25 มิถุนายน 2560 23:11 น.

สมนึก สูตะบุตร ---บุษยมาส---

din

....สมนึก สูตะบุตร  (บุษยมาส)...

**442991082979724.jpg

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2560 ได้ทราบข่าวว่า “บุษยมาส” หรือในนามจริงว่า “สมนึก สูตะบุตร” ถึงแก่กรรม รู้สึกตกใจมาก เพราะเธอเป็นนักเขียนอีกคนหนึ่งที่เคยชื่นชอบมาก ในสมัยที่เป็นเด็ก

..

บุษยมาส ถนัดเขียนเรื่องแนวรักกระจุ๋ม กระจิ๋ม เธอยึดเขียนเรื่องแนวนี้มาตั้งแต่เรื่องแรก “หมอกสวาท” จนถึงเรื่องสุดท้าย “กรวดแกมแก้ว” เรื่องของเธอจะเป็นประเภทพ่อแง่ แม่งอน จึงได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านวัยรุ่นมาแทบจะทุกยุค ทุกสมัย เรื่องที่ส่งให้เธอดังระเบิด ระเบ้อ ก็คือเรื่อง “สลักจิต” ที่มีนางเอกเป็นลูกครื่งผมแดง มีชื่อเล่นๆว่า “จอย” มีพระเอกที่มีศักดิ์เป็นน้องของพ่อชื่อ “อาเดียว” เรื่องของจอย กับอาเดียวนั้น เป็นที่คลั่งไคล้ของวัยร่นในยุคนั้น มาจนถึงยุคปัจจุบัน ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์บ้าง ละครวิทยุบ้าง ละครโทรทัศน์บ้าง หลายครั้ง หลายครา เรียกว่านำไปสร้างเมื่อไหร่ ก็ได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อนั้น คล้ายๆ เรื่อง “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์ นั่นเชียว

...

ยังจำได้ว่า ในนิตยสารดรุณี มักจะมีผลงานของ บุษยมาส เสมอๆ  หนึ่งในผลงานเหล่านั้น คือเรื่อง      “คนึงหา” โครงเรื่องเป็นยังไง บอกตรงๆว่าจำไม่ได้  จำได้เพียงว่า บุษยมาส กำหนดให้นางเอกของเรื่องมีชื่อเรียกกันเล่นๆว่า”ยาย” เวลาพระเอกเรียกชื่อเล่นของนางเอกทีไร กลับเป็นที่ถูกอก ถูกใจ แกมตลกขบขันของผู้อ่านยุคนั้นนะคะ นับเป็นอึกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนทำให้ยอดขายของดรุณี พุ่งกระฉูด

...

เมื่อนิตยสารดรุณีปิดตัวลง แฟนหนังสือจะติดตามอ่านเรื่องของเธอ ได้จากนิตยสารบางกอก และทานตะวัน ซึ่งบุษยมาสเขียนประจำอยู่แล้ว โดยเธอยังคงเขียนแนวรักกระจุ๋ม กระจิ๋ม พ่อแง่ แม่งอน มาตลอด

...

บุษยมาสเป็นสาวโสด ทำให้เป็นที่สงสัยกันมาก ว่าทำไมเธอถึงเขียนเรื่องแนวรักได้ดี ในเมื่อเธอไม่เคยมีความรัก แต่เธอให้สัมภาษณ์ว่า  เธอเขียนเรื่องแนวนี้จากชีวิตรักของคนอื่น  และชื่อจริงของเธอ  คือ     “สมนึก”นั้น ก็พาให้นักอ่านหลายๆท่านเข้าใจว่าเธอเป็นผู้ชาย สมัยก่อนสื่อต่างๆ ยังไม่มีมากเท่านี้ ประกอบกับเธอเป็นคนไม่ค่อยออกงานสังคมด้วย

...

เคยสงสัยนะคะว่า คณะกรรมการที่เป็นผู้พิจารณารางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” นั้น เขาใช้หลักเกณฑ์อะไรตัดสินให้นักเขียนได้รับรางวัลนี้ เคยอ่านนานมาแล้วว่า ”ศิลปินแห่งชาติ” จะต้องทำงานในด้านนั้นๆ ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีผลงานเป็นที่ยอมรับ และต้องเป็นผู้ที่ยังมีชิวีตอยู่ ณ วันตัดสิน ซึ่ง บุษยมาสนั้น เข้าข่ายที่จะได้รับรางวัลนี้มานานแล้ว แต่เพราะเหตุใดผลงานของเธอถึงได้ถูกมองข้ามไป จริงอยู่แม้ว่านวนิยายที่เธอเขียนส่วนใหญ่จะเป็นโครงเรื่องที่ถูกกล่าวขานว่า “น้ำเน่า” แต่เรื่องของเธอก็ได้รับการต้อนรับในหมู่นักอ่านเป็นอย่างดี ไม่เป็นพิษ เป็นภัย และไม่เคยข้องแวะกับการเมือง เหตุใดคนที่ทำงานด้านนี้มากว่า 50 ปี ตั้งแต่วัยสาว จนล่วงเข้าอายุ 85 ถึงไม่ได้รับการพิจารณา หรือมันมีหลักเกณฑ์อันใดที่เราไม่รู้ก็ไม่ทราบ

...

เรื่องของบุษยมาสนั้น ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ดงผู้ดี ทับเทวา เงารัก หัวใจเถื่อน (เรื่องนี้เพลงไพเราะมากค่ะ) สกุลกา ปิ่นรัก หงส์เหิน มัตติกา หนี้ค้างชำระ ในม่านเมฆ ฯลฯ จาระไนไม่หมด

...

บุษยมาส เคยให้สัมภาษณ์ว่า ชื่อบุษยมาสนั้นแปลว่าเดือนสอง เนื่องด้วยเพราะเธอเกิดเดือนยี่ แต่มีบางคนไปเขียนชื่ออันเป็นนามปากกาของเธอว่า “บุษยมาศ” ซึ่งมาศ นั้นแปลว่าทอง เธอบอกเล่าด้วยอารมณ์ขัน ว่าเธอไม่ยอมเป็นทองเนื้อสองหรอก

..

จริงๆแล้วเธอมีนามปากกาอื่นๆอีกอย่างเช่น เมิน แมนสรวง , ศรวณีย์ แต่ไม่มีนามปากกาใดดังเท่า บุษยมาส

....

ต่อมาในปี 2554 เธอได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งชีวิตการเป็นนักเขียนของเธอเลยก็ว่าได้

...

บุษยมาสเป็นนักเขียนมือรางวัล เคยส่งเรื่องสั้นชื่อ “รักฉากสุดท้าย” เข้าประกวดในนิตยสาร “นารีนาถ” เรื่องได้รับรางวัล และได้ลงตีพิมพ์ เรื่องสั้นเรื่องที่สองของเธอ คือ “ปลายทางของสลี” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ยิ่งส่งให้เธอมีกำลังใจในการเขียนมากยิ่งขึ้น จนเริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรก “หมอกสวาท” และเรื่องยาวเรื่องที่สอง “สลักจิต” ก็ได้รับการต้อนรับอย่างเกรียวกราว ในที่สุดเธอได้ตัดสินใจลาออกจากราชการที่กระทรวงเศรษฐการ เพื่อมายึดอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียว

...

ผลงานเรื่องสุดท้ายของเธอคือ “กรวดแกมแก้ว” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารบางกอก ยังอยู่ในระหว่างการรวมเล่ม

...

บนเส้นทางที่เธอรัก และเธอเลือก เธอได้ทำ(เขียน) มันมาตลอดชีวิต จวบจนวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2560 เวลา 11.05 น. เธอก็จากไปด้วยอาการสงบ จากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ปิดตำนานนักเขียนสตรีผู้ถนัดนวนิยายแนวรักโรแมนติก

...

นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวงการประพันธ์ไทยทีเดียว

ด้วยจิตคารวะ

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2560 (1.41 น.)

......................

  din
ไม่มีข้อความส่งถึงdin