อย่าให้บ้านเมืองพังเพราะอุเบกขา / พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

ลักษมณ์

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11427 มติชนรายวัน
อย่าให้บ้านเมืองพังเพราะอุเบกขา 
โดย วสิษฐ เดชกุญชร
คนไทยเป็นจำนวนไม่น้อยกำลังเบื่อหรือเอือมระอากับการเมือง หลายคนที่ผมรู้จักบอกผมว่า ไม่อยากดูการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาทางวิทยุโทรทัศน์ที่กำลังทำอยู่ เพราะไม่อยากเห็นหน้าไม่อยากได้ยินเสียงของสมาชิกสภาคนนั้นๆ อีกหลายคนบอกผมว่า ไม่อยากอ่านข่าวและบทความการเมืองในหนังสือพิมพ์ด้วยเหตุผลเดียวกัน 
หลายคนในจำนวนนั้น บอกผมว่า กับการเมืองไทยเวลานี้ ต้องใช้ อุเบกขา
คำว่า อุเบกขา เป็นคำบาลีที่ไทยรับมาใช้ แปลตามตัวว่าความมีใจเป็นกลางหรือความวางเฉย ใกล้เคียงกับคำภาษาอังกฤษว่าอีควอนิมิตี (equanimity) ซึ่งแปลว่าความสามารถควบคุมตนเอง
ผมเห็นใจและเข้าใจว่า ทำไมท่านเหล่านั้นจึงเบื่อหรือเอือมระอา แม้ตัวผมเองบางครั้งก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน ผมมีเหตุผลกว่าเสียอีกที่จะรู้สึกอย่างนั้น ผมเกิดทีหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 เพียงสามปี เห็นรัฐธรรมนูญถูกฉีกแล้วก็ร่างใหม่ ฉีกแล้วก็ร่างใหม่ จนกระทั่งถึงฉบับปัจจุบัน ผมมีส่วนในการร่างและหรือรับรองรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสองฉบับ รวมทั้งฉบับที่ว่ากันว่าเป็น "ประชาธิปไตย" ที่สุด ผมเคยถูกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสองครั้ง ถูกหลอกให้เป็นรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง เพราะเคยเป็นทั้งสมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรี ผมจึงได้สัมผัส (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นทางกาย แต่ทางทวารอื่น เช่น หูและตาก็ได้) กับนักการเมือง และเลยได้รู้สันดานแท้จริงของบางคน
ผมจึงมีคุณสมบัติบริบูรณ์ที่จะเบื่อและระอาใจในการเมืองไม่แพ้คนอื่น แต่ผมก็ไม่สามารถจะใช้อุเบกขากับการเมืองได้ เพราะผมรู้และเข้าใจว่า ผมยังมีหน้าที่ และจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่นั้นอยู่
หน้าที่ต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
อุเบกขาไม่ใช่การไม่เอาไหน หรือการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ แต่เป็นการวางเฉยหรือทำตัวเป็นกลาง เมื่อได้ทำอย่างดีที่สุด เต็มสติกำลังแล้ว และเห็นชัดแล้วว่า ไม่สามารถจะทำอะไรต่อไปได้อีก 
อุเบกขาไม่ใช่ธรรมสำหรับคนจนตรอก แต่เป็นเครื่องมือหรืออุบาย ที่จะทำให้เราไม่เสียสติเวลาทำอะไรไม่สำเร็จ คนเป็นจำนวนมาก เวลาทำอะไรอย่างหนึ่งตามหน้าที่ไม่สำเร็จได้อย่างใจของตนเอง แทนที่จะคิดพิจารณาว่า ยังมีสิ่งที่มีประโยชน์อย่างอื่นที่ควรทำในหน้าที่นั้น แล้วมุ่งหน้าทำต่อไป กลับหมดอาลัยตายอยาก งอมืองอตีน และอ้างว่าพอแล้ว บางคนก็อ้างบาลีว่า "ตถตา" หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ไม่มีใคร (รวมทั้งตัวเรา) ทำอะไรได้ ต้องปล่อยไปตามกรรมของสัตว์
ถ้าถือกันอย่างนั้น ก็เป็นกรรมของเมืองไทยครับ
ไม่มีใครที่หมดหน้าที่ที่ตนมีต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อประเทศชาติบ้านเมือง จนกว่าจะละกิเลสได้แล้วอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้จะหนีไปบวชเป็นพระ ก็ยังมีหน้าที่อยู่ หน้าที่ต่อพระด้วยกันเอง และหน้าที่ต่อชาวบ้านที่เคารพเลื่อมใสและหวังพึ่งพระ
คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต่อบ้านเมือง หน้าที่ที่ว่านี้ไม่จำเป็นจะต้องทำด้วยการเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือรัฐมนตรี หรือตุลาการ หรือสมาชิก อบจ. หรือ อบต. หรือข้าราชการชั้นใดทั้งนั้น เป็นสามัญชนที่ไม่มีตำแหน่งก็ทำได้ และเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ บ้านเมืองก็จะอยู่ไม่ได้ บ้านเมืองอยู่ไม่ได้ พลเมืองคือตัวเราเองก็จะอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน
การใช้อุเบกขาทางการเมืองอย่างผิดๆ ด้วยการหลับหูหลับตาไม่ดูการเมืองว่ากำลังจะก้าวไปทางไหน เป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองชั่วใช้อำนาจหน้าที่และช่องโหว่ทางกฎหมาย หาประโยชน์โดยมิชอบให้แก่ตนเอง สมัครพรรคพวกและญาติพี่น้อง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครท้วงติง ห้ามปรามหรือขัดขวาง เป็นการทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติหรือบ้านของตนเอง ผลของความเสียหายหากไม่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้ ก็จะปรากฏในอนาคต ผู้รับเคราะห์รับกรรมจะไม่ใช่คนอื่น แต่จะเป็นลูกหลานของเราเอง
ผู้ที่เป็นห่วงลูกหลานจึงต้องทบทวนหน้าที่ของตน และปรับปรุงแก้ไข ด้วยการหันกลับไปปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง ให้สอดคล้องกับอัตภาพ ถ้าเป็นนักเขียนอย่างผม ก็ปฏิบัติหน้าที่นักเขียน ด้วยการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมและการวางตนปฏิบัติตนของนักการเมือง แล้วเขียนเผยแพร่สิ่งที่เชื่อว่าถูกต้องและสมควร ให้ผู้อื่นได้อ่านด้วย และคิดพิจารณา ผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นสิทธิของเขา แต่เรา (นักเขียน) รู้ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างถูกต้องและเรียบร้อยแล้ว
ผู้เป็นข้าราชการก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องและเรียบร้อยเช่นเดียวกัน ข้าราชการทุกชั้นทุกระดับทุกหน่วยมีกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการเป็นบรรทัดฐานให้ปฏิบัติตามอยู่แล้ว ข้าราชการชั้นใดระดับใดหน่วยใดใช้อุเบกขาด้วยการทอดธุระ ไม่ทำหน้าที่ หรือใช้ "เกียร์ว่าง" แปลว่าเข้าใจอุเบกขาผิด และละทิ้งหน้าที่ ผิดทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม
เพราะฉะนั้น ขอเชิญชวนให้ทบทวนตนเองและทำความเข้าใจกับอุเบกขาให้ถูกต้อง การปล่อยให้คนเลวครองเมืองไม่ใช่อุเบกขา เพราะผิดทั้งทางกฎหมาย ศีลธรรม และมโนธรรม
เมื่อยังมีและต้องทำหน้าที่ทางการเมือง ต้องสนใจติดตามศึกษาและสอดส่องพฤติกรรมของนักการเมือง การทำเช่นนี้จะทำให้เรารู้จักนักการเมืองอย่างแท้จริง รู้ว่าคนไหนมี (หรือเคยมี) ความประพฤติอย่างไร สมัยไหนเคยทำความเสียหายให้แก่บ้านเมือง แต่สมัยนี้กลับมาลอยหน้าทำท่าเป็นผู้รัก "ประชาธิปไตย" หวังดีต่อบ้านเมือง ทั้งๆ ที่เจตนาจริงคือการได้กลับเข้าไปมีอำนาจในการบริหารหรือนิติบัญญติ เพื่อจะได้อาศัยตำแหน่งปลิ้นปล้อน หลอกลวง โกง และสูบเลือดประชาชนอีกครั้งหรือไม่
ทำอย่างนี้เท่านั้น จึงจะรู้ทันและสามารถป้องกันมิให้คนชั่วครองเมืองได้ ด้วยการไม่ลงคะแนนเสียงให้ และด้วยการบอกกล่าวเปิดเผยและชี้แจงให้ผู้ที่ยังไม่รู้ได้รู้ด้วย จะได้ช่วยกันป้องกัน
แต่ถ้าเข้าใจอุเบกขาผิด ปล่อยวางทั้งๆ ที่ยังมีสิ่งที่มีประโยชน์อย่างอื่นที่ทำได้ จะเท่ากับปล่อยเมืองไทยให้ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองชั่วที่หิวกระหาย เป็น อนันตริยกรรม (คือเป็นกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด) ทางสังคม ไม่แพ้บาปเพราะฆ่าพ่อฆ่าแม่ ซึ่งเป็นอนันตริยกรรมทางศาสนาพุทธนะครับ  
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act03230652&sectionid=0130&day=2009-06-23				
comments powered by Disqus
  • ลักษมณ์

    9 สิงหาคม 2552 00:59 น. - comment id 23617

    การปฏิบัติธรรม ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
    
    --------------------------------------------------------------------------------
    
              พลตำรวจเอกวสิษฐ์ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจประจำราชสำนัก ได้เล่าให้ฟังว่า เวลามีโอกาสเข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับสั่งเรื่องสมาธิกับพวกท่านเสมอ และเวลามีโอกาสก็จะพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกครั้ง ซึ่งท่านก็ยังจำได้และนำวิธีฝึกสมาธิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาฝึกปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ 
    
              พระราชจริยาวัตร ในการปฏิบัติ สมาธิภาวนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังทรงให้ความสนใจศึกษาตลอดเวลา จะเห็นว่าเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปไหนก็ตาม มักจะเสด็จเข้าไปในวัด ไปรับสั่งกับพระผู้ใหญ่เป็นเวลานาน ๆ อย่างเช่นกับ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลางเพล ในสมัยที่ หลวงปู่ ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ อย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่ทรงศึกษาทั้งสิ้น 
    
              การศึกษาสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงศึกษาอย่างละเอียดลออจริง ๆ เท่าที่ท่านจำได้ในสมัยโน้น พระผู้ใหญ่ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษา พระองค์จะทรงนิมนต์ให้เข้าไปในวัง ที่เรียกว่า ถวายกรรมฐาน นอกจากที่รู้ ๆ กันอยู่ ก็มีท่าน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมญาณ) พระอาจารย์วัน อุตตโม หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น 
    
    
    
    
              คำสอนคำถวายกรรมฐานของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พระองค์จะทรงบันทึกเทปไว้ ถ้าคำเทศน์คำสอนใดที่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่หัดใหม่ทั้งหลาย พระองค์ท่านมักจะพระราชทานมาให้ ซึ่งข้าราชการบริพารที่ใกล้ชิด มักจะได้รับพระราชทานเทปจากในหลวงเสมอ ท่านจำได้ว่า ที่ได้รับพระราชทานมา ก็มีของ สมเด็จพระสังฆราช ของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น และก็ในทำนองเดียวกัน เวลาพวก พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯไปไหนก็มักจะหิ้วเทปไปด้วย ได้พบพระอาจารย์องค์ไหนก็ตาม ต้องขอธรรมะจากท่าน เมื่อท่านสอนก็บันทึกเอาไว้ แล้วก็มาคัดกันดูว่า ม้วนไหน องค์ใดควรถวายพล.ต.อ.วสิษฐ์ฯก็จัดถวาย พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯยังจำได้ในสมัยนั้น ท่านอาจารย์ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง ยังไม่อาพาธ ครั้งหนึ่งพล.ต.อ.วสิษฐ์ฯ เดินทางกลับจากภูพานลงมาทางอุบลฯ ได้แวะไปกราบท่านพระอาจารย์ชาฯ แล้วก็ได้เทปท่านมา ยาวถึง 4045 นาที เป็นคำเทศน์โดยตรงที่ท่านให้โดยตรงมา เมื่อได้เทปของ พระอาจารย์ชา มาแล้วได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัว ทรงฟังแล้วรับสั่งว่าเป็นเทปม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง เป็นต้น 
    
              เรื่องราวดังกล่าวนั้นเป็นตัวอย่างที่พอชี้ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยและทรงศึกษา และปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา 
    
              พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ได้เล่าต่อไปว่า นอกจากเรื่องที่ทรงศึกษาแล้ว ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติที่ทรงนำสมาธิเข้ามามีส่วนในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพราะเท่าที่สังเกตเห็น พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงศึกษาสมาธิอย่างเดียว แต่ได้ทรงนำ สมาธิมา ใช้ในพระราชกรณียกิจประจำวันด้วย ในเรื่องนี้จะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม ที่โดยปกติแล้วอย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่น่าจะทำได้ แต่พระองค์ทรงทำได้ อย่างที่ต้องประทับในที่นั่งเป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันถึง 23 ชั่วโมง จะทรงปฏิบัติได้อย่างไม่น่าเชื่อ คือไม่ทรงมีอาการเหนื่อยหรือง่วงเลยแม้แต่น้อย 
    
              ตลอดเวลาที่พลตำรวจเอกวสิษฐ์ เดชกุญชร รับใช้เบื้องยุคลบาทอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 11 ปี 11 เดือน ท่านเล่าว่าไม่เคยเห็นเลยว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินที่ใดแล้วจะทรงแสดงอาการเหนื่อยจนถึงขนาดนั่งหลับ ไม่มีแม้จะเป็นการทรงงานทั้งวันก็ตาม ดังเรื่องที่จำได้และจะเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้ 
    
              คงจะทราบกันอยู่แล้วว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชน พระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงขับรถยนต์ด้วยพระองค์เอง ท่านเคยได้ตามเสด็จทั้งในและนอกรถพระที่นั่งมาหลายครั้ง เป็นระยะทางทั้งไกลและใกล้ ถนนเรียบบ้าง ขรุขระบ้าง ลุ่มดอนบ้าง ตามสภาพภูมิประเทศ บางครั้งแม้เสด็จถึงที่หมายแล้วทรงจอดรถพระที่นั่ง และเสด็จฯ ลงไปประกอบพระราชกรณียกิจด้วยความตรากตรำพระวรกาย เช่น พระราชดำเนินเป็นระยะทางไกล และเป็นเวลาหลายชั่วโมง ขากลับนึกว่าจะทรงพักผ่อนพระวรกาย และให้นายสารถีทำหน้าที่ขับรถพระที่นั่งถวาย ก็เปล่ากลับทรงขับด้วยพระองค์เองอีกโดยไม่ทรงแสดงพระอาการเหนื่อยหรือง่วง เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จนั้น พอกลับขึ้นไปบนรถ ก็ต้องผลัดกันหลับไปในรถเพราะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล 
    
              หลายปีมาแล้ว ตามเสด็จไปบ้านแม่สา ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านแม่สานั้น เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็รู้จักเพราะได้กลายเป็น แม่สาแวลเล่ย์ มีถนนชั้นหนึ่ง เชื่อมกับโลกภายนอก และมีอาคารบ้านเรือน ตลอดจนรีสอร์ท หรือที่พักตากอากาศอันทันสมัยโผล่ขึ้นมามากมาย แต่แม่สาในสมัยที่พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯตามเสด็จไปเมื่อ 20 ปี ก่อนโน้น เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา เวลาเสด็จๆ โดย เฮลิคอปเตอร์ ไปลงตรงที่เขาเตรียมไว้ แล้วทรงพระราชดำเนินเดินเท้าไปยังหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ไหล่เขาลูกถัดไปอีก 
    
              เมื่อก่อนนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการบริหารพระวรกายด้วยการวิ่ง ถ้าเป็นที่ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ก็ทรงวิ่งใน ศาลาดุสิดาลัย ครั้งหนึ่ง ๆ เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เมื่อยังปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจประจำราชสำนักอยู่นั้น พลตำรวจวสิษฐ์ เดชกุญชร เคยตามเสด็จฯ เป็นประจำ เวลาวิ่งสังเกตเห็นทุกครั้งที่ตามเสด็จฯ ว่าพระองค์ทรงก้าวยาวและพระองค์ปล่อยพระอัสสาสะและพระปัสสาสะ (หายใจเข้าออก) สม่ำเสมอ ในขณะที่พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯตามเสด็จฯ ต้องซอยเท้าถี่ยิบ เพื่อให้ทันและหอบกันอย่างไม่อับอาย 
    
              พระราชสมาธิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านเชื่อว่าเป็นเหตุให้ประกอบพระราชกรณียกิจทุกครั้งสำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อยสมพระราชประสงค์ และสมความต้องการของทุกฝ่าย แต่ที่ท่านเห็นว่าสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เวลามีอุปสรรคขัดข้องในพระราชกรณียกิจไม่ว่าครั้งใด ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงหวั่นไหวหรือสะดุ้งสะเทือน ทรงดำรงพระสติมั่น และพระราชทานคำแนะนำให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีกำลังใจและสามารถปัดเป่าอุปสรรคข้อขัดข้องเหล่านั้นได้ดีที่สุด หรือถ้าหากเหลือวิสัยที่จะแก้ไขได้ ก็ไม่ทรงกริ้ว หรือทรงแสดงความไม่พอพระราชหฤทัย แต่กลับทรงแสดงให้ผู้อื่นเห็น และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้ทุกคนโล่งใจ และมีกำลังใจที่จะอุทิศกำลังกายและกำลังใจถวายต่อไปอีก 
    
              การฝึกสมาธิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้ทรงปฏิบัติแต่พระองค์เดียว หากยังทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำให้ผู้อื่นอย่างถ้วนหน้า ข้าราชสำนัก(รวมทั้งตัวพลตำรวจวสิษฐ์ เดชกุญชรด้วย) ได้รับพระราชทานทั้งหนังสือและเทปคำสอนของครูอาจารย์ที่ทรงเองแล้ว และทรงเห็นว่าแยบคายหรือาจมีประโยชน์อยู่เสมอ เมื่อทรงมีโอกาสก็ทรงพระกรุณาพระราชทานดำริเกี่ยวกับสมาธิให้ข้าราชบริพารฟังเป็นครั้งคราว ทำให้ข้าราชบริพาร นายทหารและนายตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เข้าไปรับหน้าที่นายตำรวจประจำราชสำนัก และยังฝึกติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ผลของพระมหากรุณาธิคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้พระราชฐานที่ประทับ กลายเป็นสำนักวิปัสสนากลาย ๆ การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับ สมาธิ หรือ กรรมฐาน เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของข้าราชบริพารผู้ใฝ่ธรรม 
    
              เวลาเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับต่างจังหวัด งานอดิเรกอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จฯ ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารชอบทำก็คือ เร่ร่อนไปตาม วัด หรือ สำนักสงฆ์ ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสมาธิจาก พระภิกษุสงฆ์ ในฝ่าย วิปัสสนาธุระ เมื่อการฝึกสมาธิได้กระทำโดยสม่ำเสมอเช่นนั้น ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติก็คือ มีสติมั่นคง สามารถนำเอาสมาธิไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันและการงาน สามารถเผชิญกับอุปสรรคปัญหาข้อขัดข้อง ได้อย่างสุขุมเยือกเย็น ไม่ตีโพยตีพายหรือเสียสติ 
    
              พระราชสมาธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่เพียงแต่จะทำให้พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติลุล่วงไปอย่างเรียบร้อยเท่านั้น แต่อานิสงส์ ทำให้มีผู้ตามเสด็จฯ และทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือธุรกิจอื่นใดสำเร็จลุล่วงไปอย่างเรียบร้อยเช่นเดียวกันด้วย ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้เหนือหัวสูงสุดของพวกเราชาวไทย พระองค์ยังทรงสนใจในการปฏิบัติธรรม การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจด้วยการ ปฏิบัติธรรม จึงนับเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่ควรเพิกเฉยละเลย ธนาคารฯให้โอกาสแก่พนักงาน และบุคคลในครอบครัวอย่างเต็มที่เช่นนี้แล้ว หากเราไม่รับโอกาสที่ดีในชีวิตโดยเร็ว หากหมดโอกาส เพราะหากเราหายใจเข้า แล้วไม่หายใจออก เราก็จะไปไม่กลับ หลับไม่ตื่นฟื้นไม่มี และสูญสิ้นโอกาสที่ดีในชาตินี้อย่างน่าเสียดาย 
    
    
    การปฏิบัติธรรมของในหลวง...จากคำบอกเล่าของพระราชพรหมยานเถระ(พระมหาวีระ ถาวโร) 
    
    
    --------------------------------------------------------------------------------
    
    
    อ้างอิง 
    
              เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้วที่ผมมีโอกาสได้รับฟังเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ส่วนหนึ่ งที่พระองค์สนับสนุนให้พระเดชพระคุณพระราชพรหมยานเถระ(พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ. อุทัยธานี)ตั้งศูนย์สงเคราะห์คนยากจนในถิ่นทุรกันดารขึ้นที่วัด หลวงพ่อมีโอกาสถวายพระพรในด้านธรรมะและสนทนาธรรมกับพระองค์ท่านอยู่ระยะหนึ ่ง หลวงพ่อท่านกล่าวถึงพระองค์เสมอว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในธรรมมาก เป็นเหตุให้ พวกเรามีโอกาสได้รับรู้และซาบซึ้งในอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านมากขึ้น ดังนั้นในวโรกาสวันมหามงคลคือวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ผมจึงขอนำเรื่องที่หลวงพ่อท่านเทศน์สอนลูกหลานและได้กล่าวถึงพระองค์ท่านไว ้มาให้อ่าน ดังนี้.. 
    
    
    
    
    by TheBourne 
    
              ต่อไปนี้พ่อจะขอปรารภเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นบุคคลตัวอย่างที่มีความสามารถทั้งในด้านการปฏิบัติในเรื่องส่ วนพระองค์ และในด้านปฏิบัติกับปวงชนชาวไทยทั้งหมดรวมทั้งปฏิบัติกับชาวต่างประเทศด้วย แม้แต่กระทั่งกับศัตรูพระองค์ก็ทรงเห็นว่าเป็นมิตร ไม่เคยคิดที่จะเป็นศัตรูกับใคร สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดนั่นก็คือพระองค์ทรงช่วยประชาชนทรงช่วยชาวโลกด้วยแ ละก็ทรงช่วยพระองค์เองได้ดีที่สุด 
    
              ในด้านของธรรมะสำหรับวันนี้พ่อจะขอนำพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวที่ทรงประพฤติปฏิบัติให้ลูกรักทั้งหลายจะพึงรับทราบ รับทราบแล้วก็จงปฏิบัติตามด้วยเพราะว่าจะช่วยให้พวกเราดี ก่อนที่จะพูดถึงธรรมะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติได้ ก็จะขอย้อนไปถึงจริยาวัตรของพระองค์ พระราชจริยาวัตรของพระองค์นี่เราจะรู้ไม่ได้เลยว่า ทรงทำอะไรบ้าง วันทั้งวัน พระองค์ไม่มีเวลาว่าง บางวันมีพระราชภารกิจตั้งแต่เช้าจรดเย็น เวลาเย็นก็ต้องมานั่งปฏิบัติงาน รับแขกกลางคืนอีก กว่าจะทรงเซ็นหนังสือได้ก็ต้องใช้เวลา ๒๔ นาฬิกาผ่านไป 
    
              เมื่อทรงเซ็นหนังสือแล้ว หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเจริญพระกรรมฐาน วันที่พ่อเข้าไปพบกับพระองค์ พระองค์ตรัสว่าเวลานี้การฟังเทปรู้สึกว่า ฟังไม่ค่อยจบ นอนฟัง ฟังไป ฟังไป รู้สึกว่าหนักเข้า ความไม่ได้ยินในเทปรู้สึกว่า เคลิ้มหลับ แต่ว่าพอเทปดังแกร๊ก รู้สึกตัวตื่นขึ้น แล้วก็พลิกฟังใหม่อีกหน้าหนึ่ง คราวนี้ก็หลับไปเลย พระองค์ทรงติพระองค์เองว่า รู้สึกว่าไม่ดี แต่พ่อกลับทูลพระองค์ไปว่า นั่นเป็นความดี เพราะว่าถ้าหลับในระหว่างการฟังธรรม ชื่อว่าจิตฝังอยู่ในธรรมตลอดเวลา และการฟังค่อย ๆ เคลิ้มไปทีละน้อย ๆ พอเทปหมดหน้า รู้สึกเสียงดังแกร๊ก ก็แสดงว่านั่นไม่ได้หลับ แต่ทว่าจิตฟังธรรมเป็นฌานสมาบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังไม่ได้ยินเสียงเลยนั่นเป็นฌาน ๔ ความจริงเรื่องนี้ดีมาก ฉะนั้นขอบรรดาลูกรักทุกคนจงปฏิบัติเยี่ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงอย่าอ้างว่าข้าพเจ้ามีงานมาก มีภารกิจมาก ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีโอกาสเอาจิตเข้าไปฝึกฝนธรรมะ .. 
    
              ..การปฏิบัติธรรมะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงปรารภให้พ่อฟังดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ไม่มีเวลาว่าง เวลาใดถ้ามีโอกาสว่างนิดหนึ่ง ก็ใช้เวลาฟังเทปบ้าง วินิจฉัยธรรมะบ้าง และในบางขณะที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปรอบ ๆ พระราชฐานที่พัก พระองค์จะถือเวลา ว่าจะเดินสักกี่ชั่วโมง ถ้าเดิน ๑ ชั่วโมง เอาเทปสะพายไปด้วย แล้วก็ฟัง ๒ หน้า ถ้าเดิน ๒ ชั่วโมง ก็ฟัง ๔ หน้าเทป อย่างนี้รู้สึกว่าพอดี จริยาวัตรส่วนนี้ ขอบรรดาลูกรักควรจะฝึกฝนใจให้มาก พยายามปฏิบัติตามพระองค์ให้มาก เวลาบูชาพระ พระองค์ก็ทรงสมาธิ ทำสมาธิ และวิปัสสนาญาณในระยะนั้น เวลาที่เสด็จบรรทมก็ทรงฟังเทป เป็นอันว่าพระองค์จะไม่ยอมให้เวลาที่ว่างอยู่เสียเปล่าไปในด้านของความดี จะพยายามหาทางบีบบังคับอารมณ์จิตให้อยู่ในขอบเขตของความดี คือฟังเสียงธรรมะ ขณะใดที่จิตสนใจในธรรม พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ขณะนั้นจิตย่อมว่างจากกิเลส ลูกต้องมีความขยันหมั่นเพียร มีความสนใจให้มาก เรียกกันว่าเป็นการปฏิบัติแบบเบา ๆ 
    
              อีกประการหนึ่งการเจริญพระกรรมฐานของพระองค์อันดับแรก คงจะตั้งพระทัยมุ่งสมาธิเป็นฌานสมาบัติบทใดบทหนึ่ง และการที่พ่อไปพบกับพระองค์ตอนนั้นพระองค์ตรัสว่า การทำสมาธิเวลานี้ ไม่มุ่งหวังจุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ ปล่อยไปตามสบาย จะถึงไหนก็ใช้ได้ เป็นที่พอใจ จริยาแบบนี้ลูกรักเป็นจริยาที่ดีที่สุด เพราะพ่อเองก็เคยตกอยู่ในความหวั่นไหวมามากแล้วทำให้ยุ่งยากใจเพราะการบังคั บจิตต้องการจะให้ได้ฌานชั้นนั้นได้ฌานชั้นนี้ .. 
    
              ..แต่ในที่สุดแทนที่มันจะดี มันก็กลับเลวสู้การปล่อยอารมณ์ใจสบายไม่ได้ การทรงสมาธิหรือพิจารณากรรมฐานในด้านสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาอย่างใดอย่าง หนึ่งก็ดี ถ้าจิตเราปล่อยไปตามสบาย มันจะถึงฌานไหนก็ช่าง เมื่อถึงไหนพอใจแค่นั้น อย่างนี้ถูก อารมณ์ฌานและวิปัสสนาญานที่เข้าถึงใจ จะมีการทรงตัวและในที่สุดก็จะสามารถตัดกิเลสสมุจเฉทปหาน คือตัดกิเลสได้อย่างเด็ดขาดกิเลสไม่กำเริบ เรียกว่ามีอารมณ์จิตเข้าถึงพระนิพพานได้แน่นอน วิธีปฏิบัติแบบนี้ลูกรักต้องพยายามปฏิบัติให้มาก คำว่ามากก็หมายความว่า การเว้นจากการงาน เมื่อยามว่าง ไม่ควรจะให้โอกาสปล่อยไป 
    
              ฉะนั้นการปฏิบัติ ขอบรรดาลูกรักทั้งหลาย จงพยายามปฏิบัติเอาอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลูกรักทั้งหลายจงจำไว้ว่า ความดีเกิดขึ้นกับเรามากคนเขาก็รักเรามาก แต่ถ้าความดีเกิดขึ้นกับเราน้อย คนเขาก็รักเราน้อย เมื่อคนรักน้อย คนเกลียดมาก เราก็มีความทุกข์กายทุกข์ใจมากกว่าความสุข เดินไปพบคนที่เรารัก หรือเขารักเรา เราก็ยิ้มแย้มแจ่มใสมีความชื่นบาน แต่ถ้าไปพบคนที่เกลียดเราเมื่อไร เมื่อนั้นแหละความกลุ้มใจ กำเริบใจมันก็เกิดขึ้น เราจะหาความสุขไม่ได้ .. 
    
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสปรารภถึงเรื่องที่เกิดขึ้นที่เม ืองยะลาในเดือนกันยายน ขณะที่พระองค์เสด็จเยี่ยมประชากรของพระองค์ที่จังหวัดยะลาปรากฏว่ามีเสียงระ เบิดดังขึ้น ๒ ครั้ง แต่ความจริงพ่อได้ยินข่าว พ่อก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าในใจส่วนหนึ่งยังอดที่จะสงสารพระองค์ไม่ได้ เพราะว่าพระองค์ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อความสันติสุขของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีน้ำพระราชหฤทัยหวังอยู่อย่างเดียวว่า ทำอย่างไรคนไทยทั้งชาติจึงจะมีความสุข และถ้าสิ่งนั้นไม่เกินความสามารถของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงทำทุกอย่างรวมความแล้วพระองค์เป็นผู้ให้ไม่ใช่ผู้รับ 
    
              พระองค์จึงได้ปรารภว่า วันนั้นพอได้ยินเสียงระเบิดครั้งแรกเห็นคนเขาวิ่งวุ่นขวักไขว่ไปมา ก็มีความรู้สึกว่าเสียงระเบิด มันระเบิดไปแล้วก็เป็นอดีต อย่างนี้ตามภาษาบาลีเขาเรียกว่า อดีตใกล้ปัจจุบัน ถ้าเราจะเอาจิตไปคิดห่วงใยเรื่องราวในอดีต งานในปัจจุบันของเราก็ไม่เป็นผล ฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงวางอารมณ์เฉยเป็นอุเบกขา ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเกิดแล้วก็แล้วกันไป เวลานี้มีหน้าที่ที่จะทำงานในปัจจุบันก็ทำ ทำไปจนกว่าจะเสร็จ และหลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงให้โอวาทแก่ลูกเสือชาวบ้าน ทรงปรารภว่าวันนั้นพูดยาวหน่อย เพราะเป็นการดับกำลังใจในความตื่นเต้นของประชาชนและลูกเสือทั้งหลาย 
    
              ..หลังจากให้โอวาทเสร็จ จะต้องเสด็จไปเยี่ยมประชาชน ก็ทรงดำริว่า ถ้าขณะที่ไปเสียงระเบิดมันระเบิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นอย่างไร ความจริงระเบิดที่ระเบิดขึ้นมานั้น ไกลจากที่ประทับ ลูกหนึ่ง ๕๐ เมตร อีกลูกหนึ่ง ๑๐๐ เมตร แต่ว่าถ้าพระองค์เสด็จไปเยี่ยมประชากรของพระองค์ ระเบิดทั้งสองจุดจะไกลจากพระบาทเพียง ๗ เมตรเท่านั้น พ่อทราบจากเจ้าหน้าที่ผู้มีความชำนาญในระเบิดแสวงผลประเภทนี้มีรัศมีทำการถึ ง ๒๐ เมตรที่ได้ผลและขอลูกทุกคนก็จงศึกษาไว้ว่าระเบิดแบนนี้เขาทำไว้ เขาวางไว้ หรือเขาหมกไว้ ในที่ไม่น่าจะสงสัย เขาจะมีวัตถุชิ้นหนึ่งเป็นเครื่องล่อตา เช่น ไม้ขีดจุดไฟแช็ค หรือว่าปืน หรือของที่น่ารักวางไว้ แต่มีสายล่ามไว้ ถ้าบังเอิญใครมีความสนใจในวัตถุนั้นหยิบขึ้นมา สายเชือกที่ผูกกับชนวนจะกระตุกระเบิด ระเบิดก็จะเกิดระเบิดทันที 
    
              เรื่องนี้ลูกทั้งหลายก็ควรระวังไว้ เพราะว่าอันตรายมันจะเกิดมีเพราะสิ่งที่เรารัก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยัง ความเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้นจากความรัก ภัยอันตรายเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความรักเป็นเหตุ นี่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสอย่างนี้ตรง ฉะนั้น ขอลูกทั้งหลายจงจำไว้ ระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก แต่ถ้าบังเอิญวิบากกรรมให้ผล ก็จะเป็นปัจจัยให้เราลืมได้เหมือนกัน ในตอนที่สอง พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัย ว่าเรื่องระเบิดที่จะระเบิดขึ้นมาภายหลัง มันเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าเอาจิตใจไปยุ่งกับอนาคตเข้าแล้ว งานปัจจุบันมันจะเสีย เป็นอันว่า น้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความมั่นคงในอุเบกขารมณ์ มีความมั่นในธรรม คนที่จิตมั่นในธรรมจริง ๆ มีความกล้าพอที่จะเอาชีวิตเข้าแลกกับความดีได้.. 
    
              ฉะนั้น ขอบรรดาลูกรักทั้งหลายจงจำพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ และจงพยายามกระทำน้ำใจของลูกให้เหมือนกับน้ำพระทัยของพระองค์ คือว่า จงเห็นว่าชีวิตมีความหมายน้อยกว่าความดี เราเกิดมาแล้วคราวนี้ เราก็ต้องตาย ไหน ๆ จะตาย ขอให้เราตายอยู่กับความดีเท่านี้เป็นพอ และถ้าความดีนี้เป็นความดีสูงสุดลูกรักทั้งหมดของพ่อก็จะไปพระนิพพานได้ 
    
              เป็นอันว่าพ่อเห็นน้ำพระทัยในความเมตตาปรานีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว ่าพระองค์ทรงปฏิบัติตามธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมสุคต ในด้านพรหมวิหาร ๔ ได้อย่างครบถ้วน เห็นหรือยังลูกรัก ถ้าเห็นแล้วก็จำไว้ ทำอย่างพระองค์ ความดีไม่หนีเราไปไหน ในเมื่อเราทำความดี ใครเขาจะหาว่า เราชั่ว เราเลว ก็ช่างเขา จงจำวาจาของพระพุทธเจ้าไว้ว่า นินทา ปสังสา ขึ้นชื่อว่านินทาและสรรเสริญเป็นธรรมดาของโลก ไม่มีใครจะหนีการนินทา ไม่มีใครจะหนีการสรรเสริญได้ ถ้าลูกไปรับมันเมื่อไรลูกก็จะมีแต่ความทุกข์ใจเท่านั้น 
    
              ..อีกตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสกับพ่อว่า ท่านหญิงวิภาวดีมีความห่วงใยในพระองค์มาก เพราะว่ามาเตือนอยู่เสมอ ขณะที่พระองค์ตรัส รู้สึกว่าเหลียวซ้ายแลขวา และก็ตรัสอีกว่า เวลานี้หายไป การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า ท่านหญิงวิภาวดีมาเยี่ยมอยู่เสมอ และก็ตักเตือนเสมอ จุดนี้ขอบรรดาลูกรักจงจำให้ดี ว่าความรู้สึกอย่างนี้จะมีขึ้นมาได้ นั่นก็คือ บุคคลผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม จะต้องมีอารมณ์เข้าถึงทิพจักขุญาณ คือมีอารมณ์เป็นทิพย์ มีความรู้สึกทางใจคล้ายกับตาทิพย์ ในเมื่อท่านได้ทิพจักขุญาณ ท่านก็มีโอกาสรับสัมผัสได้ 
    
              นี่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชภารกิจมาก เรื่องของพระองค์มีเรื่องกวนทั้งกายและก็ใจ อย่างที่บรรดาลูก ๆ ทั้งหลายจะไม่มีโอกาสประสบการรบกวนอย่างพระองค์เลย กลางวันก็ไม่ได้พักกลางคืนก็ไม่ได้พัก มีเวลาพักอยู่นิดเดียวพระองค์ทรงทำพระกรรมฐาน และก็ทรงทำได้ดี บุคคลประเภทนี้ ลูกควรจะลอกแบบเข้าไว้ การเลียนแบบ การลอกแบบ การปฏิบัติตามท่านในด้านของความดีไม่ใช่ความเสีย เป็นผลกำไรที่เราไม่ต้องรื้อฟื้นเอง 
    
              ความจริงท่านหญิง วิภาวดี รังสิต นี่เป็นลูกศิษย์เจริญพระกรรมฐานกับอาตมาเป็นเวลา ๘ เดือน หลังจากที่ท่านมาเรียนพระกรรมฐานด้วยสัก ๗ วัน ไม่ใช่มานอนปฏิบัติด้วยนะ ไม่ใช่เกาะครูนะเป็นแต่เพียงมาศึกษาพอเข้าใจแล้วก็กลับไปปฏิบัติเอง ๗ วัน ผ่านไป ก็ปรากฏว่าท่านได้ธรรมปีติเป็นกรณีพิเศษ เป็นอุเพ็งคาปีติ และสามารถควบคุมสมาธิได้ตามเวลาที่ต้องการ แล้วต่อมาท่านก็ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบทูลอาการนี้ให้ทรงทราบ 
    
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า ถ้าอย่างนั้นท่านหญิงต้องไปขอหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานมาให้ฉันเล่มห นึ่งจากหลวงพ่อ ไม่อย่างนั้นท่านหญิงจะออกหน้าฉันไป ฉันไม่ยอม ท่านหญิงวิภาวดี รังสิต จึงมาแจ้งอาตมาทราบ อาตมาก็มอบหนังสือไปถวายแล้ว บอกกับท่านว่า ท่านหญิงระวังจะเสียท่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพราะว่าพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงได้พระกรรมฐานมาตั้งแต่เด็ก ถ้าท่านหญิงสงสัยละก็ไปสอบถามท่านว่า เมื่ออายุประมาณ ๗๘ ปี ไม่เกิน ๑๒ ปี ท่านเคยเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานจนกระทั่งเห็นแสง มีอารมณ์จิตแน่นสนิทเป็นสมาธิดี ท่านได้มาตั้งแต่ตอนนั้นจนปัจจุบันท่านก็ไม่ได้ละ เวลานี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกำลังสมาธิสูงมาก สามารถเข้าฌานออกฌานได้ตลอดเวลา และยิ่งกว่านั้น ยังสามารถฝึกสมาธิเป็นพิเศษเป็นกีฬาสมาธิ บางส่วนได้ด้วย 
    
              เมื่อท่านหญิงวิภาวดี รังสิต ได้รับทราบ เมื่อเอาหนังสือไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทูลถาม ท่านก็ทรงรับว่าเป็นความจริง หลังจากนั้นมา ท่านหญิงวิภาวดี รังสิต ท่านก็เจริญพระกรรมฐานวิปัสสนาญาณ พระกรรมฐานนี่มี ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาด้านสมาธิจิต ซึ่งต้องควบคู่กับวิปัสสนาญาณ ถ้าฝึกเฉพาะสมถภาวนาประเดี๋ยวมันก็พัง ถ้าไม่ฝึกควบคู่กับวิปัสสนาญาณ แล้วก็เอาดีไม่ได้เมื่อสมาธิดี เข้มข้นดี วิปัสสนาญาณยังอ่อน ตอนหลังก็พยายามฝึกควบวิปัสสนาญาณให้มีความเข้มแข็งเท่าสมาธิจิต ........ 
    
    
    
    
    ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
    
    สารชมรมศาสนาและการกุศล เรื่องที่ 39 การปฏิบัติธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
    พลังจิตดอทคอม 
    
    http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87"
     
    
     © Copy Right www.panyathai.or.th
  • ลักษมณ์

    9 สิงหาคม 2552 01:09 น. - comment id 23618

    พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว 
    โดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร 
    
    ด้วยพระเมตตาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทย พระองค์ประดุจพระผู้สร้างแผ่นดิน ทรงเป็นดั่งผู้มอบชีวิต มอบความรุ่งเรือง มอบความเจริญงอกงามภายในหัวใจคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นแรงบันดาลใจจุดประกายพลังแผ่นดิน 
    
    หากเราได้มีโอกาสศึกษาพระบรมราโชวาท แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดด้วยคำสอนที่พระองค์ทรงพระราชทานให้แต่ละข้อแต่ละอย่างนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากการที่พระองค์ทรงไตร่ตรองพิเคราะห์ถึงปัญหานั้นอย่างถ่องแท้แล้วว่า จะเป็นหนทางแห่งการแก้ปัญหาการดับทุกข์ได้ด้วยสมาธิ 
    
    ธรรมดาสภาวะจิตอันเป็นสมาธินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากการบังคับควบคุม เกิดขึ้นจากความผ่อนคลาย หรือเกิดขึ้นจากภาวะคับขันต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า จะทำให้ต้องเร่งรวบรวมสติให้มั่น ไม่ว่าสมาธิจะเกิดขึ้นอย่างไร สมาธิเป็นของดี เป็นของที่เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน เป็นของที่มีอยู่ในกายและในจิตอันพร้อมเป็นของเข้าใจได้ เป็นของเข้าใจง่าย และใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย และความเข้าใจอันแจ่มชัดที่แสดงให้เห็นว่า สมาธิเองก็มิใช่ของที่เกิดขึ้นโดยลำพังหรือใช้โดยลำพัง 
    
    แต่สมาธิที่ดีจะยังประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มาก หากผู้ใช้สมาธิรู้จักการปฏิบัติอันถูกต้อง ถูกต้องทั้งแก่ตนแลถูกต้องทั้งแก่ผู้อื่น ดังที่ได้ศึกษาจากรอยพระจริยวัตรแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันได้แสดงไว้ถึงเรื่องราวของ พระสมาธิ 
    
     
    พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน 
    
    
    ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในงานหรือพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องประทับอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คงจะได้เห็นด้วยความพิศวงกันทุกคนว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้นเมื่อทรงนั่งลงแล้ว จะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้นตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่งจบ ไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย นอกจากนั้น ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างกระฉับกระเฉงต่อเนื่อง ไม่มีพระอาการที่แสดงว่าทรงเหนื่อย หรือทรงเบื่อเลย ผมเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร พิธีนั้นยาวถึงประมาณ ๔ ชั่วโมง และมีบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนหลายพันคน ได้เห็นเหตุการณ์เช่นว่านั้น แต่ผมได้เห็นมากกว่านั้นคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งในศาลาดุสิตาลัยอีก 
    
    ในการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่แสดงว่าเอาพระทัยจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น ในการทรงดนตรี (ที่ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นการหย่อนพระราชหฤทัย) เป็นต้น ผมเคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงดนตรีตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลยแม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรง ในขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน ในการทรงเรือใบก็เช่นเดียวกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ ด้วยความฉงนว่า เสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น 
    
    แสดงว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระเจ้าอยู่หัวเป็นงานอีกชนิดหนึ่ง ที่จะต้องทำด้วยความจดจ่อและต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสร็จเหมือนกัน พระราชกรณียกิจอื่นๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือด้วยการเอาพระราชหฤทัยจดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้นสำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่ 
    
    ผมไปรู้เอาหลังจากที่เข้ารับราชการในตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำอยู่ได้ไม่นานว่า ที่ทรงสามารถจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจทุกชนิดได้เช่นนั้นก็เพราะพระสมาธิ 
    
     
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตร 
    ในวันที่โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช 
    
    
    ผมไม่ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หลังจากทรงผนวชแล้ว ประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ ทรงเลือก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เมื่อครั้งยังเป็นพระโสภณคณาภรณ์) ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อยแต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย 
    
    เมื่อผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ปรากฏว่า การศึกษาและปฏิบัติสมาธิหรือกรรมฐานในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเป็นประจำ และข้าราชสำนัก ข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารก็กำลังเจริญรอยพระยุคลบาทอยู่ด้วยการฝึกสมาธิอย่างขะมักเขม้น 
    
    ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัดสมาธิ แม้จะเคยศึกษามาก่อนโดยเฉพาะจากหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ระหว่างการตามเสด็จฯ โดยรถไฟ จากกรุงเทพมหานครไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ การเดินทางไกลกว่าที่ผมคาดคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ ก็อ่านจบเล่มเสียตั้งแต่กลางทาง ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยร่วมกันสองนาย ใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ ผมจึงลองทำดูบ้างโดยใช้อานาปานสติ (คือกำหนดรู้แต่เพียงว่ากำลังหายใจเข้าและหายใจออก) อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ และท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด แลเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆ มากมาย และเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิและกลายเป็นอีกผู้หนึ่งที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำมาจนทุกวันนี้ 
    
    เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่มปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกรุณาพระราชทานหนังสือ และแถบบันทึกเสียงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ลงมา และบางครั้งก็ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำด้วยพระองค์เอง ผมจึงได้รู้ว่า พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวนั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก รับสั่งเล่าเองว่าแม้จะทรงใช้อานาปานสติเป็นอุบายในการทำสมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงสามารถที่จะกำหนดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) และพระปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ได้แต่ลำพัง ต้องทรงนับกำกับ 
    
    วิธีนับของพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทำดังนี้ หายใจเข้าครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สอง นับสอง หายใจเข้าครั้งที่สาม นับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้า นับห้า หายใจออกครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจออกครั้งที่สอง นับสอง หายใจออกครั้งที่สาม นับสาม หายใจออกครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจออกครั้งที่ห้า นับห้า 
    
    เมื่อถึงห้าแล้ว หากจิตยังไม่สงบ ก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหาหนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหาห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้นจนกว่าจิตจะสงบ รับสั่งว่า ที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับหนึ่งเข้าหนึ่งออกตลอดเวลา 
    
     
    พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน 
    ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร 
    เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ 
    
    
    พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิ ด้วยการรวบรวมและประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่านแล้ว ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติสมาธิอยู่ ครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่า เป็นบันทึกเสียงการแสดงธรรมเรื่องฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น 
    
    ผมรับพระราชทานแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นมาแล้ว ก็เอาไปใส่เครื่องบันทึกเสียงและเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ปิด แล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก หลังจากนั้นไม่นานนัก ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า ฟังเทปของสมเด็จฯ แล้วหรือยัง เป็นอย่างไร ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความอันเป็นเท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่าฟังได้ไม่ทันจบม้วนก็ได้หยุดฟังเสียงแล้ว 
    
    ตรัสถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่า สมเด็จฯ ท่านเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคๆ เป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯ พิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำและประโยคเทศน์ของท่านนั้น ถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง 
    
    พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ที่ฟังสมเด็จฯ เทศน์ไม่รู้เรื่องนั้นก็เพราะคิดไปก่อนหรือไม่ว่า สมเด็จฯ ท่านจะพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่คาดหมายจึงเบื่อ เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ก็ทรงแนะนำว่าให้กลับไปฟังใหม่ คราวนี้อย่าคิดไปก่อนว่าสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร สมเด็จฯ หยุดก็ให้หยุดด้วย 
    
    ผมกลับมาทำตามพระราชกระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯ จากแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้งแต่ต้น ฟังด้วยสมาธิ สมเด็จฯ หยุดตรงไหน ผมก็หยุดตรงนั้น และไม่คิดๆ ไปก่อนว่า สมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร คราวนี้ผมฟังได้จนจบและเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส แถบบันทึกเสียงม้วนนั้น เป็นม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง 
    
     
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ-พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
    ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ 
    
    
    ครั้งหนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและกราบบังคมทูลประสบการณ์ที่ได้ขณะทำสมาธิ ผมกราบบังคมทูลว่า ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอยขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไรแต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า ทำท่าเหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกทำสมาธิ 
    
    พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะเลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น 
    
    อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำสมาธิแล้ว ผมกราบบังคมทูลว่า พอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อนต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ และที่ปลายท่อข้างล่างผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมาก กลัวจะหลุดออกจากท่อไป ผมก็เลยเลิกทำสมาธิ 
    
    รับสั่งเช่นเดียวกันว่า หากยังรู้ตัว (มีสติ) อยู่ ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากจะหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่สติยังอยู่และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตน ต่อมาภายหลังจากการศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่าน และโดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนให้ ดำรงสติให้มั่น ในเวลาทำสมาธิ 
    
    ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว เคยตรัสเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิตสงบและเกิดนิมิต ในนิมิตนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร (แขนท่อนล่าง) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปจนถึงพระอัฐิ (กระดูก) 
    
    พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว อันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น 
    
    ในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เป็นพระประมุข และในฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ให้เป็นที่ร่มเย็นของเรา และของลูกหลานของเรา จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาทด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิกันอย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา 
    
     
    พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน 
    ประทับในพระตำหนักปั้นหยา เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ 
    
    
    
    ............................................................................... 
    
    คัดลอกมาจาก :: 
    http://www.ybat.org/
    
    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=1875
ชื่อเรื่องสั้น-นิยาย

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน