ความหมายของความตาย 3

ลุงเอง

๓
ความเข้าใจของคนไทย
เกี่ยวกับประเพณีที่เกี่ยวกับผู้ที่กำลังใกล้สิ้นใจ
          แทนที่จะบรรยายตามหัวข้อที่กำหนดให้ไว้ ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้า ซึ่งมีชื่อว่าสุภาพร พงศ์พฤกษ์ ซึ่ง เคยเป็นมะเร็งมาเมื่อหลายปีก่อน หากเธอปฏิเสธที่จะใช้วิธีการแพทย์แบบตะวันตกมารักษา ดังเพื่อนคาทอลิกของข้าพเจ้าคนหนึ่งก็ปฏิบัติคล้ายเธอ เขาคนนี้บวชเป็นบาทหลวงชื่อไอวัน อิลลิช ซึ่งเคยเขียนหนังสือที่ น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ แปลเป็นไทยแล้วชื่อ แพทย์: เทพเจ้ากาลี อิลลิชเพิ่งตายจากไปเมื่อปลายปี ๒๕๔๕ โดยไม่ยอมให้แพทย์ตะวันตกรักษาเขาเลย สุภาพร เชื่อว่าเธอหายจากมะเร็งได้เมื่อกว่าสามปีที่แล้ว จากการใช้อาหารสุขภาพ ตามแบบฉบับของนายสาทิศ อินทรกำแหง พร้อมกับการเจริญสติ และทำโยคะ เธอเขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งมีชื่อว่า เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แต่แล้วเมื่อปีกลายนี้มะเร็งกลับมาเยือนเธออีก เธอก็คงปฏิเสธการแพทย์แบบตะวันตกอยู่อีกเช่นเคย เธอใช้วิธีอดอาหารและภาวนา จอห์น แมกคอร์แนล ซึ่งเป็นเพื่อนชาวอังกฤษ ที่ถือตนว่าเป็นพุทธศาสนิกพร้อม ๆ กับการเป็นคริสต์ ศาสนิกนิกายเควเก้อ ได้ไปร่วมปฏิบัติธรรมกับเธอ เขามาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เธอภาวนาและอดอาหารเป็นเวลา ๑๙ วัน กินแต่น้ำกับน้ำผลไม้ จนร่างกายอ่อนแอ และแล้วร่างกายก็เริ่มกินเนื้อร้ายที่เกิดจากมะเร็ง ตามปกติแล้ว ถ้าใช้ยาหรือการฉายแสงจะปราบเนื้อร้ายได้ชั่วคราว แล้วมันก็จะแผ่ขยายออกอีก แต่นี่เนื้อร้ายสู้กับร่างกายที่ปราศจากยาไม่ได้ จะอย่างไรก็ตาม ทั้งจอห์นและข้าพเจ้าเชื่อว่าพรคงต้องตายไม่เร็วก็ช้า แต่เธอยอมรับสภาพความตาย ไม่ต่อสู้กับมัจจุราช หากมีชีวิตอยู่ด้วยการเจริญสติ
          พรอยู่ที่หาดใหญ่ ข้าพเจ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้โทรศัพท์ไปลาเธอเมื่อปลายสิงหาคม ๒๕๔๕ ก่อนข้าพเจ้าจะไปสอนหนังสือที่สหรัฐหนึ่งภาคการศึกษา นึกว่ากว่าจะกลับมา พรคงต้องตายจากไปแล้ว ข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยปลายธันวาคมศกนั้น พรก็ยังอยู่อย่างมีสติ พอมกราคม ๒๕๔๖ ข้าพเจ้าก็ไปสอนที่สหรัฐอีกหนึ่งภาคการศึกษา เชื่อว่าพรคงต้องตายก่อนข้าพเจ้ากลับคราวนี้เป็นแน่ แต่ข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยตอนปลายมีนาคม พรก็ยังอยู่ แม้จะอ่อนเปลี้ยไป เรายังโทรศัพท์พูดกันได้ ข้าพเจ้าถามว่าเธอต้องการอะไร เธอบอกว่า เธอดีใจที่ข้าพเจ้าห่วงใยเธอ สิ่งที่เธอต้องการคือหนังสือที่ข้าพเจ้าแปลจากที่ท่านนัท ฮันห์ รจนา ภาคภาษาไทยชื่อ ปัจจุบันเป็นเวลาอันประเสริฐสุด ที่จริงเล่มนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็พูดกับพระที่ดูแลพระคุณท่านก่อนท่านจะพูดไม่ได้ว่า เล่มนี้ดีที่สุด อ่านทีละบทและปฏิบัติตามนั้น ก็พอแล้ว
          จอห์น แมกคอร์แนล มาจากอังกฤษอีก เพื่ออยู่กับพร ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเธอ จอห์นเขียนรายงานการเผชิญความตายของเธออย่างมีค่ายิ่งนัก ต่อไปคงเป็นหนังสือเล่มสำคัญ แต่ตอนนี้ ขอให้ข้าพเจ้าอ่านบทความของวาสนา ชินวรากรณ์ ให้ท่านฟังดีกว่า บุตรีข้าพเจ้าช่วยแปลมาให้จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
พบกับความตายอย่างมีสติ
สุภาพร พงศ์พฤกษ์
ผู้เขียนเรื่อง เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง
ยังคงให้บทเรียนในการเผชิญหน้า
กับจุดสุดท้ายในชีวิต
เรื่องโดย วาสนา ชินวรากรณ์
          สุภาพร พงศ์พฤกษ์ไม่ใช่คนดัง และฉันก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิทของเธอ สิ่งเดียวที่ฉันรู้เกี่ยวกับเธอคือเธอกำลังจะตาย
          ฉันพบเธอครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนในฐานะนักเขียนเรื่องที่ฉัน ชื่นชอบหลายเรื่อง เรื่อง เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เป็นความทรงจำของสุภาพรในเวลาที่เธอใช้การรักษาทางเลือก แทนการผ่าตัดสมัยใหม่ ในการจัดการกับก้อนมะเร็งที่เต้านมซ้าย
          แต่ไม่ใช่รายละเอียดของการทดลองหลากหลายของเธอ ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร โยคะ การนวด หรือธัญญาหารบำบัด ที่จับใจฉัน แต่เป็นการเล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงความกลัวในใจ ความสับสน อึดอัด และที่สุด การค้นพบตนเองและยอมรับ “วิถีที่โลกเป็นไป” ความกล้าหาญที่เรียบง่ายเจือเมตตา เมื่อฉันพลิกมาถึงหน้าสุดท้ายในหนังสือของเธอ ฉันบอกกับตัวเองว่าสักวันต้องสัมภาษณ์ผู้หญิงคนนี้
          เวลาผ่านไป
          จนเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง หลังจากการฝึกไท้ฉีที่สวนลุมฯ เพื่อนเก่าของฉันคนหนึ่งเล่าว่าเพิ่งกลับมาจากหาดใหญ่ เธอไปทำงานแต่ได้แวะเยี่ยมสุภาพร ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าและอาจเป็นการเยี่ยมครั้งสุดท้าย
          การเอ่ยถึงชื่อเธอกระตุ้นความทรงจำฉัน สุภาพรเป็นอย่างไรบ้าง บทสุดท้ายของ เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง จบลงด้วยข้อความที่สร้างความหวังคือ ผลตรวจพบว่ามะเร็งของเธอบรรเทาลง
          ตอนนี้ดูเหมือนมันยังโจมตีและเอาชนะเธอได้ จากคำบอกเล่าของเพื่อน สุภาพรแทบเคลื่อนไหวไม่ได้ หายใจอย่างยากลำบาก แต่เธอยังคงปฏิเสธที่จะใช้เครื่องช่วยหายใจเท่าที่จะทำได้ เพื่อนบางคนของเธอพลัดเวรกันมาช่วยดูแลเธอ แม่ผู้ชราของเธอ แม้จะอยากช่วยเหลือเพียงใด ก็อ่อนแอเกินกว่าจะช่วยได้มากเท่าที่ต้องการ อย่างไรก็ดี สุภาพรก็ยังยิ้มออก
          นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันประหลาดใจ ฉันจำได้ว่าเคยคิดเมื่ออ่าน เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ว่าผู้เขียนต้องเป็นคนมีนิสัยอย่างมีชีวิตชีวา เพื่อนบางคนของเธอ (และเธอก็มีเพื่อนมาก) เปรียบเทียบเธอกับนกสีสด หนังสือของเธอเหมือนน้ำกลั้วคอ เยี่ยม กระจ่างและสดชื่น
          สุภาพรต่อสู้ศึกระหว่างความเป็นกับความตายอยู่ตอนนี้ และหญิงที่น่าทึ่งคนนี้ ดูเหมือนจะพิสูจน์ความกล้า เพื่อนอีกคนของฉัน ซึ่งก็เป็นคนคุ้นเคยกับสุภาพรด้วย ส่งจดหมายจากจอห์น แมกคอร์แนล นักกิจกรรมสันติภาพ ผู้หยุดงานทั้งปวงเพื่อมาดูแลเพื่อนรักคนนี้ในช่วงสุดท้าย
          พลังของพร (ชื่อเล่นของสุภาพร) มีจำกัด และการพูดก็ใช้พลังไปมาก แต่เธอก็พยายามทำ ทั้งรักษาตัวและติดต่ออย่างมีความหมายยิ่งกับคนรอบข้าง แต่ละวันเธอได้ยิ้มและหัวเราะ
          ส่วนหนึ่งของการพูดคุยเมื่อคืนแสดงถึงทัศนคติของเธอ “จอห์น ฉันไม่คิดเลยว่าจะเป็นแบบนี้” “เธอเสียใจกับการตัดสินใจของเธอไหม” “ไม่เคยเลย มันเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้) เป็นไปด้วยดี”
          ในอีกฉบับซึ่งถูกส่งต่อถึงฉันโดยเพื่อนคนเดิมคือ พระไพศาล วิสาโล (พระที่ดีองค์หนึ่งที่เรายังมี) ที่เพิ่งกลับจากการเยี่ยมสุภาพร เล่าถึงหมอที่หน่วยบรรเทารักษาของโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ที่สุภาพรช่วยสอนเรื่องธรรมะและการบำบัด หมอทึ่งกับระดับความกระทางของจิตใจของคนไข้ ข้อมูลนี้ก็ไม่น่าแปลกใจ ในหนังสือความทรงจำของเธอ สุภาพรเล่าว่าเพื่อนหลายคนของเธอ เมื่อรู้ว่าเธอเป็นโรคอะไร บอกเธออยู่เสมอให้เริ่ม “ปฏิบัติธรรม” วลีที่คนไทยมักใช้กับการทำสมาธิ
          สุภาพรต้องทนอยู่นานกับคำแนะนำนี้
          สิ่งที่กระตุ้นความสนใจของฉัน คือคู่ขนานระหว่างสิ่งที่เธอประสบในอดีตกับการดิ้นรนครั้งใหม่นี้ ตอนแรก มะเร็งเปิดโลกให้ให้สุภาพร เธอได้ค้นพบสังคมแห่งมิตรภาพอีกครั้ง กลุ่มคนที่ยินดีจะสละเวลาและความคิด เพื่อดูแลผู้หญิงตัวเล็ก ๆ แต่กล้าหาญผู้นี้ สุภาพรเขียนว่าเธอรู้สึกขอบคุณมะเร็งที่ให้โอกาสเธอได้สำรวจชีวิตภายใน ได้เรียนรู้ว่าโลกของเรานี้ไม่เคยขาดความเมตตาและความรักที่ปราศจากเงื่อนไข ในวิญญาณมนุษย์ในธรรมชาติ
          ตอนนี้จะเป็นความตาย ประตูชีวิตที่จะเตรียมบทเรียนใหญ่ให้สุภาพรและเพื่อน ๆ เมื่อสิ้นวัน สุภาพรจะผ่านประตูไปแต่เพียงผู้เดียว แต่ก่อนจบ ก็มักจะมีการดิ้นรนอย่างมาก บททดสอบความปรารถนา สงสัย อะไรจะถูกค้นพบ สุภาพรเล่าในหนังสือว่าก่อนเผชิญหน้ากับมะเร็ง เธอเคยเชื่อว่า เธอมีประสบการณ์ เผชิญหน้ากับความตาย มาเพียงพอที่เธอสามารถเอาชนะความกลัวสากลนี้ได้อย่างง่ายดาย
          “ฉันแสดงความยโสต่อสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ (พระผู้ใหญ่จากเขมร) และท่านเพียงยิ้ม” สุภาพรเล่าใน เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง
          เมื่อท่านพระมหาโฆษนันทะยิ้ม ตาก็จะหยีเป็นเส้นเดียว แล้วกล่าวว่า “ผู้ ที่พูดว่าไม่กลัวตาย ไม่รู้ว่าความตายจริง ๆ เป็นยังไง ถ้ารู้ จะไม่พูด ที่จริง ความทรมานของมนุษย์เกือบทุกคนเกิดจากสิ่งนี้ จากการกลัวตาย” ท่านพูดต่อไปว่า
          “การทำบุญเจ็ดครั้งไม่เท่าสร้างวัดแห่ง เดียว การสร้างวัดเจ็ดแห่งก็ไม่เท่าภาวนา (สมาธิ) ครั้งเดียว และภาวนาเจ็ดครั้งก็ยังไม่เท่าพิจารณาความตายครั้งเดียว”
          มันเป็นการเดินทางไกลสำหรับสุภาพร เพื่อที่จะหาคำตอบต่อปริศนาของพระมหาโฆษนันทะ วิธีจะพิจารณาความตายและการตาย ที่สุดเธอพบคำตอบหรือไม่
          หน้าสุดท้ายของ เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง สุภาพรเล่าว่าความกลัวนี้ยังคง “ไป ๆ มา ๆ ขึ้นกับเหตุและปัจจัย” แต่เธอว่าไม่รู้สึกเกลียดชังความรู้สึกนี้อีกแล้ว ที่จริง การที่ความคิดหวาดกลัวเกิดขึ้นคือ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากลมหายใจสุดท้ายเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นประโยชน์ถึง ระดับสติสัมปชัญญะของเธอ
          “มันเตือนว่าฉันใช้ชีวิตอนอย่างมีสติหรือไม่ หรือฉันประมาทอีกแล้ว เป็นผลให้ฉันได้เรียนรู้ที่จะทำความคุ้นเคยกับความกลัวของตัวเอง”
          สุภาพรไม่ได้โด่งดัง และหลังจากที่เธอจากไป ไม่กี่ปี ความทรงจำเกี่ยวกับเธอ นอกจากผู้ที่รักเธอ จะจางหายไปในบ่อแห่งความหลงลืม แต่ชีวิตก่อนตายของเธอ การดิ้นรนเพื่อยอมรับ ไม่ต่อสู้วัฏฏสงสาร จะยังคงจุดประกายให้ผู้คนที่หยิบหนังสือของเธอมาอ่าน
          การ “พบ” กับความตายในปัจจุบันและครั้งสุดท้ายของเธอเป็นการศึกษาสำหรับเราทุกคน เราพอใจในการดำรงอยู่ของเราหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่เราชื่นชอบที่สุด เราจะสามารถเอาสิ่งเหล่านั้นไปด้วยได้ไหม อะไรคือสิ่งที่เราสามารถทิ้งไว้เพื่อโลก เพื่อคนที่เรารัก เพื่อเพื่อนมนุษย์
          นี่คือบทความสุดท้ายในหนังสือความทรงจำของเธอ “ถ้าถึงเวลาที่ฉันต้องไปเพื่อใบไม้ใบนี้จะปลิดปลิว ไม่ว่าจะด้วยมะเร็งหรือเหตุอื่นไม่ว่าช้าหรือเร็ว ฉันหวังว่าฉันจะเป็นใบไม้ที่จะไม่ต้านเมื่อถึงการร่วงครั้งสุดท้าย ที่ฉันจะเป็นใบไม้ที่หลุดออกอย่างเป็นสุข”
          สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๑ และเพิ่งตายไปเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยได้ปลงศพเธอไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนเดียวกัน ปรารภขั้นสุดท้ายของเธอคือ “ฉันกำลังแสดงนิทรรศการการตายให้พวกเธอดู” ขอพวกเราจงช่วยกันภาวนาตามลัทธิศาสนาของเรา ให้เธอได้ไปสู่สุคติภพด้วยเทอญ.. .				
comments powered by Disqus
  • พุด

    3 สิงหาคม 2552 12:36 น. - comment id 106916

    1.gif29.gif36.gif
    พุดค่ะ
    ขอบพระคุณนะคะ
    ที่นำเรื่องสาระมรณานุสติมาเตือนจิตเตือนใจเราทุกคนให้ได้ตระหนักถึงคุณค่า
    แห่งลมหายใจและการมีชีวิต
    ณ ขณะปัจจุบัน
    เพื่อปันพลี
    เพื่อเมตตาเอื้ออารี
    เพื่อใช้ลมหายใจชีวี
    อย่างผู้ถึงพร้อม
    มิประมาทค่ะ
    
    กราบขอบพระคุรอีกครั้งนะคะ36.gif29.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน