19 ธันวาคม 2550 11:58 น.

ปัญหาความยากจน

ลุงแทน

1 คนยากจนคือใคร วัดกันอย่างไร?* 

การให้คำนิยาม และการขีดเส้นว่าใครคือคนจน

      เวลาใครกล่าวถึงความยากจน ผู้กล่าวมักจะมีกรอบคิดในเรื่อง ความหมายและสาเหตุที่มาของความยากจนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่) เช่น กรอบคิดว่า คนจนคือผู้มีรายได้ต่ำไม่เพียงพอกับการยังชีพ  หรือมีฐานะความเป็นอยู่ต่ำกว่าคนอื่น ๆ เนื่องมาจากเป็นคนที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น เกียจคร้าน,  ไม่ขวนขวาย  ไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ ฯลฯ แต่กรอบคิดแบบนี้ เป็นแค่ความคิดความเชื่อของคนที่รวยแล้วหรือไม่ค่อยจน โดยที่ไม่ใช่ความจริงทางสังคมทั้งหมด  

      การที่เราจะสามารถทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เราจึงควรจะต้องวิเคราะห์ตั้งแต่กรอบคิดในเรื่องคำนิยามของความยากจน หรือคนจน เราจะได้ทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า คนจนที่เรากำลังกล่าวถึงหมายถึงใคร  อย่างไร เพราะการให้คำนิยามที่ต่างกัน จะทำให้เกิดกรอบคิดในการวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางแก้ไขความยากจนที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน 

1. การนิยามและชี้วัดความยากจน  โดยมองจากรายได้

      นักเศรษฐศาสตร์นิยมวัดความยากจน  โดยใช้รายได้เป็นเกณฑ์ มีวิธีวัด 2 ทางใหญ่คือ

  
ความยากจนเชิงสัมบูรณ์ (Absolute poverty) ใช้วิธีคำนวณว่า รายได้ขนาดไหนที่คนเราจะใช้ยังชีพและดำรงชีวิตต่อไปได้ (มีอาหารกินกี่แคลลอรี่ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน, เสื้อผ้า, เชื้อเพลิง ฯลฯ) และนิยามว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า เส้นความยากจน(เช่น 922 บาทต่อเดือนต่อคนในปี 2545) ถือว่าเป็นคนยากจน (ธนาคารโลกและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ) 
ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ (Relative poverty) ใช้วิธีเปรียบเทียบว่าใครจนกว่าใคร มากน้อยเพียงไร หรือจนกว่ารายได้ถัวเฉลี่ยมากน้อยเพียงไร เช่น การพิจารณาจากดูการกระจายรายได้ของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมเดียวกัน โดยการแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% ตามลำดับชั้นของรายได้เฉลี่ย กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% จะถือว่าเป็นคนจน หรือจนมาก ชั้น 
  
ของกลุ่มคนที่มีรายได้ 20% ถัดมาจะถือว่าจนปานกลาง  เป็นต้นหรือดูว่าใครที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้ถัวเฉลี่ยของคนทั้งประเทศถือว่ายากจน 
* ตัดต่อปรับปรุงแก้ไขจาก วิทยากร เชียงกูล และคณะ โครงการการพัฒนาตัวแบบชี้วัดความยากจนเชิงโครงสร้าง  สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2545				
19 ธันวาคม 2550 11:52 น.

บันได ๗ ขั้นสู่ความสุข

ลุงแทน

กรกฎาคม 12, 2007 

คุณสมบัติที่สำคัญ 4 ประการของคนที่มีความสุข

(Four Important Traits of Happy People)


1. มีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) : คนมีความสุขคือคนที่ชอบหรือพอใจในตัวเอง (แต่ไม่ถึงขั้นหลงตัว) คนที่ชอบตัวเองและยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ รวมทั้งคิดว่าคนอื่นมองเขาในทางที่ดี คือคนที่โดยทั่วไปรู้สึกต่อชีวิตในทางที่ดี คนเหล่านี้อาจจะมีอคติต่อตัวเองในทางบวกในระดับหนึ่ง เช่น ยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อความสำเร็จหรือการกระทำดี ๆ มากกว่าความล้มเหลวหรือการกระทำที่ไม่ดี การมองตัวเองในทางบวกอย่างมีอคตินิดหน่อยเป็นปัจจัยคุ้มครองพวกเขาจากความกังวลใจและซึมเศร้า พวกเขามักจะมองตัวเองว่าอยู่เหนือกว่าคนระดับถัวเฉลี่ย และจะเลือกมองส่วนดี, มองแง่บวกของตัวเอง ไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น ในทางตรงกันข้ามคนที่ชอบรู้สึกเปรียบเทียบว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น มักจะเป็นคนไม่ค่อยมีความสุข

โดยรวมแล้วคนที่พอใจในตัวเองในระดับที่เหมาะสม ไม่ถึงขั้นหลงตัวเอง หรือไม่เคร่งเคียดที่จะมีบีบคั้นตัวเองให้เป็นคนภาคภูมิใจในตัวเองสูง (ซึ่งคนอเมริกันบางกลุ่มในบางยุคถูกกระแสการแข่งขันเพื่อความสำเร็จเรียกร้องให้เป็น) จะมีความสุขมากกว่าคนที่ขาดความรู้สึกแบบนี้โดยเฉพาะในประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบปัจเจกชนนิยมสูง เช่นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมปัจจัยนี้จะมีความสำคัญสูง 

2.มองโลกในแง่ดี : คนมีความสุขคือคนที่มีความหวังเต็มเปี่ยม คนที่มองโลกในแง่ดี คือมีความเชื่อมั่นว่าตัวเอง สามารถทำอะไรได้แทบทุกอย่าง และถ้าทำอะไรใหม่ ๆ ก็คาดว่าจะสำเร็จจะเป็นคนที่มีความสุขมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย คนที่มองโลกในแง่ดี คือ คนที่มองส่วนที่เป็นน้ำในแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่งว่า ดีนะที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว ส่วนคนมองโลกในแง่ร้ายคือ คนทีมองเห็นส่วนที่ว่างเปล่าของแก้วแล้วคิดว่าทำไมมีน้ำแค่ครึ่งแก้ว คนมองโลกในแง่ดี จะเครียดน้อยกว่า เขาจึงมีสุขภาพดีกว่า คนมองโลกในแง่ดี จะมองอุปสรรคเป็นสิ่งท้าทายให้เขาต้องปรับปรุงตัวเอง จะมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทางเป็นไปได้ ดังนั้นเขาจึงพอใจมากกว่า และกล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยง และประสบความสำเร็จมากกว่า แต่การมองโลกในแง่ดี ที่จะนำความสุขมาให้ หมายถึงการมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง (Realism) ไม่ใช่การเพ้อฝัน, คาดหมายสูง, มองโลกในแง่ดีอย่างไม่สมจริง ซึ่งหากชีวิตจริงไม่เป็นไปเช่นนั้น จะทำให้คนแบบนี้ผิดหวังมากและทุกข์ได้มาก

ดังนั้นสูตรของชีวิตที่มีความสุข จึงไม่ใช่อยู่ที่การมองในแง่บวกหรือการมองในแง่ดีเท่านั้น มันคือการผสมผสานของการมองโลกในแง่ดี ซึ่งทำให้เราเกิดความหวัง และมองโลกในแง่ร้ายตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เราอิ่มอกอิ่มใจมากเกินไป รวมทั้งการเป็นคนมองโลกตามความเป็นจริง สามารถแยกแยะได้ว่า มีปัจจัยบางอย่างที่ขึ้นอยู่กับเรา, เราเป็นผู้ควบคุมเปลี่ยนแปลงมันได้ และมีปัจจัยบางอย่าง เช่น สถานะการณ์ภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ 

3. เป็นคนเปิดตัว (Extrovert) : คนมีความสุขคือคนที่ชอบออกไปสังสรรค์กับคนอื่น

การวิจัยพบว่า คนที่มีบุคคลิกเปิดตัว ชอบออกไปสังสรรค์กับคนอื่น มันจะเป็นคนร่าเริง อารมณ์ดี มีเพื่อนดี ได้แต่งงาน ได้งานดี มีความสุข ความพอใจในชีวิตมากกว่า คนที่ชอบเก็บตัวไม่แสดงออก (Introvert) นักจิตวิทยาพบว่าที่คนมีคู่ครองญาติและเพื่อนที่ดีคอยให้ความสนับสนุนช่วยเหลือทางสังคม ทำให้เขา/เธอเกิดความรู้สึกมั่นคงอบอุ่น เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของชีวิตที่มีความสุข

4. เป็นคนที่ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ (Personal Control) : คนมีความสุขคือคนที่เชื่อว่าเขาเป็นคนที่เลือกชะตาชีวิตของตนเองได้ การสำรวจประชากรทั่วประเทศสหรัฐฯ โดยแองกุส แคมป์เบล มหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าคนที่มีความรู้สึกว่าเขาสามารถควบคุมชีวิตของเขาเองได้ จะจัดการกับตัวที่ทำให้เกิดความเครียดได้ดีกว่า และจะมีความรู้สึกในทางบวก หรือความพอใจในชีวิตมากกว่า คนที่สามารถพัฒนาการควบคุมชีวิตตนเองได้ดีขึ้น จะมีสุขภาพและขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น ความจริงข้อนี้ได้มาจากการวิจัยของ จูดิธ โรแดง นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล ผู้ใช้วิธีสนับสนุนให้คนไข้ในสถานพักฟื้นมีอำนาจในการควบคุมตนเองเพิ่มขึ้น เช่น การตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของเขาและการมีส่วนกำหนดนโยบายของสถานพักฟื้น พบว่า 93% ของคนไข้ ตื่นตัว กระฉับกระเฉงและมีความสุขเพิ่มขึ้น การวิจัยในสถานที่ทำงาน รวมทั้งในคุกก็ให้ผลคล้ายคลึงกัน เช่น เมื่อมีการอนุญาตให้ผู้ต้องคุมขังเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการจัดที่นั่ง, การควบคุมไฟและโทรทัศน์ ในห้องนันทนาการ พบว่าผู้ต้องคุมขังเหล่านั้นมีความเครียดลดลง และมีความสุขเพิ่มขึ้น คนที่สามารถควบคุมการใช้เวลา เช่น เวลาว่างนอกเวลาทำงานของตนได้ดี คือมีการวางแผนและใช้เวลาสนองความพอใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุขมากกว่าคนใช้เวลาแบบสะเปะสะปะ เช่น คนที่นอนดึก, เที่ยวดึก หรือจมอยู่กับการนั่งดูทีวีโดยไม่รู้จักคิดทำอย่างอื่น คนมีความสุข มักใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงเวลา รู้สึกว่าได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า คนไม่มีความสุข รู้สึกว่าไม่รู้จะทำอะไรกับเวลาว่าง ไม่สนใจอะไรจริงจัง ชอบผัดวันประกันพรุ่ง และใช้เวลาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

แม้แต่เวลาที่ใช้ในการทำงาน คนที่วางแผนและกำหนดเป้าหมายว่าจะทำงานนี้เสร็จเมื่อไหร่ และทำได้ตรงตามเป้า จะเกิดความมั่นใจพอใจว่าเขาเป็นผู้ควบคุมเวลาของเขาได้ และสิ่งนี้นำไปสู่ความพอใจและความสุข				
14 ธันวาคม 2550 22:28 น.

คุณค่าของสิ่งด้อยค่า

ลุงแทน

.........จุดกำเนิดของคนเรานั้นย่อมมีความแตกต่างกัน บางคนที่มีพร้อมด้วยคุณสมบัติ รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติ คนภายนอกที่มองเข้าไปอาจเต็มไปด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อไปคิดเปรียบเทียบ 
หากจริงๆ แล้ว คนเราแม้จะมีจุดกำเนิดที่ต่างกันเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เกิดมาถึงพร้อม แต่ถ้าไม่ตั้งตนอยู่ด้วยมีสติและรู้เท่าทันความเป็นไปของโลก ไม่แยกแยะสิ่งดีและสิ่งเลวออกจากกัน พื้นฐานที่สร้างมาดีจากครอบครัวก็ไม่อาจทำให้ตัวดีตามได้ ตรงกันข้าม ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยหรือต่ำต้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะไม่มีคุณค่าใดในตัวเลย 

ลองมองให้ดี มองอย่างพินิจ จะพบว่าคนทุกคน หรือในทุกข้อบกพร่อง ยังคงมีสิ่งดีแฝงอยู่ และในบางครั้ง สิ่งที่เป็นข้อด้อยที่ตนเองมองนั้น อาจเป็นประโยชน์ที่ไม่ใช่เพียงแค่กับตัวเองเท่านั้น แต่เผื่อแผ่ไปถึงคนรอบข้างด้วย 
ถ้ายังนึกไม่ออกว่าข้อด้อยของคนเราจะสร้างสิ่งดีให้ผู้อื่นได้อย่างไร ลองอ่านเรื่องเล่าที่ได้รับการส่งต่อมาอีกทีเรื่องนี้ดู... 

ชายจีนคนหนึ่งแบกถังน้ำสองใบไว้บนบ่าเพื่อไปตักน้ำที่ริมลำธาร ถังน้ำใบหนึ่งมีรอยแตก ในขณะที่อีกใบหนึ่งไร้รอยตำหนิและสามารถบรรจุน้ำกลับมาได้เต็มถัง ด้วยระยะทางอันยาวไกลจากลำธารกลับสู่บ้านจึงทำให้น้ำที่อยู่ในถังใบที่มีรอยแตกเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียวทุกครั้ง ทั้งหมดนี้ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม ที่คนตักน้ำสามารถตักน้ำกลับมาบ้านได้หนึ่งถังครึ่ง 

แน่นอนว่าถังน้ำใบที่ไม่มีตำหนิจะรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันถังน้ำที่มีรอยแตกก็รู้สึกอับอายต่อความบกพร่องของตัวเอง มันรู้สึกโศกเศร้ากับการที่มันสามารถทำหน้าที่ได้เพียงครึ่งเดียว 

หลังจากเวลา 2 ปีที่ถังน้ำที่มีรอยแตกมองว่าเป็นความล้มเหลวอันขมขื่น วันหนึ่งที่ข้างลำธาร มันได้พูดกับคนตักน้ำว่า "ข้ารู้สึกอับอายตัวเอง เป็นเพราะรอยแตกที่ด้านข้างของตัวข้าที่ทำให้น้ำที่อยู่ข้างในไหลออกมาตลอดเส้นทางที่กลับไปยังบ้านของท่าน"

คนตักน้ำตอบว่า "เจ้าเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีดอกไม้เบ่งบานอยู่ตลอดเส้นทางในด้านของเจ้า แต่กลับไม่มีดอกไม้อยู่เลยในอีกด้านหนึ่ง เพราะข้ารู้ว่าเจ้ามีรอยแตกอยู่ ข้าจึงได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลงข้างทางเดินด้านของเจ้า และทุกวันที่เราเดินกลับ เจ้าก็เป็นผู้รดน้ำให้กับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น เป็นเวลา 2 ปีที่ข้าสามารถที่จะเก็บดอกไม้สวยๆ เหล่านั้นกลับมาแต่งโต๊ะกินข้าว ถ้าหากปราศจากเจ้าที่เป็นเจ้าแบบนี้แล้ว ก็คงไม่อาจได้รับความสวยงามแบบนี้ได้" 

คนเราแต่ละคนย่อมมีข้อบกพร่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่รอยตำหนิและข้อบกพร่องที่เราแต่ละคนมีนั้นอาจช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันของเราน่าสนใจ และกลายเป็นบำเหน็จรางวัลของชีวิตได้ สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ยอมรับคนแต่ละคนในแบบที่เขาเป็น และมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้นเอง 

เห็นไหมเล่าว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีคุณค่าในตัวเอง อยู่ที่การคิดและการเลือกที่จะมองเท่านั้น ใครที่ยังกังวลใจว่าตัวเองมีแต่ข้อด้อย หาความเท่าเทียมใครได้ยาก ก็จงอย่าได้เอาตัวเองไปเทียบกับใคร แต่ว่าให้เปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองนั่นละดีที่สุด 

ลองถามตัวเองว่า สิ่งที่ได้ทำในแต่ละวัน ดีเพียงพอและเป็นประโยชน์ที่พึงมีให้สังคมโลกบ้างแล้วหรือยัง				
14 ธันวาคม 2550 22:10 น.

สมาธิช่วยเราได้

ลุงแทน

............คุณเคยรู้สึกว่าจิตใจว้าวุ่นสับสน กังวลใจ หรือตึงเครียดทางร่างกายและจิตใจ บ้างหรือไม่ ความรู้สึกเหล่านี้คงทำให้รู้สึกไม่สบายสักเท่าไรนัก แถมทำให้เราไม่มีสติไม่มีสมาธิในการคิดหรือทำสิ่งอื่นใด

อาการเหล่านี้เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง โดยการฝึกทำสมาธิ การทำสมาธิคือการทำจิตใจให้ว่าง ให้สงบ โดยการดึงความคิดให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตัดความคิดความกังวลออกจากสิ่งแวดล้อม เช่น การเพ่งความคิดไปที่วัตถุ ลมหายใจ คือการนับเลข ซึ่งหากเราสามารถทำได้เราจะเข้าสู่สมาธิ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ร่างกายเกิดความสมดุล ช่วยคลายความเครียด ความวิตกกังวลออกไป

ที่สำคัญหากสามารถทำสมาธิได้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ป้องกันอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ คลายความวิตกกังวล และอาการอื่นๆ ที่เกิดจากความเครียด และยังช่วยให้เรามีสติ มีความจำที่ดีขึ้น ทำให้สามารถเรียนหรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำสมาธิก็สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องเสียเงินทองเพียงแค่หาสถานที่สงบเงียบสักหน่อย นั่งในท่าที่สบาย ทำร่างกายและจิตใจให้ผ่อนคลายมุ่งความสนใจไปที่จุดใดจุดหนึ่ง เช่น อาจนับลมหายใจเข้าออกเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอสัก 15-20 นาที เพียงเท่านี้ท่านก็จะรู้สึกสบายผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

การทำสมาธิเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ที่เกิดขึ้นเพียงวันละ 15-20 นาที ก็จะรู้สึกสบายทั้งกายและใจ				
14 ธันวาคม 2550 18:46 น.

คำคม

ลุงแทน

......... คำคม  

"It is never too late to be what you might have been." 
- - George Eliot - -
ไม่เคยมีคำว่าสายเกินไปที่จะเป็นในสิ่งที่คุณอยากจะเป็น 


"Who never made a mistake never made a discovery." 
- - Soren Kierkegaard - -
คนที่ไม่เคยกระทำผิดคือคนที่ไม่ได้ค้นหาสิ่งใด 

The best and most beautiful things in the world cannot be seen or even touched. 
They must be felt with the heart.
- - Helen Keller - - 
สิ่งที่ดีและสวยงามที่สุดในโลก มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่จะรู้สึกได้จากหัวใจ



 
.......... คารมรัก 


"The best and most beautiful things cannot be seen or even touched, 
they must be felt with the heart."
- - Anonymous - - 
สิ่งที่สวยงามที่สุดมิอาจสัมผัสได้โดยสัมผัสทางกาย ทว่าต้องรับรู้ผ่านหัวใจ


"True love is like a jigsaw puzzle. The pieces will find themselves 
when they are right for each other."
- - Anonymous - - 
ความรักที่แท้จริงก็เหมือนกับเกมจิ๊กซอร์ ชิ้นส่วนทั้งหมดจะสามารถค้นพบตัวเองได้
ก็ต่อเมื่อแต่ละชิ้นสามารถหาชิ้นที่"ใช่"สำหรับตัวมันเอง


"To love is nothing. To be loved is something. 
To love and be loved is everything!!"
- - Anonymous - - 
การได้รักเป็นเพียงความว่างเปล่า การถูกรักเป็นเพียงแค่บางสิ่งบางอย่าง 
ส่วนการได้รักและการถูกรัก นั้นเป็นทุกอย่าง				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงลุงแทน