แจ้ง สงบเย็น ไร้ทุกข์ จะต้องเรียนรู้ศึกษาโลกและชีวิตให้ถึงแก่นแท้ ต้องรู้จักถือสิ่งที่ควรถือต้องรู้จักวางในสิ่งที่ควรวาง รู้จักเก็บในสิ่งที่ควรเก็บ รู้จักทิ้งในสิ่งที่ควรทิ้ง มิฉะนั้นจะมีแต่หลงทางวนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น จึงต้องรู้จักทางจึงจะไม่หลงทาง

 16) ท่านควรทำความเข้าใจในสภาวะของทุกสรรพสิ่งว่าทุกสิ่งมีการ“ เกิด เปลี่ยนแปลง แล้วก็ว่างเปล่า” ไม่มีอะไรมั่นคงถาวรยังยืนเป็นเช่นนั้นตลอดไป จงยอมรับความจริง แล้วปลดปล่อยละวางออกไปจากจิต ฝึกจิตให้ไม่มีอะไรค้างคาใจติดกับอะไร

 17) เมื่อจิตใจรับอารมณ์จากภายนอกแล้วไม่ยึดถือ ปรุงแต่งเป็นเราเป็นของเรา มีแต่สติปัญญาที่จะจัดการกับอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้อง จิตก็สงัดสงบจากอารมณ์ทั้งปวง เปรียบเสมือนเสียงแห่งความเงียบของมือที่ตบข้างเดียว ปราศจากมืออื่นมาตบด้วย จึงไม่มีอะไรมากระทบให้เกิดเสียง (ให้เกิดอารมณ์)ความเงียบสงัดชนิดนี้จึงดังก้องอยู่ในใจ กลบเสียงของโลกแห่งการตบมือสองข้างเสียสิ้น นี่คือการระงับดับทุกข์ที่แท้จริง เพราะพุทธะองค์จริง คือ ความเบ่งบานถึงที่สุดของธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งมีอยู่แล้วในคนทุกคน ซึ่งไม่ต้องแสวงหาจากภายนอกเลย ด้วยเหตุที่คนทั่วไปนั้นมัวแต่ยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายโดยความเป็น ตน เป็นของตน อันมิใช่ความจริงแท้ของธรรมชาติจึงต้องเป็นทุกข์และวกวนอยู่ในสังสารวัฏไม่จบสิ้น

18) ความเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์พระอรหันต์ก็มีอยู่แล้วในตัวเรา คือ เมื่อใดที่กิเลส ความอยากความทุกข์ที่ห่อหุ้มจิตใจเราได้ถูกทำลายหมดสิ้นไป เมื่อนั้นการเป็นพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ ก็จะปรากฏออกมาเอง

 19) ชาวพุทธที่แท้จะไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่าชีวิตและความตายเป็นเพียงธรรมชาติธรรมดาของโลกเท่านั้น ทำให้หมดเยื่อใยต่อโลกเสียแล้วไม่ได้เสพติดรสชาติของการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เมื่อจะตายขอตายอย่างมีสติรู้ตัวทั่วถึง เผชิญหน้ากับความตายอย่างสงบระงับ ไม่ห่วงหวงอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งใด ไม่เรื่องมากวุ่นวายจนตายแบบไร้สติ

20) ส่วนมากนักปฏิบัติธรรมมือใหม่หัดฝึก มักจะมองข้ามเรื่องจิตใจจึงไปเน้นแต่รูปแบบวิธีการท่าทางภายนอก ชอบไปกำหนดทิศทางการเดินตามอิริยาบถที่ถูกให้ทำเหมือนกับหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ โดยลืมสาระสำคัญว่า แท้ที่จริงเราต้องปฏิบัติที่จิตใจ ร่างกายภายนอกไม่ใช่ประเด็นสำคัญ (ยกเว้นพวกมือใหม่ที่ยังไม่เห็นจิตตัวเอง ควบคุมจิตไม่ได้ก็ต้องกำหนดที่กายไปก่อนก็ได้) ดังจะพบว่า บวชกายยังไม่สู้บวชใจ เพราะบางคนบวชกายโกนหัวเข้าวัดเป็นนักบวช แต่จิตใจตกต่ำ และ ปฏิบัติผิด ๆ ยิ่งกว่าชาวบ้านหัวดำที่บวชใจอยู่กับบ้านเสียอีก การบวชใจทำได้ทุกฐานะ ทุกเวลา ทุกโอกาสไม่จำเป็นต้องหนีสังคม หนีโลกออกไปสู่ป่าเขาหรือเข้าวัด เราสามารถปฏิบัติที่จิตฝึกที่จิต ได้ทุกเวลา ทุกขณะ ทุกสถานที่ เพราะการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงอยู่ที่การดูแล ควบคุม เรียนรู้ ศึกษา อาการพฤติกรรมของจิตว่า มันคิดอะไรอยู่ สุขทุกข์วุ่นวายเรื่องอะไร ดู รู้ เห็น จิตแล้วปลดปล่อยความคิดอารมณ์ต่าง ๆ ออกไปจากจิตก็จบ

 21) ทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธะอยู่แล้ว จึงมีโอกาสตรัสรู้คือทำปัญญาให้แจ้งดับทุกข์ทางใจได้ การแจ่มแจ้งในตัวเองหรือ การเข้าถึงพุทธะนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบใด ๆ จากภายนอก แต่เป็นเรื่องภายในจิตใจที่ปลดปล่อยอารมณ์ดีร้ายได้เสียออกไป และไม่ยึดติดยึดถือสิ่งใดๆ ในโลก

 22) ไม่ว่าท่านจะเคยทำความชั่วร้ายเลวทรามมาขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดที่ท่านได้ฝึกจิตใจจนเกิดญาณปัญญาลุกโพลงขึ้นเพียงวาบเดียว ผลกรรมใด ๆ ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดก็จะถูกเพิกถอนออกไปจากใจเสียสิ้นในเวลาเพียงชั่วอึดใจเดียวที่ญาณปัญญาได้กระทำหน้าที่ถึงที่สุด

23) การคิดปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ผูกมัดมนุษย์ให้ถูกคุมขังไร้เสรีภาพ จึงถูกความคิดกักขังไว้ในกรงแห่งความทุกข์ และอวิชชา (ความไม่รู้) แต่ถ้าท่านสามารถทำลายความคิดปรุงแต่งเสียได้ ใจท่านก็จะเป็นอิสระไม่ถูกผูกมัดร้อยรัด จะมีปัญญาเห็นทุกสิ่งตามที่เป็นจริงตามสภาพมัน

 24) ไม่ว่าท่านจะไม่ได้เรียนพระไตรปิฏก พระปริยัติพระสูตรไม่รู้บาลีสักตัว ไม่ได้เรียนศึกษาธรรมะสักนิด ก็ไม่เป็นไรแต่ขอให้ท่านศึกษาเรียนรู้ที่ตัวที่ใจท่านเอง เพื่อให้แลเห็นทุกข์ทางดับทุกข์ด้วยปัญญาของท่านเอง เท่ากับท่านรู้แจ้งธรรมดี ที่สุด แล้ว

 25) หากใครเกิดความรู้สึกว่ามี ถูก-ผิด ได้-เสีย สมหวังผิดหวัง สุข-ทุกข์ ด้วยความยึดถือในใจแล้ว คราวนั้นแหละพึงรู้เถิดว่า จิตของตนยังไม่ออกจากบ่วงบาศอันเนียวแน่นของอุปาทาน จิตท่านจะเกิดความสูง-ต่ำ ไม่เป็นกลาง ท่านจงทำจิตให้เป็นปกติเฉย ๆ ไม่ว่าเรื่องใดเกิดขึ้นในชีวิตก็ตาม เพราะจิตเป็นกลางจึงว่างได้

 26) ทุกคนมีแรงพลุ่งไปให้ “ความเกิด” ด้วยอำนาจของตัณหา + อุปาทาน โดยที่เราไม่ทราบว่า ที่แท้อารมณ์ทั้งปวงนั้นก่อตัวพลุ่งขึ้นก็เพียงเพื่อมุ่งกลับสู่สภาพเดิม คือ“ ความดับเหมือนกับพลุที่ยิงขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อถึงจุดสูงสุดก็ย่อมตกลงกลับสู่ที่เดิม คือความดับนั่นเองจึงเห็นว่าอารมณ์ทุกชนิด ไม่ว่าดี-ร้าย-ได้-เสีย เมื่อมันเกิดขึ้นมา มันย่อมกลับไปสู่ความดับของมันเป็นธรรมดา จึงไม่ควรไปยึดถือจริงจังอะไร

27) คัมภีร์ คือ บันทึกที่ถูกคัดลอก และ ถูกนักปราชญ์แก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมา ผู้แก้ยิ่งเป็นปราชญ์เท่าใด ก็ยิ่งแก้ไขมากเท่านั้น จึงยิ่งมีทางที่จะผิดไปไกลมากเท่านั้น ส่วนธรรมะแท้นั้นคัดลอกไม่ได้ ผิดไม่ได้ ถูกไม่ได้ ถ่ายทอดไม่ได้ สอนไม่ได้ จึงเลอะเทอะไม่ได้รู้ได้เฉพาะตัว เป็นปัจจัตตัง ซึ่งคัมภีร์แท้เล่มเดียวคือ ความล้ำลึกที่ต้องหยั่งลงไปให้ถึงแก่นแท้ของชีวิต มองให้เห็นด้วยปัญญาตัวแท้ว่า ชีวิตมันไร้แก่นสารสาระ จะเอาจริงให้มันเป็นเช่นนั้นตลอดไปไม่ได้

 28) คนเรารักสุข ขยะแขยงทุกข์ จึงแสวงหาสุขยิ่งขึ้นไปจึงยึดติดสุขทุกระดับ ส่วนธรรมะแท้นั้นเป็นเรื่อง ปล่อยวาง ทั้งสุขและทุกข์ไม่เอาทั้งคู่ ทำใจให้เป็นกลางจึงวางได้ เพื่อเข้าสู่ความดับทุกข์ ในที่สุดจึงค้นพบว่าที่แท้ สุข” เป็นเพียงลม ๆ แล้ง ๆผ่านมาผ่านไปชั่วแวบเดียว ประเดี๋ยวประด๋าว เป็นเพียงมายาลวงไม่มีอยู่จริง ผู้ที่เข้าไปหลงติดอยู่ในสุข จึงเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป

29) สังสารวัฏฏ์ เปรียบเหมือนทะเลไฟที่ภูเขาพ่นออกมาท่วมอยู่รอบทิศธรรมะเป็นสิ่งเดียว จะเป็นเรือที่ปลอดภัยร่มเย็นในท่ามกลางทะเลไฟอันแผดเผานี้ เรือธรรมนั้นลอยอยู่ในทะเลไฟคือ จุดที่เย็นที่สุดแม้จะอยู่ท่ามกลางเตาหลอมเหล็กที่ร้อนระอุนั่นคือ นิพพานเป็นสิ่งที่หาพบได้ท่ามกลางสังสารวัฏฏ์นี่เองหรือความไม่เป็นทุกข์หาได้จากการเป็นทุกข์นั่นเอง มันอยู่ที่ใจ หรือความคิดของเราเอง

 30) การมีสติรู้เท่าทันอาการต่าง ๆ ของกายนั้นยังไม่พอเราต้องมีสติรู้พร้อมถึงลมหายใจในแต่ละครั้ง การเคลื่อนไหวแต่ละหน ความคิดทุกความคิด ความรู้สึกทุกความรู้สึก คือ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเรา

31) การแก้ปัญหา และ การจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราจะต้องมีหัวใจที่สงบ และควบคุมตัวเองได้การงานนั้น ๆ จึงจะได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้ปล่อยให้ความไม่อดกลั้น และโทสะเข้าครอบงำ งานของเราก็จะหมดความหมายไร้คุณค่าทันที

 32) สติเป็นทั้งมรรคและผล ในเวลาเดียวกัน เมื่อเราฝึกสติเพื่อให้ได้สมาธินั้น สติก็เป็นมรรค แต่ตัวสติเองก็เป็นหัวใจแห่งความตื่น ความเบินบาน สติจึงเป็นผลด้วย การมีสติก็คือการมีชีวิตสติช่วยให้เราปลอดจากการขี้หลง ขี้ลืม ฟุ้งซ่าน สติช่วยให้มีชีวิตอยู่ด้วยความปลอดภัย ถ้าเรามีสติอยู่ทุกเวลานาทีอยู่กับปัจจุบันทุกขณะ ความทุกข์วุ่นวายเร่าร้อนใจ จะเกิดขึ้นมาไม่ได้เราจึงต้องฝึกจิตให้มีสติอยู่ตลอดเวลาอย่าเผลอ ถ้าเผลอก็รู้เท่าทันมันแล้วกำหนดสติอยู่กับความรู้สึกตัวทุกขณะ

 33) จุดมุ่งหมายในการนั่งสมาธิมิใช่เพื่อคิด นึก คาดคะเนเดา หรือปล่อยตนให้หลงไปในอารมณ์แห่งความคิดคำนึงแบ่งแยกและไม่ใช่เป็นการอยู่นิ่งเหมือนก้อนหินการ
ทำสมาธิแบบนี้เป็นทางสุดโต่งที่ควรหลีกเลี่ยง การนั่งสมาธิควรดำรงอยู่ในท่ามกลางสถานะแห่งความเป็นจริง ภายใต้การมีสติโดยการกำหนดรู้สภาวะแห่ง จิต

34) การเรียนรู้พุทธธรรมก็ คือ เรียนรู้ตัวเอง คือให้ลืมตัวเองลืมการเป็นตัวเรา ของเรา เมื่อลืมแล้วก็จะพบกับหนทางในการออกจากการยึดติดผูกพันมากมาย จะสามารถสั่งกายและใจของตนกับผู้อื่นให้หลุดออกจากกันได้ ธรรมชาติจิตแท้ก็จะเป็นอิสระไร้เครื่องร้อยรัด เมื่อถึงที่สุดเราต้องอาศัยตนเอง จะหวังพึ่งพาคนอื่นไม่ได้ จริงอยู่ว่าในหลายเรื่องเราสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ แต่สำหรับการเข้าถึงความหลุดพ้นนั้น ไม่มีใครเป็นที่พึ่งของใครได้ ต้องพึ่งพาอาศัยปัญญาของตนเอง

35) เราย่อมไม่ยึดมั่นในชีวิต เมื่อมองเห็นว่าชีวิตนไร้แก่นสารสาระที่จะให้ยึดมั่น เราย่อมผ่อนคลายความทุกข์ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่สมหวัง และไม่ลิงโลดจนเกินเหตุเมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาหากแต่วางใจเป็นกลางว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัย เมื่อปัจจัยแห่งการได้มาพร้อมมูลดังนั้นย่อมมาถึงเรา เมื่อปัจจัยแห่งความพลัดพรากมาประจวบกันเข้าเพียงพอ สิ่งที่เราไม่อยากให้จากไปย่อมจากไปอย่างไม่อาจเรียกร้องได้ นี่คือสัจธรรมของชีวิต

36) การหลุดพ้น คือ การไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับสภาพธรรมทั้งหลาย จำเป็นต้องละทิ้งเครื่องผูกพันทั้งหมด อนิจจัง ทุกขังอนัตตา คือสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นประตูไปฟังพระนิพพานการไขลูกกุญแจเพื่อเปิดประตูไปสู่นิพพาน มี 2 อย่าง บิดซ้ายปิดบิดขวาเปิด มันอยู่ที่เราจะไขกุญแจไปทางไหน คือ ยึด กับ ปล่อยหรือ จับ กับ วาง อยู่ที่ท่านจะเลือกเอาเอง ย่อมนำพาชีวิตท่านไปสู่ที่สุดคนละด้าน

 37) การนั่งสมาธิเป็นการบำรุงจิตใจและร่างกายพร้อมกันไป สมาธิทำให้เราสุขกาย เบาใจ สงบรำงับ วิถีทางระหว่างช่วงแห่งการสังเกตุจิตจนถึงการเห็นแจ้งในธรรมชาติของตนเองไม่ยากจนเกินไป เมื่อเราสามารถทำให้จิตใจสงบระงับ เวทนาและความคิดจึงไม่อาจรบกวนได้ ณ จุดนี้จิตของเราก็รวมเป็นหนึ่งแล้ว ต่อไปจงเฝ้ามองดูความคิดเหมือนยามเฝ้าดูผู้เข้าออกอยู่ที่ประตู จะเห็นชัดเจนว่า มีใครเข้าออก คือ จะเห็นความคิดปรุงแต่งชัดเจน แล้วจงปลดปล่อยให้ออกไปนอกประตู อย่าขังมันไว้

 38) ปัจจุบันคือเวลาสำคัญที่สุด เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ไม่ว่าเรากำลังติดต่อกับใคร กำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม ภารกิจสำคัญที่สุดคือ ควรทำให้ผู้อื่นที่อยู่กับเราในขณะนั้นมีความสุขเราก็จะมีความสุขไปด้วย ในแต่ละปัจจุบันขณะ จึงเป็นเวลาประเสริฐที่สุด ถ้าเราควบคุมอารมณ์จิตใจเราให้เป็นปกติสุขสงบได้ เรื่องราวปัญหาก็จะหมดไป

 39) การประกอบกันขึ้นของขันธ์ทั้ง 5 เป็นเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน การมารวมตัวกันเกิดขึ้นปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ แล้วมันก็แยกแตกสลายดับไป เหมือนเช่นเดียวกับการรวมตัวของก้อนเมฆบนยอดเขาแล้วก็กระจัดกระจายสลายตัวไป ชีวิตเราก็เป็นเช่นนี้เอง

40) เราจะเข้าใจถึงสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างแท้จริง ก็ต้องเข้าใจถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จะเข้าใจถึงความเต็ม ก็ต้องรู้ถึงความว่าง จะเข้าใจถึงความร้อน ก็ต้องรู้ถึงความเย็น จะเข้าใจถึงการดำรงอยู่ ก็ต้องรู้ถึงการไม่ดำรงอยู่จะเข้าใจถึงความสุข ก็ต้องรู้ถึงความทุกข์ จะเข้าใจการมีชีวิตก็ต้องรู้ถึงการตายจาก เพราะทุกสิ่งมันเป็นของคู่กัน มีเกิดก็ต้องดับเราจึงต้องศึกษาทั้ง 2 ด้าน แล้วไม่ยึดติดทั้งคู่				
13 มกราคม 2551 21:44 น.

ความสงบเย็นคือสุขที่ต้องการ

ลุงแทน

ชีวิต....เมื่อถึงวัยหนึ่ง เราต้องการตุ๊กตาของเล่น มาวัยหนึ่ง เราต้องการเสี้อผ้าอาภรณ์และแป้งหอม มาอีกวัยหนึ่ง เราต้องการบ้าน รถ ยศ ชื่อเสียง และมาอีกวัยหนึ่ง เราต้องการเพียงแค่มีลูกหลานคอยเอาใจ ชีวิตต้องการเท่านั้นหรือ....?

ทุกชีวิต....มีเป้าหมายอยู่ที่ความสุข ต้องดิ้นรนแสวงหากันตั้งแต่เด็กจนย่างเข้าวัยชราและต้องเร่งรีบทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำมืด ก็เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขแต่เป็นความสุขที่เกิดจากการดิ้นรน คือต้องวิ่งไปวิ่งมาเพื่อหาเหยื่อมาป้อน มาสนองตอบต่อความต้องการของตนเองอยู่เสมอ คือชีวิตจะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้มีการสนองตอบเท่านั้นครั้นวิ่งหาเหยื่อมาป้อนความต้องการไม่ได้หรือไม่ทัน ก็เกิดความรู้สึกบีบคั้น ทรมานใจให้หงุดหงิดขัดเคือง คือ เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น เมื่อทุกข์เกิด ก็ต้องดิ้นรนวิ่งไปวิ่งมาเพื่อหาทางแก้ไขทุกข์ ให้เราได้เกิดมีสุขขึ้นมาอีกคราวหนึ่ง นั่นเอง

สรุปว่า....ที่ดิ้นรนวิ่งไปวิ่งมาตลอดชีวิตนั้นก็เพื่อหาเหยื่อมาสนองตอบในสิ่งที่เราทั้งหลายสมมุติกันว่าเป็นความสุขและความทุกข์เท่านั้น แต่ทางพระพุทธศาสนามองอย่างลึกซึ้งและไกลไปกว่านั้น คือมองเห็นว่า ที่คนทั้งหลายเห็นว่าสุขนั้นแท้ที่จริงมันเป็นสุกไหม้ ส่วนความสุขที่แท้จริง ก็คือความสงบแห่งใจที่ไม่ต้องตอบสนองด้วยสิ่งใดทั้งสิ้น				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงลุงแทน