17 มกราคม 2550 07:35 น.

รักต่างวัยไดอารี่ออนไลน์ ตอนที่ 6

เชษฐภัทร วิสัยจร

สวัสดีพี่ตะวัน

 

พี่ตะวันรู้ไหม ถึงแม้ว่าพื้นฐานทางครอบครัวของเราสองคนจะต่างกันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราคล้ายกันก็คือ เราเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวเดินทางคล้าย ๆ กัน แม้ประสบการณ์การได้ไปเยือนพื้นที่จำพวก Unseen Thailand ของผมจะเทียบพี่ตะวันไม่ติดก็ตาม

 

เดาจากชื่อล็อกอินที่เขียนไดอารี่พี่ตะวันที่ชื่อว่า กาสะลอง (ตอนแรกผมอ่านว่า กาละสองบาท) แล้วผมมั่นใจเลยว่าพี่ค่อนข้าง อินกับ สถานที่ท่องเที่ยวของเมืองเหนือเป็นพิเศษ 

 

เพราะงี้แหล่ะ เมื่อตอนปลายเดือนมีนาคม 2548 พลันที่ผมรู้ว่าจะได้ไปเที่ยวเชียงราย และจะเลยออกไปเชียงตุงทางชายแดนแม่สายเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมจึงรีบปรึกษาพี่ตะวันก่อนใคร

 

พระตำหนักดอยตุงเป็นสถานที่พี่ตะวันแนะนำให้ผมไปเที่ยวให้ได้ ซึ่งพอไปถึงแล้ว บอกได้คำเดียวว่าที่นั่น คือ สวรรค์ดี ๆ นี่เอง

 

ในขณะที่แดดร้อนเปรี้ยง ๆ ตอนบ่ายสอง ผมโทรศัพท์กลับมาพี่ตะวันว่า สวยมากเลยพี่ พระตำหนักดอยตุง พี่ตะวันช่วยอั๊พไดอารี่ให้ผมหน่อยสิ ว่ามันสวยมาก

 

ผมพูดตอบไปอย่างตื่นเต้น

 

ผมเห็นหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่สมเด็จย่าเคยอ่าน กลับไปกรุงเทพแล้วผมจะไปหาซื้ออ่านให้หมดทุกเล่มเลย

 

ผมพูดย้ำกลับไป

 

มันสวยจริง ๆ นะพี่ จะให้ผมนอนตายลงตรงนี้ก็ยังได้

 

พี่ตะวันตอบตกลงพลางหัวเราะ 

 

จ้า แล้วพี่จะอั๊พไดให้นะ

 

งั้นผมขอฝากกลอนที่เพิ่งแต่งเมื่อเช้าไปลงด้วยนะครับ

 

จ้า ว่ามา เดี๋ยวพี่จะอั๊พกลอนให้ด้วย

 

ครับงั้นเดี๋ยวผมอ่านเลยนะ

 

 

 

ลำนำตะวัน

 

ตะวันทอแสงทองส่องฟากฟ้า
เริ่มเวลาสุขสันติ์เช้าวันใหม่
ลบเลือนความมืดมิดจากจิตใจ
โหมรุกไล่ลีลาแห่งราตรี

เก็จน้ำค้างเคลียคลอล้อไอหมอก
คล้ายเย้าหยอกยิ้มรับอวดสรรพสี
เสียงนกน้อยขับขานสานไมตรี
เปล่งวิถีลำนำท่วงทำนอง

มอบสีสันสดใสให้ผีเสื้อ
ประดับไม้เมืองเหนือเมื่อแสงส่อง
แห่งดอยหมอกดอกไม้ใต้แสงทอง
บนครรลองลีลาตาของวัน

ปลุกคุณงามความคิดจิตมนุษย์
ชำระความชำรุดหยุดถือมั่น
ซึ่งบอดใบ้เบ่งบ้าเข่นฆ่ากัน
เพื่อแบ่งปันแสงธรรมเป็นน้ำใจ

หลงรักคำคารมลมพัดหวน
เปลวแดดอุ่นอบอวลชวนหวั่นไหว
เติมชีวิตวิญญาณสานสายใย
ระบายสีสดใสให้จดจำ

แสบแสงสาดสอดแทรกเหงื่อแตกซ่าน
จินตการร้อยกรองยิ่งร้องร่ำ
แสง-สี-เสียง-เรียงร้อยแต่งถ้อยคำ
เป็นลำนำบทนี้ที่คนเมิน

 

------

 

 

วันนั้นพี่ตะวันเขียนไดอารี่ให้ผมโดยใช้ชื่อว่า
 

จะขอนอนตายลงที่ตรงนี้

 

น่าเสียดายที่ผมลบไดอารี่หน้านั้นไปเสียแล้ว

 

 

แต่ถึงกระนั้นก็เถอะเพียงนึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ขึ้นมาทีไร 
ผมก็ยังรู้สึกเหมือนกับว่าวันที่ผมโทรศัพท์หาพี่ตะวันลงมาจากพระตำหนักดอยตุงวันนั้นเพิ่งผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์และยิ่งเวลานี้ผมรู้ตัวแล้วว่าวันแห่งความสุขนั้นจะไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้อีกยิ่งทำให้ความสุขเก่า ๆ นั้นเพิ่มค่ามากเป็นทวีตรีคูณขอให้ผมได้ย้อนนึกถึงความรู้สึก ณ ตอนนั้นขึ้นมาเถอะ

ผมก็มีความรู้สึกมากเสียจน จะให้นอนตายลงที่ตรงนี้ก็ยังได้

 

 

รักและคิดถึงพี่ตะวันครับ

 


 ต้นไม้				
16 มกราคม 2550 16:06 น.

รักต่างวัยไดอารีออนไลน์ ตอนที่ 5

เชษฐภัทร วิสัยจร

หวัดดีครับพี่ตะวัน

วันนี้ตอนหัวค่ำ ผมไปที่คลีนิคคุณหมอวุฒิยา มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหมอ แล้วรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เหมือนกัน

คุณหมอเล่าให้ผมฟังว่าเรื่องอกหักเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลก โดยทั่วไปแล้วเวลาคนเราเผชิญกับอาการอกหัก ถูกทิ้ง ก็จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกัน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ก็คือ

1. พวกที่เห็นชีวิตสำคัญกว่าความรัก พออกหักก็ไม่เสียใจอะไรมาก กับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

2. พวกที่เห็นชีวิตสำคัญเท่า ๆ กับความรัก พออกหักปุ๊บ ก็โศกเศร้าเสียใจหนักหนาสาหัสอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังพอจะประคับประคองหาทางเอาตัวรอด กลับมาใช้ชีวิตได้แบบคนปกติในที่สุด 

3. พวกที่เห็นความรักสำคัญกว่าชีวิต พวกนี้จะบูชาความรักมาก ในเคสคนไข้ของคุณหมอ กลุ่มที่ เวลาอกหัก แล้วพยายามฆ่าตัวตาย (ซึ่งมีอยู่หลายรายเหมือนกัน) จัดอยู่ในกลุ่มนี้

คุณหมอสรุปให้ฟังสั้น ๆ ว่าคนกลุ่มที่สองกับกลุ่มที่สาม จัดอยู่ในพวก "คนช่างฝัน" คือ มีจินตนาการความรักไว้สวยงาม  ความรู้สึกไว อารมณ์อ่อนไหวง่าย พอความรักในโลกแห่งความเป็นจริงขัดกับสิ่งที่ตัวเองจินตนาการไว้ ก็จะไม่อาจฝืนทนรับความจริงได้

จากนั้นคุณหมอก็ลองให้ผมพิจารณาตัวเองว่าตัวผมอยู่ในกลุ่มใด

"มันแน่อยู่แล้วครับคุณหมอ ว่าผมต้องอยู่กลุ่มที่สองผม เพราะถ้าผมอยู่กลุ่มที่หนึ่ง ผมก็คงไม่มาที่คลีนิค นี่หรอก และถ้าผมอยู่กลุ่มสาม ป่านนี้ ผมคงไปแขวนคอตายที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประท้วงไล่คมช.ไปแล้ว"

คุณหมออธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้คนเราแสดงอาการออกต่างกันเป็นสามกลุ่ม ส่วนหนึ่งแล้วได้รับอิทธิพลมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก 

พวกกลุ่มที่ 2 และ 3 โดยมากแล้วมักมีชีวิตวัยเด็กที่สะดวกสบาย พ่อแม่รักและเอาใจใส่มาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ "ได้รับ" ความรักมาโดยตลอด พอมาวันหนึ่ง รู้สึกว่า คนที่เคยให้ความรักกับเรา เขาไม่อาจให้ในสิ่งที่เคยให้ ก็จะรู้สึกทนไม่ได้

ส่วนคนที่อยู่กลุ่ม 1 ชีวิตในวัยเด็กอาจจะพบความยากลำบากมาจนชิน หรือไม่ก็ผ่านประสบการณ์การเป็นคนไข้ที่เคยอยู่ในกลุ่มที่ 3 หรือ 2 มาก่อน แต่สามารถทำความเข้าใจต่อความเป็นไปของโลกได้ จนพัฒนาตัวเองขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 1

-----------------------------------------

คุยกับคุณหมอ เรื่อง "การให้" หรือ "การรอรับ" แล้วก็อดนึกถึงตอนรู้จักกับพี่ตะวันใหม่ๆ ไม่ได้

หลังจากที่พี่ตะวันชอบมาคอมเม้นอะไรยาวๆ ในไดผมหลายครั้งหลายครา ผมก็เลยเกิดความอยากรู้อยากเห็นว่า "คนนี้มันใครวะ" จนต้องคลิกเข้าไปอ่านได ทั้ง ๆ ที่ปกติ ผมไม่ค่อยอ่านไดคนอื่นอยู่แล้ว

ด้วยความบังเอิญหรือโชคชะตาฟ้าลิขิตอะไร ผมก็ไม่อาจจะอธิบายได้ วันนั้น เพลงที่พี่ตะวันเอามาเปิดลงไดอารี่ เป็นผมอยากได้พอดี เพลง "ใคร" ของบอยด์ โกสิยพงษ์ (ที่เป็นเสียงเด็กร้อง) ผมก็เลย แอ๊ด อีเมล์ ของพี่ตะวันเพื่อจะขอโค้ดเพลง (แค่นี้จริง ๆ นะ) 

แต่หารูไม่ว่า เพลง "ใคร" ของพี่บอยด์ เนี่ยกลายเป็นสื่อรัก ทำให้เรามีโอกาสคุยกันตั้งแต่วันนั้น

เมื่อสองวันแรกที่ผมแอ๊ดพี่ตะวัน วันนั้น ผมทำโทรศัพท์มือถือหล่นหายลงบนรถเมล์สด ๆ ร้อน พอรู้ตัว ก็เดินลงมาจากรถเมล์แล้ว 

พอลงรู้ตัวปั๊บ เกิดอาการเซ็ง เพราะทำอะไรไม่ได้ ก็รถเมล์มันวิ่งไปไกลแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร เลยเข้าไปนั่งเล่นในร้านเน็ต เผอิญมาเจอพี่ตะวันออนไลน์พอดี 

เพียงแค่ผมบ่นให้พี่ตะวันฟังว่า ผมทำโทรศัพท์หายบนรถเมล์ พี่ตะวันก็อาสา โทรไปบอกยกเลิกเบอร์โทร อีกทั้งยังติดต่ออะไรต่อมิอะไรให้ผมอีกหลายอย่าง 

ทั้ง ๆ ที่วันนั้นมันก็สองทุ่มแล้ว

ผมไม่ค่อยเข้าใจนักหรอกว่าทำไมพี่ตะวันต้องช่วยผม คนที่เพิ่งรู้จักทางเอ็มไม่ถึงสองวันมากขนาดนี้

แต่ก็มาเข้าใจจนเมื่อเราได้คบกันแล้ว

ครั้งหนึ่งเรานั่งรถ ตด 888 อยู่ด้วยกัน พี่ตะวันเล่าให้ผมฟังว่า งานอดิเรกที่ชอบทำ ก็คือ "การเอาใจคนอื่น" เพราะ เวลาที่พี่ตะวันสามารถทำให้คนอื่นมีความสุขได้ พี่ตะวันก็จะมีความสุขไปด้วย

ผมฟังแล้วถึงได้คิด ว่างานอดิเรกของพี่เนี่ย

ต่างจากผม ที่มักจะเป็น "การเอาแต่ใจตัวเอง" อยู่เสมอเสียมากกว่า

---------------------------------

ผมเล่าให้คุณหมอวุฒิยาฟัง ว่าผมเสียใจที่มักจะเป็นคนชอบเอาแต่ใจตัวเอง

คุณหมอ ให้กำลังใจว่า "แค่เริ่มคิดจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็ถือว่า เก่งมากแล้ว ดีมากแล้วหยุดโทษตัวเอง แล้วคิด ทำ แต่สิ่งที่ดี ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นเอง"


 

คิดถึงพี่ตะวันครับ

ต้นไม้				
15 มกราคม 2550 08:39 น.

รักต่างวัยไดอารี่ออนไลน์ ตอนที่ 4

เชษฐภัทร วิสัยจร

สวัสดีพี่ตะวัน

ถ้าพี่ตะวันพอจำได้ ช่วงก่อนหน้าที่เรานัดเจอกันครั้งแรกที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์สิริกิติ์ เมื่อต้นปี 2548 เนี่ย ถือว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตของผมทีเดียว 

จุดเปลี่ยนที่ว่านี้ นอกจากจะเพิ่งไปรับผลการเรียนปริญญาตรีที่เพิ่งจบไปหมาด ๆ แล้วยังมีเรื่องความตั้งใจที่จะเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต และ lifestyle ในหลายๆ  เรื่องอีก

ตอนนั้น ผมเพิ่งไปเข้าคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ ส่วนสาเหตุที่ผมไปเรียน (ที่หลายๆ  คนไม่ค่อยเข้าใจ) หากจะบอกตรง ๆ ก็คงเป็นเพราะบุคลิกท่าทางการเดินการมองของผมมักจะไปกวนประสาทสายตา (รวมถึงกวน teen) พวกจิ๊กโก๋ ช่างกล มากถึงมากที่สุด ถึงขนาดที่ว่า นักเรียนพวกนั้นเคยคิดว่าผมเรียนอยู่โรงเรียนคู่อริ จนมาท้าตีท้าต่อยบนรถเมล์เลยทีเดียว

ถือว่าเป็นเรื่องที่ผมคิดไม่ถึงที่พี่ตะวัน ส่ง sms มา ชวนผมไปงานหนังสือ ทั้งที่ผมก็ไม่เคยให้เบอร์โทรพี่ตะวัน และพี่ตะวันก็ไม่ได้เคยขอเบอร์โทรผมมาก่อน

ผมยังจำที่พี่ตะวันแซวผมได้ว่า

"แล้วที่พี่จะเจอต้นไม้พรุ่งนี้ จะเป็นต้นไม้ที่เดินเหมือนช่างกล หรือต้นไม้คนใหม่กันจ๊ะ"

วันนั้นเป็นวันเสาร์ รถติดพอสมควร เรานัดเจอกันบ่ายสองโมงที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์
ผมนั่งรถเมล์จากบ้านท่าน้ำนนท์ไปขึ้นรถไฟใต้ดินที่หมอชิต แล้วเข้าไปงานหนังสือ

เป็นเพราะพี่ตะวันบอกว่ารูปที่พี่ตะวันโชว์ตอนคุยเอ็ม มัน "สวยเกินความจริง" ผมก็เลย ไม่แน่ใจว่า หากเจอพี่แล้วผมจะจำได้ หรือเปล่า

แต่ พอเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินตุปั๊ดตุเป่ หน้าตาคล้าย ๆ คนที่ผมเห็นในเอ็มเดินมาแต่ไกล ผมก็รู้ทันที ว่าคนนี้แหละ เป็นพี่

พอเราเดินดูช้อปปิ้งหนังสือกันจนอิ่มใจ (มีแต่ผมที่ซื้อ)  เราก็นั่งรถไฟใต้ดินกลับไปฟอร์จูน แล้วไปกินพิซซ่าคอมปานีกัน

วันนั้นผมกะจะแชร์ค่าพิซซ่ากับพี่ตะวัน แต่พี่ตะวันขอเลี้ยงผม ด้วยเหตุผลที่ว่า

"ก็พี่เป็นพี่นี่จ๊ะ พี่ก็ต้องเลี้ยงน้องสิ" 

ก็นั่นแหละ
ผมไม่เคยคิดเลย ว่าเราจะได้มาเป็นแฟนกัน เพราะ พี่ตะวันอายุมากกว่าผมตั้งห้าปี อีกทั้งลักษณะท่าทางก็ไม่ใช่สเป๊กผมเสียทีเดียว 

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหกเดือนให้หลังจากนั้น เรามาตกลงปลงใจเป็นแฟนกันได้ยังไง

 

------------------------------------------

 

มาถึงตอนนี้ ปลายปี 2549 ก็จัดได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งของชีวิตของผม

คือ เรื่องหนึ่งพี่ตะวันได้ตัดสินใจบอกเลิกผมไป อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือว่าผมกำลังจะย่างเข้าสู่วัยเบญจเพสในอีกไม่ถึงห้าสัปดาห์

หลวงพี่เคยเขียนวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่คนไทยมักจะกลัว "เบญจเพส" เนื่องจากคนหลายคนที่พออายุย่างเข้า 25 ส่วนมากจะประสบปัญหาต่าง ๆ นานา ที่แก้ไม่ตก

จนคนเราพากันเหมารวมไปว่า เลข 25 เป็นเลขอาถรรพ์
แต่ถ้าจะพิจารณากันด้วยเหตุและผลแล้ว เหตุที่ผู้คนในวัย เบญจเพส มักจะประสบแต่เรื่องร้าย ๆ ก็คงจะเป็นเพราะว่า ด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น วัยนี้จึงเป็นวัยที่ได้รับการคาดหมายว่าควรจะโตเป็น "ผู้ใหญ่" และพ้น จากวัย "เด็ก" ได้แล้ว 

แต่เมื่อคนหลายคนไม่สามารถเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีดำรงชีวิตจาก"เด็ก" ให้เป็น "ผุ้ใหญ่" ได้สำเร็จ คนเหล่านั้นจึงไม่สามารถแบกรับภาระหน้าที่ต่าง ๆ นานา ที่ประดังประเดโถมทับเข้า ปัญหาหลายหลากจึงเกิดขึ้นกับคนอายุ 25 แต่วุมิภาวะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นทั้งหลาย

จึงเกิดการหลงผิดคิดอนุมานเอาไปว่า เลข 25 นี้เป็นเลขอาถรรพ์ ทั้งที่จริงแล้ว อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

-----------------------------

เมื่อตอนที่ผมตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อต้นปี 2548 ผมคิดว่าการปรับปรุงบุคลิกภาพ และ เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่สุด

แต่มาถึงตอนนี้ผมกลับมองว่า คนเราจะมีบุคลิกที่ดีได้ ต้องงดงามออกมาจาก บุคลิก "ภายใน" รวมถึงสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรงต่างหาก 

นับตั้งแต่ที่พี่ตะวันบอกเลิกผมไป
ในปลายปี 2549  จุดเปลี่ยนที่ผมมุ่งเน้นจึงไม่ใช่เรื่องเปลือกกระพี้จำพวกบุคลิกภาพ หากแต่เป็นการพัฒนาศักยภาพทางด้านจิตใจ ทั้งตามแนวทางจิตเวชศาสตร์ และพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

เพื่อรับกับตัวเลข 25 ซึ่งหลาย ๆ คนมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต

 

คิดถึง

จากต้นไม้				
12 มกราคม 2550 12:18 น.

รักต่างวัยไดอารีออนไลน์ ตอนที่ 3

เชษฐภัทร วิสัยจร

สวัสดีพี่ตะวัน

 

ตะกี้เพิ่งคุยกับหลวงพี่ ฟังหลวงพี่เทศน์ เรื่อง "ศีลข้อที่สี่และข้อที่ห้า" แล้วอดนึกถึงตอนที่เรา รู้จักกันใหม่ ๆ ก่อนจะเริ่มคบกันไม่ได้

หลวงพี่บอกว่า เวลาที่จิตใจคนเราอยู่ในภาวะสั่นคลอนสุด ๆ อย่างเช่นคนอกหักอย่างผมเนี่ย การจะปรับเรียกสติกลับคืนมาได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องก่อนจะภาวนาชำระจิตใจก็คือ เราต้องชำระศีลของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน

หลวงพี่จึงลองให้ผมพิจารณาตัวเอง โดยยึดอัตวิสัยให้น้อยที่สุด (เพราะได้พูดไปแล้วเมื่อวานว่า "ภววิสัย" ไม่มีในโลก) ว่าผมมีศีลข้อไหนที่ผิดบ่อย

นั่งคิดนอนคิด แล้วศีลข้อที่ผิดอยู่มากกว่าใครเพื่อนก็คงจะมีอยู่สองข้อ ก็คือ ข้อสี่ และข้อที่ห้า

ศีลข้อที่สี่ "มุสาวาทา" นั้นมิได้มีแต่ เพียงการกล่าวเท็จอย่างเดียว หากแต่ยังรวมถึงการพูดส่อเสียด ว่าร้ายคนอื่นทั้งในที่ลับและที่แจ้ง รวมถึงในโลกไซเบอร์ด้วย

เมื่อผมผิดศีลข้อที่สี่ ผลที่ตามมา ก็ย่อมจะมี "เจ้ากรรมนายเวร" มาทวงหนี้ ด้วยการ กล่าวร้ายและส่อเสียดกลับคืน

ส่งผลให้ผมต้องผิดศีลข้อที่ ห้า ก็คือการ "เสพของมึนเมา" ในที่นี้ คือเสพผรุสวาที ของเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายเหล่านั้น

ในกรณีนี้หลวงพี่ท่านได้ตีความศีลข้อห้า ไว้ ว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามทั้งสุราน้ำเมา กาแฟที่ดืมแล้วบ้า รวมถึงคำพูดที่ส่อเสียดทิ่มแทง หากแม้นเสพ เข้าไปแล้วทำให้ เรา "เสียสติ" จนเป็นอุปสรรคแก่การภาวนาสมาธิ แล้วก็ให้หมายรวมไว้ด้วยกันหมด

คุย ๆ กับหลวงพี่เรื่องนี้ ต้องนึกย้อนไปถึงสมัยที่ผมรู้จักกับพี่ตะวันใหม่ ๆ

เมื่อก่อนสมัยที่ผมเขียน diaryhome ใหม่ ๆ ผมเดาเอาว่า พี่ตะวันคงมาติดใจเอาสำนวน การเขียนที่เสียดเย้ย ของผม จนต้องเขียนคอมเม้นใส่ลงในได ผมทุกวัน

ถึงแม้ผมไม่เคยจะตอบ แต่ผมก็อ่านคอมเม้นของพี่ตะวันอยู่เป็นประจำ เพราะมันมักจะยาวเสมอ

จนเมื่อเรามาคบกันแล้ว ยิ่งผมได้รู้จัก กับพี่ตะวัน ผมยิ่งได้รู้ว่า สิ่งที่พี่ตะวัน "เกลียด" ที่สุด สิ่งหนึ่ง ก็คือ การถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์

แม้ผมจะพยายามอธิบายให้พี่ตะวันฟัง ว่าบางครั้งการถกเถียงเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดการสันดาปทางความคิดในทางวิชาการก็ตาม

แต่พี่ตะวันคงยังยืนกรานที่จะต่อต้านท้อปปิกการ "ทุ่มเถียง" ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชามาร หรือวิชาการอยู่ร่ำไป

ทุกวันนี้ผมเข้าใจพี่ตะวันมากขึ้น ว่าเหตุใดพี่ตะวันถึงไม่เรื่องพรรค์อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นในวงวิชาการ วงเหล้า หรือวงไพ่

หากจะสรรหาคำอธิบายในมุมของ พุทธทาสภิกขุเรื่อง ตัวกรูของกรู แล้ว

ลองได้มาเถียงกัน หากปราศจากซึ่งความเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขาเป็นต้นทุนแล้ว คนเรายิ่งมีความรู้สูงเท่าไร อัตราส่วนของความต้องการที่จะสำแดง "อีโก้" ของตัวตน ก็ยิ่งจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ยิ่งพูดยิ่งคุย ยิ่งหลงตัวตนมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งจะเกิด อคติ จนนำไปสู่ โอกาสที่จะผิดศีลข้อที่ สี่และข้อที่ห้า 

นี่และมั้ง

ตอนที่พี่ตะวันบอกเลิกผมใหม่ ๆ หลวงพี่บอกว่า "You are what you eat"

"คุณกินคำพูดแบบไหนเข้าไป คุณก็กระวนกระวายไปกับคำพูดพวกนั้นในท้อง และสำรอกและคายคำพูดพวกนั้นออกมา"

หลวงพี่จึงได้แนะนำให้ ผมหาหนังสือสบาย ๆ หนังสือธรรมะ เบา ๆ มาอ่าน รวมถึงให้งดการทุ่มเถียง งดการอ่านคำพูดด่าทอส่อเสียดในทุก ๆ กรณี

"ตอนนี้เราก็เหมือนคนที่กำลังท้องเสีย จะให้กินส้มตำปูปลาร้าลงไป ก็คงจะไม่ไหว คงต้องหาอาหารเบา ๆ กินจนกว่าร่างกายจะฟื้น"

 

แม้ว่าผมก็ยังอดนึกถึง คำพูดปลอบโยน คำพูดที่เต็มไปด้วยความเข้าใจที่พี่ตะวันทิ้งไว้ในคอมเม้นไดอารี่ของผมช่วงต้นปี 2548 ไม่ได้

ถึงจะกระนั้นก็เถอะ พอก็ยังจำเป็นที่จะต้องเตือนสติตัวเองให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกของตนให้ได้อยู่ดี


 

คิดถึงที่สุด

ต้นไม้				
11 มกราคม 2550 19:38 น.

รักต่างวัยไดอารีออนไลน์ ตอนที่ 2

เชษฐภัทร วิสัยจร

เมื่อวานนี้ตอนสอบเสร็จผมเดินไปร้านนายอินทร์ท่าพระจันทร์ เผอิญเห็นชุดหนังสือของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้วอดนึกถึงตอนที่พี่ตะวันอ่านเรื่อง "ซูสีไทเฮา"ให้ผมฟัง ตอนที่ผมขับรถกลับจากสุโขทัยไม่ได้

ผมเห็นว่ามีหลายเล่มน่าสนใจเลยลองหยิบมาอ่านดู

แต่เล่มที่อยากจะพูดถึงที่สุดก็คือเรื่อง "พม่าเสียเมือง"

แต่ไม่รู้อะไรมาป่วนใจ พออ่านจบแล้วเหมือนผมรู้สึกอยากจะอาเจียนออกมาเป็นสำเนียงเมาะตะมะอย่างไรอย่างนั้น 

ถึงตอนนั้นผมก็พอจะเข้าใจแล้วว่า เหตุใด ส.ศิวรักษ์ถึงได้จงเกลียดจงชังแกนัก 

พี่ ๆ บอกว่า เราต้องทำความเข้าใจว่าคนเขียนเป็นใคร มีปูมหลังอย่างไร อ่านแล้วก็อย่าเชื่ออะไรมาก ควรใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูตามหลักกาลามสูตรเสียก่อน แล้วค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม ที่สำคัญเราควร "อ่านตาไว้ตา"



ผมล่ะอยากรู้เสียจริง ว่าเอกสาร พงศาวดารพม่าจะบันทึกเรื่องพวกนี้ไว้อย่างไร

ผมเล่าเรื่องนี้ให้หลวงพี่ฟัง หลวงพี่ลงความเห็นว่า "ภววิสัย" (objectivity) ไม่มีในโลกหรอก แค่เรารังเกียจ "อัตวิสัย" (subjectivity) ของนักเขียนสักคน และร้องเรียกหา "ภววิสัย" ก็ถือว่า เป็น "อัตวิสัย" อย่างหนึ่งแล้ว ถึงแม้เราจะพยายามค้นคว้าหาข้อมูลมาทำให้ ความรู้ของเราฟัง "ขึ้น" แค่ไหนก็ตาม 

ทุกอย่างในโลกล้วนเป็นการตีความของปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น

ในทางวรรณคดีก็เช่นกัน ผมเคยอ่านกวีนิพนธ์ของกวีหลายคนทั้ง ไทย และ ต่างประเทศที่เขียนเพ้อพร่ำพรรณนาถึงหญิงที่ตัวเองรักซึ่งทิ้งเขาไป 

หลายคนเขียนตัดพ้อต่อว่า รำพึงรำพรรณบ้าบอคอแตก

อย่าง นาย Sir Philip Sydney อย่างงี้ เขียนบริภาษภรรยาเก่าตัวเองว่า เป็น "cocquette" ซึ่งผมจะขอไม่แปลละกัน แต่ที่แน่ ๆ ความหมายไม่ดีเท่าไหร่ 

เท่าที่ผมอ่านดู ผมก็ไม่เชื่อเสียทีเดียว หรอกว่า ภรรยาของนายคนนี้จะเป็น "coquette" อย่างที่ท่าน(มัน)อ้าง ผมเดาว่า มันคงโดนเขาทิ้งมากกว่า แล้วเกิดนึกแค้นเลยหาที่ระบายอารมณ์

ถ้ากวีคนนั้นมันเลว หน้าตัวเมียถึงขั้นเขียนด่า ภรรยาเก่าตัวเองได้ขนาดนั้น อยากถามว่า เหตุใดคนถึงได้หลงใหลศึกษางานชิ้นนี้มากว่าสี่ซ้า ห้าร้อยปี

คำตอบก็คงจะเป็นว่า 

1. คนอ่านคงดูเฉพาะฉันทลักษณ์ อักขรวิธี ความเปรียบและความงามความคิดรวมถึงการสรรคำมากกว่า เนื้อหาสาระ

2. คนอ่านในระดับที่มีความรู้อ่านกวีนิพนธ์ได้แตก คงจะสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่า อะไรเป็น "อัตวิสัย" ของใคร อย่างไร และอะไรควรเชื่อในระดับใด

ที่ยกตัวอย่างมาเนี่ย ไม่ได้มี แค่ Sir Philip Sydney แม้แต่ sonnet หลาย ๆ ชิ้นของ William Shakespeare เองก็มีเนื้อหาไปในทำนองอย่างนี้ 

รวมถึงกวีร่วมสมัยระดับรางวัลโนเบลอย่าง Pablo Neruda 

กวีซีไรท์ของไทย อย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์หรือไพวรินทร์ ขาวงาม ก็เขียนงานทำนองนี้กันโดยมิได้นัดหมายทั้งนั้น

(รวมถึงพวกแต่งเพลงวัยรุ่นอกหักของค่ายเพลงทั้งหลายอีกด้วย)

ถามว่าทำไมพวกเขาถึงกล้าเขียน พวกเขาไม่กลัวโดนประณามว่า หน้าตัวเมียหรอกหรือ?

ลุงเพิ่มเคยบอกผมว่า "หากจะเขียนบทอัศจรรย์ ต้องสรรคำ และใช้กลวิธีให้ได้ดี ถ้าทำได้ไม่ถึงขั้น คนเขาจะประณามเอาเปล่า ๆ ว่าไม่มีฝีมือ"

และผมเห็นว่า แนวคิดของลุงเพิ่มสามารถเอามาปรับใช้ กับกลอนแนวนี้ได้ เพราะความงามของฉันทลักษณ์ อักขรวิธี รวมถงกลยุทธ์ในการนำเสนอ จะบดบัง กิเลสความเห็นแก่ตัวของผู้ประพันธ์ได้เอง 

แต่ต้องมั่นใจว่าฝีมือคุณถึงขั้นรึเปล่า

----------------------

ปู่เนาว์เคยบอกไว้ว่า "จุดเริ่มต้นของคนเขียนกวี เพราะต้องเกิดมาเขียนกวี ล้วนกำเนิดมาจากกลอนอกหักทั้งนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นก็ตาม"

อาจารย์ Simon Wright เคยบอกไว้ว่า "The greatest piece of art originates from human being's greatest pain"
(งานศิลปะที่ยิงยงเกิดมาจากความเจ็บปวดของมนุษยชาติ)

ฟังความคิดเห็นของทั้งสองท่านแล้วนึกถึงตัวผมเอง
ต้องยอมสารภาพเลยว่า ในวันแรกที่พี่ตะวันบอกจะเลิกคบกับผมนั้น ผมโกรธมาก และตั้งใจเอาความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ มาเขียนงานชุดใหม่

พอเวลาผ่านไป แม้ผมจะยังอยากเขียน แต่จิตใต้สำนึกของผมมันไม่เอาด้วย 

สาเหตุก็คงจะเป็นเพราะว่า ผมได้ก้าวผ่านระดับ "เริ่มต้น" ของการเขียนกลอนไปแล้ว เหมือนเด็กเรียนชั้นป.สาม จะให้มานั่งคัด ก.ไก่ ข.ไข่ เหมือนชั้นอนุบาล ให้ทำก็คงพอทำได้ แต่ถ้าจะทำจริง ๆ จัง ๆ เด็กมันก็คงจะเบื่อ และขี้เกียจ สู้ไปหาอะไรอย่างอื่นหนุก ๆ ทำดีกว่า

แลถ้าจะให้ผมกลับไปเขียนกลอนอกหัก เหมือนในหนังสือ "บนหมารองรางรถไฟฟ้อน" ก็คงจะดูกระไรอยู่

พี่ตะวันจำได้ไหม ในหนังสือเรื่อง "สงคริดสักสาม" นั่น ผมฝืนเกือบตาย ผมดัดจริตที่จะไม่เขียนกลอนตัดพ้อต่อว่าผู้หญิง แล้วพองานที่ออกมา ก็โดน อาจารย์ตรีศิลป์ตำหนิว่า ช่างขาดความจริงใจสิ้นดี 

"มันเหมือน เด็กพยายามเอาเสื้อผ้าผู้ใหญ่มาใส่ แล้วใส่ไม่ได้ ดูหลวม ดูตลก"

ผมภูมิใจนะ ที่ตอนนี้ ผมเขียนงานตัดพ้อต่อว่า งานอกหักไม่ลง โดยที่ไม่ต้องเสแสร้งดัดจริต

มันก็คงเหมือนกับ เด็กที่โตขึ้นแล้ว จะให้ ย้อนกลับไปใส่เสื้อผ้าตอนที่เด็กกว่า ก็คงใส่ไม่ได้

อย่างไงอย่างงั้น

 

รักเสมอ

จากต้นไม้				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเชษฐภัทร วิสัยจร