บทวิจารณ์เรื่องสั้น "ลืมแล้วหรือว่าเราคิดถึงกัน" ของคุณปราบดา หยุ่น

กวีปกรณ์

ลืมแล้วหรือว่าเราคิดถึงกัน
 อคติทางชาติพันธุ์ หรือ อุบัติเหตุแห่งการเข้าใจผิด
                    จากชื่อเรื่อง ลืมแล้วหรือว่าเราคิดถึงกัน อาจทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับความรัก หรือความเสียใจ ผิดหวังในความรักของบุคคลหนึ่ง และย่อมจะทำให้ผู้อ่านคาดเดาว่าน่าจะเป็นเรื่องรักโรแมนติกที่เจือไปด้วยอารมณ์ของความเศร้า เสียใจ และถวิลหา แต่ความผิดคาดกลับได้เกิดขึ้นเมื่อประเด็นสำคัญที่สอดแทรกปรากฏในเนื้อความของเรื่องสั้น คือ เรื่องการเหยียดผิว (racism) หรือชาติพันธุ์นิยมอย่างสุดโต่งของละครตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นผู้ดำเนินเรื่อง คือ ผม ที่ผู้อ่านสามารถสัมผัสได้จากการบรรยายความคิดและพฤติกรรมของ ผม ตลอดเนื้อเรื่อง เมื่อความคิดนั้นพาดพิงหรือกล่าวถึง ชายคนขับแท็กซี่ผิวดำชาวอัฟริกัน  อเมริกัน อันเป็นสรรพนามที่เป็นการดูถูก คือ ไอ้มืด โดยแต่ละห้วงความคิดที่กำลังบรรยายถึงชายคนดังกล่าวล้วนเป็นคำที่ไม่สุภาพ สร้างความเป็นศัตรู และเจือไปด้วยหวาดระแวงแทรกอยู่ในแทบจะทุกสถานการณ์ดำเนินเรื่อง
	
                       ประเด็นที่โดดออกมาจากเรื่องสั้นเรื่องนี้ คือ การเหยียดผิว หรือชาติพันธุ์ โดยจะขออ้างถึงบทความวิชาการ เรื่อง คนไทยกับ ๓ คำเจ้าปัญหา : เชื้อชาติ-กลุ่มชาติพันธุ์-อัตลักษณ์ ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวถึงคำว่า  เชื้อชาติ ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Race คือ ความคิดที่อยู่เบื้องหลังเป็นคุณสมบัติบางอย่างในทางชีววิทยาที่มีอยู่ติดตัวคนตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง แน่นอนว่านักชีววิทยาในโลกนี้ก็ไม่มีความสามารถค้นให้พบเพราะมันเป็นสิ่งที่คนสมมติขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ว่าคนเชื้อชาตินั้น ๆ จะอพยพไปอยู่ที่ไหนผสมกับเชื้อชาติอื่นขนาดไหนก็ยังคงมีเม็ดเชื้อชาติที่มันซ่อนอยู่ในตัว คุณลักษณะทางชีววิทยาที่ซ่อนอยู่ในตัวที่จะไม่ถูกกระทบ ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนั้น เพราะทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดและเป็นการสร้างแนวคิดที่ผิด
	
                          จากการที่ ฝรั่งผิวขาว มีอิทธิพลแผ่กระจายไปทั่วโลกจนสามารถครอบครองประเทศต่าง ๆ นับร้อยปีจึงเป็นเรื่องปกติที่ ฝรั่งผิวขาว มีความรู้สึกและทัศนคติของความเป็น เจ้าข้าวเจ้าของ ประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม จนคิดไปเลยว่าเป็น ดินแดน-ประเทศ ของตนเอง ทั้งนี้ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์จึงตกเป็นของ ประเทศแม่ ไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่ ฝรั่ง จะคิดว่า เขาอยู่สูงและเหนือกว่า เราชาวผิวเหลือง และ/หรือ เชื้อชาติผิวอื่น ที่มิใช่ผิวขาว ที่มีเชื้อสายคอร์เคเชียน (Caucasian) หรือ ฝรั่งผิวขาว ผมแดง ผมน้ำตาล ผมบรอนซ์ ทั้งหลาย 
                     	นับตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ จนแม้กระทั่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่เป็นยุคโลกาภิวัตน์แต่ทัศนคติของ ฝรั่งผิวขาว ก็ยังถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่า เขา เหนือกว่าเชื้อชาติอื่น สายพันธุ์อื่นที่มีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณต่างจากเขาหรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ การเหยียดผิว-ดูถูกดูแคลน ชนชาติอื่นว่า ต่ำต้อย กว่า ซึ่งปัญหา การเหยียดผิว หรือ RACISM นี้มีมานานโขแล้วและตราบเท่าทุกวันนี้ก็ยังเป็น เส้นแบ่งกั้น ชนชั้นในทุก ๆ สังคมของชาวตะวันตก๑ (ฝรั่งผิวขาว: ใจดำ-ใจแคบ!, แสงแดด) นอกจากนั้นแล้วยังแผ่อิทธิพลไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วยไม่น้อยเช่นเดียวกัน ดังจะปรากฏในพฤติกรรมของตัวละครเอก ผม ที่เป็นคนเชื้อชาติไทยซึ่งไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งการแบ่งแยกชนชั้นของสังคมชาวตะวันตกเลยแม้แต่น้อย และด้วยสถานะที่ปรากฏของ ผม ในเรื่องนี้ก็เป็นเพียงนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมแฟนสาวด้วยความคิดถึงเท่านั้นเอง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑ แสงแดด, พระอาทิตย์สาดส่อง, บทความเรื่อง ฝรั่งผิวขาว: ใจดำ-ใจแคบ!, ผู้จัดการออนไลน์ (พฤศจิกายน ๒๕๔๕) 
                         ไม่เพียงแต่อาการที่แสดงออกของฝ่ายชาย หรือคำพูดที่กล่าวออกมาอย่างเหยียดหยาม ชายผิวดำผู้แท็กซี่เพียงเท่านั้นที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความต่อต้านที่มีมากของ ผม แต่เนื่องจากในแต่ละคำพูดที่กล่าวออกมาและการบรรยายการนึกคิดที่ล้วนหยาบคายแล้ว ยังแทรกไปด้วยอุปลักษณ์และการใช้โวหารเปรียบเปรยต่าง ๆ ให้เห็นภาพที่ ผม มองชายผิวดำนั้นดูช่างไร้ค่าเสียเหลือเกิน เช่น ไอ้มืด สรรพนามที่ ผม ใช้เวลากล่าวถึงชายผิวดำผู้ขับรถแท็กซี่ 
	ส่วนที่เป็นห้วงความคิดในการบรรยายสีผิวของชายผิวดำขณะที่ ผม ออกมาจากตัวรถเพื่อที่จะพิสูจน์ว่า คนขับแท็กซี่นั้นได้ ซ่อมรถจริงหรือเป็นแผนการร้ายบางอย่าง
	
                     ร่างหลังฝากระโปรงรถกำลังง่วนอยู่กับเครื่องยนต์กลไกที่มีแต่ควันขาวบาง ๆ พุ่งออกมาเป็นหย่อม ๆ มือไม้เปรอะเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันเครื่อง แต่ก็แทบจะแยกไม่ออกระหว่างสีดำของน้ำมันเครื่องกับสีผิวของคน (๗๓)
	
	การพยายามอธิบายสีผิวของชายผิวดำที่ ผม กล่าวออกมาในบทบรรยายข้างต้นแสดงออกได้ถึงความเหยียดหยามในชั้นชั้นของคนผิวดำ ความรังเกียจที่มีอยู่ล้นเหลือในใจที่เต็มไปด้วยอคติ 	และยิ่งกว่านั้นในสถานการณ์ที่ ผม ได้คว้าแท่งเหล็กความยาวฟุตกว่า ๆ ตีกระหน่ำที่ศีรษะของ คนขับรถแท็กซี่ ด้วยความระแวงว่าจะมาทำร้ายตนเองและแฟนสาวนั้น ผม ได้กล่าวตอบไปยัง มูน แฟนสาวที่กำลังกรีดร้อง และบอกให้หยุดเนื่องจากเห็นเลือดที่ไหลออกมาจากบาดแผลของชายผิวดำคนนั้น แต่ ผม กลับ กล่าวออกไปว่าและคำบรรยายความคิดในขณะนั้นของ ผม
ไหนกันล่ะเลือดที่ว่า  สายตาผมกวัดแกว่งหาสีแดงบนเรือนร่างไอ้มืดแต่ไม่พบ (๗๗)
 
                       ไหนกันล่ะเลือดที่ว่า ประโยคที่แสดงให้เห็นถึงความเลือดเย็นของ ผม ที่มองเห็นคนผิวดำนั้นไม่มีแม้ค่า หรือเห็นเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกับตัวของเขาเอง ไม่เพียงแต่คำพูดที่หลุดออกจากปากเขาเท่านั้น แต่การบรรยายที่เน้นย้ำความรู้สึกเฉยชาไม่รู้ร้อนหนาวต่อการกระทำอันทารุณนั้นได้บ่งบอกถึงเจตนา และความโหดร้ายยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานของ ผม เพราะในความเป็นจริงสัตว์ผู้ล่าย่อมล่าเพื่อประทังชีวิต การตายนั้นย่อมมีค่าสมเหตุสมผล หรือแม้แต่การป้องกันตัวของคนธรรมดาสามัญและสัตว์ทั่วไปก็ล้วนแล้วเกิดด้วยความจำเป็นไม่เจตนาที่จะกระทำการอุกอาจได้ถึงเพียงนั้น
                         นอกจากพฤติกรรมการเป็นผู้เหยียดผิว (racist) ของ ผม แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาตินิยมหรืออนุรักษ์นิยมอยู่ด้วย จะเห็นได้จากการกล่าวถึงเพื่อนชายนาม แจ็คโก้ เมื่อครั้งได้พบปะสนทนากันเมื่อห้าปีที่แล้ว โดยผ่านการเล่าเรื่องในอดีตให้ มูน คนรักของเขาฟังเพื่อเป็นการฆ่าเวลาบนรถแท็กซี่ในระหว่างเกิดเหตุขัดข้องและรอการซ่อมเครื่องยนต์ของ ไอ้มืด คือ การที่แจ็คโก้ ได้บอกให้ ผม ทราบถึงแผนการที่จะสร้างหนังเมื่อเรียนจบโดยเป็นหนังที่เกี่ยวกับ มานีตอนเป็นสาว ด้วยการจะเลือกใช้นักแสดงเป็นลูกครึ่งสาวโดยให้เหตุเพราะความเจ้าชู้ของพ่อของมานีที่มีภรรยาหลายคน แต่สุดท้ายก็กลับเลือกที่จะคบอยู่กับแม่ของมานะอย่างถาวรโดยขอเลี้ยงมานีที่เป็นลูกติดจากภรรยาที่เป็นชาวตะวันตก ดังนั้นมานะและมานีจึงเป็นพี่น้องต่างมารดากัน ทำให้โครงเรื่องของหนังที่จะสร้างเกี่ยวกับการตามหามารดาที่แท้จริงของมานีที่อเมริกา แล้วการเดินทางนั้นได้ทำให้พบกับ เพชร ซึ่งใช้ผู้แสดงเป็นลูกครึ่งเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นได้สร้างความประหลาดใจและการแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยของ ผม ไว้อย่างชัดเจน จากบทสนทนานี้
                          กูก็ขนลุกเหมือนกันว่ะ กูว่านายทุนมึงก็ต้องขนลุก ขนคนดูมึงแม่งก็ต้องขนลุก แล้วแม่งก็จะพากันลุกทั้งขนทั้งคน ออกจากโรงหนังกันหมด
เฮ้ย ไอ้ปากหมา  กูว่าเวิร์คชัวร์ว่ะ 
	  	แล้วไอ้พระเอกชื่อเพชรนี่เป็นดาราไทยแท้ ๆ
ไม่ ๆ  กูจะใช้ลูกครึ่งเหมือนกัน 
ยังไงวะ แม่งมีพ่อเจ้าชู้อีกคนเหรอ หรือคราวนี้แม่แม่งเจ้าชู้
ไม่ๆก็มันมาเรียนเมืองนอกนานใช่มั้ยหน้าตาแม่งก็เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมได้
 ไอ้เ-หี้-ย (๗๐)
                              นี่เป็นประโยคที่ ผม กล่าว ความรู้สึกที่ไม่เห็นด้วยในการนำนักแสดงที่มีเชื้อสายอเมริกาหรือเชื้อชาติอื่นปะปนมาแสดง และหากพิจารณาถึงบทสนทนาข้างต้นให้ยิ่งเพิ่มน้ำหนักถึงความเป็นชาตินิยมของ ผม มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในบทสนทนานั้นอาจจะเป็นเรื่องที่คุยกันด้วยอารมณ์คึกคะนองสนุกปากของแจ็คโก้ แต่ก็กลับสร้างความไม่พอใจให้กับ ผม ได้มากพอสมควร เพราะเรื่องมานะมานี เป็นทั้งแบบเรียนภาษาไทยในวัยเด็กของ ผม ซึ่งหากจะกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว มานะมานี ผม นั้นถือว่าโตมากับเรื่องราวของมานีอันแฝงไว้ด้วยความคาดหวังหรือเป็นแบบอย่างของครอบครัวคนไทยที่สมบูรณ์แบบ แม้จะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านนอกหรือชุมชนที่ยึดเกษตรกรรมแต่ก็เป็นการดำรงชีพอย่างพอเพียง เช่นเดียวกับองค์พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการดัดแปลงเรื่องราวที่ ผม ยึดติดและฝังแน่นในความทรงจำวัยเยาว์ของเขานั้นย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมกันได้
                                 หากจะย้อนมองกลับมายังประเด็นของความคิดถึงที่ตัวละครเอกทั้งสอง คือ ผม และ มูน ซึ่งส่วนที่เป็นตัวเรื่องก็ไม่ได้ถูกทิ้งไปจนสิ้น แต่จะค่อย ๆ สร้างปมความขัดแย้งทางความคิดของทั้งสองตัวละครเอก ระหว่าง มูน และ ผม ทีละเล็กละน้อย จนค่อย ๆ เป็นความตึงเครียดและความห่างเหินโกรธเคืองก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การแทรกอุปลักษณ์เข้ามาในเรื่องดูเหมือนจะเป็นที่สังเกตของผู้อ่านและสร้างดึงอารมณ์ร่วมของผู้อ่านไปได้มากเลยทีเดียว 
                                 โดยหากจะเทียบความรู้สึกของ ผม และ มูน แฟนสาวมาศึกษาต่อที่นิวยอร์กด้วยแล้วกลับสร้างความแตกต่างทางความคิดกันอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงแม้ว่า ผม จะกล่าวมาแล้วว่าครั้งหนึ่งเขาเคยได้มาที่อเมริกาดังจากที่ได้เล่าเรื่องของเพื่อนที่ชื่อ แจ็คโก้ ให้ มูน ได้ฟังข้างต้น แต่ทว่า แอลเอ เป็นรัฐที่มีประชากรไทยอาศัยอยู่โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มสังคมเห็นได้อย่างชัดเจนจนผู้แต่งได้เปรียบเปรยว่า แอลเอ  จังหวัดที่เจ็ดสิบเจ็ดของประเทศไทย (๖๙) ไม่เป็นเฉกเช่นเดียวกับนิวยอร์กที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่าและไม่ได้มีลักษณะการแบ่งเขตพื้นที่อาศัยดัง จึงจะสังเกตเห็นได้ว่า ความคิดเรื่องความแตกต่าง หรือการแบ่งแยกสีผิวของมูนนั้นแทบจะไม่มีเลยซึ่งแตกต่างกับ ผม ที่ทุกมโนสำนึกล้วนมีแต่ความระแวง ความเป็นศัตรูและการเหยียดหยามทั้งสิ้น
                                  ส่วนในการการบรรยายฉากล้วนแล้วสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดและหวาดระแวงให้ผู้อ่านได้สัมผัสร่วมไปกับ ผม ชายหนุ่มผู้มาเยี่ยมแฟนสาวด้วยความรักเสียมาก แต่กลับดูเหมือนจะไม่สร้างอารมณ์เหล่านั้นให้กับ มูน ผู้เป็นแฟนสาวอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นด้วยอารมณ์และพฤติกรรมคำพูดที่แสดงออก ดังจะสังเกตได้จากบทสนทนาเมื่อการเดินทางได้หยุดชะงักในสถานที่ ๆ แปลกตาของบุคคลทั้งสอง
	
                           นี่มันที่ไหน ผมถามมูน แต่สายตาเกาะอยู่กับการ
                            เคลื่อนไหวของไอ้มืด
                            มูนนึกชั่วครู่  ก็คงเป็นระหว่างทางนั่นแหละ ฉันก็ไม่
                           เคยจอดแถวนี้ก่อน
                            น่ากลัวนะ มืด ๆ ร้าง ๆ ไม่มีใครเลย
                            เดี๋ยวเขาก็คงแก้ได้มั๊ง
                            เครื่องเสียจริงหรือเปล่าว่ะ ผมพึมพำ รู้สึกคิ้วตัว
                             เองค่อย ๆ ขมวดเข้าหากัน
                             มูนมองหน้าผม แต่ไม่พูดอะไร
                             กล้ามเนื้อของผมเริ่มสั้นมากกว่าที่มันเคยสั่นเพราะอากาศ (๗๑)
	บทสนทนาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงภัย ความเป็นคนช่างสังเกตของ ผม แต่ความรู้สึกของ มูน ที่มีต่อชายคนรักนั้นเริ่มเกิดความรำคาญใจมากกว่าจะเห็นด้วย การสนทนาของทั้งคู่เริ่มเปลี่ยนไป บ่งบอกถึงอารมณ์ที่แตกต่างจากสถานการณ์ที่ผ่านมาในตอนเริ่มเรื่องที่ทั้งสองนั่งเบียดชิดติดกันไม่ใช่เพื่อความอุ่นแต่ด้วยความคิดถึงและอยากชิดใกล้ และการมอบจูบที่แก้มด้วยจะรักจากฝ่ายชาย ดังจะเห็นได้จากประโยคที่บรรยายความรู้สึกของ ผม ในบรรทัดสุดท้าย กล้ามเนื้อของผมเริ่มสั่นมากกว่าที่มันเคยสั่นเพราะอากาศ และอีกนัยหนึ่งได้แฝงความรู้สึกกลัวที่มีมากขึ้นของเขาที่ทวี ๆ มากขึ้นนั่นเอง
	เมื่อการดำเนินเรื่องมาถึงจนเกือบสุดท้าย การบรรยายความรู้สึกของ ผม กลับยิ่งโดดเด่นไปด้วย อุปลักษณ์ ที่ซ่อนความรู้สึกขัดแย้งอันแสดงให้เห็นถึงความโกรธเคืองหรือการที่รู้สึกว่าฝ่ายแฟนสาวนั้นจริง ๆ แล้วไม่คิดอยู่เคียงข้างเขา หรือ ลืม ความคิดถึง ความรัก ความห่วงหาที่มีในตอนต้นเรื่องจนหมดสิ้นและกลับเป็นฝ่ายเดียวกับ ศัตรู นั่นก็คือ ชายผิวดำ ที่นอนจมกองเลือดอยู่
	มูนยืนหันหลังให้แสงส้มจากเสาไฟฟ้า
                     ผมเห็นมือเรียวบางของเธอทั้งสองข้างค่อย ๆ ถูกยกขึ้นเช็ดน้ำตา
                     ผิวของเธอกลายเป็นสีดำสนิท
                     ฉิบหาย  ผมนึกในใจ
                     เหลือกูอยู่คนเดียว ! (๗๗)
	ยิ่งไปกว่านั้น เพียงคำพูดเดียวกันปรากฏขึ้นภายในใจของ ผม นั้น กลับไม่ได้สร้างความเป็นศัตรูให้กับ มูน ซึ่งเป็นแฟนสาวด้วยประโยคที่ว่า ผิวของเธอกลายเป็นสำสนิท หากพิจารณาโดยผิวเผินจะเห็นว่าความเป็นไปได้ของการที่สีผิวของคนจะเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วนั้นไม่มีทาง การที่ผู้แต่งได้ใช้อุปลักษณ์ในการอธิบายความรู้สึกของ ผม ที่มีต่อ มูน ในตอนท้ายของเรื่องนี้ เพื่อแสดงถึงความชัดเจนที่ผมไม่อาจจะร่วมอยู่ในแนวคิดเดียวกันได้อีกต่อไปแล้ว และความสำคัญของคำพูดและการบรรยายภาพเหล่านั้นได้สร้างการกำแพงขึ้นแบ่งฝ่ายตรงข้ามให้กับตัวละครอื่น ๆ และรวมไปถึงผู้อ่านที่มีอารมณ์ร่วมเสมือนเป็นบุคคลบุคคลเดียวกับเขา เพราะตลอดเวลาที่ผู้อ่านกำลังอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ ผู้อ่านได้ใช้สายตาหรือมุมมองของเขาในการมองเรื่องราวทั้งหมดอย่างมีส่วนร่วม แต่ด้วยเพียงประโยคสุดท้ายของการบรรยายนั้นกลับสร้างความรู้สึกให้ผู้อ่านปฏิเสธที่จะมองในมุมมองเดิมและกลายเป็นผู้ที่อยู่อีกฝากหนึ่งของกำแพงเช่นเดียวกับ มูน คนที่เคยรักและคิดถึงเขาเสมอมา
                       จุดเด่นนอกจากความอคติทางชาติพันธุ์ที่ปรากฏตั้งแต่เกือบต้นเรื่องไปจนจบนั้น กลวิธีการเล่าเรื่องของผู้แต่งยังมีความแตกต่างออกไปจากเรื่องสั้นอื่น ๆ คือ การแบ่งตอนของเรื่องสั้นออกเป็น ๔ ส่วนสำคัญ การสร้างอุปลักษณ์ในส่วนท้ายของเรื่อง เพื่อการดึงอารมณ์ร่วมของผู้อ่านจนไปถึงการสร้างความต่อต้านอย่างสุดโต่งให้กับผู้อ่านกับตัวเอกของเรื่องในตอนท้าย 
	 การใช้ตัวอักษรหนาเป็นพิเศษ และการแบ่งเนื้อความของเรื่องสั้นที่ปรากฏบนทั้ง ๔ ตอนของการลำดับเรื่อง เป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่าลักษณะการพาดตัวหนาก่อนนำเข้าสู่เนื้อความนั้นมีความจำเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นการพาดตัวอักษรที่ใหญ่และหนาในการนำเข้าสู่เนื้อหาหลักของข่าวที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยาสาร หรือการเขียนนวนิยายขนาดยาวจึงมีความจำเป็นในการแบ่งเนื้อความออกเป็นส่วน ๆ และมีการสรุปใจความสำคัญโดยมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่อง แต่ในเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาสั้นกระชับอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กลวิธีนี้ในการดึงดูดความสนใจของผู้อ่านเลยก็ได้ แต่นี่อาจจะเป็นเทคนิคที่ผู้แต่งพยายามดึงความสนใจผู้อ่าน และเพิ่มความอยากรู้เนื้อความที่จะปรากฏต่อไปว่าจะเป็นดำเนินเรื่องต่อไปอย่างไร
	ลืมแล้วหรือว่าเราคิดถึงกัน จึงเป็นเรื่องสั้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความแปลกของการดำเนินเรื่อง การหยิบยกประเด็นทัศนคติ การเหยียดผิว สอดแทรกเข้าไปในเรื่องรักได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าเป็นปมปัญหาที่ผู้แต่งสร้างขึ้นมาได้อย่างคมคาย ถึงแม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นการเข้าใจผิดเพียงฝ่ายเดียวของ ผม หรือในตอนท้ายจะสร้างคำถามให้กับผู้อ่านว่าเป็นความเจตนาหรือไม่นั้น ผู้แต่งก็ได้ใช้อุปลักษณ์และกลวิธีที่แปลกและน่าสนใจจนทำอ่านติดตามและเฝ้าคิดอยู่เสมอ 
การพลิกผันของตัวละครเอกที่ผู้อ่านกำลังสวมบทบาทและใช้มุมมองในการเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ผู้อ่านเกิดคำถามและผลักตัวเองให้หลุดออกจากแนวคิดของ ผม ออกไป ด้วยวิธีการสร้างให้ตัวเอกของเรื่องร้ายกลายเป็นผู้ร้ายอำมหิตเลือดเย็น ไม่ว่าจะด้วยความระแวงและด้วยความเป็นห่วงตนเองและแฟนสาวสักเพียงไหน สุดท้ายการกระทำนั้นก็ได้ตอบคำถามให้กับ ชื่อเรื่อง ที่เป็นโจทย์แรกให้กับผู้อ่าน แม้คำถามนั้นจะไม่ได้ต้องการคำตอบจากผู้อ่านเลยก็ตาม แต่เนื้อเรื่องนั้นก็ได้สร้างความเข้าใจให้ผู้อ่านแล้วว่า มูน แฟนสาว เหตุใดนั้น เธอจึง ลืม ความคิดถึงของกันและกัน และตัดความสัมพันธ์ที่มีต่อ ผม ตัวเอกของเรื่องได้อย่างไม่ไยดี				
comments powered by Disqus
  • ..สีน้ำฟ้า..

    6 มีนาคม 2549 20:21 น. - comment id 89930

    11.gif
    
    ไว้ช่วยวิจารณ์งานพี่บ้างซี 
    
    พี่ชอบเขียนเรื่องสั้นแต่ไม่เก่งนัก
  • ร้อยแปดพันเก้า

    7 มีนาคม 2549 10:03 น. - comment id 89938

    วิจารณ์ได้น่าสนใจ
    
    ผมเลยต้องกลับไปอ่านใหม่ มีมุมมองที่คล้ายกัน และแตกต่างกันอยู่บ้าง 1.gif
  • นู๋เดกลำปาง

    20 กรกฎาคม 2552 20:52 น. - comment id 106624

    อยากรุ้ชื่อหนังสือค้า10.gif
  • ฅนคนหนึ่ง

    15 กันยายน 2553 23:16 น. - comment id 119160

    เขียนได้ดีมากเลยค่ะ41.gif
  • ปาล์ม

    25 มกราคม 2554 20:41 น. - comment id 121884

    บอกรายละเอียดมากกว่านี้ได้ไหมครับ
  • เด็กตรัง

    9 มกราคม 2555 11:14 น. - comment id 128142

    29.gifขอคำนับ ต่อความเก่งของคุณพี่ค่ะ
    เขียนได้ดีมากเลย
  • เอ็มม่า

    30 กันยายน 2555 01:12 น. - comment id 130519

    9.gifอยากวิจารณ์เป็น
  • น้องรัก ภาษาไทย

    30 กันยายน 2555 01:17 น. - comment id 130520

    10.gifเครียดจังค่ะ น้องสอบเกี่ยวกีบวิจารณ์
    เรื่องสั้ง อ่านเรื่องสั้นไม่ค่อยเข้าจัยเลย ไม่รู้ว่่าจะวิจารณ์แบบใน ไม่ถนัดเรื่องวิจารณ์เลย66.gif36.gif
  • อิอิ

    12 มีนาคม 2556 13:28 น. - comment id 131812

    งงเบย24.gif31.gif69.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน