วิเคราะห์นวนิยายเรื่องหมอลำซัมเมอร์ของอาริตา

สุชาดา โมรา

ประวัติและผลงานของอาริตา
อาริตาเป็นคนจังหวัดธนบุรี  เกิดวันพุธ  ขึ้น  15  ค่ำ  เดือน  10  ปีระกา  
ชื่อจริงคือ  ทัศนีย์  คล้ายกัน  หรือที่เรียกว่าอี๊ด  ในอินเตอร์เน็ตเรียกว่าหนูนา
 
การศึกษา  
เรียนชั้นประถมจากรร.ดรุณวัฒนา บางกอกน้อย แล้วก็ย้ายที่เรียนไปเรียนกลางครันที่   จากรร.วัดอมรินทราราม บางกอกน้อย 
เมื่อจบ ป.6 แล้วสอบเข้าโรงเรียนศึกษานารี ได้  เรียนจนจบ ม.ต้นก็เข้าเรียนสายอาชีพ  ปวช.(ธุจกิจบัญชี) จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี   ปวส.(การจัดการ) จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี  ปม(การตลาด) จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี  และจบระดับปริญญาตรี กศบ.(ธุรกิจศึกษาการตลาด) , ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)   
จุดเริ่มต้นในการเขียนของเธอนั้นคือเมื่ออายุ 15 เคยมีผลงานออกอากาศทางวิทยุประปราย เริ่มเขียนนิยายเมื่ออายุ 17 และตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ดรุณี   ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2518 เรื่อง "เพลงอำลา"และลงเรื่องยาวตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน 
นามปากกาที่ใช้
1. อาริตา 
2. ดาริกา 
3. กันยามาส 
4. นาวิกา 
5. สุนันทา 
6. ทิพเกสร 
7. มณีบุษย์ 
8. เหมือนจันทร์
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้คือ
1. เรื่องชุนละมุนสื่อรัก  
2. ทะเลน้ำผึ้ง  
3. พลับพลาภุมริน  
4. ลับแล  
5. สาวน้อยคาเฟ่  
6. เขียวหวาน  2001  
7. วายร้ายยอดรัก  
8. ไฟอนงค์  
9. และเพลิงไพร  
10. สวรรค์สวาท  
11. วิวาพาวุ่น  
12. คุณแม่รับฝาก
ฯลฯ.
วิเคราะห์กลวิธีการเขียนของอาริตา
	วิธีการเขียนของนักเขียนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน  เนื่องจากลีลาและบุคลิกของแต่ละคนแตกต่างกัน  ดังนั้นการเขียนของแต่ละคนจึงแสดงออกมาไม่เหมือนกัน  บางคนอาจเขียนเรื่องพาฝันสนุก  บางคนคนอาจเขียนเรื่องชีวิตหนัก ๆ สนุก  บางคนอาจเขียนเรื่องสะท้อนสังคมได้ดี  ทั้งนี้เป็นเพราะแนวความคิดและการเขียนของนักเขียนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน  ความเจนโลกก็แตกต่างกัน  จึงทำให้งานเขียนนั้นไม่มีวันจบสิ้น  มีแต่จะพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปตลอดจนกว่านักอ่านทั้งหลายจะเบื่อกันไปเอง  หรือจนกว่าแนวการเขียนใหม่ ๆ นั้นจะเกิดขึ้น  ขึ้นมาอีกครั้ง
วิทย์  ศิวะศริยานนท์  ( 2518,  หน้า  217 )  ได้กล่าวไว้ว่า  การวิจารณ์คือการพิจารณาลักษณะของบทประพันธ์  ควรแยกแยะส่วนประกอบที่สำคัญ  และหยิบยกออกมาแสดงให้เห็นว่าไพเราะ  งดงามเพียงใด  วิเคราะห์ความหมายของบทประพันธ์นั้น ๆ 
	
เปลื้อง  ณ  นคร ( 2517, หน้า  156 )  กล่าวว่า  สำนวนหรือสไตล์  แปลอย่างง่ายที่สุดว่า  แบบ  ได้แก่รูปทรง  หรือลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  บางคนแปลคำ  สไตล์ว่า  แบบเขียนบ้าง  ทำนองบ้าง  เดิมเราใช้คำง่าย ๆ ว่า  ฝีปาก  การเขียนหนังสือต่างก็มีแบบของตัวโดยเฉพาะ  สำนวนของใครก็ของคนนั้น  จะเลียนแบบใครหรือให้ใครเลียนแบบก็ไม่ได้  ต้องสร้างและบำรุงสำนวนด้วยตนเอง  ถ้าจะให้คำจำกัดความอย่างสั้นที่สุดของคำว่าสำนวนคือ  วิธีแสดงความคิดของเราออกมาเป็นภาษาทำให้เรื่องราวของเรื่องนั้น ๆ มีลูกเล่น น่าอ่านยิ่งขึ้นและชวนให้ติดตาม  
	
ปัจจุบันการเขียนนวนิยายนั้นมีนักเขียนมากมาย  เรื่องราวที่แต่งนั้นก็แตกต่างกันออกไป  การศึกษางานเขียนประเภทนี้จึงแพร่หลายมากขึ้น  เพราะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงนวนิยายได้อย่างแท้จริง  ในปัจจุบันนี้มีผู้รู้หลายท่านพยายามสร้างหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์นวนิยาย  ทั้งนี้เพราะต้องการที่จะขจัดความอคติของหลาย ๆ คนเกี่ยวกับเรื่องนวนิยาย  เพราะคนส่วนใหญ่มักจะกล่าวว่านวนิยายไทย  น้ำเน่า  แล้วก็หันไปอ่านนวนิยายแปลเสียเป็นส่วนมาก  การใช้ความสามารถในการวิเคราะห์วิจารณ์และพยายามเข้าใจนวนิยายตามความรู้สึกนึกคิดหรือตามทัศนของตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  แล้วถ่ายทอดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้อย่างมีเหตุผลและมีหลักเกณฑ์  ย่อมเป็นการขจัดข้อขัดแย้งระหว่างนักประพันธ์  นักวิจารณ์  และนักอ่านให้หมดไป  อันเป็นการส่งเสริม  และช่วยปรับปรุงวรรณกรรมไทยให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น
โครงเรื่อง
สัตยา แยกตัวจากบริษัทเทปใหญ่ออกมาเปิดบริษัทเล็กๆ ทำดนตรี ควบคู่กับทำโฆษณา โดยมี คุณสายทิพย์ มารดาของเขาเป็นนายทุน เขามั่นใจเต็มเปี่ยมว่าด้วยฝีมือเยี่ยมทางดนตรีและการเป็นก็อปปี้ไรท์เตอร์หนุ่มไฟแรงที่ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลสามปีซ้อนของเขา จะทำให้บริษัทของเขาประสบความสำเร็จ และความมั่นใจอีกอย่างมาจากตัวนักร้องสาว พรีม หรือ พิมสิริ ที่เขาคบหาเป็นแฟนอยู่ 
สัตยาเขียนเนื้อร้องและทำนองเพลงให้พรีมร้องเป็นอัลบั้มเปิดตัวบริษัท อัลบั้มนั้นประสบความสำเร็จทันที ทำให้พรีมโด่งดังสุดๆ และบริษัทใหม่ของเขาเปิดตัวได้อย่างสวยงาม พรีมมีคิวเดินสายร้องเพลงและได้รับเชิญออกรายการวิทยุทีวีแน่นเอี้ยด เพราะน้ำเสียงที่ไพเราะและเพราะความสวยของเธอ เทปชุดที่สองของพรีมก็ยังประสบความสำเร็จกับเพลงแนวป๊อปหวานๆ โดยที่สัตยาอยู่เบื้องหลังการแต่งเพลงนั้นทั้งหมด สัตยาวางแผนว่าจะส่งพรีมให้ดังสุดๆ ในวงการอีกสองปีแล้วจะแต่งงานกัน โดยไม่รู้เลยว่าคุณสายทิพย์มารดาของเขาไม่ค่อยชอบพรีมนัก เพราะเธอเห็นความทะเยอทะยานและอยากดังเป็นดาวเด่นบนฟ้าตลอดกาลของพรีม เธอเคยคุยกับพรีมและทราบว่าพรีมไม่อยากให้มีการแต่งงานเพราะพรีมกลัวว่าจะมาบั่นทอนความดังของตัวเอง คุณสายทิพย์ไม่กล้าบอกเรื่องนี้กับสัตยา กลัวว่าเขาจะรับไม่ได้เพราะสัตยารักพรีมมากและฝันที่จะมีชีวิตคู่ที่แสนสุขและสมบูรณ์กับคนที่ตนรักในเวลาอันใกล้นี้ 
พรีมเองก็เหมือนหลอกลวงสัตยา หล่อนฟังเขาพูดถึงครอบครัวและลูกด้วยความรู้สึกอกสั่นขวัญหายเสมอมาเพราะพรีมไม่อยากมีลูก หล่อนมาจากครอบครัวยากจนที่มีลูกมากและลำบาก พี่น้องไม่ปรองดองกัน ครอบครัวของหล่อนไม่เคยอบอุ่นและหล่อนนึกภาพครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุขไม่ออกเลย อีกทั้งหล่อนก็กำลังระเริงอยู่กับชื่อเสียง ความสำเร็จ และเงินตรา หล่อนซื้ออพาร์ตเม้นท์หรู ซื้อรถ แต่หล่อนก็ยังคิดว่ามันไม่พอหล่อนอยากได้มากกว่านี้ ยิ่งมีคนตอกย้ำว่าหล่อนมีรูปโฉมงดงามหล่อนก็ยิ่งไม่อยากหยุดตัวเองไว้กับชีวิตการแต่งงาน
วง พิณเพลิน ของ นายวีระ เดชขาว ที่รวมเอาความบันเทิงสุดยอดไว้ทั้งเพลงลูกทุ่ง หมอลำและเพลงแนวร็อคเขมรกำลังได้รับความสำเร็จเพราะความสามารถของ อินทิรา นักร้องนำของวง งานเดินสายมีมากจนล้น จนนายวีระขอให้ลูกชายสองคน ไวภพ และ วรพจน์ ลาออกจากงานประจำมาช่วยทำวงเดินสายโดยมี นางดวง เดชขาว แม่ของนายวีระเป็นผู้จัดการ เป็นผู้คุมวง เป็นคนเก็บเงิน เป็นประชาสัมพันธ์และเป็นตลกบนเวที ยายดวงมีความสามารถพิเศษมากมายที่ทำให้วงดำเนินไปได้ด้วยดี และนางยังทำร้านอาหาร อีสานรสแซบ อันสุดแสนอร่อยอีกด้วย
นางดวงมีลูกสองคนคือวีระกับ ดาวเรืองวีระเคยเป็นครูมาก่อน เขารักดนตรีมากจนลาออกมาทำวงดนตรีเต็มตัว นางดวงเป็นแม่ค้าที่เปิดร้านอาหารอีสานขนานแท้และดั้งเดิมมาตั้งแต่ยังสาว ส่งลูกชายเรียนครูและลูกสาวเรียนพยาบาล ลีลาการตำส้มตำของนางนั้นสุดยอดเพราะมีลีลาหลากหลายและยังมีการร้องเพลงให้ลูกค้าฟังอีกด้วย นางมีบริการพิเศษร้องเพลงที่โต๊ะตามคำขอของแขกที่มากินอาหาร และหากใครให้ทิปมากๆ หน่อยนางจะร้องให้สามเพลงรวดไปเลย โดยเฉพาะการร้องเพลงอวยพรวันเกิดตามสไตล์ของนางเอง ทำให้ลูกค้าติดใจกันมาก
วีระแต่งงานกับครูด้วยกัน และอยู่กันมาจนภรรยาเสียชีวิต ลูกชายสองคนไวภพและ วรพจน์ทำงานระดับหัวหน้าช่างเทคนิค แต่พอวงดนตรีของพ่อโด่งดัง จึงถูกขอให้ลาออกมาทำวงกับพ่อและร้องเพลงเล่นดนตรีด้วย 
ดาวเรืองแต่งงานกับ ลุกส์ หรือที่ยายดวงเรียกว่า นายกุ๊ก ลุกส์เป็นวิศวกรชาวอเมริกันที่มาอยู่เมืองไทย เมื่อแต่งงานกับดาวเรือง เขาพาดาวเรืองไปอยู่อเมริกา มีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ เดือนพิลาส หรือ แอนนี่ นางดวงพยายามจะให้ลูกสาวพาครอบครัวกลับมาอยู่เมืองไทยแต่ไม่สำเร็จ จึงบอกว่าขอแต่หลานสาวมาก็ได้ปีนี้เดือนพิลาสเรียนเป็นปีสุดท้าย เธอตั้งใจว่าหลังจากฝึกงานแล้ว ถึงตอนซัมเมอร์จะกลับมาอยู่กับยายดวงนานหน่อยเพราะมีเวลาว่างมากพอ
อินทิรานักร้องประจำวง พิณเพลิน ดังมาก และทำให้ทางวงเกิดความคิดประยุกต์แนวเพลงสามอย่างเข้าด้วยกันและประสบความสำเร็จอย่างสูง และเป็นช่วงที่ลุกส์กับเดือนพิลาส     มาเมืองไทย สองพ่อลูกมารอขึ้นเครื่องบินสายในประเทศ เดือนพิลาสจะบินไปหายาย ส่วนลุกส์มาส่งลูกแล้วจะกลับเข้ากรุงเทพเพราะมีประชุม
ความสำเร็จของสัตยาอยู่ในสายตาของ คมกฤช เจ้านายเก่า ด้วยความเคียดแค้น คมกฤชทำถือว่าสัตยาบังอาจแข่งขันกับเขา เขามุ่งเป้าไปที่พรีม เขาจะดึงพรีมกลับมาที่บริษัทของเขาให้ได้ มีการติดต่อกับพรีมเงียบๆ ความเป็นเพลย์บอยวัยดึกใจถึงของคมกฤชทำให้พรีมโอนเอียง แต่เธอไม่กล้าพูดกับสัตยา เพราะระหว่างนี้เขากำลังจะออกเพลงใหม่ให้เธอ หลังจากเพิ่งจัดคอนเสิร์ตให้ และสัตยาวางแผนที่จะส่งนักร้องหญิงหน้าใหม่อีกสักคนออกสู่ตลาด พรีมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เธอต้องการเด่นดังเพียงคนเดียว เธอให้สัตยาสนับสนุนนักร้องชายแทน แต่สัตยามองว่าเขาไม่พร้อมพอ กำลังทรัพย์ของเขายังไม่มากนัก การทำเพลงให้นักร้องสักคนใช้เงินสูงมากกว่าจะประสบความสำเร็จ
พรีมเริ่มตีตัวออกห่างโดยสัตยาไม่รู้ คุณสายทิพย์พอจะรู้แต่พูดไม่ออกเพราะกลัวสัตยาเสียขวัญ ทัสนา น้องสาวของสัตยาที่อยู่อุบลราชธานีประสบอุบัติเหตุ ทำให้สัตยาต้องเดินทางมาดูแลน้องสาวเพาระแม่เขาไม่ว่างพอดี เขาเจอกับเดือนพิลาสระหว่างเดินทาง และท่าทางที่เดือนพิลาสจี๋จ๋ากับลุกส์ทำให้สัตยาคิดว่าเธอเป็นเมียลุกส์ และความเป็นสาวสวยลูกครึ่งฝรั่งท่าทางเปรี้ยวจี๊ดมาดมั่นทำให้สัตยานึกขวางและหมั่นไส้ แต่ทั้งคู่ไม่ได้พูดอะไรกัน 
เดือนพิลาสมาเมืองไทยเร็วขึ้นเพราะยายดวงเกิดความเป็นห่วงหล่อน เนื่องมาจากกรณีตึกเวิลด์เทรด เพราะหลังจากกรณีนั้นยายดวงมักจะมีอาการแปลกๆ อยู่เสมอนั่นคือกินไม่ได้นอนไม่หลับและผวากังวล เดือนพิลาสต้องบอกว่าเธอกำลังฝึกงานอยู่ในตึกที่สูงไม่กี่ชั้น ทั้งๆ ที่สถานที่เธอฝึกงานนั้นอยู่บนชั้นที่ยี่สิบห้าและตึกนั้นสูงถึง 60 ชั้น ยายดวงอยากไปเยี่ยมหลานและลูกที่อเมริกาเหมือนกัน แต่ติดขัดว่าแกไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน ยายดวงเป็นคนตลกมาก มีอารมณ์ขันและเป็นจอมโวยวายที่น่ารัก แกไม่ชอบหน้าลูกเขยฝรั่งสักเท่าไหร่เพราะถือว่าพรากลูกสาวของแกไปไกลบ้าน แม้ต่อหน้าคนอื่นแกจะแสดงความชื่นชมเขยคนนี้ แต่พออยู่กันในครอบครัว แม่ยายจะหาเรื่องลูกเขยทุกครั้งไป และลูกเขยก็ช่างยั่วโทสะแม่ยายได้ทุกครั้งไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยโกรธกันเป็นเรื่องเป็นราวสักที มีแต่จะสร้างความขำขันในครอบครัว
ยายดวงพยายามจะดึงดาวเรืองกลับมาเมืองไทยแต่ดาวเรืองติดที่สามียังย้ายมาไม่ได้และลูกก็ยังติดเรียน ที่สนามบิน มีไอ้หนุ่มผมยาวหน้าเหี้ยมๆ สองคนมารอรับเดือนพิลาส เขาคือ ไวภพกับวรพจน์ สัตยาเข้าใจผิดอีกว่าที่เดือนพิลาสมาเมืองไทยเพราะมีเป้าหมายรอหลังจากไป ทำมาหากิน ไกลบ้าน สัตยาเข้าใจเตลิดไปอีกว่าหนุ่มสองคนที่มารับนั่นคือคนจัดคิวรับผู้ชายของเดือนพิลาส..ก็ทำนอง แมงดา นั่นละ 
เดือนพิลาสมาถึงบ้าน ยายดวงดีใจสุดๆ ปิดหมู่บ้านต้อนรับเลย ดนตรีแตรวง มีเท่าไรขนมาแห่หมด และยายดวงก็ลงมือทำเหล้าเถื่อนเองด้วย วันเลี้ยงต้อนรับหลานสาวนั้นยายดวงเปิดร้านฟรี มีดนตรีและตลกและเกณฑ์ลุกส์ลูกเขยร้องหมอลำกันเป็นที่สนุกสนาน และวันนั้นเป็นวันที่เพื่อนของสัตยาพาเขามากินข้าวที่ร้านนี้ด้วย ทำให้สัตยาเจอกับเดือนพิลาสอีก เดือนพิลาสบอกว่าเธอชื่อแอนนี่เป็นหลานยายดวงอยู่อีสานนี่เอง ทุกอย่างเข้าเค้าหนักขึ้นที่ทำให้สัตยาสรุปว่าเดือนพิลาสคือเมียของลุกส์ 
งานเลี้ยงคืนนั้นจบลงด้วยการที่อินทิรา นักร้องสาวคนดังของวง ไปซิ่งมอเตอร์ไซค์และเกิดอุบัติเหตุ แขนซ้ายและขาขาวหัก หน้าตาเสียโฉม และมีอาการเจ็บหน้าอก ผลเอกซเรย์ออกมาว่าปอดไม่ค่อยจะดีนักต้องพักการร้องเพลงระยะยาวราวหกเดือน คนที่ต้องตามอินทิราไปนอนโรงพยาบาลอีกคนจึงได้แก่ลุงวีระของเดือนพิลาสนั่นเอง ไม่มีนักร้อง งานที่รับเดินสายไว้มโหฬาร       ก็ต้องพินาศอย่างมโหฬาร เงินก็พินาศซูเปอร์มโหฬารด้วยเห็นๆ 
เดือนพิลาสกับ เอกราช มาเยี่ยมทัสนา เธอและทัสนารู้จักกันตอนทัสนาไปเที่ยวอเมริกา เดือนพิลาสเป็นเพื่อนสนิทกับเอกราชแฟนของทัสนามาก่อนที่จะรู้จักทัสนา เดือนพิลาสเจอกับสัตยาอีกที่โรงพยาบาล สัตยาคิดว่าเอกราชเป็นแฟนอีกคนของเดือนพิลาส เขาพูดจากระแนะกระแหนไม่ดีไปหลายคำแต่เดือนพิลาสทำเฉย สัตยาสงสัยว่าทำไมเดือนพิลาสเป็นเพื่อนกับทัสนาได้ก่อนจะรู้ว่าเพราะเดือนพิลาสรู้จักกับเอกราชและเอกราชก็รู้จักทัสนา สัตยาไม่ได้ระแวงเลยว่าทัสนากับเอกราชเป็นแฟนกัน 
ทัสนาไม่กล้าบอกความจริงว่าเธอเป็นแฟนกับเอกราช เพราะรู้ว่าตอนนี้พี่ชายไม่ได้อยู่ที่บริษัทของคมกฤชพ่อเอกราชอีกแล้ว เธอกลัว จะโดนขัดขวาง ขณะสัตยาอยู่ที่อุบลฯ ชลดา เลขาของเขาโทรมารายงานข่าวร้าย นั่นคือพรีมขอถอนตัวออกจากบริษัท สัตยาพยายามติดต่อพรีมแต่ติดต่อไม่ได้ จนในที่สุดรู้ว่าพรีมไปพักผ่อนที่ออสเตรเลีย สัตยารู้ว่าทั้งหมดเป็นแผนของคมกฤช คมกฤชต้องจ้องจองล้างเขาแน่นอน เพราะก่อนเขาจะลาออกมานั้นคมกฤชขอให้เขาอยู่ต่อและไม่เห็นด้วยกับการที่เขาจะเปิดบริษัทใหม่ของตัวเอง แต่เขาก็ยืนยันที่จะออก เพราะเขาอยากทำงานที่ตัวเองรัก ทำเพลงแนวที่ไม่เอาใจตลาดเกินไป เขาต้องการทำเพลงเพื่อตัวเอง และเพื่อคนฟังที่อยากฟังเพลงสบายๆ โดยไม่มีเงื่อนไขของธุรกิจเข้ามาเป็นตัวบีบบังคับประกอบกับเขาอยากปั้นพรีมด้วย เมื่อสัตยารู้เบื้องหลังการดึงพรีมไป เขาพยายามติดต่อพรีม แต่พรีมไม่ยอมคุยกับเขามากนักนอกจากบอกว่าเธอมีความจำเป็นครอบครัวเธอต้องการบ้านใหม่ น้องๆ เธอจะต้องใช้เงินเรียนต่อสูงขึ้นมาก เธอเอาครอบครัวมาอ้างควบคู่ไปกับตัวเลขค่าใช้จ่าย และสัตยารู้ว่าด้วยเงื่อนไขตัวเลขสูงลิบขนาดนั้นเขาคงจะช่วยพรีมไม่ได้ เขาเอาเงินแม่เขามามากเกินพอแล้ว 
วันเดินทางกลับกรุงเทพ เดือนพิลาสเจอกับสัตยาด้วย เธอไม่รู้ว่าภาพที่เธอกับบิดาลากันที่สนามบินนั้นทำให้สัตยาเข้าใจผิดอีกหน สัตยาทักทายเธอด้วยท่าทีหมางเมิน แถมยังออกอาการพาลอีกด้วย เพราะเขากำลังหมดความเชื่อมั่นในผู้หญิง สืบเนื่องมาจากที่พรีมตีจากบริษัทและจากเขาไปเพราะเห็นแก่เงิน แม้คมกฤชจะแก่คราวพ่อ พอมาเห็นเดือนพิลาสอยู่กับผู้ชายวัยคราวพ่อ สัตยาแสดงกิริยาไม่ดีกับเธอ ส่วนเดือนพิลาสไม่เข้าใจกิริยาของสัตยาที่ทำท่าเหมือนถือตัวเสียเต็มประดา และไม่นานเธอก็เริ่มรู้ว่าเพราะเขาเข้าใจเธอผิดคิดว่าเธอมีสามีฝรั่งและรับจ๊อบด้วยการให้บริการผู้ชายอื่นด้วย เดือนพิลาสเลยนึกสนุก แกล้งพยายามตื้อขอนามบัตรสัตยา และให้ท่าเขาสัตยายิ่งหงุดหงิดมากกว่าเดิม เขาหลุดปากออกมาว่าหล่อนทำเสื่อมเสียเกียรติผู้หญิงไทย การเดินทางยาวนานและความขัดแย้งยืดเยื้อมาสิ้นสุดลงที่กรุงเทพ 
สัตยาเล่าเรื่องเดือนพิลาสให้ทัสนาฟังด้วย แต่ได้รับการยืนยันว่าเดือนพิลาสมีแฟนเป็นหนุ่มไทย สัตยาเข้าใจไปอีกว่าเดือนพิลาสอาจจะสับหลีก และเขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้อีก เขาอยู่รอจนทัสนาได้ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน ยายดวงยังตกใจกับการบาดเจ็บจนร้องเพลงไม่ได้ของอินทิราเพราะเมื่อวงพิณเพลินของวีระดัง ยายดวงก็พลอยเด่นดังไปด้วย ยายดวงนั้นมีความสามารถพิเศษที่หาตัวจับยากเวลาอยู่หน้าเวที แกสามารถเล่นตลกสดหน้าเวทีได้นานๆ อย่างสบายๆ โดยที่สังขารไม่ได้เป็นอุปสรรคเลย ลุงวีระกำลังมีโครงการจะปั้นยายดวงเป็นตลกหญิงคนใหม่แต่หน้าแก่ของวงการก็พอดีมาเกิดเรื่อง ลุงวีระนอนหายใจไม่ดีตามอินทิราไปอีกคน ท่ามกลางความร้อนใจของทุกคนในวง เพราะรับคิวเดินสายไว้เพียบแต้ เมื่อเดือนพิลาสไปเยี่ยมลุงในอีกสองวันต่อมาก็ได้ยินไอเดียที่ทำให้เธอแทบช็อก ลุงขอให้เธอร้องเพลงแทนอินทิรา เดือนพิลาสปฏิเสธหัวสั่นหัวคลอน ลุงบอกว่าจะปั้นเธอเป็นนักร้องคนใหม่แทนอินทิราให้ได้ ให้เธอร้องเพลงร็อคเขมรหมอลำ ไวภพและวรพจน์เองก็เชื่อแบบลุงวีระ ยายดวงก็พลอยเป็นไปด้วยอีกคน เดือนพิลาศถอนใจลูกครึ่งหน้าฝรั่งเนี่ยนะ ร้องร็อคขะแมร์ 
เดือนพิลาสโทรปรึกษาพ่อกับแม่ว่าจะเอาอย่างไร เธอต้องทำงานอยู่หกเดือนเท่าเวลาที่อินทิรารักษาตัว พ่อตามใจเธอ ส่วนแม่ยังแบ่งรับแบ่งสู้เพราะรู้จักทั้งยายดวงและลุงวีระดีว่าอาจจะกล่อมให้อยู่นานกว่าหกเดือน เผลอๆ อยู่ถาวรไปเลยด้วย สุดท้ายเพื่อยายดวงเพื่อลุงและเพื่อครอบครัวทางนี้ เดือนพิลาสก็ตัดสินใจรับคำขอของลุง 
เดือนพิลาสใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า เดือนเด่น แดนดาว กับฉายา น้องนางบ้านนา ตามเพลงใหม่ที่นายวีระแต่งให้เป็นเพลงสนุกๆ ฟังสบายๆ ลุงสั่งให้ไวภพไปจัดการโฆษณาเอาไว้และเปิดโชว์ตัวโชว์หน้าฝรั่งของเดือนพิลาสหรือที่เรียกกันว่าหนูแอนนี่ หน้าฝรั่งร้องหมอลำและลูกทุ่งแถมด้วยเพลงสไตล์ร็อคขะแมร์ วันแรกที่เปิดการแสดงนั้นยายดวงบนบานศาลกล่าวไปทั่วเมือง ลุงบอกว่าจะโกนหัวบวชสิบห้าวันเช่นเดียวกับสองหนุ่มพี่ชายของหล่อนที่บอกว่าหากทำให้เดือนเด่น แดนดาว ประสบความสำเร็จได้จะโกนผมยาวแสนรักของตัวเองแก้บนกันทั้งสองคนทีเดียว เวทีแรกของเดือนเด่น แดนดาวนั้นประสบผลสำเร็จเกินคาด เพราะคนมากันแยะจนเดือนพิลาสต้องถามว่ามีการเกณฑ์หน้าม้ามาหรือไม่..แต่มันคือความจริงหล่อนสวยเสียงดี เสื้อผ้าดี ลีลาดี และยายดวงก็ส่งให้หล่อนแสดงออกบนเวทีได้ดีอีกด้วย เดือนพิลาสเริ่มสนุกกับการเป็นเดือนเด่น แดนดาว ขณะที่หลังจากนั้นลุงและพี่ชายสองคนบวชแก้บนกัน 
ที่กรุงเทพฯ คุณสายทิพย์ปลอบสัตยาเพื่อให้เขาหายเครียดกับการตีจากของ พรีม เธอบอกว่ายังมีนักร้องคนอื่นอีกที่รอการปั้นของเขา แต่สัตยาบอกว่าไม่มีใครทำได้เท่าพรีมเคยทำ แม่บอกว่าไม่ควรยึดติดอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีคนใหม่เกิดในวงการ พรีมเปิดแถลงข่าวเทปชุดใหม่กับบริษัทใหม่ทั้งที่สัญญากับบริษัทของสัตยายังไม่หมด พรีมไม่ยอมพบสัตยาเลยส่งแต่ทนายมาคุยแทน สัตยามีทิฐิและแค้นมากเขาเปิดศึกกลับเรียกค่าเสียหายจากการที่พรีมผิดสัญญาเป็นเงินสูงมาก พรีมออกมาให้ข่าวว่าเขาเห็นหล่อนเป็นที่กอบโกยเงินทอง สัตยาเสียใจนัก เขาบอกให้ทนายของเขาจะจัดการแทนทุกอย่าง เขารู้ว่าพรีมเป็นแค่หน้าฉาก ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังคือคมกฤช 
นักร้องคนใหม่ของสัตยาไม่ประสบความสำเร็จ ยอดขายไปได้ดีแต่ไม่ใช่ของจากบริษัทกลายเป็นเทปก๊อปซีดีปลอมที่ขายดี พรีมไปได้ดีกับเพลงชุดใหม่เพราะอัดฉีดการโปรโมท มหาศาล บริษัทของสัตยากำลังแย่ ชลดาเสนอว่าน่าจะทำเพลงแนวตลาด สัตยาก็ประชดว่าเขาจะทำแล้วถามว่าเขาควรเลือกใคร ชลดาที่กำลังคลั่งเพลง น้องนางบ้านนา เสนอชื่อ เดือนเด่น แดนดาว สัตยาไม่รู้จัก ชลดาบอกว่าเป็นนักร้องดังในแนวเพลงลูกทุ่งและเพลงพื้นบ้านอีสาน แต่เธอน่าจะได้รับการเจียรไนเพราะเป็นนักร้องคุณภาพ สัตยาตกลงจะเลือกเธอ แต่เมื่อเขาเห็นรูปเดือนเด่น แดนดาว เขาก็จำได้ว่าเคยเจอกันมาแล้ว 
สัตยาทำเทปโดยจับเดือนเด่น แดนดาวมาเจียรไนใหม่เฉิดไฉไลกว่าเก่า มีเพลงชุดใหม่ออกมาในแนวเดิมที่เดือนเด่นถนัด และมีการโปรโมตกันเป็นพิเศษ สัตยาอาศัยความเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์เก่าและอยู่ในแวดวงโฆษณาทำให้เดือนเด่นดังเป็นพลุ คมกฤชเริ่มจับตามองเดือนเด่น และหันมาเคี่ยวเข็ญพรีมเปลี่ยนแนวเพลงเป็นเพลงลูกทุ่งผสมหมอลำ พรีมแทบขาดใจตายด้วยความแค้นเคือง คมกฤชบอกว่าหากพรีมไม่ทำตามที่เขาบอกก็จะไม่มีเทปชุดใหม่ออกมา และเขายังปิดกั้นการเดินสายออกคอนเสิร์ตและงดแผนการโปรโมตพรีมอย่างเลือดเย็น 
พรีมซมซานกลับมาหาสัตยา แต่พบว่าเขาเฉยเมยกับเธอ พรีมเกิดลูกฮึดไปทำเทปแข่งกับเดือนเด่นแต่ปรากฏว่าหล่อนสู้เดือนเด่นไม่ได้เลย คมกฤชให้สัญญาลับๆ กับพรีม ให้พรีมออกมาแฉความสัมพันธ์กับสัตยาแล้วบอกว่าเธอโดนทอดทิ้ง พรีมไม่มีทางเลือกนอกจากจำยอม สร้างความลำบากใจให้กับสัตยามากและทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับเดือนเด่นที่กำลังงดงามแทบจะพังทะลายลง ยายดวงจอมป่วนออกมามีบทบาทด้วยการให้เดือนเด่นถอนตัวออกจากบริษัท สัตยาไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะยายดวงบอกว่าไม่อยากให้หลานสาวแย่งสามีใครและนางรังเกียจเรื่องคาวๆ ฉาวสวาท 
ทัสนากลับมากรุงเทพพร้อมกับเอกราช และเขาไม่อาจจะแสดงตัวเป็นแฟนของทัสนาได้เพราะคมกฤชกีดกันเรื่องนี้และเพราะขณะนี้สงครามระหว่างคมกฤชกับสัตยาร้อนแรงมาก เอกราชไม่รู้จะทำอย่างไรก็มาปรึกษาเดือนเด่น สัตยาเห็นและเข้าใจผิด ทัสนาจึงตัดสินใจบอกพี่ชายถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับเอกราช พรีมได้ยินและไปบอกคมกฤช คมกฤชยื่นคำขาดกับเอกราชแต่เอกราชฮึดขึ้นมา เขาบอกว่าเขาไม่สนใจธุรกิจครอบครัวเขาจะไปอยู่กับทัสนา 
ความจริงเปิดเผยว่าเดือนเด่นเป็นใคร แต่พรีมเอาไปบิดเบือนว่าเดือนเด่นเป็นลูกเมียเช่ากับฝรั่งกระจอกๆ และโจมตีโดยข่าวคาวๆ พาดหัวหนังสือพิมพ์บอกว่าเดือนเด่นแย่งสามีของเธอยายดวงและนายวีระจัดแถลงข่าวเรื่องเดือนเด่น เปิดเผยที่มาที่ไปของหล่อนว่าเดือนเด่นคือใคร พอดีกับดาวเรืองมาจากนิวยอร์คด้วยและลุกส์ก็บอกว่าเขาคือพ่อของเดือนพิลาส 
งานแสดงของเดือนเด่นกลับมากระหึ่มสามัคคีกันเล่นดนตรีบนเวทีทั้งครอบครัว นางดวงกับลุกส์แม่ยายคู่ปรับตัวแสบของลูกเขยเป็นคู่ตลกคู่หูคู่ฮาที่ทำให้คนดูสนุกสนานกันท้องคัดท้องแข็ง พาให้ทั้งวงเดินสายออกรายการทีวีไม่ได้ขาด และทำให้พรีมยิ่งคั่งแค้น หล่อนพบว่าตัวเองยิ่งตกอับพยายามวิงวอนคมกฤชก็ไม่ประสบผลสำเร็จ 
สัตยากับเดือนเด่นปรับความเข้าใจกันเรื่องงานและร่วมกันทำเพลง เปิดเดินสายทั่วประเทศ คมกฤชพยายามดิสเครดิตสัตยาทุกทาง สุดท้ายเขาวางแผนโฉดชั่ว เข้าทางยายดวงให้ร้ายสัตยาและให้พรีมมาขอพบกับเดือนเด่นอย่างลูกผู้หญิงด้วยกัน ให้พรีมโกหกเรื่องท้อง เพราะรู้ว่าเดือนเด่นจะรับไม่ได้ ประกอบกับเดือนเด่นกับสัตยาไม่มีเวลาคุยกัน เดือนเด่นตัดสินใจเลิกร้องเพลง เธอร้องเพลง ซัมเมอร์เผลอรัก ฝากไว้เป็นเพลงสุดท้าย พอดีกับที่อินทิราหายจากบาดเจ็บกลับมารับช่วงต่อได้ทัน 
เดือนเด่นกลับนิวยอร์คและสัตยาก็รู้หัวใจตัวเอง เขาหมดรักพรีมไปนานแล้ว เขาไม่ต้องการพรีมอีก เขาไม่ต้องการคนที่ทิ้งเขาไป เขาไปนิวยอร์คและพยายามง้อเดือนเด่นทุกวิถีทาง เขาไม่ได้ต้องการน้องนางบ้านนาที่ชื่อเดือนเด่น แดนดาวไปเป็นนักร้องประจำค่าย แต่เขาต้องการเดือนพิลาสกลับไปอยู่ประจำใจเขา 
แก่นของเรื่อง
	แก่นของเรื่องเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนวนิยาย  ซึ่งผู้เขียนใช้เป็นสารนำเสนองานออกมาเพื่อให้เห็นธรรมชาติ  หรือหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่อยู่ในตัวมนุษย์  เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าเรื่องหมอลำซัมเมอร์ของ  อาริตา  นั้นเป็นเรื่องที่เน้นพฤติกรรมของตัวละครไปพร้อม ๆ กับวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดออกมาจากสาวลูกครึ่งนักเรียนนอก  ซึ่งมาเมืองไทยเพื่อมาหายาย  เป็นคนที่เกลียดเพลงลูกทุ่งมาก  แต่ในที่สุดก็มีใจรักเพลงลูกทุ่งและหันมาเอาดีทางด้านนี้
	แก่นของเรื่องนั้นชี้นำเกี่ยวกับเรื่องราวของความรักเป็นส่วนใหญ่  ความรักในที่นี้อาจจำแนกออกได้หลายลักษณะดังนี้
1. ความรักของหนุ่มสาว  ซึ่งเรื่องนี้สื่อให้เห็นถึงความรักหวาน ๆ ของหนุ่มสาวที่ในตอนแรกก็ไม่ได้รักกัน  แต่เมื่อทะเลาะกันบ่อยครั้งเข้าก็เกิดเป็นความรัก  จนกระทั่งมีความห่วงหาอาทรซึ่งกันและกัน  เป็นเพราะความผูกพันธ์ที่มีให้กัน
2. ความรักต่อบุพการีและสายเลือดเดียวกัน  เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงพ่อแม่ที่กำลังเกิดปัญหาขาดแคลนนักร้อง  นางเอกในฐานะหลานสาวและเป็นลูกหลานชาวไทยครึ่งหนึ่งเหมือนกัน  พอเห็นครอบครัวกำลังประสบปัญหาก็คิดหนัก  จากที่ไม่ชอบวัฒนธรรมของไทยก็เกิดความสงสารและเกิดความรักวัฒนธรรมอันดีงามขึ้นมา  จึงจำเป็นต้องเป็นนักร้องของวง  เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณของบุพการี
3. ความรักต่อศิลปะวัฒนธรรมประจำชาติไทย  นางเอกในเรื่องและพระเอกในเรื่องนั้นไม่ค่อยชอบศิลปะและวัฒนธรรมของชาติไทยเท่าไรนัก  แต่เพราะเหตุจำเป็นจึงทำให้ต้องมาทำงานในด้านนี้  เมื่อได้มาทำงานในด้านนี้ก็เกิดความรักในความเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติขึ้นมา
4. ความรักพวกพ้อง  มีความรักในญาติพี่น้องและคนในวงดังจะเห็นได้จากการที่นางเอกถูกทาบทามให้เป็นนักร้องหมอลำ  แต่นางเอกก็จะต้องเอานักดนตรีร่วมวงและญาติพี่น้องไปด้วยไม่อย่างนั้นเธอจะไม่ยอม  ดังประโยคที่ว่า  ถ้าหากให้ฉันไปดังคนเดียวแล้วคนอื่นไม่ดังละก็  ฉันไม่ไปเด็ดขาด  เราจะร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สื่อออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน  ในเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยออกมา  ถึงแม้ว่าจะเป็นลูกครึ่งแต่ก็มีใจรักวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา   ยาวนานจากบรรพบุรุษไทย  และพร้อมที่จะสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามนี้ตลอดไป
การดำเนินเรื่อง
	การดำเนินเรื่องในนวนิยายเรื่องหมอลำซัมเมอร์ของ  อาริตา  นั้นผู้ประพันธ์ใช้วิธีการเล่าเรื่องราวสลับกับเหตุการณ์บางส่วน  หรือสลับกับตัวละครซึ่งเป็นตัวร้าย  ต่างที่ต่างเหตุการณ์  สลับกับไปสลับกันมาจนทำให้เกิดภาพพจน์  และรู้เรื่องราวของเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี  กล่าวคือ  รู้ว่าเขาทำอะไร  ที่ไหน  อย่างไร  รู้ว่าตัวร้ายของเรื่องมีจุดประสงค์อะไร  คิดที่จะทำอะไร  ลักษณะการดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
1. การดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา
2. การดำเนินเรื่องตามที่ผู้ประพันธ์กำหนดโดยใช้การสลับตัวละคร  สลับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วเล่าเป็นเรื่องราวเป็นฉาก ๆ ไป
ฉาก
ฉาก  หมายถึงสถานที่  เวลาที่เกิดขึ้นในเรื่อง ๆ นั้น  ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมนั้นก็นำมาเป็นฉากได้  แล้วนำมาผสมผสานผนวกกับตัวละครจนเกิดเป็นภาพพจน์และการได้รับรู้ถึงเรื่องราวในแต่ละตอน  ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับสถานที่นั้น ๆ ด้วย  วิธีการเปลี่ยนฉากนั้น  ผู้ประพันธ์จึงอาศัยการบรรยายเข้าช่วย  โดยเปลี่ยนจากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่งสลับกับบทสนทนาของตัวละคร แล้วยังใช้วิธีการปิดฉากด้วยเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้นอย่างฉับพลัน  แล้วเริ่มเปลี่ยนไปเป็นอีกฉากหนึ่ง  จากนั้นจึงดำเนินเรื่องต่อไป  โดยผู้ประพันธ์ได้สร้างฉากสำคัญ ๆ ในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1. การใช้ฉากธรรมชาติเพื่อแสดงความสมจริงของเรื่อง  เช่น  ตอนที่นางเอกออกจากกรุงเทพฯแล้วก็เดินทางไปหายายที่อุบลฯ  ฉากนี้แสดงถึงความกันดาร  และชีวิตในชนบท  ความแห้งแล้ง  แต่ก็ยังมีน้ำใจที่ได้จากชาวบ้านอย่างหาที่เปรียบไม่ได้  จากนั้นจึงตัดบทมาเป็นฉากในกรุงเทพฯ  ซึ่งสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่าในกรุงกับชนบทนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง  ไม่ว่าจะเป็นความเจริญ  หรือแม้แต่นิสัยใจคอของคน
2. การใช้ฉากในจินตนาการ  อันนี้ต้องยอมรับเลยว่าผู้เขียนกล่าวถึงฉากตอนที่อยู่เมืองนอกไว้อย่างดีทีเดียว  เพราะผู้เขียนได้เล่าถึงอากาศที่หนาวเหน็บประกอบกับถนนที่โล่งไม่ค่อยมีรถผ่านไปผ่านมา  ผู้คนส่วนใหญ่จะอาศัยการเดินเพื่อเป็นการออกกำลังกายไปด้วยและประหยัดค่าใช้จ่าย  เพราะค่ารถที่นั่นค่อนข้างแพง  บทนี้ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าใช้จินตนาการก็เพราะตอนที่ไปขอข้อมูลจากคุณหนูนา ( ชื่อที่ใช้ทางอินเตอร์เน็ต )  หรือพี่อี๊ดนั้น  พี่เขาได้บอกว่าเรื่องนี้เกิดจากจินตนาการของคนที่อยากมีชีวิตในเมืองนอกแต่จริง ๆ แล้วเธอยังไม่เคยไปที่นั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว  อาศัยเรื่องราวที่อ่านจากสารคดีแล้วก็ฝัน  จากนั้นจึงนำมาเขียน  แล้วก็เป็นผลสำเร็จเพราะมีผู้คนอ่านมากมายจนได้มาทำเป็นละครโทรทัศน์
3. ฉากที่อาศัยบทบรรยายถึงบรรยากาศของสถานที่นั้น ๆ เป็นฉากที่มีความละเอียดอย่างมาก  เพราะได้บรรยายเรื่องราวถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นได้ดูสมจริงอย่างที่สุด  เช่น  หยาดน้ำค้างที่เกาะกลุ่มอยู่ตามยอดหญ้า  สัตยาเดินออกจากบ้านด้วยความสดชื่นของเช้าวันนั้น  ม่านหมอกเป็นไอแทบจะมองไม่เห็นว่านี่คือแม่น้ำเสียนี่  เขาจึงค่อย ๆ ยกแขนและบิดตัวอย่างช้า ๆ แล้วเดินๆไปนั่งที่ระเบียงตรงท่าน้ำหลังบ้านยายดวง  เป็นต้น  ฉากนี้ได้แสดงภาพของบรรยากาศในชนบทตอนเช้า ๆ ซึ่งคาดเดาได้ว่าช่วงนั้นต้องเป็นหน้าหนาวเพราะมีหมอกเป็นไอ  ส่วนสัตยาพระเอกของเรื่องก็บิดขี้เกียจ  อาริตาเขาได้แสดงลักษณะของภาพนั้นได้เป็นอย่างดีทีเดียว
4. ฉากที่แสดงรสนิยมของตัวละคร  ทำให้แบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจนได้อย่างชัดเจน  ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสื้อผ้า  การแต่งตัวที่ฉูดฉาด  การสวมใส่เครื่องประดับอย่างที่คนบ้านนอกหาซื้อไม่ได้  หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ที่ตกแต่งภายในบ้านก็ตามทำให้แยกระหว่างคนรวยกับคนจนได้อย่างชัดเจน
5. การแสดงออกถึงความเชื่อในไสยศาสตร์  อย่างเช่น  การทำเสน่ห์  การบนบานสานกล่าว  การเล่นคุณไสย  หรือแม้แต่การเข้าเจ้าเข้าทรงก็ตาม
6. กลวิธีในการเปลี่ยนฉากนั้น  ผู้เขียนใช้กลวิธีการบรรยายสลับกับการเปลี่ยนฉากในบทระหว่างเรื่องราวของตัวเดินเรื่องกับนางเอก  หรือแม้แต่ฉากตัวร้ายกับพระเอกก็ตาม  ผู้เขียนสามารถปิดฉากและเปิดฉากได้อย่างฉับพลัน  จากนั้นจึงดำเนินเรื่องต่อไปได้อีก
ตัวละคร
			ตัวละคร  หมายถึง  ผู้ที่ประกอบพฤติกรรมตามเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องเพื่อให้เรื่องดำเนินไปอย่างราบรื่น  ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์  ผู้เขียนก็จะกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนดังนี้
1. ให้ชื่อ  กำหนดรูปร่าง  เพศ  วัย  หน้าตา  อายุ
2. กำหนดนิสัยใจคอ  บุคลิกภาพ
3. กำหนดบทบาท  และกำหนดชะตากรรมของตัวละครตัวนั้น ๆ
เมื่อพิจารณาการสร้างตัวละครในนวนิยายเรื่องหมอลำซัมเมอร์ของอาริตาแล้วปรากฏว่าผู้ประพันธ์ได้สร้างตัวละครขึ้นจากจินตนาการ  และวิสัยของมนุษย์กับธรรมชาติโดยทั่ว ๆ ไป  แต่ไม่เวอร์จนเกินไป  กล่าวถึงชีวิตคนได้เหมาะสม  ตัวร้ายก็ไม่ร้ายจนเกินไป  แต่ก็ร้ายในทีอย่างผู้ดี  ร้ายในเรื่องของการแข่งขัน
วิธีการนำเสนอตัวละครเป็นการบรรยายเรื่องราวไปเรื่อย ๆ แล้วอาศัยการสลับระหว่างฉากกับตัวละคร  หรือสลับกับบุคคลที่เป็นตัวเดินเรื่องตัวอื่น ๆ ได้อย่างแนบเนียน  อุปนิสัยใจคอของตัวละครก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจน  ไม่ว่าจะเป็นบทโกรธ  บทหึงหวง  อารมณ์แค้น  บทที่กล่าวถึงสองฝ่ายต่างแข่งขันและแย่งชิงตัวนักร้องมใาเป็นเด็กในสังกัดค่ายของตนเอง  ความรักเดียวใจเดียวของพระเอกนางเอก  และยังกล่าวถึงความเหลวแหลกของตัวร้ายอีกด้วย  ทำให้เหมือนกับการแบ่งแยกระหว่างคนดีกับคนเลว
การนำเสนอในเรื่องนี้ก็ใช้ตัวละครน้อยง่ายต่อการจำและการวิเคราะห์  เพราะถ้ามีตัวละครมากผู้อ่านก็จะงงและเดาไม่ออกว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  ใครทำอะไร  ที่ไหน  อย่างไร  จะทำให้เกิดความสับสนและหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องราวมันเป็นอย่างไรกันแน่
	บทสนทนา
			บทสนทนาหรือบทพูดนั้น  ตามธรรมดาแล้วนวนิยายทุกเรื่องจะต้องกำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวพูดและคำพูดเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของแต่ละตัวนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว  เป็นนางเอกหรือพระเอก  นอกจากนั้นผู้เขียนยังใช้บทสนทนาของตัวละครนั้นเองเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินเรื่องและเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนให้เปลี่ยนไปได้อีกหลายอย่างดังนี้
- เพื่อช่วยในการดำเนินเรื่องแทนการบรรยาย
- ช่วยแนะนำตัวละครในเรื่องทั้งบุคลิกและพฤติกรรม  ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้น ๆ
- ช่วยเปลี่ยนแปลงบรรยากาศเป็นการบรรยาย  หรือการเล่าเรื่องของตัวละคร  หรือแม้แต่การบรรยายเรื่องของผู้เขียนเองก็ตาม
- ช่วยสร้างความสมจริงให้กับตัวละครด้วยการใช้คำพูดให้เหมือนกับการสนทนาของคนจริง ๆ หรือการสนทนาของเราปกติ
- ช่วยดึงดูดความสนใจ  และให้แนวคิดแก่ผู้อ่านทั้งความรู้สึกและอารมณ์  เพื่อให้ผู้อ่านติดตาม
- บางบทสนทนาได้แทรกข้อคิดเล็ก ๆ เอาไว้เกี่ยวกับการสอนหญิงให้รักนวลสงวนตัว  ให้รักเดียวใจเดียวถึงแม้ว่าจะเป็นลูกครึ่งแต่ก็ไม่ให้ทำตัวเป็นฝรั่งจ๋า  อย่างน้อย ๆ ก็มีสายเลือดของคนไทยอยู่ด้วย  ควรที่จะให้เกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเองและความเป็นไทยในสายเลือดของตัวเองด้วย
ท่วงทำนองการเขียนของอาริตา
	ท่วงทำนองการเขียนเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนจะแสดงทัศนะของตนเองออกมากับงานเขียนชิ้นนั้น ๆ  เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบเจตนารมณ์ของผู้เขียนว่าเป็นอย่างไร  ซึ่งมีผู้ที่ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียนไว้คือ
เจือ  สตะเวทิน ( 2518, หน้า  54 )  กล่าวว่า  วิธีการเขียนหนังสือเป็นเทคนิค  และเป็นศิลปะส่วนบุคคล  แต่ละคนย่อมมีวิธีการเขียนแตกต่างกันไป  นักเขียนชาวฝรั่งเศสจึงวาทะว่า  วิธีเขียนคือคน  ( Le  style,  eest  Ihomme )  ซึ่งเป็นศิลปะการใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหาร  โดยอาจจำแนกได้ดังนี้
1. การเลือกใช้คำว่าเหมาะกับเนื้อเรื่องหรือไม่
2. สำนวนโวหารซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้เขียน
3. การพรรณาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นตอนนั้น
4. การลำดับประโยคลำดับคำให้สมเหตุสมผลกับเนื้อหาของเรื่องและตอนนั้น ๆ
การใช้คำ
อาริตาจัดว่าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ซี่งมีความสามารถในการประพันธ์อย่างมาก  สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครออกมาได้อย่างดี  เหมาะสมถูกกาละเทศะตลอดจนสถานการณ์ในตอนนั้น ๆ ด้วย  มีการพรรณาได้อย่างน่าสนใจ  โดยการใช้ภาษาปากหรือภาษาสามัญชนโดยทั่ว ๆ ไปมาใช้กับตัวละคร  การหยิบยกสุภาษิตบางตอนของสุนทรภู่มาใช้สอนใจทั้งผู้อ่านและตัวละครด้วย  เช่น
นี่ลูกจ๊ะแม่จะบอกอะไรให้ฟังมานั่งใกล้ ๆ แม่นี่  ถึงแม้ว่าคุณสัตยาเขาจะชอบพอกับเราแค่ไหนแต่เราเมื่อเกิดเป็นหญิงก็ควรเห็นว่าเป็นหญิง  อย่าทอดทิ้งกริยาอัชฌาสัย  เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ  ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์
แต่ในเรื่องนี้ติดอยู่ตรงที่คำพูดบางคำไม่เหมาะสม  อย่างคำว่า  ขอบใจ  เรื่องนี้จะใช้คำนี้เสียเป็นส่วนใหญ่  ไม่รู้จักเด็กผู้ใหญ่  อย่างเช่นตอนที่นางเอกขอบใจยายของตัวเอง  ตอนนี้มันไม่สมควรเพราะเราควรที่จะขอบคุณมากกว่าขอบใจ  การขอบใจควรที่จะใช้กับรุ่นเดียวกันหรือคนที่อ่อนวัยกว่าจึงจะเหมาะสม
ส่วนคำอุทานของตัวละครในบทสนทนานั้นบางคำค่อนข้างหยาบคาย  ซึ่งเป็นภาษาชาวบ้านจนเกินไป  แต่ก็ดูเป็นธรรมชาติและมีความสมจริงอยู่บ้าง  เช่น  อุ๊ย!!!  คุณพระช่วย  แม่หก  ปัดโธ่เอ๊ย  เออแน่ะ  อุ๊ย  อุ๊ย  อุ้ยอีตก  อกอีแป้นจะแตก  เป็นต้น
สำนวนภาษา
	อาริตาสามารถใช้สำนวนไทยบางอย่างและศัพท์แสลงที่บรรดาวัยรุ่นใช้กันอยู่  เข้ามาเสริมในงานเขียนทำให้ดูเหมาะกับเหตุการณ์และเรื่องราวของเรื่อง  ทำให้ได้ความรู้หลายด้าน  อาศัยการเสริมคำสร้อย  และการเล่นคำเข้าไปแทรกให้งานเขียนนั้นมีลูกเล่นที่ชวนอ่านอย่างมาก  เหมาะกับเด็กวัยรุ่นเป็นอย่างมากเพราะในเนื้อหามีศัพท์ที่เฉพาะเด็กวัยรุ่นจะรู้ว่าหมายความว่าอย่างไร  เช่น  หน้าตาเหมือนปลาหมึก  นิสัยเหมือนขึ้นช่าย  นางเงือกเหงือกโลมา  พยูนเกยเสา  หมาเห่าแฝก  อ๋อเหรอ  อ่ะนะ  เป็นต้น
สำนวนโวหาร
	สำนวนโวหารที่อาริตาเขียนในนวนิยายเรื่องนี้นั้น  ส่วนใหญ่จะใช้การบรรยายมากกว่าการพรรณาเรื่องราว  เพราะเป็นเรื่องที่มีบทพูดมากกว่าตัวเนื้อหาบรรยาย  แต่ก็ยังคงปรากฏโวหารที่ผู้ประพันธ์คนอื่น ๆ เขาแต่งดังนี้
1. การพรรณาโวหาร  บทนี้จะแสดงถึงการรำพึงรำพันถึงธรรมชาติรอบข้างได้อย่างละเอียดลออ
2. โวหารอุปมา  คือการเปรียบเทียบ  เช่น  เหมือน  เพียง  คล้าย  เปรียบ  เป็นต้น  ยกตัวอย่างดังนี้
เสื้อตัวนั้นเหมือนที่พรีมใส่เลย
เพียงชั่วข้ามคืนเธอท้องได้ยังไง...!!!  ไปเอาเด็กออกเดี๋ยวนี้  เด็กในท้องไม่ใช่ของผม  คุณก็เหมือนผู้หญิงที่ให้ความสุขผมได้ชั่วข้ามคืนเท่านั้น  อย่าบังอาจมายกตัวเป็นเมียผม
ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่อง
ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องหมอลำซัมเมอร์นั้นมีดังนี้
	สภาพสังคม
			สภาพสังคมที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง  ผู้แต่งได้กำหนดให้ตัวละครใช้ชีวิตในชนบทเป็นส่วนใหญ่  และมีการเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตในเมืองหลวงเพื่อเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสังคมที่เจริญกับสังคมที่ยังมีความล้าหลังแต่ยังคงศิลปะวัฒนธรรมอันดีงามของไทยอยู่  โดยมีทั้งชีวิตครอบครัวและชีวิตของคนที่เห็นแก่ตัวปนเปไปกับเรื่องราวของตัวละครในแต่ละตัว  ซึ่งสามารถจำแนกออกมาได้ดังนี้คือ
1. ชีวิตครอบครัวที่ค่อนข้างทันสมัยกับชีวิตครอบครัวที่ค่อนข้างหัวโบราณ
2. วิถีชาวบ้านและความเป็นอยู่ในภาคอีสาน  ที่นิยมกินปลาร้า  ส้มตำ  แจ่ว  ลาบเลือด  ลาบหมู  ก้อย
3. วิถีชีวิตคนในเมืองกรุงฯที่ดูจะหรูหราจนเกินไป  ต้องทานอาหารแพง ๆ จับคนรวย ๆ เป็นสามี
4. การทำนา  การเข้าวัดฟังธรรม  การบวช  
5. การร้องเพลงหมอลำ  เพลงลูกทุ่งในชนบท  ซึ่งไม่ค่อยมีคนฟังเพลงสากลหรือเพลงสตริง  ร็อค  เต้นแล็ฟที่พวกนักร้องวัยรุ่นร้องกันทำกันอยู่  คนตามชนบทชอบร้องชอบรำในสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย  เพราะค่านิยมของคนที่นั่นยังไม่ยอมรับแนวเพลงที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องอย่างเด็กวัยรุ่น
วัฒนธรรม
	วัฒนธรรม  คือ  สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง  ปรับปรุง  หรือผลิตขึ้นเพื่อสร้างความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตของมนุษย์  แล้วถ่ายทอดสืบทอดกันมาเป็นรุ่น ๆ  จนเกิดเป็น วัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนาน  ซึ่งในเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามและความมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยดังนี้
1. วัฒนธรรมทางวัตถุ  ได้แก่  เครื่องใช้ไม้สอย  การเย็บปักถักร้อย  อาหาร  เป็นต้น
2. วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ  ได้แก่  ศาสนา  การละเล่น  ประเพณี  
3. การใช้ถ้อยคำ  มักจะใช้ภาษาอีสานเป็นส่วนใหญ่  การพูดคำสุภาษิต  คำพังเพยปะปนกับเรื่องราวที่พูด
4. จำพวกสถาปัตยกรรม  บ้านเรือน  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศิลปะทางอีสานอย่างชัดเจน  เช่น  เจดีย์  พระธาตุ  เป็นต้น
5. การแต่งกายอย่างชาวบ้าน  การแต่งกายอย่างนักร้องหมอลำ
6. พบเพลงพื้นเมืองของทางภาคอีสานที่ปรากฏในเรื่อง  ซึ่งเป็นเพลงหมอลำ  และเพลงที่พบในเนื้อหานั้นกล่าวถึงการดำเนินชีวิตในชนบท  นอกจากนั้นเนื้อเพลงเป็นการเขียนอย่างกลบท  มีสัมผัสและจังหวะอย่างผสมผสาน  ลักษณะเหมือนกลอนแปดแต่ก็ไม่ใช่  คาดว่าน่าจะเป็นคำที่สัมผัสหรือสัมพันกัน  ทำให้แต่ละคำแต่ละประโยคมีความไพเราะ  ทำให้ผู้อ่านคิดถึงเนื้อร้องของนางเอกปนกับเนื้อหาว่านางเอกจะร้องในลักษณะอย่างไร  เนื้อหาตรงนี้จะใส่ทำนองเช่นไรจึงจะไพเราะ
สรุปและอภิปรายผล
	การวิเคราะห์นวนิยายเรื่องหมอลำซัมเมอร์ของอาริตานั้น  มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกลวิธีการเขียนของผู้ประพันธ์ในด้าน  การสร้างโครงเรื่อง  แก่นของเรื่อง  การดำเนินเรื่อง  ฉาก  การสร้างตัวละครและบทสนทนา  กับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียนของผู้ประพันธ์ในด้านสำนวนภาษาและโวหารที่ใช้ในนวนิยายเรื่องนี้  นอกจากนั้นยังศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกเอาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
	ผลการวิเคราะห์วิจารณ์พบว่า  นวนิยายเรื่องหมอลำซัมเมอร์เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงเพลงหมอลำซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในแถบอีสานพร้อมทั้งสอดแทรกวิถีชีวิตชาวบ้านตามชนบทและวิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯเพื่อให้เปรียบเทียบความแตกต่างกัน  โดยมีกลวิธีการเขียนเรื่องและการผูกเรื่องเชื่อมโยงกับวงการบันเทิงเพื่อให้เรื่องราวน่าสนุกมาขึ้น  สอดแทรกคติและสุภาษิตไทยไว้กับนวนิยาย  ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมออกมาได้อย่างชัดเจนสมเหตุสมผล  มีการดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา  เน้นเรื่องเพลง  ความรัก  ความกตัญญู  เรื่องราวของครอบครัว  ความมีเลือดรักชาติ  รักในวัฒนธรรมอันดีงามของไทย  ส่วนเรื่องของบทบาทตัวละครนั้น  ผู้ประพันธ์ได้กำหนดลักษณะตามฐานะโดยชี้ให้เห็นความแตกต่างทั้งเรื่องการแต่งกาย  ภาษาที่ใช้  การกินอยู่ที่แตกต่างกัน  และแนวคิดที่แตกต่างกันอีกด้วย
	สำหรับท่วงทำนองการเขียนนั้น  ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำและสำนวนภาษาที่เหมาะสม  ใช้โวหารทั้งการบรรยาย  และการพรรณนา  เพื่อให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม  และสภาพสังคมที่ปรากฏได้อย่างชัดเจนมากขึ้น				
comments powered by Disqus
  • วิฬารี/wilar1@yahoo.com

    1 สิงหาคม 2549 13:19 น. - comment id 91993

    วิเคราะห์แบบนววิจารณ์ แต่ก็ยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
    เหมือนเล่าเรื่องย่อมากกว่าจะวิพากษ์

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน