รอยดินกับกลิ่นปลา

นิติ

        เสียงรถไถเริ่มจางหายจากตัวหมู่บ้านไป แต่กลับดังสนั่นหวั่นไหวในท้องทุ่ง  ทำเอานกน้อยใหญ่ตกใจหนีกันกระเจิดกระเจิง ควันโขมงตามเสียงไอ้ความเหล็ก ถือเป็นสัญญาณ เหมือนการยิงปืนพิธีเปิดการแข่งขันอะไรสักอย่าง โดยผลรางวัล ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปดั่งหวังตั้งใจหรือไม่ ได้แต่เงยหน้ารอฟ้ารอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ทุกคนในครอบครัวต่างรีบเร่งดำนาให้สำเร็จเร็วไว ตามกำลังแรงของสิงห์คะนองนา ที่ซดน้ำมันเป็นว่า เหมือนเห็นหยาดเหยื่อคนที่ขับมันไหลเปียกปอนเสื้อผ้ามากเท่าใด เป็นยาชูกำลังเจ้าควายเหล็ก มันเป็นสิงห์แห่งทุ่งนาไปเสียแล้ว ชาวบ้านเมืองหลวงบางครอบครัว เห็นบ้านใกล้กันดำนาเสร็จ จึงรีบจ้างหว่านรีบจ้างดำให้เสร็จตามกัน เผื่อว่าจะได้รับจ้างดำนาครอบครัวอื่นๆที่ยังไม่เสร็จนาและถ้าไม่อย่างนั่น จะไปทำงานที่อื่นเอาเงินมาซื้อปุ๋ยรอ กล้าข้าวจะตั้งท้อง  
     
           มีหลายครอบครัวเช่นกันที่ เรียกลูกหลานขึ้นมาจากกรุงเทพฯ เพื่อช่วยช่วงนี้  ลุงกูล บ้านอยู่หลังถัดไปของบ้านผมเล่าให้ฟังว่า ลูกของลุงไปทำงานที่กรุงเทพฯ คนโตทำงานก่อสร้าง คนเล็กทำงานโรงงานเกี่ยวกับผลิตเหล็กนี่แหละ พอช่วงทำนาลุงก็เรียกสองคนมาช่วย ลำพังลุงกับป้าเรี่ยวแรงไม่ค่อยมีแล้ว และแถมสองคนนี้กลับมามีเงินจากการทำงานเป็นค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันรถไถด้วย ช่วยกันทำอยู่หลายวันก็เสร็จ  พอเสร็จจากการดำนาก็ต้องเรียกลงไปกรุงเทพฯ เพราะลาเถ้าแก่เกือบเดือนถ้าไม่รีบไปเดี๋ยวเขาหาคนอื่นมาทำแทน ต้องหางานใหม่จะลำบาก ก่อนลงไปกรุงเทพฯ ป้าเขาเตรียมพวกข้าวสารซักครึ่งกระสอบ ถ้าเอาไปเยอะกว่านี้กลัวแบกไปไม่ไหว มีพวกพริกกระเทียมสารพัด ปลาร้าปลาตากแห้ง เตรียมให้เขาเสร็จสรรพอยู่ได้เดือนสองเดือนเลยนะ กับข้าวของที่เตรียมให้ กลับมาอีกที ก็จะเข้าฤดูหนาวเกี่ยวข้าวแล้ว เหมือนกลับมาช่วยอีกครั้ง วนเวียนอย่างนี้มาหลายปีแล้ว
ลุงยังเคยคิดอยู่ว่าถ้าลูกลุงออกไปมาครอบครัวแล้วลุงจะยืมเรี่ยวยืมแรงใครมาช่วย เดี๋ยวนี่บ้านเราเปลี่ยนไปเยอะ
           ได้ฟังลุงกูล เล่าจบ เหมือนว่าหมู่บ้านนี่เปลี่ยนรับกับความเจริญก้าวหน้า แต่หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย จากประเพณีเก่า อย่าง ลงแขก เริ่มหายไปจากชุมชน ผมยังจำได้วิถีชีวิตตัวเองและคนแถบนี้ได้ดี ช่วงวัยเรียนประถมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในฤดูการทำนา หน้าฝนและพายุมรสุมกำลังเข้าฝนตกหนักมาก น้ำไหลบากตัดคันแถนาแตก  ถนนควายเดินท่วมจนมองไม่เห็นทาง ชาวบ้านต่างร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันขุดดิน ขนดินถมที่สายน้ำที่ไหลอยู่จนสำเร็จ รอยยิ้มกับความภาคถูมิใจของทุกคนเป็นกำลังใจกันและกันในยามนั่น  ปู ปลา ไม่อดไม่อยาก ช่วยกันจับมาปิ้งไฟ ตรงศาลาพักทางอย่างอบอุ่น ด้วยกลิ่นไอของการเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน 
                      เวลาถึงช่วงดำนา ก็มีการบอกกล่าว ญาติสนิทมิตรสหายที่สนิทชิดเชื้อกัน หรือเรียกว่า ลงแขก ดำนาโดยไปบอกกับเขาตกลงกันว่าจะไปช่วยจนเสร็จ หรือเปลี่ยนกันมาไปมาระหว่างครอบครัวนั่นครอบครัวนี่ก่อนที่จะลงมือช่วยกัน  คนที่ครอบครัวผมบอกมา ล้วนเป็นเครือญาติกัน ทั่งที่บ้านใกล้กันและบ้านไกลกัน ประมาณ 10-15 คน
          เรื่องอาหารการกินทางครอบครัวที่ลงแขกก็เตรียมมาและแขกก็เตรียมมา เริ่มดำนาตั่งแต่เช้าไม่ค่อยถือเท่าไรหรอกว่าใครมาช้ามาเร็ว เพราะเป็นสิทธิ์ในการที่ช่วยเหลือกัน ลงมือทำงานด้วยสนุกสนานมีเรื่องคุยตั้งแต่นายกฯลงมาจนถึงคนในครอบครัวตัวเอง เสียงหัวเราะดังอยู่ไม่ขาดสาย  ตะวันบายคล้อยใกล้จะเที่ยงแล้ว  ต้องมีคนหาอาหารเมนูเด็ด มาเสริฟ์ ในมื้อกลางวันนี้  แน่นอนอาหารที่ขาดไม่ได้คือ ส้มตำเป็นอาหารหลักในมื้อเที่ยงนี้ขาดส้มตำไปเหมือนไม่ได้มาทำนาแล้วไม่ได้ทานข้าวกลางท้องทุ่งต้นข้าวเขียวขจี  อาหารเสริมมื้อเที่ยงอีกอย่างคือต้มเปรตหรือต้มปลาทุกอย่างที่หามาได้ มาดูวิธีหาปลากัน!!!
   การใส่เบ็ด  เป็นเบ็ดยาวประมาณ 70 ซม. ส่วนมากทำขึ้นเองโดยไม้ไผ่มาเหลาให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลาง0.5 ซม. แล้วผูกกับใช้เฉพาะกับเบ็ด สีขาวๆ ยาวประมาณ 45 ซม. ทำประมาณ 100 ชุด 
ช่วงเวลาที่ว่างเบ็ด เริ่มตั้งแต่เช้าและพอสายๆหน่อย ขึ้นมาจากดำนาเพื่อเดินดูเบ็ดว่าปลาติดเบ็ดหรือยัง เป็นเคล็ดลับแก้เมื่อยจากการที่ก้มๆเงยๆ ในแปลงนาเป็นชั่วโมง  ผมเลยลุกไปดูเบ็ดบ่อยๆไป  เพื่อมาดูแล้วเมื่อเหยื่อปลาหมดเราใส่ไปใหม่ ตัวล่อคือไส้เดือดดินดีๆนี่เอง กว่าจะถึงเพลเวลาพระฉันเช้า ทราบได้จากกลองเพลที่พระตีให้สัญญาณ บอกเวลา ห้าโมงเช้า ด้วยความคุ้นเคยดี เวลาตั้งแต่เช้าจนถึงเพล จะได้ปลาที่กะเกณฑ์ดังนี้
 ปลาเข่ง ประมาณ 10 ตัวขึ้นไป ปลาช่อน 3 ตัวเป็นอย่างต่ำ  งู มายุ่งหยาบติดมาตัว ปลาดุกเผลอมาติดสักตัวเป็นที่น่ายินดี
   การหว่านแห่  พอใกล้เลาเพล ลุงกับน่าจะเปลี่ยนเวรพาผมไปหว่านแห่ในทุกเสาร์-อาทิตย์วันหยุด สถานที่ก็แปลงนาที่ยังไม่ดำนา โดยปล่อยน้ำจากแปลงอื่นเข้าไปสมทบ ซึ่งทำเลเหมาะที่จะหว่าน โนนแหน่ะ!! ใต้ร่มไม้เป็นมุมเหมาะ เพราะปลาที่รู้สึกร้อนกับน้ำในแปลงนาที่ไม่ลึกนักจะมาหลบอยู่มุมนี้ และเป็นที่เหมาะเจาะของนักล่าปลาลุ่มน้ำโคกเช่นกัน  ลุงเริ่มหว่านแห่ตามทำเลที่พอเหมาะ บางทีต้องช่วยกันไปไล่ปลาตามมุมต่างๆของแปลงนาให้มาอยู่มุมที่เราต้องการ  พอหว่านปุ๋ม เริ่มเหยียบตีนแห่ให้จมกับดินให้แน่น แล้วค่อยๆ คล่ำไปตามแห่ในน้ำจนไปถึงตรงกลาง  กว่าจะไปถึงตรงกลางเราจับปลากันสนุกสนาน ประมาณว่าโชว์ฝีมือกันสุดฤทธิ์ เสียงหัวเราะก็เกิดขึ้นกับการพลาดพลั่งของแต่ละคน คล้ายเป็นกีฬาครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่โลกไม่ได้บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิกให้ชาวโลกได้ชมและฝึกเล่นกัน เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ที่ตื่นตาตื่นใจ กับการผจญภัยในท้องทุ่ง
          ยิ่งมาลองดำนาแล้ว ผมเองตอนนั่นตัวยังเล็กๆเท่าลูกหมา ตัวน้อยๆไร้เดียงสา อุ้มกล้าข้าวแต่ละมัดไม่ไหวหรอก ต้องให้แม่แบ่งให้ที่ละกำมือเล็กๆของแม่ พอดำไปที่ไรต้นกล้าข้าวดูสะเปสะปะไปหมด แม่บอกฝึกไว้จะได้เป็นแล้วจะเก่งเอง แต่ทำอย่างไรก็ไม่ดูเป็นแถวเป็นระเบียบ ผมเริ่มหงุดหงิด ล้มตัวนอนเกลือกกลิ้งในแปลงนาพร้อมสีหน้าบูดบึง
      หวิวววว!!!!!!ปะ      ก้อนดินโคลนลอยมาจากทางพ่อ ลงกลางหลังผม และเสียงหัวเราะดังขึ้น ดังกว่าการไปนั่งดูตลกตามคาเฟ่เสียอีก   ผมยิ้มแกมหงุดหงิด สุขๆดิบๆ กับอารมณ์ กับชีวิตที่ได้เรียนรู้ไม่รู้จบในทุ่งนา เป็นความทรงจำที่มีความสุขยามระลึกถึง วัยเด็กและคิดถึงบ้านเสียจริง				
				
comments powered by Disqus
  • ปลา

    4 ธันวาคม 2545 19:29 น. - comment id 67056

    เราชอบนะ วิถีชีวิตของชาวบ้านแบบเนี้ย  เราเบื่อกับแสงสีรอบตัวเต็มทีแล้วเนี่ย
  • แอ็ปเปิ้ล

    5 ธันวาคม 2545 18:24 น. - comment id 67062

    เราก็ไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งนี้เท่าไร
    แต่เราคิดว่ามันเป็นภาพที่น่ามองมากกว่า
    แสงสีที่หลอกลวงตา....อ้อ เปิ้ลเคยไปบ้านเพื่อน
    เค้าพาไปดูการลงแขกเกี่ยวข้าว  แล้วก็จับปลา
    ข้าง ๆ นานั่นแหละ และก็ได้ทานข้าวกลางท้องนา
    สนุกมากเลย  นอกนั้นก็จะเป็นการออกค่ายมาก
    กว่า สนุกดี...จ๊ะ
  • ทะเลใจ

    10 ธันวาคม 2545 12:13 น. - comment id 67102

    แวะตามมาทักทาย และก็เยี่ยมเยียนอ่ะจ๊ะ นี่ คุณนิติ คุณเก่งจริง ๆ เลยนะคะบทความอ่ะ ยาวได้ใจจริง ๆ อ่ะคุณ ~^_^~
  • J&J

    2 มกราคม 2546 14:58 น. - comment id 67212

    อืม ได้บรรยากาศจริงๆ อ่านแล้วคิดถึงสมัยเด้กๆนะ เหมือนกันเลย เดี๋ยวนี้สิ่งเหล่านั้นมันหายไปเกือบหมดแล้วเนาะ เหลือเพียงความเร่งรีบ รีบปักดำ รีบเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีใหม่ๆทำให้อะไรๆมันเปลี่ยนไปเยอะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมเก่าๆลบเลือนหายไป คิดถึงวัยเด็กจัง
  • บุญพริกา แก้วประภาค

    3 มกราคม 2546 18:08 น. - comment id 67228

    ตั้งชื่อเรื่องได้เพราะดีจัง... จาก.. ตูน

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน