ความเข้าใจที่ผิดพลาดเรื่องภาวะโลกร้อน

คีตากะ

1119630170.jpg             ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกตีพิมพ์ออกมาจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก พบว่ามันมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอยู่บ้าง โมเดลหรือแบบจำลองต่างๆ อันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพยากรณ์อนาคตของปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนยังคงมีความผิดพลาดให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีการแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า แน่นอนอนาคตเป็นสิ่งที่ยากคาดเดา แต่มันไม่ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหายนะต่อมวลมนุษยชาติอย่างเรื่องภาวะโลกร้อน ข้อมูลบางส่วนถูกบิดเบือนและปกปิดอำพรางด้วยเหตุผลนานับประการ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศาสนา ฯลฯ แต่สุดท้ายผู้ที่ต้องรับเคราะห์กรรมยังคงเป็นประเทศที่ยากจน ประชาชนที่ยากจน ซึ่งไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าภาวะโลกร้อนยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน เช่น ใครจะไปทราบว่าน้ำแข็งขั้วโลกที่มีอายุนับ ๑๕๐,๐๐๐ ปีจะละลายไปแบบไม่หวนกลับมาอีก เพราะทุกครั้งมันจะละลายหายไปบางส่วนในฤดูร้อนและกลับมาอีกในฤดูหนาว แต่ปัจจุบันมันกลับไม่เป็นเหมือนเดิม ความผิดพลาดต่อความเข้าใจเรื่องภาวะโลกร้อนที่พอสรุปได้ตามความเข้าใจของผู้เขียนมีดังต่อไปนี้
๑.	การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้โลกร้อนจริงหรือ?
เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างเช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นสารประกอนไฮโดรคาร์บอน ส่วนใหญ่เมื่อถูกเผาไหม้จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งทำให้โลกร้อน ในขณะเดียวกับจากปฏิกิริยาการเผาไหม้มันยังได้ ละอองลอย (Aerosol) ซึ่งมีผลทำให้โลกเย็น ผลจากการหักล้างกันทางความร้อนส่วนต่างเกือบเป็นศูนย์ นั่นแสดงว่าตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนในช่วงทศรรษที่ผ่านมาอาจไม่ใช่มาจากคาร์บอนไดออกไซด์ นักวิทยาศาสตร์บางคนพบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อน ๔๐% และ ๖๐% มาจากก๊าซมีเทน แต่ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่วัดก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศในช่วง ๑๐๐ ปีและพบว่าก๊าซมีเทนมีความรุนแรงกว่าซึ่งทำให้โลกร้อนกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ๒๓ เท่า และพบว่าปัจจุบันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีอยู่ในบรรยากาศ ๓๘๓ ppm (หนึ่งส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร) แน่นอนพวกเขาจึงพยายามเพื่อจะลดมันลงเพราะดูจากค่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นแปรผันโดยตรงกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ แต่ถ้าลองวัดก๊าซเรือนกระจกในช่วงเวลา ๒๐ ปี เขากลับพบว่ามีเทนมีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ๗๒ เท่า เพราะอะไรหรือ? เพราะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ ลืมคิดไปว่าก๊าซมีเทนที่ตกค้างในชั้นบรรยากาศจะมีอายุเพียง ๑๑ ปี มันก็จะถูกออกซิไดซ์กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์จนไม่เหลือร่องรอย ผลก็คือคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนหนึ่งในชั้นบรรยากาศมาจากมีเทนและส่วนอื่นๆ จากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก
๒.	อัตราการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเร็วขึ้นจริงหรือ?
แบบจำลองที่ใช้พยากรณ์อัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกค่อนข้างจะเด่นชัดที่สุด หลายครั้งความจริงที่ปรากฏทำให้นักวิทยาศาสตร์ถึงกับช็อกหรือหวาดผวา เมื่อพบว่าน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้มากนัก การใช้กราฟแบบเส้นตรงหรือข้อมูลในช่วงเวลาสั้นๆ นำไปสู่ความผิดพลาดของการพยากรณ์ มันชัดเจนขึ้นแล้วว่าการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเป็นปฏิกิริยาแบบสะท้อนกลับ พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อน้ำแข็งละลายเริ่มจากช้าๆ จากการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น และมันจะเพิ่มความเร็วสูงขึ้นจากปัจจัยหลายๆอย่างที่พวกเขาอาจไม่ได้นำมาคิด อย่างเช่น ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกขั้วโลกเหนือสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ประมาณ ๘๐% ทำให้อุณหภูมิความเย็นของมหาสมุทรคงที่ น้ำแข็งไม่เพียงรักษาอุณหภูมิของโลกมันยังช่วนสะท้อนความร้อนออกสู่บรรยากาศด้วย เมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้น ทะเลเปิดมากขึ้น ทะเลจึงอุ่นมากขึ้นด้วย ส่งผลให้น้ำแข็งยิ่งละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ชายฝั่งที่เคยมีหิมะและน้ำแข็งปกคลุมตลอดปี เกิดการละลาย ทำให้มีเทนก้อนที่ถูกเก็บไว้ในชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ละลายเป็นฟองก๊าซมีเทนถูกปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น และทำให้โลกร้อนขึ้น  เป็นวงจรวัฏจักรที่รวดเร็วจนยากคาดการณ์  จนนำไปสู่การพยากรณ์ระดับน้ำทะเลและระยะเวลาต่างๆ ผิดพลาดตามมา ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ จะปราศจากน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกขั้วโลกเหนือ และนั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนผันที่ไม่สามารถย้อนกลับได้อีก
๓.	การเกิดแผ่นดินไหวกับภาวะโลกร้อนเกี่ยวกันไหม?
แผ่นดินมีค่าความจุความร้อนน้อยกว่าน้ำในมหาสมุทร มันจึงร้อนมากกว่า ที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวดินได้เพิ่มเร็วขึ้นประมาณ ๒ เท่าเมื่อเทียบกับการเพิ่มอุณหภูมิของผิวทะเล ซีกโลกเหนือมีมวลแผ่นดินมากกว่าซีกโลกใต้ ซีกโลกเหนือจึงร้อนเร็วกว่า จากหลักฐานพบว่าการการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของบรรยากาศเพียงเล็กน้อยก่อให้เกิดภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหวจากการเคลื่อนที่ของชั้นเปลือกโลก สาเหตุเพราะว่าน้ำแข็งได้ละลายอย่างรวดเร็ว เช่น อาร์กติกและกรีนแลนด์ ขณะที่มันกำลังละลาย มันได้ปลดปล่อยแรงดันจากพื้นผิวโลกเป็นผลสะท้อนกลับ ผลสะท้อนกลับจากบริเวณเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความเครียดของเปลือกโลกอย่างง่ายดาย ส่งผลต่อการเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด ในปัจจุบัน เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเหตุให้มีความถี่สูงขึ้นในการสั่นไหวของพื้นผิวโลก นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าภาวะโลกร้อนได้ก่อให้การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่มีความถี่สูงขึ้นอีกด้วย และมันมักจะเกิดในช่วงที่น้ำแข็งกำลังละลาย นอกจากนั้นยังอาจมีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มากเกินไปจากการละลายของน้ำแข็งทำให้แกนโลกต้องปรับสมดุลใหม่ และจากการที่แกนกลางโลกร้อนจัดถึง ๓,๖๗๖ องศาเซลเซียสใกล้เคียงกับพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่ร้อนถึง ๕,๕๒๖ องศาเซลเซียส ทำให้ชั้นเปลือกโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
๔.	ต้นไม้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนที่จะปล่อยก๊าซออกซิเจนจริงไหม?
ภายหลังคลื่นความร้อน (Heat Wave) คร่าชีวิตชาวยุโรปราว ๓๕,๐๐๐ คน ในช่วงเวลาเพียง ๓ เดือนของฤดูร้อนปี พ.ศ. ๒๕๔๖ อุณหภูมิพุ่งสูงกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจว่าต้นไม้จะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสังเคราะห์แสงและคายออกซิเจนออกมา แต่เขากลับพบว่าปัจจุบันนี้มันกลับทำงานตรงกันข้าม ผลจากการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ต้นไม้จะเกิดการห่อใบและเก็บออกซิเจนไว้โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศแทน นอกจากนั้นความร้อนยังทำให้แบคทีเรียในดินบริเวณในป่าเร่งการย่อยซากพืชไปเป็นก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วและปล่อยสู่บรรยากาศ ซึ่งเร่งภาวะโลกร้อนให้เลวร้ายไปอีก
      
๕.	แหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในมหาสมุทรจริงหรือ?
 นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่สำคัญคือป่าหรือไม่ก็ชั้นบรรยากาศ แต่ปัจจุบันพวกเขากลับค้นพบว่า แหล่งเก็บกักคาร์บอนถึง ๙๓% อยู่ในมหาสมุทรไม่ใช่ต้นไม้หรือชั้นบรรยากาศ มหาสมุทรคือแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในการรักษาสมดุลของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเสมือนรากฐานของโลก ๓ ใน ๔ ส่วนของโลกเป็นมหาสมุทรปกคลุมไปด้วยน้ำทะเล สัตว์และพืชทะเล เช่น ไดอะตอม ไฟโตแพลงก์ตอน สาหร่ายทะเล เป็นตัวควบคุมปริมาณของก๊าซทั้ง ๒ พวกมันจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายอยู่ในน้ำเพื่อสังเคราะห์แสงและสร้างเปลือกแข็งห่อหุ้มตัวเองเพื่อความปลอดภัยโดยจะปล่อยก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตออกมา ผลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มคาร์บอนในชั้นบรรยากาศมากเกินไป จนต้นไม้หรือมหาสมุทรเกินกว่าจะรับได้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในชั้นบรรยากาศ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ก๊าซจะละลายในน้ำได้น้อยลง จากที่มันเคยมีหน้าที่คอยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศมันจึงทำในสิ่งตรงกันข้ามคือปล่อยคาร์บอนแทน ในขณะที่สิ่งมีชีวิตพวกแพลงก์ตอนก็ลดจำนวนลงจากการที่น้ำทะเลมีภาวะเป็นกรดจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตกค้างมากเกินไป นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทางทะเล รวมทั้งการเกิด ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และเสียสมดุลระบบนิเวศทางทะเล
๖.	พื้นที่มรณะ (Dead zones) ทางทะเลคืออะไรมีอยู่จริงหรือ?
พื้นที่มรณะทางทะเลคือบริเวณที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เนื่องจากขาดก๊าซออกซิเจนที่ใช้ในการหายใจ ผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เกิดบริเวณเหล่านี้ขึ้น การปล่อยของเสียจากกิจกรรมของมนุษย์และการที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้กระแสน้ำไม่เกิดการไหลเวียนหรือชะลอช้าลง การที่กระแสน้ำไหลเวียนจะนำพาสารอาหารและออกซิเจนที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตไปหล่อเลี้ยงชีวิตในส่วนต่างๆ ของมหาสมุทร นอกจากนั้นการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายจะทำให้การหมุนเวียนของกระแสน้ำอุ่นช้าลงหรืออาจหยุดไหล ทำให้เกิดพื้นที่มรณะ บริเวณที่ขาดออกซิเจนนี้แบคทีเรียจะสร้างก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่าปริมาณมาก ในบางบริเวณจะสังเกตุเห็นน้ำมีสีชมพู ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่ได้สัมผัสแม้แต่มนุษย์ ถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ ๕-๗ องศาเซลเซียส จะเกิดการปลดปล่อยก๊าซพิษนี้จากท้องทะเลน้ำไปสู่การสูญพันธุ์ของทั้งสิ่งมีชีวิตทางทะเลและบนบกจำนวนมหาศาล ก๊าซพิษนี้มีความรุนแรงพอๆ กับไซยาไนด์ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีพื้นที่มรณะทางทะเลถึง ๔๐๐ แห่งทั่วโลกและไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่า พบก๊าซไข่เน่าปริมาณมากผุดขึ้นมาบริเวณชายฝั่งของนามิเบีย และพบสัตว์ทะเลจำนวนมากล้มตาย
๗.	มีเทนก้อนหรือมีเทนไฮเดรตคืออะไรมีจริงหรือ?
เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสต์ต้องตกตะลึงอีกครั้ง ขณะเดินเรือสำรวจอยู่บริเวณไซบีเรียที่ขั้วโลกเหนือ เนื่องจากพบก๊าซมีเทนปริมาณมากผุดลอยขึ้นมาจากทะเลสาบและชั้นดินเยือกแข็งที่กำลังละลายบริเวณแถบนั้น สร้างความงุนงงให้แก่พวกเขาเป็นอย่างมาก มีเทนก้อนหรือเรียกว่ามีเทนไฮเดรตเกิดจากการสะสมของซากพืชซากสัตว์เป็นเวลานับล้านปี แบคทีเรียได้เปลี่ยนให้มันเป็นมีเทนไฮเดรต มีลักษณะเป็นของแข็งลอยน้ำได้พบได้ในบริเวณชั้นตะกอนใต้ทะเลสาบหรือมหาสมุทร ที่ระดับความลึกมากกว่า ๒๐๐-๕๐๐ เมตร นอกจากนั้นยังพบได้ตามทะเลสาบและชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) บริเวณที่เคยมีหิมะและน้ำแข็งปกคลุมตลอดปี มีเทนก้อนจะเปลี่ยนเป็นก๊าซมีเทนลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อชั้นดินเยือกแข็งละลายจากการที่น้ำแข็งหรือหิมะชั้นบนละลายนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นหรือน้ำท่วมถึง ส่วนในมหาสมุทรเมื่อน้ำมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ๕-๗ องศาเซลเซียสการปลดปล่อยมีเทนจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลและนำมาสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมาย ก๊าซมีเทนสามารถติดไฟได้ ถ้ามีปริมาณมากในอากาศสามารถเกิดการระเบิดในอากาศ และหากมันเข้นข้นในบรรยากาศจะลดความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนลงทำให้หายใจไม่ออก นอกจากนั้นมันยังสามารถสร้างโอโซนระดับพื้นดินทำลายสุขภาพมนุษย์ได้อีกด้วย นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่ามีมีเทนในบรรยากาศ ๓,๕๐๐ ล้านตัน  มีมีเทนไฮเดรตใต้ชั้นดินเพอร์มาฟรอสต์บริเวณอาร์กติกประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านตันและบริเวณใต้ท้องมหาสมุทรทั่วโลกมีประมาณ ๕๐๐,๐๐๐-๒,๕๐๐,๐๐๐ ล้านตัน
๘.	จุดวิกฤติของภาวะโลกร้อนจะมาถึงอีกนานแค่ไหน?
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คำนวณจุดวิกฤติหรือจุดเปลี่ยนผันของภาวะโลกร้อนไว้ในอีก ๕๐-๑๐๐ ปี ข้างหน้า แต่ปัจจุบันพวกเขาเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนผันของการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าโมเดลของพวกเขาทำนาย และพบว่าบริเวณอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ นั่นแสดงว่าภาวะโลกร้อนจะทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้อีกตั้งแต่ปี ๒๐๑๒ เป็นต้นไป เมื่อน้ำแข็งละลายหมดกระแสน้ำในมหาสมุทรจะหยุดไหลเวียนลงหรือเปลี่ยนทิศทางสิ่งมีชีวิตทางทะเลส่วนใหญ่จะสูญพันธุ์ อุณหภูมิผิวมหาสมุทรจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พายุจะรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น การระเหยของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมบางพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่จะต้องประสบกับภัยแล้งขั้นรุนแรง แม่น้ำ ลำครอง ทะเลสาบ ต่างๆ รวมทั้งน้ำใต้ดินจะแห้งระเหยไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในฤดูร้อน พื้นที่ทางการเกษตรจะพบกับความแห้งแล้ง และบางพื้นที่พบกับน้ำท่วมฉับพลัน เช่น พื้นที่เพาะปลูกข้าว นอกจากนั้นพื้นที่ทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายจากการรุกเข้ามาของน้ำเค็มเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และจะสูญเสียแหล่งน้ำจืดไป พื้นที่ที่เป็นเกาะและอยู่ตามแนวชายฝั่งจะถูกคลื่นที่รุนแรงกัดเซาะและจมหายไปทำให้สูญเสียแผ่นดินจำนวนมาก จนนำไปสู่การปล่อยก๊าซพิษทางทะเลสิ่งมีชีวิตจำนวนกว่า ๙๕% จะสูญพันธุ์
๙.	สงครามเกี่ยวข้องอย่างไรกับภาวะโลกร้อน?
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าต้นไม้และมหาสมุทร จะช่วยดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ แต่กลับกลายเป็นว่าพวกมันกลับปล่อยคาร์บอนออกมาแทนทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการเร่งภาวะโลกร้อนในทิศทางที่ไม่เคยคาดการณ์มาก่อน สมดุลวัฏจักรของคาร์บอนและออกซิเจนต้องสูญเสียไปพร้อมกับการการเสียสมดุลทางระบบนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิต ทั้ง คน พืช สัตว์ โดยเฉพาะน้ำและอาหาร เมื่อพืชผลทางการเกษตรต้องเสียหายจำนวนมากจากภาวะโลกร้อน การขาดแคลน้ำ และป่าที่อุดมสมบูรณ์ต้องสูญสิ้นไปจากการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อาหารและน้ำดื่มเกิดความขาดแคลน มนุษย์เริ่มอดอยากและนำไปสู่การต่อสู้แย่งชิงกันเพื่อการเอาชีวิตรอด เกิดปัญหาทางด้านสังคมที่รุนแรงตามมา และอาจกลายเป็นปัญหาระดับโลกจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำลง คนว่างงานจำนวนมาก เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ทำให้ประเทศมหาอำนาจสามารถที่จะก่อสงครามกันเพื่อแย่งชิงแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่เหลืออยู่เพื่อช่วยเหลือประชากรของตนตามมา การมีอาวุธที่ทันสมัยนำไปสู่การสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาลได้อย่างง่ายดาย
๑๐.	มังสวิรัติคือทางออกของปัญหาโลกร้อนจริงหรือ?
นักวิทยาศาสตร์พบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นต้นตอของภาวะโลกร้อน พวกเขาเก็บข้อมูลจากกระบวนการผลิตแฮมเบอร์เกอร์แต่ละชิ้นในสหรัฐฯ พบว่าทุกขั้นตอนการผลิตแฮมเบอร์เกอร์ล้วนมีร่องรอยของคาร์บอนแฝงอยู่ทั้งสิ้นและเมื่อคำนวณออกมามันก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่เกิดจากรถทุกคันบนท้องถนนในสหรัฐฯรวมกันเสียอีก การปศุสัตว์ผลิตก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ๓ ชนิดคือ ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนตรัสออกไซด์ สรุปแล้วมันผลิตก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศถึง ๕๑% ปัจจุบันหายนะของโลกร้อนกำลังจะถึงจุดที่เปลี่ยนผันไม่ได้ มนุษย์ไม่มีเวลามากนักที่จะจัดการกับก๊าซที่มีอายุยืนนับ ๑๐๐ ปีอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ แต่จำเป็นต้องจัดการกับก๊าซที่รุนแรงและมีอายุสั้นกว่าอย่างก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ อย่างเร่งด่วนก่อนจะสายเกินไป ซึ่งแหล่งผลิตรายใหญ่ของมันมาจากการปศุสัตว์ การปศุสัตว์ก่อให้เกิดการทำลายป่าเพื่อการใช้ที่ดิน พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่มนุษย์ ของเสียจากการปศุสัตว์ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำและทำให้ทะเลเกิดพื้นที่มรณะขาดออกซิเจนจนถึงทำให้ทะเลกลายเป็นกรด นอกจากนั้นฟาร์มปศุสัตว์ไม่เพียงเป็นแหล่งเชื้อโรคที่สามารถติดต่อสู่คนได้เท่านั้นมันยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล เช่น ก๊าซมีเทนถูกขับถ่ายจากวัวและถูกสะสมในระบบย่อยอาหารของมัน ฟาร์มสุกรเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาลสู่บรรยากาศ อุตสหกรรมที่เกี่ยวกับการปศุสัตว์ล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ฟาร์ม โรงงาน การขนส่ง ดังนั้นการไม่ทานเนื้อสัตว์หรือการทานมังสวิรัติจะสามารถลดกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงการปศุสัตว์ แต่ยังรวมส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกด้วย และสามารถคำนวณออกมาได้ว่าการทานมังสวิรัติจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการทำให้โลกร้อนได้ถึง ๘๐%

fruit_veget.jpg				
comments powered by Disqus
  • รัมณีย์

    24 ธันวาคม 2552 20:06 น. - comment id 112850

    4.gif11.gif4.gif
  • ฉางน้อย

    24 ธันวาคม 2552 22:55 น. - comment id 112851

    11.gif36.gif11.gif
  • เด็กน้อย

    1 กุมภาพันธ์ 2556 19:55 น. - comment id 131566

    สุดยอดมาก  ขอบคุณค่ะ จะทำรายงานเชิงวิชาการพอดี ช่วยได้เยอะมาก41.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน