ควันบุหรี่พิษร้ายทำลายล้าง

เบิ้ลผู้วิพุธ

รัฐบาลชาญเฉลียวเคี่ยวภาษี
สิงห์บุหรี่ขมวดคิ้วเป็นทิวแถว
ทั้งตกงานชะงักงันกินมันแกว 
ไร้วี่แวว แพรวพรายในชีวิต
มาวิเคราะห์กันเถิดเกิดเพราะไผ
เพราะตัวเราหรือไรใครลิขิต
เงินร่วงหล่น แรงเริ่มล้า น่าครุ่นคิด
เพราะเสพติด หรือไม่ควรใคร่ค้น
บุหรี่ซอง ลองกระซิบ"ห้าสิบหก"
กินส้มตำหนึ่งครกได้สองหน
ควันบุหรี่พิษร้ายทำลายกมล
ส่วนส้มตำสร้างตนล้นเรี่ยวแรง
นิโคติน เพิ่มความดัน เลือดตันตีบ
สารทาร์ถีบตัวมะเร็งเร่งเปล่งแสง
กัมมันตรังสีโพโลเนียมเยี่ยมสำแดง
ปรับเปลี่ยนแปลงมะเร็งปอด ยอดจริงจริง
ไนโตรเจนไดออกไซด์ทำลายล้ม
ปรับถุงลมโป่งพองสยองยิ่ง
หลอดลมแสบอักเสบเสียเพลียแอบอิง
แอมโมเนียมาสิงกลิ้งหลอดลม
คาร์บอนมอนออกไซด์คล้ายคาร์บอม
ออกซิเจนโจนจ่อมไร้ล้อมห่ม
หายใจขัด หัวใจข้อง หมองระทม
หลอดเลือดตีบหัวใจตรมระทมตาย
ซองบุหรี่มีระบุถึงกรุโทษ
ยังปราโมทย์เงินตราซื้อมาขาย
เด็กหนุ่มสาวชาวฉกรรจ์ยันตายาย
ไฉนคว้าความฉิบหายทำลายตน
รัฐบาลชาญเฉลียวเคี่ยวด้วยเล่ห์
สิงห์อมควันคงคะเนคะนึงผล
ทรัพย์เท่านี้ซื้อเท่านี้มีน้ำทน
ลดควันลง...เยี่ยมยลย่อมเยี่ยมเยือน
สุขภาพดี อารมณ์ดี มีความสุข
งานที่ตก เงียบกระตุก..รุกเขยื้อน
ทรัพย์ขยับ ซับขยัน สับฟั่นเฟือน
เพื่อนเตือนเพื่อนรัฐเตือนราษฎร์...ปราศควันร้าย!!!

เบิ้ลผู้วิพุธ
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒				
comments powered by Disqus
  • ระเด่นมนตรี

    31 พฤษภาคม 2552 08:12 น. - comment id 992750

    ต่อมวน ยิ่งต่อเมรุ
    
    46.gif46.gif46.gif
  • ไหมไทย

    31 พฤษภาคม 2552 09:27 น. - comment id 992805

    ภัยเงียบ อันตรายมหันต์
    พิษภัยนั้นกราะจายทุกหย่อมย่าน
    สูดกลิ่นควันบางบางเวลานาน
    ความตายนั่นคืบคลานไม่รู้ตัว
    
    ช่วยกันชี้ให้เห็นถึงพิษภัยเจ้าตัวร้ายนี้เนาะ
  • ติตรากร

    31 พฤษภาคม 2552 10:45 น. - comment id 992840

    128690.gif
    
    ขอเพิ่มเติมข้อมูลโทษภัยของบุหรี่อีกซักนิด อ่านกันเล่นๆ อย่าซีเรียสนะครับ
    
    1.ควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมาในแต่ละครั้งประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด หลายชนิดเป็นพิษและมีถึง 42 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง 
    
    2.ต้นยาสูบที่ใช้ในการทำบุหรี่สามารถปลูกที่ไหนก็ได้ถ้าหากมีปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ในการทำไร่ยาสูบต้องใช้ปุ๋ยและยาปราบศุตรูพืชเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อชาวไร่ยาสูบด้วย 
    
    3.การที่จะให้ได้ใบยาสูบ 1 ตัน ซึ่งใช้ผลิตบุหรี่ได้ 1 ล้านมวน ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกประมาณ 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณสองเท่าของสนามฟุตบอล
    
    4.ทั่วโลกใช้พื้นที่ปลูกยาสูบประมาณ 6 หมื่นล้านตารางเมตร ซึ่งพื้นที่ขนาดนี้สามารถปลูกพืชที่เป็นอาหารเลี้ยงคนได้ถึง 20 ล้านคน 
    
    5.ประเทศที่ปลูกใบยาสูบ 10 อันดับแรกคือ 1. จีน 2. สหรัฐอเมริกา 3. อินเดีย 4.บราซิล 5. ตุรกี 6. รัสเซีย 7. อิตาลี 8. อินโดนีเซีย 9. ซิมบับเว 10. กรีซ (ประเทศไทยอยู่อันดับ 19) 
    
    6.ปัจจุบันมีการจำหน่ายบุหรี่ในท้องตลาดประมาณสัปดาห์ละ 100 พันล้านมวน หรือปีละ 7 ล้านล้านมวน
    
    7.บริษัทบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลกคือ 
    1. บริษัทฟิลิปส์ มอริส ผู้ผลิตมาร์ลโบโล มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดถึงร้อยละ 26 มียอดจำหน่ายปี 2540 ถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นกำไร 7,800 ล้านดอลลาร์ 
    2. บริษัทอาร์เจ เรย์โนลด์ ผู้ผลิตบุหรี่คาร์เมล มีรายได้ทั้งหมด 8,300 ล้านดอลลาร์คิดเป็นกำไร 1,700 ล้านดอลลาร์ 
    3. บริษัทบริติชอเมริกันโทแบคโค ผู้จำหน่ายบุหรี่ มีรายได้ 12,500 ล้านดอลลาร์คิดเป็นกำไร 1,500 ล้านดอลลาร์ 
    8.ควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่สูดเข้าไปแล้วพ่นออกมาประกอบด้วยสารพิษต่างๆ เช่นเดียวกับที่ผู้สูบบุหรี่ได้รับ แต่จะมีความเข้มข้นของสารพิษลดลงเนื่องจาปอดของผู้สูบบุหรี่ได้ดูดซึมสารพิษบางส่วนไว้แล้ว 
    
    9.บุหรี่มือสอง (Passive Smoking) โดย ปริมาณควันบุหรี่ที่ผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับจะขึ้นกับ
     จำนวนบุหรี่ที่มีการสูบในห้องนั้น
     ระยะเวลาที่อยู่ในห้องเดียวกัน
     ขนาดของห้องและการถ่ายเทอากาศของห้องนั้น
    
    10.สูบบุหรีวันละซอง อายุจะสั้น วันละ 3-4 ชั่วโมง
    
    11.ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงต่อโรค มะเร็งปอด มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 12 เท่า
    
    12.ผู้สูบบุหรี่จะเป็นหวัดบ่อยกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะ ควันบุหรี่ทำให้กลไกในการป้องกันการติดเชื้อ ของระบบทางเดินหายใตเสียไป
    
    13.เมื่อหยุดสูบบุหรี่การทำงานของต่อมรับรสอาหารจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ทำให้ทานอาหารอร่อยขึ้น และอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย ก็จะถูกเผาผลาญในอัตราปกติ
    
    14.90 ใน 100 คน ของผู้สูบบุหรี่ สามารถ เลิกสูบบุหรี่ได้ ด้วยตัวเอง โดย ไม่ต้องใช้ยาใดๆ
    
    15.บุหรี่ มีสารปรุงแต่ง กลิ่นรส ที่มีอันตรายมากกว่า 2,000 ชนิด เช่น ยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู ยาดองศพ
    
    16.ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่จะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ยังสูบบุหรี่ต่อไป โดยผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ก่อนอายุ 50 ปีจะมีโอกาสเสียชีวิต
    เพียงครึ่งเดียวของผู้ที่ยังคงสูบต่อไป เมื่อทั้งสองกลุ่มมีอายุ 65 
    
    17.ห้าม! ขายบุหรี่ให้แก่เด็กอายุ 18 ปี (ฝ่าฝืนจำคุก 1 เดือน) ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
    
    ขอบคุณข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่ร่วมรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่..แบบนี้การตัดสินใจก็อยู่ที่คุณแล้วละครับ..
  • White roses

    31 พฤษภาคม 2552 11:44 น. - comment id 992881

    เห็นคนเป็นโรคเกี่ยวกับบุหรี่กันมากขึ้น
    เรื่อยๆค่ะ..36.gif36.gif
  • แก้วประภัสสร

    31 พฤษภาคม 2552 20:26 น. - comment id 993049

    แม่นอีหลีเด้อค่า เห็นด้วยค่ะ
    ส้มตำแถวบ้านแบม ครกละ ยี่สิบเองค่ะ 
    สองครก สี่สิบ ข้าวเหนียวห้าบาท
    ยังมีเงินเหลืออีกค่ะ
    ไม่ดีๆๆ อย่าสูบกันเลยะนะคะ
    36.gif36.gif11.gif16.gif
  • เบิ้ลผู้วิพุธ

    31 พฤษภาคม 2552 20:36 น. - comment id 993057

    ถึงคุณระเด่นมนตรี
    
    ต่อมวน ยิ่งต่อเมรุ
    เป็นความเห็นชัดเจนแจ้ง
    ต่อมวนราคาแพง
    ต่อความตายใกล้ความจริง
    
    ขอขอบคุณที่เข้ามาร่วมให้ความคิดเห็นครับ
  • เบิ้ลผู้วิพุธ

    31 พฤษภาคม 2552 20:41 น. - comment id 993061

    ถึงคุณไหมไทย
    
    "ภัยเงียบ อันตรายมหันต์
    พิษภัยนั้นกระจายทุกหย่อมย่าน
    สูดกลิ่นควันบางบางเวลานาน
    ความตายนั่นคืบคลานไม่รู้ตัว"
    
    ควันบุหรี่พิษร้ายทำลายตับ
    มะเร็งร้ายมาเร่งรับขมับขมัว
    เล่นกีฬา เดี่ยวกีตาร์ อย่ามึนมัว
    หลีกบุหรี่กันทั่ว...น่ากลัวนะ!
    
    ขอขอบคุณคุณไหมไทยที่มาแสดงความคิดเห็นครับ
  • เบิ้ลผู้วิพุธ

    31 พฤษภาคม 2552 20:43 น. - comment id 993064

    ถึงคุณติตรากร
    
    ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ เพื่อมาเป็นข้อมูลประกอบครับ
    
    ขอบคุณมาก ๆ ครับ
  • เบิ้ลผู้วิพุธ

    31 พฤษภาคม 2552 20:48 น. - comment id 993070

    ถึงคุณแก้วประภัสสร
    
    เอาไว้ว่าง ๆ คงไปหาซื้อส้มตำมากินบ้างแล้วเห็นคุณแบมพูดมารู้สึกเปรี้ยวปากอยากชิม
    
    เอาเป็นว่าขอบคุณที่ช่วยเข้ามาร่วมรณรงค์การเลิกบุหรี่ครับ ขอบคุณครับ
  • เบิ้ลผู้วิพุธ

    31 พฤษภาคม 2552 20:54 น. - comment id 993074

    หากคุณสูบบุหรี่
    วันละซองประหยัดเงินได้ 56 บาท
    หนึ่งสัปดาห์ประหยัด       392 บาท
    หนึ่งเดือนประหยัด       1,680 บาท
    หนึ่งปีประหยัด           20,440 บาท
    ห้าปีประหยัด           102,200 บาท
    สิบปีประหยัด           204,400 บาท
    ........
    ปีต่อไปอาจไม่ต้องเสียเงินอีกเพราะว่ามันอาจจะสายเกินไปแล้วที่จะเยียวยา
    
    เลิกบุหรี่เสียตั้งแต่วันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพทางการเงินของคุณ!!!!!!!
    72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif72.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif60.gif
  • เบิ้ลผู้วิพุธ

    31 พฤษภาคม 2552 21:18 น. - comment id 993093

    ผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพร่างกาย
    
              สารต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในบุหรี่และในควันบุหรี่ที่กล่าวมาแล้ว เมื่อผู้สูบบุหรี่สูดเข้าสู่ร่างกายพร้อมๆ กัน จะก่อให้เกิดพิษที่ทำอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการดังนี้
    
              ก. ผลกระทบระยะสั้น
              - ประสาทสัมผัสของการรับรู้กลิ่นและรส จะทำหน้าที่ได้ลดลง
              - แสบตา น้ำตาไหล
              - ขนอ่อนที่ทำหน้าที่พัดโบก เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมภายในหลอดลมเป็นอัมพาต หรือทำงานได้ช้าลง
              - ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดและในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น
              - หัวใจเต้นเร็วขึ้น และความดันโลหิต สูงขึ้น
              - มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น
              - เกิดกลิ่นที่น่ารังเกียจตามร่างกายและ เสื้อผ้า
              - ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และมีกลิ่นปาก
    
              ข.ผลกระทบระยะยาว เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ได้แก่
              - โรคมะเร็งปอดและมะเร็งในส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น กล่องเสียง ลำคอ หลอดอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ
              - โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจขาดเลือด มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ หัวใจวาย
              - โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดส่วนอื่นๆตีบตัน และหลอดเลือดใหญ่ทรวงอกและช่องท้องโป่งพอง
              - โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลม อักเสบเรื้อรัง
              - ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมจากการอุดตันของเส้นเลือดขนาดเล็ก ที่ไปเลี้ยงประสาทที่เกี่ยวกับการควบคุมการแข็งตัวของ อวัยวะเพศ
              - เกิดอาการเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงแขนและขาตีบตัน อาจต้องตัดแขนหรือขาทิ้ง
    
    
    
    [กลับหัวข้อหลัก]
     
      
     
    
     
    โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
    
              การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ หลายชนิด ทำให้อัตราเสี่ยงของการเกิด โรคหัวใจสูงขึ้นเป็น ๒ เท่า อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคถุงลมโป่งพองสูงขึ้นเป็น ๖ เท่า และอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเป็น ๑๐ เท่า การสูบบุหรี่ทำให้ผู้สูบอายุสั้นลงโดยเฉลี่ย ๕-๘ ปี ผู้สูบบุหรี่ที่เริ่มสูบตั้งแต่วัยรุ่นและไม่หยุดสูบ ร้อยละ ๕๐ จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้จะเสียชีวิตในวัยกลางคนก่อนอายุ ๗๐ ปี
    
              โรคต่างๆที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
    
              ก.โรคมะเร็ง
              ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งช่องปาก โพรงจมูก กล่องเสียง หลอดลม ปอด หลอดอาหาร กระเพาะ-อาหาร ตับอ่อน ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก เต้านม ปากมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก ทั้งนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ด้วยจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุที่การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะหลายๆ แห่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สารก่อมะเร็งในควันบุหรี่สัมผัสกับอวัยวะโดยตรง เช่น กล่องเสียง และปอด หรือสารก่อมะเร็งถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไหลเวียนไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับอ่อน และกระเพาะ-ปัสสาวะ โดยในภาพรวม พบว่าประมาณร้อยละ ๓๐ ของมะเร็งที่เกิดในคนมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
    
             - มะเร็งปอด ร้อยละ ๙๐ ของมะเร็งปอด มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่เป็นมะเร็งปอดประมาณร้อยละ ๓๐ เป็นผลจากการที่ได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ มีการศึกษาพบว่า ผู้สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง ๕๐ เท่า เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่รับควันบุหรี่มากที่สุด ความเสี่ยงต่อพิษภัยของควันบุหรี่ขึ้นอยู่กับปริมาณบุหรี่ที่สูบและวิธีการสูดควันบุหรี่ การเกิดโรคมะเร็งปอดระยะแรกจะไม่มีอาการ เมื่อใดที่มีอาการแสดงว่าโรคเป็นมากแล้ว อาการที่พบคือ ไอเรื้อรัง เสมหะมีเลือดปน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการร่วม ของโรคต่างๆ ได้หลายชนิด จึงมักทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้า และการวินิจฉัยโรคล่าช้า
    
              สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดในระยะที่เป็นมากแล้ว จะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปวดกระดูกซี่โครงและไหปลาร้าหรือสะบ้า อาจมีอาการหอบเหนื่อย บวมบริเวณหน้า คอ แขน และอกส่วนบน ปวดศีรษะ ซึม กลืนอาหารลำบาก ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้
    
              โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดจะมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเริ่มมีอาการเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน โดยร้อยละ ๘๐ จะเสียชีวิตภายใน ๑ ปี และถึงแม้จะให้การรักษาอย่างดี ก็มีอัตราการรอดชีวิตเพียงร้อยละ ๒-๕ เท่านั้น
    
               ข. โรคหัวใจและหลอดเลือด
               - โรคหัวใจ ขณะนี้โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับหนึ่งของคนไทย โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญ ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสหัวใจวายตายในอายุ ๓๐-๔๐ ปี สูงกว่าผู้ไม่สูบถึง ๕ เท่า สารพิษในควันบุหรี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยที่รูหลอดเลือดค่อยๆตีบลงจากการหนาตัวของผนังหลอดเลือด จนเกิดการตีบตันของเส้นเลือด เป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง จึงเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือโรคหัวใจขาดเลือดได้
    
              เมื่อหลอดเลือดตีบจนมีผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังและถึงขั้นหัวใจวายได้ในที่สุด
    
              - โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สาเหตุที่สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เกิดจากเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเสื่อม ซึ่งควันบุหรี่มีสารที่ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การทำงานจึงเสื่อมลง นอกจากนี้ยังพบตัวอสุจิในผู้สูบบุหรี่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติมากกว่าในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งจำนวนอสุจิลดลงด้วย ในขณะเดียวกันการเจ็บป่วยอื่นๆ ของผู้ที่สูบบุหรี่ก็ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ เพราะโรคที่เกิดล้วนเป็นโรคเรื้อรังทำให้ เหนื่อยหอบรักษาไม่หาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งของ อวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความกังวลกับโรคที่เป็น และมีผู้ป่วยหลายรายที่เกิดอาการหอบขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะมีเพศสัมพันธ์อีก
    
              - โรคหลอดเลือดในสมองตีบ การเสื่อมของหลอดเลือดในสมอง มีกลไกในการเกิดเหมือนกับที่เกิดกับเส้นเลือด หัวใจและอวัยวะอื่นของร่างกาย ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพาตจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือมีความจำเสื่อมลง
    
               ค. โรคระบบทางเดินหายใจ
               ควันบุหรี่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมาก และทำให้เนื้อปอดเสื่อมสมรรถภาพลง เมื่อมีการสะสมของควันบุหรี่ในปอดอย่างต่อเนื่อง โรคที่พบ คือ ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นหวัดและหลอดลมอักเสบง่าย และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ
    
              - โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่เนื้อปอดค่อยๆ เสื่อมสมรรถภาพจากการได้รับควันบุหรี่ ตามปกติแล้วพื้นที่ในปอดจะมีถุงลมเล็กๆ กระจายอยู่เต็มทั่วปอด เพื่อทำหน้าที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย สารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อในปอดและในถุงลมให้ฉีกขาดทีละน้อยๆ และรวมตัวกลายเป็นถุงลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดโรคถุงลมโป่งพอง มีผลทำให้พื้นที่ผิวเนื้อเยื่อภายในปอด ซึ่งเป็นที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายมีขนาดเล็กลง จึงต้องหายใจเร็วขึ้น เพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพียงพอ โรคถุงลมโป่งพองนี้ในระยะท้ายๆ ของโรคจะทำให้ผู้ป่วยทรมานมาก เนื่องจากเหนื่อยจนทำอะไรไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่ และอาจต้องได้รับออกซิเจนจากถังตลอดเวลา
    
              จากรายงานการศึกษาพบว่า ร้อยละ ๗๐ ของผู้ป่วยที่อาการอยู่ในระยะสุดท้ายจะเสียชีวิตภายใน ๑๐ ปี โดยมีอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลาจนกว่าจะเสียชีวิต
    
               ง. โรคอื่นๆ
               มารดาที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์จากผลของควันบุหรี่ที่มีต่อรก เช่น คลอดก่อนกำหนดแท้งง่าย และมีบุตรยาก รวมทั้งยังทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย อัตราตายทารกแรกเกิดสูง และภาวะเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันของทารกเกิดได้มาก นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายอีกด้วย เนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่กระตุ้นกระเพาะอาหารให้มีการหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ
    
    
    
    [กลับหัวข้อหลัก]
     
    ความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง  
     
    
    
    มะเร็งปอด  
     
    
     
    ผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพของคนข้างเคียง
    
              ควันบุหรี่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่ได้ ดังนี้
    
              ก. ผลกระทบระยะสั้น
                - เกิดการระคายเคืองต่อจมูก ตา คอ ปวดศีรษะ ไอ คลื่นไส้ เกิดความรู้สึกไม่สบาย
    
               - ทำให้มีอาการกำเริบมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โดยจะมีอาการหายใจติดขัดหรือ ถึงขั้นเหนื่อยหอบ
    
               - ในผู้ได้รับควันบุหรี่ที่เป็นโรคหัวใจ จะทำให้เกิดอาการเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอมากขึ้น เกิดอาการจุกเสียดหน้าอกได้
    
             ข. ผลกระทบระยะยาว
               - ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท การสูบบุหรี่ทุกๆ ๒๐ มวน จะทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ต้องหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปเป็นปริมาณเท่ากับการสูบบุหรี่ ๑ มวน
    
               - ผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ในห้องทำงานที่มีควันบุหรี่ประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดเท่ากับคนที่สูบบุหรี่เอง ๑ มวน
    
               - ผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ต้องอยู่ในห้องทำงาน หรือในสถานที่แออัดที่มีควันบุหรี่เป็นเวลานาน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นจากคนทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ ๑๐ - ๓๐
    
               - ในหญิงมีครรภ์และทารก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนัก ตัวต่ำกว่าปกติ ทารกมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตระหว่างคลอด หรือเกิดความพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงของอาการเกิดโรคไหลตายในเด็กสูงขึ้น เช่นเดียวกับที่มารดาสูบบุหรี่เอง
    
               - ในเด็กเล็ก ทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบและปอดบวมบ่อยกว่าเด็กทั่วไป และมีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการติดเชื้อของหูส่วนกลางง่าย และในระยะยาวเด็กที่ได้รับควันบุหรี่ พัฒนาการของปอดจะน้อยกว่า และพัฒนาการทางสมองจะช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
    
               - ในผู้ใหญ่ จากการศึกษาทางการแพทย์ พบว่าการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ ทำให้เกิดโรคมะเร็งในปอดได้ ผู้หญิงที่ได้รับควันบุหรี่วันละ ๓ ชั่วโมงขึ้นไป จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่ลำคอมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ ๓ เท่า และมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่นๆ มากกว่าคนปกติ ๒ เท่า ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่าคนทั่วๆ ไป ผู้หญิงที่สามีสูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจขาดเลือดสูงกว่าผู้หญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่ ๓-๔ เท่า และจะตายเร็วกว่าผู้หญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่โดยเฉลี่ย ๔ ปี
    
    
    
    [กลับหัวข้อหลัก]
     
    "ส่วนเกินของความรัก" ภาพจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  
     
    
     
    ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับครอบครัวและประเทศ
    
              ก.ความสูญเสียที่สามารถคำนวณได้ ได้แก่
    
              ค่าใช้จ่ายในการสูบบุหรี่ 
               ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีค่าใช้จ่ายประมาณวันละ ๑๐.๘ บาทต่อคน โดยผู้ชายมีรายจ่ายสูงกว่าผู้หญิงเกือบเท่าตัว คือประมาณ ๑๑.๐ บาท และผู้หญิงประมาณ ๖.๗ บาท ถึงแม้รายจ่ายต่อคนต่อวันจะไม่สูง มากนัก แต่ถ้าพิจารณาใน พ.ศ. ๒๕๔๔ มีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำจำนวน ๑๐,๕๕๗,๑๐๐ คน ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดต้องเสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายรวมกันถึง ๔ หมื่นกว่าล้านบาท ต่อปี
    
             ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 
               จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลกเกี่ยวกับรายได้ และความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ พบว่าในทุกๆ ๑,๐๐๐ ตัน ของยาสูบที่ผลิตออกมา จะทำรายได้หรือผลกำไรสุทธิให้แก่ผู้ผลิต ๖๕ ล้านบาท แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๖๕๐ คน และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ๗๔๕ ล้านบาท
               ดังนั้น ความสูญเสียจากยาสูบเพียง ๑,๐๐๐ ตัน จึงมากกว่ารายรับถึง ๖๘๐ ล้านบาท (๗๔๕ - ๖๕ ล้านบาท)
    
              ขณะนี้ ทั่วโลกผลิตยาสูบได้รวมกันปีละ ๗,๓๐๐,๐๐๐ ตัน จึงคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของโลกถึงปีละประมาณ ๕ ล้านล้านบาท
    
              ธนาคารโลกได้สรุปว่า การลงทุนเรื่อง การป้องกันไม่ให้ผู้คนติดบุหรี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ในการลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน รองจากการฉีดวัคซีนให้แก่ทารกแรกเกิด
    
              จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ทำให้ปัจจุบันธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียได้งดการให้สินเชื่อแก่ประเทศที่ขอกู้ไปลงทุนเรื่องยาสูบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การส่งออก หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่สนับสนุนการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการควบคุมการสูบบุหรี่
    
              ข. ความสูญเสียที่ยากจะคำนวณได้ ได้แก่
                - เวลาและแรงงานที่ญาติหรือครอบครัวต้องเสียไปในการดูแลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่
                - ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ที่ผู้นำครอบครัวป่วย หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการสูบบุหรี่
                - ในครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้ว การซื้อบุหรี่สูบเป็นการเบียดบังเงินที่จะนำไปใช้ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่า เช่น การซื้ออาหาร และการใช้จ่ายในด้านการศึกษาของบุตร
                - ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นจากการที่ต้องเสียเงินตราออกนอกประเทศ ให้แก่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศ
    
              ค. ความสูญเสียที่ไม่สามารถจะคำนวณได้ ได้แก่
                - คุณภาพชีวิตของผู้ที่ป่วยจากการสูบ บุหรี่
                - ความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากการ สูบบุหรี่
                - คุณภาพชีวิตของครอบครัวผู้ที่ป่วย และ/หรือเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่
                - ความรำคาญ และความทุกข์ของผู้ที่ต้องรับควันบุหรี่จากผู้สูบบุหรี่
  • เบิ้ลผู้วิพุธ

    31 พฤษภาคม 2552 21:20 น. - comment id 993094

    สิงห์อมควันหนาว กฎเหล็กคุมเข้มการขายบุหรี่ 
    
    เมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกกฎเหล็กคุมเข้มการขายบุหรี่ ทั้งนี้ นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.สาธารณสุข แถลงเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ถึงการลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ ได้แก่ 1. การบังคับให้บุหรี่ซิกาแรต พิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็งที่อยู่ในควันบุหรี่ 2. การเพิ่มจำนวนภาพคำเตือน 4 สี พร้อมข้อความแสดงพิษภัยของบุหรี่ จาก 6 ภาพเป็น 9 ภาพ ในบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ 3. ห้ามพิมพ์ สรรพคุณบุหรี่ว่า รสอ่อน รสเบา ในบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ และยาเส้น ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ 4. การเพิ่มสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 
    
    
     
     
    โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 3 โรคหลัก ได้แก่ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง 
    
    นายพินิจกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกประกาศกระทรวงเพิ่มดังกล่าว เพื่อต้องการลดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ ให้น้อยลง และป้องกันไม่ให้สุขภาพประชาชนถูกทำลายจากการสูบบุหรี่ โดยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 5 ล้านคน ที่ผ่านมามีคนไทยต้องเสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ที่สำคัญคือโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ปีละ 52,000 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน และต้องสูญเงินรักษาผู้เป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 3 โรคหลัก ได้แก่ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง รวมปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องใช้หลายมาตรการเพื่อลดและป้องกันปัญหาดังกล่าว 
    
    
     
     
    ระบุต้องพิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็ง ที่ได้จากการเผาไหม้ของบุหรี่ ที่ข้างซอง
    
    รมว.สาธารณสุขกล่าวอีกว่า เนื้อหาของประกาศกระทรวงทั้ง 4 ฉบับ ระบุต้องพิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็ง ที่ได้จากการเผาไหม้ของบุหรี่ ที่ข้างซองทั้ง 2 ข้าง ด้วยอักษรไทย พิมพ์หมึกสีดำ บนพื้นสีขาวภายในกรอบดำ มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของด้านข้างซองหรือด้านข้างภาชนะบรรจุ โดยกำหนดสารพิษ 2 ตัว ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษเพียง 2 ใน 4,000 กว่าชนิดของสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของบุหรี่ และสารก่อมะเร็ง 3 ตัว ได้แก่ ทาร์ฟอร์มาลดีไฮด์ และไนโตรซามีน ซึ่งเป็น 3 ใน 40 กว่าชนิดของสารก่อมะเร็งที่พบในบุหรี่ โดยบุหรี่ 1 มวน จะมีสารทาร์ หรือที่เรียกว่าน้ำมันดินประมาณ 12-24 มิลลิกรัม ก่อให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น ปอด กล่องเสียง หลอดลม โดยสารทาร์ร้อยละ 50 จะไปจับที่ปอด ทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ เกิดอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ คนที่สูบบุหรี่จัดวันละ 1 ซอง จะทำให้สารทาร์เกาะที่ปอดสะสมวันละ 30 มิลลิกรัม หรือปีละ 110 กรัม สำหรับคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ ทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการมึนงง ส่วนไฮโดรเจนไซยาไนด์ จะทำลายผนังถุงลมในปอด ทำให้บางและแตกง่าย จำนวนถุงลมน้อยลง ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอด และเกิดโรคถุงลมปอดโป่งพอง 
    
    
     
     
    ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะใช้บังคับทั้งบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ ที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย 
    
    รมว.สาธารณสุขกล่าวอีกว่า สำหรับภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะใช้บังคับทั้งบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ ที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยเพิ่มจาก 6 ภาพ เป็น 9 ภาพคือ 1. ควันบุหรี่ทำร้ายผู้ใกล้ชิด 2. สูบแล้วปากเหม็นกลิ่นบุหรี่ 3. สูบแล้วถุงลมพองตาย 4. ควันบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด 5. ควันบุหรี่ทำให้หัวใจวายตาย 6. ควันบุหรี่นำชีวิตสู่ความตาย 7. สูบแล้วเป็นมะเร็งช่องปาก 8. สูบแล้วเป็นมะเร็งกล่องเสียง และ 9. ควันบุหรี่ทำให้เส้นเลือดสมองแตก กำหนดให้พิมพ์ 4 สี ขนาดกว้าง 5.5X4.25 เซนติเมตร ในอัตรา 1 แบบต่อ 5,000 ซอง หรือภาชนะบรรจุ และอัตรา 1 แบบต่อ 500 กล่อง หรือกระดาษห่อซอง หรือภาชนะบรรจุ นอกจากนี้ ยังห้ามพิมพ์คำว่ารสอ่อน รสเบา หรือ ไมล์ด (mild) ไลท์ (light) ที่บนซองบุหรี่ เพื่อป้องกันประชาชนเข้าใจผิดว่าบุหรี่มีพิษน้อย โดยประกาศกระทรวงทั้ง 3 ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 
    
    
     
     
    สถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 2,000 บาท เจ้าของสถานที่จะถูกปรับ 20,000 บาท
    นายพินิจกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเพิ่มพื้นที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ ได้ปรับปรุงแก้ไขจากประกาศฯ ฉบับเดิม พ.ศ.2545 และเพิ่มเติม พ.ศ.2546 และ พ.ศ. 2548 โดยสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 2,000 บาท เจ้าของสถานที่จะถูกปรับ 20,000 บาท ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารรับจ้าง รถรับส่งนักเรียน หรือนิสิตนักศึกษาทุกประเภท รถยนต์ราชการ รถรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่พักผู้โดยสาร หรือป้ายรถเมล์ ลิฟต์โดยสาร ตู้โทรศัพท์สาธารณะ สุขา อาคารโรงมหรสพ ห้องสมุด ห้องประชุม อบรม หรือสัมมนา ร้านขายยา คลินิกรักษาทั้งคนและสัตว์ สถานนวดไทย หรือนวดแผนโบราณ กิจการสปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อสุขภาพ หรือนวดเพื่อเสริมสวย สถานบริการอบความร้อน อบไอน้ำ หรืออบสมุนไพร สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ยกเว้นสนุ้กเกอร์หรือบิลเลียด อัฒจันทร์ดูกีฬาหรือการแสดง สนามเด็กเล่น สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา ศาสนสถานในบริเวณประกอบศาสนกิจ และบริเวณที่ติดแอร์ของสถานที่แสดงศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถาน หรือหอศิลป์ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่แสดงสินค้า หรือนิทรรศการ ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ สถานเสริมความงาม ร้านคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ตู้เกมส์ หรือตู้คาราโอเกะ บริเวณโถงพักคอยของโรงแรม รีสอร์ต หอพัก ห้องเช่า อาคารชุด คอนโดมิเนียม คอร์ท หรืออพาร์ตเมนต์ ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม หรือสถานที่จัดเลี้ยง ยกเว้นผับ บาร์ หรือร้านอาหารที่อยู่ตามสถานบริการต่างๆ ตาม พ.ร.บ. สถานบริการของกระทรวงมหาดไทย โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน 2549 นี้
    
    
    
    แหล่งข่าว : ไทยรัฐ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน