งานวิจารณ์ กวีนิพนธ์ เรื่อง "คำถามแห่งชีวิต" (ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ)

กวีปกรณ์

ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ
วันก่อน งดงามดั่งความฝัน
วันหนึ่ง งงงันกับคำถาม
บางสิ่ง แสวงหาค่านิยาม
บางอย่าง เรามองข้ามผ่านเลยไป
บางวัน เราพอใจในคำตอบ
บางสิ่ง เรามอบความรักให้
บางขณะ สับสนเราจนใจ
เกิดคำถามใหม่ในภวังค์
วันหนึ่ง ยืนเคว้งคว้าง ณ ทางแพร่ง
ตะวัน สาดแสง อยู่เบื้องหลัง
บางคำตอบ ใจสลด หมดพลัง
บางคำถาม ปลุกความหวัง สะพรั่งงาม
                         จากบทกวีข้างต้น เราสามารถวิเคราะห์และวิจารณ์งานชิ้นนี้ได้หลายประเด็น ทั้ง (๑) การใช้คำ, ความหมาย และน้ำเสียง (๒) การลำดับเนื้อความ (๓) การใช้ภาพพจน์ และฉาก ตามลำดับแต่โดยยึดโยงความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนเข้าไว้ด้วยกันเพราะไม่ต้องการให้เสียความ ขาดความเข้าใจในแต่ละส่วนของเนื้อหาและความไพเราะไปโดยปริยาย จากการแยกการวิเคราะห์และวิจารณ์บทกวีชิ้นนี้เป็นส่วน ๆ ไป
ประเด็นแรก คำ, ความหมายและน้ำเสียง
 
                         จากการเริ่มต้นอ่าน บทประพันธ์ชิ้นนี้ จะพบว่า มีลักษณะของการใช้คำที่เป็นนามธรรมเสียส่วนใหญ่ ทั้งเรื่อง เวลา ปัญหา คำถาม คำตอบ ความรัก ความพึงใจ ความสมประสงค์และไม่สมประสงค์  ในสองบทแรก ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาต่อผู้อ่านอย่างมากทีเดียวว่า อะไร คือ คำถามแห่งชีวิต นั้น และทำไม เราต้องคิดต้องหาคำตอบให้กับมัน ดังนั้นอารมณ์ของผู้อ่านจึงรู้สึกร่วมไปด้วย จากทุกถ้อยคำที่เรียงร้อยในบทกวีชิ้นนี้และสำคัญที่สุด  คือ  ชื่อของบทกวีชิ้นนี้ ผู้แต่งได้ใช้ชื่อเรื่องในการตีกรอบความคิดของเรื่องไว้และทั้งก่อให้เกิดเป็นคำถามตามมาอีกด้วย ว่าอะไรคือคำถามแห่งชีวิต 	
ดังนั้น ชื่อเรื่องจึง มีส่วนสำคัญที่สุดในการตีกรอบความคิดของผู้อ่านบทกวีชิ้นนี้ ไม่ให้หลงใหลงุนงง อันเกิดจากพื้นฐานทางด้านทักษะการอ่าน หรือความเข้าใจที่ต่างกัน
                         และไม่ใช่จากการที่กวีเลือกใช้คำและความหมายในสองบทแรกซึ่งมีความเป็นนามธรรมส่วนมากแล้ว แต่การสรรคำ อย่างเช่น วันก่อน... วันหนึ่ง... บางสิ่ง... บางอย่าง... นำหน้าในแต่ละบาทของบทแรก บางวัน... บางสิ่ง... บางขณะ... ในสามบาทแรกของบทต่อมา และ วันหนึ่ง... บางคำตอบ... บางคำถาม... นำหน้าในบาทที่ ๑, ๓ และ ๔ ของบทสุดท้าย ดังจะเห็นได้จาก
วันก่อน...
วันหนึ่ง...
บางสิ่ง...
บางอย่าง...
บางวัน...
บางสิ่ง...
บางขณะ...
เกิดคำถามใหม่ในภวังค์
วันหนึ่ง...
ตะวัน สาดแสง อยู่เบื้อหลัง
บางคำตอบ...
บางคำถาม...                ...
                    จากที่ยกมาจะสังเกตได้สองประเด็นรองลงมาคือ ในบทประพันธ์ชิ้นนี้ กวีมิได้ใช้คำที่แสดงถึงคำถามที่พยายามหาคำตอบ แต่อย่างใด แต่ด้วยคำที่ใช้กลับสร้างคำถามขึ้นมาให้แก่ผู้อ่านได้อย่างไม่น่าเชื่อ จะเห็นได้จาก คำว่า วันก่อน... วันหนึ่ง... บางขณะ... บางสิ่ง... บางอย่าง... ไม่มีคำใดเลยที่มีนัยแสดงถึงคำถาม แต่กวีกลับสามารถเล่นคำเหล่านี้จนกลายเป็นคำที่มีความหมายออกไปได้ถึงสองนัย คือ 
                     ๑. เพียงคำที่ใช้เพื่อแสดงถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  การที่กวีเลือกใช้คำเหล่านี้เพื่อแสดงนัยของเวลาที่ไม่แน่นอนหรือไม่สามารถกำหนดได้นั้น อาจเกิดด้วยสาเหตุสำคัญสองประการ คือ
- ผู้แต่งต้องการให้ผู้อ่านมีส่วนร่วม อันเนื่องจากเวลาของแต่ละช่วงชีวิตของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ยาวบ้าง สั้นบ้าง ช่วงเวลาที่พบหรือเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตนั้นไม่ได้ตรงกัน หรือเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน อาจจะเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันบ้างแต่ก็ไม่สามารถกำหนดขึ้นได้
                     - ประการที่สอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านค้นหา ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการไม่รู้จบของมิติแห่งเวลา ซึ่งไม่สามารถเจาะจงลงไปได้อย่าง เนื่องจากความเป็นจริง วันหนึ่งในวันนี้ อาจจะไม่ใช่วันนี้เมื่อพรุ่งนี้มาถึง แต่จะเป็นเพียงอดีตไป หรือ บางสิ่ง บางอย่าง อาจจะไม่ใช่เรื่อง ๆ เดียว หรือสิ่ง ๆ เดียวที่จะเป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นสิ่งที่ทำให้เราค้นหาคำตอบหรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามแห่งชีวิต 
และเป็นการตั้งคำถามให้แก่ผู้อ่านได้อย่างดี ดังจะกล่าวต่อไปในนัยที่สอง
                      และ ๒. เพื่อสื่อให้เข้าใจและค้นหาว่าช่วงเวลานั้น ๆ คือเวลาใด หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น คือ สิ่งใด  ด้วยบริบทที่อยู่รายล้อม กวีใช้เพียงคำว่า คำถาม แสวงหา คำตอบ ค่านิยาม ดังที่ปรากฏในทุก ๆ บทนั้น เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านได้เกิดความสนใจ รู้สึกร่วม และต้องการที่จะทราบว่า คำถาม และคำตอบ แห่งชีวิตนั้น คืออะไร
                      ทางด้านน้ำเสียงซึ่งปรากฏอยู่ในบทกวีชิ้นนี้ กวีเลือกใช้คำทั้งที่สามารถที่จะสื่อความให้ผู้อ่านได้รับรู้ และสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย ดังจะเห็นได้จาก การทิ้งช่วงจังหวะของคำ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดที่สุด ในบทที่ ๓ สองบาทสุดท้าย 
คือ 	...
	  ...
                       บางคำตอบ ใจสลด หมดพลัง
                       บางคำถาม ปลุกความหวัง สะพรั่งงาม
                       การทิ้งช่วงจังหวะของคำเป็นการเน้นน้ำหนักของน้ำเสียง และความหมายให้ชัดเจนขึ้น ก่อให้เกิดการสะเทือนอารมณ์ของผู้อ่านให้คล้อยตาม และการใช้คำและความหมายซึ่งสอดคล้องกันและกัน วางเรียงร้อยกรองต่อ ๆ กัน ยิ่งเป็นการเร้าอารมณ์ให้บทกวีชิ้นนี้มีความเด่นชัดทางด้านการสะเทือนอารมณ์ของผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้นไป
ประเด็นต่อมา การลำดับความ
	การลำดับความนั้น จึงขอแยกออกเป็นสองประเด็นซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันเลย คือ 
การลำดับความเป็นนามธรรมและรูปธรรม และการลำดับความหมายของแต่ละบท
	
การลำดับความจากนามธรรมเป็นรูปธรรม
                      ดังที่กล่าวมาในประเด็นแรกคือ คำ, ความหมายและน้ำเสียง ว่า บทกวีชิ้นนี้เป็นการใช้นามธรรมเสียส่วนมาก หากเนื้อหาทั้งหมดนั้นจะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ตลอดเวลา อาจเป็นไปได้ว่า งานชิ้นนี้อาจสร้างความงุนงงให้แก่ผู้อ่านหลายคนเลยทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนั้นการที่กวีใช้ คำที่เป็นรูปธรรม มาเสริมและสร้างภาพพจน์เปรียบเทียบให้เห็นเป็นภาพขึ้น จึงเป็นการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย 
	
ส่วนประการต่อมาการลำดับความหมายของแต่ละบท
	
                     หากพินิจให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า แต่ละบาทของบทกลอนนั้น ลำดับความขัดแย้งในแต่ละบทไว้ต่างกัน จากบทแรก 
วันก่อน งดงามดั่งความฝัน  
วันหนึ่ง งงงันกับคำถาม
บางสิ่ง แสวงหาค่านิยาม
บางอย่าง เรามองข้ามผ่านเลยไป 
	จะพบว่า บาทที่หนึ่งของบท มีความหมายไปในเชิงบวก หรือแง่ดี ทำให้เห็นถึงภาพของความงดงามแห่งชีวิต ต่อมา บาทที่สอง กลับมาความหมายไปในเชิงลบ ซึ่งขัดแย้งกับบาทแรกของบท และลำดับต่อมาในบาทที่ สามและสี่ ก็มีการลำดับ ความหมายในเชิงบวก ซึ่งก็คือการพยายามค้นหาคำตอบ ความหมายให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในชีวิต แต่บาทที่สี่กลับมีความหมายเชิงลบไปซึ่งคือมองข้ามและละเลยหรือละทิ้งความพยายามแสวงหาคำตอบซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็ได้
	และในบทที่ สองและสาม กลับมีลักษณะการลำดับความซึ่งแตกต่างออกไปจากบทแรก และบทที่สามซึ่งเป็นบทสุดท้ายกลับพลิกผันแตกต่างไปจากบทที่หนึ่งและสองขึ้นไปอีก ดังนี้
บางวัน เราพอใจในคำตอบ
บางสิ่ง เรามองความรักให้
บางขณะ สับสนเราจนใจ
เกิดคำถามใหม่ในภวังค์ (บทที่สอง)
วันหนึ่ง ยืนเคว้งคว้าง ณ ทางแพ่ง
ตะวัน สาดแสง อยู่เบื้อหลัง
บางคำตอบ ใจสลด หมดพลัง
บางคำถาม ปลุกความหวัง สะพรั่งงาม (บทที่สาม)
	ในบทที่สองนั้นมีการลำดับความซึ่งต่างไปจากบทแรกเพียงเล็กน้อย คือ เป็นการซ้อนความหมายเชิงบวก ซ้ำกันสองครั้ง ในบาทที่ ๑ และ ๒ ของบท และซ้อนความหมายในเชิงลบในบาทที่ ๓ และ ๔  คาดว่าในการลำดับความซึ่งแตกต่างออกไปนั้น สาเหตุเนื่องมาจากการต้องการเน้นย้ำให้บทกวีชิ้นมีน้ำหนักมากขึ้นทั้งด้านการดึงอารมณ์ และการสื่อนัยของความสับสน ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญอันจะก่อให้เกิดคำถามในบทกวี
	ส่วนในบทที่สามบทสุดท้ายนั้น เป็นบทที่กล่าวถึงความเป็นรูปธรรมมากกว่าส่วนอื่น ๆ ได้ ลำดับความไว้เพื่อให้เห็นความสับสน ความสิ้นหวัง อันเป็นเชิงลบให้หนักขึ้นไปอีกถึงสามบาทแรกของบท และกลับปิดท้ายด้วย ความหมายในเชิงบวก ในบาทสุดท้ายของบท ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากความต้องการของกวีที่ไม่ต้องการให้คำถามแห่งชีวิตนั้นกลายเป็นสิ่งที่แย่เสมอไป และอาจเป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านซึ่งกำลังสะเทือนอารมณ์ไปกับสามบาทแรกของวรรคให้กลับมีกำลังใจและต้องการค้นหาคำตอบของคำถามต่อไป 
ประเด็นสำคัญต่อมา การใช้ภาพพจน์
	จากเนื้อความของงานชิ้นนี้ดังที่กล่าวมาแล้วในหลาย ๆ ประเด็นว่า ในสองบทแรกเป็นการใช้นามธรรมเสียส่วนมาก การนำส่วนที่เป็นรูปธรรมมาสร้างภาพและอธิบายความให้เห็นชัดเจนขึ้นจึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่องานชิ้นนี้พอสมควร เพราะหากขาดบทที่สามไป อาจจะทำให้งานเขียนชิ้นนี้ขาดสีสันไปได้เลยทีเดียว เพราะการใช้ภาพพจน์ในงานเขียนชิ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกวีอย่างมากในการเลือกใช้ สัญลักษณ์ การอุปมา และที่สำคัญมีนัยของการใช้  อุปลักษณ์ไว้ด้วย
	ในประเด็นนี้จะกล่าวถึงบทที่สามเป็นหลักซึ่งมีส่วนที่ประกอบไปด้วยสิ่งอันเป็นรูปธรรมเพียงบทเดียว ซึ่งกวีใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้มาอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในบทที่ ๑ และ ๒ 
บทที่ ๓ 	วันหนึ่ง ยืนเคว้งคว้าง ณ ทางแพร่ง
    	 ตะวัน สาดแสง อยู่เบื้อหลัง
                      บางคำตอบ ใจสลด หมดพลัง
                      บางคำถาม ปลุกความหวัง สะพรั่งงาม
                       จากบทที่ ๑ และ ๒ ที่กล่าวถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง, สิ่งใดสิ่งหนึ่ง, คำถาม และคำตอบ สิ่งใดกันเล่าที่กวีใช้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นเป็นภาพอันจะปรากฏในจินตนาการของผู้อ่าน เมื่อลองพินิจพิเคราะห์ดูให้ดีในบทที่สาม นั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นนามธรรมอันปรากฏในสองบทแรกได้ถูกสร้างเป็นภาพขึ้นมาจาก การเลือกใช้ ภาพพจน์ ของกวี ดังนี้
                      ๑.) วันหนึ่ง ยืนเคว้งคว้าง ณ ทางแพร่ง ใครกันที่ยืนเคว้งคว้าง ณ ทางแพร่ง ผู้อ่านหลายต่อหลายคนคงจะตอบได้ เพราะเมื่อคิดให้ดีจะพบว่า นี่คือการวรรค และแบ่งช่วงเอาไว้นอกจากจะเพื่อจังหวะแล้ว แต่ยังเป็นเทคนิคของผู้แต่งที่รู้จักเว้นที่ว่างไว้ เพื่อเล่นรูปแบบการประพันธ์และการดึงผู้อ่านให้มีส่วนร่วมได้อย่างแยบยล
ภาพที่ปรากฏในบาทแรกของบทที่สามนี้ คือ ผู้อ่าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคซึ่งกวีได้ร้อยกรองลงสู่บทกวีชิ้นนี้ เป็นการใช้อุปลักษณ์ให้เกิดขึ้นในใจของผู้อ่านโดยไม่ทันที่จะคาดคิด
                       ๒.) ...ณ ทางแพร่ง ทางแพร่ง ใช่แล้ว ภาพปรากฏในมโนสำนึกของผู้อ่านนั้น ย่อมเกิดขึ้น ทางแพร่ง ก็คือ ทางแยกธรรมดา แต่โดยนัยของทางแพร่งในบทกวีชิ้นนี้แล้ว ทางแพร่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงทางแยกธรรมดา ๆ แต่ กลับการเป็นสัญลักษณ์ของความจำเป็นที่จะต้องเลือก การค้นหาคำตอบ และคำถามที่เกิดขึ้นเป็นนามธรรมในส่วนต้นของร้อยกรองสองบทแรก เป็นการใช้สัญลักษณ์ที่ครอบคลุมไปในทุก ๆ ส่วน อย่างที่กล่าวไว้ ไม่ว่าจะเป็น คำถาม การแสวงหาคำตอบ 
                      และอีกนัยหนึ่ง การที่กวีเลือกใช้ทางแพร่งนั้น ก็เพื่อพยายามสร้างภาพและอธิบายความว่า ชีวิตคือการเดินทาง ด้วยนัยหนึ่ง และบนเส้นทางที่เรากำลังก้าวเดินนั้นอาจมีหลายสิ่งซึ่งเราจะได้ค้นพบและเจอ อาจเป็นคำตอบให้กับชีวิต หรือก่อให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ ก็เป็นได้
                      ๓.) ตะวัน สาดแสง อยู่เบื้อหลัง ตะวัน จินตนาการที่เกิดขึ้นของผู้อ่านย่อมไม่แตกต่างไปจากกันเท่าไหร่ แต่สำคัญที่ว่าจะเข้าใจแค่ไหนว่า ตะวัน อันปรากฏเป็นสัญลักษณ์ นี้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการเป็นแค่เพียง วัตถุทรงกลมใหญ่ ซึ่งร้อนจัดจนเป็นไอและก๊าซ มีความร้อนและแสงสว่าง เกิดขึ้นภายใน ใจกลางแล้วถ่ายทอดออกมาสู่พื้นผิวและแผ่กระจายออกสู่ที่ว่างโดยรอบ (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม ๑) หรือเป็น สัญลักษณ์แห่งการมีชีวิต การเริ่มต้น ความสว่างทางปัญญา การแก้ไขและคลี่คลายปัญหา แต่แท้จริงแล้วกวีกลับใช้ตะวันในการสร้างอุปลักษณ์ ขึ้นมา คือ การแทนที่ของ คำว่า บางวัน... บางขณะ... วันหนึ่ง... วันก่อน... เพราะเวลาการโคจรของโลกนั้นทำให้ตะวันเป็นตัวแทนของการอธิบายและสร้างความเป็นรูปธรรมให้กับนามธรรมในเรื่องมิติของเวลาขึ้นมา นอกจากนั้นยังเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงปัญญาอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกด้วย
                       
                       ๔.) ตะวัน สาดแสง อยู่เบื้องหลัง อาจเกิดคำถามว่าทำไมต้องสาดแสงอยู่เบื้องหลัง ในเมื่อสัญลักษณ์แห่งความสว่างทางปัญญา และการคลี่คลายปัญหา ปรากฏอยู่แล้ว นี่คือประเด็นสำคัญและแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการเลือกใช้ภาพพจน์อันจะแจ้งให้ผู้อ่านได้เข้าใจทั่วถึง 	เมื่อทำการพินิจให้ถี่ถ้วนจะพบว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่จะมาแทนความ สับสน ความไม่รู้ ความมืดบอดทางปัญญา ได้ นามธรรมอย่างหนึ่งที่กวีไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้นเมื่อเรา สร้างจินตภาพให้ปรากฏได้แล้ว เมื่อตะวัน ทอแสงขึ้นสู่น่านฟ้าย่อมแสดงว่า ความสว่างกำลังปรากฏขึ้นมาในใจของเราด้วย และในความเป็นจริงความสว่าง ย่อมก่อให้เกิด เงา เมื่อตกกระทบสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่โปร่งใสและโปร่งแสง ดังนั้น คำว่า สาดแสง อยู่เบื้องหลัง จึงเป็นการอธิบายให้ทราบได้ว่า  เงา ของเรานั้น (ซึ่งก็คือ ผู้อ่าน) กำลังปรากฏอยู่เบื้องหน้าแล้ว เงา อันเป็นอุปลักษณ์ซึ่งแสดงให้เห็นความมืดบอดทางปัญญา การไม่สามารถตีความหรือหาค่านิยามใดให้กับคำถามหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสับสนอันจากการที่เราไม่สามารถเลือกทางเดินในทางใดหรือทางหนึ่งได้
	
	ส่วนในด้านแนวคิดสำคัญนั้นกระผมขอไม่กล่าวหรือตีความประการใด แต่ก็แอบหวังไว้ในใจว่าทุกคนจะเข้าใจในบทกวีชิ้นนี้ได้อย่างลึกซึ้ง  จากบทวิจารณ์ชิ้นนี้ซึ่งกระผมได้ตั้งใจและพยายามเรียบเรียงเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในทุกส่วนของบทกวีชิ้นนี้  และเห็นคุณค่าของบทกวีชิ้นอย่างถ่องแท้เช่นเดียวกัน
		ขอขอบพระคุณทุกผู้ที่กรุณาอ่านงานวิจารณ์ชิ้นนี้
								กวีปกรณ์  ภัทรปกรณ์				
comments powered by Disqus
  • พี่พุด

    16 มกราคม 2549 08:51 น. - comment id 89048

    16.gif36.gif29.gif
    พี่พุดจะละเมียดอ่านค่ะ
    และ
    หวังสักวัน
    จะมีงานวิจารณ์ กวีนิพนธ์ 
    ของกวีระดับชาติที่ชื่อกวีปกรณ์..ในไม่นานช้าค่ะน้องชายคนดีที่แสนรักค่ะ
    
    รักชื่นชมค่ะ
    ขอกลับไปอ่านอีกเที่ยวค่ะ29.gif36.gif
  • เจ้าพานทอง

    17 มกราคม 2549 12:12 น. - comment id 89068

    3.gif
    
    อ่านแล้ว เก่งจัง
  • ...ทางแสงดาว...

    20 มกราคม 2549 12:38 น. - comment id 89120

    ชื่นชมในผลงาน29.gif
  • คนเรียนหนัก

    19 กรกฎาคม 2550 00:35 น. - comment id 96943

    พี่ทำภาษาไทยหนูทำภาษาอังกฤษโคตร   .....      ยากส์
  • Kepumu

    15 สิงหาคม 2552 13:20 น. - comment id 107264

    การวิจารณ์นี้ ดีมาก มีหลักการ อ้างอิงเหตุผลให้มีน้ำหนักดี อ่านแล้วน่าเชื่อถือ
  • น่ารัก

    7 มกราคม 2554 17:03 น. - comment id 121150

    29.gif
  • นร.

    11 กุมภาพันธ์ 2554 19:28 น. - comment id 122228

    ขอบคุณมากค่ะ 1.gif
  • หมวย

    6 ตุลาคม 2554 14:16 น. - comment id 126682

    ขอบคุนคร่ะ16.gif16.gif44.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน