เศรษฐกิจยุคโลกร้อน....

คีตากะ

ricee.jpg      ความอดอยากหิวโหยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นชนวนปะทุการเดิน ขบวนโค่นล้มรัฐบาลในขณะนี้ ไม่ได้มีต้นทางมาจากผู้นำเผด็จการหรือการใช้อำนาจกดขี่ ทว่าต้นสายปลายเหตุเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในรัสเซีย ก่อนที่จะลามเลียไปยังอาร์เจนตินา ในขณะเดียวกับที่ออสเตรเลียและแคนาดาต้องเผชิญกับภาวะฝนถล่มทำให้น้ำท่วมตามมา สถิติจากคณะกรรมการข้าวสาลีของประเทศแคนาดาชี้ว่า ภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมในแขตซาซแคทเชแวนของแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีที่สำคัญ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกข้าวสาลีคิดเป็นพื้นที่รวมถึง 10 ล้านเอเคอร์ นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวสาลีในปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างมาก เมื่อผนวกเข้ากับสภาพอากาศหนาวเย็นผิดธรรมชาติในฤดูร้อนของแถบมิดเวสต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตข้าวสาลีของสหรัฐฯออกช้ากว่าปกติ ราคาข้าวสาลีซื้อขายล่วงหน้าในตลาดชิคาโกจึงพุ่งทะยาน 73 % ในปี 2553 ขณะที่ราคาข้าวโพดก็พุ่งถึง 94 % ในช่วงเวลาเดียวกัน
ไม่นานมานี้ ราคาข้าวและข้าวสาลียังได้รับผลกระทบอีกครั้งจากภาวะภัยแล้งซึ่งเกิดขึ้นใน ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีใหญ่ที่สุดในโลก นายฮั่น จางฟู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของจีน เปิดเผยว่า ประมาณ 42 % ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีใน 8 จังหวัดใหญ่ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากภัย แล้ง
       องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เปิดเผยว่าโดยภาพรวมแล้ว ภาวะถดถอยของผลผลิตทำให้ราคาอาหารโลกทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือน มกราคมที่ผ่านมา (2554) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับข้อมูลเก่าเท่าที่เคยมีมาย้อนหลังถึงปี 2553 "เมื่อใดก็ตามที่ตลาดเจอภาวะผลผลิตตึงตัวอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ก็จะเกิดการกักตุนอย่างแพร่หลาย" นายอับดุลเรซา แอบบาสเซียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเอฟเอโอกล่าว และระบุว่า ราคาข้าวสาลีอาจขยับสูงขึ้นต่อไปในช่วงฤดูร้อนนี้เนื่องจากผู้นำเข้าเร่ง ซื้อผลผลิตมาครอบครองไว้ก่อนเนื่องจากกลัวว่าราคาอาจพุ่งขึ้นอีก ดังนั้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ราคาข้าวสาลีจึงมีแนวโน้มคงตัวอยู่ในระดับสูงหรือไม่ก็สูงขึ้นไปอีก มากกว่าที่จะปรับลดลงมา 
       นักวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ว่า ปีนี้โลกจะต้องเผชิญภาวะเลวร้ายด้านผลผลิตการเกษตรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตข้าวสาลีในที่ราบทางตอนเหนือของประเทศจีนจะมากหรือน้อย เพียงใด เจสัน เลยอนวาร์น นักวางกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์จากกองทุนการลงทุน แอร์เมส ฟันด์ แมเนเจอร์ ในกรุงลอนดอน ให้ทรรศนะว่า ถ้าฤดูกาลเก็บเกี่ยว 2 ช่วงก่อนฤดูร้อนปีหน้า (2555)ให้ผลผลิตดีเยี่ยม นั่นก็จะทำให้มีผลผลิตสำรองมากพอในระดับที่รับได้ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลน ถึงขนาดที่ประเทศผู้ส่งออกสุทธิอาจจะต้องเริ่มนำเข้าข้าวสาลีและสร้างแรงกด ดันขึ้นในตลาดโลก เพราะเพียงแค่จีนสั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลี นั่นก็ส่งผลทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น และเกิดภาวะขาดแคลนในตลาดโลกได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้แต่ผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกายังได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเรื่องดังกล่าว
       
      สตีฟ นิโคลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อสินค้าโภคภัณฑ์จากบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด โปรดัคท์ จากเมืองเซนต์หลุยส์ เปิดเผยว่า เวลานี้ไม่มีสินค้าเกษตรประเภทใดที่ชี้ไปแล้วไม่มีปัญหาเรื่องปริมาณผลผลิต "ตอนนี้อุปทานตามอุปสงค์ไม่ทันแล้ว"
       รายงานของธนาคารโลกระบุว่า เทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยมีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตรและทำให้ราคา สินค้าอาหารอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ดูเหมือนว่ายุคสมัยแห่งผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์และคาดหมายได้ล่วงหน้าซึ่ง หล่อเลี้ยงประชากรโลกเกือบ 7,000 ล้านคนมาจนทุกวันนี้อาจจะผ่านพ้นไปแล้ว หน่วยงานบรรเทาทุกข์ระดับนานาชาติที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติและการลดทอนงบประมาณของรัฐบาลทั่วโลกพบว่า เป็นเรื่องยากแล้วในเวลานี้ที่จะรับมือกับภาวะการขาดแคลนอาหารในระดับรุนแรง สถิติจากธนาคารโลกชี้ชัดว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 เป็นต้นมา ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ประชากรโลก 44 ล้านคนหรือกว่านั้นในประเทศกำลังพัฒนาต้องตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง
       นายโรเบิร์ต โซลิค ประธานธนาคารโลก กล่าวในการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ราคาอาหารโลกที่ทะยานสูงขึ้นเป็นภัยคุกคามคนยากจนนับสิบๆล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้เงินมากกว่าครึ่งของรายได้เป็นค่าอาหารเลี้ยงปากท้อง คนในครอบครัว
       แน่นอนว่า ราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งภาวะเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนา นูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ให้ทรรศนะว่า ในหลายประเทศกำลังพัฒนา ดัชนีราคาผู้บริโภคราว 2 ใน 3 เป็นอาหาร พลังงานและการขนส่ง เมื่อตัวแปรเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ก็เป็นภาระต้นทุนค่าครองชีพที่สำคัญยิ่ง สถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ขณะที่ประชากรในประเทศยากจนที่สุดต้องจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้น 20 % ในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปี 2552 ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลก ราคาอาหารกลับเพิ่มสูงขึ้นเพียง 1.5 % (ในช่วงเดียวกัน) และเป็นที่คาดหมายว่าอัตราเพิ่มของราคาอาหารในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอีกราว 2 % ในปีนี้ (ตัวเลขประมาณการจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ) "สหรัฐฯเป็นประเทศที่ผลิตอาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ราคาอาหารจะพุ่งสูง" อิริค อิริคสัน นักเศรษฐศาสตร์จากสภาธัญญาหารแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าว 
       ด้านแคเรน วอร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารเอชเอสบีซี ให้ความเห็นว่า ประเทศที่มีราคาอาหารสูงขึ้นและเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อสูงนั้น คือประเทศกำลังพัฒนาที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมีอัตราว่างงานต่ำ เหตุเพราะในประเทศเหล่านี้ ผู้บริโภคถูกกดดันเรื่องราคาอาหาร ก็มักจะได้รับการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ และเมื่อใดก็ตามที่ค่าจ้างแรงงานขยับสูง ราคาสินค้าและบริการก็จะขยับตามเป็นเรื่องปกติ
      ตัวอย่างเห็นได้ชัดในกรณีประเทศจีน ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรงในอัตราตัวเลขสองหลักหลายปีติดต่อ กัน ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 4.9 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนราคาอาหารนั้นพุ่งในระดับ 10.3 % แต่เมื่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับสูง ก็เปิดช่องทางให้บริษัทผู้ผลิตสามารถขยับราคาสินค้าผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ต่างจากในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่อุปสงค์ภายในประเทศต่ำขณะเดียวกันก็มีอัตราการว่างงานสูง ผู้บริโภคโดยทั่วไปไม่สามารถขอค่าแรงเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยราคาอาหารที่ขยับตัวสูงขึ้น ดังนั้นในส่วนของผู้บริโภคเองจึงมีการลดทอนการใช้จ่ายเพื่อประหยัดเงิน ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อผลักภาระให้ผู้ซื้อได้ง่ายๆ เพราะตระหนักดีว่าหากปรับขึ้นราคาสินค้า ยอดขายก็คงจะลดลงอย่างแน่นอน
       ในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่อย่างจีน ประธานาธิบดีเหวิน เจียเป่า ได้ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่า รัฐบาลจะทุ่มงบ 12,900 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(58,800 ล้านบาท) เพื่อการเพิ่มผลผลิตการเกษตรและต่อสู้ภัยแล้ง นอกจากนี้ยังเป็นที่คาดหมายว่า รัฐบาลจีนอาจควบคุมราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการจลาจลที่อาจเกิดขึ้น และให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายมากขึ้น
       ด้านประเทศในลาตินอเมริกาอย่างโบลิเวีย เร็วๆนี้ กระทรวงการคลังได้ประกาศจัดสรรเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์(300,000 ล้านบาท) ให้เป็นกองทุนเงินกู้สำหรับผู้ผลิตอาหารและคุมราคาอาหารไม่ให้ทะยานสูงขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับข้อเสนอของเขาในเวทีประชุมของกลุ่มจี-20 ที่ให้มีการจัดตั้งกองทุนความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรโลก (Global Agriculture and Food Security Fund) เพื่อป้องกันการขาดแคลนและเสริมสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับผลผลิตอาหาร เช่นเดียวกับข้อเสนอของธนาคารโลกที่ต้องการให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองอาหาร ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี-20 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนนี้ที่ประเทศฝรั่งเศส ประธานธนาคารโลกก็เตรียมเสนอให้ชาติสมาชิกได้การรับรองแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณสำรองผลผลิตการเกษตรของแต่ละประเทศ และการปรับปรุงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเช่นในประเทศ แอฟริกาแถบทะเลทรายซาฮารา เป็นต้น
ร่วมมือแก้ไขวิกฤติอาหารโลก
       ธนาคารโลกรายงานว่า ราคาธัญญพืชที่เป็นอาหารในตลาดโลก เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวโพด ถั่วเหลือง มีราคาสูงขึ้น  แม้ว่าคนจีนจะกินเนื้อสัตว์ปริมาณเพิ่มขึ้นจากคนละ 20 ก.ก.ในปี 2523 เป็นคนละ 50 ก.ก.โดยเฉลี่ยในปี 2550 ก็ตาม แต่ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา ราคาน้ำตาลอยู่ในระดับเดียวกับกับเนื้อสัตว์ ราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนนมเป็นอาหารที่ราคาสูงที่สุด ราคาข้าวเจ้าพุ่งสูงขึ้นแบบหยุดไม่อยู่ มีคนทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนที่บริโภคข้าวเจ้า ขณะนี้ สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (ไอ.อาร์.อาร์.ไอ) กำลังคิดค้นพัฒนาพันธ์ข้าวที่ให้ปริมาณมากขึ้นจากการใช้พื้นที่เท่าเดิมหรือน้อยลง ซึ่งต่อไปอาจมีข้าวตัดต่อพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ.ก็ได้ 
       ใครได้ใครเสียจากการที่อาหารมีราคาแพงขึ้น? คนเสียหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นคนยากจนซึ่งอาศัยอยู่ในตัวเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะต้องเจอกับอาหารที่มีราคาแพงขึ้น แต่รายได้ต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศนั้น ดังที่เกิดขึ้นแล้วในเฮติ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศอาหรับ ส่วนประเทศยากจนนั้นคงต้องใช้เวลานานมากขึ้นที่จะไปถึงเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาความยากจน ส่วนคนได้ก็คือ ชาวนาในประเทศร่ำรวยหรือประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น สหรัฐ บราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา ออสเตรเลีย ซึ่งขายผลผลิตทางเกษตรของคนในราคาสูง เช่นเดียวกับชาวนาในประเทศกำลังพัฒนา 
       ตั้งแต่นี้ไปราคาอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทธัญญพืชมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูง เพราะประชากรโลกจะมีมากขึ้นที่มาแย่งกันกินกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่ดิน น้ำ น้ำมัน อาหาร บรรยากาศโลกที่แปรปรวนจะทำการผลิตอาหารมีปัญหามากขึ้น การที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นจนหลายประเทศหันไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอดีเซล เอทานอล ทำให้ต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไปปลูกพืชน้ำมัน พื้นที่ปลูกอาหารจะลดลง นอกจากนั้น พฤติกรรมของคนรวยจะกินมากกว่าคนจน คนชั้นกลางจะซื้อเนื้อสัตว์และอาหารสำเร็จรูปกินมากขึ้น องค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติประเมินว่า ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปรวมทั้งเครื่องดื่มคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณอาหารทั้งหมด 
        จากการที่ราคาอาหารในตลาดโลกแพงขึ้นนำไปสู่การชุมนุมประท้วงรัฐบาลในหลายประเทศในกลุ่มอาหรับ เกิดการจลาจลของประชาชนเพราะอาหารขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าสลายฝูงชน ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก บางรัฐบาลอยู่ไม่ได้ 
       การขาดแคลนอาหารและการที่อาหารมีราคาสูงขึ้นมากได้กลายเป็นปัญหาของโลกไปแล้ว ธนาคารโลกเรียกร้องให้เร่งกันช่วยส่งอาหารไปให้ประชาชนในประเทศที่ยากจน และช่วยชาวนารายย่อย ทั้งในรูปของเงินลงทุนและพันธุ์ธัญพืชสำหรับฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึง และเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยช่วยบริจาคเงินเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารและอาหารมีราคาแพง ส่วนในระยะยาวนั้น ธนาคารโลกและองค์การระหว่างประเทศจะสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้ผลิตอาหารมากขึ้น โดยจะช่วยชาวไร่ชาวนาโดยตรง 
      โลกปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากเห็นการจลาจลเรื่องอาหารเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ สหภาพยุโรปคงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ สหภาพยุโรปอาจต้องกลับมาคิดใหม่ว่า จะปลูกพืชให้รถกินหรือให้คนกิน เพราะน้ำมันราคาก็แพงขึ้น จึงต้องหาพลังงานชีวภาพมาทดแทนบางส่วน ซึ่งต้องจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชเพื่อทำเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้เสียพื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารคน ดังนั้น จะจัดพื้นที่ปลูกพืชให้รถกินกับปลูกพืชให้คนกินให้ได้สัดส่วนกันอย่างไร ในเมื่ออาหารก็แพงขึ้น น้ำมันก็แพงขึ้น 
      สหประชาชาติตำหนิการที่นำพืชอาหารไปผลิตเชื้อเพลิงว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพราะเป็นสาเหตุทำให้อาหารราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การนำพื้นที่ไปปลูกพืชเพื่อทำเชื้อเพลิงชีวภาพ เท่ากับเป็นการแย่งพื้นที่ปลูกอาหาร สหประชาชาติได้เรียกร้องให้ ไอ.เอ็ม.เอฟ เลิกการให้เงินอุดหนุนภาคการเกษตรเพื่อลดหนี้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างหลักประกันเรื่องอาหารพอเพียงด้วย และตำหนิสหภาพยุโรปที่ทุ่มตลาดสินค้าเกษตรในทวีปแอฟริกาในราคาที่ต่ำมากเกินไปเนื่องจากได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 
       มีการประเมินว่า คนทั่วไปจ่ายเงินประมาณ 60% ของรายได้สำหรับอาหาร และร้อยละ 40 ของจำนวนนี้ซื้อข้าวมาบริโภค เพราะฉนั้น ถ้าราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก ย่อมกระทบต่อรายได้ของประชากร เนื่องจากรายได้เพิ่มไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร และถ้าประเทศใดมีประชากรที่เข้าคิวรอซื้ออาหารราคาถูกกว่า รัฐบาลประเทศนั้นย่อมมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองแน่นอน

      Be Veg, Go Green 2 Save Planet				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน