ธนบัตรเที่ยวไทย บทที่ ๒๘

nidhi

บทที่  ๒๘  เยือนแผ่นดินพระนารายณ์และเมืองทหารบกในอดีต
ปลัดบัญชาเคยไปเที่ยวเมืองลพบุรีเมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว  สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นเมืองลพบุรีในสมัยนั้นมีเพียงลิงที่ศาลพระกาฬกับพระปรางค์สามยอดเท่านั้น  เมื่อปลัดบัญชาเดินทางพร้อมคณะสัมมนาสัญจรมาที่เมืองลพบุรีอีกครั้งในวันนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป  จากการที่ลพบุรีเป็นเมืองแห่งความหลากหลายและต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่ยาวนานกว่า ๓,๐๐๐ ปีนี่เอง  ลพบุรีในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐  จึงเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมสมัยเก่าและสมัยใหม่รวมอยู่ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน  เป็นเมืองที่ยังคงอุดมไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  ซึ่งได้แก่
๑.การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะดินเผา อายุระหว่าง ๓,๕๐๐-๔,๕๐๐ ปี ที่แหง่งโบราณคดีบ้านท่าแค
๒.การขุดพบโตรงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ อายุระหว่าง ๒,๗๐๐-๓,๔๐๐ ปี ที่บ้านโคกเจริญ
๓.การขุดพบโตรงกระดูกมนุษย์ยุคสำริดอายุระหว่าง ๒,๓๐๐-๒,๗๐๐ ปีที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่
๔.ชุมชนธบราณสมัยทวารวดีซึ่งเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมในดินแดนแห่งนี้มากว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว  ที่เมืองโบราณซับจำปา อำเภอท่าหลวง  และเมืองโบราณดงมะรุม อำเภอโคกสำโรง
๕.การพบเหรียญเงินลายดุนรูปสัญลักษณ์ต่างๆตามคตินิยมอินเดียที่บ้านหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง
๖.พระปรางค์สามยอด,ศาลพระกาฬและปรางค์แขก  ซึ่งเป็นศิลปกรรมของลพบุรีที่มีรูปร่างคล้ายคลึงศิลปะขอมหรือเขมร ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘
๗.หลักฐานพงศาวดารระบุว่าลพบุรีเป็นศูนย์กลางด้านศิลปวิทยาการในสมัยกรุงสุโขทัย  โดยระบุว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยเสด็จมาศึกษาเล่าเรียนที่เขาสมอคอนในปีพุทธศักราช ๑๗๘๘  และพ่อขุนงำเมืองราชโอรสเมืองพะเยาเคยเสด็จมาศึกษาที่เขาสมอคอนเช่นกันในปีพุทธศักราช ๑๗๙๗
๘.หลักฐานจากพงศาวดารระบุว่าสมเด็จพระราเมศวรได้ทรงครองเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๙๓และเมื่อทรงสละราชสมบัติให้แก่ลูกหลวงพะงั่ว ก็เสด็จกลับมาครองเมืองลพบุรีตามเดิม  รวมเวลาที่ครองเมืองลพบุรีเป็นเวลา ๓๘ ปี
๙.ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับในปีพุทธศักราช ๒๒๐๙  เพราะเกรงภัยที่เกิดจากการล่าอาณานิคมขยายดินแดนของพวกเรือกำปั่นยุโรป  และเสด็จมาประทับที่เมืองลพบุรีนาน ๘-๙ เดือน   ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์  ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น ๓ เขต  คือเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นใน  
เขตพระราชฐานชั้นนอก มี ๕ หลัง  คือ 
๑.อ่างเก็บน้ำหรือถังเก็บน้ำประปา  เป็นที่กักเก็บน้ำใช้ภายในพระราชวัง  ก่อด้วยอิฐฉาบปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ผนังอิฐหนาเป็นพิเศษ เก็บน้ำที่ไหลจากอ่างซับเหล็กตามท่อดินเผามายังพระราชวัง  เป็นฝีมือการก่อสร้างของวิศวกรชาวฝรั่งเศสและบาทหลวงชาวอิตาลี
๒.สิบสองท้องพระคลัง หรือพระคลังศุภรัตน์ สันนิษฐานว่าเป็นพระคลังเก็บสินค้าหรือสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ และที่จะพระราชทานให้แก่ผู้ทำความดีความชอบ เช่นเสื้อผ้า ผ้าแพรพรรณ ดาบ ไม้ฝาง งาช้าง ดีบุก พริกไทยฯลฯ  เป็นตึกแบบยุโรป ประตูหน้าต่างและช่องระบายลมใต้หลังคาเป็นรูปโค้งแหลม
๓.ตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง  เป็นสถานที่เลี้ยงต้อนรับคณะทูตชาวต่างประเทศ  ซึ่งในปี พ.ศ.๒๒๒๘  ได้ทรงพระราชทานเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตเชอร์วาเลีย เดอ โชมองต์ จากประเทศฝรั่งเศส
๔.ตึกพระเจ้าเหา  สันนิษฐานว่าเป็นหอพระ  ชื่อพระเจ้าเหา  น่าจะหมายถึงพระพุทธรูปเก่าแก่ภายในตึกนี้  ซึ่ง ณ ตึกพระเจ้าเหานี่เองเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเพทราชาทรงประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๓๑
๕.โรงช้างหลวง  
เขตพระราชฐานชั้นกลาง  มี ๒ หลัง คือ
พระที่นั่งจันทรพิศาล และพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท  ส่วนหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เพิ่งจะสร้างขึ้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับเป็นที่ประทับ  โดยทรงโปร ดเกล้าฯให้บูรณะเมืองลพบุรีในปีพุทธศักราช ๒๔๐๖  และสร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นเป็นที่ประทับภายในพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช   ปัจจุบันจัดแสดงเป็นห้องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและศิลปะโบราณวัตถุสมัยต่างๆ
เขตพระราชฐานชั้นใน มีเพียงหลังเดียวคือพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งพระองค์นี้เมื่อวันที่  ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๒๓๑  
ลพบุรีจึงเป็นเสมือนราชธานีแห่งที่ ๒ รองจากกรุงศรีอยุธยา
ลพบุรีเดิมเรียกว่า “ลวปุระ” หรือ “ละโว้”เป็นดินแดนทางภาคกลางที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยทวารวดี จวบจนสมัยลพบุรี แล้วเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  โดยล่าสุดระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๔)ทรงโปรดเกล้าฯให้บูรณะเมืองลพบุรีและสร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พร้อมกับหมู่ตึกพระประเทียบ  แล้วพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วังนารายณ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี  เมื่อย้ายศาลากลางจังหวัดลพบุรีไปตั้งใหม่ที่อื่นแล้ว  จึงจัดตั้งเป็น ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๗  และประกาศเป็น  “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์” ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔
นี่อาจเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่หน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรีหลังใหม่ในปัจจุบันมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(พระปิยะมหาราช) ประทับยืนเป็นสง่าที่ลานหน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรี  พร้อมกับที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งประดิษฐานอยู่กลางวงเวียนพระนารายณ์ซึ่งถือว่าเป็นเขตเมืองใหม่  ห่างจากเขตเมืองเก่าซึ่งเป็นที่ตั้งศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอด
ในเขตเมืองเก่าจึงเป็นที่ตั้งโบราณสถานและสถานที่ต่างๆซึ่งยังประกอบกิจกรรมต่างๆได้อย่างสะดวกสบายอยู่  อาทิ สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง สถานที่ราชการและสถานประกอบการต่างๆ  รวมถึงที่ตั้งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภาคกลางเขต ๗ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนรอบพระธาตุ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรีด้วย
คำขวัญประจำจังหวัดลพบุรีมีว่า “วังนารายณ์คู่บ้าน  ศาลพระกาฬคู่เมือง  ปรางค์สามยอดลือเลื่อง  เมืองแห่งดินสอพอง  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง  แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์”
จบบทความตอนนี้ ณ ดินแดนพระนารายณ์  เพื่อกลับโรงแรมที่พักที่จังหวัดนครราชสีมา  และเตรียมสรุปการสัมมนากับทำพิธีปิดการอบรมสัมมนาในบทต่อไป				
comments powered by Disqus
  nidhi

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน